ปีนไปให้ถึงคะแนนเต็ม ! เทคนิคเก็บคะแนนอังกฤษ TCAS ทุกรอบ อ่านแล้วคะแนนพุ่ง ใช้ได้จริง

        น้อง ๆ ชาว Dek-D รู้ไหมคะว่า ภาษาอังกฤษเป็นวิชาสำคัญมากในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คะแนนอังกฤษอาจเป็นทั้งวิชาตัวตัดคู่แข่ง อาจเป็นตัวเกณฑ์ที่ถ้ามีคะแนนวิชานี้ไม่พอ ก็ถูกคัดออกจากคณะที่เราอยากเข้าได้ทันที และอาจเป็นวิชาไม่คาดฝันที่เจอในการสอบสัมภาษณ์แบบไม่รู้ตัวด้วยก็ได้นะ แต่ไม่ต้องกลัวไป พี่เกียรติชวน “อาจารย์ติงลี่” Expert ตัวจริง มาแนะนำเคล็ดลับพิชิตภาษาอังกฤษ TCAS ให้จ้า “อาจารย์ติงลี่” รชต กิตติโกสินท์ จบปริญญาตรี เอกภาษาอังกฤษ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท ภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ จากสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ปัจจุบันเป็นติวเตอร์มืออาชีพประสบการณ์ถึง 15 ปี และเขียนหนังสือภาษาอังกฤษเตรียมสอบหลายเล่มเลยค่ะ ขอหยุดเกริ่นตรงนี้ แล้วมาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะ



 
- TCAS ใช้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษในการสอบตัวไหนบ้าง

        ใน O-NET ก็มีภาษาอังกฤษ ใน 9 วิชาสามัญก็มีอังกฤษ GAT ก็มีภาษาอังกฤษ สายไหนก็ทิ้งวิชานี้ไม่ได้เลย หลายคนก็บอกเลยว่าคะแนนภาษาอังกฤษเป็นตัววัดว่าจะสอบติดไม่ติดเลยนะ เช่น คนที่อยากเข้าวิศวะ ชอบประมาทภาษาอังกฤษ คิดว่าต้องเน้นฟิสิกส์ เคมี แต่กลายเป็นว่าคนสมัครสอบสายนี้ ก็ทำคะแนน ฟิสิกส์ เคมี ได้เท่า ๆ กัน เฉลี่ยแล้วเก่งคล้าย ๆ กัน แต่ถ้าใครมีพื้นฐานภาษาอังกฤษดีกว่า เขาก็จะได้คะแนนอังกฤษเพิ่มเป็นตัวช่วยให้สอบเข้าคณะนั้นได้ด้วย

        และไม่ว่าจะเป็น TCAS รอบไหนก็ทิ้งภาษาอังกฤษไม่ได้ เช่น รอบ Portfolio ยื่นแต่แฟ้มสะสมงานไม่ใช่คะแนน รอบพอร์ตก็มีสัมภาษณ์ นัดดูแฟ้มงาน บางคณะแอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษก็มีนะ แต่เขาไม่แจ้งไง พูดภาษาไทยอยู่ดี ๆ ก็ “อะ ไหนขอสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษหน่อยนะ” อึ้งเลยคราวนี้ ไม่เตรียมตัวมาก็มีสิทธิ์ที่จะตอบอะไรไม่ได้ ก็ต้องฝึกภาษาอังกฤษให้อุ่นใจไว้ด้วย หลายคนทำ Portfolio เป็นภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ สอบหมอ กสพท. เองก็มีเกณฑ์ขั้นต่ำมีน้ำหนักคะแนน (วิชาสามัญ) วิชาต่าง ๆ รวมถึงภาษาอังกฤษด้วย

 
- ความแตกต่างของข้อสอบวิชาภาษาอังกฤษ O-NET GAT และ วิชาสามัญ

        แม้ในโครงสร้างของข้อสอบแต่ละตัว O-NET GAT และ วิชาสามัญ มันเรียกต่างกันหมด เช่น ใน O-NET มีพาร์ท Conversation / Situation ในเก้าวิชาสามัญมีพาร์ท Listening and Speaking และใน GAT มีพาร์ท Expression หลายคนเลยเข้าใจว่า มันไม่เหมือนกัน มันเป็นข้อสอบที่ต่างกัน แต่ที่จริงแล้วมันเหมือนกัน อย่างที่ยกตัวอย่างมา มันคือพาร์ทที่วัดการฟัง พูด แม้เราจะไม่ได้ฟังและพูดจริงๆ ในการสอบ แต่มันวัดเรื่องสำนวนการใช้ภาษา หรือวัดเรื่อง Language usage การใช้ภาษา ซึ่งตัวนี้ส่วนใหญ่ข้อสอบจะเหมือนกัน คือเป็นบทสนทนา “ถ้าถามแบบนี้ มีคนพูดแบบนี้กับเรา เราจะตอบอะไร”



        ส่วนในพาร์ทอื่น ๆ แม้จะเป็นข้อสอบไม่เหมือนกัน เช่น บางตัวเป็น Error บางตัวจะเป็น Cloze test แต่สุดท้ายก็คือการวัดเรื่องแกรมม่าเหมือนกันหมด ส่วนพาร์ท Reading มีในทุกตัวเลย อาจจะแตกต่างกันในแง่ความสั้นยาวของบทความ หรือระดับความยาก ตัวเก้าวิชาสามัญอาจเป็นบทความวิชาการที่ยากมากกว่าตัวอื่น ตัว O-NET ก็จะเป็นบทความในชีวิตประจำวัน ข้อสอบทุกตัวจึงวัดเรื่องเดียวกันกันหมด ต่างเพียงความยากง่าย วิชาสามัญยากที่สุด รองลงมาเป็น GAT และ O-NET ตามลำดับ แต่เราสามารถเตรียมตัวได้ทีเดียวได้เลย ไม่ต้องมาแยกว่า จะสอบ O-NET ต้องอ่านอังกฤษเรื่องนี้นะ สอบ GAT ต้องอ่านเรื่องโน้นนะ วางแผนเตรียมสอบทีเดียวเลย เพราะอย่างไรเราก็ต้องเตรียมตัวที่ยากที่สุดไว้ ถ้าเราทำยากสุดได้ ที่ง่ายรองลงมา เราก็จะทำได้


 
- สามเรื่องต้องรู้ ออกสอบแน่ ๆ

        เรื่องแรก Subject Verb Agreement มันคือเรื่องความสอดคล้องกันของประธานและกริยา ประธานเอกพจน์ กริยาต้องเอกพจน์ ประธานพหูพจน์ กริยาก็ต้องพหูพจน์ เรื่องที่สอง Relative Clause ประโยคที่เป็นประโยคขยาย การใช้ who whom which that ต่าง ๆ เหล่านี้ เรื่องที่สาม Phrasal Verbs ใช้บ่อยในพาร์ท Conversation เป็นกริยาวลีที่คนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น get out, come up, come on สามเรื่องนี้ต้องทบทวนเยอะ ๆ

        แต่ที่สำคัญต้องทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ ด้วย นำกลับมาทำให้ได้อย่างน้อย 10 ปี สามารถย้อนทำไปถึงยุคเอ็นทรานซ์เลยก็ได้ เตรียมสอบแบบอ่านแต่เนื้อหาอย่างเดียว มันเหมือนการหว่านแห เราไม่มีทางที่จะหว่านแล้วรู้หมดทุกอย่าง แต่การทำข้อสอบเก่าบ่อย ๆ จะทำให้รู้แนวแบบพอเริ่มอ่านโจทย์ปุ๊บ น้องก็จะรู้เลยว่าจะถามอะไร จะรู้แนวได้จากการทำข้อสอบเก่าหลายปีซ้ำ ๆ แต่ถ้าน้องยังทำข้อสอบเก่าไม่ถึงจุด น้องจะไม่เห็นแนวนะ การมองแนวข้อสอบออก คือ กลยุทธ์ให้สอบสำเร็จ พอรู้แนว ก็จะรู้เรื่องที่ออกสอบบ่อย แล้วก็ได้มาทบทวนในสิ่งที่ออกสอบบ่อยๆ ดีกว่า ถ้าหว่านอ่านหนังสือไปทุกรอบ มันจะเสียเวลา สับสน เพราะข้อมูลเยอะมาก อย่างเวลาที่อาจารย์สอนเด็ก ๆ จะเน้นแบบฝึกหัดเลย เน้นตะลุยโจทย์ ต้องรู้แนวข้อสอบจากการตะลุยโจทย์ให้ได้ แล้วก็จะนำข้อสอบคล้าย ๆ ข้อสอบ GAT วิชาสามัญ O-NET มาให้ได้ลองทำ และให้ฝึกความไวในการทำข้อสอบไปด้วย



 
- ศัพท์ที่ควรท่องจำ ท่องแค่ในหนังสือเรียนพอไหม

         ถ้าตั้งใจเรียนในห้องเรียน ศัพท์จากในชั้นเรียนก็เพียงพอ อาจารย์มองว่าแนวโน้มหลัง ๆ มานี้ศัพท์ในข้อสอบไม่ได้ยากเลย เป็นศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นในหนังสือเรียน หรือจริง ๆ มีทับศัพท์ภาษาไทยด้วยซ้ำ ไม่ต้องกังวลว่าต้องถึงกับไปเปิด Dictionary ท่องเลย แต่อยากจะเน้นว่า “ไม่มีใครรู้ศัพท์ทุกตัว ต่อให้เป็นฝรั่งเจ้าของภาษาก็ตาม” ถ้าสมมติน้องต้องอ่านต้องทำความเข้าใจประโยคภาษาอังกฤษในบทความ แต่น้องติดขัดคำศัพท์จนแปลไม่ได้ ขอให้น้องแปลประโยครวม ๆ ให้ได้มากกว่าที่จะนั่งแปลศัพท์เป็นตัว ๆ ไป เพราะภาพรวมของประโยค มันจะส่งเสริมความเข้าใจของเรามากกว่า รู้ศัพท์ทุกตัวไม่ได้ช่วยเรื่องความเข้าใจประโยคเสมอไป




        แต่ในการสอบที่ต้องเจอคำศัพท์เยอะมาก อาจารย์จะแนะนำเทคนิคการเดาศัพท์ เดาจากรากศัพท์ Prefix - Suffix และการเดาจากบริบทเนื้อเรื่องได้ อย่างพาร์ท Reading ก็จะให้เทคนิคจับใจความสำคัญเรียก การอ่าน Anatomy เปรียบบทความเหมือนร่างกายของเรา ส่วนที่สำคัญสุดคือหัว ก็จะเน้นให้จับจุดได้จากการอ่านบทความจริง ที่สำคัญต้องหา Connotation ได้ คือต้องตีความได้ หาความหมายแฝงในบทสนทนาที่ออกสอบได้ด้วย ส่วนนี้มันจะอยู่ในข้อสอบพาร์ท Situation ที่คนสอบไม่เห็นสีหน้าท่าทางของตัวละครคุยกัน เห็นแต่ตัวอักษร แต่ตัวละครอาจโกรธกันอยู่ พูดประชดกันอยู่ในบทสนทนานั้น ๆ ก็ได้ แต่คนสอบจับจุดประสงค์ของบทสนทนานั้นไม่ได้ ตัวอย่างเช่น

"What time is it? ตอนนี้กี่โมงแล้ว"
เป็นบทสนทนาของพ่อกับลูก พ่อถามแบบนี้ ลูกสาวต้องตอบว่าอะไร แต่ต้นเรื่องแต่ต้นเลยคือ ลูกสาวกลับบ้านมาตอนตีสาม พ่อมายืนเท้าสะเอวอยู่หน้าบ้าน แล้วถามลูกว่า What time is it? เรื่องนี้พ่อไม่ได้ต้องการรู้เวลาจากลูกสาว แต่คือพ่อกำลังโกรธอยู่ต่างหาก เจอคำถามแบบนี้ใครตอบเวลาไปก็ผิดไปเลย


 
- ถ้าอยากเรียนเก่ง ทำข้อสอบได้ ไม่ว่าวิชาใด ๆ ต้องทำอะไร

        อยากให้ทุกคนรู้จักการแบ่งเวลา เพราะชีวิตเรามีอะไรต้องทำเยอะมากเลย ต้องทำอะไรหลายอย่างจนเรามักลืมทบทวนบทเรียน แม้จะมีคำถามในใจ “มันเหนื่อยนะ ยังต้องทวนบทเรียนอีกเหรอ” ขอยกโคลงโลกนิติขึ้นมาเลย
 
เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม ดนตรี
อักขระห้าวันหนี เนิ่นช้า
สามวันจากนารี เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า อับเศร้าศรีหมอง


        เรียนดนตรีไม่ซ้อม 7 วันก็ลืม ถ้าไม่ทบทวนหนังสือ 5 วันเท่านั้นก็ลืม ดังนั้น เมื่อทำอะไรต้องหมั่นทวนหมั่นซ้อมจะได้ไม่ลืม อาจารย์เชื่อว่า การทบทวนมันทำให้เราจำในสิ่งที่เราเรียนมาได้ เราจึงต้องแบ่งเวลามาทบทวน มีเวลาเท่าไหร่ ห้านาทีใช่ไหม ก็มานั่งเงียบ ๆ มาเปิดหนังสือดู อ้อ วันนี้เรียนเรื่องนี้ไป จับใจความสำคัญสิ่งที่ได้เรียนไปในแต่ละวัน ทบทวนแนวข้อสอบที่เราจดประเด็นมาก็ได้ ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ แต่ขอแค่ว่า “เรียนอะไรมาวันนี้ ก็กลับมาทวน” ทวนบ่อย ๆ ก็จะจำมันได้ ทำข้อสอบได้ทุกสนาม


        ว่าแล้วพี่เกียรติก็อยากลองกลับไปฟิตสอบ ขอประลองสนามวิชาภาษาอังกฤษเข้ามหาวิทยาลัยกับเขาใหม่อีกสักรอบบ้างจริง ๆ ได้เทคนิคเตรียมตัวสอบระดับนี้ พี่เกียรติต้องได้คะแนนสูง ๆ อยู่บ้างแหละ ไม่มั่นใจในตัวเอง แล้วใครจะมั่นใจในตัวเราเนอะ อย่าลืมวางแผนการสอบแต่ละวิชาให้ดี ๆ นะคะ แบ่งเวลาให้ดี และเจ้าภาษาอังกฤษ TCAS เตรียมแผนดีๆ อ่านทีเดียวพิชิตได้ทุกการสอบไปเลยจ้า
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น