เล่าชีวิตเรียนพากย์ที่ รร.สายอาชีพใน 'ญี่ปุ่น' ประเทศที่เทรนนักพากย์ให้ลุยสายบันเทิงเต็มตัว!

 

 
               สวัสดีค่ะชาว Dek-D   นอกจากในประเทศญี่ปุ่นจะมีเรียนสายสามัญ ยังมีหลักสูตรที่เน้นทักษะเฉพาะทางโดยเฉพาะเรียกว่า "เซมมงกักโค" เรียนแบบรู้ลึกรู้จริงแล้วประกอบอาชีพสายตรงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสายเกม แอนิเมชัน การ์ตูน  ทำอาหาร ความสวยงาม การท่องเที่ยว ธุรกิจ ฯลฯ  ล่าสุดเราก็ได้ไปพูดคุยกับ "พี่ไหม - อรชมัย ธีรลักษณ์" คนไทยที่ตัดสินใจบินไปญี่ปุ่นเพื่อเรียน Seiyū (เซย์ยู/นักพากย์)   พอไปถึงก็พบความต่างจุดใหญ่ว่านักพากย์ที่ญี่ปุ่นจะเหมือนพ่วงตำแหน่งคล้ายๆ ไอดอลไปด้วย ทั้งต้องร้องเพลง  เต้น จัดรายการวิทยุ และอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำให้คนดูอินกับเนื้อหาได้

               และไฮไลต์บทความนี้ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวชีวิตช่วงที่เรียนและทำโปรเจกต์สุดท้าทาย  แต่มีพาร์ตการทำงานที่บริษัท IT ในญี่ปุ่นด้วย ใครสนใจอยากเรียนญี่ปุ่นหรือรู้จักหรืออยากฟังเรื่องสนุกๆ ห้ามพลาดนะคะ


 


รู้จักกันก่อน

  • หลังเรียนจบสายวิทย์ รร.เตรียมอุดม และป.ตรีเอกญี่ปุ่น คณะอักษรจุฬาฯ ก็เริ่มทำงานประจำที่บริษัทเกมแห่งหนึ่ง และรับงานพากย์แอนิเมชัน ฟรีแลนซ์แปลการ์ตูนลิขสิทธิ์ แปลซับ ล่ามเวทีงานการ์ตูน แข่งร้องเพลงอนิซอง ฯลฯ  [ผลงานเสียงพากย์]
  • เรียนต่อสาขาพากย์เสียงและการแสดงที่โรงเรียนสายอาชีพญี่ปุ่น เป็นหลักสูตร 2 ปี  (ใฝ่ฝันอยากเรียนมากกมาตั้งแต่ ม.ปลายแล้ว) หลังจากเรียนจบเซมมงก็มาทำงาน Marketing ที่บริษัทเกมที่รปปงงิ  ปัจจุบันมีทำเพจ   MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น 
     

MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น
 


จุดเริ่มต้นสายพากย์
คือการ์ตูนและเกมจีบสาว


               “ตอนเด็กพี่ชอบเล่นเกมกับดูการ์ตูนญี่ปุ่นแบบซับไทยเสียงญี่ปุ่น แล้วก็มาติดเกมชื่อ  Tokimeki Memorial ที่มารู้ทีหลังว่าคือเกมจีบสาว 5555 ตัวละครจะสวยๆ แนวๆ เซเลอร์มูน แต่เครียดมากที่เล่นไม่เคลียร์สักที เพราะเกมเป็นภาษาญี่ปุ่นหมดแล้วไม่รู้จะเลือกช้อยส์ไหน ก็เลยนั่งหาคู่มือกับแมกกาซีนมานั่งอ่านเลยค่ะ อีกมุมคือเราสะดุดกับที่ตัวละครในเกมมักมีเอกลักษณ์กับเพลงเฉพาะตัว"

               "แล้วเวลาดูการ์ตูน จะชอบสังเกต End Credit หลังจบเรื่อง และเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลนักพากย์ พยายามแกะและเรียนภาษาด้วยตัวเอง อ่านดิกชันนารีคันจิ ทำให้เริ่มจดจำและเชื่อมโยงนักพากย์แต่ละเรื่องได้ รู้สึก complete มากค่ะ  555 ช่วงนั้นเราน่าจะสัก 9-10 ขวบ เป็นช่วงเดียวกันกับที่เริ่มอยากเป็นนักพากย์ และเริ่มเข้าเว็บบอร์ดคนไทยที่ชอบการ์ตูนมารวมตัวกัน  ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่ทุกวันนี้เขาก็ยังคงทำงานในแวดวงเกมกับการ์ตูนอยู่ด้วย"


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น

               "พอ ม.5 พี่โอตาคุขั้นสุดเลยนะคะ    ตอนนั้นสมัคร exteen ไว้แล้วเห็นเพื่อนเอาการ์ตูนมาพากย์เป็นภาษาไทย เราเห็นว่าน่าสนุกดี เลยเอาบ้าง คัดเลือกซีนที่มีตัวละคร 4-5 ตัวแล้วพากย์เองทั้งหมด  ปรากฏว่ามีคนนึงชอบแล้วเอาไปแชร์ลงบอร์ด tirkx.com ตอนนั้นคือคอมมูนิตี้ที่ใหญ่มากๆ และเป็นช่วงยุครุ่งเรืองของ fan sub ด้วยค่ะ จากนั้นเราก็รู้จักคนเยอะขึ้น และมีรุ่นพี่ที่ได้เข้าไปทำงานในวงการ เขาชวนให้เราลองส่ง demo ไปบ้าง และมีโอกาสได้เริ่มงานพากย์จริงจังตอนเรียนเอกญี่ปุ่นปี 4 เป็นจุดเริ่มต้นออกงานสตูดิโอครั้งแรกของเรา ทั้งตื่นเต้นและปลื้มปริ่ม เหมือนได้ติ๊กถูกที่ to do list ว่าเราทำได้อีกขั้นนึงแล้วนะ"

               "เราผ่านงานพากย์มาไม่เยอะถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นงานการ์ตูน  เช่น   มิซาเอะ แม่ชินจัง เวอร์ชันช่อง 9, มิโอะ/อันซึ จาก Idolm@ster Cinderella Girls  และมาเมะชิบะ ลิขสิทธิ์จาก DEX // ส่วนตัวเราว่านักพากย์คืออาชีพที่ด้นสดเก่งมากค่ะ  งานร้อนประมาณว่า  บทหนังมาวันนี้ อีกไม่กี่วันก็ออกอากาศแล้ว แต่ละคนเลยต้องมี  pattern ในใจไว้หยิบมาใช้ตามที่เขาบรีฟ"


(ตัวอย่างเสียงพากย์)
 
               "ตอนทำงานพากย์ที่ไทย เรายังติดปัญหาเรื่องการออกเสียงซะเยอะ ตอนแรกเราเข้าใจผิดคิดว่าต้องใช้เสียงสองนะ ไม่ใช่เสียงที่พูดจริงๆ ยังปรับตัวไม่เป็น รู้สึกงงๆ จนมาเรียนเซมมงที่ญี่ปุ่น เราถึงค้นพบว่าจริงๆ เราต้องใช้เสียงตัวเองนี่แหละ แค่บิดเอา และต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม การออกเสียงต้องใช้ปอด ฟิตร่างกาย ไม่ต้องปรุงแต่งเสียง เทคนิคเก่าก็เลยพับไปใช้แค่กับบางบทเท่านั้น”


กว่าจะได้เรียนเซมมง
@Toho Gakuen

 

               “เราเรียนที่ TOKYO ANNOUNCE GAKUIN Performing Arts College  ถ้าให้เทียบกับเซมมงด้วยกัน ที่นี่ค่อนข้างเก่าแก่และมีชื่อเสียง  มีทั้งหมด 4 สาขาคือสาขาโทรทัศน์ ภาพยนตร์ แอนิเมชัน และการแสดง (เป็นโรงเรียนที่เปิดมาเพื่อหานักเรียนไปทำงานในช่องโทรทัศน์ของเขา) พอตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเรียน  ก็เปิดเว็บดูช่วงที่เขาเปิดสอบ แล้วก็บินไปสอบที่โรงเรียนเขาเลยค่ะ  มีทั้งสอบข้อเขียน สอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น + เขียนเรียงความ + สัมภาษณ์ โดยกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบ ม.6 ก่อนและมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นระดับ N2 ขึ้นไป” 


Photo Credit:  tohogakuen.ac.jp.th.agn.hp.transer.com
 

มาโรงเรียนวันแรก
MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น


มีตรวจร่างกายด้วย
MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น

 
               มีคำพูดของนักพากย์อาชีพที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนบอกเราในวันปฐมนิเทศว่า  “พอเราตัดสินใจมาที่นี่ = เริ่มทำตามฝันแล้ว อย่าท้อถอย เรามีเป้าหมายว่าจะเป็นมืออาชีพในโลกบันเทิงและสร้างสรรค์ผลงานในแบบตัวเอง จะผูกมิตรกับโลกไว้เยอะๆ เพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร และเพราะเพื่อนเหล่านี้จะเป็นเพื่อนในอนาคตของเราหลังเรียนจบด้วย"

 

เล่าบรรยากาศคลาสนักพากย์
เรียนปฏิบัติล้วนๆ + จริงจังมาก

 

               “นักพากย์จะเป็นหลักสูตร 2 ปี เน้นปฏิบัติแทบทั้งหมด เรียนคาบละ 1.5 ชั่วโมง หรือบางทีต่อกัน 2 คาบรวมเป็น 3 ชั่วโมง มีทั้งเรียนครึ่งวัน เต็มวัน หรือว่างเลยเป็นปกติเหมือนมหาวิทยาลัยในไทยค่ะ ^^ เทอม 1 มีวิชาพื้นฐานที่ทุกคนต้องเจอ เช่น พื้นฐานการแสดง (Acting), พากย์, ออกเสียง, ร้องเพลง/เต้น ฯลฯ ก่อนจบปีหนึ่งต้องเล่นละครด้วย ทำให้ต้องเริ่มทำอะไรใหม่ๆ อย่างการท่องบท แบ่งเวลามาซ้อมกับเพื่อน ในใจก็คิดว่า เล่นละครครั้งแรกก็ภาษาญี่ปุ่นเลยหรอ(วะ) 5555”
 
               “แล้วพอปี 2 จะเลือกได้ว่าจะต่อสายนักพากย์อนิเมะและภาพยนตร์  / สายละครล้วน  / เรียนต่อสายสามัญเพื่อทำงานบริษัทตามปกติ ส่วนคนเลือกเซย์ยูก็จะมีแบ่งสายย่อยไปอีกเรียกว่า 'เซมิ'   เราต้องมาเรียนกับอาจารย์ท่านนึง 1 ปี แล้วพอจบปี 2 จะต้องมีโปรเจกต์ร่วมกันกับเพื่อนในเซมิ ถ้าสายละครก็จะเปิดละครเวทีเล่นด้วยกัน แสดงบนเวทีใหญ่เป็นเรื่องเป็นราว // นอกจากนี้จะมีวิชาเสริมให้ลงได้ด้วย แต่บางคลาสจำกัดคนเรียน โอกาสขึ้นอยู่กับการสุ่มเลยค่ะ"


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น

               “ในคลาสสายนักพากย์มี 9 ห้อง คลาสนึงราวๆ 30 คน เราได้เรียนกับนักเรียนญี่ปุ่น ซึ่งเขาจะอายุแค่ 18-19  เพราะนักเรียนญี่ปุ่นเข้าเรียนหลังจบ ม.ต้น - ม.ปลาย ถ้าเป็นเพื่อนห้องเราถือว่าโอเคเลย ปี 1 อาจกลางๆ แต่ปี 2 ที่เขาแยกเซมิ (สาขาย่อย) จะเห็นความจริงจังชัดเจนมาก ถ้าเราไปอยู่จุดนั้นแล้วไม่จริงจังจะรู้สึกแปลกแยกทันที  ต้องผลักดันตัวเอง อย่างเราที่อยู่กับ text มาตลอด มาเจอการเรียน Acting ก็ต้องปรับตัวเยอะ”

ความยากเมื่อต้องมาพากย์ภาษาญี่ปุ่น
 
  • ญี่ปุ่นมีสระ 5 เสียง ส่วนไทยมี 21 เสียง
  • ญี่ปุ่นไม่มีวรรณยุกต์แบบเรา มีแค่ accent ขึ้น-ลง ดังนั้นเราจะต้องมาหาเองว่าต้องขึ้นลงตรงไหนบ้าง
  • ญี่ปุ่นมีตัวหนังสือบางตัวที่ออกเสียงไม่ตรงกับพยัญชนะตัวไหนเลยในภาษาไทย 


บรรยากาศลุยโปรเจกต์จบ
ต่อสู้กับความกดดันตัวเอง


                โรงเรียนญี่ปุ่นจะมีปิดเทอมปีละ 3 ช่วง อย่างช่วงคริสต์มาส-หลังปีใหม่ก็จะเป็นปิดเทอมหน้าหนาว 冬休み (Fuyu-yasumi) นานประมาณ 2-3 สัปดาห์เลยค่ะ พอปีสุดท้ายจะมีโปรเจกต์จบเป็นงานพากย์อนิเมะหรือภาพยนตร์ร่วมกับเพื่อนในห้อง ตั้งแต่เริ่มได้บทจนอัดเสียงเสร็จเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ แต่ใช้เวลาคุ้มมากเหมือนกันนะ เพราะต้องนัดซ้อมกับเพื่อนในเซมิทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เย็นถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลาเดือนนึงเต็มๆ และได้มาอัดจริงที่สตูดิโอพากย์แถวจินโบโจ  (เป็นสตูดิโอที่รับงานจริงๆ นะคะ)”


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น

               จริงๆ ในเซมิไม่ได้ตกลงกันว่าต้องเข้าทุกครั้ง แต่คงเพราะสมาชิกจริงจังกันมาก เลยทำให้มาครบแทบตลอด ส่วนเราอยากสังเกตชาวบ้านเลยมาเกือบทุกครั้งอีกเหมือนกัน มาถึงก็ดูเพื่อนบ้าง ให้คำแนะนำเพื่อนบ้าง แล้วก็ต้องกล้าให้เพื่อนคอมเมนต์ด้วยนะ ปัญหาหลายอย่างที่เจอช่วงทำงานพากย์ไทย เช่น เวลาพากย์เด็กผู้หญิงจะออกช่องไหนไม่ให้เสียงลอย การผ่อนเสียงหนักเบา รวมถึงแอคติ้งหน้าไมค์ต่างๆ หรือแม้แต่การออกเสียงผิด ก็ได้เพื่อนช่วยแก้ไขให้เยอะมากๆ จับถูกบ้าง ยังแก้ไม่ได้บ้าง หรือบางทีตั้งใจเกินจนแปลกเลยก็มี”

               “งานนี้ทำให้สนิทกับเพื่อนในเซมิมากขึ้น ด้วยอายุต่างกัน (เค้าจะ 18-20 ปีกัน) เกิดมาต่างยุค ก็จะมีช่องว่างเรื่องทัศนคติและการใช้ชีวิตที่ต่างกันบ้าง แต่ต้องขอบคุณเพื่อนที่ทำให้เราไม่รู้สึกแปลกแยกเลย ปฏิบัติกับเราเหมือนเพื่อนร่วมห้องทั่วไป และไม่ได้มองเป็นชาวต่างชาติด้วย ทำให้เราโอเคกับสภาพแวดล้อมนี้มากกกก อาจมีบ้างที่เราคิดเรื่องคุยไม่ออก ตามเรื่องที่เพื่อนเม้าท์กันไม่ทัน แต่เรื่องพากย์เรื่องเรียน ทุกคนให้เกียรติและพร้อมช่วยเหลือ กล้าคอมเมนต์กันและกัน สารภาพว่าตัวเองกลัวการฟังคอมเมนต์ แต่พยายามแก้ไขนิสัยนี้ตลอดเวลาเลยค่ะ”


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น

               “แล้วพอซ้อมมาแรมปี ถึงวันอัด แป๊บเดียวจริงๆ 555 ก่อนหน้านั้นทุกคนทั้งซ้อมทั้งปรับแก้กันเป็นวรรคเป็นเวร ยังไงก็ดันเจอเรื่องคาดไม่ถึง เช่น บางคนเป็นหวัด น้ำมูกไหล เจ็บคอ หรือประหม่าจนสิ่งที่แก้ได้ก่อนหน้านี้กลายเป็นทำไม่ได้ไปซะงั้นนน"

               “ปัญหาที่แน่นอนของเราคือภาษาไม่เนทีฟ ถ้าเป็นนักเรียนต่างชาติอาจารย์มักไม่ค่อยให้อัดใหม่  แบบของเรา 3-4 ครั้งจนโดนเรียกให้ไปฟังเสียงตัวเองให้ห้องด้วย ตอนนั้นตัวสั่นใจเต้นแรงเลยว่าจะทำยังไงดี กลัวเป็นตัวถ่วง แทบไม่กล้าถามใครเลยว่าเสียงเราเป็นยังไงบ้าง แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างตลอดเลยค่ะ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้มาพากย์กับคนญี่ปุ่นด้วย ยังนึกเลยว่าตัวเองโชคดีมากๆ”

MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น


และเมื่อถึงวันพรีเซนต์
(อาสาร้องเพลงด้วย)


               "พอถึงวันที่ต้องนำผลงานพากย์ของทุกคนมาฉายต่อหน้าสาธารณะชน บอกเลยว่าเขินนนน  5555 เซมิเราพากย์ 2 เรื่องคือ Slayers Revolution ตอนที่ 9 กับ K- Return of Kings ตอนที่ 7 รวมๆ 40 นาที ส่วนเราพากย์เป็นแอนนาใน K ค่ะ และหลังจากฉายอนิเมะกับหนัง ก็เป็นการแสดงของเซมิต่างๆ ทั้งเต้น ร้องเพลง ละครเพลง เพื่อขอบคุณผู้ชม ปล่อยของ และสร้างความทรงจำร่วมกัน

               ทีนี้เซมิเราเหมือนรวมหัวกะทิและเด็กสันทนาการ ทุกอย่างเลยออกมาอลังการงานสร้างเลยค่ะ  งงที่ทุกคนเสกทุกอย่างได้ในเวลาไม่กี่เดือน มีเพื่อนผู้หญิงเต้น cover โนกิซากะ46 ก็ชวนเพื่อนผู้หญิงมาเต้นด้วย มีเพื่อนชายเล่นศิลปะการต่อสู้ ก็ชวนฝั่งผู้ชายมาแสดงฉากต่อสู้ใน K ให้ทุกคนดู ส่วนเราเป็นผู้ตามที่ดีค่ะ 5555 แต่ดันไปยกมือเสนอตัวว่าอยากร้องเพลง ทุกคนก็มาลงตัวกันว่าจะเลือกเพลง Against มาโคฟ”

               “ก่อนหน้านั้นวันนึงเราเลยเทสต์ร้องสไตล์ตัวเองให้อาจารย์ฟัง ซึ่งเราถนัด head tone เน้นลม ใช้เสียงสูง แต่อาจารย์ดันแนะนำให้เราร้องแบบใช้ chest tone แบบเสียงพูดปกติ เพราะมันฟังดูมีพลังไม่เลื่อนลอย เพลงก็เอื้อกับการร้องแบบนี้ ซึ่งความรู้ร้องเพลงเราเท่าหางอึ่ง ทำยังไงถึงฝึกร้องให้ถูกตามเทคนิค และเต้นไปร้องไปแบบเสียงไม่ตกเนี่ยยย”
 
               “สุดท้ายก็ถึงกรอบแสดงจริงก็บอกตัวเองว่า ร้องได้ไม่ได้ไม่เป็นไร สำคัญตรงที่ต้องร้องให้สนุก ใส่ความรู้สึกเต็มที่ สุดท้ายก็ทำได้!!  อาจหลุดบ้างแต่ 80% ผ่านฉลุย ทุกคนปรบมือให้ การแสดงผ่านไปด้วยดี  ต้องขอบคุณคลิป YouTube กับอาจารย์สอนร้องเพลงหลายๆ ท่านด้วย เราฝึกจนจับทางได้ว่าควรให้จุดกำเนิดเสียงอยู่ตรงไหน ร้องยังไงให้เสียงบีบ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้”

               “ทุกอย่างคือนักเรียนคิด ลงมือทำ และแก้ไขกันเอง จัดคิวตัวเองได้ อาจารย์มองภาพรวมและช่วยตบตีจนลงตัว รู้สึกภูมิใจมากเลยที่ได้มาอยู่เซมินี้ มั่นใจว่าเพื่อนเราหลายๆ คนต้องเป็นอนาคตเซย์ยูที่โด่งดังแน่นอนค่ะ”


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น


เรียนไปทำงานไป
อยู่ใน global team บริษัทไอที

 

               “เราเริ่มมองหางานทำตั้งแต่ปี 2 เพราะเหตุผลเรื่องวีซ่า แล้วฟลุ๊กได้มาทำงาน Marketing บริษัทเกมแห่งหนึ่งที่รปปงงิค่ะ จริงๆ  ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย แต่เขาน่าจะพิจารณาจากการที่เราเคยทำงานล่ามบริษัทเกมญี่ปุ่นที่ไทยมาก่อน (เป็นบริษัทลูก) ถึงช่วงนี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานเงินเดือน แต่ก็ยังทำสิ่งที่ชอบตลอดเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่น”

               “ช่วงแรกเหนื่อยย เราอยู่ใน Global Team ที่เป็นต่างชาติล้วนทั้งทีม  อาจมีไป co งานกับคนญี่ปุ่นทีมอื่นๆ บ้าง ตอนทำงานใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก ใช้ภาษาไทยแค่คุยกับเอเยนซี่ ส่วนภาษาอังกฤษคือไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ค่ะ ความลำบากคือในทีมฝั่งเอเชียไม่เคยมีใครอยู่ในสายงาน Marketing มาก่อน เพิ่งฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่ ไม่มีคนสอน พอมีไกด์ให้บ้างระดับนึง เวลาทำงานก็พบว่าเขาค่อนข้าง  flexible  เข้างานสายได้ เลิกงานเร็วหน่อยได้ เพียงแต่งานต้องเสร็จ หัวหน้าทีมต่างชาติเขาแคร์ทุกคนมากๆ ให้ความสำคัญกับ work-life balance ไม่มีให้ทำนอกเวลางาน แต่จะมีบ้างบางอีเวนต์ อย่างไลฟ์ทุกวันพฤหัส ก็ต้องอยู่ดึก"
 
               "แต่ต้องบอกว่าการไลฟ์ การอยู่หน้ากล้องไม่ใช่ทางเราเลย 555  แต่พอมาที่นี่ก็ต้องฝึกเพื่อให้มีช่องทางสื่อสารกับเกมเมอร์ชาวไทย คอยอำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูลให้เขารู้จักเราค่ะ โดยรวมก็เป็นงานที่แฮปปี้ ทำให้เราลดความประหม่าเวลาอยู่หน้ากล้อง ซึ่งเป็นประโยชน์กับงานพากย์ที่เราอยากทำด้วย"


MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น


ถามความคิดเห็น
วงการพากย์ที่ญี่ปุ่น VS ไทย


วงการพากย์ในไทย
 
  • ไทยจะมี mindset ว่านักพากย์ทำงานส่วนของตัวเองไป ส่วนคนที่จะดึงดูดผู้ชมคือ Influencer หรือดารา กลายเป็น Business Model ซึ่งพอนักการตลาดเอามาทดลองทำแล้วก็ได้ผลจริง และหยิบกลยุทธ์นี้นำมาใช้ดึงดูดลูกค้าอีกเรื่อยๆ   ข้อเสียคือคนเหล่านี้อาจไม่ใช่นักพากย์  ในขณะที่ผู้ชมบางกลุ่มยังอยากฟังเสียงจากนักพากย์มืออาชีพจริงๆ เลยขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน  (แต่ต้องบอกว่าพวกเขาตั้งใจให้งานออกมาดีเหมือนกัน มีการเทรนจริงจัง เชิญนักพากย์อาชีพมาคุมหน้ากล้อง)
     
  • ด้วยความที่นักพากย์จะอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนที่อยากทำอาชีพนี้อาจไม่รู้ช่องทางเข้าวงการ ถ้าอยากเพิ่มโอกาสอาจต้องไปลงเรียนโรงเรียนสอนพากย์ คอร์สอบรม ฯลฯ แต่จะได้งานมั้ยขึ้นอยู่กับความสามารถ ความมีแวว และความถูกจริต ตอนนี้งานพากย์หนัง ซีรีส์ หนังโรง การ์ตูน รายการ ก็น้อยลงด้วย ตอนพี่เริ่มทำใหม่ๆ คือ TV Digital เริ่มมา รายการเยอะ
     
วงการพากย์ในญี่ปุ่น
 
  • จุดเริ่มต้นเหมือนไทยเลยก็คือให้นักพากย์ทำงานส่วนของตัวเองในห้องอัดไป แต่ประมาณยุค 90s เป็นต้นมา เขาเริ่มเอานักพากย์อนิเมะมาเทรนเป็นไอดอล เช่น ผลงานนึงมีผู้ชาย 5 คน ก็เอานักพากย์ทั้ง 5 คนมาเล่นคอนเสิร์ต จัดแฟนมีต ร้องเพลง ออกรายการวิทยุ เป็น DJ ฯลฯ ทำให้แฟนๆ อินกับคอนเทนต์มากขึ้น รากฐานนักพากย์จึงไม่ใช่แค่เสียงแล้วค่ะ สรุปคือวงการนักพากย์ที่ญี่ปุ่นจะกว้างกว่าบ้านเรา การ์ตูน 1 เรื่องมีสูตรสำเร็จที่ต้องมี media ทุกรูปแบบ ทั้ง character song, จัดวิทยุ, ร้องเพลง(+เต้น), ไลฟ์ หรือคิดรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา
     
  • แล้วเขาจะค่อนข้างชัดเจนว่าถ้าอยากทำงานนี้ ต้องเรียนสายอาชีพนักพากย์จากโรงเรียนในสังกัดที่เรียกว่า "โยเซโจะ" จะเป็นที่เรียนพิเศษ  ไม่มีกระทรวงรับรอง  และไม่ได้ทำวีซ่าให้ (การเรียนโยโซโจะจะเป็นขั้นตอนหลังจบเซมมงกักโค แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุุ่น จะเริ่มที่เซมมงหรือโยโซโจะก็ได้  เพราะไม่มีเรื่องวีซ่ามาเกี่ยวข้อง  )  พอออดิชันผ่านมาเป็นตัวจริง เขาจะดีลงานผ่านเอเยนซี่เท่านั้น หรือไม่ก็บริษัท/เอเยนซี่จะเปิดงานประกวดที่รับสมัครคนทั่วไป  อันนี้ต้องฟาดฟันกันหน่อยนึง ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถ ดวง และจังหวะด้วยค่ะ

(ตัวอย่างเช่นเซเลอร์มูน บนเวทีคือนักพากย์ 5 คน)

 
               “ส่วนตอนนี้เราอยู่ระหว่างการไฟต์เลยว่าจะได้เข้าสังกัดมั้ย เราต้องอยู่ในสังกัดให้ได้ก่อนเป็นใบเบิกทาง ต้องเจออีกหลายด่าน ภาษาก็ต้องฝึกให้เป๊ะกว่านี้ด้วย พี่เองมีช่วงเวลาที่สับสนหลายครั้งเหมือนกันนะ  เพราะเส้นทางการเป็นเซย์ยูที่ญี่ปุ่นของคนต่างชาตินั้นเป็นไปได้ยาก จะพูดให้โหดร้ายมองโลกตามความเป็นจริง ก็ยากมากจริงๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงื่อนไขวีซ่าที่ทําให้ต้องหาทางทําอย่างอื่นเพื่ออยู่ต่อให้ได้ ความที่ไม่ใช่เป็นคนญี่ปุ่น การเข้าถึงวัฒนธรรมกลุ่มคนเมืองเกาะนี้ ภาระหน้าที่การงานการเงินต่างๆ สองปีที่ผ่านมา ทั้งเสี่ยงลองทํานู่นนี่เพื่อที่จะเข้าใกล้การเป็นเซย์ยู มันมีทั้งการเรียนรู้สิ่งใหม่ อุปสรรคต่างๆมากมาย ยังพูดได้ไม่เต็มปากเท่าไรว่าจะได้เป็นเซย์ยูมั้ย"
 
               "หลังจากเรียนจบแล้ว เราจะทํางานบริษัทต่อที่ญี่ปุ่นค่ะ เป็นสายงานที่ฉีกแนวงานที่ผ่านมา แต่ก็ยังสามารถใช้ความเป็น talent ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ได้ ส่วนเรียนเซย์ยู เรายังมีคอร์สเสริมเตรียมเรียนต่ออีกพักนึง ชีวิตอาจจะไม่ได้กําหนดให้มาทางนี้ แต่ก็ขอให้เจอตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับเราละกัน”

 

ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำ
ถึงนักอยากพากย์

 

  1. ใจรัก นักพากย์=นักแสดง เป็นเบื้องหลังที่สร้างความสุขความบันเทิงให้แก่คนฟัง  เพื่อให้เขาอินไปกับการ์ตูนหรือหนังเรื่องนั้นๆ ด้วย
  2. พยายามดูหนัง การ์ตูน และสื่อทุกประเภท ทั้งฉบับ original และพากย์ไทย (ถ้ามีเวลา) ข้อดีของการฟังต้นฉบับคือเราได้เข้าใจความรู้สึกนึกคิด แต่ถ้าไม่ค่อยมีเวลา ก็อาจเก็บ  reference จากพากย์ไทยอย่างเดียวก็ได้
  3. ฝึกการออกเสียงให้ถูกต้องตามอักขระ ฝึกอ่านตัวบทให้คล่อง
  4. ช่างสังเกต // ตาดูบท หูฟังซาวนด์ ฟังหลายๆ เสียงแล้วแยกได้ ปากก็ต้องเทรนบ่อยๆ นะ อย่าให้ปากแข็งลิ้นแข็ง เราเองเคยเจอปัญหานี้ ว่างๆ ต้องฝึกเหมือนกับคนร้องเพลงเลย
  5. ดูแลสุขภาพให้ดี กินอาหารดีๆ ให้ครบ 5 หมู่ อย่ากินอะไรที่ทำร้ายคอ **ยากสุดเลยข้อนี้ 5555 ถ้าจะให้ดีก็ควรออกกำลังกายด้วยนะ”
     
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย
 
https://college.toho.ac.jp/english/
https://www.tohogakuen.ac.jp.e.agn.hp.transer.com/announce/voice_actor/
https://www.youtube.com/user/TOHOGAKUENchannel
 

 

 ช่องทางติดตาม MaiKo


Facebook:   MaiKo กับชีวิตเรียนพากย์ที่ญี่ปุ่น
Twitter:  @Kotorinawiz
Instagram  :  @maiko_chirara
 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

akuma tenshi Member 8 ม.ค. 64 10:47 น. 1

ขอบคุณที่มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังนะคะะะ กำลังสนใจเรื่องโรงเรียนสอนพากย์ที่ญี่ปุ่นอยู่พอดีเลยค่า

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

akuma tenshi Member 8 ม.ค. 64 10:47 น. 1

ขอบคุณที่มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังนะคะะะ กำลังสนใจเรื่องโรงเรียนสอนพากย์ที่ญี่ปุ่นอยู่พอดีเลยค่า

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด