"ลองสมัครเถอะ" รีวิวจากรุ่นพี่ทุน Erasmus+ เรียนฟรี 4 ประเทศในโปรแกรมเดียว แถมเงินให้ไปเที่ยวอีกหลักแสน!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงชื่อทุน “อีราสมุส” (Erasmus+ หรือ Erasmus Mundus) นับว่าเนื้อหอมสุดๆ ในหมู่คนอยากเรียนต่อยุโรปเลยค่ะ เพราะในโครงการนี้จะหลักสูตรหลากหลายและมีความเฉพาะตัวสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย/องค์กรที่เกี่ยวข้องใน EU (บางกรณีอาจมีประเทศนอก EU) ในแต่ละเทอมก็จะมีกำหนดว่าเราสามารถเลือกที่ไหนได้บ้างค่ะ

และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะพาทุกคนพาไปอ่านรีวิวกระชับๆ ฉบับ “พี่เติ้ล-ดร.คณิต หาญตนศิริสกุล” ที่ได้ทุน Erasmus+ ไปเรียน Materials for Energy Storage and Conversion (MESC) Program ที่ประเทศฝรั่งเศส สเปน โปแลนด์ และสหรัฐอเมริกา และยังได้รับทุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา (US Department of Energy) จนจบดอกเตอร์ด้วยค่ะ //ดีกรีปังมาก!

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 หรือขอคำแนะนำเรื่อง SoP ข่าวดีคือ "พี่เติ้ล" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่เติ้ลจะมาวันที่ 28 เม.ย. 2024)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

ใครอ่านจบแล้วอยากพูดคุยกับพี่เติ้ลตัวจริงเสียงจริง จดคำถามไว้ แล้วมาพบกันที่งานแฟร์ฟรี Dek-D’s Study Abroad Fair วันที่ 29 เมษายน 2566 ที่ไบเทคบางนา (ฮอลล์ EH98) นะคะ หนึ่งในไฮไลต์ของเราคือเปิดโต๊ะปรึกษากับ 16 นักเรียนทุน โดยงานนี้ “พี่เติ้ล” ก็ให้เกียรติมาประจำบูธปรึกษาของเราด้วย! รายละเอียดท้ายบทความเลยค่า~ :D 

ที่มาที่ไป ทำไมถึงสมัครทุนนี้?

สวัสครับ ชื่อพี่เติ้ล เรียนจบ ม.ปลาย แผนการเรียนวิทย์-คณิต จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และ ป.ตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ครับ ช่วงที่เริ่มรู้ตัวว่าชอบเคมี น่าจะเป็น ม.4-5 แล้วยิ่งได้เจออาจารย์ดีตอนเรียน ม.ปลาย (คุณครูสมศรี เซี๊ยกสาด) ทำให้เรารู้สึกว่า “เฮ้ย เคมีเป็นวิชาที่สนุก แล้วทำอะไรได้อีกเยอะมากๆ”

ตอนนั้นได้ "ทุนศรีตรังทอง" (STT) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียนฟรีและมีค่าใช้จ่ายให้ตลอด 4 ปี แล้วจริงๆ ก็ได้ทุนยิงยาวจนจบ ป.เอก แต่อยากลองดูทางเลือกอื่นๆ ด้วย มีดูไว้ทั้งอเมริกา อังกฤษ ประเทศในยุโรป หรือออสเตรเลีย ฯลฯ จนมารู้จักทุน Erasmus Mundus ครั้งแรกตอนเดินงานแฟร์เรียนต่อต่างประเทศสักงานนึงตอนนั้นครับ

พอไปหาข้อมูลต่อก็เจอโปรแกรมนึงชื่อ Materials for Energy Storage and Conversion (MESC+) เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในการกักเก็บพลังงาน (พูดให้เข้าใจง่ายๆก็พวกแบตเตอร์รี่ แบบเดียวกับที่ใช้ในรถ EV นี่แหละครับ) ผมสนใจด้านนี้พอดี แล้วถ้าเกิดย้อนไปเมื่อสัก 10 ปีก่อนการศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกยังค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ทุนนี้จะเปิดโอกาสให้เราได้ไปสำรวจฟิลด์นี้ในประเทศที่เก่งเรื่องพลังงาน

เล่าให้ฟังเกี่ยวกับโครงการนี้

ขอเล่าคร่าวๆ ประมาณว่า “สหภาพยุโรป” (EU) จะมีเงินทุนก้อนนึงให้มหาวิทยาลัยในประเทศเครือ EU (หรืออาจมีนอก EU) ฟอร์มทีมกันจัดตั้งโปรแกรมเฉพาะทางขึ้นมา เช่น อาจรวมกัน 4 มหาวิทยาลัย A, B, C, D แต่ละแห่งจะแบ่งหัวข้อกันดูแลตามความเชี่ยวชาญครับ

อย่างเช่นโปรแกรม MESC+ ที่ผมเรียน มีมหาวิทยาลัยและสถาบันที่เข้าร่วมตามลิสต์นี้ *อ้ปเดต 23 มี.ค. 66 จากหน้าเว็บ https://mesc-plus.eu/ 

  • Warsaw (Poland)
  • Toulouse (France)
  • Amiens (France)
  • Ljubljana (Slovenia)
  • Bilbao (Spain)
  • Philadelphia (USA)
  • Melbourne (Australia)
  • Alistore network (International)
  • RS2E network (France)
  • NIC (Slovenia)
  • CIC ENERGIGUNE (Spain)

MESC+ เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ระยะเวลา 2 ปีการศึกษา โดย 3 เทอมแรก = เรียน และเทอมสุดท้าย = ทำ Thesis ปริญญาโทในห้องแล็บ *เทอมสุดท้ายตัวเลือกจะเยอะที่สุด 

ตรวจสอบโปรแกรมที่เปิดสอน ภายใต้โครงการ Erasmus+ ได้ที่นี่

https://www.eacea.ec.europa.eu/scholarships/erasmus-mundus-catalogue_en 

รีวิวเรียน 4 เทอม 4 ประเทศ

เทอมที่ 1 University Toulouse III - Paul Sabatier
เมือง Toulouse ประเทศ France

ผมมีเตรียมตัวโดยการไปลงเรียนภาษาฝรั่งเศส 20 ชั่วโมงที่สมาคมฝรั่งเศสให้พอสื่อสารได้ระดับเอาตัวรอดได้ จากนั้นก็เรียนเทอมแรกตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม  

เทอมนั้นผมมีเรียนคลาสแรก 7.30 น. และเลิกไม่เกินเที่ยง วิชาเรียนมีตั้งแต่เคมีพื้นฐานทั่วไป เคมีของแข็ง ผนึกคริสตัล ธาตุ สารประกอบต่างๆ ฯลฯ หนึ่งในวิชาเด่นๆ คือ Energy Storage and Conversion เน้นเจาะที่เรื่องวัสดุศาสตร์ (Material Science) ที่ใช้จริงในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ โซลาเซลส์ หรือพวกตัวเก็บประจุต่างๆ  อาจารย์ผู้สอนก็จะเป็น expert ด้านนั้นและยกโจทย์วิจัยจริงๆ มาเล่าให้ฟังครับ 

ถ้าเป็นเรื่องความยาก ด้วยความที่ ม.มหิดล สอนทฤษฎีมาแบบเข้มข้นมากกกจนเราแม่น พอไปถึงเลยต่อยอดและทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ได้เลย

และอีกข้อดีของทุนนี้คือนอกจากค่าเทอม ค่ากินอยู่ ยังมีอีกส่วนเพิ่มเข้ามาคือ “Mobility Grant” เงินก้อนนี้เราสามารถบริหารเอง (เช่น ไปเที่ยว) ถ้าตอนปีผมได้เทอมละ €8,000 หรือประมาณเกือบ 300,000 บาท และมีให้ตลอด 2 ปีเลยครับ

เทอมที่ 2 Warsaw University of Technology
เมือง Warsaw ประเทศ Poland

เทอมนี้ไปไปโแลนด์กันหมด 20 คนในรุ่น มีเนื้อหาที่ต่อเนื่องจากเทอมแรกที่ฝรั่งเศสด้วยครับ สำหรับจุดเด่นผมว่าโปแลนด์เก่งเรื่องพอลิเมอร์ (Polymer) ที่ใช้ในอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่กั้นระหว่างขั้วบวกและขั้วลบในแบตเตอรี่ครับ 

Warsaw University of Technology
Warsaw University of Technology
​​https://www.mastersportal.com/

เทอมที่ 3 Universidad de Córdoba
เมือง Cordoba ประเทศ Spain

จุดเด่นของสเปนคือเก่งเรื่องโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) กับพลังงานความร้อน (Thermal Energy) เพราะเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่ทางตอนใต้ของสเปนเป็นทะเลทราย 

ผมว่าช่วงเรียนที่สเปนจะชิลๆ ตามสไตล์คนสเปนครับ วิชาแรกเริ่มสิบโมงกว่า ช่วงบ่ายๆ มีให้กลับไปนอนกลางวัน หรือที่รู้จักกันว่า Siesta time คือกลับไปนอนกันจริงๆ จังๆ แล้วกลับมาเรียนกันต่อช่วงหลังหกโมงเย็นเป็นต้นไป สำหรับผมคิดว่าวัฒนธรรมสเปนน่าสนใจมาก ภาษาก็ไพเราะ เลยตั้งใจเรียนภาษาเพื่อที่เวลาไปเที่ยวที่ไหนเราจะได้เข้าถึงคนพื้นที่จริงๆ ครับ

Universidad de Córdoba
Universidad de Córdoba

เทอมที่ 4 Drexel University
เมือง Philadelphia สหรัฐอเมริกา 

เทอมสุดท้ายเป็นเทอมวิจัย มีทั้งตัวเลือกจากมหาวิทยาลัยและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมเลือกไปทำแล็บที่อเมริกาครับ อาจารย์ที่ปรึกษาของพี่เป็นผู้บุกเบิก (Pioneer) ของ “MXenes” ซึ่งเป็นวัสดุรูปทรง 2D ที่มีคุณสมบัติการนำไฟฟ้า ส่วนหัวข้อวิจัย ป.โทของผมคือ “Electrochemical Tuning of Optical Properties of Two-dimensional Metal Carbides” เกี่ยวกับกระจกที่นำไฟฟ้าได้ครับ

อธิบายคร่าวๆ คือบนจอสัมผัส (Touchscreen) ของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น สมาร์ททีวี สมาร์ทโฟน ฯลฯ จะมีวัสดุเคลือบที่จับและแปลงการนำไฟฟ้าของกระจกได้ ทำให้เครื่องรับรู้ว่ามือเราไปสัมผัสตำแหน่งไหนบ้าง

Drexel University
Drexel University 

หลังเรียนจบ ผมไปต่อป.เอก Ph.D. in Materials Science and Engineering มหาวิทยาลัยเดิม ทำวิจัยหัวข้อ “On the Electronic and Transport Properties of Two- dimensional (2D) Transition Metal Carbides and Carbonitride (MXenes)” ต่อยอดจากตอน ป.โท  และปัจจุบันทำงานเป็น Post-doctoral Researcher ที่ SCG Chemicals วิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ครับ

เพจหลักสูตร MESC+
เข้าสู่หน้าเว็บ MESC+
เข้าสู่หน้าเว็บ MESC+ 

“ผมไม่รู้จะหาประสบการณ์แบบนี้ได้อีกจากที่ไหน”

ถ้าใครมาปรึกษาว่าสมัคร Erasmus+ ดีมั้ย ผมจะบอกว่า สมัครเหอะะะ! ชื่ออาจฟังดูยาก (ยากตั้งแต่อ่านชื่อทุนแล้ว) แต่เราเสียแค่ค่าสมัครและทุ่มเทความตั้งใจให้เต็มที่ ถ้าติดขึ้นมาทุนให้แบบคุ้ม จัดเต็ม และยังพาเราไปเปิดโลกกับวัฒนธรรมของหลายประเทศภายในเวลา 2 ปี

ที่สำคัญคือเราหาอ่านข้อมูลได้ในเน็ต เสิร์ชชื่อหาจะเจอว่าทุนนี้มีแบบไหน โปรแกรมอะไร ได้ไปที่ไหนบ้าง ฯลฯ แต่ละประเทศจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ลองดูว่าเราจะน่าจะชอบและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของที่นั้นๆ ได้หรือเปล่าครับ 

แนะนำการเขียนเรียงความสมัครทุน ERASMUS+

  • ดูตัวอย่าง Essay ที่ดีเพื่อเป็นแนวทาง
  • แสดงความเป็นตัวเอง เขียนให้สอดคล้องกับโปรแกรมที่เราสมัครมากที่สุด
  • อย่าจ้างเขียน และไม่ควรใช้พวก ChatGPT เพราะมันผิดจริยธรรมด้านการศึกษา และสิ่งที่เขียนจะไม่ได้ออกมาจากความสามารถเราจริงๆ
  • ทุกคนจะมีความ unique ที่ทำให้เรียงความแต่ละคนออกมาไม่เหมือนกัน Do & Don’t สิ่งที่เขียนและไม่ควรเขียนลงไป สิ่งที่ทำได้และแนะนำว่าควรทำ คือให้เพื่อนหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยอ่านและคอมเมนต์ ตอนนั้นผมน่าจะแก้ไปรวมๆ 10-20 ดราฟต์ พอฟังและปรับเยอะๆ สุดท้ายเราจะได้เวอร์ชันที่ดีที่สุดก่อนกด submit สมัครไปครับ

. . . . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่เติ้ลตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่เติ้ล" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 28 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เข้าสู่หน้าเว็บไซต์งานแฟร์
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด