รู้หรือไม่! การอ่านจากหนังสือ-หน้าจอให้ผลลัพธ์ต่างกัน

คนรักการอ่านต้องดู! ในปัจจุบันเราใช้ชีวิตผ่านหน้าจอมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ และ Work from Home จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนหลายคนเคยชินกับการอ่านแบบนี้แทนการอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิมๆ ไปแล้ว! แต่เคยสังเกตกันไหมคะว่าทักษะการทำความเข้าใจในการอ่านลดลง เช่น จับใจความสิ่งที่ข้อความต้องการจะสื่อไม่ถูก หรืออ่านข้อความตกหล่นจนทำให้เข้าใจคาดเคลื่อน ดังนั้นในวันนี้พี่โบว์จะมาบอกว่าทำไมการอ่านผ่านหนังสือและหน้าจอถึงให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันค่ะ

รู้หรือไม่! อ่านหนังสือ-หน้าจอ ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
รู้หรือไม่! อ่านหนังสือ-หน้าจอ ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

รู้หรือไม่! การอ่านจากหนังสือ-หน้าจอให้ผลลัพธ์ต่างกัน

จากการศึกษาจำนวนมากชี้ว่าคนจะทำความเข้าใจจากการอ่านผ่านหน้าจอได้ไม่ดีเท่ากับการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ดังที่ Patricia Alexander แห่ง University of Maryland ได้กล่าวไว้ว่า นักเรียนมักคิดว่าพวกเขาเรียนรู้จากการอ่านผ่านสื่อออนไลน์ได้ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วเมื่อทดสอบกลับกลายเป็นว่าพวกเขาเรียนรู้ได้น้อยกว่าการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์!

Maryanne Wolf นักประสาทวิทยาแห่ง University of California, Los Angeles อธิบายไว้ว่า ในขณะที่เราเรียนรู้ที่จะพูดโดยอาศัยการฟังจากคนรอบข้าง แต่การเรียนรู้ที่จะอ่านต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก โดยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นเพราะสมองไม่มีเครือข่ายของเซลล์ที่ใช้เพื่อการอ่านโดยเฉพาะ แต่สมองจะนำเครือข่ายของเซลล์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้วไปใช้ทำสิ่งอื่นด้วยแทน หรือเปรียบเทียบได้กับการนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งหนึ่งไปดัดแปลงใช้กับสิ่งอื่น นั่นคือสิ่งที่สมองทำเมื่อเรากำลังอ่านอยู่นั่นเองค่ะ 

สมองที่ทำงานได้อย่างยืดหยุ่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ได้มากมาย อย่างไรก็ตามความยืดหยุ่นนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อต้องอ่านข้อความจากสื่อที่ต่างกัน เมื่อเราอ่านผ่านสื่อออนไลน์ สมองจะสร้างชุดการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ให้แตกต่างไปจากที่ใช้กับสื่อสิ่งพิมพ์ เปรียบเทียบได้กับการนำเครื่องมือที่ดัดแปลงแล้วไปดัดแปลงใช้กับสิ่งอื่นอีกที ทำให้สมองเข้าสู่โหมดการอ่านแบบผ่านๆ ตอนอ่านจากหน้าจอ แต่ตอนที่อ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์จะเปลี่ยนเป็นการอ่านอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับกรอบความคิดของเรา Naomi Baron นักภาษาศาสตร์แห่ง American University ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ How We Read Now เกี่ยวกับการอ่านและการเรียนรู้ผ่านดิจิทัล กล่าวไว้ว่า ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ในการอ่านไว้ว่าง่ายหรือยาก ถ้าเราคิดว่ามันจะง่าย เราก็อาจจะไม่ทุ่มเทมาก 

สมองที่นำไปใช้กับการอ่านนั้นเปรียบได้กับการนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งหนึ่งไปดัดแปลงใช้กับสิ่งอื่น
สมองที่นำไปใช้กับการอ่านนั้นเปรียบได้กับการนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งหนึ่งไปดัดแปลงใช้กับสิ่งอื่น

สิ่งที่อ่านผ่านหน้าจอส่วนใหญ่มักเป็นพวกข้อความหรือโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักทำความเข้าใจได้ง่าย Patricia Alexander แห่ง University of Maryland กล่าวว่า คนจะอ่านเร็วขึ้นเมื่ออ่านจากหน้าจอ ทำให้ซึมซับได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งการอ่านแบบผ่านๆ ก็อาจจะเป็นนิสัยที่เกิดมาจากการอ่านแบบดังกล่าว ให้ลองนึกภาพตามว่า เมื่อเราใช้โทรศัพท์เพื่ออ่านการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย สมองก็อาจกระตุ้นเครือข่ายของเซลล์ที่เราใช้กับการอ่านข้อความแบบผ่านๆ ตามโพสต์ใน TikTok 

การเลื่อนอ่านข้อความจากหน้าจอก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้แตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดย Mary Helen Immordino-Yang นักประสาทวิทยาแห่ง University of Southern California กล่าวว่า สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะกรณีที่กำลังอ่านข้อความที่ยาวหรือซับซ้อน ขณะที่เราเลื่อนหน้าจอลง สมองจะต้องพิจารณาตำแหน่งของคำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทำความเข้าใจข้อความได้ยากขึ้นค่ะ

นอกจากนี้ Alexander  พบว่าความยาวของข้อความก็เป็นส่วนสำคัญ นักเรียนจะทำความเข้าใจข้อความขนาดสั้นจากการอ่านจากหน้าจอได้พอๆ กับการอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่จะเรียนรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์ได้ดีกว่าถ้าข้อความมีความยาวมากกว่า 500 คำ 

คนจะอ่านเร็วขึ้นเมื่ออ่านจากหน้าจอ ทำให้ซึมซับได้ไม่ดีเท่าที่ควร
คนจะอ่านเร็วขึ้นเมื่ออ่านจากหน้าจอ ทำให้ซึมซับได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

Jenae Cohn แห่ง California State University, Sacramento ที่ตีพิมพ์หนังสือ Skim, Dive, Surface เกี่ยวกับการอ่านผ่านดิจิทัล กล่าวไว้ว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอาจไม่ได้มาจากคำที่ปรากฏบนหน้าจอดิจิทัล แต่มาจากสิ่งอื่นที่เข้ามาขัดขวางการอ่านของเรา การมีสมาธิจดจ่อเมื่อมีบางสิ่งมาขัดจังหวะในทุกๆ ไม่กี่นาทีเป็นเรื่องยาก เช่น เสียงแจ้งเตือน โฆษณาป๊อปอัพ และการอัปเดตแอปพลิเคชัน  ซึ่งสามารถทำลายสมาธิของเราไปจากการอ่านได้อย่างรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตามการอ่านบนหน้าจอดิจิทัลก็มีข้อดีเหมือนกัน เช่น ปรับขนาดตัวอักษรได้ ปรับฟอนต์ตัวอักษรได้ เปลี่ยนสีพื้นหลังข้อความได้ และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ยังแทรกไฮเปอร์ลิงก์ที่ช่วยให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเจาะลึกประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากยิ่งขึ้นได้ด้วย ซึ่ง Alexander  ได้กล่าวไว้ว่า ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิทัลต่างก็มีข้อดีและนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าต้องการที่จะเรียนรู้จากสองสิ่งนี้ได้อย่างดีก็อาจจะต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป

แม้จะมีหลายข้อชี้ชัดว่าการอ่านจากหน้าจอให้ผลลัพธ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าการอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป หากเรานำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ก็จะทำให้เราสามารถเรียนรู้ข้อความผ่านสื่อนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสมค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttps://www.sciencenewsforstudents.org/article/learn-comprehension-reading-digital-screen-paperขอขอบคุณรูปภาพจากhttps://www.freepik.com/author/jcomphttps://www.freepik.com/author/pressfoto
พี่โบว์
พี่โบว์ - Converter แปลงไฟล์อีบุ๊กนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด