8 วิธีการหยิบเอาเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาใส่ลงในนิยาย


8 วิธีการหยิบเอาเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง
มาใส่ลงในนิยาย



สวัสดีน้องๆ นักเขียนเด็กดีและนักอ่านเด็กดีทุกคนนะคะ วันนี้พี่ก็มีทริคในการเขียนนิยายมาฝากน้องๆ ทุกคนกัน โดยอ้างอิงมาจากเทคนิคของนักเขียนชาวอเมริกาอย่าง เจนนี่ บราโว มาเป็นแรงบันดาลใจในการแนะนำเคล็ดลับดีๆ ให้แก่น้องๆ ทุกคน ซึ่งพี่เองก็เชื่อว่า การหยิบเอาเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาใส่ลงในนิยายนั้น เป็นสิ่งพื้นฐานที่นักเขียนส่วนใหญ่มักจะใช้ในการนำมาใส่ในงานเขียนของตัวเองกันอยู่แล้ว แต่จะหยิบเรื่องจริงมาเขียนนิยายยังไงให้สนุก วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกคนกันจ้า… 


 

เจนนี่ บราโว่ ภาพจาก writersedit

 
‘เมื่อฉันคิดว่าจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งออกมายังไง สองสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวสมองของฉันก็คือ ประสบการณ์ของเราในตอนนั้น กับกระบวนการในการสื่อสารเอาสิ่งเหล่านั้นออกมา’ นี่คือสองสิ่งที่เจนนี่ บราโวอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำงานของเธอ และคำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ เวลาที่เราคลุกคลีอยู่ในวงการนักเขียนก็คือ ‘จงเขียนในสิ่งที่เรารู้’ ประสบการณ์ของคนที่เป็นนักเขียนจะเป็นตัวบอกเราเองว่าเราควรจะเขียนเกี่ยวกับอะไร ยกตัวอย่างเช่น นักเขียนบางคนใช้พื้นที่ในละแวกบ้านเกิดของตัวเองมาเขียนเป็นบ้านเกิดของตัวละคร หรือบุคลิกของตัวละครในเรื่องที่เขียนมาจากคนใกล้ชิด ซึ่งนักเขียนส่วนใหญ่ (พี่เชื่อว่าเกิน 80%) มักจะเริ่มต้นมาจากสิ่งใกล้ตัวเหล่านี้กันทั้งนั้นแหละจ้ะ
 

 

ว่ากันด้วยเรื่องของสถานที่…

 
1. เมืองที่มีอยู่จริง แต่มีการนำมาดัดแปลง
บางครั้งเราอาจจะอยากเขียนเกี่ยวกับสถานที่ที่เราเองนั้นคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่เราอาจจะ ‘เพิ่ม’ บางสิ่งบางอย่างที่จะเป็นการเติมเต็มเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การสร้างร้านหนังสือร้านหนึ่งในผุดขึ้นมาในถนนสายใกล้บ้านของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันอยากจะให้มันมี เป็นต้น
 
2. เมืองสมมุติ แต่ตั้งอยู่ในสถานที่จริง
สำหรับวิธีนี้ นักเขียนอย่างเราอาจจะจัดการลบภาพเมืองในหัวออกไปให้หมด ให้เหลือแต่พื้นที่โล่งๆ ก่อนจะจัดการปั้นเมืองแห่งใหม่ขึ้นมาจากจินตนาการของตัวเอง เพราะบางทีนวนิยายที่เรากำลังเขียนอยู่อาจจะเป็นนวนิยายแนวพีเรียด - ย้อนยุค ซึ่งสภาพของเมืองที่เราเคยเห็นอาจจะเป็นภาพของเมืองที่เจริญและพัฒนาไปไกลแล้ว เราเลยอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ให้มันเหมาะสมกับสถานที่ที่มีอยู่


 

ว่ากันด้วยเรื่องของเหตุการณ์… 

 
3. เหตุการณ์จริง แต่มีการนำมาดัดแปลง
ถ้าเกิดในชีวิตของเราเคยมีเหตุการณ์ที่มันทำให้เราต้องอุทานว่า ‘นี่มันบ้าจริงๆ’ มาก่อน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนเคยไปทำตัวเปิ่นๆ ต่อหน้าศิลปินหรือดาราที่ตนเองชื่นชอบ น้องๆ ลองหยิบเอาเรื่องเหล่านั้นมาแต่งเป็นนิยายกันอยู่สิ ใส่ความสร้างสรรค์เข้าไปอีกนิด มโนเข้าไปอีกหน่อย รับรองว่านิยายเรื่องนั้นจะต้องสนุกสุดๆ แน่นอน
 
4. เหตุการณ์สมมุติ แต่มีรายละเอียดที่เคยเกิดขึ้นจริง
บางทีเราอาจจะแต่งนิยายสักเรื่อง ที่อาจจะมีเหตุการณ์สมมุติเกิดขึ้นหลากหลายเหตุการณ์ แต่จะทำยังไงให้เหตุการณ์นั้นน่าสนใจและดูสมจริงมากที่สุด ก็ลองหยิบเอารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงในชีวิตของเราไปใส่กันดูสิจ๊ะ ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครเอกตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า แล้วพบกับชายคนรักที่กำลังนอนหลับอยู่ข้างๆ (ซึ่งในชีวิตจริงอาจจะไม่มี) โดยตัวละครเอกคนนั้นกำลังอยู่ในชุดนอนลายหมีพูห์ กับผ้าปิดตาเข้าชุดกัน (ซึ่งชีวิตจริงเรามักจะแต่งตัวด้วยชุดแบบนี้เวลานอน) อะไรทำนองนั้น ลองผสมผสานให้เรื่องราวมันดูสนุกสนาน ไม่ให้กราฟของเรื่องนั้นเป็นเส้นตรงอย่างเดียว


 



 

ว่ากันด้วยเรื่องของตัวละคร…


5. คุณสมบัติจริง แต่เป็นตัวละครสมมุติ
เราอาจจะเคยชื่นชมดารา นักร้อง นักแสดง หรือรุ่นพี่ที่โรงเรียนใดๆ ก็ตามแต่ ถ้าเรารู้สึกว่าเราเข้าถึงความเป็นเข้าได้แบบชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการแสดงสีหน้า การแสดงออก หรือพฤติกรรมอะไรบางอย่างของเขาคนนั้นได้แล้ว เราอาจจะนำคุณสมบัติต่างๆ เหล่านั้นมาใส่ในตัวละครสมมุติที่เรากำลังสร้างขึ้นมาก็ได้ 
 
6. คุณสมบัติจริง (ที่มีจากคนหลายคน) แต่มาปรากฏอยู่ในตัวละครแค่เพียงคนเดียว
มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงมากกับการหยิบจับเอาบุคลิกภาพของคนหลายๆ คนมาใส่เป็นบุคลิกภาพของตัวละครตัวเดียว ซึ่งตัวละครตัวนั้นจะมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ไปเสียมากๆ เพราะบางทีเราอาจจะชื่นชอบบุคลิกของรุ่นพี่คนหนึ่ง แต่ชอบวิธีการแสดงออกของใครอีกคน เราก็สามารถจับเอาสิ่งเหล่านั้นมายำรวมใส่ในตัวละครในงานเขียนแค่คนเดียวได้เหมือนกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องได้แรงบันดาลใจมาจากคนสองคน เพราะมากกว่านั้นก็สามารถหยิบมาเขียนถึงได้ แต่ต้องระวังอย่าให้มันเยอะจนดูเลอะเทอะเกินไปนะ

7. คุณสมบัติจริง ตัวละครจริง
อันนี้จะค่อนข้างง่ายหน่อย เพราะมันมีกรอบวางไว้อยู่ชัดเจนแล้วว่าเราจะเขียนถึงใคร อะไร ยังไง แต่มีข้อแม้อยู่ที่ว่าเราต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเรารู้จักกับคนๆ นั้นดีมากพอที่จะหยิบเอาความเป็นเขามาเขียนถึง ซึ่งงานเขียนที่มักจะปรากฏเรื่องราวในลักษณะนี้ก็ยกตัวอย่างเช่น ชีวประวัติของนักเขียน เป็นต้น

8. คุณสมบัติจริง คนจริง แต่อยู่ในเรื่องสมมุติ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การหยิบเอาณเดชมาใส่ในนวนิยายแนวซอมบี้ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้จักและคุ้นเคยกับเขามากพอ แต่ลักษณะบางอย่าง และแนวโน้มที่เราคาดว่าเขาคงจะปฏิบัติแบบนั้นมันจะทำให้เราสามารถเขียนเรื่องแนวซอมบี้ที่มีณเดชเป็นตัวละครเอกได้ 


 


 
สำหรับความคิดของพี่นั้นคิดว่า วิธีการของเจนนี่นั้นเป็นวิธีการที่อ่านดูแล้วก็สนุก และเราสามารถทำตามได้แบบไม่ลำบากจนเกินไป สำหรับบางข้อพี่ก็คิดว่าน้องๆ หลายคนคงจะเคยทำกันมาก่อนแล้วแหละ แต่จะถูกวิธีอย่างที่เจนนี่เขาบอกหรือเปล่าอันนี้ก็ต้องมาตรวจสอบกันดูอีกที (แต่พี่คิดว่าไม่มีความคิดของใครที่ถูกและผิด) และพี่คิดว่ากุญแจสำคัญของการเขียนนั้นน่าจะอยู่ที่ประสบการณ์และวิธีในการสื่อสารอย่างที่เจนนี่เขาได้บอกเราไปในตอนต้น และนักเขียนหลายคนก็มักจะชอบเจอกับความคิดเห็นในเชิงประมาณที่ว่า อ่านแล้วดูสมจริงมากๆ เลย อ่านแล้วดูลื่นไหล มองเห็นภาพเลย อะไรประมาณนั้น ในมุมมองของนักอ่านเขาไม่ต้องการอะไรมากหรอก เขาเพียงแต่ต้องการแค่ว่า งานเขียนของคุณจะสะท้อนให้พวกเขาเหล่านั้นมองเห็นเป็นภาพอะไร ในแง่มุมไหน
 
พี่นัทตี้ :)

 
ขอบคุณแหล่งที่มาดีๆ จาก
https://www.goodreads.com/author/list/13898466.Jenny_Bravo 
http://jennybravobooks.com/blog/

 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด