ชวนดู! 10 เทรนด์การศึกษาในยุค COVID-19

Spoil

  • ผลวิจัยชี้การเรียนผสมผสานในห้องเรียน และแบบออนไลน์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน
  • การเล่นเกมช่วยพัฒนาทักษะในกระบวนการคิด และยังเป็นสื่อการเรียนการสอนชั้นเลิศ
  • การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม ช่วยให้เกิดความเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ และรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่นไว้ได้จนถึงวัยผู้ใหญ่

ในปัจจุบัน การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันกันเลยใช่ไหมคะ ปรากฎการณ์เกี่ยวกับการศึกษานี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกค่ะ โดยวันนี้จะมาเล่าถึง 10 เทรนด์การศึกษาที่น่าสนใจในยุคโควิด ไปดูกันเลย!

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

1. STE(A)M

              หลายคนอาจเคยรู้จักการศึกษาแบบ STEM กันมาบ้างแล้ว ซึ่งก็คือ การศึกษาที่เน้นการเรียนใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) ตามแนวคิดการเรียนแบบ STEM จะไม่เน้นการท่องจำหรือทฤษฎี แต่เน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้พื้นฐานที่ได้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ แต่ในปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักการศึกษาเห็นว่าการศึกษาแบบ STEM ยังขาดความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นนวัตกรรมอยู่ค่ะ ทำให้เกิด STEAM ที่มี “ศิลปะ (Arts)” เพิ่มเข้ามาด้วยนั่นเอง

2. Blended Learning

              การเรียนผสมผสานรูปแบบการเรียนที่หลากหลาก อาทิ การเรียนตัวต่อตัวในห้องเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ รวมทั้งการใช้แหล่งเรียนรู้อื่นๆ บูรณาการเข้ากับการเรียนด้วยค่ะ การสอนแต่ละรูปแบบจะมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การที่ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนค่ะ โดยปี ค.ศ.2009 มีงานวิจัยสนับสนุนการเรียนแบบ Blended Learning ของกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า การเรียนแบบผสมผสานช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของผู้เรียนได้อีกด้วยนะคะ

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

3. Personalized Learning

              การเรียนรู้เฉพาะบุคคล เป็นการเรียนที่ผู้เรียนสามารถกำหนดรูปแบบการเรียนการสอนตามความถนัดและเป้าหมายของตัวเองได้นั่นเองค่ะ นอกจากนี้ ยังสามารถปรับความเร็วในการเรียนรู้ให้เข้าแต่ละคน และยังสามารถปรับให้เข้ากับนักเรียนที่มีความพิการได้อีกด้วย 

4.  AI

              เจ้าปัญญาประดิษฐหรือ AI ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการการศึกษาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 และยังมีการคาดการณ์ว่า AI อาจเติบโตในตลาดเทคโนโลยีการศึกษามากกว่า 45% ในปีนี้ด้วยค่ะ แล้ว AI เข้ามามีส่วนในการศึกษาได้อย่างไรบ้างล่ะ เริ่มแรกเลยคือ เกรด ในปัจจุบันสามารถใช้ AI ตรวจข้อสอบประเภทตัวเลือกและข้อเขียนสั้นๆ ได้แล้วค่ะ คาดว่าในอนาคต การใช้ AI ตรวจข้อสอบเรียงความอาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ

              ส่วนนักเรียนก็สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้เช่นกัน เช่น AI ติวเตอร์ หรือใช้ AI ในระบบให้คำแนะนำในห้องเรียนออนไลน์ เป็นต้น และในโรงเรียน ก็มีการใช้ AI ในการติดตามและประเมินสมรรถภาพของเด็ก ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้ครูรู้ว่าควรต้องใส่ใจเด็กคนไหนในเรื่องใดบ้างค่ะ  

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

5. Genius Hour

              เทรนด์การเรียนใหม่ที่ให้นักเรียนได้เลือกทำโปรเจกต์ใดก็ได้เป็นเวลา 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ค่ะ เช่น สร้างเมือง เขียนเพลง แต่งบทละคร หรือศึกษาเกี่ยวกับอาชีพในฝัน การตั้งเป้าหมายและลงมือทำด้วยตัวเอง จะช่วยสร้างเสริมให้มีอิสระทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ในระยะยาว สำหรับชั่วโมงนี้จะต้องมีกฎ 3 ข้อที่ ‘ต้องทำ’ คือ ต้องเริ่มต้นด้วยคำถามที่ไม่สามารถหาคำตอบจาก Google ได้ ต้องหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ และต้องสร้างผลงาน ผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์นั่นเองค่ะ

6. Digital Citizenship

              พลเมืองดิจิตอล คือ สมาชิกบนโลกออนไลน์ ที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือจะเรียกว่าพวกเราทุกๆ คนนั่นเอง ในปัจจุบัน นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก จึงต้องมีความรู้ในการเป็นพลเมืองดิจิตอลที่ดี อาทิ  การรักษาข้อมูลส่วนตัว การมีวิจารณญาณที่ดี สามารถแยกแยะข้อมูลที่ถูกและผิดได้ และมีทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอได้ เป็นต้น  

7. Micro Learning

              การเรียนรู้แบบ Micro Learning เป็นการวิธีการเรียนรู้ที่สั้นและกระชับค่ะ เนื่องจากในปัจจุบัน โลกดิจิตอลทำให้ข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้าสมองเราได้ตลอดเวลา การรับข้อมูลจำนวนมากๆ ทำให้เกิดอาการล้าสมองได้ค่ะ สมองไม่อาจจดจ่อกับหน้าจอได้เท่าการเรียนในห้องแน่นอน ดังนั้นการเรียนรู้สั้นๆ ช่วยให้สมองจดจำและเก็บข้อมูลได้นานขึ้น

              เทคนิคการเรียน Micro Learning นี้ จะสอนแบบรวบรัด ผ่านกิจกรรมที่เข้มข้น เข้าใจง่าย เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้หรือทักษะใดทักษะหนึ่งได้อย่างตรงจุดนั่นเอง การเรียนแบบนี้นอกจากจะช่วยลดเวลาการเรียนออนไลน์ให้สั้นลงแล้ว เมื่อนักเรียนกลับมาเรียนในห้องอีกครั้ง ก็จะช่วยให้เกิดการใช้เวลาในห้องได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วยค่ะ

(ภาพจาก www.pexels.com)
(ภาพจาก www.pexels.com)

8. Social-Emotional Learning (SEL)

              Social-Emotional Learning หมายถึงการเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคมค่ะ ทักษะนี้จะช่วยในการเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองได้ รักษาความสัมพันธ์เชิงบวก การตัดสินใจ และการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น โดยมีงานวิจัยชี้ว่า การเรียนรู้ทักษะนี้ในวัยเด็กจะช่วยให้เด็กสามารถสร้างและรักษาสัมพันธภาพในทางบวกกับผู้อื่นไว้ได้ตลอดตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่เลยค่ะ

               SEL ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ด้าน ได้แก่ การตระหนักรู้ในตัวเอง การบริหารจัดการอารมณ์ ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม ทักษะด้านความสัมพันธ์ และรับผิดชอบในสิ่งที่ตัดสินใจได้ค่ะ

9. Gamification

              เมื่อครูเริ่มพูดถึงเกมขึ้นมา ใครหลายๆ คนคงจะรู้สึกตื่นจากคาบเรียนชวนหลับเลยใช่ไหมคะ นอกจากเกมช่วยพัฒนาทักษะ IQ และ EQ แล้ว  ยังเป็นสื่อการเรียนการสอนชั้นเลิศอีกด้วย เพราะจะช่วยดึงดูดความสนใจ และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างยิ่งยวดเลย นอกจากนี้การเล่นเกมจะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ทางบวกและความสนุกสนานได้ค่ะ  

10. Experiential Learning

              ใครเรียนออนไลน์แล้วสติหลุด ไม่สนใจบทเรียนกันบ้างคะ นั่นก็เพราะเราไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมนั่นเอง การเรียนจากประสบการณ์สามารถแก้ไขปัญหาข้อนี้ได้อย่างดีเลยค่ะ เพราะจะดึงให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในชั้นเรียนด้วยการวางแผน การตัดสินใจ และการทำงานเป็นทีม

              ในยุคก่อนโควิด การเรียนรู้จากประสบการณ์อาจเป็นการทำงานกลุ่มหรือออกไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน แต่ในยุคโควิด การเรียนแบบนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น การดีเบต การแสดงบทบาทสมมติ ผ่านโปรแกรมออนไลน์ต่างๆ เช่น Zoom, Google Meet และ Microsoft Team เป็นต้นค่ะ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ 10 เทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย STEAM การเรียนผสมผสาน การเรียนรู้เฉพาะบุคคล  ปัญญาประดิษฐ์ การทำโปรเจกต์ 1 ชั่วโมง พลเมืองดิจิตอล การเรียนแบบสั้นกระชับ การเรียนรู้ทักษะอารมณ์และสังคม การเล่นเกม และการเรียนรู้จากประสบการณ์ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการศึกษาปีนี้เลยก็ว่าได้ ชาว Dek-D มีความคิดเห็นอย่างไรกับการเรียนในยุคออนไลน์กันบ้าง คิดว่าวิธีการเรียนแบบไหนเหมาะกับประเทศไทย มาเล่าสู่กันฟังกันนะคะ

 

ที่มาhttps://www.waterford.org/education/educational-trends-for-teachers/https://blog.pearsoninternationalschools.com/the-top-five-educational-trends-to-look-out-for-in-2021/https://www.digitaltechnologieshub.edu.au/teachers/topics/digital-citizenship#:~:text=A%20digital%20citizen%20refers%20to,positive%20engagement%20with%20digital%20technologies.https://www.edutopia.org/blog/why-sel-essential-for-students-weissberg-durlak-domitrovich-gullotta

 

 

 

พี่โบว์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด