จากเด็กน้อยถือแผนที่สู่คุณครู ดร. “ชอบ+เรียนเอกสังคม” จบแล้วทำอะไร

             เป็นหนึ่งชั่วโมงเต็ม ที่ทำให้พี่เกียรติรู้ว่าวิชาสังคมศึกษาไม่ได้ล่องลอย หรือบังคับให้ใครต้องท่องหนังสือยันเช้าเพื่อสอบแค่ชั่วโมงเดียว วิชาสังคมศึกษาที่บูรณาการความรู้ต่าง ๆ เพื่อสอนให้คนเป็นคนดี และมันเป็นวิชาที่สนุก ที่สำคัญคือ เป็นศาสตร์ที่เรียนต่อได้ ทำงานได้ ต่อยอดได้อย่างประสบความสำเร็จอีกด้วย
             พี่เกียรติได้โอกาสคุยกับ
"ครูกนก" อาจารย์สอนสังคมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ที่สอนให้นักเรียนรู้ว่าวิชาสังคมศึกษาไม่น่าเบื่อและใกล้ตัวเรามาก และเพราะแผนที่ในมือที่พ่อให้ช่วยดูบอกทางสมัยเด็ก ๆ ทำให้ชีวิตเด็กประถมคนหนึ่งเลือกที่จะเป็น "ครูสอนสังคม"

 
ครูกนกเป็นใคร ?

             ดร.กนก จันทรา "ครูกนก" ปัจจุบันเป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม สอนวิชาสังคมศึกษา ม.ปลายเป็นหลัก จบการศึกษาจบปริญญาตรี จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขามัธยมศึกษามนุษยศาสตร์ - สังคมศาสตร์ เอกการสอนสังคมศึกษา ปริญญาโท ภาควิชาหลักสูตรและการสอน สาขาการสอนสังคมศึกษา จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน และจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิชาวิทยาการทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ ทำงานในโรงเรียนมาแล้ว 10 ปี


 
ทำไมถึงชอบวิชาสังคม และเลือกเรียนครูสังคม

              ผมชอบวิชาสังคมศึกษา เพราะชอบแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สังคมศึกษาเป็นวิชาที่เจอผู้คน เจอสถานที่ เจอสิ่งรอบตัวและสามารถที่จะอธิบายสิ่งรอบตัวได้ และตอนเด็ก ๆ ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ชอบขับรถพากันไปเที่ยวต่างจังหวัด แล้วพ่อก็จะให้ผมนั่งหน้า เปิดแผนที่และบอกทางตั้งแต่ประถมเลย แล้วพอได้เที่ยวได้เดินทาง ได้เห็นอะไรรอบตัว เราก็จะสงสัย ทำไมมันเป็นแบบนั้น ทำไมมันเป็นแบบนี้ ซึ่งวิชาสังคมสายที่ผมชอบที่สุดคือภูมิศาสตร์ มันเริ่มจากการจับแผนที่ตอนเดินทางกับพ่อ เลยชอบด้านนี้และอยากเป็นครูมาก เลือกเรียนสังคมเอกเดี่ยวเลย ทั้งรุ่นมีสังคมเอกเดี่ยว* 5 คน 



ชีวิตตอนเรียนปริญญาตรี
         
             เอกสังคมมีหลายวิชาที่เราสนใจมาก ๆ และแทบทุกวิชาในเอกสังคมก็จะมีออก Field trip ออกทัศนศึกษา เอกอื่นก็จะอิจฉาว่าทำไมเอกนี้ได้ออกทริปบ่อย แล้วเราก็ได้เดินทาง ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เยอะ ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวไปเรื่อยๆ พอตอนฝึกสอนก็ได้ฝึกสอนที่สาธิตจุฬาฯ ที่แรก เราอยากฝึกวิทยายุทธ เราจะได้ทดลองทฤษฎีที่เราได้เรียนในมหาวิทยาลัยกับการสอนในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่  ด้วยลักษณะนักเรียน รร.สาธิตทำให้ต้องเตรียมตัวสอนตลอดเวลา เจอนักเรียนถามลองภูมิ บางคำถามเราตอบไม่ได้ เราก็ต้องไปหาคำตอบมา เราจะไม่แถ ต้องไปทำการบ้านมา เพราะเด็กรุ่นใหม่จะชอบสงสัย ชอบถาม ในชีวิตของพวกเขาเห็นสื่อต่าง ๆ ตลอด ดังนั้นเวลาพวกเขาเข้ามาในห้องเรียน เขาไม่ได้เป็นเด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อน เด็กยุคนี้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลมากมายได้อย่างรวดเร็ว และพอเข้าไปในห้องเรียน เขาก็พร้อมจะซักถามเรา เราจึงไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ เนื้อหาสังคมศึกษาบางส่วนก็ไม่นิ่ง ต้องคอยอัปเนื้อหาอยู่บ่อย ๆ

ภาพจากเพจ facebook: สังคมครูกนก
ภาพจากเพจ facebook: สังคมครูกนก


               ความท้าทายของฝึกสอน รวมถึงตอนเป็นที่ครูจริง ๆ แล้วอย่างตอนนี้ด้วย คือ การทำให้วิชาสังคมศึกษาบรรลุเป้าหมายของวิชาจริงๆ  วิชาสังคมศึกษานั้นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมือง เป็นวิชาเกิดจากการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ในสังคมศาสตร์ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศราฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมวิทยาและวัฒนธรรมศึกษา เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่พวกเขาพบเจอและดำเนินชีวิตในฐานะสมาชิกในสังคมที่ดี  มันไม่ใช่แค่การดำเนินชีวิตให้ตัวเองเป็นสุขอย่างเดียวนะ แต่ต้องทำให้สังคมเป็นสุขด้วย แต่เวลาเรียนเด็กจะรู้สึกว่า "ทำไมเนื้อหาเยอะจัง" แล้วมันท้าทายตรงที่เราไม่ได้แค่สอนเนื้อหาอย่างเดียว แต่เราต้องสอนความเป็นพลเมืองดีผ่านเนื้อหาในวิชาสังคมศึกษาด้วย 

ภาพจากเพจ facebook: สังคมครูกนก
 
        พอเนื้อหาสังคมมันเยอะ ตอนที่เราสอนก็จะยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวนักเรียนมาเล่น เช่น ภาพ การ์ตูน ข่าวเหตุการณ์ประจำวัน กระแสในโลกโซเชียล มิวสิกวิดีโอเพลง ซีรีส์ แล้วนำเนื้อหาสังคมมาจับ ทำให้เขารู้สึกว่าเนื้อหาสังคมมันอยู่ในชีวิตเขา ทำให้เขาค่อย ๆ ลดความกังวล ลดความเครียดลงบ้าง อย่างล่าสุดสอนภูมิศาสตร์ ก็ยกตัวอย่างสถานการณ์ขยะในทะเล น้องมาเรียม ไฟป่าแอมะซอน สามารถโยงเข้าเรื่องสิ่งแวดล้อมได้มาก ชวนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้เราต้องพยายามหาเครื่องมือช่วยเขาทำความเข้าใจเนื้อหา เช่น เทคนิคการใช้ผังกราฟิก เพื่อช่วยจัดกลุ่มเนื้อหา การวิเคราะห์จากคำศัพท์ เพราะเด็กอาจจะเก็บข้อมูลยังไม่เป็นระบบ ข้อมูลที่เยอะกระจัดกระจายไปหมด ไม่รู้จะหยิบข้อมูลอะไรมาใช้ก่อนหลัง และบางทีก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย

"ต้องร่วมกันสร้างตู้และลิ้นชัก ให้เด็กรู้ว่า ของ ในลิ้นชักนี้ คือเรื่องอะไร ไม่ใช่สะเปะสะปะเต็มหัวไปหมด"

                  เราต้องทำให้เขาเข้าใจว่า เรื่องนี้คืออะไร เรื่องหลักคืออะไร มีเรื่องย่อย ๆ อะไรบ้าง เปรียบให้เขาเข้าใจว่า นี่คือตู้นะ มีลิ้นชักย่อยอะไรบ้าง แล้วค่อย ๆ ใส่ของ (Concept) ลงลิ้นชักเขา ให้ค่อย ๆ มีของ ที่จะสามารถทำให้เขาไปเรียนรู้สิ่งใหม่ต่อไปได้ แต่เราก็ต้องร่วมสร้างตู้กับลิ้นชักไปพร้อม ๆ กับเด็กให้เขาก่อน ให้เขารู้ก่อนว่า ลิ้นชักนี้จะใส่เรื่องอะไร เพราะที่เด็กมีปัญหาทุกวันนี้ ทุกวิชาเลยนะครับ คือ เรียนปุ๊บ ทุกอย่างเข้าหัวหมด แต่สะเปะสะปะมาก พอเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ใหม่ หรือข้อสอบ เขาก็ไม่รู้จะอธิบายคำตอบด้วยข้อมูลชุดไหน จึงจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุด


  


 
วิชาสังคม เป็นวิชาท่องจำ ทำให้นักเรียนคิดไม่เป็น ?


             ก่อนอื่นทำความเข้าใจกันก่อนว่า วิชาสังคมศึกษานั้นเป็นวิชาที่เน้นพัฒนาการคิดนะครับ ทั้งการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดแก้ปัญหา การคิดตัดสินใจ เราไม่ได้สอนการคิดโดยตรง แต่เราพัฒนาผู้เรียนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนโดยอาศัยเนื้อหาสังคมศึกษาเป็นสิ่งฝึกคิด จริงปัญหามันอยู่ที่สองเหตุผล  เหตุผลแรกอยู่ที่การสอนของครูครับ หากครูใช้คำถามปลายเปิดบ่อยๆ นักเรียนจะถูกฝึกให้คิด การคิดมันเป็นทักษะ สามารถพัฒนาได้แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกผ่านการอภิปราย การแลกเปลี่ยนพูดคุย การระดมความคิด  ห้องเรียนต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ส่งเสียงความคิดออกมาให้มาก หน้าที่ครูคือช่วยกันตั้งคำถามชวนคิดที่ท้าทาย ชวนให้อยากตอบ คำถามที่ใกล้ตัวเขา และชวนขมวดประเด็นคำตอบที่หลากหลายออกมาเป็นบทเรียนร่วมกัน  เหตุผลที่สอง อยู่ที่การวัดผลของครู การออกข้อสอบของครู คำถามต้องเป็นคำถามปลายเปิด ข้อสอบที่เน้นความจำเป็นหลัก นักเรียนจึงรู้สึกว่ายาก เพราะเนื้อหามีมากมาย จริงๆ อยู่การจะคิดวิเคราะห์ได้นั้น ก็ต้องอาศัยการจำนะ แต่การจำนั้นมันต้องเป็นการจำที่เป็นประโยชน์ จำเนื้อหาที่ต้องรู้และควรรู้จริง ไม่ใช่ให้นักเรียนจำทุกอย่าง  เนื้อหาที่เป็นลักษณะ Concept ที่จะทำให้นักเรียนเขาได้ต่อยอดได้ เวลาไปเจอประสบการณ์ใหม่ หรือข้อสอบคำถาม เขาจะสามารถนำ Concept ที่ต้องจำให้ได้ก่อนนั้น ไปต่อยอดได้ แต่ในข้อสอบระดับชาติก็เป็นเรื่องความจำ อย่างประวัติศาสตร์ จำแบบแฟนพันธุ์แท้เลยนะ




แล้วประวัติศาสตร์นี่ ต้องจำถึง พ.ศ.เลยไหม ?

             ก็ต้องจำ พ.ศ. ของเหตุการณ์สำคัญ เพราะมันมีข้อสอบระดับชาติที่ถามเรื่องเทียบศักราช ก็ต้องท่องเกณฑ์ศักราช เช่น การปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย ตรงกับมหาศักราชใด มันก็ต้องรู้ พ.ศ.ก่อนว่าเป็นปี 2475 นะ แล้วก็ต้องรู้สูตรมหาศักราชว่าต้องแปลงยังไง มันก็ยังต้องท่องอยู่ แม้ข้อสอบบางข้อจะออกวิเคราะห์ แต่จะวิเคราะห์ได้ก็ต้องรู้เนื้อมาก่อน ยังไงวิชาสังคมก็ต้องท่อง เป็นการ "ท่องเพื่อต่อยอด” แต่นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงยกเลิก O-NET สังคมระดับประถม และ ม.ต้น เพราะเขาอยากให้สังคมเป็นวิชาที่สร้างความเป็นพลเมืองจริง ๆ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว สอบเสร็จก็ลืม แต่ ม.ปลายก็ยังต้องมีอยู่ เพราะมันเป็นเกณฑ์ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และวัดมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียน 

 
ถ้าชอบวิชาสังคม เลือกเรียน เลือกทำอาชีพอะไรได้
       
             ถ้าที่ตรงสายอย่างผมก็เป็นครูสังคม  แต่ก็สามารถเรียนต่อด้านที่เกี่ยวข้องต่อไปได้นะ โดยเฉพาะคณะสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็ได้ จริงๆ สังคมศึกษามันเป็นวิชาที่ช่วยให้เราเปิดมุมมองของเราที่มีต่อสังคมให้กว้างขึ้น ทำให้เราเป็นคนที่มีเข้าใจสังคม เข้าใจผู้คน และร่วมสร้างสังคมที่สงบสุข สังคมศึกษาจึงมีประโยชน์ในการสร้างความเป็นคนไม่ว่าเราจะเรียนคณะใดก็ตามครับ 


ภาพจากเพจ facebook: สังคมครูกนก


             ครูกนกบอกปิดท้ายการสนทนาว่าวิชาสังคมสร้างความเป็นพลเมือง สังคมตอนนี้จะอยู่ได้มันอยู่ที่ตัวพลเมือง ตัวของเรา และบางอย่างเรารอการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ มันอยู่ที่การมีส่วนร่วมของคนด้วย จึงจะทำให้สังคมเดินต่อได้


            
 พี่เกียรติติดใจตู้กับลิ้นชักของ "ครูกนก" มากเลยค่ะ ตอนเรียนมัธยมก็รู้สึกว่าสมองเป็นตู้ที่มีแต่ลิ้นชักรก ๆ มากเหมือนกัน ยอมรับว่าเทวิชาสังคมไปหลายรอบ ฮ่า ๆ แต่วันนี้พี่เกียรติได้รู้วิธีจัดลิ้นชักแล้ว รู้สึกเลยว่าวิชาสังคมง่ายกว่าที่คิด แถมนำไปใช้ได้กับวิชาอื่น ๆ ด้วยนะ ทั้งยังได้รู้ว่า "ความเยอะ" ของวิชานี้ก็มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตัวเราเองทั้งนั้น เอาล่ะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ชอบวิชาสังคม ชอบการลงพื้นที่ มองเป็นตัวเลือกในการเรียนต่อได้นะคะ ทั้งสายครู ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เอกสังคม รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมและมานุษยศาสตร์ หรือแม้แต่ศาสนศึกษาต่างๆ ศาสตร์เหล่านี้คือ "สังคมศึกษา" หมดเลยจ้า



(*หลักสูตรครุศาสตร์ จุฬาฯ สามารถเลือกเรียนเป็นเอกเดี่ยวหรือเอกคู่ได้ สมมติเอกคู่ต้องเรียนทั้งหมด 78 หน่วยกิต ก็แบ่งเรียนเป็น เอกไทย 39 หน่วยกิต เอกสังคม 39 หน่วยกิต ตอนเรียนจบสามารถเลือกเป็นครูสอนวิชาใดก็ได้ แต่ถ้าเลือกเอกเดี่ยวก็จะเรียนเจาะลึกในวิชาเดียวของเอกนั้น ๆ มากยิ่งขึ้น เรียนจบเป็นครูวิชานั้น ๆ เลย ทั้งนี้การเลือกเอกขึ้นอยู่กับสาขาที่เลือกสอบเข้าไปด้วย)
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น