รีวิวชีวิตสุดคุ้มของ ‘จี๊ป’ เด็กทุน พสวท.ที่ได้ไปเรียนต่ออเมริกา @Carleton College (ปรับพื้นฐานเข้มมาก!)


          สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าใครอยากหาทุนเจ๋งๆ ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอแนะนำให้รู้จักทุน พสวท.  หรือทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เปิดกว้างให้น้องๆ ม.3 และ ม.6 ทั่วประเทศที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์มาสอบคัดเลือกได้ ซึ่งอาจจะได้รับคัดเลือกไปต่างประเทศด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)
 
          และในวันนี้เราจะพาไปคุยกับหนึ่งในนักเรียนทุน พสวท. แบบเจาะลึกแบบอินไซต์สุดๆ ทั้งเงื่อนไขและมูลค่าของตัวทุน,   การเรียนปรับภาษาในคลาสที่มีแต่เด็กทุนอเมริกาล้วนๆ, ความหินช่วงปรับพื้นฐาน (Prep School) และการเรียน ป.ตรีใน Liberal Arts College แบบควบ 2 เอก ความพีคคือทั้งโรงเรียนปรับพื้นฐานและมหาลัยคุณภาพแน่นมาก หลักสูตรเข้มข้น แถมค่าเทอมปกติคือเหยียบหลักล้าน!


โรงเรียนตอนปรับภาษา
Photo Credit: 
Brewster Academy


โรงเรียนตอนปรับพื้นฐาน Prep School
Photo Credit:  Westtown School


มหาวิทยาลัยที่เรียนตอน ป.ตรี (ปัจจุบัน)
Photo Credit:  
Carleton College [FB]
 

แนะนำตัว
 

          สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘จี๊ป’ นัทธมน มณีน้อย กำลังเรียนปี 3 ที่ Carleton College ซึ่งเป็น Liberal Arts College ในรัฐ Minnesota ค่ะ  เรียนควบ 2 สาขาคือภาคธรณีวิทยา (Geology) และ Studio Arts ถ้าเรียนจบได้ปริญญาใบเดียว แต่มี Specializations ของทั้ง 2 สาขาเลยค่ะ
 
        จริงๆ แล้วจี๊ปรับทุน พสวท. มาตั้งแต่ ม.4 และจะได้เรียนฟรีถึง ป.เอกเลยค่ะ  เราสามารถสมัครโรงเรียนกับมหาลัยได้ตามปกติ ส่วนทุนจะช่วยสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอม + ค่าขนมประมาณเดือนละ 6,000 บาท + ให้เงินซื้อ Laptop อีกคนละ 50,000 บาท  ข้อดีคือทุนนี้เปิดกว้างมากให้นักเรียนทั่วประเทศสอบได้หมด เพียงแต่จะมีข้อจำกัดคือจบมาต้องใช้ทุนโดยการทำงานในสังกัดที่เค้าเลือกให้หลังเรียนจบ   อย่างเช่นจี๊ปต้องทำงาน 10 ปี อาจจะเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์มหาลัย *ทุนนี้จะมีแจ้งเรื่อยๆ ว่าสมัครเมื่อไหร่ มีสอบข้อเขียนกับสอบแล็บ

        ตอน  ม.ปลาย จี๊ปจบจาก รร.สามเสนวิทยาลัย ห้อง  ESC (Enrichment Science Classroom  เป็นห้องเรียนพิเศษเน้นวิทย์-คณิต (gifted  วิทย์-คณิต)  ปกติทุน พสวท. เค้าจะมีศูนย์โรงเรียนมัธยม 10 โรงเรียนทั่วประเทศ และจับคู่กับศูนย์มหาวิทยาลัย 10 แห่งในประเทศ เช่น ถ้าจี๊ปเลือกสอบเข้าและได้เป็นนักเรียนทุน พสวท. ที่ รร.สามเสนวิทยาลัย หลังจบ ม.6 จี๊ปจะสามารถเข้าเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดลได้ทันที เพราะสามเสนฯ จับคู่กับ ม.มหิดลค่ะ

        ระหว่างเรียน ม.ปลาย เด็กทุน พสวท.ก็จะมีโอกาสไปฝึกงานที่มหาลัยคู่ศูนย์ของตนเอง โดยการเป็นผู้ช่วยทำวิจัยตั้งแต่ ม.5 และตอนจบ ม.6 ต้องทำโครงงานวิจัยของตัวเองไปพรีเซนต์แข่งกับนักเรียนทุนด้วยกัน จี๊ปว่านี่เป็นโอกาสสร้างประสบการณ์การเป็นนักวิจัยที่เข้มข้นมากกก เพราะเราทดลองใช้เครื่องมือที่มีในมหาลัยที่ปกติแล้วอาจไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าไปใช้ได้ค่ะ

        แล้วช่วง ม.6 เทอม 2 เค้าจะมีสอบคัดเลือกในกลุ่มเด็ก พสวท. ในปีเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อส่งไปเรียนต่อนอก  เราตัดสินใจเลือกอเมริกาเพราะคิดแค่ว่าประเทศเค้าใหญ่ดีนะ~ น่าจะเที่ยวได้หลายที่แหละ ผลคือสอบติดสำรอง แต่ฟลุ๊กได้ไปเพราะคนลำดับก่อนหน้าเราเค้าสละสิทธิ์ ><



 

Summer Camp

คลาสรวมตัวของเหล่าเด็กทุน
 

          ทางทุนเค้าจะมีสำนักงานดูแลนักเรียนทุนในอเมริกา (สนร)    ที่ดูแลนักเรียนทุนทั้งหมด เช่น ทุนคิง ทุน แบงก์ชาติ ทุน พสวท. ทุนกระทรวงวิทย์ รวมๆ ก็ 30-40 ทุนได้ ทุกคนก็จะถูกจับมาเข้าค่าย  Summer Camp พัฒนาภาษาอังกฤษค่ะ ซึ่งโรงเรียนที่ สนร จัดไว้ให้ชื่อว่า Brewster Academy ซึ่งเป็น Private School ตั้งอยู่ที่ Wolfeboro, New Hampshire


Photo Credit: Brewster Academy
 
        พอเครื่อนแลนดิ้งลงอเมริกาปุ๊บ อีกวันก็สอบวัดระดับภาษาอังกฤษเพื่อจัดกรุ๊ปเรียนตามคลาสปรับภาษาเลยค่ะ  เล่นเอาตั้งตัวแทบไม่ทัน  5555 เค้าจะแบ่งนักเรียนทุนออกเป็น 4 กลุ่มตามความสามารถภาษาอังกฤษ ส่วนจี๊ปได้มาอยู่กลุ่ม 2 ระดับกลางๆ ส่วนกลุ่ม 1 คือหัวกะทิ ทุนคิงต่างๆ ที่เทพจนไม่น่าจะต้องปรับพื้นฐานแล้วด้วยซ้ำ
 
          พาร์ตแรก เค้าจะปรับพื้นฐานภาษาอังกฤษให้ก่อนทั้ง Writing, Speaking,  Reading (American Literature) มีเอาข้อสอบ SAT และ ACT มาสอนเพื่อให้เรามีพื้นฐานสมัครเรียนในมหาลัยในอเมริกาด้วย ซึ่งไม่ชิลล์เลยยย ทั้งการบ้านเยอะ เทสต์หนัก เพื่อให้เราพร้อมรับมือกับการเรียน Prep School ที่จะเจอหลังจากนี้
 
          พาร์ตสอง เค้าจะช่วยเตรียมตัวเราให้พร้อมกับการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในอเมริกาค่ะ มีสอนให้เขียน essay ที่ใช้สมัคร มี College Advisor คอยให้คำแนะนำเบื้องต้น แล้วทุกสัปดาห์ก็จะมีตัวแทนจากมหาลัยต่างๆ ในอเมริกาเดินทางมาโปรโมตมหาลัยตัวเองด้วย ช่วยให้เรารู้จักหลากหลายขึ้นและตัดสินใจได้ว่าที่ไหนเหมาะกับเราบ้าง


Photo Credit: Brewster Academy
 
        แล้วด้วยความที่  จี๊ปเองจบจากโรงเรียนรัฐบาล เรียนระบบไทยมาตลอด  ส่วนใหญ่เค้าจะสอนแต่แกรมมาร์ แต่ไม่เน้นฟังพูดอ่านเขียน จี๊ปเลยพอสื่อสารได้แต่ไม่คล่องปรื๋อเหมือนเจ้าของภาษา  เหตุผลนี้น่าจะทำให้เค้าจัดค่ายนี้ขึ้นมาค่ะ เราได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้พัฒนาภาษาอังกฤษได้ไวขึ้นมากๆ เพราะเรียนกับฝรั่งและมีกฎห้ามพูดไทย เราก็ต้องพยายามบังคับตัวเองให้พูดภาษาอังกฤษแม้จะอยู่ในหอพักกับเพื่อน
 
          นอกจากนี้เค้าก็ต้องการให้เราฝึกปรับตัวกับสังคมและวัฒนธรรม และผูกมิตรกับเพื่อนในรุ่นด้วย เพราะหลังจบแคมป์เค้าจะกระจายนักเรียนทุนไป Prep School แค่โรงเรียนละ 1-2 คน  หลายคนจะบอกเลยค่ะว่าขั้นที่โดนแยกไปอยู่ Prep School เนี่ยคือที่สุดแล้ววววในชีวิต มันยากมาก เราใหม่ทั้งภาษา ที่อยู่ และสิ่งแวดล้อม ปรับตัวไปพร้อมกับทำเกรดที่โรงเรียนให้ดีเพื่อยื่นมหาลัยด้วย
 
          ส่วนจะได้ไปเรียน Prep School ที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคะแนน  ทาง สนร จะมีลิสต์ให้เลือกแล้วให้ข้อมูลว่าใช้ TOEFL ITP เท่าไหร่ถึงเรียนได้ เราก็เลือกไป 5 อันดับ  ถ้าเป็นโรงเรียนดังๆ ของประเทศคะแนนจะประมาณ 600 ได้ ต้องเก่งภาษาอังกฤษมากๆ อยู่แล้ว สุดท้าย สนร เลือกให้เราไปเรียนที่ Westtown School  //    ตอนเพื่อนค่อยๆ ทยอยแยกย้ายกันไปเป็นช่วงที่หดหู่มากค่ะ พอถึงเวลาที่ใครคนนึงจะออกไป  ทุกคนที่เหลือจะมาจับกลุ่มร้องเพลงอำลากัน  T_T




Photo Credit: Brewster Academy


Photo Credit: Brewster Academy

 

ทดสอบความแข็งแกร่ง

กับด่าน Prep School
 

          หลังจากจบแคมป์ ด่านต่อไปคือ Prep School เรียนซ้ำชั้น ม.6 ก่อนขึ้นมหาลัย ซึ่ง Westtown School ที่จี๊ปเรียนจะเป็นโรงเรียนมัธยมแบบ Private School ขนาดไม่ใหญ่  หลักสูตรเข้มข้นเน้นเตรียมตัวให้นักเรียนเรียนต่อระดับมหาลัย   แล้วที่นี่ยังเป็นอารมณ์โรงเรียนคนรวย ค่าเทอมแพงมากกกปีละ 60,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 2 ล้านบาทไทยเลยค่ะ (ไม่น่าเชื่อว่าตัวเองจะได้มาที่นี่ ถ้าไม่ได้ทุนไม่มีทางจ่ายไหวแน่นอน)

          เพื่อนที่เรียนด้วยกันส่วนมากเป็นเด็กอเมริกัน นอกนั้นจะมี เด็กอินเตอร์ + เด็กแลกเปลี่ยนจากหลายประเทศ แล้วที่นี่ยังเป็น  'Quaker School' ครูส่วนมากก็จะนับถือนิกาย Quaker (หนึ่งในนิกายของคริสต์) จี๊ปจะได้เจอวิชาบังคับชื่อ Quakerism  เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ ใครโดดวิชานี้จะโดนมาร์คชื่อไว้แล้วมีบทลงโทษนิดหน่อยด้วย  ทุกวันพุธกับเสาร์จะมี Meeting of Worship นั่งเงียบกริบในห้องประชุม ถ้ามีใครอยากพูดสิ่งที่จะมีประโยชน์กับคนฟังก็พูดได้  เช่น ข้อคิดหรือเรื่องที่ตัวเองเคยเจอ 
 
          ส่วนการเรียนในคลาสก็จะเหมือนมหาลัยเลย แค่ย่อให้เล็กลงค่ะ  ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทางทุนถึงเลือกส่งมาโรงเรียน Prep School แทนที่จะเป็นโรงเรียนรัฐทั่วไป? เหตุผลแรกคือเราไม่มี citizenship ของอเมริกา เลยเรียนโรงเรียนรัฐทั่วไปไม่ได้ อีกอย่างคือพอมาเรียนแล้ว เราเห็นเลยว่าหลักสูตรเค้าเข้มข้นมากกกจนทำให้เด็กมีโอกาสสอบติดมหาลัยดีๆ สูงกว่า อย่างมหาลัยระดับ  Ivy League ส่วนมาก คนที่ติดมักจะมาจาก  Prep School นี่แหละ แต่แลกกับค่าเทอมที่แพงกว่าจนเกือบเท่ามหาลัย ทางบ้านเลยต้องมีฐานะทางการเงินสูงพอสมควร




Photo Credit:  Westtown School
 
          ชีวิตแต่ละวันคือเรียนวันละ 5-6 คลาส เดินเรียนตามปกติ มีเสียงออดดังเหมือนเสียงระฆัง แบ่งวิชาเรียนคล้ายๆ ไทย เช่น แคลคูลัส, วิทย์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, สิ่งแวดล้อม, Drawing และ ESL (English as a Second Language)  แต่ที่ต่างคือวิธีเรียน ทุกคนในคลาสจะนั่งหันหน้าเข้าหากันแล้ว discuss กันแบบดุเดือดมากกก จะนั่งเงียบก็ไม่ได้เพราะมีคะแนนการมีส่วนร่วม (Participation) แล้วเพื่อนแต่ละคนพื้นฐานก็แน่นปึ้กๆ มาแล้วทั้งนั้น

          ตอนแรกจี๊ปเครียดมากเลยค่ะ เอาแต่นั่งกดดันตัวเองว่า เฮ้ย ทำไมไม่กล้าพูดล่ะ? ตอนนั้นยังไม่มั่นใจภาษาด้วยแหละ กลัวจะถ่ายทอดได้ไม่ตรงกับสิ่งที่คิด กว่าจะอ้าปากได้คือรวบรวมความกล้าสุดๆ เลยค่ะ กว่าจะเข้าที่ก็ผ่านไปเดือนนึง และกล้าเข้าหาเพื่อนขึ้นด้วย ซึ่งถ้านั่งสังเกตดีๆ แล้วเพื่อนๆ เค้าก็ไม่ได้มั่นใจถูกผิดนั่นแหละ  แต่ครูคาดหวังให้เรากล้าพูดกล้าถาม ถ้าผิดจะได้รู้ว่าผิด แล้วจะจำได้ ซึ่งดีกว่าเราไม่พูดเลยแล้วเข้าใจผิดๆ ไปใช้หรือทำการบ้าน อีกอย่างคือถึงเราจะถามอะไรที่ดูโง่แค่ไหน สิ่งที่ครูตอบกลับมาคือ 'Good Question!' เค้าคอยซัพพอร์ตนักเรียนดีมากค่ะ
 
          ตัวอย่างการเรียนการสอนแต่ละวิชา 
 
  • Environmental Science ถกกันว่า ‘พลังงานนิวเคลียร์ VS พลังงานลม อะไรดีหรือแย่กว่ากัน?’
  • American Literature ได้อ่านนิยายอเมริกาแล้วถกกันในห้อง ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของเค้ามากขึ้น วิชานี้ต้องลงเรียนเพื่อให้มีหน่วยกิตหมวดนี้ครบไปยื่นสอบเข้ามหาลัย
  • American History ครูจะให้หัวข้อแต่ละวัน แล้วให้ไฟล์พวกหลักฐานสมัยเก่าๆ มานั่งวิเคราะห์ว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นต่างกันมั้ย? แล้วเราเชื่อใครมากกว่า? เพราะอะไร? เขียนออกมาเป็น essay โดยครูจะดูการให้เหตุผลหรือหลักฐานที่เรายกมาสนับสนุนว่ามีน้ำหนักพอมั้ย วิชานี้จะสอนให้รู้ว่า เราต้องมีวิจารณญาณ เพราะประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับผู้เขียน ที่สำคัญคือสอนแบบไม่เลือกข้าง อย่างเรื่องอินเดียนแดงเค้าก็สอน 
  • English as a Second Langauge จัดให้เด็กอินเตอร์เรียนปรับภาษาอีกทีนึง แต่จะเป็นเชิงวิชาการมากขึ้น เช่น ให้ท่องศัพท์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคลังศัพท์ในหัว, สอนโครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนขึ้น ฝึกสะกดให้ตรงกับ accent มากที่สุด เช่น /ch/ กับ /sh/ เราอาจเคยเข้าใจว่ามันก็เสียง /ช/ แต่จริงๆ คนอเมริกันออกเสียงต่างกัน คาบนี้เราชิลล์เพราะเรียนปรับภาษาตอนซัมเมอร์มาอย่างหนักหน่วงแล้ว แต่ยังรู้สึกมีกำแพงอยู่เพราะไม่เคยต้องใช้ภาษาอังกฤษล้วนๆ ทั้งวันทุกทักษะแบบนี้มาก่อน การจะพูดออกมาได้โดยไม่ต้องคิด กลายเป็นต้องคิดมากกว่าเดิมหลายเท่า
     
          แล้วใน 1 เทอมเราต้องลงพละ (PE) ด้วย ตอนนี้มีรุ่นพี่แนะนำจี๊ปว่าให้ลง  Cross Country เหมือนวิ่งมาราธอนแต่เป็นระยะ 5 กิโลเมตร เราคิดแค่ว่าจะวิ่งเหยาะๆ ชิลล์ๆ ชมนกชมไม้เรื่อยๆ แต่ที่ไหนได้ เค้าจับเวลาด้วยค่ะ!! แล้วเราจะต้องพยายามไปถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุด   เรียนจบนี่แข็งแรงขึ้นจริงๆ // ถ้ากีฬาอื่นจะเน้นทีมเวิร์ก ส่วนอันนี้เน้นเอาตัวเองให้วิ่งได้ตลอดรอดฝั่งก็พอ 55555


Photo Credit:  Westtown School

 

รีวิวโรงเรียนคนรวย

(แต่เราได้เรียนฟรี!)
 

          โรงเรียนนี้มีตึกวิทยาศาสตร์แยกออกมาต่างหาก ในนั้นมีแล็บหลายห้องมาก และทุกคนมีโอกาสทำแล็บตัวต่อตัวได้ เครื่องมือเครื่องไม้พร้อมทุกอย่าง แบบคนละเซ็ตๆ เลย  มีทั้งสนามกีฬาใหญ่แบบ stadium มีสระว่ายน้ำ โรงละคร ห้องสอนเต้น ห้องสอนบัลเล่ต์ คาเฟ่ในโรงเรียน ฯลฯ สรุปคือเป็นโรงเรียนคนรวยที่เราบังเอิญได้มาเรียนฟรี และความรวยที่สังเกตได้คือทุกคนสามารถทำสิ่งที่ชอบได้ และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนก็พร้อมส่งเสริมเต็มที่


Formal Dinner @ Prep School


Photo Credit:  Westtown School
 
          ส่วนประเด็นเรื่องการเหยียด (Racism) เองก็ถูกนำมาพูดถึงในห้อง  Meeting of Worship ทุกวันพุธและเสาร์ มันค่อนข้างดราม่าเลยแหละ เพราะคนขาวบางกลุ่มไม่ได้รู้สึกถึงการเหยียดชนชาติในโรงเรียน   ในขณะที่คนผิวสีเค้ารู้สึกชัดเจน  แต่ยังไงก็ตาม จี๊ปมองว่าการหยิบเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้มาพูดต่อหน้าทุกฝ่ายได้ มันเป็นอะไรที่ดีมากๆ เลย เพราะทำให้ทุกคนได้ฟังความคิดเห็นจากคนอื่นในหลายแง่มุม ได้รับรู้ปัญหาและช่วยกันหาทางออกต่อไป


Photo Credit:  Westtown School


Photo Credit:  Westtown School
 

Winter Break

เทรนเข้มๆ เตรียมสอบมหาลัย


          หลังจบเทอมแรกของ Prep School นักเรียนทุนทั้งหมดได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง (ตอนนั้นเพื่อนๆ วิ่งเข้ามากอดกันเลยยย TT) ทาง สนร รู้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กจะต้องไปฟาดฟันเพื่อสมัครเข้ามหาลัย เลยจัดทีมแนะแนวขึ้นมา  สแกนให้ทั้ง Essay, TOEFL, SAT และมีรวมสถิติมาให้ดูว่านักเรียนทุนสมัครที่ไหน เอาคะแนนมาดูความเป็นไปได้และช่วยคำนวณโอกาสสอบติดมาให้ ซึ่งโดยตัวทุน พสวท. เองจะบังคับให้เราสมัครไปราวๆ 10 มหาลัย เค้าจะให้แบ่งเลยว่าต้องมี 3 ที่ที่ติดชัวร์, อีก 4 ที่เอาแบบกลางๆ และอีก 3 ที่คือที่ที่อยากเรียนแต่จะอุดมคติหน่อยๆ (ต้องมีโอกาสบ้างแหละเผื่อฟลุ๊ก)
 
          เล่าก่อนว่ามหาลัยอเมริกาในระดับ Undergrad (ป.ตรี) จะมี 2 แบบคือ
 
  • Public School เรียนแบบคลาสนึงคนเยอะๆ เน้นเลกเชอร์ มี  discuss พอหอมปากหอมคอ และส่วนมากจะเน้นทำรีเสิร์ช และด้วยความที่เป็นมหาลัยใหญ่ เลยมีทรัพยากรในการเข้าถึงงานวิจัยเก่าๆ ได้ค่อนข้างมากเลยค่ะ 
  • Liberal Arts College (LAC) การเรียนการสอนจะเหมือน Prep School ที่จี๊ปเรียนก่อนหน้านี้เลย  รับนักเรียนปีละราวๆ 500 คน เรียนเป็นคลาสเล็กๆ แค่ 10 กว่าคน เน้นพูดคุยและทำงานร่วมกับเพื่อน สงสัยตรงไหนถาม professor ได้ตลอด  *จี๊ปเลือกเข้ามหาลัยประเภทนี้เพราะติดใจระบบการเรียนการสอน
     




 

ชีวิตเรียนมหา'ลัยสุดท้าท้าย
ใน Liberal Arts College

 

        มหาลัยที่จี๊ปเรียนชื่อ Carleton College ปกติช่วงคะแนน SAT ของคนที่สอบติดปีก่อนจะอยู่ที่ 1,400-1,600 แต่จี๊ปได้ 1,360 อยู่เปอร์เซนไทล์ที่ 25 เกือบไม่ติดแล้ว!! คิดว่าน่าจะติดเพราะเค้าอยากได้เด็กไทยไปเพิ่มความหลากหลายในมหาลัยด้วยแหละ  เพราะที่นี่มีคนไทยแค่ 10 จาก 2,000 คนเอง ถ้าเกิดไม่ได้ทุนก็จะต้องจ่ายค่าเทอม 7 หมื่นดอลลาร์นิดๆ ตีเป็นเงินไทยคือราวๆ 2 ล้านบาท แถมขึ้นทุกปีด้วย



Photo Credit:  Carleton College [FB]


Photo Credit:  Carleton College [FB]
 

Photo Credit:  Carleton College [FB]


Photo Credit:  Carleton College [FB]
 
          หลังจากสอบติดเค้าจะส่งจดหมายมาเชิญไปงานที่คล้ายๆ Open House ให้เราไปทำความรู้จักกับวิชาเรียนด้วย ซึ่งสิ่งที่จี๊ปชอบในระบบการเรียนการสอนของ Liberal Arts College ก็คือเค้าเปิดโอกาสให้นักเรียนออกแบบการเรียนของตัวเองได้อิสระ ทำให้จี๊ปตัดสินใจเรียน Double Major เป็น Geology กับ Studio Art  หลังจบจะได้วุฒิ The Bachelor of Arts (B.A.)  ได้ใบปริญญา 1 ใบแต่ระบุ Specialization ของ 2 สาขาวิชาค่ะ
 
          ที่นี่ทุกคนจะได้เลือกเมเจอร์ของตัวเองก่อนเทอมสุดท้ายของปี 2 และมีเวลา 2 ปีในการค้นหาตัวเอง ความพิเศษของมหาลัยประเภทนี้คือเค้าเน้นให้เด็กเรียนครบทุกแง่มุมของชีวิต พูดง่ายๆ ว่าเด็กวิทย์ก็ต้องลงวิชาเอาหน่วยกิตศิลป์ ส่วนเด็กศิลป์ก็ต้องมีหน่วยกิตวิทย์ด้วย แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเค้าก็มีตัวเลือกแบบพวกวิชา Introduction ให้คนที่ไม่ถนัดลงเรียนได้  

ด้านล่างนี้คือหมวด/จำนวนหน่วยกิตที่ต้องลงให้ครบ
 
  • humanistic inquiry credits / 6 หน่วยกิต
  • literary/artistic analysis credits / 6 หน่วยกิต
  • arts practice credits / 6 หน่วยกิต
  • science credits (with lab component) / 6 หน่วยกิต
  • formal or statistical reasoning credits / 6 หน่วยกิต
  • social inquiry credits / 6 หน่วยกิต
     
        และนอกจากลงหน่วยกิตครบตาม Graduation Requirement แล้ว ก็ต้องลงคลาสเรียนให้ครบตาม Major Requirement ด้วยค่ะ อ่านหลักสูตรเพิ่มเติม
 

Freshmen Year สดใสซาบซ่า
 
                 ชีวิตแต่ละวันก็คือเรียนไม่เยอะ มีแค่ 3 คลาส แต่คลาสละ 6 หน่วยกิตนะคะ  ในสัปดาห์นึงจะเรียนวิชาละ  3 ชม. แล้วถ้าเป็น Science Class ก็จะมีแล็บด้วยอีก 4 ชม. ตอนโควิดที่ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ ก็นั่งจ้องคอมพ์ 4 ชั่วโมง ตาแตกนิดนึง 5555 ส่วนเรื่องเนื้อหา ตอน Prep School คิดว่าหนักแล้ว แต่มาที่นี่เราดิสคัสในเชิงวิชาการที่มันลึกกว่าไปอีก ยากทั้งคำศัพท์และคอนเซปต์ การบ้านก็เอาเรื่อง เพื่อนแต่ละคนก็เก่งๆ ทั้งนั้น เราก็จะกดดันตัวเองไม่ให้คะแนน drop ไปกว่าเพื่อน เพราะในคลาสตัด A ที่ 93 / A- ที่ 90 / B+ ที่ 87 คะแนน . . . ลดลงทีละ 3 เรื่อยๆ 
 
                สิ่งที่แน่นอนมากคือเราได้ดิสคัสทุกคลาสแม้กระทั่งทำแล็บวิชาวิทย์ ทุกคนยังต้องมานั่งคุยกันว่าทำไมผลถึงออกมาแบบนี้ เค้าเลือกที่จะไม่ยัดความรู้มาใส่หัวเด็ก แต่จะตั้งคำถามให้คิดตลอดเวลา เค้ามองว่าวิธีนี้เนี้ยแหละช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ลึกซึ้ง ถ้าเกิดเรียนแบบตัวใครตัวมัน ก็เหมือนจำกัดความรู้อยู่แค่ในโลกของตัวเอง   *ซึ่งวิธีเรียนแบบนี้ทำให้มหาลัยระดับ ป.โท พิจารณาเด็กที่เรียน Liberal Arts College  เป็นพิเศษ
 
                 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นวิชา  American Environment History เป็นคลาสที่เกี่ยวกับว่าสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบอะไรต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์  แล้วในขณะเดียวกัน มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันของมนุษย์และธรรมชาตินั่นเองค่ะ วิชานี้เรียนสัปดาห์ละ 2 วัน วันละเกือบ 2 ชม. ครูจะมอบหมายก่อนเรียนให้ไปอ่านวันละ 70-90 หน้าแล้วมาดิสคัสกันในห้อง  (สัดส่วน 15% ของคะแนนวิชานั้นคือการมีส่วนร่วม) ส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่ง และยกมือกันเก่งมากกก 5555 


 
       ที่สำคัญคือครูมีจิตวิทยาในการสอนพอสมควร และคำนึงถึงเด็กมากๆ เค้าจะวางแผนเป็น timeline เป๊ะๆ เลยค่ะว่านาทีเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ทำอะไรบ้าง การบ้านคืออะไร ถ้าไม่ทันจะตัดการบ้านให้เหลือแค่ส่วนที่เค้าสอนทัน แล้วถ้าเกิดว่าเด็กไม่ได้ความรู้ถึงจุดที่น่าพึงพอใจ (เช่น คะแนนต่ำทั้งห้อง) สิ่งที่เค้าทำไม่ใช่การโทษเด็ก แต่จะมาเช็กตัวเองว่าวิธีสอนไม่ดีพอตรงไหนบ้าง แล้วพยายามปรับแก้ ก่อนจบเทอมแต่ละคลาส professor นักเรียนจะต้องกรอกแบบฟอร์มประเมิน คอมเมนต์และเสนอวิธีแก้ได้อย่างอิสระ ซึ่งไม่ว่าอาจารย์คนนั้นจะสอนดีหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนคือเค้ารับฟังเด็กหมด เปิดกว้าง ใจดี และยิ้มแย้มเหมือนกันหมด สำหรับจี๊ปเองไม่เคยเจอคนที่ทำให้เรารู้สึกไม่อยากเรียนเลย
 
         ตั้งแต่อยู่มาก็น้อยใจนิดๆ ว่าทำไมภาษาไทยไม่เป็นภาษา international บ้างน้า ทำไมต้องนั่งใช้ภาษาคนอื่น ต้องนั่งเปิดดิกชันนารีแล้วแปล ในขณะที่เพื่อนๆ ที่นี่อ่านปุ๊บเข้าใจตั้งแต่รอบแรกเพราะเป็นภาษาตัวเอง  แต่สิ่งที่ทำให้มูฟออนจากความคิดนั้นได้คืออาจารย์ใจดีและเข้าใจว่าเด็กทุกคนไม่เท่ากัน เค้าจะช่วยเหลือตลอด และมี Office Hour ให้เข้าไปถามการบ้านหรือเนื้อหาที่เรียนได้ นั่นทำให้เค้าเข้าใจเรามากขึ้นด้วย อย่างเวลาเขียน essay ไปแล้วได้ B พอเราไปคุยแล้วได้อธิบายสิ่งที่ตั้งใจจะสื่อจริงๆ ให้ชัดเจนขึ้น เรากลับได้คะแนนเพิ่มขึ้นมา


รีวิวสาขาธรณีวิทยา
ช่วงโควิดส่งตัวอย่างหินให้ถึงบ้าน!

 

          เรื่องธรณีวิทยา (Geology) ใหม่สำหรับเรามาก จี๊ปเคยเรียนแค่ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ดาราศาสตร์ มีธรณีแว้บบบผ่านมานิดเดียว  แต่จี๊ปตัดสินใจเลือกสอบเมเจอร์นี้เพราะมันรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน พอเรียนจริงแล้ว โห ชอบมาก มันเป็นคลาสที่เปิดโลก ทุกอย่างใหม่และน่าสนใจไปหมด เช่น  เคยเรียนคลาสชื่อ Techtonic and Lab สอนว่าเปลือกทวีปโลกเคลื่อนที่ยังไง? ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? ได้หัดใช้โปรแกรมต่างๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน
 
          สิ่งที่ประทับใจมากคือเค้าขยันพาเด็กไปดูสถานที่จริงมากๆ เช่นคลาสแรกที่เรียนคือ  Introduction to Geology เริ่มจากเลกเชอร์ก่อนนิดๆ แล้วไปออกฟิลด์ ดูชั้นหิน ลองสัมผัสพื้นผิว (texture) ของหิน พาไปหลายที่ด้วย แล้วสเก็ตช์ภาพวิวัฒนาการเอง เราไม่เคยเจอวิธีเรียนแบบนี้ หรืออย่างคลาส  Chinese Paiting เรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรูปวาดของจีน เค้าก็พาไปพิพิธภัณฑ์ดูรูปวาดของจีนจริงๆ อาจารย์จะปล่อยเด็กไว้ชั่วโมงนึงให้ยืนจ้องของจริงแบบละเอียดๆ แล้วเขียน essay เกี่ยวกับรูปนั้น

          ขนาดเจอช่วงโควิด ทางโรงเรียนยังส่งหิน 20 ก้อนให้นักเรียนถึงบ้าน ออกค่าใช้จ่ายทั้งไป-กลับให้หมด พอถึงเวลาเรียนทุกคนก็ถือหินนั้นมาดูพร้อมๆ กัน นอกนั้นก็เรียนตัวต่อตัวกับทำแล็บผ่านออนไลน์ทั้งหมดเหมือนเดิม




ภาพจากกล้อง  Petrographic Microscope

 

รีวิวสาขา Studio Arts
เติมเต็มแพสชัน

 

          ระหว่างที่นั่งเรียน Geology ก็รู้สึกคิดถึงศิลปะจัง จี๊ปเคยชอบด้านนี้มากๆ แต่ตอน ม.ปลายต้องยอมสละแพสชันนั้นลงไปเรียนสายวิทย์ แต่พอได้ลองลงเรียนเล่นๆ วิชา Observational   Drawing (วาดภาพเหมือน) รู้สึกตัวเองทำได้ดีและแพสชันนั้นยังอยู่
 
          จากนั้นก็คิดว่า เออไหนๆ ก็ได้มาเรียนถึงที่นี่ทั้งที แถมมีทุนซัพพอร์ตด้วย งั้นเอาให้คุ้ม Double Major ก็เป็นทางเลือกที่เหนื่อยแต่มีความสุข  พอตัดสินใจแล้วก็ทำเรื่องแจ้งทางโครงการทุน  เขียนเล่าไปว่าการเรียน Art ทำให้มีความสุข และมันเป็นประโยชน์ต่อการเรียน Geology ด้วย เพราะเราอยากทำงานที่ได้ใช้ความรู้ทั้ง 2 สายเข้าด้วยกัน เช่น  ใช้โปรแกรม GIS หรือถ่ายทอดลักษณะทางธรณีออกมาเป็น Visual Art รูปแบบต่างๆ ทำแผนที่แบบ 3D ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานกำลังพยายามพัฒนาอยู่ (*ก่อนอนุมัติต้องยืนยันด้วยนะว่าเราจะจบทันภายใน 4 ปีจริงๆ)


 
          กลายเป็นว่าจากเดิมที่จี๊ปเรียนเมเจอร์เดียวแล้วจบได้ใน 3 ปี ก็เพิ่มมาเป็น 4 ปีแทน เพราะจำนวนคอร์สเพิ่มขึ้น และทำโปรเจกต์ 2 เมเจอร์ สิ่งที่บังคับคือเรียนคลาส 2D = 2 คลาส / 3D = 2 คลาส / Art History 3 คลาส / คลาสอื่นๆ ที่สนใจอีก 3 คลาส รวมเป็น 10 คลาส + ทำไฟนอลโปรเจกต์ (Comps) ตอนปี 4 ก่อนจบ ส่วนตอนนี้จี๊ปเก็บหน่วยกิต Geology ใกล้ครบแล้วค่ะ ส่วน Art เดินทางมาครึ่งนึงแล้ว
 
          พอมาเรียนจริงแล้วมันดีมากๆ วิธีสอนเค้าน่าสนใจ หลักๆ เค้าจะสอน Art ใน Studio  สอนวาดสอนเทคนิคต่างๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป คอยดูว่าเด็กตามทันมั้ย อย่างเช่นวิชา 3D Design เค้าให้อุปกรณ์ต่างๆ นานา ทั้งลวด ไม้ กระดาษ ฯลฯ ให้เราครีเอตผลงานแล้วสอนว่าจะทำยังไงให้ออกมาสวยงามขึ้น ก่อร่างสร้างตัวมาแบบฟรีสไตล์ มันสนุกมาก เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเรียนมาก่อน(อีกแล้ว)




 
          ปล. ช่วงโควิดเป็นปัญหาเหมือนกันนะ เพราะเรียนออนไลน์สำหรับสายอาร์ตมันลำบาก แต่ที่เศร้าสุดคือจริงๆ เทอม Winter จะต้องได้ไป  Off-Campus Studies ของ Studio Art ที่ออสเตรเลียด้วย ที่นั่นจะมีทั้งชายหาด ภูเขาไฟ ฯลฯ เป็นสวรรค์ของ Art + Geology แต่โควิดก็ทำให้ทุกอย่างถูก cancel หมดค่ะ!
 
          สรุปคือชีวิตจี๊ปต้องปรับตัวตลอดเวลา ถึงรอดจาก Prep School ก็ได้มาเจอสิ่งที่ใหม่และท้าทายขึ้นไปอีกทั้งภาษาและเนื้อหา เราต้องสนใจกับสิ่งที่เค้าสอนซึ่งใหม่สำหรับเราทุกอย่าง (ตอน Prep เหมือนได้ทบทวนเฉยๆ) การบ้านก็ยาก ต้องเขียน Lab Report ที่ละเอียดและจริงจังขึ้น ได้ทำโปรเจกต์ที่ต้องใช้โปรแกรมต่างๆ ที่เราไม่เคยใช้มาก่อนทั้งที่ไทยและ high school แต่อย่างไรก็ตาม ทางมหาลัยจะซัพพอร์ตเราเต็มที่มากเช่นกันค่ะ มี Writing Assistant ซึ่งเป็นคนที่ช่วยแก้การเขียนของเราให้ดีขึ้น มี Teaching Assistant ให้เราถามได้ถ้าเรียนในคลาสไม่เข้าใจ  เรียกว่ามหาลัยมีทุกอย่างให้พร้อมจริงๆ เหลือแค่เราต้องขอความช่วยเหลือจากเค้า



 

ปรากฏการณ์หนาวจน SAD

พายุความหดหู่ที่เลี่ยงไม่ได้
 

          Carleton  College ตั้งอยู่ที่รัฐมินเนโซตา (Minnesota) มีหิมะตก ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนั้น เพียงแต่ช่วงบนๆ ของอเมริกาจะได้รับผลกระทบจาก Polar Vortex ที่ทำให้หนาวแบบ -30 องศา และมันเกิดขึ้นเกือบทุก Winter บางวันหนาวกว่า Alaska อีก ชีวิตนี้จี๊ปก็บ่เคยเลยค่าา มันถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่ใส่ถุงมือ ไม่ใส่หมวก ก็มีโอกาสโดนหิมะกัดเป็นแผลได้ จากที่เคยใส่ Winter Coat แล้วอุ่น ปลอดภัย ก็ต้องเพิ่มไปอีกหลายชั้นทั้งข้างในและข้างนอก รอบตัวก็หมอกๆ เล่นเอาแยกไม่ออกเลยว่าคนรอบตัวคือใครบ้าง 
 
          แล้วอากาศแบบเนี้ยแหละทำให้เกิดโรคที่ชื่อว่า ‘SAD’  (อ่านเพิ่มเติมที่  https://www.dek-d.com/studyabroad/56156/) ปกติเทอม Spring จะมีหญ้าสีเขียวสดใสให้เห็น แต่ Winter คนเป็นโรคนี้กันเยอะ รวมทั้งจี๊ปด้วย เรียนก็เหนื่อย อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ มองไปไหนก็หดหู่ จิตตก ไม่มีอะไรสดใสเลยจริงๆ  TT
 
         มหาลัยก็น่ารักมาก เค้ารู้ข้อเสียของโซนนี้ดี เลยแก้ปัญหาโดยการให้เช่า Happy Lamp ยืมใช้สัปดาห์นึง และพยายามจัดกิจกรรมช่วงเทอม Winter มากขึ้น เช่น งาน Prom ให้คนแต่งตัวสวยๆ ไปเต้นกันในห้องบอลรูม (สิ่งนึงที่น่าแปลกใจคือการจัดการถนนของเค้าดีมากๆ ตอนดึกเราเห็นแล้วแหละว่าถนนเต็มไปด้วยหิมะ แต่พอเช้ามามันหายไปไวมากๆ)
 



Carleton สอนให้ฉันทนหนาว

 

Minnesota เหมาะกับใคร?
 

          ถ้าใครติดการใช้ชีวิตในเมือง อาจเหมาะกับมหาลัยใหญ่ๆ เพราะจะเป็นโซนที่มีร้านอาหารร้านช็อปปิงเยอะๆ มาตั้งกันคึกคัก แต่ที่นี่แทบไม่มีอะไรล่อตาล่อใจเลย เหมาะกับคนที่มาเพื่อเรียนจริงๆ และถ้าใครชอบธรรมชาติกับความสงบเงียบก็จะถูกใจเป็นพิเศษ (ซึ่งเราก็ค้นพบว่า เราไม่ใช่ประเภทนี้ 555)
 
          แต่ที่นักท่องเที่ยวชอบมาดูคือแสงเขียว (Aurora) ที่ชายฝั่งทะเลสาบ Minnesota แล้วยังมีห้างใหญ่ที่สุดในอเมริกาชื่อว่า Mall of America  มันดูขัดๆ ใช่มั้ยคะ ห้างใหญ่ที่สุดในประเทศตั้งอยู่ในรัฐที่ไม่ค่อยมีอะไรเลย  55555 แต่มันเริ่ดมากๆ เลยนะ มีสวนสนุกในนั้นด้วย


Photo Credit:  https://www.mallofamerica.com/

 
          ช่วงที่รีแลกซ์สุดของชีวิตการเรียนในอเมริกา คือการได้มาเจอเพื่อนคนไทยทุกสัปดาห์ค่ะ  อาจจะสักเย็นวันศุกร์วันเสาร์ตอนกลางคืนที่บ้านใครสักคน คุยภาษาไทย นัดกันทำอาหารไทย เวลาใครกลับไทยทีก็จะหอบผงคนอร์ รสดี ผงมัสมั่น มาม่า ขวดน้ำจิ้มสุกี้ ผัดหมี่โคราช ฯลฯ บางทีมีดีลกันด้วยว่าเธอเอาอันนั้นมานะ เดี๋ยวชั้นเอาอันนี้แล้วมาแชร์กัน เพราะราคาข้าวของใน Asian Market แพงกว่าหลายเท่า
 
          Note: เนื่องจากมหาลัยมีที่พักและอาหารให้อยู่แล้ว ทางทุนเลยลดค่าขนมจาก 100% (1,500 ดอลลาร์ / ประมาณ 47,000 บาทไทย) เหลือ 20% (300 ดอลลาร์ / ประมาณ  9,400 บาทไทย) ซึ่งมันก็เพียงพอแล้ว เพราะเราไม่มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นอีก โดยทุนที่เค้าให้มาจะขึ้นอยู่กับรัฐที่อยู่ด้วยค่ะ อย่างมินเนโซตาได้เดือนนึงเรต 1,580 ดอลลาร์ แต่ถ้า Newyork หรือ California ก็จะพุ่งไปสัก 1,900 ดอลลาร์/เดือน  หรือราวๆ 60,000 บาทไทย



 

ตีแผ่ด้านมืดในอเมริกา
กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด


          ตามหัวเมืองใหญ่ๆ จะมีคนไร้บ้าน (Homeless) เยอะมาก ส่วนน้อยที่ทำอันตราย แต่จี๊ปเคยเจอแบบเข้าถึงตัวเลย  ตอนนั้นอยู่ร้าน Starbuck ที่ Minneapolis เมืองหลวงของ Minnesota เค้าพุ่งเข้ามาขอเงินแบบไวมากเหมือนวาร์ปมา ทำให้เราตกใจ แล้วเค้าก็ต่อว่าด้วยที่เราตกใจ เหมือนว่ามีทีท่ารังเกียจเค้า
 
          อีกเหตุการณ์นึง ตอนกลับจาก Winter Program ปกติคนจะนั่งเครื่องบินกลับโรงเรียนกัน แต่จี๊ปอยากประหยัดโดยการนั่งบัสแทน เราไม่ทันเช็กรอบกับที่ยืนรอให้ดีพอ เน้นเลือกอันถูกสุด ปรากฏว่ามันไปออกสักเมืองนึงที่ NewYork แล้วไปต่อสถานีที่ NewYork Timesquare ตามที่ตารางเวลาบอกไว้คือถึงที่หมายเที่ยงคืน แล้วจะมีรถอีกคันมาต่อตอนตี 2 ผลคือกว่ามันจะมาก็ปาไป 6 โมงเช้า

           เราต้องรออออคนเดียวที่สถานี ตอนดึกน่ากลัวมากๆ มันไม่ใช่แค่วังเวง แต่มี homeless เต็มไปหมด พยายามเอาตัวเองไปอยู่ที่คนเยอะๆ นั่งใน McDonald ที่หน้าร้านก็มี homeless คุยกับตัวเองกับสูบกัญชาอยู่ คือแบบ T- T นี่เป็นบทเรียนครั้งใหญ่ว่า ถ้าเงินซื้อความสบายใจได้ก็เอาเถอะ แลกกับสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แทนที่จะต้องไปรอรถที่สเตชันทั้งคืน เราอาจจะได้ไปรอที่สนามบิน อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่าเยอะ
 
           ส่วนชีวิตช่วงโควิด คนอเมริกันบางส่วนเค้าก็ให้ความสนใจมากๆ แต่บางส่วนก็ชิลล์เกิ๊น  ถ้าเข้าห้างบังคับว่าต้องใส่ mask แต่ถ้าไปเที่ยวทะเลเค้าก็ไม่ค่อยใสก่กัน เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูง มันมีคนบางกลุ่มด้วยที่คิดว่า ‘โควิดไม่มีจริง’ จนล่าสุดมีการประท้วงถอด mask ในห้าง ‘Take it off, COVID is not real’ 

 

ช่วงที่ว่างมากๆ
เลยทำช่องยูทูบขึ้นมา

 

          สุดท้ายนี้ก็อยากพูดถึงความตั้งใจเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเราที่อยากแชร์การใช้ชีวิตในต่างแดน อาจจะพาดูร้านอาหาร หรือระบบการเรียนการสอนของอเมริกา อย่างล่าสุดก็ทำคลิปทัวร์  University of California San Diego (UCSD) ตัดต่อและคิดคอนเทนต์กันเองทุกขั้นตอน ใครสนใจเข้าไปติดตาม  Subscribe ช่อง 1&Jeep Official กันได้นะคะ ^^
 



 
 

 

(ชวนอ่านต่อ)

รู้จัก Liberal Arts College
วิทยาลัยสำหรับคนชอบเรียนหลายศาสตร์
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น