เจาะลึกชีวิตเด็กทุนรัฐบาลโรมาเนีย (ป.ตรี) : อีกประเทศในยุโรปที่ได้ยินไม่บ่อย แต่น่าเรียนไม่เบา!

Bună ziua!  แม้ว่าชื่อประเทศ "โรมาเนีย" จะยังไม่ถึงขั้นแมสในหมู่นักเรียนไทย และหาอ่านประสบการณ์เรียนได้ไม่บ่อยนัก แต่วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักประเทศนี้ให้มากขึ้นผ่านเรื่องราวของ  “พี่มะปราง - มาติกา เหมมัน" นักเรียนทุนรัฐบาลโรมาเนีย (Romanian Government Scholarship) ปี 2016 ที่ไปเรียน ป.ตรี คณะ European Studies & International Relations ในมหาวิทยาลัยดังและเก่าแก่ในยุโรป และเพิ่งเรียนจบและได้รับ Diploma จากมหาวิทยาลัยในโรมาเนียมาสดๆ ร้อนๆ

ในบทสัมภาษณ์นี้จะมาแชร์ให้ฟังตั้งแต่การขอทุน การเรียน ชีวิตความเป็นอยู่ สังคมและวัฒนธรรม  ที่ทำให้เปิดโลกสุดๆ แถมสาขาและมหาวิทยาลัยยังน่าเรียนด้วย ถ้าพร้อมแล้ว มามุ่งหน้าสู่ดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปกันเลยค่ะ~

ถ้าใครอยากลองเรียนภาษาหรือวัฒนธรรมใหม่ๆ ในยุโรป พูดจริงแบบไม่อวยเลยว่าโรมาเนียน่าเรียนมากค่ะ เป็นประเทศในกลุ่ม EU คุณภาพมหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับ ยิ่ง ม.แพทย์ค่าเรียนจะถูกมาก ถ้าเรียนจบสามารถย้ายไปทำงานในกลุ่มประเทศ EU ได้เลย (ทั้งนี้ทั้งนั้น คณะอื่นก็ไม่แพงนะคะ มีอาจารย์เก่งและจบจากฝั่งตะวันตกเยอะ)

 

พี่มะปราง - มาติกา เหมมัน เด็กทุนรัฐบาลโรมาเนีย 2016 (ป.ตรี)

คณะ European Studies & International Relations ที่ Universitatea Babeş-Bolyai

 

Cluj-Napoca, Romania
Cluj-Napoca, Romania
Photo by Lorena Tintea on Unsplash

พาร์ตนี้จะรีวิวขอทุนรัฐบาลโรมาเนีย
(ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก)

ตอน ม.ปลายเราเรียนห้องวิทย์ Gifted เคมี แต่เริ่มมาถามตัวเองตอน ม.5 ว่าสิ่งที่เรียนอยู่ใช่สำหรับเราจริงๆ มั้ย ความมั่นใจค่อยๆ ลด แต่รู้ตัวว่า enjoy กับภาษามาก  เลยลองสอบชิงทุนไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา จนค้นพบว่าตัวเองสนใจสายสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากมีเป้าหมายแล้วเราก็เริ่มมองหาทุนเรียนต่อ ศึกษาหลักสูตร ข้อมูลอาจารย์และรายวิชาที่ตอบโจทย์เรา จนมาสะดุดและลงตัวที่ "คณะยุโรปศึกษา"

ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีก่อนยังหาอ่านข้อมูลทุนรัฐบาลโรมาเนียยากมากๆ เพราะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และไม่ค่อยมีผู้สมัครจากไทย แต่หลายปีมานี้เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเยอะมาก และข่าวดีคือทุนมีทำเว็บไซต์ใหม่ที่ใช้งานง่ายและมีข้อมูลเอกสารบอกครบ *เราต้องอัปโหลดเอกสารทางออนไลน์อย่างเดียว เนื่องจากสถานการณ์โควิดค่ะ

ข้อควรรู้้เกี่ยวกับทุน

  • มีโควตารวมกัน 85 ทุนต่อปี จากผู้สมัครทั่วโลกและรวมทุกระดับทั้ง ป.ตรี, โท และเอก
  • สำหรับผู้ที่ขอทุนเรียนต่อระดับ ป.ตรี และ ป.โท จะต้องเลือกเรียนเป็นหลักสูตรภาษาโรมาเนียเท่านั้น *ทุนไม่ครอบคลุมคณะแพทย์
  • ครอบคลุมค่าเรียนเต็มจำนวน ค่าวีซ่า ค่าหอพัก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยระดับ ป.ตรีจะได้ค่ากินอยู่ประมาณเดือนละ 65 EUR ตีเป็นเงินไทยประมาณ 2,300 กว่าบาท หรือราวๆ 320 Romanian Leu, (อัปเดตเรตเงิน มี.ค.65)

แชร์โพรไฟล์ช่วงยื่นสมัครทุน

  • ตอน ม.ปลาย เคยทำกิจกรรมบ้าง และไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา
  • เราไม่ได้ยื่นคะแนนภาษา *ถ้ามีก็ดี แต่เขาไม่ซีเรียสเพราะยังไงเราก็ต้องไปเรียนภาษาโรมาเนียอยู่ดี
  • คะแนน ม.ปลายก็สำคัญ แต่เราคิดว่าส่วนที่มีน้ำหนักสุดคือ Portfolio + Motivation Letter เขาจะดูว่าทำไมเราถึงอยากเรียน, ทำไมถึงต้องโรมาเนีย, ควรเลือกคณะ มหาวิทยาลัย แล้วมาเขียนจดหมายแนะนำตัวให้สอดคล้องและดูน่าสนใจ

คำแนะนำ เตรียมภาษาอังกฤษให้แข็งแรง และหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้านสังคม งานอาสาสมัคร ฯลฯ  เพื่อแสดงให้เห็นถึงแพสชันด้านนั้นๆ จะช่วยให้ใบสมัครของเราโดดเด่นขึ้น

ขั้นตอนการสมัครคร่าวๆ

  1. หาคณะและมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน (*ไม่ครอบคลุมคณะแพทย์นะคะ) การขอทุนและสมัครมหาวิทยาลัยจะเป็นขั้นตอนเดียวกัน ถ้าสมัครได้ทุนก็เท่ากับได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เลือก
  2. สำหรับ List เอกสารทั้งหมดจะมีบอกที่หน้าเว็บไซต์ https://scholarships.studyinromania.gov.ro  ซึ่งควรรีบเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะอย่างพวกใบจบและสูติบัตรเราต้องแปลภาษาอังกฤษและรับรองที่กงสุลด้วย โดยเฉพาะช่วงโควิดจะใช้เวลาดำเนินการนานมากกกก เอาแน่เอานอนไม่ได้ค่ะ
  3. สมัครทุนออนไลน์ (ปีเรายุ่งยากเพราะยื่นผ่านสถานทูต)
  4. รอประกาศผล
  5. หากได้ทุนก็ให้เตรียมตัวทำวีซ่า เตรียมบินเลยค่ะ

ตอนปีเราจะได้สัมภาษณ์กับท่านทูต ประมาณว่าเราอยากไปเรียนอะไร สนใจวิชาอะไรในสาขาที่สมัคร มีอะไรน่าสนใจในโรมาเนีย ฯลฯ ท่านทูตใจดีมากๆ ค่ะ แต่สำหรับปีนี้ไม่มีสัมภาษณ์ใดๆ อัปโหลดขึ้นเว็บแล้วรอประกาศผลอย่างเดียว

เว็บไซต์ทุนรัฐบาลโรมาเนีย

. . . . . . . . .

จุดเริ่มต้นความช็อกที่โรมาเนีย
ประเทศเนี้ยเป็นยังไงนะ? 

พอเดินทางมาถึงครั้งแรกที่เมืองหลวงอย่าง "กรุงบูคาเรสต์" (Bucharest) สภาพบ้านเมืองดูเก่าแก่ สนามบินขนาดเล็กมาก บุคลิกภายนอกของแต่ละคนที่ดูเย็นชาหน้าบึ้งตึง

เราเริ่มต้นชีวิตที่โรมาเนียด้วยการยื่นเอกสารเองทุกอย่าง แต่ความตลกคือเราไม่รู้เลยว่าต้องไปตรงไหน ทำยังไงบ้าง ตอนได้ทุนรู้แค่ว่าต้องไปยื่นที่ Ministry of Education จากนั้นก็กาง Google Map ไปมหาวิทยาลัยไปรายงานตัว เข้าหอพัก เจ้าหน้าที่ก็งงๆ กับการมาถึงของเรา เหมือนกับทุนนี้ไม่มีอยู่จริง // นี่ยังคุยกับเพื่อนเปรูอีกคนที่อยู่ต่างเมืองเลย เขาเจอหนักกว่าเราอีกค่ะ มหาวิทยาลัยบอกว่าไม่รู้จักทุนนี้! 555555 (แต่หลายปีมาแล้วนะคะ ตอนนี้นักเรียนเยอะขึ้นแล้ว)

วันแรกในโรมาเนีย
วันแรกในโรมาเนีย
Subway station from Bucharest, Romania
Subway station from Bucharest, Romania
Photo by Voicu Horațiu on Unsplash

รีวิวชีวิตความเป็นอยู่
(จากประสบการณ์ส่วนตัว ณ ตอนนั้น)

ตอนแรกเราก็กังวลเรื่องการปรับตัว แต่พอไปถึงกลับแฮปปี้เพราะเมืองดีมากกก มหาวิทยาลัยที่เราเรียนตั้งอยู่ในเมืองคลูช-นาโปกา (Cluj-Napoca) ทางตอนเหนือในดินแดนที่ชื่อ Transylvania  // เชื่อว่าทุกคนน่าจะนึกถึงตำนาน แดร็กคิวล่าหมือนกันใช่มั้ยคะ 555

  1. บรรยากาศในเมืองเหมาะกับการเรียน มีกิจกรรมให้ทำตลอด เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแพทย์ดังๆ หลายแห่ง รวมถึง Babes-Bolyai University ที่เราเรียนก็ดังในหมู่นักเรียนยุโรปเหมือนกัน อาจารย์เก่งๆ และนักเรียนต่างชาติเยอะเลยค่ะ
ปราสาทบราน Bran Castle (ปราสาท Dracula)
ปราสาทบราน Bran Castle (ปราสาท Dracula)
Eramus (กิจกรรมของมหาลัย)
Eramus (กิจกรรมของมหาลัย)

2. ค่าครองชีพจะแพงกว่าเมืองเล็กๆ แต่สวัสดิการนักเรียนที่คิดว่าดีมาก (ตอนเราอยู่) คือมีตั๋วนักเรียนให้นั่งรถไฟชั้น 2 ฟรีทุกที่ ทำให้เราได้เที่ยวในโรมาเนียเยอะมาก  และนักเรียน-นักศึกษาเจ็บป่วยจะได้รักษาฟรี

3. ถ้าเป็นเมืองเล็กๆ คนจะไม่ได้ดูเร่งรีบเหมือนในเมือง แล้วยิ่งถ้าเกิดพูดภาษาโรมาเนียได้ คนจะชื่นชอบเรามากขึ้น 80% และชีวิตจะง่ายขึ้นหลายเท่า! ภายนอกคนโรมาเนียอาจจะหน้าดุ ไม่ค่อยยิ้ม แล้วจริงๆ ใจดีและพร้อมช่วยเหลือเต็มที่นะ

Cluj-Napoca, Romania
Cluj-Napoca, Romania 
สวนสาธารณะประจำเมืองคลูช
สวนสาธารณะประจำเมืองคลูช

4. เวลาติดต่อราชการหรืออะไรที่เกี่ยวกับเอกสารจะต้องทำใจเลยว่าจะช้ามาก และมีโอกาสเจอคนไม่ค่อยเป็นมิตร ถ้าเขาไม่รู้ก็จะไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือหรืออยากมายุ่งเกี่ยวเท่าไหร่ เวลาติดต่ออะไรเป็นเรื่องปกติที่จะได้กลับไปทำเรื่องเดิมซ้ำอีก 3-4 รอบ เพราะไม่มีใครแน่ใจเลย มักจะต้องตำหนิไปบ้างงานถึงจะเดิน

5. อากาศที่โรมาเนียแสนสาหัสสุดๆ ถ้าหนาวจะถึงขั้น -20 หนาวจับจิตไปถึงขั้วกระดูก น่าจะเป็นช่วงยากลำบากสำหรับคนชอบหน้าร้อน

Cluj-Napoca, Romania 
Cluj-Napoca, Romania 
Photo by Sorin Gheorghita on Unsplash
Cluj-Napoca, Romania
Cluj-Napoca, Romania 
โบสถ์เก่าในเมือง Cluj-Napoca, Romania
โบสถ์เก่าในเมือง Cluj-Napoca, Romania 
โบสถ์กลางเมือง Cluj-Napoca, Romania
โบสถ์กลางเมือง Cluj-Napoca, Romania 

. . . . . . . . .

เปิดรีวิวการเรียนที่ UBB
(เด็กเอเชียหนึ่งเดียวในคณะ!)

Universitatea Babeş-Bolyai หรือชื่อย่อคือ UBB อ่านว่า อูเบเบ เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และดังพอสมควร (เราได้ยินเพื่อนโรมาเนียพูดบ่อยๆ ว่าถ้าจบจากที่นี่จะหางานง่าย) ซึ่งคณะของ UBB ก็จะอยู่กระจายไปตามเมืองคลูช-นาโปกา อย่างคณะเราอยู่กลางเมืองเลย // คณะเด่นอื่นๆ ของ UBB เช่น  Law, Science, Psychology, Economic and Business Administration ฯลฯ   ถ้าศิษย์เก่าดังๆ ก็อย่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน Klaus Werner Iohannis  นั่นเองค่ะ

และด้วยความที่ UBB มีเปิดสอนภาษาอื่นนอกจากโรมาเนีย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และฮังกาเรียน ทำให้มหาวิทยาลัยมีนักเรียนหลากหลายสัญชาติ ส่วนคณะ European Studies (Studii Europene) สาขา International Relations ที่เราเรียนจะเรียนเป็นภาษาโรมาเนีย  และมีโอกาสเลือกเรียนภาษาที่ 3-4 เช่น ภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน สเปนด้วย

คณะ European Studies
คณะ European Studies
คณะอักษรฯ ของ UBB
คณะอักษรฯ ของ UBB

"ก่อนหน้านี้เราได้เรียนภาษาโรมาเนียก่อน 1  ปี 
คิดว่าตัวเองพอได้  ฟังอาจารย์รู้เรื่องแหละ  สบายแน่นอน!"
 

แต่สุดท้ายก็มาเจอความจริงว่าฟังออกแค่ 40% นอกนั้นพยักหน้าเข้าใจ พวกเขาพูดกันเร็วมากกกกก แถมเรายังเป็นนักเรียนเอเชียคนเดียวของคณะ ตอนเข้าคลาสครั้งแรกทุกคนหันมามองหมดเลย อาจารย์ถามว่าเข้าคลาสผิดรึเปล่าาา~

จริงๆ ช่วงแรกก็มีท้อเพราะภาษานี้เรียนไม่ง่ายเลย แต่สักพักก็ปรับตัวได้  คำแนะนำคือให้หาเพื่อนโรมาเนียไว้คอยฝึกภาษา และเลือกอยู่หอมหาวิทยาลัยเพื่อใช้ใช้ชีวิตกับคนโรมาเนีย พยายามใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ผับ บาร์ต่างๆ

หอพัก
หอพัก

คณะยุโรปศึกษา ได้้เรียนอะไรบ้าง?

 หลักสูตรนี้จะเจาะลึกไปที่สหภาพยุโรป (European Union) ประวัติความเป็นมา ที่มาที่ไป แนวคิดแรกเริ่ม ความสำคัญ ไปจนถึงกฎหมายต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจความเป็น EU มากขึ้น สามารถต่อยอดไปทำงานสายสถานทูต องค์กรระหว่างประเทศ หรือตัวแทน EU ในประเทศไทยได้ 

ตอนเรียนเขาจะให้เราแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ และจะได้อยู่กลุ่มเดิมไปตลอดจนปี 3 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของปริญญาตรี แล้วแต่ละวิชาจะมีพาร์ต Lecture = เรียนรวมทั้งชั้นปี และ  Seminar​ =เรียนตามกลุ่ม เน้น discuss/present เนื้อหาที่เรียนในเลกเชอร์

แล้วที่พิเศษคือนักเรียนสามารถเลือกเวลาไปสอบได้ ทั้งหมดมี 2 วัน แล้วหากตกก็มีสอบแก้ (Restanta) และสอบแก้ในแต่ละปีจนกว่าจะผ่าน แต่ที่งงคือเขาจะให้ฝึกงานตั้งแต่ปีแรกที่เรียน ยังไม่มีความรู้แต่ต้องหาที่ฝึกงานแล้ว 555

สมุดประจำตัวนักเรียน
สมุดประจำตัวนักเรียน

รีวิวตัวอย่างวิชาเรียน

  1. Europenizarea României หรือ Europeanization of Romania พูดถึงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยโรมาเนียก้าวสู่หนึ่งในสมาชิก EU สภาพสังคม เศรษฐกิจในยุคนั้น ๆ และปัจจัยอะไรที่ทำให้โรมาเนียสามารถเปลี่ยนผ่านจากอดีตประเทศคอมมิวนิสต์สู่สมาชิกสหภาพยุโรป วิชานี้คิดว่าน่าสนใจดีค่ะ เราได้เรียนกับอาจารย์โรมาเนียที่เคยผ่านยุคสมัยคอมมิวนิสต์มาจริงๆ
     
  2. Sisteme politice europene Politics of European Union  การเมืองของสหภาพยุโรปจะสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของคนในสมาชิกกลุ่มประเทศ EU ในทุกด้าน ทั้งการเงิน การทำงาน การศึกษา  ฯลฯ ซึ่งการเมือง EU จะมีความสลับซับซ้อนและขั้นตอนมากมาย  เพราะเมื่อรัฐหลายๆ รัฐมารวมกันแล้ว การที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์และดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องกำหนดกฎเกณฑ์ ขั้นตอน ระบบรวมเป็นการเมืองย่อยๆ // เป็นอีกวิชาที่สนุกมากๆ ค่ะ ทำให้เห็นโครงสร้าง EU การเลือกตั้ง สนธิสัญญาต่างๆ กฎหมาย EU ที่บังคับใช้จริง
     
  3. Introduction to Political Science  เรียนตอนปี 1 เป็นวิชาในตำนานที่จำขึ้นใจเลยคือ โหดจนตกเรียบกันครึ่งคลาส (รวมถึงเราด้วย) อาจารย์ก็หมายหัวด้วยค่ะว่าใครเข้าหรือไม่เข้าเรียนบ้าง  แทบไม่อยากซ่อมเลยค่ะ 555
เว็บคณะ European Studies

วัฒนธรรมการเรียนของเด็กโรมาเนีย
เรียนหนัก เที่ยวหนัก หรือปาร์ตี้หนัก?

ถ้าเรื่อง party hard ยอมรับเลย แต่เรารู้สึกเขาไม่ค่อย work hard, study hard ขนาดนั้น จะไปทางชิลล์ เริ่มอ่านหนังสือหนักสักช่วงก่อนสอบ 1 เดือนถึง 2 สัปดาห์ ถึงเวลาห้องอ่านหนังสือในหอพักก็จะเต็มเลยค่ะ 

จากที่สังเกตในคาบ Seminar ที่เป็นอภิปราย นักเรียนยกมือถามอาจารย์และแสดงความคิดเห็นกันได้เต็มที่ และมีความ Independent สูง ไม่ได้ช่วยกันเรียนหรือรวมกลุ่มกันติว (ยกเว้นงานกลุ่ม) ดังนั้นถ้าเป็นคนเอเชียหนึ่งเดียวเหมือนเรา แนะนำให้หาเพื่อนสนิทเป็นคนโรมาเนีย แล้วเพื่อนจะแนะนำเพื่อนต่อกันไปอีก เราก็จะมีเพื่อนมากขึ้น ช่วยตอนเรามีปัญหาเรื่องเรียนได้ดีมากค่ะ  

เพื่อนสนิทคนโรมาเนีย & อินโดนีเซีย
เพื่อนสนิทคนโรมาเนีย & อินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะแข่งกันเรียนให้ได้เกรดสูงๆ  หลังเรียนจบจะได้สมัครงานแล้วได้เงินเดือนดีๆ แต่ส่วนใหญ่เขานิยมเรียนต่อ ป.โทกันค่ะ (เพื่อนโรมาเนียร้อยละ 90 ต่อ ป.โทหลังจบ) ส่วนหนึ่งเพราะคนโรมาเนียหางานยากมากกกก แต่อีกเหตุผลสำคัญคือทุนในคณะเยอะ ค่าเทอมของโรมาเนียก็ไม่แพงเท่ากับกรณีนักเรียนต่างชาติ

สำหรับฝั่งยุโรปตะวันออก เรื่องคอนเนกชันจำเป็นมาก จบจากมหาวิทยาลัยอะไรยังไม่สำคัญเท่ากับมีคนรู้จักในที่ทำงานมั้ย มหาวิทยาลัยถึงกับแนะแนวเลยว่าช่วงฝึกงานกับช่วงเรียน ให้พยายามผูกมิตรกับเพื่อน พี่ หรือคนในหอเดียวกันไว้เยอะๆ อย่างเราก็ได้ที่ฝึกงานเพราะเพื่อนห้องข้างๆ (มารู้ทีหลังว่าเป็นเพื่อนในคณะ แล้วกลายเป็นเพื่อนสนิทกันถึงทุกวันนี้ค่ะ)

หากมีคนอยากปรึกษาเรื่องการเรียนหรือขอทุนโรมาเนีย สามารถ dm มาที่ IG : iam_mpmp มาสอบถามได้นะคะ

Cluj-Napoca, Romania
Cluj-Napoca, Romania
Photo by Lucas Sandor on Unsplash
Cluj-Napoca, Romania
Cluj-Napoca, Romania 
เรียนจบแล้ว ถ่ายที่จตุรัสกลางเมือง~
เรียนจบแล้ว ถ่ายที่จตุรัสกลางเมือง~
เมือง Sibiu สถาปัตยกรรมแบบเยอรมัน
เมือง Sibiu สถาปัตยกรรมแบบเยอรมัน
เที่ยวนอกเมือง
เที่ยวนอกเมือง

. . . . . . . . .

แนะนำกลุ่มสำหรับคนอยากเรียนต่อโรมาเนีย

สุดท้ายอยากฝากถึงคนที่สนใจอยากเรียนต่อประเทศโรมาเนีย โดยเฉพาะสายแพทย์ แม้ว่าทางทุนรัฐบาลโรมาเนียจะไม่ครอบคลุมคณะแพทย์ก็ตาม จะมีกรุ๊ปรุ่นพี่ชื่อ GMEG Education Group เรียนต่อแพทย์ประเทศโรมาเนีย ช่วยดูแลคนที่อยากเรียนต่อแพทย์ในยุโรป หรือคณะอื่นๆ ที่กำลังฮอตฮิตในประเทศโรมาเนีย หรือลองสอบถามไปที่ info.gmegeducation@gmail.com  ก็ได้อีกช่องทางนึง

สำหรับทุนรัฐบาลโรมาเนียปีนี้ เพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 แต่ถ้าใครเตรียมสมัครปีต่อไป อยากให้รีบเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จทุกคนค่า ^^

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น