คุยกับเด็กโทกฎหมาย 2 ใบที่ 'อังกฤษ' และ 'สกอตแลนด์' เปิดโลกทั้งระบบเรียนและคุณภาพชีวิต


 
             สวัสดีค่ะชาว Dek-D  ถ้าพูดถึงเรื่องกฎหมาย ประเทศไทยเองก็ได้หยิบต้นแบบมาจากระบบกฎหมายจากเมืองนอกมาปรับใช้  บางคนจึงอยากเข้าไปศึกษาแบบลงลึกเพื่อกลับมาเสริมความรู้ในการทำงาน  และเป็นประโยชน์หากต้องดีลงานกับคนต่างชาติด้วย  ดังนั้น  หากใครวางแผนว่าหลังจบ ป.ตรีนิติศาสตร์ที่ไทยแล้วไปเรียนต่อปริญญาโทหลักสูตร LL.M.  (Master of Laws) วันนี้เรามีประสบการณ์มุมนึงของ 'ปิ่น' มณฑารัตน์ เพ็งสมบัติ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์จากไทยที่ไปต่อโทด้านกฎหมาย 2  ใบ
 
  • หลักสูตรกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (LL.M. International Commercial Law University of Glasgow 2017/2018)
  • หลักสูตรกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  (LL.M. Intellectual Property Law: Queen Mary University of London 2018/2019) 
     

Photo Credit:  https://www.gla.ac.uk/


Photo Credit: https://london.ac.uk/
 

ช่วงชีวิตสุดชาเลนจ์

ต้องสอบ IELTS 6.5 ในรอบเดียว!


            เล่าก่อนว่าการเรียนกฎหมายไม่ใช่ความตั้งใจแรก จริงๆ อยากเป็นหมอ แต่ไม่ชอบเลขกับเคมี เลยผันตัวมาเรียนนิติศาสตร์เพราะมองว่ามันคือสายสังคมที่ไปได้กับงานหลากหลายสาย สุดท้ายก็สอบติดแบบงงๆ ซึ่งพอเอาเข้าจริง เรียนแล้ว suffer มากกกก คือเราเรียนได้แต่ไม่มีความสุข ต้องอ่านหนักอ่านเยอะจนกว่าจะเข้าใจ มันเลยเป็นช่วงชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ อ่านไปร้องไห้ไป สอบตกเป็นเรื่องปกติสำหรับเรา
 
            พอจบ ป.ตรีมาก็เคว้ง และถึงแม้จะไม่ได้ชอบกฎหมายขนาดนั้น แต่ก็ไม่อยากไปเริ่มต้นใหม่กับสายอื่นแล้ว  ประเด็นคือสอบเนติก็ไม่ผ่าน  แต่ถ้าจะให้ไปทำงานเลยก็รู้สึกตัวเองยังไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน บังเอิญว่ามันมีงานศึกษาต่อสกอตแลนด์ มันเป็นประเทศที่เราเคยเห็นในหนังแล้วอยากไปสัมผัสบรรยากาศจริงๆ สักครั้ง ทำให้ตัดสินใจ walk-in ไปยื่น CV + Transcript + Interview บางที่เราก็คะแนนเฉลี่ยไม่ถึง สุดท้ายได้ที่ University of Glasgow แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอบ IELTS ให้ได้ 6.5
 
            เราไม่เคยลงสนาม IETLS มาก่อนในชีวิต ตอน Pre-test ก็ได้ 5.5 ตอนนั้นเราก็เอาเงินเก็บก้อนสุดท้ายในบัญชีไปสมัครสอบ มันเลยเป็นชาเลนจ์ว่าต้องสอบให้ได้ 6.5 ในครั้งเดียว คุณแม่ก็ยื่นคำขาดด้วย สุดท้ายเราก็พยายามจนทำสำเร็จ ผ่านแบบเป๊ะเลยค่ะ โล่งมาก TT
 

โทใบแรก: กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

@Glasglow U. (Scotland)
 

            โทใบนี้จะออกแนวสอนกฎหมายที่หนักไปทางเศรษฐศาสตร์มากกว่า เหมาะกับนำไปใช้ในงาน Law Firm  ในคลาสจะมีราวๆ 25-30 คน และไม่มีระบบ seniority ทำให้เราเข้าไปทำความรู้จักได้แม้กระทั่งคนที่เปิด Law Firm มาเป็น 50 ปี ค่ะ ส่วนระบบเรียนที่นั่นถือว่าโหดนะ อ่านหนังสือเยอะเพื่อรีเสิร์ชว่าเคยมีเคสอะไรเกิดขึ้นบ้าง ศาลตัดสินแต่ละเคสยังไง แล้วหลังจากนั้นเกิดบรรทัดฐานใหม่อะไรขึ้นมาบ้างค่ะ โดยที่มหาลัยจะส่งเว็บไซต์และไอดีให้เราเข้าถึงได้ทุก search engine ปลดล็อกพวกฐานความรู้ต่างๆ ว่าสามารถอ้างอิงความรู้จากเล่มไหนได้บ้าง เวลาทำรีเสิร์ชก็ต้องอ้างอิงทุกประโยคด้วย
 
             เวลาเรียนเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษเท่าไหร่ แต่มันไม่ง่ายเลย เวลาเรียนเราไม่ใช่จะอ่านแล้วเข้าใจทันที ต้องเปิดดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษไปด้วย โดยเราจะไม่พยายามคิดเป็นภาษาไทย ไม่งั้นระบบการเรียงประโยคในหัวเราจะเสียค่ะ


Univertsity of Glasgow

Photo Credit: คุณปิ่น
 
            และด้วยความที่เราไม่ชอบตัวเลข ก็เลยหนี Finance ไปลงวิชาพวกประเด็นร่วมสมัย (Contemporary  Issue) พอเรียนแล้วรู้สึกเปิดโลกหลายเรื่องเลยค่ะ อย่างในวิชาที่ชื่อ Merger and Acquisition ทำให้รู้ว่าฝั่งยุโรปเค้าจะไม่ให้บริษัทใหญ่ซื้อบริษัทเล็ก อย่างเช่นให้แบรนด์เบียร์เล็กๆ ได้เติบโตไปด้วยกันเพื่อกระจายรายได้และป้องกันการผูกขาด ไม่ใช่เอื้อให้มีเจ้าใหญ่อยู่แค่ 1-2 เจ้าในประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งกับผู้ลงทุนรายย่อยและผู้บริโภค  (ปริญญาใบนี้เราทำโปรเจกต์เรื่อง   The Assessment of Horizontal Mergers in European Union Merger Control on Coordinated Effect Through  the Analysis of the Impala Case: C-413/06 (2008) 
 
            หรือในวิชาประวัติศาสตร์การเงิน ได้เรียนยุคมรสุมของโลกตอนที่ Lehman Brothers ธนาคารยักษ์ของโลกล้มลง แล้วอเมริกาถึงกับล้มตามจนเกิดเป็นวิกฤตโลก ปูตั้งแต่ยุค Hamburger Crisis เป็นต้นมา เค้าสอนเพื่อให้เรารู้และป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำร้อย

วิชาเรียนในคอร์ส
(อ้างอิง: qla.ac.uk.)

วิชาบังคับ
  • Foundations of international law
วิชาเลือก
  • Advanced introduction to the law of the united nations
  • Advanced introduction to international criminal law
  • International commercial arbitration
  • International courts and tribunals
  • International human rights law
  • International investment law
  • International law and international economic governance
  • International law and international security
  • International trade law
  • Law and international development
  • The laws of armed conflict
     
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย 
https://www.gla.ac.uk/ 

หน้าหลักสูตร International Commercial Law
https://www.gla.ac.uk/postgraduate/taught/internationalcommerciallaw/
 

Sunset in Glasgow
Photo Credit: คุณปิ่น

 

โทใบที่สอง: กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
@Queen Mary U. (England)

 

            พอจบแล้วเราก็ยื่นสมัคร ป.โทใบที่ 2 เพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิต พอมาเรียนเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เอาตรงๆ เรารู้สึกมันดูผูกขาดแหละ แต่ข้อดีคือช่วยปกป้องคนที่สร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา มันสนุกตรงที่ดูจับต้องได้ ไม่ได้มาแนวเศรษฐศาสตร์จัดๆ เหมือนใบแรก ซึ่ง Queen Mary University ก็เด่นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) นี่แหละ
 
            ที่อังกฤษจะให้เลือกลงประมาณ 20-30 วิชา ชอบแนวไหนจัดเลย  ถ้าเทียบกันใบแรกจะเน้นการมีส่วนร่วม ส่วนที่นี่เป็นแนวเปิดสไลด์ เลกเชอร์ เขียน essay เยอะๆ โดยมีหัวข้อให้เลือก   อาจารย์จะสอนแบบกระตือรือร้นมากก เปิดกว้าง และเราเข้าถึงได้ง่าย สงสัยตรงไหนยกมือถามได้เลย ไม่โดนด่ากลับ  เวลาสอบเค้าก็จะไม่ถามว่าอะไรถูกผิดหรือต้องมาตอบเอาใจอาจารย์ ขอแค่เรายกเหตุผลที่มีน้ำหนักมาสนับสนุนข้อโต้แย้งได้ เค้าจะฟังอย่างเป็นกลาง ถึงอุดมการณ์สวนทางกับอาจารย์ก็ได้คะแนนมาตรฐานเดียวกัน 


Photo Credit: คุณปิ่น
 

ส่อง Academic Year Plan หลักสูตรนี้:
 
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย 
https://www.qmul.ac.uk/

หน้าหลักสูตร Intellectual Property Law
https://www.qmul.ac.uk/postgraduate/taught/coursefinder/courses/intellectual-property-law-llm/ 

 

โปรเจกต์จบเรื่อง “สิทธิบัตรยา”

พาจบด้วยเกียรตินิยม!
 

            ตอนแรกยังตันๆ เรื่องหัวข้อนะ  แต่คุณพ่อแนะนำเป็นเรื่องสิทธิบัตรยา   ตัดสินใจทำเป็นหัวข้อ The effect of using section44 of 2014 interim constitution of Thailand to clear backlog patent application: challenges of pharmaceutical industry in Thailand ในเล่มจะมีเล่าถึงข้อดีข้อเสียของมาตรา 44 และเปรียบเทียบวิธีการที่บ้านเราจัดการกับปัญหาความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร กับวิธีการที่อเมริการับมือเมื่อเจอปัญหาเดียวกัน 

            อย่างอเมริกาเค้าเข้าไปตรวจสอบเลยว่ามีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง แล้ว กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ออกสิทธิบัตรรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งตอนนั้นก็มีผู้บริโภคฟ้องว่าด้วยค่ะว่าระบบดูยากและซับซ้อนเกินไป  แต่ในที่สุดรัฐก็ชนะเพราะต้องถือผลประโยชน์ของประชาชน 


บรรยากาศแถวตึกเรียน
Photo Credit: คุณปิ่น
 
            ในที่สุดก็เรียนจบและได้รับปริญญาครบ 2 ใบหลังจากเหนื่อยมานาน 5555 ในวันรับปริญญามันคือบรรยากาศแห่งความยิินดีจริงๆ ค่ะ   มหาวิทยาลัยที่ปิ่นเรียนเค้าไม่กำหนดอะไรเลยนอกจากขอเป็นชุดสุภาพ และ scope ของคำว่าชุดสุภาพของเค้าไปไกลมากกกก ทุกคนแทบจะเป็นชุดแฟนซียาวลากพื้น หรือถ้าอยากใส่ชุดประจำชาติตัวเองก็ได้หมดเลย แล้วสวมครุยทับ ขึ้นไปรับปริญญากับอาจารย์แล้วจบ โห่ฮาได้ มีกล้องใหญ่มาถ่ายบัณฑิตเหมือนบ้านเรานี่แหละ

            (ปล.ส่วนปริญญาใบที่สองเจอช่วงโควิดพอดีเลยไม่ได้ไปรับ)


Photo Credit: คุณปิ่น

 

เทียบความต่างของเมืองที่อยู่

(สกอตแลนด์ VS อังกฤษ)
 

            บรรยากาศของเมืองในอังกฤษและสกอตแลนด์ต่างกันมากค่ะ สกอตแลนด์ไม่ใช่เมืองใหญ่ที่มีคนเดินพลุกพล่าน อากาศดี ถนนหนทางดี ในขณะที่ลอนดอนคือมหานครที่ไม่เคยหลับ มีคนหนาแน่น แอบรู้สึกยิ่งอยู่ยิ่งเหงาเหมือนกัน ถึงมีคนไทยอยู่เป็นหมื่น แต่ถ้าเราไม่รู้จักใครมาก่อน ก็อาจจะไม่มีเพื่อนเพิ่มเลย
 
            แล้วที่ชอบคือฝนตกที่อังกฤษต่างจากบ้านเรา ที่นั่นเหมือนเราอยู่ใต้พัดลม มีเม็ดฝนละอองฝน เราเองจะไม่ค่อยพกร่มเพราะมันไม่ได้ตกหนักขนาดนั้น มีเสื้อโค้ทที่กันทั้งฝนและหนาว แดดไม่ค่อยออก คนจะชอบไปสวนสาธารณะที่มีอยู่ทุกที่เลยค่ะ


Millenium Bridge
Photo Credit: คุณปิ่น
 

St.Paul cathedral
Photo Credit: คุณปิ่น


Lincoln park London
Photo Credit: คุณปิ่น
 

สวัสดิการดีๆ ที่ UK

และการลงทุนกับการศึกษา
 

            จากที่อยู่ UK มา 2 ปี รู้สึกได้เลยค่ะว่าเงินที่จ่ายภาษีไป มันได้กลับมาคุ้มค่ามากในรูปแบบของสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะถนนหนทางดี หรือแม้แต่ความใส่ใจและลงทุนกับการศึกษาอย่างเต็มที่ ขอแค่มีบัตรนักเรียนก็ได้ทั้งส่วนลดตอนชอปปิง เข้าร้านกาแฟ ใช้บริการรถไฟใต้ดิน ฯลฯ เทียบเท่ากับนักศึกษาประเทศเค้า 
 
            จากที่เราเคยรู้สึกว่าการออกจากบ้านเป็นอะไรที่สูบพลังชีวิต แต่ที่นั่นเราสามารถวางแผนชีวิต กะเวลาออกจากบ้านได้เป๊ะ มีแอปพลิเคชันให้เช็กรถเมล์กับจำนวนคัน ถ้าวันไหนรถไฟเลทไปจากตารางแค่ 5 นาที เค้าแถลงการณ์ขอโทษตลอดเลย และจ่ายเงินชดเชยให้ ที่สำคัญคือเค้าจะจำกัดให้ทุกคนจ่ายเงิน max สุดแค่ 6 ปอนด์ต่อวัน ถ้าต้องเดินทางที่ใช้เงินเยอะกว่านี้ก็ไม่เก็บเพิ่ม    และถ้าเกิดใครเป็นบุคคลทุพพลภาพ รัฐสนับสนุนเงินให้อยู่ได้สบายแม้ไม่ต้องทำงาน ถนนดี มีคนคอยบริการ อำนวยความสะดวกให้ใช้ชีวิตได้แบบไม่ลำบาก ซึ่งเรามองว่าเค้าใส่ใจคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างเท่าเทียมกันจริงๆ 


Covent Garden London

Photo Credit: คุณปิ่น


Piccadilly st. London
Photo Credit: คุณปิ่น
 
           มีครั้งนึงเราเคยทวิตเรื่องค่าครองชีพว่าในไทยแพงกว่าลอนดอน บางคนก็อ่านแล้วแปลกใจ อันนี้เรามองในมุมเปรียบเทียบความสมดุลระหว่างค่าตอบแทนกับค่าใช้จ่ายนะคะ ยกตัวอย่างเช่นเราทำงานพิเศษได้ชั่วโมงละ 8 ปอนด์ (ไม่รวมทิป) แต่ซื้อหนังสือดีๆ ได้ในราคา 10 ปอนด์ และซื้อกาแฟ starbuck ได้ในราคา 2 ปอนด์
 
            แต่ใช่ว่าเราจะไม่เจอด้านมืดของเค้าเลย โลกไม่ได้สวยงาม 100% ขนาดนั้น เราเคยเจอ Racist (พวกเหยียด) หัวเราะคิกคัก ดึงตาชี้ใส่ เจอฝรั่งเดินมาทัก ‘หนีห่าว’  //ถึงจะทำใจไว้บ้าง แต่พอมันเกิดกับตัวจริงๆ มันเศร้ากว่าที่คิดอีก ส่งผลต่อสภาพจิตใจมากๆ ค่ะ 

 

ความรู้สึกใหม่

หลังจากไปเรียน 2 ปี
 

            สุดท้ายแล้วเราว่ามันก็คุ้ม ไม่มีอะไรมาแลกกับประสบการณ์ 2 ปีนั้นได้แล้ว มันสนุก ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ และยังพูดอยู่เลยว่า ‘ถ้าเลือกได้ก็ยังอยากกลับไปอีก’ และเรารู้สึกได้อะไรจากการเรียนกฎหมายด้วย มันคือเรื่องสังคมศาสตร์ที่อยู่ใกล้ตัวเรามาตลอด และเปลี่ยนจากเราที่เคย suffer กับกฎหมาย ให้แฮปปี้กับสิ่งที่สอนในคลาสได้ และมีเป้าหมายว่าอยากกลับมาต่อสู้กับระบบเพื่อให้มันดีขึ้นเท่าที่เราจะทำได้


Lincoln park London
Photo Credit: คุณปิ่น


Hyde Park London

Photo Credit: คุณปิ่น


Hyde Park London

Photo Credit: คุณปิ่น


[ ชวนอ่านต่อ ]


10 คำถามกับเด็ก ‘Harvard Law School'
รีวิวกว่าจะสอบติด, วิธีเรียน, สภาพแวดล้อม ฯลฯ

 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น