Spoil

  • "เพื่อน" ที่สามารถคบกันมาได้หลายปี มีปัจจัยบางอย่างที่สามารถนำมาปรับใช้กับความสัมพันธ์รูปแบบอื่นได้
  • ความรู้สึกรัก (Passion) เป็นสิ่งที่ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป
  • ความสัมพันธ์ระยะยาว ต้องอาศัยความเชื่อใจของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก รวมถึงความใกล้ชิดสนิทกัน

ทุกคนน่าจะเคยมีเพื่อนที่คบกันมานานแล้ว อย่างน้อยก็สักคนสองคนล่ะนะ แล้วเคยสงสัยกันรึเปล่าว่าอะไรทำให้เรากับเพื่อนคบกันได้นานขนาดนี้?

ในบางคนอาจจะตอบว่า “มันผูกพันกันไปแล้ว” บางคนก็อาจตอบว่า “เชื่อใจกัน” หรือแม้แต่เหตุผลสนุกๆ อย่าง “เรามีความลับที่แชร์ให้กันมากไป กลัวเลิกคบแล้วมันเอาไปบอกคนอื่น” อันนี้ก็นับเหมือนกัน

แล้วถ้าพี่บอกว่า “เพื่อนก็คือความสัมพันธ์รูปแบบนึง” หรือ “ถ้าเราอยากจะมีแฟนหรือคนรักที่อยากคบไปนานๆ เราก็ต้องมองหาแฟนที่เป็นทั้งเพื่อนของเราได้ด้วย” แบบนี้ทุกคนจะเชื่อรึเปล่าว่ามันเป็นไปได้จริงๆ ? พี่ต้องขอบอกก่อนว่ามีโอกาสเป็นไปได้ในทางทฤษฎีนะ แต่อะไรยังไง เดี๋ยววันนี้พี่แทนนี่จะมาเล่าให้ฟัง!

“Sternberg” ความรักที่นักจิตวิทยาได้กล่าวไว้จริงๆ

หากนึกถึงทฤษฎีความรัก หลายคนอาจจะเคยได้เห็นจากอินเทอร์เนตมากมาย ที่โปรยคำที่ขึ้นต้นว่า “นักจิตวิทยากล่าวไว้” ตามด้วยคำคมหรือนิยามทั่วไปของความรัก เราไม่ได้บอกหรือจะมา discredit ว่ามันไม่ดี แต่สิ่งที่เราจะมาเล่าต่อไปนี้คือมุมมองความรักที่มีการศึกษาในเชิงจิตวิทยา จากชายที่ชื่อว่า “Robert Sternberg”

สามเหลี่ยมความรักของ Robert Sternberg
สามเหลี่ยมความรักของ Robert Sternberg

นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้นี้ได้อธิบายความรักเป็น “สามเหลี่ยม” ที่แต่จะด้านจะมีองค์ประกอบ 3 อย่างอยู่แต่ละมุมของรูป ซึ่งจะแบ่งแยกได้อีกเป็นความรักหลากหลลายรูปแบบที่สามารถเกิดได้ในมนุษย์ เอาง่ายๆ คือ “คนเราจะรักกันเนี่ย ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 1 อัน”

  1. ความใกล้ชิด (Intimacy) 
  2. ความรู้สึกรัก (Passion)
  3. พันธะผูกพัน (Commitment)

ความรักไม่จำเป็นต้องมีทั้งสามองค์นี้ก็ได้

เพียงแต่ต้องมีให้มันสมดุลกัน นั่นแหละคือสิ่งที่ Sternberg ให้มุมมองไว้

Passion : เริ่มคบกันแรกๆ น้ำปลายังว่าหวาน

"กับคนนี้ เจอทีไรก็ใจเต้นทุกที

ยิ่งเป็นคนที่ชอบนะ อยู่ใกล้กันแทบจะทำอะไรไม่ถูกเลย"

นี่เป็นเรื่องปกติเวลาที่เรารักใครแล้วจะมีอาการแบบนี้ในช่วงแรกที่คบกัน ไฟแห่งเดทแรกที่ลุกโชนอย่างร้อนแรงนั้นจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมชาติ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “Passion” ซึ่งเป็นความรู้สึกรักอย่างแรงกล้าที่มีต่อบางคนหรือบางสิ่ง แล้วอาการคนตกหลุมรัก คลั่งรัก คิดถึงแค่หน้าเขาขึ้นมานั่นแหละ นำไปสู่ความรักในรูปแบบที่เรียกว่า “Passionate love” ที่ใช้อธิบายความรักที่มาพร้อมความรู้สึกอันแรงกล้าผ่านการได้มีปฏิสัมพันธ์สัมพันธ์ใกล้ชิด อย่างการเดทหรือได้พบเจอหน้ากัน (Passion + Intimacy)

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

เป็นธรรมดาที่จะ “หมดโปร” ในสักวัน

Passion เป็นสิ่งที่ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป

เหมือนใบไม้ที่ค่อยๆ ร่วงต้นไปทีละใบ

ในทุกเข็มวินาทีที่เดินไปในทุกความสัมพันธ์นั้น แพชชันย่อมจะค่อยๆ ลดถอยลงไปเรื่อยๆ เสมอ หลังจากที่เราเริ่มรับรู้เรื่องราวของคนรักมาเกือบหมดแล้ว เจอหน้ากันทุกวัน คุยกันตลอดเวลา ก็ต้องมี “เบื่อ” เป็นของธรรมดาทั่วไป จนไปถึงเริ่มรู้สึกว่า “คนๆ นี้ไม่เหลืออะไรที่น่าดึงดูดสำหรับเราอีกต่อไป” เลยก็ได้ โดยเฉลี่ยจุดอิ่มตัวของความสัมพันธ์จะอยู่ที่ 1-2 ปี แล้วแพชชันก็จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ 

แล้วไม่ใช่แค่กับเรื่องความรักเท่านั้น กับความชอบทุกอย่างบนโลกก็มีวัน “เลิกชอบ” ได้เหมือนกัน อย่างตอนแรกเราอาจจะชอบการอ่านนิยายแนวโรแมนติก อยู่มาวันนึงเราก็มาพบว่า “เราไม่ได้ชอบนิยายเล่มเดิมแล้ว” และดูเหมือนนิยายเล่มนั้น ไม่มีอะไรน่าดึงดูดสำหรับเราเลย

“รักแบบเพื่อน” ไปด้วยกันไปได้ไกล

“เพื่อนรัก.. เราคบกันมาตั้งแต่ประถม จนตอนนี้จะมหาลัยแล้ว

ทำไมเราถึงได้ยังคบกันอยู่นะ”

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ “รักแบบเพื่อน” ที่สามารถอธิบายได้ในทางจิตวิทยา ไขข้อสงสัยได้ว่าทำไมเราถึงอยู่กับใครคนนึง หรือสิ่งๆ นึงได้นานหลายปี โดยไม่มีความคิดอยากจะจบความสัมพันธ์ลง

“Companionate Love” หรือ “รักแบบเข้าใจกันและกัน” เป็นอีกประเภทนึงของความรักที่ Sternberg ให้นิยามไว้ว่ามีความคล้ายกับการที่เราคบเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานาน เพื่อนประเภทที่ไปไหนมาไหนก็ได้ อยู่กันมานานก็ไม่ได้รู้สึกเบื่อกัน มีอะไรก็พูดคุยส่งหากันได้ตลอด และมีความเชื่อใจให้กัน เพราะความรักแบบนี้คือส่วนผสมระหว่าง ความใกล้ชิดและการผูกมัด (Intimacy + Commitment) 

Berscheid & Hatfield ให้นิยามเพิ่มเติมว่าเป็น “ความอ่อนโยนที่เรามีให้กับอีกคนอย่างลึกซึ้ง”

แต่ไม่ต้องห่วง แม้จะไม่มี Passion แล้ว พอจะเอาไปใช้กับความรักแบบแฟนกัน ในทางปฏิบัติเราสามารถมีความรู้สึกดีๆ ได้อยู่ เหมือนเป็น “กาวใจ” ที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว ผ่านวิธีการดังต่อไปนี้ที่พี่จะบอก

“เอาไปใช้กับคนรัก” ทำยังไง?

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

เชื่อใจ 

สำคัญอยู่แล้วกับการสร้างพื้นที่ระหว่างกัน เพื่อทำให้ความสัมพันธ์มีความสบายใจ มากกว่าจะเป็นการบังคับหรือฝืนทน แต่ก็ต้องอยู่ที่คนหรือสถานการณ์ความรักด้วย พี่เข้าใจว่ากับบางคนก็ปล่อยมากไม่ได้เหมือนกัน

ผูกพันใกล้ชิด 

 ไม่จำเป็นว่าต้องตัวติดกัน แต่ให้ความสำคัญกับการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิต ให้เขารู้จักเรามากขึ้นในหลากหลายแง่มุม พร้อมเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กันและกัน เพื่อให้อีกฝ่ายวางใจให้

ไม่คิดครอบครอง 

ความคิดหมกมุ่น หรือ Obsession เป็นความคิดที่เรามีความกังวลในคู่รักมากเกินควร ซึ่งมีผลวิจัยศึกษาพบว่า สิ่งนี้มีผลให้ความสัมพันธ์ระยะยาวนั้นย่ำแย่ลง โดยจะเป็นประเภทความคิดเชิงหึงหวงที่คอยกดดันให้อีกฝ่ายไม่มีความสุข หรือกังวลไม่เชื่อใจในตัวอีกฝ่ายเกินไป

“แม้ความรักเป็นเรื่องง่ายที่จะมี แต่เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ” 

ภาพจาก pexels
ภาพจาก pexels

ในวันนี้สิ่งที่พี่เล่าไปอาจเป็นเพียงทางเลือกสำหรับใครที่ถึงจุดที่อยากมองหา “ความรักที่จริงจัง” มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่พี่เชื่อได้เลยว่าทุกคนจะต้องเจอ คือ “ความรักที่มั่นคง” ที่คนนั้นอาจจะโผล่มาไม่ช้าก็เร็ว แต่เชื่อเถอะว่ามีแน่นอน หากเรามองหาและเข้าใจมากพอนะ

สุดท้ายนี้ ใครคิดเห็นยังไง คอมเมนต์มาพูดคุยกันได้เหมือนเดิมนะ พี่รออ่านทุกความเห็นของทุกคนเลย ไว้เจอกันใหม่ครับ :)

 

อ้างอิงข้อมูลจากhttps://www.verywellmind.com/compassionate-and-passionate-love-2795338https://interpersona.psychopen.eu/index.php/interpersona/article/view/3177/3177.pdfhttp://psychology.iresearchnet.com/social-psychology/interpersonal-relationships/companionate-love/https://journals.sagepub.com/doi/10.1037/a0014226https://www.verywellmind.com/types-of-love-we-experience-2303200
พี่แทนนี่
พี่แทนนี่ - Columnist เด็กจบใหม่จากสาขาจิตวิทยา ที่ดันค้นพบว่าชอบเขียนและเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด