Jolabokaflod: ไอซ์แลนด์ ประเทศนี้รักหนังสือ ให้หนังสือและมีแต่คนฝันอยากเป็นนักเขียนหนังสือ!

Jolabokaflod: ไอซ์แลนด์ ประเทศนี้รักหนังสือ
ให้หนังสือ และมีแต่คนฝันอยากเป็นนักเขียนหนังสือ!

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน ถ้าพูดถึงประเทศที่พิมพ์หนังสือต่อประชากรรายหัวมากที่สุดในโลก เห็นทีคงไม่พ้นประเทศไอซ์แลนด์ ประเทศตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือระหว่างกรีนแลนด์และนอร์เวย์ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คนประเทศนี้มียอดตีพิมพ์หนังสือถึง 5 เรื่องต่อประชากร 1,000 คนเลยทีเดียว! ดังนั้นไอซ์แลนด์จึงอาจเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับหนอนหนังสือและคนที่ฝันอยากเป็นนักเขียน และแน่นอนคริสต์มาสในไอซ์แลนด์อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปีด้วย! 

93% ของชาวไอซ์แลนด์อ่านหนังสืออย่างน้อยปีละ 1 เล่มเมื่อเทียบกับชาวอเมริกัน 73% (แต่คนไทยอ่านหนังสือ 88% เลยนะ วิน-วิน!) ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมไอซ์แลนด์จึงเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก (ตามงานวิจัย ฟินแลนด์และนอร์เวย์ครองตำแหน่งอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ) ในไอซ์แลนด์ ตลอดช่วงชีวิตของประชากรที่นี้ ทุก 1 ใน 10 คนจะตีพิมพ์หนังสือของตนออกมา และในปี 2011 กรุงเรคยาวิกยังกลายเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมโดย UNESCO ด้วย พูดมาซะยืดยาวขนาดนี้ พี่กำลังจะบอกว่านอกจากไอซ์แลนด์จะเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมแล้ว ยังมีอีกวัฒนธรรมที่สุดแสนน่ารักของชาวไอซ์แลนด์เกี่ยวกับการซื้อหนังสือด้วยค่ะ 

 


คนกำลังช็อปหนังสือในร้านหนังสือที่ไอซ์แลนด์
(via: npr.org)

 

เมื่อพูดถึงการช็อปปิ้งหนังสือ สำหรับประเทศไทย หนังสือขายดีสุดๆ คงเป็นช่วงมีนาคมและตุลาคมอันเป็นช่วงงานสัปดาห์หนังสือ บอกเลยว่าช่วงนั้นบรรดาหนอนหนังสือทั้งหลายถึงขั้นล้มละลายเลยทีเดียว! แต่ที่ประเทศไอซ์แลนด์ ชาวไอซ์แลนด์จะล้มละลายเพราะหนังสือช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายนค่ะ ทำไมน่ะเหรอ? เพราะหนังสือเหล่านั้นคือของขวัญที่เขาจะมอบให้แก่คนที่เขารักในวันคริสต์มาสน่ะสิ! แถมไม่ธรรมดาด้วยนะ เป็นประเพณีประจำชาติเลยทีเดียว เราเรียกมันว่า Jolabokaflod (jólabókaflóð) หรือ "Christmas Book Flood" แปลเป็นภาษาไทยก็คืออุทกภัยหนังสือช่วงคริสต์มาสนั่นเอง!! นั่นเป็นเพราะช่วงเวลาของคริสต์มาส ไม่ว่าเราจะเดินไปไหนหรือหันมองไปทางไหน เชื่อสิว่าเจอแต่หนังสือ หนังสือ และหนังสือเพียบ!

 

วัฒนธรรมการให้หนังสือเกิดจากความขาดแคลน

“ธรรมเนียมการให้หนังสือเป็นของขวัญวันคริสต์มาสคือการปลูกฝังในครอบครัวของคนที่นี่ที่ทำมาช้านาน” Kristjan B. Jonasson ประธานสมาคมผู้จัดพิมพ์ของไอซ์แลนด์กล่าว “ตามปกติเราจะให้ของขวัญในวันที่ 24 แล้วคนก็จะอ่านมันคืนนั้น มองหลายๆ มุมก็คือ มันเป็นหัวใจหลักของตลาดการตีพิมพ์ของไอซ์แลนด์เลยก็ได้” 

ประเพณี Jolabokaflod เริ่มขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ไอซ์แลนด์ได้รับอิสรภาพจากเดนมาร์กในปี 1944 ตอนนั้นข้อจำกัดในการนำเข้าของสินค้าทำให้ไอซ์แลนด์เกิดวิกฤต ชาวไอซ์แลนด์ไม่มีสกุลเงินที่เหมาะสมในการซื้อผลิตภัณฑ์และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมอบเป็นของขวัญวันคริสต์มาสแก่คนที่พวกเขารัก กระดาษจึงกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการผ่อนปรน ดังนั้นชาวไอซ์แลนด์จึงยิ่งรักหนังสือมากๆ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถให้ของขวัญชนิดอื่นๆ ได้นอกจากหนังสือ ดังนั้นประเพณีการแลกเปลี่ยนหนังสือในช่วงวันหยุดจึงเกิดขึ้นตามธรรมชาติ 

แน่นอนการเพิ่มขึ้นของการให้หนังสือเป็นของขวัญทำให้วัฒนธรรมของไอซ์แลนด์ถูกมองว่าเป็น “ชนชาติบ้าหนังสือ” จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Bifröst ในปี 2013 พบว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศอ่านหนังสืออย่างน้อยแปดเล่มต่อปี!!! อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรเพียงเล็กน้อยราวๆ 330,000 คน อุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไอซ์แลนด์จึงขาดทรัพยากรที่จะเผยแพร่และแจกจ่ายหนังสือใหม่ๆ ตลอดทั้งปี การทำอุทกภัยหนังสือ (Book Flood) จึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกัน มันก็เป็นการสืบต่อประเพณีอันเป็นที่รัก

 


แคตตาล็อก Bókatíðindi ของปี 2018
 

ทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 1944 หนังสือเล่มต่างๆ ในไอซ์แลนด์จะได้รับการตีพิมพ์ลงในแคตตาล็อกที่เรียกว่า Bókatíðindi และส่งไปยังทุกครัวเรือนทั่วประเทศช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตรงกับงานหนังสือของกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ โดยผู้คนใช้แคตตาล็อกนี้เป็นตัวช่วยในการสั่งซื้อหนังสือเพื่อให้เพื่อนและครอบครัวสำหรับวันคริสมาสต์ ในช่วงเทศกาล คนจะเปิดห่อของขวัญในวันที่ 24 ธันวาคมและตามประเพณีทุกคนจะอ่านหนังสือที่พวกเขาได้รับในทันที พร้อมทั้งดื่มช็อกโกแลตร้อนหรือเครื่องดื่มคริสมาสต์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ที่เรียกว่า jólabland

ตอนนี้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการเผยแพร่หนังสือมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีร้านหนังสือและสำนักพิมพ์นับร้อยตั้งรกรากอยู่ทั่วประเทศ ชาวไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่มักเขียนหนังสือ บทความ ข่าว บทกลอน บทกวีอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และมรดกตกทอดของชาวเกาะไอซ์แลนด์ก็คือการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อหัวมากกว่าคนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชนชาติบนเกาะรักการอ่านแห่งนี้จะมีอัตราการอ่านออกเขียนได้สูงมากๆ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการรวมกันระหว่างวรรณกรรมและการอ่านอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศ

 


เมืองเรยาวิก มรดกแห่งวรรณกรรมของโลก
(via: vivalifestyleandtravel.com)

 

ไอซ์แลนด์ ดินแดนของคนรักหนังสือ

ไอซ์แลนด์มีประวัติศาสตร์ด้านวรรณคดีที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง สถานที่สำคัญของวรรณคดีโลก รวมทั้ง Sagas of the Icelanders และบทกวี Poetic Edda ของประเทศไอซ์แลนด์ยังคงมีคนอ่านและแปลอย่างกว้างขวาง อ้างอิงจาก United Nations Educational, Scientific, และ Cultural Organization

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในปี 2009 ห้องสมุด Reykjavík City ของเมืองเรคยาวิกที่มีประชากรเพียงแค่ 200,000 มีหนังสือถึงให้ทุกคนยืม 1.2 ล้านเล่ม! ย้ำนะคะว่าเป็นหนังสือให้ยืม ไม่ใช่ขาย นับว่าจำนวนหนังสือมากกว่าจำนวนประชากรถึง 6 เท่า! ไม่เพียงแค่นั้น ไอซ์เเลนด์ยังมีรายการทีวีที่ชื่อว่า “Kiljan” ซึ่งอุทิศทั้งรายการให้แก่หนังสือล้วนๆ แถมในปี 2011 ยังได้รับยกย่องจากองค์กร UNESCO ดังนั้นจะพูดว่าชาวไอซ์แลนด์รักหนังสือก็คงไม่แปลกเท่าไหร่

ก่อนหน้านี้ Baldur Bjarnason นักวิจัยได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมหนังสือของไอซ์แลนด์ไว้ว่า “ถ้าคุณดูการกระจายการขายหนังสือในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา คุณจะพบว่ายอดขายหนังสือส่วนใหญ่มาจากคนส่วนน้อย มีเพียงไม่กี่คนที่ซื้อหนังสือมากมาย ทุกคนซื้อหนังสือปีละหนึ่งเล่มถ้าคุณโชคดี แต่ที่ไอซ์แลนด์ คนส่วนใหญ่ซื้อหนังสือหลายเล่มต่อปี

 


(via: amazon)
 

ชาวไอซ์แลนด์รักการอ่านนิยายเป็นชีวิตจิตใจ

คอนิยายต้องฟินมากแน่ๆ เพราะถ้าถามถึงแนวหนังสือสุดโปรดของชาวไอซ์แลนด์ “นิยาย” และ “ชีวประวัติ” เป็นอะไรที่ขายดีมาก แม้ว่าในความเป็นจริงชาวไอซ์แลนด์จะอ่านหนังสือหลากหลายแนว Bjarnason บอกว่า “สองปีที่ผ่านมา หนึ่งในหนังสือขายดีที่ทำเราเซอร์ไพรส์มากคือภาพประวัติศาสตร์ของรถแทรกเตอร์ในไอซ์แลนด์” เออแฮะ...คาดไม่ถึงจริงๆ ด้วย 

นอกจากหนังสือรถแทรกเตอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง ยังมีหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ขายดีไม่แพ้กัน นั่นคือ Summerland: The Deceased Describe Their Death And Reunions In The Afterlife (คนตายเล่าเรื่องความตายและการกลับมาพบกันอีกครั้งหลังเสียชีวิต) เขียนโดย Gudmundur Kristinsson วัยแปดสิบกว่าปีที่เชื่อว่าตัวเองสามารถคุยกับศพได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หนังสือเล่มนี้ขายหมดเกลี้ยงทันทีที่วางขายในช่วงคริสต์มาสปี 2010 และขายหมดถล่มทลายเมื่อตีพิมพ์อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011 กระซิบก่อนว่านี่เป็นหนังสือที่เขาตีพิมพ์เอง (หรือที่เรียกว่าหนังสือทำมือ) ด้วย! เรียกได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่เลยทีเดียว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับชาวไอซ์แลนด์เลย เพราะคนที่นี่เขาฝันอยากจะเป็นนักเขียนกันนะจ๊ะ

“จะพูดว่าความฝันของชาวไอซ์แลนด์คือการเขียนหนังสือก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ” Jonasson กล่าว “และประมาณ 50% ของคนที่ฝันถึงก็ทำมันจริงๆ ก่อนที่พวกเขาจะตาย พวกเขาจะลองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อเขียนหนังสือ” เจ๋งเป็นบ้าเลย 

 

ถึงอย่างนั้นไอซ์แลนด์ก็ยังคงเป็นตลาดหนังสือที่เล็กอยู่ดี

ใช่ค่ะ ถึงแม้ผู้คนจะฝันอยากเป็นนักเขียนและต่างพากันมอบหนังสือให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาสตามประเพณี Jolabokaflod (อุทกภัยหนังสือช่วงคริสต์มาส) แต่อย่างที่รู้กันดี ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในยุโรป ดังนั้นแม้จะมีการตบตีสู้รบและแย่งชิงหนังสือ แต่ตลาดหนังสือภาษาไอซ์แลนด์กลับยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่เล็กที่สุดในโลก ยกตัวอย่างเช่นในปี 2012 มีหนังสือออกใหม่เพียงแค่ 842 เล่ม เมื่อเทียบกับหนังสือเล่มใหม่ๆ บนตลาดของสหรัฐในปี 2011 ที่มีถึง 350,000 เล่ม

Bryndís Loftsdottir ผู้จัดการโครงการหนังสือภาษาไอซ์แลนด์ Penninn-Eymundsson กล่าวว่าหนังสือปกอ่อนเป็นของหายากเพราะชาวไอซ์แลนด์มองว่าหนังสือไม่ใช่สินค้าราคาถูก แต่หนังสือแปลเเนวอาชญากรรมจากแถบสแกนดิเนเวียทำเป็นปกอ่อนซะส่วนใหญ่ คนที่นี่จึงได้จับต้องหนังสือปกอ่อนกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามอีบุ๊คไม่เป็นที่นิยมสำหรับชาวไอซ์แลนด์ คนที่นี่ชอบสัมผัสหนังสือเป็นเล่มๆ มากกว่า

 


(via: chicagonow.com)

 

เลื่อนการขายไปสู่ฤดูกาลอื่นอย่างช้าๆ

ตามปกติ คนที่นี่จะซื้อหนังสือหนักมากในช่วงเวลาที่พี่น้ำผึ้งได้กล่าวไป (กันยายน - ต้นพฤศจิกายน) เล่นเอาล้มละลายเลยทีเดียว แต่ดูเหมือนว่าบางสิ่งบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปในโลกหนังสือไอซ์แลนด์ Jonasson กล่าวว่าการวางผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไว้ในฤดูกาลช้อปปิ้งครั้งเดียวถือว่ามีความเสี่ยงทางการเงิน ด้วยเหตุนี้เขากล่าวว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ เริ่มวางขายหนังสือบางส่วนในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนแล้ว

อย่างไรก็ตามชาวไอซ์แลนด์ก็ยังคงยึดถือในขนบธรรมเนียมอุทกภัยหนังสือ Bjarnason กล่าวว่า "มันยังคงเป็นเรื่องยากที่จะปล่อยนิยายที่เป็นที่นิยมออกไปนอกฤดูคริสต์มาส ยกเว้นว่ามันจะโด่งดังอยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง เช่น Harry Potter และ Twilight" Bjarnason ยังกล่าวต่ออีกว่าสำนักพิมพ์ได้เผยแพร่เวอร์ชั่นแปลของหนังสือเหล่านั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาสามารถขายได้ทันทีในทุกช่วงเวลาของปี 

 

เป็นยังไงบ้างคะกับวัฒนธรรมแสนน่ารักของชาวไอซ์แลนด์ แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็เป็นรากฐานสำคัญสำหรับวงการหนังสือ โดยเฉพาะเหล่านักฝันอยากเป็นนักเขียนรวมทั้งสำนักพิมพ์ต่างๆ เรียกได้ว่าประชากรถึง 50% เป็นนักเขียนเลยแหละ ดังนั้นไอซ์แลนด์จะเป็นประเทศในฝันสำหรับนักเขียนก็ไม่แปลก โดยส่วนตัวแล้วพี่ชอบประเทศมากนี้เลยแหละค่ะ ยิ่งได้รู้ว่าไอซ์แลนด์มีวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้ผู้คนรักการอ่านด้วยการมอบหนังสือให้กัน (และต้องอ่านเลยในคืนนั้น) พี่ยิ่งตกหลุมรักเข้าไปใหญ่! ถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปเยี่ยมชมประเพณี Jolabokaflod ด้วยตัวเองให้ได้ อยากรู้ว่าจะเป็นยังไง เชื่อว่าคอหนังสือคงรู้สึกเหมือนกัน ^ ^  

ส่วนครั้งหน้าจะนำเรื่องอะไรมาฝากนั้น รอติดตามได้เลยจ้ะ

พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/books/2016/mar/11/finland-ranked-worlds-most-literate-nation
https://www.bbc.com/news/magazine-24399599
https://jolabokaflod.org/about/founding-story/
https://www.npr.org/2012/12/25/167537939/literary-iceland-revels-in-its-annual-christmas-book-flood?ft=1&f=1008?ft=1&f=1008
https://grapevine.is/culture/literature-and-poetry/2009/12/14/the-jolabokaflod/
http://www.icelandwritersretreat.com/christmas-book-flood-beloved-icelandic-tradition/

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

hameii Member 8 ม.ค. 62 10:07 น. 2

ที่ประเทศนี้ สวรรค์ของนักอ่านกับสวรรค์ของนักเขียนเป็นหนึ่งเดียวกัน ขอปักหมุดบนแผนที่ อยากไปร่วมเทศกาลอุทกภัยหนังสือให้ได้สักครั้ง


ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ พี่น้ำผึ้ง

1
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
hameii Member 8 ม.ค. 62 10:07 น. 2

ที่ประเทศนี้ สวรรค์ของนักอ่านกับสวรรค์ของนักเขียนเป็นหนึ่งเดียวกัน ขอปักหมุดบนแผนที่ อยากไปร่วมเทศกาลอุทกภัยหนังสือให้ได้สักครั้ง


ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ พี่น้ำผึ้ง

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด