สวัสดีค่ะน้องๆ ในหลวง ร.9 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยมากนะคะ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน


ขอบคุณภาพจาก
dhammathai.org
 
        พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสที่ในหลวง ร.9 เคยตรัสไว้ น้องๆ สามารถน้อมนำมายึดถือปฏิบัติ และเก็บเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนได้ ตามไปอ่าน 9 คำสอนของพ่อ กันค่ะ
 
คำสอนที่ 1 : การปรับปรุงตนเอง

        
        "การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ"
        (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่ครูและนักเรียน ณ โรงเรียนจิตรลดา วันที่ 27 มีนาคม 2523)

        การปรับปรุงตัวทำให้เราได้พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอจนพบกับความสำเร็จ เวลาเหนื่อยล้ากับการเรียน เจออุปสรรคที่ทำให้ย่อท้อ หากน้องๆ รู้จักที่จะปรับปรุงตัว โดยอาศัยความพยายามและความอดทนเป็นที่ตั้ง สิ่งนี้จะทำให้เราข้ามผ่านความยากลำบาก และความท้อใจต่างๆ ไปได้ค่ะ            


คำสอนที่ 2 : การฝึกฝนตนเองให้มีค่า  

        "นักเรียนที่ยังก่อเรื่องวิวาทจนเกิดความเสียหายแก่ตน แก่โรงเรียน ขอให้สำนึกว่าการกระทำเช่นนั้น อาจกลายเป็นการทำลายอนาคตของตนไปได้อย่างคิดไม่ถึง ฉะนั้น ขอให้พยายามฝึกฝนอบรมตนเองให้มีค่า เป็นคนเต็มคน ให้เป็นคนดีมีประโยชน์ให้จงได้"
        (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในพิธีเปิดงานกรีฑา ศิลปหัตถกรรมนักเรียน ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 1 ธันวาคม 2512)

        หากที่ผ่านมาน้องๆ คนไหนเผลอเกเรก่อเรื่องทะเลาะวิวาทไปบ้าง คำสอนข้อนี้เตือนใจเราได้ดีเลยล่ะค่ะว่า ไม่ใช่แค่โรงเรียนจะเดือดร้อน ตัวน้องๆ เองนี่แหละที่จะได้รับผลร้ายจากการกระทำของเรา ดังนั้น ต้องเตือนตนอยู่เสมอนะคะว่าหน้าที่ของการเป็นนักเรียนที่ดีคืออะไร


คำสอนที่ 3 : การใช้ความรู้คู่คุณธรรม

        "เยาวชนทั้งหลายที่อยู่ในวัยเรียน ย่อมมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิชาการต่างๆ ให้ได้มากๆ เพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์ สร้างสมความสุขความเจริญให้แก่ตัวเองตลอดจนส่วนรวม แต่การใช้วิชาความรู้นั้นจำเป็นจะต้องใช้อย่างถูกต้อง ด้วยคุณธรรมและความสามารถที่เหมาะจึงจะได้ผลเต็มเปี่ยม"
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย วันที่ 1 กรกฎาคม 2522)

        การมีความรู้อยู่กับตัวมากๆ เป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่เมื่อใดที่เรานำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ทำสิ่งที่เป็นโทษเสียหายให้เกิดแก่ผู้อื่น การมีความรู้นั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใดค่ะ ดังนั้น ต้องมีสติ ยั้งคิด รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ นั่นจึงจะเป็นการใช้ความรู้ที่เหมาะสมที่สุด


ขอบคุณภาพจาก dhammathai.org
 
คำสอนที่ 4 : การทำงานคู่ความดี

        "เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถมีความขยันอดทนพึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ"
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2530)

        ในหลวง ร.9 ทรงได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ว่าให้ทรงงาน ทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงใช้พระหัตถ์ลงมือปฏิบัติ ทดลอง และเรียนรู้จากการทำงานด้วยพระองค์เองทุกอย่าง น้องๆ คนไหนที่ชอบตัดพ้อว่าครูสั่งงานเยอะ ก็ลองอดทนและสู้งานอีกนิดนะคะ ตัวเรานี่แหละค่ะที่จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ที่สำคัญอย่าลืมทำความดีด้วยนะ


คำสอนที่ 5 : เรียนรู้จากการสังเกต ดู และฟัง

        "การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังบรรยายสั่งสอนของครูบาอาจารย์ การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟังของแต่ละคน หมายความว่าดูแล้วฟัง แล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้ว และเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด”
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิต มศว วิทยาเขตสงขลา วันที่ 25 กันยายน 2521)

        เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าในหลวง ร.9 ทรงสนพระทัยการวาดภาพมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงซื้อตำราการเขียนภาพมาศึกษา ฝึกหัดวาดภาพด้วยพระองค์เอง และเคยโปรดให้จิตรกรเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์เพื่อวิจารณ์ผลงานฝีพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย น้องๆ ก็สามารถน้อมนำพระราชจริยวัตรนี้มาปฏิบัติตามได้นะคะ เราจะสังเกต ดู และรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ใส่ตนได้มากแค่ไหน


คำสอนที่ 6 : การรู้จักประมาณตน

        “การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 กรกฎาคม 2541)

        พระองค์ท่านสอนให้เรามองหาความถนัดในตัวเอง โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะคนแต่ละคนย่อมมีความรู้ความสามารถแตกต่างกันไปค่ะ หากน้องๆ ประมาณตนถูก เพิ่มเติมความรู้ที่มีอยู่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นั่นจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาตนเองได้ดียิ่งนะคะ


ขอบคุณภาพจาก
สสส.
 
คำสอนที่ 7 : ความรู้ทำให้เป็นคนครบคน

        “ความรู้ในวิชาการเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้”
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันที่ 25 มีนาคม 2515)

        สำหรับน้องๆ ที่กำลังสงสัยว่าเรียนไปทำไมเยอะแยะ เรียนไปก็ใช้อะไรไม่ได้ คำสอนของพ่อเรื่องนี้คงทำให้พอฉุกคิดได้นะคะว่า ความรู้ทางวิชาการเหล่านี้ หากมีติดตัวไว้สามารถช่วยชีวิตเราได้ ที่สำคัญทำประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมได้ ยิ่งมีความรู้มาก ยิ่งน่าภูมิใจค่ะ


คำสอนที่ 8 : หนังสือเป็นสิ่งมีค่า

        “หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่า และมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์”
        (พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานปีหนังสือแห่งชาติ 4 กุมภาพันธ์ 2515)

        หนังสือเปรียบเสมือนขุมสมบัติที่จะทำให้ความรู้เกิดขึ้นแก่ตัวเราได้ ในหลวง ร.9 ถึงได้ทรงเน้นย้ำอยู่เสมอว่าให้อ่านหนังสือกว้างๆ เยอะๆ ดังนั้น หยิบขึ้นมาอ่านเถอะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน หรือหนังสือประเภทใด พ่อสอนไว้แล้วว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตจริงๆ


คำสอนที่ 9 : อุปสรรคทำให้ใจแข็งแกร่ง

        “ถ้าถูกแดดถูกฝน อนามัยแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร ทำให้แข็งแกร่งจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อประสบอุปสรรคและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เราก็ขุ่นหมอง แต่ถ้าจิตใจเราแข็งแรง แข็งแกร่งดี อุปสรรคนั้นสามารถที่จะทำให้มีอำนาจจิตดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ไม่เป็นผลร้ายต่อตัวเรา กลับทำให้ใจเราแข็งแกร่งแข็งแรง”
        (พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม มธ. และทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุม มธ. วันที่ 7 มีนาคม 2513)

        พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าถึงการทรงงานของในหลวง ร.9 ว่า พระองค์ท่านทรงปฏิบัติภารกิจทั้งน้อยใหญ่ ทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักได้โดยไม่ทรงหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบันเท่านั้น

        คำสอนสุดท้ายนี้จึงเป็นเครื่องการันตีได้อย่างยิ่งว่า หากน้องๆ กำลังพบกับปัญหาใหญ่ด้านการเรียน กลัวว่าจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จอยู่ การเอาใจเข้าสู้ไว้ก่อนจะช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาหนักๆ ไปได้ ถ้าใจเราสู้ไหว กายก็จะยิ่งแกร่งขึ้นค่ะ


ขอบคุณภาพจาก News MThai
 
        ตลอดพระชนมายุของในหลวง ร.9 คงเห็นแล้วว่าพระองค์ท่านทรงยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประชาชนชาวไทยมามากมาย โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด แค่น้องๆ ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ก็ถือเป็นการถวายของขวัญที่มีค่าแด่พ่อของแผ่นดินได้แล้วค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
news.ch7.com/speech/22/พระบรมราโชวาท.html
https://www.matichon.co.th/news/286856
http://www.praew.com/60005/king-of-thailand/inspiration-89-story-thailands-king-bhumibol/
Plenghit

 
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

Bebby 29 ต.ค. 60 23:02 น. 1

อ่านแล้วคิดถึงพระองค์ท่านจัง หนูตะนำไปปรับใช้นะคะ ขอบคุณที่รวบรวมมาให้อ่านนะคะ เป็นประโยชน์มากๆเลย

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Love 13 ม.ค. 62 19:42 น. 3

อ่านแล้วรู้สึกว่าจะร้องไห้เลยค่ะที่เสียใรหลวง ร.9 ไปตอนแรกหนูก็คิดว่าประชาชนทุกคนร้องไห้ทำไมที่ในหลวง ร.9 สรรณคตไปแต่ตอนนี้หนูเข้าใจแล้วค่ะขอบคุณน่ะค่ะที่ทำให้หนูเข้าใจคำสอนของพระองค์และหนูจะทำตามคำสอนของท่านให้ได้ค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด