ไหนใครจะเทภาษาไทย เพราะคิดว่าอ่านไม่ทัน เดี๋ยวไปเดาหน้างานก็ได้ คุณพลาดแล้วล่ะ ! ภาษาไทยเก็บคะแนนได้ เตรียมอ่านเพื่อสอบก็ง่ายกว่าที่คิด พี่เกียรติมีเทคนิคมาฝาก ไม่ต้องเท ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องดิ่งไทย แค่จับทริกได้ก็สบายทุกสนามสอบจ้า เทคนิคที่ว่านี้มาจากผู้รู้ตัวจริง อาจารย์แจ๊กกี้จะมาแนะนำน้อง ๆ ชาว Dek-D โดยตรงเลยจ้า





             "อาจารย์แจ๊กกี้" นิธิโรจน์ สุวัชรธีรนิล เป็นผู้สอนภาษาไทยโครงการ Brand’s Summer Camp และโครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับสหพัฒน์ เป็นวิทยากรอบรมให้โครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มีประสบการณ์สอนมามากกว่า 14 ปี และเขียนหนังสือติว GAT เชื่อมโยง "GAT get get"  หนังสือติว พิชิต 9 วิชาสามัญภาษาไทย หนังสือชุด Short note "ภาษาไทย ติวให้ได้เต็ม"




ข้อสอบวิชาภาษาไทยในโรงเรียน กับข้อสอบระดับชาติ ต่างกันอย่างไร

             ข้อสอบในชั้นเรียน หัวข้อใหญ่เรื่องหนึ่งจะถามทุกอย่างแยกออกไปเป็นรายข้อ รายเรื่องย่อยไป เพื่อให้เด็กเข้าใจละเอียดทุกเรื่อง เพราะในชั้นเรียนมีกำหนดว่าแต่ละเรื่องต้องเรียนกี่ชั่วโมง เด็กต้องรู้อะไรบ้าง แต่ข้อสอบระดับชาติจำเป็นต้องสรุปเรื่องทุกอย่าง เพื่อออกเป็นข้อสอบในข้อเดียว เช่น หัวข้อใหญ่เรื่อง ระบบเสียงในภาษาไทย แยกย่อยเป็น เสียงสระ เสียงพยัญชนะ เสียงวรรณยุกต์ ในชั้นเรียนก็ออกข้อสอบเป็นข้อๆ ไปเลย ข้อใดเป็นสระประสม ข้อใดเป็นสระเดี่ยว ข้อใดเป็นสระเดี่ยวทุกคำ เพื่อถามเจาะลึกเนื้อหา แต่ข้อสอบระดับชาติ "โอ้โห ข้อเดียวถามทุกอย่างเลย" เช่น คำคู่ใดต่างกันเฉพาะเสียงสระเท่านั้น ทำให้เราต้องรู้หลักระบบเสียงภาษาไทยทั้งหมดเพื่อมาพิจารณาคำตอบของคำแต่ละคู่ เรียกได้ว่าถามในข้อเดียวทดสอบความรู้เด็กได้ครบทั้งเรื่อง

 
ตัวอย่าง
คำคู่ใดต่างกันเฉพาะเสียงสระเท่านั้น

๑. ทรัพย์-ทราบ   
๒. เนิบ-นับ   
๓. หมั้น-ม่าน   
๔. โชค-ชัก

 

วิธีคิดคำตอบ
 
ทรัพย์-ทราบ เนิบ-นับ หมั้น-ม่าน
เสียงพยัญชนะต้น (ซ_) (ซ_) / (น_) (น_) / (ม_) (ม_) /
เสียงพยัญชนะท้าย (_ป) (_ป) / (_ป) (_ป) / (_น) (_น) /
เสียงสระ อะ อา  x เออ อะ  x อะ อา   x
เสียงวรรณยุกต์ ตรี โท  x โท ตรี   x โท โท  /



TCAS ใช้คะแนนวิชาภาษาไทยในการสอบตัวไหนบ้าง

             วิชาภาษาไทยมีในการสอบ O-NET สอบปีละรอบ เก้าวิชาสามัญสอบปีละรอบ แต่ที่สำคัญภาษาไทยเป็นพื้นฐานของการเรียนทุกวิชา เด็กอาจจะไปห่วงว่า ไปดูวิชายากก่อน เพราะภาษาไทยง่าย อ่านออก เดี๋ยวไปเดาเอาข้างหน้างาน แต่จริงไม่ใช่เลย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องง่ายนะ ถ้าเราเข้าใจหลักการ อ่านรอบเดียวก็จบ จำได้ปุ๊บก็ผ่านแล้ว
 
"ทางลัด คือ ข้อสอบเก่า"
 
             ทางลัดเลยคือ ทำข้อสอบเก่าไปเลย ถ้าข้อแรกอ่านโจทย์แล้วตอบไม่ได้ ก็แปลว่าเราไม่มีความรู้เรื่องนั้น ก็กลับไปเปิดหนังสืออ่านเลย ตอบไม่ได้เรื่องไหน ก็ต้องไปหาอ่านเรื่องนั้น พอเจอข้อสอบเดิมอีกก็จะจำได้และทำข้อสอบเรื่องนั้นได้ ปกติแล้วข้อสอบเก่าจะผ่านกระบวนการวิเคราะห์มาแล้ว เนื้อหาหลักไม่เปลี่ยนหรอก อย่างโคลงสี่สุภาพออกทุกปี ให้จำไปเลย แต่บางเรื่องที่เป็นความรู้ใหม่เช่นชนิดของคำหรือชนิดของประโยค ตามหลักการของหนังสือบรรทัดฐานภาษาไทยซึ่งมีหลักการแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่ตัวข้อสอบปัจจุบันก็เห็นถามด้วยหลักการเก่าอยู่ มันต้องเรียนสองตัวไปควบคู่กัน ทิ้งหลักภาษาเก่าไปเลยก็ไม่ได้

             จริงๆ การเรียนรู้ไม่ต้องใช้เวลานาน ถ้าเราเจ็บแล้วจำ ทำแล้วจำ เจอข้อสอบเรื่องไหน ทำไม่ได้ก็ไปหาความรู้มา เจออีกก็ทำได้ แต่ถ้าไม่จำก็จบ ก็ต้องเจ็บอีกจนกว่าจะจำ และถ้าเป็นภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องไปหาทำข้อสอบ 10 ปีย้อนหลัง ย้อนสัก 3-5 ปีก็รู้เรื่อง แล้วดูว่าข้อสอบแต่ละปีที่ผ่านมาเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้างซึ่งจะเห็นได้ชัดเลยว่า เราควรต้องทบทวนเรื่องอะไรเพื่อนำไปสอบ


จุดควรระวัง O-NET / วิชาสามัญ

             O-NET น้ำหนักของข้อสอบ เน้นเรื่องการอ่านคิดวิเคราะห์ และการใช้ภาษา รวม ๆ กันแล้วหลายสิบข้อ จากข้อสอบแปดสิบข้อ ตัวอย่างคำถามเช่น จุดประสงค์หลักของข้อความนี้คืออะไร ประเด็นโต้แย้งของข้อความนี้คืออะไร กลวิธีการเขียนของเรื่องนี้คืออะไร แต่บอกเลยว่าข้อสอบการอ่าน ให้เก็บไว้ทำทีหลังเลย เพราะต้องนั่งตีความ นั่งเดาใจคนออกข้อสอบอีก ให้เก็บคะแนนกับข้อสอบที่มีคำตอบร้อยเปอร์เซ็นก่อน อย่างหลักภาษา เช่น เสียงวรรณยุกค์คืออะไร คำเป็นคืออะไร ข้อนี้มีคำเป็นกี่คำ ถ้ารู้หลักก็ได้คำตอบเลย ซึ่งตัวหลักภาษานี้นับ ๆ ดูก็หนึ่งครึ่งของจำนวนข้อสอบแล้ว

             วิชาสามัญ ก็เน้นอ่านคิดวิเคราะห์ แต่ข้อความของวิชาสามัญยาวกว่า จำนวนข้อสอบน้อยกว่า ถ้าเป็นเรื่องการอ่านข้อความก็ต้องอ่านจับใจความสำคัญให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปตีความ คือ เมื่อเราอ่านจบบทความแล้ว เราต้องจับให้ได้ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ก็ตาม ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของทุกบทความที่ต้องมีประเด็นเหล่านี้





เรื่องนี้ ต้องรู้ ออกสอบแน่

             การผันวรรณยุกต์ คำถามเช่น ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ครบห้าเสียง ถ้าเรียนกับอาจารย์แจ๊กกี้ไม่ต้องจำตารางให้ยุ่งยาก ข้อแรก นับนิ้วเลยให้เทียบเสียงก่อน อักษรกลางคำเป็นผันได้ห้าเสียง (แบมือนับนิ้ว) กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า หากจะต้องผันเสียงคำไหนที่เราไล่ไม่ถูก ให้ลองเทียบบันไดเสียงกับ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า ก่อน ลองผันคำที่เราสงสัยด้วยบันไดเสียงนั้น ถ้าข้อสอบถามเรื่องเสียงวรรณยุกต์ก็มักจะถามว่า "ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ครบห้าเสียง" แต่ก่อนก็ไล่นับนิ้วทุกตัวเลือกเลย ถ้าบังเอิญเจอคำตอบครบห้าเสียงที่ข้อ ก.ไก่ ก็โชคดีไป แต่ถ้าอยู่ ง.งู ก็ต้องใช้เวลาไล่ทุกคำกว่าจะครบ เหนื่อยมาก



             ดังนั้นเทคนิค คือ ให้หาเสียงจัตวา เสียงจัตวาเป็นเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนระดับ เสียงจะมีความแปลกและโดดเด่นกว่าจากเสียงอื่น เช่น ดู๋ ดี๋ จู๋ จี๋ สูสี ผี ขาว สวย เป็นต้น เสียงปลายจะสังเกตได้ชัด (เสียงจัตวาให้ความรู้สึกเหมือนมีเสียงหือหนัก ๆ อยู่ในลำคอ) เราก็หาเสียงจัตวาในตัวเลือกก่อนเลย พอเจอก็ค่อยไล่นับเสียงวรรณยุกต์ข้อนั้นก่อน มีข้อสอบ O-NET อยู่ปีนึง มีเสียงจัตวาแค่ตัวเลือกเดียว ข้ออื่นไม่มีเสียงนี้เลย ดังนั้นไม่ต้องเสียเวลานับทีละตัวไป ทีละตัวเลือก หาเสียงจัตวาก่อนเลย แม้จะไม่ได้เสมอไปทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ถ้าเจอเสียงจัตวาก่อนจะทำให้เราหาคำตอบได้เร็วขึ้น


             ทำไมพี่เกียรติไม่รู้จักอาจารย์แจ๊กกี้มาก่อนนะ ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าการผันวรรณยุกต์ไม่ใช่เรื่องยาก แล้วสมัยสอบไทยพี่ก็ไปนั่งผันทุกคำทุกข้อในตัวเลือกจริงด้วยนะ ตอนนั้นทำข้อสอบไม่ทันเลย ใครที่เตรียมตัวสอบทั้งในห้องเรียน และเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ TCAS จะไม่ยากอีกต่อไป เด็กศิลป์ต้องเก็บคะแนนให้เต็ม เด็กวิทย์ต้องทำคะแนนให้สูง ๆ ภาษาไทยจะไม่ใช่วิชาต้องเท แต่ต้องเป็นวิชาเทพเก็บคะแนนรัว ๆ ไปเลยจ้า
สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากอัปคะแนน  O-NET และวิชาสามัญ ภาษาไทย เพื่อพิชิตคณะในฝัน สามารถสมัครติวออนไลน์ เรียนได้ทุกทีตลอด 24 ชั่วโมง ทวนได้ไม่จำกัด 6 เดือนเต็มกับอาจารย์แจ๊กกี้ได้เลย อาจารย์สรุปเนื้อหาหลักภาษาครบถ้วนทั้ง 85 เรื่องในภาษาไทย ม.ปลาย  พร้อมตะลุยโจทย์ และพิเศษสุด เก็งข้อสอบสุดแม่น ถึงขนาดที่รุ่นพี่ คอนเฟิร์มว่า เอาข้อสอบจริงมาเทียบข้อกันแล้วตรงเป๊ะ 
     
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น