มีโอกาสแต่ไม่กล้าคว้า! ระวังจะเสียเวลากับ FOBO (Fear of Better Options)

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D.Com ทุกคน ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบนี้ มีน้องคนไหนที่สอบติดแล้วแต่ไม่กล้าตอบรับ เพราะกลัวว่าจะมีคณะอื่นที่ตัวเองอยากไปมากกว่าติดต่อมาเหมือนกันไหมคะ ถ้าเคยเป็นแล้วน้องๆ รู้รึเปล่าว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร ส่งผลเสียกับเราได้มากแค่ไหน และมีวิธีแก้ไขยังไง? ถ้าไม่อยากเสียเวลากับอะไรอีกแล้ว งั้นเราไปอ่านพร้อมกันเลยค่ะ

ทำไมเรากลัวการเจอโอกาสที่ดีกว่า ?

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเสมอ ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การเลือกเสื้อผ้า การเลือกคู่ครอง หรือแม้กระทั่งการเลือกเข้าเรียน หรือเข้าทำงานกับองค์กรต่างๆ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้รับโอกาสที่เหมาะสมในการทำตามความต้องการของเราได้เสมอไป และถึงแม้ “โอกาส” จะเป็นหนทางที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่ความสำเร็จที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่บางครั้งโอกาสที่เข้ามาในชีวิตก็อาจจะไม่ได้ทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้ทุกครั้ง ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ค่านิยมของสังคม และความพร้อมของเราในขณะนั้นด้วย 

เมื่อทุกโอกาสไม่ได้ช่วยทำให้เราประสบความสำเร็จได้เสมอไป นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความกลัวที่จะเจอโอกาสที่ดีกว่า จนทำให้บางครั้งเราก็รู้สึกสับสนจนไม่กล้าตัดสินใจรับโอกาสที่มีอยู่ตรงหน้า หรือบางทีเราก็เผลอหาข้อมูล หรือเลือกหาแต่สิ่งที่ดีที่สุดมากเกินไป เพราะกลัวจะเสียดายทีหลัง ถ้าสิ่งที่เราเลือกมานั้นไม่ใช่อย่างที่คิดไว้ ซึ่งอาการเหล่านี้ เรียกว่า FOBO หรือ Fear of Better Options 

รูปภาพจาก : freepik
รูปภาพจาก : freepik

FOBO เกิดจากอะไร ?

Fear of Better Options (FOBO) ถูกนิยามขึ้นด้วย แพทริค แมคกินนิส (Patrick McGinnis) โดยสาเหตุที่เขานิยามคำๆ นี้ขึ้นมาเกิดจาก ตัวเขาเองที่มักจะมีความรู้สึกไม่กล้าตัดสินใจเมื่อได้รับโอกาสเข้ามา เพราะกลัวจะเจอโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งนั่นทำให้เขาหงุดหงิดจนต้องหาชื่อเรียกอาการนี้เพื่อไปปรึกษากับคนอื่นๆ และนั่นก็ทำให้เขาต้องประหลาดใจ เพราะคนอื่นที่เขารู้จักก็เผชิญปัญหานี้เช่นเดียวกัน 

ยกตัวอย่าง เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เก่งระดับโลกอย่างไอน์สไตน์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบกับปัญหา FOBO เช่นเดียวกัน โดยเขาเรียกมันว่า “Option Paralysis” หรือ “เป็นอัมพาตในการตัดสินใจ” ในปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น การทานอาหาร หรือการเลือกเสื้อผ้า เขาเลยตัดสินใจใส่ชุดสูทสีเทาเหมือนกันทุกวัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องคิดว่าวันนี้ควรใส่ชุดอะไรดี 

นอกจากคำว่า FOBO แล้ว แมคกินนิส ยังได้ให้นิยามของคำว่า Fear of Missing Out (FOMO) ซึ่งมีความหมายถึง การรีบตัดสินใจมากเกินไปเพราะกลัวตามคนอื่นไม่ทัน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนพบกับความผิดพลาดหรือมาเสียดายทีหลังที่ไม่ได้หาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ และกลับกลายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่าง หรือ Fear of Doing Anything (FODA) ในที่สุด

รูปภาพจาก : Freepik
รูปภาพจาก : Freepik

 จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น FOBO

  • เรามักจะเสียเวลาไปกับการวิเคราะห์ตัวเลือกทั้งหมด เช่น มื้ออาหาร เสื้อผ้า การใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงการเลือกคณะหรือมหาวิทยาลัยในการศึกษาต่อ  ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะพยายามมองหาแต่ตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทำให้การตัดสินใจในครั้งนั้นต้องใช้เวลาในการเลือก ซึ่งอาจยาวนานเป็นนาที เป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรืออาจจะยาวนานเป็นปีเลยก็ได้ ดังนั้นเราจึงอาจจะพูดได้ว่า FOBO นั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรามัวแต่โฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนละเลยความพอดีไปเลย
  • ชอบทำการค้นคว้าและเปรียบเทียบตัวเลือกทั้งหมด แม้ว่าจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้นมาแล้ว แต่ก็จะยังมีความสงสัยอยู่ตลอดเวลา ว่าสิ่งที่เราตัดสินใจเลือกไปนั้นมันดีจริงๆ หรือไม่
  • มักจะคิดถึงผลที่ตามมาในแง่ลบ ถึงแม้คนที่เป็น FOBO ส่วนใหญ่จะชอบใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่พวกเขาก็มักจะมองหาความผิดพลาด มากกว่าที่จะมองในแง่บวก จึงทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่กล้าตัดสินใจเลือกเพราะต้องการตัวเลือกที่ดีกว่า ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วก็ตาม

 จะแก้นิสัย FOBO ได้ยังไงบ้าง?

การจะแก้นิสัย FOBO ไม่สามารถทำได้เลยทันที แต่ต้องอาศัยการทำซ้ำบ่อยๆ จนชิน และเลิกคิดแต่ผลเสีย หรือกังวลไปเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่การตัดสินใจรับโอกาสมาเลยทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือดูความเหมาะสมเลย พูดง่ายๆ คือ ต้องเดินทางสายกลางกลาง ไม่คิดนานเกินไป แต่ก็ไม่รีบรับโอกาสเกินไปด้วย ซึ่งวิธีที่จะทำให้เราค่อยๆ แก้นิสัยไม่กล้าตัดสินใจไปได้ทีละนิด คือ

1. กำหนดกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไข

ถ้าเรารู้สึกว่าเวลาที่จะเลือกตัดสินใจ หรือทำอะไรก็แล้วแต่มันดูยุ่งยากวุ่นวายไปหมด ลองตั้งกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่เรามี เพื่อเป็นขอบเขตประกอบการตัดสินใจดู เช่น เงื่อนไขด้านการเงิน, ระยะเวลา, ความคุ้มค่า และความถี่ในการทำสิ่งนั้น เป็นต้น ขอบเขตเหล่านี้อาจจะทำให้เราสามารถต้ดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะรับโอกาสนั้นมาดีหรือไม่

2. To Do List

บางทีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันก็มีเรื่องให้ต้องตัดสินใจเช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกซื้อ หรือทำอะไร ก็อาจจะจดรายการสิ่งของที่ต้องใช้จ่าย หรือลิสต์สิ่งที่ต้องทำแล้วค่อยๆ ทำตามแผนที่วางไว้ทีละอย่าง การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยป้องกันการลืมได้แล้ว ยังจะทำให้ไม่ต้องตัดสินใจอะไรมากขึ้นอีกด้วย

3. ศึกษาข้อดี วิเคราะห์ข้อเสีย

วิธีการนี้ได้ใช้เทคนิคเดียวกับนักลงทุน (Venture Capitalist) โดยการเปรียบเทียบว่า สิ่งนั้นๆ มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง รวมไปถึงความท้าทาย การเรียนรู้ และความสามารถของตัวเอง หลังจากนั้นให้พยายามเรียบเรียง และอ่านทบทวนซ้ำๆ หลายๆ รอบ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เรารู้จักตัวเอง และสามารถตัดสินใจบางอย่างได้ง่ายขึ้น

4. ทางเลือกน้อยลงจะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

การตัดตัวเลือกที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแค่ตัวเลือกที่จำเป็นและสำคัญๆ ก็สามารถช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ก็เหมือนกับการทำข้อสอบที่ต้องตัดข้อที่ไม่เกี่ยวข้องออกก่อนแล้วมาวิเคราะห์หาข้อที่ถูกต้องที่สุดนั่นแหละค่ะ 

5. ลองถามนาฬิกาดูสิ

ถ้าลองทำตามที่บอกไว้ข้างบนมาหมดทุกข้อแล้วก็ยังเลือกไม่ได้อยู่ดี ก็ใช้วิธีการสุ่มไปเลย ซึ่งแมคกินนิสก็มักจะใช้เทคนิคการสุ่มเช่นกัน โดยการสุ่มของเขานั้น เขาเรียกมันว่า “การถามนาฬิกา” โดยจะตัดทางเลือกออกให้เหลือแค่สองทาง แล้วแบ่งหน้าปัดนาฬิกาออกเป็นสองด้าน ซ้าย-ขวา หลังจากนั้นก็ก้มดูนาฬิกาว่าเข็มวินาทีอยู่ด้านไหนของหน้าปัด ผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็เลือกทำสิ่งนั้นเลย ซึ่งถ้าเป็นคนไทย อาจจะใช้วิธีการโยนเหรียญหัว-ก้อย, เป่ายิงฉุบ, หมุนวงล้อสุ่ม หรือหลับตาจิ้มก็สามารถทำได้ตามแต่สะดวก

6. ทำตัวให้ชินกับความเสียดาย

บางคนถึงเลือกมาแล้วก็ยังรู้สึกเสียดาย และมักจะคิดว่า “รู้งี้เอาอีกอันดีกว่า” ซึ่งจริงๆ ถ้าเอาอีกอย่างมา มันอาจจะไม่ได้ดีกว่าเดิมก็ได้ ความเสียดายถือเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พยายามอย่าคิดเยอะเกินไป เอาเวลามาทำตัวให้ชินกับความเสียดายดีกว่า หัดช่างมันไปบ้าง เพราะยังไงเราก็ย้อนเวลากลับไปเลือกอีกอย่างไม่ได้อยู่ดี 

 “ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง และถึงมีมันก็อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเสมอไป”

น้องๆ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะ FOBO ไม่ใช่โรค ไม่ใช่ภาวะที่จะคงทนถาวร แต่จะมาในระยะสั้นๆ ทุกครั้งที่เราต้องเลือกตัดสินใจอะไรสักอย่าง ซึ่งเมื่อรู้แล้วว่าตัวเองมีภาวะ FOBO ก็ให้ลองนำวิธีการที่พี่เมลเอามาแชร์ไปใช้กันได้นะคะ จะได้จัดการถูกว่าเราควรเลือกอะไร และจะได้ตัดสินใจเลือกทางที่ตนเองต้องการจริงๆ ได้ดีขึ้น

 

ที่มา: https://medium.com/curious/do-you-have-fomo-or-fobo-bd638308a93dhttps://tomassvitorka.com/7-simple-ways-to-overcome-fobo/https://killerinnovations.com/4-ways-to-deal-with-fobo-fear-of-a-better-option/
พี่เมล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น