อ่านเถอะ! 5 สกิล "ช่วยชีวิตผู้อื่น (เบื้องต้น)" ที่ทุกคนควรรู้ไว้

Spoil

  • การ CPR ต้องทำภายใน 4 นาทีหลังผู้ป่วยเริ่มหยุดหายใจ เพราะสมองเราขาดออกซิเจนได้แค่ 4 นาทีเท่านั้น
  • ไม่ต้องกลัวเครื่อง AED เพราะเปิดแล้วจะมีคู่มือและเสียงบอกวิธีใช้งาน ใครก็ใช้ได้
  • ว่ายน้ำเป็นไม่ได้หมายความว่าเราจะช่วยคนจมน้ำได้ เพราะอันตรายมากๆ ควรตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนที่เชี่ยวชาญก่อน

ใครได้ติดตามข่าวเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับนักฟุตบอลที่หมดสติระหว่างการแข่งขันบ้างคะ? ถือว่าเป็นความโชคดีมากที่เขาได้รับการช่วยชีวิตเบื้องต้นอย่างถูกวิธี และนำตัวส่งแพทย์ได้ทันเวลา ทำให้ตอนนี้ปลอดภัยและพ้นขีดอันตรายมาได้ (อ่านข่าวได้ที่นี่) แต่ลองจินตนาการสิว่า หากในชีวิตจริงของน้องๆ ไปพบเจอเพื่อนหมดสติ หรือเจอเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นตรงหน้า เราจะสามารถจัดการอะไรได้บ้าง? พี่กวางเชื่อว่าหลายคนต้องตอบว่าคงตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะช่วยยังไงให้ปลอดภัยดี วันนี้พี่กวางจึงมี Lifesaving Skill เล็กๆ น้อยๆ ที่ทุกคนควรเรียนรู้เอาไว้ มาบอกต่อกันค่ะ

ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

CPR

CPR ย่อมาจาก Cardiopulmonary Resuscitation หรือ การปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น แต่อย่าลืมว่าก่อนเข้าไปช่วยต้องสังเกตให้ดีว่าบริเวณนั้นไม่มีไฟช็อต หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเกิดกับเราได้ จากนั้นพยายามปลุกผู้ป่วยด้วยเสียงดังๆ หรือเขย่าไหล่ทั้งสองข้าง หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้รีบจัดท่านอนตะแคงเพื่อเปิดทางเดินหายใจ แต่ถ้ายังไม่หายใจให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 แล้วเริ่มทำ CPR ทันที

วิธีการ CPR

  1. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นผิวที่แข็งและปลอดภัย
  2. เปิดเสื้อผู้ป่วยถึงหน้าอก วางสันมือลงบนกึ่งกลางกระดูกหน้าอกครึ่งล่าง แล้ววางมืออีกข้างประสานลงไป
  3. โน้มตัวเข้าไปให้แขนตรงตั้งฉาก แรงกดจะอยู่ที่กลางหน้าอกผู้ป่วย แล้วเริ่มกดให้ลึกอย่างน้อย 5 ซม. ด้วยความเร็ว 100-120 ครั้ง/ชม. (คิดง่ายๆ ว่า ภายใน 1 วินาที เราควรกดให้ได้ 2 ครั้ง) ทำเป็นเซ็ต เซ็ตละ 30 ครั้งต่อเนื่อง ถ้าทำครบ 5 เซ็ตแล้วเปลี่ยนตัวให้คนอื่นมาทำแทนค่ะ เพราะเราจะเหนื่อย และประสิทธิภาพในการกดลดลง

ที่สำคัญคือ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอื่นๆ จากหน่วยกู้ภัยอย่างเคร่งครัด และการ CPR นี้ต้องเริ่มทำภายใน 4 นาทีหลังจากผู้ป่วยเริ่มหยุดหายใจ แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ให้ฟังคำแนะนำจากหน่วยกู้ภัย 1669 ก่อนค่ะ          

ขอบคุณคลิปวิดีโอสาธิตจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

การใช้เครื่อง AED

เครื่อง AED หรือ Automated External Defibrillator เป็นเครื่องที่สามารถกระตุกหัวใจให้กลับมาทำงานปกติได้ ใช้สำหรับผู้ป่วยหมดสติ ชีพจรไม่ทำงาน หากบริเวณที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED อยู่ใกล้ๆ ให้รีบโทรหา 1669 แล้วเปิดเครื่อง AED ใช้งานทันที

วิธีใช้เครื่อง AED

  1. เปิดเครื่อง แล้วเปิดเสื้อผู้ป่วยถึงหน้าอก ตรวจสอบว่าเปียกน้ำหรือเหงื่อหรือไม่ ถ้าเปียกให้เช็ดออก
  2. ติดแผ่นนำไฟฟ้า 2 แผ่น แผ่นหนึ่งติดใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา แผ่นหนึ่งติดที่ชายโครงด้านซ้าย แล้วงดสัมผัสผู้ป่วย
  3. ฟังเครื่อง AED ประมวลผล ถ้าเครื่อง AED ประมวลว่าไม่จำเป็นต้องช็อกไฟฟ้า ให้รีบทำการ CPR แทน โดยที่ยังเปิดเครื่อง AED ทิ้งเอาไว้
  4. หากเครื่อง AED สั่งให้ช็อกไฟฟ้าหัวใจ ให้รีบตะโกนเสียงดังๆ บอกทุกคนว่า “ถอยห่าง ห้ามสัมผัสผู้ป่วย” รวมถึงตัวเราเองก็ห้ามสัมผัส เพื่อไม่ให้ถูกกระแสไฟฟ้าไปด้วย จากนั้นกดปุ่มช็อกตามเครื่องสั่ง
  5. เมื่อเครื่องบอกให้สัมผัสผู้ป่วยได้ เริ่มทำ CPR ต่อทันที

สำหรับใครที่กังวลกับการใช้เครื่อง AED เป็นครั้งแรก ไม่ต้องลังเลนะคะ หยิบเครื่องออกมา เมื่อเปิดใช้งานแล้วจะมีคู่มือและเสียงบอกขั้นตอนในการใช้งาน มือใหม่ก็สามารถใช้งานได้ค่ะ

ขอบคุณคลิปวิดีโอสาธิตจากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

การช่วยผู้ป่วยสำลักอาหาร

ประเทศไทยเมืองอาหารอร่อย 24 ชั่วโมง ปัญหาการสำลักอาหารจึงพบเห็นได้บ่อยๆ และในหลายกรณีเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะอาหารไปอุดกั้นทางเดินหายใจไว้ เมื่อน้องๆ พบเจอผู้ป่วยสำลักอาหาร ให้รีบเช้าไปตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังสามารถไอหรือพูดได้หรือไม่ ถ้าพบว่าไม่สามารถไอหรือพูดได้ ให้รีบช่วยเหลือค่ะ

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยสำลักอาหาร

  1. โอบผู้ป่วยจากด้านหลัง กำมือข้างหนึ่งวางเหนือสะดือผู้ป่วยเล็กน้อย จากนั้นใช้มืออีกข้างประกบลงไป
  2. สองมือช่วยกันกระทุ้งตัวผู้ป่วยเป็นแนวเฉียงขึ้น ทำต่อเนื่อง 5 ครั้ง
  3. สังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกจากลำคอผู้ป่วยหรือยัง ถ้ายังให้ทำต่อไปเรื่อยๆ อีกเซ็ตละ 5 ครั้ง

ถ้าเศษอาหารไม่ออกมาเลยจนผู้ป่วยหมดสติลง ให้รีบโทรเรียกหน่วยกู้ภัยและทำการ CPR ทันที

ขอบคุณคลิปวิดีโอสาธิตจากโรงพยาบาลกรุงเทพ

การห้ามเลือด

หลายอุบัติเหตุมักมีผู้บาดเจ็บเสียเลือด การห้ามเลือดจึงเป็นอีกหนึ่งการปฐมพยาบาลที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพราะหากปล่อยผู้บาดเจ็บให้เสียเลือดนาน อาจช็อกจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่ทั้งนี้บาดแผลเสียเลือดนั้นก็มีหลายประเภทค่ะ

บาดแผลทั่วไป ถลอก เลือดออกไม่มาก

  1. ล้างแผลด้วยน้ำ และเช็ดทำความสะอาด
  2. ใช้ผ้าสะอาดกดแผลไว้ หรือทายาฆ่าเชื้อ

บาดแผลฉีกขาด เลือดออกมาก

  1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ให้สิ่งสกปรกหลุดจากแผล
  2. ใช้ผ้าสะอาดกดแผลแน่นๆ กดลงไปลึกจนเหมือนจับอยู่บนกระดูกผู้บาดเจ็บ ประมาณ 5 นาที โดยห้ามแง้มผ้าดูว่าเลือดหยุดหรือยัง เพราะจะยิ่งทำให้เลือดหยุดช้าลง วิธีสังเกตว่าเลือดหยุดหรือยังให้ดูว่าเลือดซึมออกมานอกผ้ามากขึ้นไหม ถ้าหยุดซึมแสดงว่าเลือดหยุดแล้ว
  3. ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลและซึมออกมามากขึ้น ให้ใช้ผ้าผืนใหม่กดทับลงไป โดยไม่ต้องเอาผ้าผืนเก่าออก ทำแบบนี้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  4. เมื่อเลือดเริ่มหยุดไหล ถ้ามีผ้ายืด ให้ใช้ผ้ายืดพันทับบนผ้าที่กดห้ามเลือดไว้ก็ได้ค่ะ

กรณีพบของมีคมปักอยู่บนบาดแผล ไม่ต้องพยายามดึงออก เพราะจะทำให้เลือดไหลมากขึ้น แต่ให้ใช้ผ้าสะอาดพันรอบของมีคมเพื่อไม่ให้สิ่งนั้นขยับแล้วทำให้แผลยิ่งฉีกขาดมากขึ้นค่ะ     

ขอบคุณคลิปวิดีโอสาธิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล

การช่วยคนจมน้ำ

อุบัติเหตุทางน้ำก็เกิดขึ้นมากในประเทศไทย เพราะภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทะเล แม่น้ำ คู คลอง หรือบึง เมื่อคนจมน้ำนั้นมีความอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะสมองของคนเราสามารถขาดออกซิเจนได้เพียง 4 นาทีเท่านั้น ก่อนที่จะหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด เราจึงต้องรู้วิธีช่วยคนจมน้ำโดยที่เราเองก็ยังปลอดภัยด้วย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่เราว่ายน้ำเป็น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถช่วยคนจมน้ำได้ เพราะการกระโดดลงไปช่วยนั้นอันตรายมากๆ ดังนั้นเราจึงต้องใช้ 3 คีย์เวิร์ดในการช่วยคนจมน้ำ คือ “ตะโกน โยน ยื่น”

ตะโกน

เมื่อเจอคนจมน้ำ ให้รีบตะโกนขอความช่วยเหลือทันที เพื่อให้คนที่มีความเชี่ยวชาญหรือว่ายน้ำแข็งมากๆ ลงไปช่วย และเราต้องไม่ลืมตะโกนบอกผู้จมน้ำด้วยว่า ให้มีสติ เตะและตีขาเอาไว้

โยน

มองหาสิ่งที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ห่วงยาง เสื้อชูชีพ ขวดน้ำ (ควรใส่น้ำในขวดด้วยเล็กน้อย เพื่อไม่ให้โยนแล้วปลิวไปทางอื่น) ถังแกลลอน หรือแม้แต่รองเท้าแตะที่ลอยน้ำได้ ก็สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถโยนลงไปเพื่อให้ผู้จมน้ำเกาะลอยตัวได้

ยื่น

หาสิ่งของที่ยาวพอจะสามารถยื่นไปช่วยผู้ป่วยได้ เช่น กิ่งไม้ ท่อ PVC กางเกงขายาว หรือเชือก โดยโยนให้ข้ามหัวผู้จมน้ำ เพื่อให้สามารถเกาะแล้วลากขึ้นมาได้

เมื่อช่วยผู้จมน้ำขึ้นมาบนบกได้ ห้ามจับอุ้มพาดบ่าหรือให้นอนคว่ำเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้ขาดอากาศหายใจ กรณีที่ผู้จมน้ำไม่หายใจแล้วให้รีบ CPR ส่วนกรณีที่ผู้จมน้ำยังรู้สึกตัว ให้รีบเช็ดตัวหรือห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และควรนำส่งโรงพยาบาลในทุกกรณีค่ะ

ขอบคุณวิดีโอสาธิตจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

5 Lifesaving Skill ที่พี่กวางบอกไป หวังว่าจะสามารถช่วยให้น้องๆ มีความรู้และนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นนะคะ ใครอยากรู้วิธีปฐมพยาบาล หรือการช่วยเหลือเบื้องต้นประเภทไหนอีก สามารถคอมเมนต์เอาไว้ได้ แล้วพี่กวางจะหาข้อมูลมาให้เพิ่มเติมค่ะ

 

ที่มาhttp://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=654http://healthydee.moph.go.th/backend/fileAttach/16122019_035331-0000002458.pdfhttps://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/wp-content/uploads/2019/06/วิธีการห้ามเลือดที่ถูกต้องทำอย่างไร.pdf
พี่กวาง
พี่กวาง - Columnist พลเมืองบางบัวทอง ผู้ตามทันทุกเทรนด์ฮิต เพราะไถทวิตเตอร์ระหว่างรถติดแยกแคราย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น