ส่อง Track "วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน" รร.กรุงเทพคริสเตียน พื้นที่ที่เด็ก ม.ปลาย ได้ทำดาวเทียมจริง

หากใครยังจำกันได้ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนได้สร้างปรากฏการณ์ระบบการศึกษาในระดับ ม.ปลาย มาแล้วครั้งหนึ่ง นั่นคือการเปลี่ยนจากระบบแผนการเรียนวิทย์-คณิต ศิลป์-คำนวณ มาเป็นระบบ BCC Next หรือ ระบบ Track ที่ให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ ซึ่งแทรคต่างๆ ก็มาจากกลุ่มคณะในมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าเนื้อหาในหลักสูตรก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการและประสบการณ์การเรียนคณะต่างๆ ให้กับนักเรียน เพื่อค้นหาตัวเองก่อนไปเรียนจริงในระดับมหาวิทยาลัย  

ซึ่งปัจจุบัน โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนมีทั้งหมด 15 Track ครอบคลุมทุกประเภทคณะ หนึ่งแทรคที่น่าสนใจที่อยากแนะนำและนำมาเล่าในวันนี้คือ Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน แทรคที่น้องๆ จะได้เรียนรู้และลงมือทำดาวเทียมกันด้วย! พี่มิ้นท์ขอขอบคุณ ครูอดิเรก พิทักษ์ ครูประจำแทรควิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ที่ได้ให้เกียรติมาให้ข้อมูลในวันนี้

แนะนำ Space Program กรุงเทพคริสเตียน เรียนรู้ลงมือทำดาวเทียม
แนะนำ Space Program กรุงเทพคริสเตียน เรียนรู้ลงมือทำดาวเทียม

ส่อง Track  "วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน" รร.กรุงเทพคริสเตียน พื้นที่ที่เด็ก ม.ปลาย ได้ทำดาวเทียมจริง

Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยานเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะโรงเรียนเล็งเห็นเทรนด์ในอนาคตว่าเรื่องอวกาศจะมาแรง ประกอบกับมีการแข่งขัน Cansat หรือ ดาวเทียมขนาดเล็ก ในช่วงนั้น โรงเรียนก็ได้เข้าไปร่วมด้วย และมองเห็นว่าดาวเทียมอาจเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะถูกนำมาใช้ในหน่วยงานต่างๆ ในอนาคต จึงอยากส่งเสริมให้มีการเรียนเพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ทำงานในด้านนี้มากขึ้น

ความน่าสนใจของ Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน

เมื่อได้ยินชื่อครั้งแรก หลายคนอาจคิดว่าสาขานี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการบิน คล้ายกับวิศวกรรมเครื่องกล ในเชิงของการซ่อมบำรุงหรือเรียนรู้หลักการบิน แต่ความจริงแล้วหลักสูตรนี้เน้นในเรื่องของการสร้างดาวเทียม ดังนั้นในหลักสูตรของ Track จึงมีวิชาที่เน้นไปด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเอาไปต่อยอดในการเรียนด้านวิศวกรรมได้หลากหลายทางมากๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านอวกาศยาน  

เปิดวิชาเรียนของ Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน

สำหรับรูปแบบการเรียน ทุกคนจะได้เรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกัน โดยอิงจากรายวิชาและจำนวนหน่วยกิตตามที่กระทรวงศึกษากำหนด ส่วนที่แตกต่างคือ วิชาเพิ่มเติม ที่จะลงลึกในวิชาตามแทรคที่นักเรียนสนใจ สำหรับแทรควิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ประกอบไปด้วยวิชาดังนี้

  • ม.4 มีวิชา พื้นฐานวิศวกรรมอวกาศ
  • ม.5 มีวิชา ชีววิทยาสำหรับวิศวกรรม, อิเล็กทรอนิกส์และวงจรไฟฟ้าเบื้องต้น, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกร, ปฏิบัติการทางวิศวกรรมอวกาศ, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ AI สำหรับวิศวกร, ปฏิบัติการ cansat rocket, การเขียนแบบเบื้องต้น, การค้นคว้าทางวิศวกรรม
  • ม.6 มีวิชา โครงงานสำหรับวิศวกรรม, ประสบการณ์ทางวิศวกรรมอวกาศ, ฟิสิกส์เพื่อการสอบความถนัดทางวิศวกรรม, คณิตศาสตร์ประยุกต์สำหรับวิศวกร, สัมมนาวิชาการสำหรับวิศวกรรมอวกาศ

ซึ่ง Track นี้ถือว่ามีวิชาเรียนมากกว่า Track อื่นๆ และจะมีเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพิ่มเติมในวันเสาร์ เพื่อฝึกประสบการณ์เพิ่มเติมอีกด้วย

ทุกคนจะได้ลงมือทำดาวเทียมจริง

เมื่อได้เรียนวิชาพื้นฐานและทฤษฎีต่างๆ มาแล้วก็ได้เวลาลงมือปฏิบัติจริง เมื่อดูวิชาเรียนที่อยู่ในแทรค จะมีวิชาทั้งในส่วนของการปฏิบัติการทางวิศวกรรมอวกาศ และโครงงานสำหรับวิศวกรรม ซึ่งน้องๆ ม.5 ในปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการทำ cube sat เพื่อเก็บข้อมูลอากาศและส่งข้อมูลกลับมาที่ station ส่วนน้องๆ ม.4 ก็มีโปรเจคที่จะทำ Cansat  

ครูอดิเรกได้เสริมว่า จริงๆ แล้ว ดาวเทียมเป็นเพียงสื่อที่ให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการสร้างและเรียนรู้ เพราะการสร้างดาวเทียมไม่ใช่เรื่องง่าย หากนักเรียนสามารถสร้างดาวเทียมได้ ก็สามารถสร้างอย่างอื่นได้เช่นกัน

ดังนั้น น้องๆ ที่เรียนใน Track นี้จะได้เรียนรู้จากกระบวนการจริงในทุกขั้นตอนของการทำดาวเทียมหรือการนำดาวเทียมไปใช้จริง รวมทั้งได้รู้ข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมที่หาไม่ได้จากห้องเรียนทั่วไป เพราะหากได้มีการส่งดาวเทียมขึ้นไปได้จริงๆ มักจะมีปัญหาหรือข้อจำกัดต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงความถี่, ความเร็ว, กฎหมาย ฯลฯ ก็จะได้เรียนรู้จากปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้

ต้นแบบเสาในการติดตามดาวเทียมฝีมือน้องๆ จาก Space Program
ต้นแบบเสาในการติดตามดาวเทียมฝีมือน้องๆ จาก Space Program

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงนี้จะยังไม่มีแผนการส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศเพิ่มเติม แต่รุ่นพี่จากแทรคนี้ได้เคยสร้างปรากฏการณ์ส่ง CubeSat เข้าสู่วงโคจรได้เป็นที่เรียบร้อยโดยไปพร้อมกับจรวดของประเทศรัสเซีย นับเป็นดาวเทียมดวงแรกในกลุ่มประเทศอาเซียนเลยทีเดียว

ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่เรียนสายวิทย์

แม้ว่าแทรคนี้จึงเหมาะกับน้องๆ ที่ชื่นชอบการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แต่ครูอดิเรกยังบอกเพิ่มเติมว่า ที่จริงแทรคนี้ไม่ได้จำกัดแค่คนที่ชื่นชอบด้านวิทย์เท่านั้น แต่น้องๆ ที่ใจรักด้านสายศิลป์ก็สามารถเรียนได้ เพราะศาสตร์ด้านการออกแบบดาวเทียม ไม่ได้ใช้ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังต้องพึ่งพาทักษะและความสามารถด้านการออกแบบ เพื่อให้ได้ดาวเทียมหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีรูปแบบสวยงาม ซึ่งในแทรคนี้ก็จะเรียนรู้ด้วยการลงมือทำงานร่วมกัน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับแทรคการเรียนนี้ แม้ว่าชื่อจะดูเหมาะกับการไปสร้างหรือออกแบบนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่ไม่ได้ใช้บนภาคพื้น แต่ความจริงแล้ว ในแทรคนี้ น้องๆ จะได้เรียนรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเยอะมากๆ และสามารถนำไปต่อยอดสาขาอื่นๆ ได้อีกหลากหลายสาขาเลยค่ะ  ถือได้ว่าเป็นอีกแทรคที่น่าสนใจและช่วยให้น้องๆ ค้นหาตัวตนได้ดีเลยทีเดียว

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น