วิจารณ์หนังสือ : โอลิเวอร์ ทวิสต์ เด็กกำพร้าผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชีวิต


โอลิเวอร์ ทวิสต์ 
เทพนิยายบริสุทธิ์กับคำวิจารณ์ด้านสังคม


สวัสดีน้องๆ นักอ่านทุกคนจ้ะ สำหรับวันนี้พี่นัทตี้มีเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับงานเขียนของ ชาลส์ ดิกคินส์ มาฝากกัน น้องๆ อาจจะกำลังสงสัย เอ๊ะ เขาเป็นใคร พี่นัทตี้จะเฉลยให้จ้ะ เขาคือนักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้มีผลงานอันมีชื่อเสียงนั่นก็คือ โอลิเวอร์ ทวิสต์ วรรณกรรมคลาสสิกที่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าผู้น่าสงสาร ซึ่งพี่นัทตี้เคยมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้มาแล้ว บอกเลยว่ายิ่งดูก็ยิ่งสงสาร น้ำตานี่ไหลพรากๆ เลย! แถมพี่เองก็เพิ่งจะค้นพบด้วยว่าตัวละครในผลงานของเขาส่วนใหญ่นั่นเป็นเด็กกำพร้า เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูกันดีกว่าว่าเรื่องที่พี่นัทตี้นำมาฝากในวันนี้จะน่าสนใจขนาดไหน

 

--------------------------


 

โอลิเวอร์ ทวิสต์ เรื่องราวของเด็กกำพร้าผู้น่าสงสาร



โอลิเวอร์ ทวิสต์กับฉากขออาหารที่โด่งดัง
 
หลังจากพูดเปรยๆ เอาไว้ เราก็ต้องมาเริ่มที่เขากันก่อนเลยสำหรับ โอลิเวอร์ ทวิสต์ บอกเลยว่าตัวละครตัวนี้เป็นตัวละครของดิกคินส์ที่มีคนรู้จักมากที่สุด โดยโอลิเวอร์ ทวิสต์เป็นเรื่องราวของเด็กชายผู้น่าสงสารคนหนึ่งที่ตัดสินใจหนีออกมาจากโรงงานที่อยู่ห่างไกลมาเผชิญชีวิตต่อในเมืองหลวง โชคดีที่เขาได้มาพบกับด็อดเจอร์ เด็กคนหนึ่งที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน ด็อดเจอร์ได้พาเขาไปหา ฟากิ้น ชายชราหน้าตาเจ้าเล่ห์เพื่อขอที่พักและอาหารสำหรับประทังชีวิต แต่ความช่วยเหลือย่อมมีข้อแลกเปลี่ยน เมื่อ ฟากิ้น ได้สอนให้โอลิเวอร์ได้รู้จักกับอาชีพ ‘โจร’ ซึ่งเป็นอาชีพที่เด็กอย่างโอลิเวอร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน
 
เหตุการณ์ในเรื่องนั้นดำเนินไปแบบมีอะไรให้เราได้ลุ้นอยู่ตลอด ว่าสุดท้ายแล้วโอลิเวอร์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของฟากิ้นได้หรือไม่ ซึ่งในตอนท้ายโอลิเวอร์ก็ได้พบกับชีวิตที่เขาตามหามาแสนนาน เพราะเขาได้พบกับญาติพี่น้องโดยบังเอิญ ในขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆ อย่างฟากิ้นและด็อดเจอร์ ต่างก็มีจุดจบในแบบของตน ซึ่งพี่นัทตี้จะบอกเลยว่า โอลิเวอร์ ทวิสต์ เป็นอะไรที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ รวมถึงทำให้เราเข้มแข็งได้ดีจริงๆ พี่ล่ะนับถือความสู้ชีวิตของโอลิเวอร์แบบสุดๆ ไปเลย!!
 

ส่วนที่ดีที่สุดนั้นอยู่ที่ครึ่งแรกของหนังสือ



ฉากขออาหารบ่อเกิดของเรื่องราวอันน่าเศร้า
 
หนังสือที่ดีจะต้องมีจุดเริ่มต้นที่สร้างการจดจำรวมถึงความประทับใจให้กับคนอ่านถูกไหมจ๊ะ ซึ่งหนังสือโอลิเวอร์ ทวิสต์ก็เป็นอย่างนั้น โดยในส่วนตอนต้นเรื่องถือว่าเป็นส่วนที่นักอ่านจดจำเรื่องราวได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของ โอลิเวอร์ เด็กกำพร้าและเรื่องราวอันเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา แถมคำพูดประโยคหนึ่งของโอลิเวอร์ ยังสร้างการจดจำให้กับคนอ่านได้มาก ซึ่งประโยคนั้นก็คือ “Please, sir, I want some more” (ได้โปรดเถอะท่าน ผมขออาหารเพิ่มอีกได้ไหม) และประโยคนี้นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้โอลิเวอร์ ต้องระหกระเหินพาตัวเองเดินทางเข้าไปยังเมืองหลวง โดยหวังว่าตัวเองจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้จากที่นั่น
 

ฟากิ้น ตัวละครที่น่าจดจำอีกตัวของดิกคินส์



โอลิเวอร์ กับ ฟากิ้น
 
ฟากิ้น เป็นตัวละครที่นักอ่านให้คำนิยามว่าไม่ต่างอะไรจากปีศาจในร่างมนุษย์ แถมเขายังมีบุคลิกที่เหมือนแวมไพร์เพราะชอบปรากฏตัวเฉพาะตอนกลางคืน (ไม่รู้ว่าเป็นแวมไพร์จริงๆ หรือว่าเป็นเรื่องบังเอิญ) แต่น้องๆ รู้กันรึเปล่าจ๊ะ ว่าต้นฉบับดั้งเดิมของโอลิเวอร์ ทวิสต์นั้น ฟากิ้นเป็นชาวยิว โดยคำที่ดักคินส์ใช้เรียกตัวละครของเขาก็คือ ‘ยิว’ ตรงๆ สั้นๆ แบบนั้นเลย แต่ในช่วงตอนหลังของหนังสือเขาก็ได้มีการลดคำเรียกเหล่านี้ลง จนในที่สุดก็ได้รับการแก้ไขจนไม่มีคำว่ายิวปรากฏอยู่ในหนังสืออีกเลย แต่ยังไงก็ตามคำว่า ‘ยิว’ ที่ดักคินส์ใช้แทนตัวละครตัวนี้ก็เป็นอะไรที่ทำให้เราได้เห็นว่า เขาต้องการสื่อนัยยะสำคัญบางอย่างโดยใช้ลักษณะของตัวละครในการบอกเล่าสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร แหม… ล้ำจริงๆ เลยนะเนี่ย
 
แถมน้องๆ จะรู้กันไหมว่าฟากิ้นไม่ใช่ตัวละครที่แย่ที่สุดในวรรณกรรมเรื่องนี้หรอกนะ เพราะยังมีตัวละครตัวอื่นๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่อุปถัมน์ที่แรกๆ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะรักและเอ็นดูโอลิเวอร์ แต่สุดท้ายก็ใช้งานเขาไม่ต่างอะไรจากทาสเลยแหละ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งเข้าใจฟากิ้นกันผิดนะจ๊ะ พี่นัทตี้ขอร้อง...

 

โรส เมรี่ ตัวละครของนางฟ้าท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้าย


โรส เมรี่ อีกหนึ่งตัวละครในดวงใจ
 
อ่านหัวข้อแล้วเหมือนมีนางฟ้ามาโปรดกันเลยใช่ไหม บอกเลยว่าโรส เมรี่ เป็นตัวละครที่พี่นัทตี้ประทับใจรองลงมาจากโอลิเวอร์เลย แต่ช่างเป็นโชคร้ายที่โอลิเวอร์ไม่ได้รู้จักเพียงแค่โรส เมรี่คนเดียวนี่สิ เพราะยังหมายรวมไปถึงพี่น้องคนอื่นๆ ของเธออีก บอกเลยว่าเรื่องจะมาโหดก็ตรงนี้นี่แหละ เพราะตอนแรกเรื่องราวนั้นก็ดูเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดีเพราะโอลิเวอร์นั้นโชคดีมากที่ได้มารู้จักกับคนใจดีๆ อย่างโรส แต่ดักคินส์กลับทำให้เราฝันสลาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่โรสถูกสังหาร (โถ่… ทำไมดักคินส์ถึงทำแบบนี้) เรียกได้ว่าทำคนอ่านเสียใจกันเป็นแถบๆ แถมจากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้โอลิเวอร์ตัดสินใจว่าจะหนีออกมาจากฟากิ้นอีกครั้ง
 
ตัวละครของ โรส เมรี่ ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงความรักต่างชนชั้น เพราะเธอดันเกิดไปหลงรักชายหนุ่มฐานะดี ที่ไม่คู่ควรกับตัวเองที่เป็นเพียงโสเภณีผู้ต่ำต้อย มีอยู่ฉากหนึ่งที่โรสได้ไปสารภาพกับชายหนุ่มคนนั้นว่าเธอกับเขาไม่เหมาะสมกัน พร้อมกับบอกให้เขาไปหาผู้หญิงที่เหมาะสมกว่าเธอในการแต่งงานด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าตัวละครของโรส เมรี่เพิ่งปรากฏตัวมาช่วงท้ายๆ ของเล่ม แต่ก็สร้างความประทับใจและการจดจำไปกับเรื่องราวความรักต่างชนชั้นของเธอ

 

การหนีมาที่เมืองใหญ่ของโอลิเวอร์
ถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วใช่ไหม?



โอลิเวอร์ ในฉบับภาพยนตร์
 
เป็นสิ่งที่ดิกคินส์มักจะย้ำกับคนอ่านอย่างเราเสมอว่า ความตั้งใจของโอลิเวอร์นั้นมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองหลวง ก็ไม่ต่างอะไรจากปัจจุบันที่คนต่างจังหวัดมีความฝันอยากจะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรอกจ้ะ กลับกัน เมืองหลวงเองก็ไม่ใช่ดินแดนแห่งสวรรค์อย่างที่หลายคนเข้าใจ ต้องเป็นคนที่รู้และเคยสัมผัสมาจริงๆ เท่านั้นถึงจะรู้ซึ้งถึงความหมายที่ดิกคินส์ต้องการจะนำเสนอ ซึ่งในความเห็นของพี่นัทตี้คิดว่า หลังจากที่โอลิเวอร์ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงลอนดอนแล้วนั้น เขาได้เผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ มากมายยิ่งกว่าตอนที่อยู่ในชนบท แถมเรื่องราวยังดูสับสนอลหม่านขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งดิกคินส์ตั้งใจจะแสดงให้เราเห็นถึงความจริงของชีวิตข้อนี้จริงๆ เอิ่ม ว่าแต่มันไม่โหดร้ายไปหน่อยหรอที่สื่อสารออกมาผ่านตัวละครของเด็กที่มีอายุน้อยอย่างโอลิเวอร์ เนี่ย?

 

เป็นการเสียดสีผ่านเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าจะสมหวัง



ฟากิ้น กับ ด็อดเจอร์ สมุนอีกคนของเขา
 
เอ๊ะ หรือว่าแท้จริงแล้วดิกคินส์ได้ใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไปในตัวละครอย่างโอลิเวอร์ด้วยนะ เพราะสิ่งที่ดิกคินส์ต้องการที่จะสื่อสารผ่านวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นอะไรที่เราสามารถพบเห็นกันได้จริงๆ ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ซึ่งสถานการณ์อันเลวร้ายทั้งหมดก็เป็นผลพลอยได้มาจากอารมณ์ของคนเราทั้งนั้นเลย โดยลักษณะของการถูกทำร้ายของเด็กกำพร้าก็เป็นสิ่งที่เขาได้พบเห็นมาจริงๆ ในช่วงศตวรรษที่ 19 แถมในตอนแรกดิกคินส์ยังเปิดเผยรายละเอียดอีกด้วยว่าเขาก็แอบมีความกังวลเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวละครแสนซื่ออย่างโอลิเวอร์ แต่สุดท้ายความซื่อสัตย์ของโอลิเวอร์นี่แหละที่สอนอะไรเราได้หลายอย่างเลยทีเดียว ซึ่งพี่นัทตี้จะบอกว่าพี่ชอบตัวละครตัวนี้มากๆ เลย

 

ความแตกต่างระหว่างโอลิเวอร์ ทวิสต์กับเทพนิยายเพ้อฝันของดิสนีย์



ฉากที่โอลิเวอร์ได้เจอกับด็อดเจอร์เป็นครั้งแรก
 
โอลิเวอร์ ทวิสต์ เป็นตัวละครที่ไม่มีเวทมนตร์หรือความพิเศษที่ชัดเจน แถมยังไม่มีสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ ที่พูดได้ แต่ความสมจริงของเรื่องราวได้ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นเทพนิยายบริสุทธิ์ในตำนาน ด้วยสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นไปในสังคม ผ่านการบอกเล่าผ่านตัวละครของเด็กกำพร้า ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลจากผลของการทำดีของตัวเอง ถือว่าเป็นวรรณกรรมเก่าแก่แต่ใช้สอนคนได้จริงๆ ซึ่งหลังจากนั้นมาก็ได้มีวรรณกรรมหลายต่อหลายเรื่องที่มีโครงสร้างในการสื่อสารเช่นเดียวกับเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์ ทำให้เราได้เห็นถึงค่านิยมของคนอ่านว่าพวกเขาชอบอ่านเรื่องที่สะท้อนสังคม หรือถ้าให้เรียกตามภาษาปากง่ายๆ ก็คือ คนอ่านอย่างเราชอบเสพดราม่าเป็นที่สุดเลยจ้ะ!

 

--------------------------


พี่นัทตี้จะบอกเลยว่านอกจากประเด็นสำคัญๆ ที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่วรรณกรรมเรื่องนี้รอพวกเราทุกคนเข้าไปทำความเข้าใจกันอีก หลายคนอาจจะเข้าใจว่ามันก็ไม่ต่างอะไรจากนิทานหลอกเด็ก แต่เอาจริงๆ นิทานหลอกเด็กเหล่านี้ก็สามารถสอนเด็กให้เป็นคนดีได้เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นอย่าได้ดูถูกเลย เอาเป็นว่าพี่นัทตี้ก็หวังว่าน้องๆ คงจะได้อะไรจากการอ่านบทความนี้ไม่มากก็น้อย เอาไว้คราวหน้าพี่จะมีบทความดีๆ อะไรมาฝากกันอีก ต้องติดตามกันนะจ๊ะ สำหรับวันนี้พี่นัทตี้ต้องขอตัวลาไปก่อน สวัสดีจ้า

 
พี่นัทตี้
 
 
ขอบคุณที่มาและภาพประกอบจาก
https://www.bookstr.com/dickens-7-most-unfortunate-orphans
https://www.tor.com/2015/11/12/fairy-tale-structure-and-social-criticism-dickens-oliver-twist/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AA%E0%B9%8C_%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%8C
https://www.shmoop.com/oliver-twist/rose-maylie.html
http://www.sparknotes.com/lit/oliver/summary/

พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด