"พี่ก้อง ชณัฐ" เจ้าของคลิปไวรัล 'ทัวร์โรงกำจัดขยะ' กับการหยิบเรื่องขยะมาเล่าให้เป็นเรื่องสนุก

เราก็แค่ปัดภาระออกไปจากหน้าบ้านเรา แค่มัดปิดถุงดำแล้วเอาไปทิ้ง ก็ถือว่าเรามองไม่เห็นปัญหา แต่จริงๆ แล้วขยะเหล่านี้มันยังเป็นปัญหาอยู่ที่ปลายทาง 

เรื่องของ 'ขยะ' สิ่งที่เราคุ้นเคยมากๆ แต่จริงๆ แล้วอาจจะแทบไม่รู้จักมันเลย น้องๆ ชาว Dek-D รู้มั้ยคะว่าการที่เราเอาขยะโยนทิ้งลงถังไป ปัดมือ 2 ที ปิดจ๊อบ จริงๆ แล้วมันยังไม่จบแค่นั้น ขยะชิ้นนั้นจะต้องเดินทางผ่านกระบวนการมากมาย และถ้าเราทิ้งไม่ถูกวิธีมันอาจจะคงอยู่บนโลกใบนี้เป็นร้อยๆ ปี นานกว่าชีวิตของเราด้วยซ้ำ!

วันนี้เราจะพาชาว Dek-D ทุกคนไปทำความเข้าใจเรื่องของ 'การแยกขยะ' กับ Content Creator  "พี่ก้อง - ชณัฐ วุฒิวิกัยการ" เจ้าของแอคเคาท์ @KongGreenGreen คนที่หยิบเรื่องขยะมาเล่าให้เป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย และทัชใจจนกลายเป็นไวรัลล้านวิว+++

การเข้าสู่วงการ 'แยกขยะ'

เรื่องของการแยกขยะ จริงๆ พี่ก็พยายามทำในชีวิตประจำวันอยู่ตลอด เพียงแต่ไม่ได้ทำออกมาเป็น Content อาจจะทำถูกบ้าง ผิดบ้าง ประกอบกับเคยไปอยู่ต่างประเทศ เขาบังคับให้แยกขยะ ถ้าใครไม่ทำก็โดนปรับ พอกลับมาเราก็เลยพยายามแยกเท่าที่แยกได้  เช่น อะไรที่เรารู้สึกว่าขายได้ ทำไมกระดาษขายได้ ทำไมขวดขายได้ แสดงว่ามันไม่ใช่ขยะ แต่มันมีประโยชน์และมีมูลค่า

คนไทยสร้างขยะ 1 กิโลกรัม/วัน

จากชีวิตปกติที่กินข้าวทุกวัน ก็เริ่มมีการ tracking (ติดตาม) ตัวเอง เราเริ่มถ่ายรูปขยะที่เราสร้างลง IG Story ทุกวัน ก็เพิ่งมารู้ตัวว่าแค่กินข้าวมันไก่  1 มื้อ เราสร้างขยะเป็น 10 ชิ้นเลยนะ ทั้งกระดาษห่อ ถุงน้ำซุป ถุงน้ำจิ้ม หนังยาง ไหนจะถุงพลาสติกอีก พอเราเริ่มนับจำนวนขยะแล้ว วันรุ่งขึ้นเราก็เปลี่ยนเอาปิ่นโตไปใส่แทน จากเมื่อวานที่ขยะเป็น 10 วันนี้มันกลับกลายเป็นศูนย์!  ใน 1 มื้อ ถ้าเราสั่งอาหารเดลิเวอรี่มากิน เฉลี่ยก็จะมีขยะไม่ต่ำกว่า 5 ชิ้น ถ้ากินกันเป็นกลุ่มก็เป็นสิบๆ ชิ้น 

จริงๆ มีข้อมูลว่า คนไทย 1 คนสร้างขยะประมาณ 1 กิโลกรัม/วัน 

แต่คนกรุงเทพฯ 1 คน สร้างขยะคนละ 2 กิโลกรัม/วันเลยนะ

"โรงงานแยกขยะ - ภูเขาขยะ" ปลายทางของขยะจากบ้านทุกคน

มันมีคลิปหนึ่งที่พี่พาไปดูปลายทางของขยะ ' รีวิวบ่อขยะ' ชื่อเรียกว่า 'บ่อ' แต่จริงๆ แล้วมันคือ 'ภูเขาขยะ' ซึ่งมันเคยเป็นบ่อมาก่อน แต่พอเทขยะลงไปเรื่อยๆ มันก็พูนขึ้นมาเป็นภูเขาที่ขนาดใหญ่เป็นร้อยไร่ ภูเขาของขยะอย่างเดียวและขยะจากแค่จังหวัดเดียวเท่านั้น ทั่วประเทศไทยเรามีประมาณ 2,000 กว่าแห่ง และกว่า 1,800 กว่าแห่งกำจัดขยะไม่ถูกต้อง  

 สิ่งที่พี่ไปเจอมาแล้วรู้สึกทึ่งในโรงงานแยกขยะก็คือ ขยะที่มาจากบ้านเรามันจะอยู่ในถุงดำ รถเก็บไป แล้วก็เอามาเทที่โรงงานแยกขยะ ขยะก็ถูกเรียงมาตามสายพาน มีคนงานมาเปิดถุงทุกใบ แล้วคัดแยกว่ามีอะไรที่เอามารีไซเคิลได้บ้าง? ไม่ว่าจะเป็น กระป๋อง พลาสติก ขวด เหล็ก หรือขยะอันตราย ซึ่งการใช้แรงคนก็จะได้ขยะรีไซเคิลที่เป็นแค่ส่วนน้อยมากๆ ที่เหลือก็ถูกส่งเข้าเครื่องทำปุ๋ย กว่าจะเข้าไปทำปุ๋ยก็ต้องผ่านเครื่องขัดแยกเอาขยะที่ย่อยไม่ได้ออกอีก ไม่งั้นก็ได้ปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพ  

เราก็แค่ปัดภาระออกไปจากหน้าบ้านเรา พอมัดปิดถุงดำแล้วเอาไปทิ้ง ก็ถือว่าเรามองไม่เห็นปัญหา แต่จริงๆ แล้วขยะเหล่านี้มันยังเป็นปัญหาอยู่ที่ปลายทาง  

เลือกระหว่างให้ขยะอยู่อีกร้อยปี หรือ เอาขยะกลับมาใช้ประโยชน์

ถ้าเราแยกขยะ ก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่จะไปสู่ตรงนั้นได้ เช่น พลาสติกต่างๆ ที่แยกแล้ว เราก็จะส่งไปรีไซเคิล เป็นวัสดุที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ได้ใหม่ แต่ถ้าเราส่งไปทิ้ง ด้วยความแข็งแรงของพลาสติก มันก็สามารถอยู่ในภูเขาขยะได้เป็น 200-300 ปีกว่าจะย่อยสลาย เราก็ต้องเลือกเอาว่าจะปล่อยให้เขาไปนอนอยู่บนภูเขาตรงนั้น หรือเอาเขากลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการแค่แยกแล้วก็จัดการให้ถูกวิธี  

ถ้าเราเอามันกลับมาใช้ สิ่งที่ดีต่อโลกคือ เราก็ไม่ต้องไปขุดหาทรัพยากรใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าเราผลิตเยอะๆ ก็ทำให้โลกร้อนในทุกวันนี้ แต่เราเอาสิ่งที่ผลิตขึ้นมาแล้วหมุนเวียนมาใช้ใหม่ ไปต้องไปรบกวนทรัพยากรใหม่ๆ เราก็ช่วยเรื่องโลกร้อยได้อีก จริงๆ มันยังมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ถ้าเกิดไฟไหม้ภูเขาขยะก็กลายเป็นฝุ่น PM2.5 ฝนตกน้ำท่วมกรุงเทพฯ หนึ่งในสาเหตุหลักก็มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ไม่เป็นทาง แล้วประเทศไทยก็ติดอันดับ TOP5 ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ทำให้เกิดมลภาวะอีกมากมาย

เริ่มต้นแยกขยะยังไงดี?

อย่างแรกเลย ให้แยกสิ่งที่เป็นขยะรีไซเคิลก่อน เช่น กระดาษ พลาสติก โลหะ กระป๋องต่างๆ ถ้าเราไม่เอาไปขายให้พี่ซาเล้ง ก็แค่ใส่ถุงใสๆ ที่พอมองเห็นข้างใน หรืออาจจะเขียนติดไว้ว่าเป็นขยะรีไซเคิล แล้วเอาวางไว้หน้าบ้าน ยังไงเดี๋ยวก็มีคนมาเก็บไป เพราะว่ามันมีราคา  

ต่อมาที่สำคัญมากๆ คือ ถ้าแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะอื่นๆ ได้ มันก็จะดีมากๆ ถ้าเราสะดวกก็เทเศษใส่เครื่องหมักปุ๋ย หรือง่ายกว่านั้นคือเทเศษอาหารแยกออกจากขยะอื่นๆ รวมไว้ใน 1 ถุง ขยะอื่นๆ จะได้ไม่เลอะ แค่นี้ก็จะช่วยให้ขยะสะอาดขึ้นได้  

หรือถ้าใครอยาก Zero Waste เหมือนอย่างพี่ก้อง ในแต่ละวันจะพยายามไม่ให้มีขยะไปกับรถขยะเลย ขยะอื่นๆ ที่รีไซเคิลไม่ได้ พี่ก็จะแยกเก็บไว้ เอาไปส่งต่อ เพื่อผลิตพลังงานต่อไป ถ้าไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหน ก็ติดตามกิจกรรม 'ขยะกำพร้าสัญจร' ในเพจ 'บางขยะ Bangkaya' หรือ เพจ 'N15 Technology'  ได้เลย

 อย่าคิดว่าการแยกขยะเป็นเรื่องแปลก

 อย่าคิดว่าการแยกขยะเป็นเรื่องแปลก! หูย..เธอเป็นคนดีจังเลย เราต้องทำให้รู้สึกว่า คนที่แยกขยะเป็นคนปกติ แล้วอีกส่วนก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย แล้วทำไมถึงไม่แยกบ้างล่ะ เราต้องเปลี่ยนความคิดแบบนี้ให้กลายเป็นเรื่องปกติ 

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การแยกขยะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด 

เพราะการไม่สร้างขยะที่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า  

พอเราไม่เริ่มทำเราก็จะคิดว่ามันยากไง การแยกขยะมันเป็นเรื่องยากก็ถือว่าถูก เพราะมันไม่มีอะไรง่ายกว่าที่เราทิ้งขยะกันอยู่ตอนนี้แล้ว ถ้าพูดให้แรงหน่อยก็คือ ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการมักง่ายแล้ว พอเราแยกขยะ ชีวิตก็จะยุ่งยากขึ้นแน่นอน แต่ว่าเรายากขึ้นแล้วมันคุ้มค่ามั้ยกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อ 1 เดือนผ่านไปเราจะชิน แล้วจะไม่รู้สึกว่ามันยากเลย แค่เราเริ่มต้นลองทำดู  

 

น้องๆ ชาว Dek-D สามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองได้ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไปเลยค่ะ แค่ปรับเปลี่ยนความเคยชินเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องการแยกทิ้งขวดน้ำ ลองไม่รับหลอด ไม่รับถุงพลาสติกดูบ้างมั้ย ง่ายๆ แค่นี้ก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากแล้วนะ ใครที่อยากติดตามเรื่องราวของขยะและสิ่งแวดล้อมแบบสนุกสนานและเข้าใจง่ายๆ  ก็สามารถติดตามพี่ก้อง @Konggreengreen ได้ทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย

Facebook Fanpage : www.facebook.com/kongchanut

TikTok : @konggreengreen

YouTube  :  KongGreenGreen

Instagram :  @Kongto

 

พี่แพม
พี่แพม - Columnist คอลัมนิสต์สายติ่งเกาหลี นอนน้อยเพราะดูซีรีส์ สาระไม่ค่อยมี หน้าตาดีไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น