เมื่อฉันได้ทุนไปเรียนต่อ 'คอสตาริกา' พื้นที่สีเขียว อากาศบริสุทธ์ กับหลักสูตรที่สอนว่าโลกไม่สวย!


 
            สวัสดีค่ะชาว Dek-D   หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูกับเรื่องราวคนเรียนต่อที่ "คอสตาริกา" ประเทศเล็กๆ ในแถบอเมริกากลางสักเท่าไหร่ แต่บอกเลยว่าเป็นดินแดนที่มีมุมน่าสนใจเยอะมาก ตั้งแต่เป็นประเทศผู้นำด้าน Eco Tourism ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่ง ประเทศนี้ไม่มีกองทัพ และมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่งค่ะ

            แล้วโชคชะตาและโลกโซเชียล ทำให้เราได้รู้จักกับ  'พี่จอย' (instagram: thejoyest) เด็กกฎหมาย ABAC ที่เจอจุดเปลี่ยนหลังทำค่ายจิตอาสา และเริ่มจับโปรเจกต์งานสายพัฒนาเต็มตัว ก่อนจะขอทุนไปเรียนต่อ   The Asian Peacebuilders Scholarship (APS) สัมผัสการเรียนที่ต่างสุดขั้วที่ฟิลิปปินส์และ   The University for Peace (UPEACE) เมือง  San José เมืองหลวงของ Costa Rica เธอไม่ได้ไปตักตวงความสุขจากความสวยงามและอากาศบริสุทธิ์  แต่เหมือนกับเธอเข้าไปนั่งข้างๆ เพื่อดูชัดๆ ว่าธรรมชาติกำลังร้องไห้อยู่รึเปล่า? 



เมื่อเด็กกฎหมาย
ขอทุนไปเรียนสายพัฒนา!?

 
         
 The Asian Peacebuilders Scholarship (APS) เป็นทุนของมูลนิธินิปปอน (The Nippon Foundation)    โดยให้แบบเต็มจำนวนและมีเบี้ยเลี้ยงให้ทุกเดือนด้วย  อย่างตอนไปฟิลิปปินส์พี่ได้ 700 เหรียญ / คอสตาริกา 800 เหรียญ (อาจมีการปรับเปลี่ยนในปีหลัง)  โปรแกรมที่เลือกได้จะมีทั้งการศึกษาด้านสันติภาพ, กฎหมายระหว่างประเทศ และสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา   พอติดแล้วเราจะได้เรียนที่ฟิลิปปินส์ก่อน 5-6 เดือน + คอสตาริกาอีก 10 เดือน + กลับมาฟิลิปปินส์อีกครั้ง *แต่พอเจอโควิดเลยไม่ได้เดินทางกลับไปเรียนที่ฟิลิปปินส์
 
          วิธีสมัครทุนการศึกษานี้ไม่ซับซ้อน เพียงแต่มีความยากสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานขั้นต่ำ 2 ปี   *เรามองว่าทุนนี้เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาจากเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ซึ่งผู้สมัครจะต้องผ่าน IELTS ที่คะแนน 6.5 เท่านั้น จำนวนที่รับ 30 ที่นั่ง เป็นเอเชียไปแล้วครึ่งนึง
 
  • ด่านแรกคือเขียน essay  นำเสนอว่าเคยทำอะไรมาก่อน ทำไมถึงมีความสนใจอยากจะไปเรียนต่อในด้านนั้น ถ้าเรียนจบจะนำความรู้มาพัฒนาอะไร ทำให้กรรมการเห็นว่าถ้าเขาลงทุนแล้ว จะได้ผลตอบแทนในเชิงสังคมและสันติภาพของโลกอย่างไร เพราะนั่นคือจุดมุ่งหมายของทุนค่ะ
     
  • ด่านต่อมาคือสัมภาษณ์ พิจารณาร่วมกับกรรมการจากฟิลิปปินส์ คอสตาริกา และโครงการนิปปอน คำถามดูไม่ยาก แต่จะทดสอบการคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงประเด็นปัญหาเข้ากับแนวคิดการแก้ปัญหาของเรา

            พี่ก็ตัดสินใจส่งใบสมัครโปรแกรม  Environment and Development  ไปค่ะ  ถึง ป.ตรีเรียนกฎหมายก็จริง แต่บังเอิญไปพลิกเจอโลกอีกด้านที่ไม่เคยเห็นมาก่อนจากการไปค่ายอาสาครั้งแรกที่ชายแดนไทย-กัมพูชา  เห็นภาพความผิดเพี้ยนของโครงสร้างทางสังคมจากกิจกรรมที่ไปทำในพื้นที่ เราสนใจและตั้งคำถามกับสิ่งตรงหน้าตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าบทบาทนักกฎหมายมันจะไปซ่อมระบบตรงนั้นได้อย่างไร

            หลังจากจบ ป.ตรี ก็ได้เป็นผู้ประสานงานวิชาการให้กับโครงการเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งได้คลุกคลีกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระบวนการยุติธรรม การจัดการทรัพยากร ฯลฯ จากนั้นไปทำงานต่อที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ในโครงการพัฒนาทางเลือกฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมาร์ บริเวณพื้นที่ชายแดนอ่อนไหวของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด

            สรุปคือได้เข้าออกชายแดนเป็นว่าเล่น พอข้ามชายแดนไปตรงจุดชายขอบในพื้นที่เหล่านั้น เราจะเห็นความแตกต่างของคุณภาพชีวิตประชากรทั้ง 2 ด้านเป็นรอยตัดชัดๆ มันเป็น 4 ปีที่เราทำงานอย่างมีความสุขบนความเหนื่อย  ลองผิดลองถูกนับไม่ถ้วน และได้สร้างเราอีกคนหนึ่งขึ้นมา แม้จะตอนทำงานจะมีใช้ความรู้กฎหมายอยู่บ้าง แต่เรารู้สึกตัวเองเดินมาไกลเกินจะกลับไปสายกฎหมายเต็มตัวแล้ว พอจบระยะเวลาโครงการจึงตัดสินใจขอทุน APS เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เป็นระบบขึ้นจากงานที่เราทำ ทุนนี้ตอบโจทย์สิ่งที่เรามองหาพอดี


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest
 
ลองศึกษากำหนดการรอบก่อนๆ ไว้เตรียมตัวได้นะคะ :)
 


 

อัดวิชาการเข้มๆ ในฟิลิปปินส์

(ได้เที่ยวสุสานด้วย)
 

            ก่อนจะไปโหมด Pura Vida ที่คอสตาริกา เราจะได้ไปอัดวิชาการเข้มๆ ที่ฟิลิปปินส์ก่อน 5 เดือน เรียนทั้งรัฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ระเบียบวิธีวิจัย ทฤษฎีเกือบ 100% แต่ก็ได้ฝึกทักษะการเขียนเชิงวิชาการหรือการทำสื่อนำเสนอให้เราด้วย เพื่อนในรุ่นทั้ง 28 คนมาจากไทย  ญี่ปุ่น เมียนมา ลาว กัมพูชา ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ตรงในสาขาที่เลือกเรียนทั้งสิ้น มีทั้งนักพัฒนาสาธารณสุขในแอฟริกา ทหาร เจ้าหน้าที่การทูตหญิงในกลุ่มประเทศอาหรับ เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาในประเทศต่างๆ บางคนอายุ น้อยแต่มีประสบการณ์ทำกิจกรรมทางมาก ซึ่งความหลากหลายนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บางคนเคยทำงานแล้วเจอปัญหาเดียวกับเรา ก็มานั่งฟังวิธีการของแต่ละคนไว้เป็นกรณีศึกษา
 
           ฟังดูเหมือนเรียนแบบน่าเบื่อแต่จริงๆ แล้วไม่เลย เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวทุกอย่างใหม่สำหรับเรา นอกเวลาเรียนก็ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิสังคมของประเทศเขา   ไปตามสถานที่สำคัญพวกโบสถ์ พิพิธภัณฑ์ และสุสานในมะนิลา ซึ่งสุสานที่ว่านี้ถ้าเป็นคนฟิลิปปินส์เองเขาคงไม่แนะนำให้เที่ยวหรอก บรรยากาศหลอนแบบติดตาตรึงใจเลยค่ะ แต่ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ดีมาก ได้เยี่ยมสุสานของบุคคลสำคัญในประเทศ พวกคนดังอย่าง รามอน แมกไซไซ หรือคนดังในธนบัตรอยู่ในนี้หมดเลย  (อ่านเรื่องทัวร์สุสานที่มะนิลาเพิ่มเติมที่นี่)


Photo Credit: Thejoyest.blogspot.com


Photo Credit: Thejoyest.blogspot.com


 

ตัดภาพมาที่คอสตาริกา
สูดกลิ่นอายธรรมชาติได้เต็มปอด

 

            ลงเครื่องปุ๊บถึงบ้านพักปุ๊บ กลิ่นอายป่าบนเขาทำให้ เพลง   What a wonderful world ดังในหัวเลย เพราะอากาศตรงที่เราอยู่นั้นสะอาดมาก  บางคนที่มาคอสตาริกาจะบอกว่าที่นี่คือสวรรค์ แต่จริงๆ ทุกประเทศมีร่องรอยความเจ็บปวดของมัน   อย่างคอสตาริกาเองก็คือประเทศเล็กในแถบอเมริกากลางที่เจ้าอาณานิคมและประเทศมหาอำนาจใช้เป็นรัฐกันชน ใช้การเมืองทำให้ประเทศนี้อ่อนแอลง หากเราศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เข้าใจว่าทำไมประเทศนี้ไม่มีกองกำลังทหาร แต่กลายเป็นว่ามีงบมาสร้างสวัสดิการในรัฐจนเจริญขึ้นมาอย่างที่เห็นทุกวันนี้ 
 
            และสิ่งที่ทำให้คอสตาริกามีภาพลักษณ์เป็นพื้นที่สีเขียวนั้นต้องรื้อความตั้งแต่ยุคอาณานิคมและนโยบายการเกษตรและป่าไม้ของประเทศ เพราะพื้นที่สีเขียวที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็เคยถูกทำลายด้วยการตัดป่าแล้วแปลงเป็นพื้นที่เกษตร และบางส่วนยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


Photo by  Alex Ip   on  Unsplash
 
Photo by   Zdeněk Macháček    on   Unsplash
 
            สำหรับ  University of Peace (UPEACE)  ที่เราเรียน จะเป็นมหาวิทยาลัยของสหประชาชาติ ตั้งอยู่บนภูเขาใน El Rodeo ซึ่งเป็นเขตเมืองหลวง  แต่ละวันจะได้นั่ง Shuttle bus ขึ้นเขา 15 นาทีไปมหาวิทยาลัยทุกวัน ถ้าเขตเมืองอยู่สบาย มีระบบบริการรถสาธารณะที่ดี มีแอปพลิเคชันเช็กตารางรถได้ดีและตรงเวลา อาจมีแออัดและมลภาวะบ้างเหมือนเมืองทั่วไป และมีบริการ W-Fi กับ Hotspot พร้อม 


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest
 
          ความน่ารักของเมืองที่เราอยู่คือเขาจะมีพื้นที่กิจกรรมให้คนในเมือง อย่างวันอังคารมีตลาดนัดอินทรีย์ วันศุกร์ตลาดสินค้าชุมชนกลุ่มสตรี วันเสาร์ก็เป็นตลาดสินค้าเกษตรทั่วไปทั้งเคมีและออร์แกนิก และสินค้าเกษตรกรที่กำลังปรับระบบการผลิต มันดีตรงที่เขาเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้พบปะกันจริงๆ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง 

          นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชุมชน ทั้งจัดแสดงดนตรีและพาเหรด ใกล้กันมีลานกีฬาที่เล่นได้ทั้งบาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล โรลเลอร์สเก็ตช์ ฟุตบอล ฯลฯ  เรียกว่าเป็นเมืองเล็กที่ครบจนเรารู้สึกชื่นชมการจัดการ ส่วนภาษาสเปนก็เป็นสิ่งจำเป็นว่าต้องสื่อสารได้ระดับเอาตัวรอดในชุมชน เช่น ทักทาย ซื้อของ ถามทาง ฯลฯ เวลาเราเรียนแล้วต้องทำกิจกรรมก็อาจไม่เต็มร้อยเพราะต้องผ่านล่าม แต่ในมหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษล้วน


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest

 

เปิดวิชาเรียนสุด Reality
ที่นี่ไม่มีคำว่า "โลกสวย"

 

             เราว่าที่นี่มีความเป็น  Niche Market (เฉพาะกลุ่ม) มากๆ แต่เป็น พี่รู้สึกมาถูกที่แล้ว ด้วยมีอาจารย์ที่ใส่ใจและมีประสบการณ์ตรงในวิชาที่สอนทั้งงานวิชาการและภาคปฏิบัติ ส่วนคนที่มาเรียนก็เป็นการรวมตัวของความหลากหลายกว่า 48 ประเทศที่ทำให้เราได้แลกความรู้ระหว่างกันได้เต็มที่ พี่ได้เรียนทั้งวิชาสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้ง, เกษตรยั่งยืน, การจัดการป่าไม้, เมืองยั่งยืน, เศรษฐกิจหมุนเวียน, ความมั่นคงทางอาหาร, การปรับตัวด้านสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ   สอนแบบเน้นคิดวิเคราะห์และลงมือทำ 
 

Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


(พรีเซนต์แบบ Outdoor)
Photo Credit: 
Thejoyest
 
             อย่างเช่นวิชาการจัดการป่าไม้ เราแทบไม่ได้นั่งในคลาสเลยค่ะ เพราะเขาส่งเราไปออกภาคสนามที่ศูนย์วิจัยป่าไม้เป็นอาทิตย์ ไปเรียนเรื่องการฟื้นฟูพื้นดินเสื่อมโทรม ดูแนวคิดการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจเป็นป่าเพื่อป้อนอุตสาหกรรม ไปทำแนวกันไฟในเขตวิจัย เพาะกล้าไม้ ฯลฯ ซึ่งทุกกิจกรรมนั้น อาจารย์ไม่ฟันธงเลยว่าอะไรถูกผิด เปิดโอกาสให้เราวิพากษ์จุดดี จุดเสียได้อย่างเต็มที่ แล้วพอจบคอร์สเรียน พี่กับเพื่อนก็ไปทำงานอาสาอีก 4 วันที่ San Vito ชายแดนปานามา นั่งรถไปทั้งหมด 8 ชั่วโมงเพื่อเรียนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต่อจากวิชาที่เรียน เราได้เข้าใจเลยว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างมันรีบร้อนไม่ได้ ทุกอย่างมีเวลาและกระบวนการของมันที่เร่งไม่ได้


Photo Credit: Thejoyest
 

Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest
 
             ถ้าเป็นวิชาเกษตรยั่งยืน นอกจากถกประเด็นกันในห้องจากการการอ่านงานวิชาการ เรายังต้องลงมือเรียนทำปุ๋ย ปลูกผัก สารพัดเลยที่ทำให้ได้เรียนรู้ ทำให้เห็นทั้งภาพกว้าง ลึก และลบมายาคติของคนที่มาจากต่างที่ และเข้าใจว่ามันไม่ได้มีทางที่ถูกแค่ทางเดียว ถ้าเกิดวันนึงเราพูดว่าระบบการเกษตรเราต้องเปลี่ยนจากสารเคมีมาเป็นแบบออร์แกนิกนะ พอเราไปเห็นจริงจะรู้ว่ามันมีตื้นลึกหนาบาง ทำได้จริงหรือไม่จริงมันกระทบอะไรบ้าง ดีต่อสุขภาพคนแต่ใช่ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป
 
             แล้ววิชานี้ทำให้เรามองสิ่งที่กินแล้วเริ่มตั้งคำถามกับระบบ มองลึกถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เพศ คนท้องถิ่น ระบบเศรษฐศาสตร์ ฯลฯ เช่นเวลาเราเข้าห้างไปซื้อมะเขือ ก็ไม่รู้หรอกว่าราคาที่แท้จริงคือเท่าไหร่ เกษตรกรได้เท่าไหร่ เขาปลูกแบบไหน มันกระทบคนปลูกกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร แล้วเราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค เราเลือกอาหารจากอะไร มีทางเลือกอะไรบ้าง แม้กระทั่งว่าทุกวันนี้เรามีตัวเลือกที่หลากหลายแต่เรารู้ข้อมูลเพียงพอให้ตัดสินใจเลือกหรือไม่ หรือเราเลือกไม่ได้เสียด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้มันตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ และสำหรับคนทำงานด้านการพัฒนา คือ สิ่งที่เราเอาไปคิดต่อแล้วลงมือทำด้วยความใส่ใจรอบด้าน
 

Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest
 
             นอกจากวิชาเรียนแล้ว ความหลากหลายของนักเรียนจากประเทศต่างๆ ซึ่งแตกต่างทั้งอายุ ค่านิยม ความคิดก็ทำให้เราได้ปรับนิสัยการทำงานไปด้วย เวลาทำงานกลุ่ม พี่ชอบกลุ่มที่มาจากหลายๆประเทศ วิธีการทำงานเราก็ต้องคิดเรื่องวัฒนธรรมด้วย บางครั้งเราพูดตรงไปตรงมาได้ว่าชอบไม่ชอบ ถูกไม่ถูก เเล้วเสนอทางปรับแก้ตรงๆ บางทีก็มีบทต้องไกล่เกลี่ยหรืออำนวยการบรรยากาศให้ทุกคนได้ออกความเห็นได้เท่าเทียมกัน เป็นสังคมการเรียนที่ท้าทายไม่น่าเบื่อ


Photo Credit: Thejoyest

 

นัดรวมตัวทำอาหารกับเพื่อน

+ อบขนมปังจากพืช
 

        ปกติกลุ่มเพื่อนจะชอบนัดรวมตัวทำอาหารนานาชาติกันบ่อยๆ ทั้งเกี๊ยวซ่า พิซซ่า มีหมด เป็นอีกวิธีที่ช่วยจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะที่นี่ถือว่าค่าครองชีพแรง ถ้าจะจ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบสำหรับ 1 วีคก็ต้องมีตก 1,500 บาท หรือถ้าซื้อจากโรงอาหารในมหาวิทยาลัย ข้าวแกงยังตกจานละ 150 บาท ในขณะที่มื้อพิเศษหน่อยก็ไม่ต่ำกว่า 500 บาทไปแล้่ว การทำอาหารเลยเป็นทางรอดหนึ่งเดียว


Photo Credit: Thejoyest

            แล้วทีนี้ นักเรียนเอเชียทุกคนยังบ่นว่าข้าวคอสตาริกาไม่อร่อย เพราะเราจะชินกับข้าวที่นุ่มและหอม หรือถ้าอยากได้แบบนั้นก็ต้องซื้อกิโลละ 200 บาท ก็เลยใช้วิธีผสมๆ เอาแก้ขัดกันไป อาหารบางชนิดที่เราชอบแต่ของคุณภาพดีมีราคาแพง เช่น ขนมปังธัญพืชที่ราคาตกแถวละ 200 บาท หรืออาหารเอเชียที่ต้องนั่งรถไปถึงในเมือง

            เราก็จัดการตั้งวงเชิญเพื่อนที่มีความสามารถในการทำอาหารชนิดนั้นๆ มาเปิดครัวสอนทำกันประหยัดค่าอาหารไปได้มาก ลดอาการคิดถึงบ้านไปได้เยอะ บางทีความคราฟท์ก็เกิดขึ้น เช่น ทำเกี๊ยวจีนตั้งแต่นวดแป้งแล้วตุนไว้ในช่องแข็ง หรือปลูกมันหวานในแปลงผักมหาวิทยาลัยเก็บผลผลิตมาทำขนมปังกินเองก็มี
 
            นี่เลยเป็นเหตุผลที่อยากให้น้องๆ ที่จะเรียนต่อต่างประเทศว่า จงฝึกสกิลทำอาหารไว้ เพราะช่วยสร้างเพื่อนและทำให้ได้แชร์วัฒนธรรมกันด้วย ยิ่งถ้ามีเพื่อนทำอาหารเก่งๆ ไม่จำเป็นต้องกินอาหารนอกบ้านเลย เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นมากจริงๆ
 

Photo Credit: Thejoyest
 

Photo Credit: Thejoyest


Photo Credit: Thejoyest
 

Photo Credit: Thejoyest
 
          สรุปแล้ว การกลับไปเรียน ป.โทในวัย 30 ปี เหมือนเข้ามาปรับโครงสร้างความคิดที่ผ่านประสบการณ์มาสักพักนึงแล้ว เราได้แชร์วิธีแก้ปัญหากับนักเรียนที่มีประสบการณ์หลากหลายเพื่อมาประยุกต์ให้ทำงานได้ดีขึ้น  แล้วอย่างที่บอกว่า UPEACE แม้จะดูเจาะกลุ่ม แต่พี่เหมือนไปขุดเจออัญมณีที่ล้ำค่า เพราะมันไม่ใช่แค่คุณค่าทางวิชาการ แต่ทั้งเชิงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์กับผู้คน ความคิดและทัศนคติที่เปลี่ยนไปบ้าง มั่นคงขึ้นบ้าง มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้มาสัมผัสกับตัวเองแบบนี้

ชวนอ่านเรื่องน่าสนใจอีกเยอะมากที่นี่เลยค่ะ!

IG: Thejoyest
 

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UPEACE
 

https://www.upeace.org/
https://www.facebook.com/UniversityforPeace/
https://twitter.com/UPEACE
https://www.youtube.com/user/UPEACE01
https://www.linkedin.com/school/university-for-peace/
https://www.instagram.com/universityforpeace/
 

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุน APS
 

https://www.upeace.org/departments/asian-peacebuilders-scholarships
https://www.facebook.com/asianpeacebuildersscholarship/
 

Photo by  Mike Swigunski  on  Unsplash

Photo by  Samuel Charron  on  Unsplash
 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น