คุยกับเด็กเอกฟิสิกส์แห่ง Cornell University ม.ดังระดับ Ivy League ในอเมริกา! (ห้องวิจัยอลัง วิชาการเลิศ)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D น้องๆ หลายคนที่วางแผนเรียนต่ออเมริกา อาจมีตั้งเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League ไว้เพราะเหตุผลเรื่องคุณภาพการศึกษา ทรัพยากร คอนเนกชัน ฯลฯ ทีนี้วันก่อนเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “อ.หลิน — ผศ.ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล" ผู้สอนคอร์สฟิสิกส์ของ Dek-D School ที่บอกเลยว่าโพรไฟล์แน่นมากก! เพราะเป็นเด็กค่าย สอวน.ยุคบุกเบิก (รุ่น 1-2) ได้เป็นตัวแทนแข่งไปคว้ารางวัลระดับนานาชาติกลับมา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาคฟิสิกส์ของจุฬาฯ และพ่วงด้วยตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Startup ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยของตัวเองด้วย!

ย้อนไปอีกนิดว่าพอได้เป็นตัวแทนแข่ง โครงการฯ ก็จะ offer ทุนให้อัตโนมัติ ทำให้ อ.หลินได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา และทุ่มเทจนได้มาเป็นเด็กเอกฟิสิกส์แห่ง “มหาวิทยาลัยคอร์เนล” (Cornell University) ซึ่ง อ.หลินก็ได้มารีวิวให้ฟังแบบสนุกๆ เกี่ยวกับเส้นทางตั้งแต่ Prep School กับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยดังระดับโลก รวมถึงจุดเด่นและข้อจำกัดไว้ให้ประกอบการตัดสินใจเลือกที่เรียนด้วย ถ้าพร้อมแล้วตามมาเลยค่า~

กว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศ
และคว้าทุนเรียนเมืองนอก

ย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่มเลย พี่เป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วเข้ามาเรียน ม.ปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่ะ  ปกติพี่จะชอบหาสนามไปลองสอบตลอด เลยสมัครค่าย สอวน. ติดค่ายคอมพิวเตอร์ เคมี และฟิสิกส์ สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเข้าค่ายฟิสิกส์

ในค่ายก็จะมีแบ่งเป็นเลกเชอร์ช่วงเช้า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนพวก Integrate, Calculus, Diff. ฯลฯ ด้วยความที่อยู่ ม.4 เลยยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่ตั้งตารอตอนบ่ายทุกวัน เพราะเป็นช่วงที่ให้ทดลองและแก้ปัญหา ทำให้ค้นพบว่าการออกแบบการทดลองและคิดวิเคราะห์แบบนี้คือตัวเราจริงๆ แล้วอินกับฟิสิกส์มาเรื่อยๆ เลยค่ะ

พอผ่านค่าย 1 ค่าย 2 ก็ได้เป็นเด็กค่าย สอวน. 2 ปีซ้อน ต่อด้วยค่าย สสวท. จนได้เป็นตัวแทนแข่งระดับนานาชาติ 2546 ที่ไทเปของไต้หวัน โครงการเลย offer ทุนให้อัตโนมัติ (เมื่อก่อนทุนโอลิมปิกกับทุน พสวท.ยังไม่แยกกัน แต่ตอนนี้แยกมาเป็นทุนโอลิมปิกแล้ว) ข้อผูกมัดคือหลังเรียนจบต้องกลับมาทำงานใช้ทุน 2 เท่าของระยะเวลาที่เรียน แต่ไม่เกิน 10 ปี หรือจะใช้เป็นเงินก็ได้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่สัญญาทุนนะคะเพราะปัจจุบันเงื่อนไขเปลี่ยนจากเดิมแล้ว

ตอนนั้นพี่รับทุนรัฐบาลตลอดตั้งแต่ ป.ตรี-เอกเลยค่ะ ได้เรียน Prep School 1 ปี + ป.ตรี 4 ปี ครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับเที่ยวเดียว และมีค่าอยู่ค่ากินให้เรตขึ้นอยู่กับรัฐ เงื่อนไขคือตอน ป.ตรี ต้องรักษาเกรดให้ได้ 3.0 ส่วน ป.โทและเอกต้อง 3.5 (แต่ตอน ป.โทควบเอกอาจารย์เองมีงบส่วนค่าเทอม ค่าประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายรายเดือนที่รับจากทุนของมหาวิทยาลัยที่อเมริกาด้วย)

. . . . . . . . . 

เริ่มต้นกับ Prep School 
เตรียมพร้อม 1 ปีก่อนขึ้น ป.ตรี

นักเรียนทุนจะได้เตรียมความพร้อมช่วงซัมเมอร์ที่ Brewster Academy เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน มีเพื่อนคนไทย + ครูฝรั่ง เรียนรู้เรื่องการปรับตัว ทั้งการเรียนและวัฒนธรรม แต่พี่ข้ามขั้นนี้ไปเพราะติดสอบโอลิมปิก แล้วได้บินเดี่ยวมาขั้นเตรียมความพร้อมที่ Prep School เลย ซึ่งจะเหมือนการเรียนซ้ำชั้น ม.6 เป็นเวลา 1 ปีค่ะ  แต่จะได้เรียนที่ไหน โครงการฯ จะกระจายคนไทยไปอยู่โรงเรียนละ 1-2 คน พี่ได้ไปอยู่ Asheville School ที่รัฐ North Carolina เลิกเรียนบ่าย 2 แล้วพอบ่าย 3 ก็เล่นกีฬากับทำกิจกรรม 

พี่ได้ภาษาอังกฤษกลางๆ และไม่ได้เจอปัญหาการปรับตัว แต่ช็อกเรื่องสไตล์การสอนมากก เจอคลาสสังคมที่ Intensive สุดๆ เรียนเป็นกลุ่มแค่ 10+ คน เนื้อหาจาะเหตุการณ์เป็นช่วงๆ เช่น ประวัติศาสตร์โลก, ประวัติศาสตร์อเมริกา, กฎหมาย ฯลฯ แต่ละวันต้องกลับไปอ่านหนังสือวันละ 10-20 หน้าเพื่อมาดิสคัส ตีความบรรทัดต่อบรรทัด และอาจารย์จะสอดแทรกแนวคิดให้  

ส่วนวิชาอื่นๆ ปกตินักเรียนทุนมักจะได้เรียนวิชาวิทย๋ในระดับสูง และความรู้โอลิมปิกก็เกินเลเวลมหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างเช่นวิชาคณิตกับฟิสิกส์ พื้นความรู้เกิน ม.6 พี่ก็เลยได้ไปเรียน AP (Advanced Placement) สูงสุดเท่าที่โรงเรียนเค้ามี offer ให้ ส่วนแคลคูลัสก็ได้เรียนตัวสูงสุดกับเพื่อนคนเกาหลีเหมือนกัน 

. . . . . . . . . 

ยื่นสมัครเรียนมหาวิทยาลัย 14 ที่ !!
(Cornell คือ first choice)

ก่อนเรียนจบ Prep School จะต้องเตรียมตัวและสมัครเรียนมหาวิทยาลัยไปด้วย พี่สมัคร 14 ที่ก็เลยเขียนเรียงความสมัครเรียน 14 ฉบับ พี่ก็เขียนเป็นหลักไว้ 1 ฉบับ แล้วค่อยปรับไปตามมหา’ลัย

พี่เลือก ม.คอร์เนล เป็นเป้าหมายอันดับแรกเลย ต้องยื่นคะแนน SAT เลข (น่าจะเต็ม) กับภาษาอังกฤษ และ TOEFL 550 (สอบหลายรอบอยู่นะตอนนั้น) ตอนนั้นพี่ต้องเรียนพร้อมกับฝึกท่องศัพท์ฝึกเขียนหนักมากกจนเพื่อนฝรั่งถามว่า “you จะซีเรียสอะไรขนาดนั้น มาคุยกับ I นี่” เพราะข้อสอบจะมีทั้งวิชาการและการสื่อสาร ซึ่งพวก essay ก็อาศัยความคุ้นชิน ถ้าแนะนำคืออย่าท่องอย่างเดียว ให้ใช้ชีวิตด้วยเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมของเขา เพราะบางทีข้อสอบจะมีคำสแลง (idiom) ด้วยค่ะ

Cornell University, Ithaca, NY, USA
Cornell University, Ithaca, NY, USA
Photo by Will Barkoff on Unsplash
Cornell University, Ithaca, NY, USA
Cornell University, Ithaca, NY, USA
Photo by Will Barkoff on Unsplash
Cornell University, view, landscape, greens, mountains
Cornell University, view, landscape, greens, mountains
Photo by Emily Xie on Unsplash

. . . . . . . . . 

ชีวิตเด็กเอกฟิสิกส์ที่ Cornell
ห้องวิจัย & เครื่องมือสุดอลัง

รูปแบบการเรียน

ส่วนใหญ่จะได้เรียน Lecture กับอาจารย์ แล้วมีผู้ช่วยสอน (TA) มาสอนดิสคัส ทำโจทย์ และฝึกคิดวิเคราะห์ มีการบ้านเยอะมากก มีแทบทุกวิชาและทุกสัปดาห์ คลาสนึงอ่านประมาณ 20 หน้า

ส่วนภาคปฏิบัติจะแยกออกมาเป็นวิชาแล็บค่ะ ในปีสูงๆ (ปี 3) จะได้เรียน Advanced Lab ใน 1 เทอมจะได้ทำ 3-4 แล็บ แล็บละ 1 เดือน (สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง) หลังเสร็จ 1 แล็บจะต้องเขียนรายงานความยาว 5-10 หน้า // สนุกดีเหมือนกันนะ เค้าจะไม่มีวิธีมาให้ กำหนดแค่วัตถุประสงค์ว่าแล็บนี้ต้องการศึกษาอะไรและวัดผลอะไรบ้าง เราต้องคิดกระบวนการเอง ดิสคัส เขียนสรุป และบรรยายผลการทดลอง

ความพร้อมของอุปกรณ์และห้องแล็บ

ความน่าสนใจคือแม้อุปกรณ์แล็บที่คอร์เนลจะทันสมัยก็ตาม แต่เค้าจะสอนให้เราใช้เทคนิคแบบคลาสสิกเหมือนที่นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนเค้าทำกัน บางการทดลองอย่างเช่นการหาอัตราเร็วแสง Interferometry ต้องใช้พื้นที่เยอะ และ set up อุปกรณ์เอง เช่น การทดลองหยดน้ำมันของมิลลิแกน (Millikan's oil-drop experiment) เราต้องอยู่ในห้องมืดๆ ค่อยๆ บีบสเปรย์น้ำมันเป็นละอองฝอย แล้วส่องหยดน้ำมันว่าหยดถึงตรงไหน เพ่งจนปวดตา อยู่ในห้องสามชั่วโมงออกมาแล้วต้องมีมึนกันบ้าง 

ที่เล่าไปแค่ส่วน classroom แต่ที่อลังการจริงคือวิจัย ซึ่งพี่เข้ากลุ่มวิจัยตั้งแต่ปี 2 เค้าจะมีห้องคลีนรูมที่ทั้งพร้อมและทันสมัยมากกก แบ่งเป็นหลายห้องหลายส่วน ถ้าเกิดมีแผ่นดินไหวจนตึกสั่น เครื่องมือด้านในยังอยู่ได้ พี่คิดว่าชิ้นนึงราคาหลายล้านแน่นอน 

ทั้งนี้ ทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบเรื่องความปลอดภัย แล้วถึงจะได้บัตรสำหรับสแกนเพื่อเข้าไปทำงานในห้องวิจัย และจะเข้าได้เฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น สำหรับ ป.ตรี ต้องออกจากคลีนรูมก่อน 6 โมง พอเข้าไปถึงต้องเข้มงวดมาก หัวจรดเท้าห้ามสกปรก เช็ดแล้วเช็ดอีก แม้แต่สมุดโน้ตทั่วไปยังนำเข้าไม่ได้ เพราะของใช้ห้ามจับฝุ่น

รีวีวตัวอย่างวิชาเรียน

  • Advanced Laboratory เราต้องวางแผนและลงมือทำแล็บเดี่ยวคนเดียวเป็นเดือนๆ เขียนรายงานสิบกว่าหน้า ส่วนตัวชอบทดลองอยู่แล้วเลยได้ฝึกมาตลอดตั้งแต่ค่าย สอวน.
  • Nanofabrication เป็นวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิชานี้มีทั้งเรียนและทดลอง มีโอกาสได้ใช้ห้องคลีนรูมกับเครื่องมือแพงๆ ด้วย
  • Electricity and Magnetism เป็นเรื่องไฟฟ้าและแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิชาระดับ ป.โท แต่พี่ไปลงเรียนตอน ป.ตรี ปี 4 มึนมากกกปวดหัวมาก แต่ก็โอเคคุ้มค่ากับการลงเพราะวางแผนว่าจะให้อาจารย์ที่สอนช่วยเขียน Recommendation Letter สมัครเรียน ป.โทให้

Note: ใน Recommendation Letter ควรให้อาจารย์ที่รู้จักเราดีช่วยเขียนให้ และควรคิดไว้ก่อนว่าต้องการอาจารย์เฉพาะด้านไหนบ้าง อย่างเช่นพี่ให้อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มวิจัย, อาจารย์วิชา Advanced Laboratory ที่เป็นตัวท็อปในสาย Condensed Matter กับอาจารย์วิชาแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำวิจัยสาขาฟิสิกส์พลังงานสูง (High Energy Physics) ช่วยเขียนให้

พี่ได้ลงเรียนวิชาสายสังคม เช่น เศรษฐศาสตร์ (Economics), ภาษาจีน (Chinese), โบราณคดี (Archeology), ดนตรี (Music), วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และอื่นๆ อย่างคลาสชิมไวน์กับจิตวิทยาก็มีเหมือนกัน หลากหลายมากๆ ทำให้รู้ว่าวิชาฝั่งสังคมก็สนุก เช่น คลาสโบราณคดีจะมีเลกเชอร์กับดิสคัส ศึกษาดินว่ามีกี่ชั้น ขุดยังไง มีอะไรบ่งบอกว่าเป็นยุคไหน หรือคลาสดนตรีก็จะได้นั่งฟังดนตรีคลาสสิก อย่างของ “เบโธเฟน” (Beethoven) แล้ววิเคราะห์และเขียนโน้ตออกมา

งานปิกนิกที่สวนสาธารณะริมทะเลสาบ
งานปิกนิกที่สวนสาธารณะริมทะเลสาบ

อยากเล่าว่าตลอดช่วงเวลา ป.ตรี พี่เคยลงฟิสิกส์ไปมากสุด 5 ตัวต่อเทอม และข้ามไปเรียนตัวนึงของ ป.โทด้วย เพราะวางแผนว่าจะต่อโทและเอกสาขาเดิม ข้อดีคือวิชาจะอยู่ใน Transcript ช่วยทุ่นเวลาให้เราข้ามไปทำวิจัยตอน ป.โท-เอก ได้เร็วขึ้น (แล้วแต่มหาวิทยาลัย ป.โท-เอกที่สมัคร) แต่แนะนำรุ่นน้องที่อยากจะเรียนต่อสายตรงอยู่แล้ว อาจไปทำ minor หรือ double majors เพื่อขยายสโคปความรู้และได้ใบประกาศฯ แทนการเร่งเรียนแบบพี่ก็ได้ค่ะ 

ซึ่งสุดท้ายแล้วพี่ก็เรียนวิชานั้นซ้ำอยู่ดี เพราะย้ายไปเรียนที่ The University of Virginia (U.Va. or UVA) หลังจบป.โท-เอก ปีแรกจะมี “Qualifying Exam” ที่นี่จะเป็นสอบข้อเขียน 2 วัน วันละ 3 วิชา (แสดงวิธีทำล้วนๆ) ถ้าทำคะแนนวิชาย่อยผ่านเกณฑ์ 50% จะได้อยู่ ป.โทควบเอกต่อ แต่ถ้าไม่ผ่านจะได้แค่วุฒิ ป.โท ถ้าสอบไม่ผ่านมีโอกาสซ่อม 1 ครั้ง ดังนั้นพี่เลยตัดสินใจเรียนวิชานั้นอีกครั้งโดยไม่ข้าม ถึงกรอบวิชาจะเหมือนกันก็จริงแต่ก็สอนโดยอาจารย์คนละท่าน

ศึกษาหลักสูตรฟิสิกส์ ม.คอร์เนล

มหาวิทยาลัยเคยมีงานแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย เรียกว่า Thai Fest และ Thai Food Fest งานหลังหลินเป็นคนออกไอเดียริเริ่มเองค่ะ เอามาจากอีกมหา'ลัย แต่มาเริ่มที่คอร์เนลครั้งแรก น่าจะปีที่หลินเป็นรองประธานสมาคมนักเรียนไทย

เม้าท์มอยชีวิตเด็กคอร์เนล
(พร้อมรีวิวรัฐนิวยอร์ก)

  • การจะมาเรียนคอร์เนลต้องลุยหน่อย เพราะทั้งปีหนาวไปแล้ว 8 เดือน และมีหิมะประมาณ 6 เดือนได้ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ที่นี่ดังเรื่องฮอกกี้น้ำแข็งมาก
Cr. @Cornell
Cr. @Cornell
  • มหาวิทยาลัยอยู่ติดทะเลสาบ เลยมีข้อกำหนดว่าเด็กคอร์เนลทุกคนต้องผ่านการทดสอบว่ายน้ำ 25 เมตรไปกลับ 3 รอบต่อเนื่องโดยไม่พัก และต้องว่ายให้ครบตามเวลาที่กำหนดด้วย แต่ถ้าใครว่ายน้ำไม่เป็นมาก่อนหรือสอบตก จะสามารถเทกคลาสแทนได้
Cornell's campus in front of a blue Cayuga Lake.
Cornell's campus in front of a blue Cayuga Lake.
  • เรื่องอาหารที่คอร์เนลคือดีจนหยิบมาเขียนลง Essay สมัครเรียนเลยค่ะ 555 ตอนที่ไปเดินดูมหาวิทยาลัยมีคนบอกว่า “อาหารที่คอร์เนลอร่อยมาก” ก็เลยลองไปกินตามที่พี่ๆ เค้าบอก ปรากฏว่าอร่อยจริง! หนึ่งในนั้นคือวาฟเฟิลร้อนๆ ใส่ไอศกรีม ราดไซรัป คือดีมาก!
Waffle!
Waffle!
Cr. https://cafe.cornellfarms.com/

เยี่ยมชมเพจ @CornellDining 

โรงอาหาร ร้าน คาเฟ่ เพียบ! https://scl.cornell.edu/residential-life/dining/eateries-menus/cafes-food-courts-coffeehouses 

  • Ithaca, New York เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีขนาดเล็กและความปลอดภัยสูง ที่เที่ยวมีบ้างแต่ไม่มาก เป็นพวกทะเลสาบ ป่าเขาน้ำตก ฯลฯ สามารถขับรถ 3 ชั่วโมงไปเที่ยวน้ำตกไนแองการา (Niagara Falls) ที่แคนาดาได้ ซึ่งใกล้กว่าการขับรถเข้าเมือง NYC (New York City) ที่ต้องใช้เวลา 5 ชั่วโมง 
     
  • เมืองนี้ค่าครองชีพสูงด้วยเช่นกัน นั่งรถบัสได้แต่แพงหน่อย (ซื้อ Bus Pass ได้ค่ะ) ถ้าจะปั่นจักรยานก็ลำบากเหมือนกัน เพราะต้องขึ้นเขาและมีหิมะด้วย
     
  • ถ้าใครคิดอยากเรียนต่อ ป.โท-เอก ที่คอร์เนล อาจเจอข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง จะไปไหนมาไหนไม่สะดวก และต้องกินเวลานาน ไม่สามารถมี long weekend ได้บ่อยๆ นอกจากหาโอกาสเที่ยวช่วงสัมมนา ซึ่งพี่ก็คิดว่าชีวิต ป.โท-เอกต้องกินเวลา 5-6 ปีเป็นอย่างต่ำ เลยตัดสินใจย้ายไปเรียนที่ UVA ในรัฐเวอร์จิเนีย เพราะเป็นรัฐที่ไม่หนาวมาก อยู่ไม่ไกลจากเมืองใหญ่ (ใกล้ Richmond และเดินทางแค่ชั่วโมงนิดๆ ก็ถึง Washington, D.C)

ทิ้งท้ายถึงน้องๆ วัยเรียน

พี่มองว่าการพุ่งตรงไปที่ผลลัพธ์อย่างเดียว อาจไม่ยั่งยืนเท่ากับการโฟกัสระหว่างทางและกระบวนการด้วย ควรใส่ใจว่าเราเข้าใจจุดนี้จริงมั้ย ทำยังไงให้เก่งและพัฒนาตัวเองได้ เดี๋ยวนี้แค่เกรดสวยคะแนนดีมันไม่พอ ถ้าใครชอบอะไรให้ลองเลย ถ้าลองแล้วไม่ชอบค่อยเลิก ค่อยๆ ค้นหาตัวเอง อย่ารอให้โอกาสวิ่งเข้าหาอย่างเดียว

. . . . . . . . . 

"ประสบการณ์และความตั้งใจ
คือวัตถุดิบหลักในคอร์ส Dek-D School"

หลังจากได้ฟังประสบการณ์เรียนที่ Cornell ของ อ.หลินมาแล้ว  เราอยากชี้เป้าคอร์สพิชิต สอวน. วิชาฟิสิกส์, พิชิต TCAS ฟิสิกส์ และ เก่งฟิสิกส์ ม.ปลาย  ของ Dek-D School // สำหรับคนที่กำลังกังวลวิชาฟิสิกส์หรืออยากทำคะแนนให้ดีขึ้น คอร์สนี้อาจารย์หลินเป็นผู้สอนเองเลยค่ะ สามารถเรียนซ้ำกี่ครั้งก็ได้ภายใน 6 เดือน เริ่มต้น 500 บาท พร้อมมีหนังสือประกอบการเรียนส่งตรงถึงบ้านฟรี มีทดลองเรียนฟรีและตัวอย่างการสอนให้ชมก่อนด้วย

อ.หลินเล่าให้ฟังว่า “ในคอร์สนี้จะเน้นการสาธิตกระบวนการ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หาวิธีให้นักเรียนเข้าใจที่มาที่ไปแล้วนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง เพราะฟิสิกส์มีอะไรมากกว่าการท่องจำ หรือแค่เอาสูตรไปแทนค่าแล้วจบ ยิ่งในระดับสูงยิ่งใช้แค่การท่องจำไม่ได้”

[ อัปเดต!! คอร์สที่กำลังเปิดสอน ]

พิชิต สอวน. วิชาฟิสิกส์

เข้าใจฟิสิกส์ทั้งภาค Concept และคำนวณ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำข้อสอบ และต่อยอดในการเรียนฟิสิกส์ในระดับที่สูงขึ้น กับ อ.หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คอร์สพิชิต สอวน.วิชาฟิสิกส์ (อ.หลิน)

พิชิต TCAS ฟิสิกส์

ติวฟิสิกส์ด้วยความเข้าใจ พร้อมเทคนิคทำโจทย์จากอาจารย์นักฟิสิกส์ระดับโลก คอร์สเดียวครบครอบคลุมทั้งการสอบ 9 วิชาสามัญ, PAT2 และ O-NET สรุปเนื้อหาฟิสิกส์ ม.ปลาย 3 ปี ครบถ้วน กระชับ เน้นจุดที่ออกสอบบ่อย พร้อมตะลุยโจทย์เฉลยละเอียดทุกขั้นตอนชี้จุดควรระวังในการทำข้อสอบ

พิชิต TCAS ฟิสิกส์

เก่งฟิสิกส์ ม.4 - ครบทุกบท

 เข้าใจฟิสิกส์ทั้งภาค Concept และคำนวณ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำข้อสอบ และต่อยอดในการเรียนฟิสิกส์ในระดับที่สูงขึ้น กับ อ.หลิน ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คอร์สฟิสิกส์ ม.ปลาย (อ.หลิน)

ส่องประวัติ!! ผศ.ดร. สลิลพร กิตติวัฒนากูล (อ.หลิน)
ผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาชาติ

 

  • อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อดีตอาจารย์พิเศษ ภาควิชาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์วัสดุ (Materials Science and Engineering) University of Virginia, USA
  • นักศึกษาทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับปริญญาตรี-เอก ปริญญาตรี Cornell University USA สาขาวิชาฟิสิกส์, ปริญญาเอก University of Virginia USA สาขาวิชาฟิสิกส์
  • ตัวแทนฟิสิกส์โอลิมปิก ปี 2003 เหรียญทองแดง APhO ระดับเอเชียและ เกียรติคุณประกาศ IPhO ระดับนานาชาติ โดยเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับนานาชาติ (IPhO)
  • รางวัลวิทยานิพนธ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี พ.ศ. 2562
  • Finalist for Presidential Research Competition University of Virginia 2014
  • ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Startup ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยเทคนิคการปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์แบบ high TCR (Temperature Coefficient of Resistance) ด้วย Reactive Bias Target Ion Beam Deposition

__________
 

Photo Credit:https://unsplash.com/photos/h8tNZrQG-kU https://unsplash.com/photos/8XokxCBuCzhttps://unsplash.com/photos/OmBRi7irZeE
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น