เทพอังกฤษแบบไม่ง้อเมืองนอก ! เคล็ดลับฟัง - พูดอังกฤษได้ พร้อมแนะประสบการเรียนอักษรฯ ใครชอบ ใครอยากเรียนสายภาษาต้องอ่าน

 
                พี่เกียรติชอบประโยคจากภาพข้างต้นนี้มากเลยค่ะ “อาจารย์ติ่งลี่” รุ่นพี่อักษร จุฬาฯ ได้กล่าวไว้ในวาระที่มาคุยแนะแนวเรื่องการเรียนต่อคณะสายภาษาค่ะ ดังนั้น ใครที่อยากเรียนคณะอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ โบราณคดี หรือสาขาที่เป็นเอกภาษาโดยเฉพาะ บอกเลยว่าต้องอ่านบทความนี้ให้จบ !


              “อาจารย์ติงลี่” รชต กิตติโกสินท์ เป็นรุ่นพี่สายภาษา จบปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศสและศิลปะการละคร จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท ภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ จากสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ปัจจุบันเป็นติวเตอร์มืออาชีพประสบการณ์ถึง 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยและเขียนหนังสือภาษาอังกฤษเตรียมสอบหลายเล่มเลยค่ะ อาจารย์ติงลี่เริ่มเล่าว่าสมัยมัธยมชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากที่สุด




             “ชอบเรียนภาษาอังกฤษมาก และรู้สึกว่าภาษาอังกฤษ ม.ปลาย เป็นวิชาที่เราทำได้ มันชิลมาก เราเก่ง อังกฤษ แต่พอมาเรียนปริญญาตรี เนื้อหามันคนละโยชน์เลย รู้เลยว่านรกมีจริง ภาษาอังกฤษปริญญาตรีกับตอนมัธยม มันต่างกันราวฟ้ากับเหว”
 
เรียนภาษาอังกฤษ ฉบับเด็กปริญญาตรี เป็นอย่างไร ?

                จากที่คิดว่าเราเก่งอังกฤษ แกรมม่าเป๊ะมาก แต่พอมาเรียนปริญญาตรี กลายเป็นว่าแกรมม่ามันมีกฎแตกแยกย่อยอีกเยอะมากที่เราไม่รู้ และมีพวกวิชาที่ไม่เคยเรียนในมัธยมปลาย เช่น วรรณคดีอังกฤษ มันไม่ใช่ภาษาอังกฤษแบบปัจจุบันแหละ แต่มันคือทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และจะมีวิชาภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เกี่ยวกับแกรมม่าแบบจ๋าๆ ฝรั่งจะเรียกคนที่เรียนด้านนี้ว่า Grammarian คือคนที่ศึกษาด้านไวยกรณ์ภาษา โครงสร้างภาษาอย่างเน้นๆ ซึ่งวิชากลุ่มโครงสร้างนี้สุดยอดจริงๆ รู้สึกเลยว่าเรียนจบทั้งหลักสูตร ทั้งสี่ปีของเรา ก็ยังเรียนแกรมม่าไม่จบไม่สิ้น ตัวอย่างง่าย ๆ คือ แกรมม่าที่พวกเราเรียนกันมา เป็นแกรมม่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่มันก็ยังมีแกรมม่าสำหรับนักหนังสือพิมพ์ คนทำงานในสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะใช้แกรมม่าเป็นอีกแบบนึง อย่างภาษาพาดหัวข่าว มันก็ใช้ไม่เหมือนกับแกรมม่าที่เราใช้ในชีวิต มันจะมีความพิเศษของมัน ซึ่งจะได้เรียนกันในคณะทางสายภาษาโดยเฉพาะ

             สรุปเลยว่า ภาษาอังกฤษตอน ม.ปลายของเรา เราเรียนในเชิงกว้าง เรียนให้รู้ว่าหลัก ๆ แล้วมีเรื่องอะไรบ้างกว้าง ๆ ไป แต่ระดับปริญญาตรีจะเป็นในเชิงลึก ยิ่งของคณะอักษรฯ จะเน้นไปทางวิชาการ มันยิ่งต้องลึกมาก จะเรียนเน้นในเชิงโครงสร้างภาษาหรือวรรณคดีเลย ส่วนตอนปริญญาโท สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันจะค่อนข้าง Practical มากกว่า คือเรียนเพื่อนำไปปรับใช้ได้ในการทำงานได้ เป็นภาษาที่เกี่ยวกับธุรกิจ ตอบโจทย์ในการทำงาน



             ดังนั้น ก็เลยอยากบอกทุกคนที่สนใจเรียนไม่ว่าด้านใด คณะใด มหาวิทยาลัยไหนก็ตาม ให้ไปดูหลักสูตรของเขาก่อน ว่าเขาสอนอะไรยังไงบ้าง และลองดูว่ามันเป็นสิ่งเราอยากเรียนหรือเปล่า มันต่อยอดได้หรือเปล่า สมมติมันมีเรียนวรรณคดีเยอะมาก แล้วเราชอบอ่านหนังสือหรือเปล่า เราชอบวรรณคดีจริงไหม เราต่อยอดได้ไหม เราจะชอบเรียนหรือเปล่า แล้วมันยังมีหลักสูตรอื่นไหม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ มันใช้ต่อยอดทำงานของเราได้มากกว่าไหม ให้เข้าไปดูเว็บไซต์ของคณะก่อนตัดสินใจนะ

 
วิชาปริญญาตรีที่อาจารย์ติงลี่ชอบ ?

             เชื่อไหมว่าภาษาอังกฤษที่เคยเรียนมาทั้งหมดก่อนเข้าอักษรฯ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ออกเสียงผิดหมดเลย จนมาได้มาเจอวิชา Phonetics วิชานี้บอกเลยว่า การออกเสียงคำนี้ ออกเสียงยังไง มันสามารถเช็กได้จาก Dictionary เลย วิชานี้ทำให้เรารู้สึกว่า มันเปลี่ยนตัวเราเอง มันเปลี่ยนความเข้าใจในการเรียนภาษาอังกฤษของเราเยอะมากว่า “อ้อ ที่เราเคยคุยกับฝรั่ง แล้วฝรั่งมันไม่เข้าใจที่เราพูดอะ มันคือแบบนี้นี่เอง” ยกตัวอย่างนะ คำว่า ช็อกโกแลต คนไทยก็ ชอก - โก - แลต แต่ถ้าจะพูดให้ฝรั่งฟังเข้าใจจริง ๆ เนี่ย ต้องออกเสียง ชาก - เคอะ - เลิต(ทึ)* มันเป็นอีกเสียงเลยนะ ไม่ใช่ “ชอก” แล้ว วิชา Phonetics มันบอกวิธีออกเสียง เรียนหลักการออกเสียงที่เราไปปรับใช้กับการออกเสียงคำอื่นหลังจากนี้ แล้วเราก็จะออกเสียงคำศัพท์ถูกต้องเกือบทุกคำเลยนะ อยากให้นำวิชานี้มาสอนตั้งแต่อนุบาลหรือประถมเลย มันไม่ใช่วิชาที่ยากและนำไปใช้จริงด้วย
*(คำอ่านเป็นเสียงที่พี่เกียรติได้ยินเองจากหูพี่แล้วถอดเสียงมานะ เสียงจริงต้องให้ฝรั่งหรือมาฟังอาจารย์ติ่งลี่พูดเองจ้า)

“ไม่บังคับฝึกงาน แต่การไปฝึกงานก็ได้ประสบการณ์”
             ตอนเรียนไม่มีบังคับฝึกงาน แต่เคยฝึกงานสองเดือนตอนปิดเทอมที่สถานีวิทยุ Radio Thailand (สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย) เขาทำทั้งทีวีและวิทยุเป็นข่าวภาคภาษาอังกฤษ ไปเป็นผู้ช่วยนักข่าวในโต๊ะข่าว ช่วยดูสคริปต์ ดูข่าวให้เขา ได้เจอนักข่าวจริง ๆ เราก็จะได้ดูวิธีการทำงานของเขา ได้พูดคุย ได้ฟังประสบการณ์จากรุ่นพี่นักข่าวเยอะมาก

 
ใครที่เหมาะเรียนภาษา เรียนอักษรทำงานอะไรได้บ้าง ?

             คนที่ชอบภาษา อาจคิดว่าก็ต้องเข้าไปเรียนแต่ภาษา แต่จริงต้องเป็นคนที่อยากเรียนเกี่ยวกับมนุษย์ด้วย เพราะทุกอย่างที่ถูกบันทึกไว้ในภาษามันคือเรื่องราวของมนุษย์ เรื่องสุข เรื่องเศร้า เรื่องความสำเร็จของมนุษย์ คนที่เรียนอักษรฯ ก็จะได้ฝึกคิด และได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาเป็นภาษา คนเรียนอักษรฯ จะได้บ่มเพาะพื้นฐานความเข้าใจมนุษย์ ผ่านจากงานววรณคดี หรือผ่านจากเนื้อหาตอนเรียน ซึ่งมันทำให้เป็นคนที่เข้าใจมนุษย์ สามารถนำมาต่อยอดทำงานอื่นๆ ได้อีกมาก คนจบอักษรฯ มีอาชีพหลากหลาย เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ก็มี ชื่อภาษาอังกฤษของคณะ คือ Faculty of Arts มันคือศิลปะ มันประยุกต์ได้หลายงาน ส่วนอาชีพสายตรง คือ อาชีพที่เกี่ยวกับการติดต่อต่างประเทศ สจ๊วต แอร์โฮสเตส หรือทำบริษัทท่องเที่ยว หรือสายอาจารย์ ครู บางคนทำเกี่ยวกับกฎหมายก็มี แต่ก็อาจต้องมีการไปเรียนต่อเพิ่มเติมภาษากฎหมายบ้าง



อยากเก่งภาษาต้องเริ่มอย่างไร ?

              อาจารย์ติงลี่เชื่อในเรื่องของการฟังก่อน เราเรียนภาษาอังกฤษกันมาผิดกันมาตลอด เด็ก ๆ เราเรียนคัดก่อนเลย A B C D พอคัดแล้วก็ค่อยมาอ่าน B A T แบต C A T แคต R A T แคต แล้วค่อยมาอ่าน ฟัง พูด แต่บางโรงเรียนก็มีให้ฝึกฟังพูด แต่บางโรงเรียนไม่มีเลย พวกเราเรียนแค่อ่านและเขียนเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้ว เด็กแต่แรกเกิดมาสิ่งที่เขาทำสิ่งแรก คือ เขาฟัง ฟังพ่อแม่ฟังคนรอบข้าง แล้วพอฟังถึงจุดนึงจุดที่อิ่มตัว ฟังแล้วก็วิเคราะห์ได้ว่ามันต้องออกเสียงอะไรยังไง แล้วเด็กเขาก็เริ่มพูด ปา มา พอ แม เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ มากที่สุดของการเรียนภาษา คือ การฟัง ฟังก่อน ฟังเสร็จแล้วพูดตาม พูดตามแล้วจะพูดผิดพูดถูกหรือไม่รู้ความหมายก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้พูดตาม

ก็เหมือนเด็ก ๆ เด็กที่ร้องเพลงชาติตอนแรก ๆ "ปะเทศปะไทยมะรวมมะเลือดมะช่าเชื้อไทย" ร้องมั่วมากเลยนะ แต่มันคือการฝึก เพราะฉะนั้นเริ่มฝึกจากการฟัง ฟังเสร็จ พูดตาม แล้วค่อยอ่าน แล้วค่อยมาเขียน เป็นลำดับการเรียนภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง แต่เราเรียนกันสลับหมด เขียน อ่าน แล้วค่อยฟัง พูด เพราะงั้นหลายคนต่อให้เรียนจนจบ ถึง ม.6 แล้วก็ยังพูดไม่ได้



             ให้ฟังวันละนิด สัปดาห์แรก ฟังวันละ 1 - 2 นาที สัปดาห์ต่อไปก็เป็น 3 นาที ค่อยๆ เพิ่มอย่าไปฟังแบบอัดทีเดียว “อู้ย วันนี้ขอฟังหนังทั้งเรื่องลยชั่วโมงครึ่ง แล้วฉันจะเก็บโควตาการฟังของฉันไว้ วีคนี้ฟังอังกฤษพอแหละ” แบบนี้ไม่ได้นะ ภาษาอังกฤษมันคือพัฒนาการ ฟังทีละน้อย ๆ ค่อย ๆ ฟัง เพราะถ้าฟังเยอะ แล้วไม่รู้เรื่อง มันก็จะเบื่อไง

           “ค่อย ๆ ฟัง” ของอาจารย์ไม่ใช่ตั้งใจฟังด้วยนะ แต่แบบฟังกรอกหู ผ่านหูบ่อย ๆ เพราะว่าในหูของเราจะมีกล้ามเนื้อนึงเป็น Cognitive muscle คอยรับรู้และเข้าใจสัญญาณภาษาจากเสียงที่เราได้ยิน เราอยู่กับภาษาไทยมาตลอดชีวิต คำไทยไม่ว่าจะเบาจะเพี้ยน หู ตา ปาก โต๊ะ มันเข้าหูมา เราก็จับได้หมด แต่พอเป็นภาษาอื่น มันเป็นอีกสัญญาณนึง ที่พอได้ยินผ่านมาปุ๊บ เราก็มันจับคำไม่ได้ แบบที่เขาเรียกว่า หูไม่เก็ต หูไม่กระดิก นั่นเอง แต่พอเราได้ยินคำบ่อยๆ เช่น water (อาจารย์ติงลี่ออกเสียงด้วยสำเนียงฝรั่งเป๊ะ ๆ) ตอนแรกก็อะไรนะ เวาะ เวอะ เวาะ เวอะเดอะ ฟังครั้งที่สี่ ครั้งห้า ถึงค่อย “อ๋อ น้ำ เขาพูดถึงน้ำ” เพราะในตลอดชีวิตของเรา มันคือ วอ - เต้อ ไง เราก็จะจับแต่วอเต้อ แต่พอได้ยิน water จริงๆ หูก็ไม่รู้ไม่จับสัญญาณ อาจารย์ถึงบอกว่ามันต้องค่อย ๆ ฟัง ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายมันจะค่อย ๆ จับคำต่าง ๆ ได้ แล้วก็จะเข้าใจ อย่าใจร้อน

แล้วถ้าเกลียดภาษาอังกฤษมาก แต่ก็อยากเก่ง จะทำอย่างไรล่ะ

            เชื่อว่าร้อยเปอร์เซ็นเลย ใครๆ ก็อยากพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะลึกๆ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าภาษาอังกฤษมีประโยชน์ ถ้าเกลียดจริงเราจะไม่เห็นประโยชน์จากมันเลย เกลียดภาษาอังกฤษแต่อยากพูดได้ มันขัดแย้งกันนะ
           จริง ๆ เลยอยากให้ลองคิดดูใหม่ ว่าที่บอกว่าเกลียดภาษาคืออะไร บางทีหนูอาจจะไม่ชอบวิธีการสอนของครูที่เคยเรียนมา หรือหนูอาจจไม่ชอบหลักสูตรที่หนูเรียนอยู่ แต่ในประเทศไทยมีสถาบันมีครูที่สอนภาษาอังกฤษเป็นร้อย ๆ แนวเลย เรียนจากเพลง เรียนจากหนัง เรียนจากอะไรก็แล้วแต่ เพียงแค่หนูลองเปลี่ยนภาษาอังกฤษ ไปเรียนในแบบที่หนูชอบ ยกตัวอย่าง เป็นผู้ชายแมน ๆ ชอบดูบอล เราก็ลองฟังถ่ายทอดสดที่เป็นภาษาอังกฤษ ปิดเสียงพากย์ไทย ฟังไปดูภาพไปเราก็จะเข้าใจมากขึ้น และลองไปดูสัมภาษณ์นักบอลที่เราชอบเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ เรียนภาษาอังกฤษจากสิ่งที่ชอบก่อน สุดท้ายมันจะซึมซับและได้โดยอัตโนมัติ ไม่มีใครเกลียดภาษาอังกฤษหรอก แต่อาจจะไม่ชอบวิธีการสอนต่าง ๆ ก็ได้



 
แต่พ่อแม่หนูไม่พูดอังกฤษ รอบตัวก็ไม่มีใครพูด แล้วจะซึมซับภาษาอังกฤษได้ยังไงคะ

             ไม่เป็นไรเลย รู้ไหม วิธีเรียนภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด คือ Youtube เรียนออนไลน์เมื่อไหร่ก็ได้ เข้า Youtube หาคลิปที่เราชอบแล้วดู แต่มันต้องใช้เวลานะ ไม่ใช่ดูจบสามคลิป แล้วบ่นว่าทำไมยังไม่เก่งอังกฤษเลย มันต้องสม่ำเสมอและใช้เวลา ถ้าดูคลิปภาษาอังกฤษทุกวัน วันละ 3 - 5 นาทีสม่ำเสมอ อาจารย์ว่าในหกเดือน น้องต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เริ่มฟังภาษาอังกฤษออกบ้าง เริ่มฟังคำนี้ออก ไม่เกี่ยวเลยว่าคนรอบข้างจะไม่พูดเลย Youtube นี่แหละ จงเริ่มเลยค่ะ


แล้วถ้าเก่งแล้ว จะอัปสกิลขึ้นไปยังไง ?

            ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเก่งภาษาอังกฤษในระดับหนึ่งแล้ว อาจารย์อยากให้ challenge ท้าให้ลองดู ลองสมัครแข่งขันประกวดเรียงความ ประกวดพูด ลองออกมาจาก comfort zone ตัวเองดู ไปลองสมัครประกวดงานต่างๆ จะแพ้จะชนะไม่เป็นไร แค่กล้าเข้ามาและไปแสดงออกให้คนอื่นได้เห็นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ชอบการแข่งขันการประกวดอะไร ก็อยากให้ทุกคนลองทำ vlog ถ่ายตัวเองพูดเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรา อัปลงโซเชียลของเราก็ได้ ในเมื่อเราเก่งแล้ว เราก็ต้อง challenge ตัวเอง เราต้องเสริม ทักษะของเรา “อ้อ หนูพูดภาษาอังกฤษได้ค่ะ” แต่ไม่เคยพูดเลย ไม่เคยมีใครเห็นเลยว่าพูดได้จริง เราอาจไม่มีเวทีไปพูดให้ใครดู เราก็อัด vlog ไปแล้วก็อัปขึ้นยูทูป หรือที่อื่นๆ เราก็อาจจะกลายเป็นเน็ตไอดอล หรือเป็นยูทูปเบอร์ชื่อดังในอนาคตก็ได้นะ


             ฟังอาจารย์ติงลี่เล่าแล้ว พี่เกียรติคิดว่า เก่งอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถพวกเราชาว Dek-D เลยเนอะ แค่เราต้องหมั่นฝึกสม่ำเสมอให้หูของเรากระดิกสักหน่อย ให้เราคุ้นกับภาษาอังกฤษให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ใครอยากพูดอังกฤษได้ก็ฝึกตามคำแนะนำของอาจารย์ได้เลยจ้า ส่วนใครที่อยากเรียนภาษาให้เชี่ยวชาญเลย ต้องดูหลักสูตรเรียนต่อปริญญาตรี ของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยด้วยนะ ว่าตอบโจทย์เราแค่ไหน และดูเกณฑ์รับสมัครพร้อมเตรียมตัวสอบไว้ด้วย และใครที่อยากพิชิต TCAS ภาษาอังกฤษได้ ติดตามบทความอาจารย์ติงลี่กับเคล็ดลับภาษาอังกฤษได้ทางนี้จ้า >คลิก<
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น