7 ความลับที่นักเขียนระดับโลกอยากบอกนักเขียนทุกคน!

 

7 ความลับที่นักเขียนระดับโลก
อยากบอกนักเขียนทุกคน!

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน เชื่อว่าน้องๆ ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ส่วนใหญ่ต้องการเป็นนักเขียน หรือไม่ก็เป็นนักเขียนอยู่แล้วแน่นอน จะว่าไปแล้วในยุคนี้สมัยนี้ การเป็นนักเขียนดูเป็นเรื่องง๊ายง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปาก แค่น้องหยิบกระดาษ จับปากกาและลงมือเขียนในสิ่งที่อยากเขียน เสร็จแล้วก็พิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ เปิดเว็บ Dek-D.com เข้าหมวดนิยาย จัดการอัปเสร็จสรรพและนอนรอคอมเมนต์จากนักอ่านแบบสวยๆ แค่นี้ก็ถือว่า “ฉันเป็นนักเขียนแล้ว”

อย่างไรก็ตาม แม้การเป็นนักเขียนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจัดว่าไม่ง่ายเท่าไหร่นัก มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราไปไม่ถึงจุดนั้นสักที อาทิเช่น นัก (อยาก) เขียนหลายคนตายกลางอากาศด้วยการทิ้งตัวละครไว้กลางทาง ไม่ยอมเขียนให้จบ เป็นต้น ซึ่งถ้าน้องๆ เป็นหนึ่งในนักเขียนที่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังสักที ลองดู 7 ความลับจากนักเขียนระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอยากบอกเราต่อไปนี้สิ รับรองว่าช่วยเราได้มากขึ้นแน่นอน ว่าแล้วก็ตามไปดูดีกว่าว่าความลับ 7 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง 

 


พูบลิลัส ซีรุส
(via: carmentablog.com)

 

ความลับข้อที่ 1 : นักเขียนที่ดีต่อสู้เพื่อควบคุมตัวเอง

พูบลิลัส ซีรุส นักเขียนชาวละตินเคยกล่าวว่า “ถ้าคุณอยากสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ จงปกครองตัวเอง” เช่นเดียวกับการเขียนนิยายสักเรื่องนั่นแหละ ถ้าเราอยากมีนิยายเป็นของตัวเอง เราก็ต้องลงมือเขียนเลย ไม่ต้องรออะไรแล้ว รอทำไมแรงบันดาลใจ รอไปก็ไม่ได้เขียนสักที มีเพียงแค่วิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ นั่นคือการลงมือเขียนทันที ความลับที่นักเขียนระดับโลกอยากบอกก็คือ “เขียนเถอะ ขอร้อง”

นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงแค่ลงมือเขียนเท่านั้น แต่ถ้าเราอยากสร้างอาณาจักรของเราให้ยิ่งใหญ่ (ในที่นี้คือการสร้างโลกนิยาย) เราต้องสร้างกฎเล็กๆ น้อยเพื่อเผด็จการตัวเราสักหน่อย เผื่อขี้เกียจจะได้มีไฟแล้วกลับมากระตือรือร้น คำแนะนำสำหรับความลับข้อนี้ก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ลงมือเขียนนิยาย จงสร้างกฎเพื่อคุมตัวเองซะ เชื่อสิ นักเขียนที่ประสบความสำเร็จหลายคนเก่งในเรื่องการปกครองตัวเอง พวกเขามีช่วงพักก็จริง แต่พวกเขาก็เผด็จการกับตัวเองเช่นกัน ดังนั้นเราก็ควรที่จะรู้จักควบคุมตัวเองให้ฝืนเขียนนิยายจนกลายเป็นนิสัย

 


เจ.เค.โรว์ลิ่ง
(via: Medium)

 

ความลับข้อที่ 2 : นักเขียนที่ดีคือนักเขียนที่อ่านหนังสือที่ดี

คำแนะนำเจ.เค.โรว์ลิ่ง เจ้าของผลงานระดับโลกอย่าง “แฮร์รี่ พอตเตอร์” กล่าวไว้ว่า “อ่านเยอะๆ การอ่านช่วยได้จริงๆ นะ อ่านทุกอย่างที่อยู่ในมือคุณสิ” อย่าเพิ่งร้องโอดโอยสิน้องๆ ข้อนี้เจ.เค.โรว์ลิ่งเขาพูดจริง ไม่ได้ล้อเล่นค่ะ และพีก็มั่นใจว่าสิ่งที่เจ.เค.โรว์ลิ่งพูดนั้นถูก 100 เปอร์เซ็นต์ อย่าลืมสิ ถ้าหากเราไม่มีวัตถุดิบ เราจะไม่สามารถผลิตผลงานออกมาได้ และถ้าเราไม่ใช้วัตถุดิบที่ดีเยี่ยม แล้วเราจะสร้างผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมได้อย่างไร? เพราะงั้นจงเริ่มจากการอ่านหนังสือซะ ที่สำคัญอย่าลืมเลือกหนังสือยอดเยี่ยมที่เราสามารถหาได้ จากนั้นอย่ากลัวที่จะอ่านมันหลายๆ ครั้ง เชื่อสิการอ่านหนังสือเหล่านี้จะเป็นวัตถุดีชั้นดีสำหรับนักเขียนอย่างเรา

“ถ้ามันเป็นหนังสือที่ดี ทุกคนก็จะอ่านมัน พูดตรงๆ นะ ฉันไม่ละอายใจที่จะบอกว่าถึงตอนนี้ฉันก็ยังคงอ่านในสิ่งที่ฉันรักมากๆ สมัยเด็กด้วย” เจ.เค.โรว์ลิ่งสารภาพ เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะเป็นของเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ถ้ามันเป็นหนังสือที่เรารักมากๆ อ่านกี่ครั้งก็ไม่รู้เบื่อ อย่าลืมลองหยิบมาอ่านซ้ำอีกครั้งดูสิ เพราะมันอาจช่วยจุดประกายจินตนาการบางอย่างให้กับเราได้ นอกจากนี้การอ่านหนังสือแย่ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งหนึ่งวิธีที่น่าสนใจเพราะมันทำให้รู้ว่าเราควรเลี่ยงการสร้างผลงานแบบไหน ที่สำคัญที่สุดที่อยากให้ทุกคนท่องไว้ นักเขียนที่ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนอ่านหนังสือเยอะมาก เหมือนอย่างที่เจ.เค.โรว์ลิ่งบอกนั่นแหละค่ะว่า “ถ้าคุณไม่ชอบอ่านหนังสือ คุณจะไม่มีวันพบหนังสือที่ใช่” แล้วเราจะสร้างหนังสือที่ใช่ได้อย่างไรถ้าเราไม่ยอมอ่านหนังสือ? 

 


ไมเคิล ไครซ์ตัน
(via: Vanity Fair)

 

ความลับข้อที่ 3 : นักเขียนที่ดีต้องมีประสบการณ์ตรงจากโลกแห่งความเป็นจริง

ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ บทละครและงานเขียนประเภท non-fiction ของไมเคิล ไครซ์ตันโด่งดังมากๆ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ ไมเคิล ไครซ์ตันขึ้นชื่อว่าเป็นคุณหมอที่ผลิตหนังสือออกมามากมาย แถมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า (หากใครไม่รู้จักขอให้นึกถึงจูราสสิค ปาร์คเข้า นั่นแหละงานเขียนของเขาเอง) เล่นเอาหลายคนสงสัยว่าเขาได้ไอเดียเขียนนิยายมาจากไหน และเมื่อพี่ได้ลองอ่านชีวประวัติของเขา ทุกอย่างก็ชัดเจนทันที

ไครซ์ตันสนับสนุนแนวคิดเรื่อง "ประสบการณ์ตรง" จากโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างมาก เขาเชื่อว่าอินเตอร์เน็ต สื่อข้อมูลต่างๆ รวมทั้งมีเดียบดบังมุมมองของเราเกี่ยวกับโลกแห่งความเป็นจริงและประสบการณ์ที่เรามีในธรรมชาติ ซึ่งผลงานนิยายเล่มเดี่ยวๆ เกือบทั้งหมดที่ไครซ์ตันขายได้ (มากสุดถึง 250 ล้านเล่ม!) ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจาก “ประสบการณ์ตรง” ที่เขาได้จากโลกแห่งความเป็นจริง

ไมเคิล ไครซ์ตันกล่าวว่า “ในที่สุดฉันก็ตระหนักว่าประสบการณ์ตรงนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่สุดที่ฉันสามารถทำได้ คนตะวันตกถูกล้อมรอบไปด้วยไอเดียและความคิดต่างๆ จนมันระเบิดด้วยความคิดเห็น คอนเซปท์และโครงสร้างข้อมูลต่างๆ ทำให้ทุกอย่างยากที่จะได้สัมผัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากตัวกรองที่แทรกแซงโครงสร้างเหล่านี้ รวมถึงโลกธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่กำลังจะหายไปอย่างรวดเร็ว”

พออ่านถึงบรรทัดนี้จบ พี่น้ำผึ้งก็พยักหน้าเห็นด้วยรัวๆ เลย จริงๆ แล้วการหยิบประสบการณ์ตรงของเรามาเขียนจะช่วยเพิ่มเลเวลความน่าเชื่อถือของงานเขียนเราให้สูงขึ้น นักอ่านอินและดีต่อใจมากขึ้น ลองนึกภาพตามดูสิ สมมติว่าเราเขียนนิยายที่ประเด็นหลักเป็นเรื่องของการทำอาหาร หรือฉากหลังของนิยายเป็นปารีส แต่เราทำอาหารไม่เป็นและไม่เคยไปเหยียบปารีส หากเราไม่หาข้อมูลอย่างเต็มที่ (หรือไม่ได้ลองลงมือทำจริงๆ) นิยายของเราก็จะไม่สมจริง ตัวละครอาจทำอาหารผิดๆ ถูกๆ หรือปารีสที่เป็นเบื้องหลังของนิยายก็จะเป็นเพียงแค่ “เมืองปารีส” ที่ปราศจากกลิ่นอายของปารีเซียง 

ดังนั้นออกไปข้างนอกค่ะ ออกไปผจญภัยและหาประสบการณ์ใหม่ๆ สัมผัสประสบการณ์ตรงโดยปราศจากตัวกรองดิจิตัลต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน เพื่อน หรือคนอื่นๆ ออกไปหลงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสิ แล้วเราจะถูกบังคับให้หันมาเผชิญหน้ากับไอเดียใหม่ๆ

 


สตีเฟ่น คิง
(via: wennermedia)

 

ความลับข้อที่ 4 : นักเขียนที่ดีเขียนทุกๆ วัน

เป็นความลับที่หลายคนฟังจนเบื่อ แต่พี่น้ำผึ้งก็ต้องขอยืนยันอีกครั้งเช่นกันว่านี่คือความจริง ลองสังเกตจากสิ่งที่นักเขียนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนทำสิ เจ.เค.โรว์ลิ่งเอย สตีเฟ่น คิงเอย ทุกคนล้วนมีวินัยในตัวเองด้วยการเขียนมันทุกวันเหมือนเป็นงานประจำทั้งนั้น เอาล่ะ เหล่านักเขียนทั้งหลาย จำไว้เลยนะว่าเราจะไม่มีทางเขียนนิยายได้เป็นร้อยเล่ม (แบบสตีเฟ่น คิง) เเน่ๆ ถ้าเราไม่เขียนนิยายเป็นประจำทุกวัน!

มัวรออะไรอยู่ล่ะ กำหนดให้ชัดเจนเลยว่าเราจะเขียนวันละกี่บรรทัด กี่หน้า ก็ว่ากันไป จากนั้นฝืนตัวเอง บังคับตัวเองให้เขียนให้ได้ คิดไม่ออกก็ต้องเขียนมันต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย เผด็จการกับตัวเองแล้วจะไปถึงฝั่งฝัน ถ้าใครทำไม่ได้ สตีเฟ่น คิงฝากบอกว่า “มือสมัครเล่นนั่งรอแรงบันดาลใจ ส่วนที่เหลือก็ลุกขึ้นและไปทำงาน”  ได้ยินแบบนี้แล้วอย่ารอช้าค่ะ วิ่งไปเขียนเลย แต่ถ้าใครบ่นโอดโอยทำไม่ไหวท้อใจเหลือเกิน พี่ขอแนะนำให้ย้อนขึ้นไปอ่านความลับที่ทำให้เรากลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จข้อแรกนะจ๊ะ 

 


โรเบิร์ต ฟรอสต์
(via: wennermedia)
 

ความลับข้อที่ 5 : นักเขียนที่ดีไม่กลัวที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเอง

โรเบิร์ต ฟรอสต์ นักประพันธ์กวีชื่อดังกล่าวว่า “ไม่มีน้ำตาจากนักเขียน ไม่มีน้ำตาจากนักอ่าน ไม่มีเซอร์ไพรส์จากนักเขียน ไม่มีเซอร์ไพรส์จากนักอ่าน” คำพูดง่ายๆ ที่ทำให้เราร้องอ๋ออย่างคล้อยตาม ลองจินตนาการดูสิ ถ้าเราเขียนนิยายโดยปราศจากความรู้สึก ถ้าพยายามเขียนให้เศร้าแต่เราไม่เศร้าด้วย หรือเขียนให้แฮปปี้เเต่เราไม่มีฟีลแฮปปี้เลย ก็อย่าหวังว่านักอ่านจะรับรู้ความรู้สึกนั้นหรืออินไปกับเรื่องของเรา เพราะงั้นจงเขียนในสิ่งที่เรามีอารมณ์ร่วม

วิธีการง่ายๆ ก็คือ ก่อนอื่นเราต้องเชื่อว่าเราสามารถเขียนในสิ่งที่ทำให้เราร้องไห้ได้และลงมือเขียน ถ้าจะเขียนฉากเศร้าก็ลองเรียกความทรงจำเศร้าๆ มา ทำตัวให้อินแล้วเขียนซะ โมเมนต์นั้นแหละเราจะรู้สึกอินสุดๆ แล้วนิยายของเราก็จะเปี่ยมไปด้วยอารมณ์เลยทีเดียว หรือใครจะเขียนฉากตื่นเต้น เราก็ต้องเริ่มจากการเชื่อว่าเราสามารถเขียนฉากนี้ให้ตื่นเต้นได้ จากนั้นก็ไม่มีอะไรดียิ่งไปกว่าการลงมือเขียน! จำไว้นะ ถ้าทำให้เรารู้สึก นักอ่านก็จะรู้สึกตามด้วย ความรู้สึกนั้นจะส่งผลต่อผู้อ่านเป็นอย่างมาก!

 


มาเดลีน แลงเกิน
(via: Medium)

 

ความลับข้อที่ 6 : นักเขียนที่ดีเขียนในสิ่งที่สะท้อนสังคม

ลองสังเกตดูสิ นิยายของนักเขียนชื่อดังส่วนใหญ่มักสะท้อนหรือสวนกระแสสังคม ยกตัวอย่างเช่น Pride and Prejudice ของเจน ออสเตน ที่ตัวละครหญิงอย่างอลิซาเบธเป็นคนฉลาด เธอรักการอ่านหนังสือและกล้าถกเถียงกับผู้ชาย ตรงข้ามกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในยุคนั้นที่พอใจจะเป็นช้างเท้าหลัง มันสะท้อนให้เห็นเลยว่าผู้หญิงสมัยนั้นมักคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับการแสดงความเห็นหรือทำตัวฉลาดกว่าผู้ชาย หรือจะเป็นเรื่อง 13 Reasons Why ที่สะท้อนถึงสังคมวัยรุ่นฝั่งอเมริกาชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของ bully ผลลัพธ์ก็คือหนังสือเล่มนี้กลายเป็นซีรี่ส์โด่งดังและมีกระแสพูดถึงต่างๆ นานา ซึ่งพี่มองว่าการหยิบประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาเขียนจะทำให้นิยายของเราโดดเด่นขึ้น และมันจะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นเมื่องานเขียนของเรานั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในทิศทางที่ดี ไม่เชื่อลองตั้งใจอ่านงานเขียนของนักเขียนดังๆ อย่างเช่นเจ.เค.โรว์ลิ่ง เราจะเห็นเลยว่าป้าโจพยายามสอดแทรกแง่คิดลงไปในซีรี่ส์แฮร์รี่ พอตเตอร์

ซึ่งถ้าเราไม่รู้ว่าจะสะท้อนสังคมยังไงให้น่าสนใจและปลอดภัยต่อตัวเรา มาเดลีน แลงเกิล ผู้เขียนนิยายไซไฟ-แฟนตาซีชื่อดังอย่าง “ย่นเวลาทะลุมิติ” ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “คุณต้องเขียนหนังสือที่ต้องการเขียน และถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ คุณก็เขียนให้เด็ก” กล่าวคือ ถ้าเราเขียนอะไรก็ตามที่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ไม่สบายใจ ลองเปลี่ยนการแชร์ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ด้วยการเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเรื่องราวของเด็กๆ ซะ เช่นอย่างเรื่องมูมิน หรือวินนี่เดอะพูห์ก็แอบสะท้อนสังคมเบาๆ นะคะ 

 


(via: pixabay)
 

ความลับข้อที่ 7 : อยากเป็นนักเขียนไม่จำเป็นต้องรอให้เรียนจบ

มีคำถามหลังไมค์มากมายเหลือเกินว่า “พี่คะ หนูอยากเป็นนักเขียนค่ะ หนูต้องเรียนจบอะไรคะ?” หรือ “พี่ครับ ผมเรียนสายวิทย์ ผมเป็นนักเขียนได้มั้ย?” บอกเลยว่าคำตอบก็คือ...ไม่ว่าเราจะเรียนคณะไหน สายไหน เรียนจบหรือเรียนไม่จบ เราก็สามารถเป็นนักเขียนได้ ขอแค่ลงมือเขียนก็พอแล้ว หากสังเกตให้ดี เดี๋ยวนี้นักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ มีตั้งแต่วัยกำลังเรียนไปจนถึงวัยทำงาน เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าเราจะเรียนจบหรือกำลังเรียนอยู่ ถ้าหากเราอยากเป็นนักเขียน ไม่มีสิ่งไหนจะดีไปกว่าการระเบิดจินตนาการและลงเขียนในสิ่งที่เราต้องการเขียนเลย! นอกจากนี้ในบางครั้งการศึกษาก็สามารถกลายเป็นข้อจำกัดที่ขัดขวางจินตนาการของเราได้

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักเขียนคือคอยรักษาจินตนาการของเราเอาไว้ อย่าพยายามควบคุมจินตนาการเมื่อเห็นว่าสิ่งที่คิดไม่น่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จงปลดปล่อยมันซะแล้วเขียนในสิ่งที่ความคิดกระซิบบอก ไม่แน่นะ เรื่องราวแปลกใหม่นี้อาจโด่งดังมีชื่อในอนาคตก็ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การศึกษาจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับนักเขียน แต่สิ่งที่จำเป็นก็คือการพิจารณาผลงานของเรา กล่าวคือ ก่อนที่เราจะเขียนอะไร อย่าลืมตรวจสอบดูให้ดีว่างานเขียนของเราเหมาะสมแล้วหรือไม่ ถ้าเผยแพร่สู่ที่สาธารณะไปแล้วคนอ่านจะรู้สึกยังไง? จะส่งผลกระทบทางดีหรือไม่ดีต่อสังคม? ดังนั้นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมจึงเป็นอีกสิ่งที่นักเขียนควรทำ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับความลับเด็ดๆ ที่พี่เก็บตกมาจากนักเขียนที่ประสบความสำเร็จที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวเองให้เขียนนิยาย การอ่านหนังสือดีๆ เยอะๆ การเขียนจนเป็นนิสัย การไม่กลัวต่อการแสดงความรู้สึก การเขียนในสิ่งที่สะท้อนสังคม และการปลดปล่อยจินตนาการ ทุกความลับนี้มักเป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้ว บางคนทำครบบ้างไม่ครบบ้าง แต่ถ้าหากน้องๆ ทำทั้ง 7 ข้อนี้ครบ พี่น้ำผึ้งเชื่อเลยว่าเราจะต้องเป็นนักเขียนที่โด่งดังไม่แพ้เจ.เค.โรว์ลิ่งหรือสตีเฟ่น คิงแน่นอน 

พี่น้ำผึ้ง :)

 


 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด