เมื่อทุนเต็มจำนวน Erasmus+ สุดเลิศ พาไปเปิดโลก 4 เทอม 4 ประเทศในยุโรป | โปรแกรม Software Engr. for Green Deal

สวัสดีค่ะชาว Dek-D สำหรับใครที่อยากคว้าทุนเต็มจำนวนไปเรียนต่อโปรแกรมน่าสนใจในประเทศแถบยุโรป วันนี้จะพาไปรู้จัก "ทุนอีราสมุสพลัส" (ERASMUS+) หรือมาจากชื่อเต็มๆ ว่า The European Community Action Scheme for Mobility of University Students โครงการของสหภาพยุโรป (EU) ที่ดังและปังมากๆ เพราะโปรแกรมที่จะได้ไปเรียนคือ  "หลักสูตรร่วม" (Joint Degree) ของมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 แห่งในยุโรป หลังจบจะได้ปริญญาจากทุกแห่งไปที่เรียนด้วยค่ะ!

หนึ่งในคนไทยที่ได้รับทุนสุดปังนี้ ก็คือ "พี่กี้-รักกัลป์ เตี๋ยสกุล"  บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเรียนจบ ป.โท Software Engineers for Green Deal (SE4GD) เรียบร้อยแล้ว กลับมาพร้อมความรู้สุดเข้มข้นจากมหาวิทยาลัยในอิตาลี ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ไปเรียนเทอมละ 1 ประเทศ และถือวีซ่าเชงเก้นเช็กอินสถานที่ท่องเที่ยวอีกนับไม่ถ้วน 

จุดหมายปลายทางของโปรแกรมนี้คืออะไร? ระหว่างทางจะสนุกและครบรสชาติขนาดไหน?  มาเริ่มออกเดินทางไปทวีปยุโรปกันเลยค่ะ 

Note: อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ทุนตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ “พี่กี้" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พบพี่กี้ได้ในวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair 

รีวิว Part I สมัครทุน Erasmus+

โปรแกรมสุดปัง ฝังแนวคิดรักษ์โลก
บนเส้นทางสาย Software Engineer 

เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับโปรแกรมก่อน

หลักๆ คือสอดคล้องกับที่เราจบ ป.ตรี ด้านนี้และเคยทำงานเป็น Back-end Developer ที่บริษัทข้ามชาติในไทยค่ะ นอกจากนี้คือ "เทรนด์ความยั่งยืน" (Sustainability) กำลังมาแรงทั้งในยุโรปและทั่วโลก เพียงแต่ในไทยยังไม่คอยบูม เราจึงคิดว่ามันน่าจะดีมากๆ ถ้าเราไปเรียนรู้ด้านนี้จากประเทศที่เขากำลังผลักดัน

พอไปเรียนแล้วเราพบว่า Sustainability ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ปกติเราพูดคำว่า Sustainability คนมักจะนึกถึงแค่เรื่องพลังงานสะอาดหรือในเชิงสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยชะลอวิกฤต Climate Change เท่านั้น แต่พอเป็นฝั่ง IT หรือ Software  Engineering  จะไม่ใช่แค่การบริหารจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่สามารถแบ่ง Sustainability ได้หลักๆ  2 ส่วน คือ Green by IT และ Green in IT 

  1. Green  by IT การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้คนและเพิ่มความยั่งยืนแก่โลก เช่น เขียนโปรแกรมช่วยจัดการการแยกขยะ การจัดการชุมชนให้น่าอยู่โดยใช้ IoT หรือการออกแบบแอปฯ ที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตง่ายขึ้น ฯลฯ
     
  2. Green  in IT การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ Software Engineer  สามารถลดกระบวนการทำงานที่สร้างผลกระทบต่อโลกในเชิงลบ เพื่อยั่งยืนขึ้น เช่น ปกติการเขียนโปรแกรมจะต้องสร้างคาร์บอนอยู่แล้ว แต่เราจะทำยังไงเพื่อช่วยลดการสร้างคาร์บอนนั้นให้น้อยที่สุด หรือทำให้โปรแกรมของเราใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพมากที่สุด (ซึ่งก็คือ Energy-Efficient software)

    ในฐานะผู้เรียน สิ่งที่ต้องคำนึงไม่ได้มีแค่ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังมีมิติสังคมและเศรษฐกิจที่ต้องคิดให้รอบด้าน เช่น โปรแกรมที่สร้างส่ง impact ต่อสังคมยังไงบ้าง สมมติให้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ จะเพิ่มจำนวนคนว่างงานมั้ย เทคโนโลยีบางอย่างดีจริงหรือเปล่า หรือว่าการโฟกัสกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะทำให้บางอาชีพหายไปมั้ย กระทบเศรษฐกิจหรือเปล่า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อคือ ทำอย่างไรถึงจะสมดุลและยั่งยืนมากที่สุด เป็นต้นค่ะ

โปรแกรมนี้จะได้เรียน 4 เทอม เทอมละ 5 วิชา
ได้ปริญญาร่วมจาก 4 มหาวิทยาลัยใน 4 ประเทศ

  • เทอมที่ 1 Universita degli Studi dell'Aquila (UnivAQ) ประเทศอิตาลี
  • เทอมที่ 2 Lappeenranta-Lahti University of Technology (LUT) ประเทศฟินแลนด์
  • เทอมที่ 3 Vrije Universiteit Amsterdam (VU) ประเทศเนเธอร์แลนด์
  • เทอมที่ 4 Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน **ที่สุดท้ายจะมีลิสต์มหาวิทยาลัยให้เลือกทำธีสิส หรือสมัครไปทำวิจัยกับบริษัทก็ได้ค่ะ

*บทความนี้จะอ้างอิงชื่อวิชาเรียนจากหน้าเว็บโปรแกรม SE4GD อ้างอิงเดือนมีนาคม 2024 ใครสนใจสามารถเปิดอ่านประกอบได้ค่ะ

เว็บหลักสูตร SE4GD

. . . . . . . 

เริ่มต้นกันที่ "อิตาลี"
Universita degli Studi dell'Aquila
< Software Engineering at the maximum level >

วิชาเรียนในเทอมนี้

  • Software quality engineering – 6 ECTS
  • Software architectures – 6 ECTS
  • Software engineering for the Internet of Things – 6 ECTS
  • Model-Driven Engineering – 6 ECTS
  • Artificial Intelligence – 6 ECTS

เจอการเรียนแบบไหน?

ประเดิมด้วยการเรียนออนไลน์เพราะเจอช่วง COVID-19 พอดี แต่อาจารย์มีอัดคลิปย้อนหลังให้ทบทวนได้ตลอดค่า สำหรับเนื้อหาเทอมแรก ได้เรียนพื้นฐานวิศวกรรมซอฟต์แวร์เพื่อเตรียมรับมือกับเนื้อหาที่เจาะลึกขึ้นในตอนหลัง เรียนครึ่งวัน การบ้านมีไม่ขาด โปรเจ็กต์มีทุกวิชา! 555  แต่ด้วยความที่ผ่านหูผ่านตามาจากตอนเรียน ป.ตรี กับตอนทำงาน (เช่น วิชา Software Architecture) สำหรับกี้มองว่าเก็บเกรดง่ายสุดในบรรดาทุกเทอม

เรื่องเซอร์ไพรซ์คือได้เจอกับ Oral Exam เป็นครั้งแรก! ตอนแรกไม่รู้คืออะไร พรีเซนต์ไปเรื่อยๆ เหรอ? เปล่าไม่ใช่ เราทุกคนจะได้นำเสนอโปรเจ็กต์กลุ่มที่อาจารย์ assigned ไว้ตั้งแต่ช่วงกลางเทอม แต่เป็นการสอบเดี่ยว โดยอาจารย์จะพลิกแพลงคำถามเพื่อทดสอบว่าเราเข้าใจจริงมั้ย ประยุกต์ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งถ้าทำจริงก็จะตอบได้ค่ะ เช่น กี้รับผิดชอบพาร์ต A ก็จะอธิบายว่า A ประกอบด้วยอะไรบ้าง เขียนโค้ดยังไงถึงออกมาแบบนี้ ส่วนคำถามอาจารย์ก็อาจจะประมาณว่า "ถ้าเราแก้จุดนั้นของ A จะเกิดอะไรขึ้น?" "ถ้าปรับตรงนู้นเพิ่มตรงนี้ จะกลายเป็น B ได้มั้ย?"

ออกประเทศครั้งแรกในช่วง COVID-19
ออกประเทศครั้งแรกในช่วง COVID-19
[บน] เพื่อนในสาขา [ล่าง] เพื่อนใน South East Asia
[บน] เพื่อนในสาขา [ล่าง] เพื่อนใน South East Asia

สิ่งที่ประทับใจในอิตาลี

แน่นอนว่าเป็นเรื่องศิลปะและสถานที่ท่องเที่ยวค่ะ ในวันหยุดยาวของอิตาลี กี้ได้ไปเที่ยวต่างเมืองบ้าง เช่น มิลาน (Milan), โรม (Rome), ฟลอเรนซ์​ (Florence), ตูริน (Turin), เจนีวา/เจนัว (Genova/Genoa) ฯลฯ ปกติเราอินกับประวัติศาสตร์ตะวันตกอย่างอารยธรรมกรีกโรมันอยู่แล้ว พอได้มาเห็นสถาปัตยกรรมที่อิตาลีของจริงด้วยตาตัวเอง รู้สึกเหมือนฝันนน ทุกอย่างยิ่งใหญ่มากๆ TT

มหาวิหารแห่งมิลาน (Duomo di Milano)
มหาวิหารแห่งมิลาน (Duomo di Milano)
เที่ยวเจนีวา (เจนัว)
เที่ยวเจนีวา (เจนัว)
เที่ยวเวนิส /  นครวาติกัน / ตูริณ
เที่ยวเวนิส /  นครวาติกัน / ตูริณ

. . . . . . . 

ไปกันต่อกับประเทศฟินแลนด์ 
LUT University: Land of the curious

เทอมต่อมาเป็นแก่นสำคัญของหลักสูตร SE4GD เลย เราไปเรียนที่ LUT University หรือชื่อเต็มๆ คือ Lappeenranta-Lahti University of Technology ค่ะ ทั้งประเทศฟินแลนด์และมหาวิทยาลัยนี้เขาเน้นผลักดันเรื่อง Sustainability กันแบบจริงจัง อย่างเมื่อกลางปี 2023 Sanna Marin นายกหญิงของฟินแลนด์ในขณะนั้น ก็มาเสวนากับนักศึกษาในประเด็นนี้ที่ LUT ด้วย

วิชาเรียนในเทอมนี้

  • Sustainability and IT – 6 ECTS
  • Software and Application Innovation – 6 ECTS
  • Running a software project – 6 ECTS
  • Personal literature study – 6 ECTS
  • Industry seminar on Local Sustainability challenges – 3 ECTS
  • SE4GD Summer school – 3 ECTS
Facility และบรรยากาศในแคมปัสที่ฟินแลนด์
Facility และบรรยากาศในแคมปัสที่ฟินแลนด์

"พอมาเรียนแล้วไ่ม่แปลกใจเลยว่าทำไมการศึกษาฟินแลนด์ถึงติดท็อปโลก เราได้เห็นบรรยากาศและข้อดีของการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง"

 

เจอการเรียนแบบไหน?

หลักสูตรที่เราเรียนตอนฟินแลนด์ แบ่งการเรียนเป็น period (แบ่งเป็นช่วง) เช่น เทอมนึงมีวิชาบังคับ 5 ตัว ลงเรียนขั้นต่ำ 2 ตัวใน 1 ช่วง เท่ากับว่าโฟกัสวิชานั้นเต็มๆ ไปเลย 1-2 เดือน ไม่ต้องเรียนอัดพร้อมกันทั้งหมด การเรียนในวิชานึงจะประกอบด้วยการอ่าน textbook + ทำรายงาน + อภิปรายในคลาส (คลาสนึงไม่เกิน 40 คน และแบ่งย่อยเป็นกลุ่มๆ อีก เพื่อที่อาจารย์จะได้พูดคุยกับทุกคนอย่างทั่วถึง ซึ่งเราประทับใจมากที่อาจารย์แต่ละวิชาจำชื่อของเด็กในคลาสได้ทุกคน) พื้นฐานของแต่ละคนจะมาจากสิ่งที่อาจารย์ให้อ่าน ส่วนมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ ก็แตกต่างไปตาม background ของแต่ละคน ไม่มีผิดถูก 

การเรียนที่นี่เน้นส่งเสริมให้ค้นคว้าด้วยตัวเอง ฝึกตั้งคำถาม และหาคำตอบผ่านการจัดการองค์ความรู้ของแต่ละคนที่แตกต่างกัน การแสดงความคิดเห็นของเรามีผลต่อเกรด เขามองว่ายิ่งคุณพูด ยิ่งทำให้คนอื่นได้รู้ว่าเราคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ เพราะอะไร แล้วเพื่อนในคลาสก็จะได้ตกผลึกไปพร้อมๆ กัน รวมถึงสามารถแย้งได้ เช่น เพื่อนคนนึงมองว่านโยบาย Work From Home ทำให้โลกดีขึ้น คนไม่ต้องออกจากบ้าน -> ลดการสร้างคาร์บอน แต่อีกคนอาจจะมองอีกมุมว่าพ่อค้าแม่ค้ารายได้ลด -> เศรษฐกิจหนืดขึ้น  เป็นต้น 

ทั้งนี้ การแสดงความเห็นก็ต้องผ่านการวิเคราะห์และหาคำตอบมาด้วย ถ้าพูดไปเรื่อยโดยที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความรู้ ความเห็นของเราก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อคลาสหรือต่อตัวเราเองค่ะ

รีวิววิชาตัวจี๊ดๆ

วิชาที่อยากเล่าต่อคือ Sustainable and IT  ศึกษาว่าเราจะนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความยั่งยืนอย่างไรบ้างในฐานะ Software Engineer และจะทำให้ Software ที่เราสร้างมีความยั่งยืนเพิ่มด้วยวิธีใด อย่างที่เล่าไปตอนแรก 

สิ่งที่ว้าวมาก ๆ คือการสอบของที่ฟินแลนด์ ปกติเราเจอการจำไปสอบมาทั้งชีวิต แต่หลายวิชาไม่มีสอบ! มาถึงอาทิตย์สุดท้ายของวิชานี้ อาจารย์มอบหมายงานเดี่ยวให้ “เราออกข้อสอบเอง” ติ๊ต่างว่าถ้าเราเป็นอาจารย์วิชานี้ จะวัดความเข้าใจของเด็กที่เรียนยังไงบ้าง? คนที่ทำข้อสอบของเราจะตกผลึกความรู้นี้ได้อย่างไร? // จำได้ว่า “ข้อสอบที่เราออก” นั้นเรากำหนดให้เป็นแบบ open-ended ตอนส่ง “ข้อสอบ” นี้ไป เราเขียนอธิบายเฉลยละเอียดมากๆ ว่าข้อนี้มีแนวคิดแบบไหน ต้องการอะไรจากผู้สอบ หากตอบไปในแนวทางนี้ ควรจะได้คะแนนประมาณไหน ซึ่งนี่เป็นวิชาที่ทำให้เราได้เกรด 5 (excellent) มา

อีกวิชาที่ประทับใจและใช้พลังเยอะ ก็คือ Running a Software Project ทำงานกลุ่มกับเพื่อนต่างชาติงานนี้เราจะต้องออกไปทำโปรเจ็กต์ IT ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ร่วมกับบริษัทภายนอกที่มีอยู่จริง โดยที่กี้เองได้ฝึกเป็น Project Manager ด้วย ถือว่าได้ประสบการณ์ตอนทำงานมาปรับใช้กับวิชานี้เช่นกัน

ตอนนั้นกลุ่มกี้ได้ทำงานกับ Product Owner ของบริษัท Vincit เป็น IT Consultant ที่ดังมากๆ ของฟินแลนด์ ซึ่งสโคปของเราคือเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในด้านสังคมค่ะ ตอนนั้นกลุ่มกี้เลือกสร้างเครื่องมือ (Software Tool) ไว้วัด Color Contrast ว่ารูปนี้สีจัดหรือสีกลืนเกินไปไหม ฯลฯ เพราะมีผู้ใช้เว็บของลูกค้าบริษัทเป็นผู้สูงวัยและคนตาบอดสีด้วย เลยทำ Tool นี้มาช่วยฝั่ง Front-end Developer และ UI Designer ได้ใช้กันภายในองค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่บริษัททำขึ้น

ทำโปรเจ็กต์กับเพื่อนต่างชาติ
ทำโปรเจ็กต์กับเพื่อนต่างชาติ
มหาวิทยาลัยให้นั่งเรือสำราญไปสัมมนาที่เอสโตเนีย!
มหาวิทยาลัยให้นั่งเรือสำราญไปสัมมนาที่เอสโตเนีย!
ปาร์ตี้กับเด็กอีราสมุสรอบยุโรปบนเรือสำราญไปสวีเดน~~~
ปาร์ตี้กับเด็กอีราสมุสรอบยุโรปบนเรือสำราญไปสวีเดน~~~
กิจกรรมช่วง Easter Day
กิจกรรมช่วง Easter Day

ส่วนเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ทีี่ฟินแลนด์นั้นนนน

ฟินแลนด์เป็นประเทศที่กว้างใหญ่แต่คนน้อย เงียบเหงา จึงอยู่กันแบบหนาวๆ สิ่งนึงที่ต้องปรับตัวเยอะคือเรื่อง “อากาศ” เราอยู่ไทยที่เป็นเมืองร้อนมาตลอด แล้วไปเรียนทางตอนใต้ของฟินแลนด์ (ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2022) เจออากาศ -30°C ครั้งแรกในชีวิต! เดือนแรกเจอหิมะแบบพีคๆ สูงเกินครึ่งหน้าแข้ง ออกจากบ้านลำบาก หิมะติดผมติดตาไปหมด พอหิมะละลายเป็นน้ำแข็งก็เกือบลื่นล้มหลายครั้งเลยค่ะ

นอกจากนี้ยังเผชิญภาวะขาดวิตามิน D เพราะแทบไม่เจอแดดเลย อย่างบางวันกี้ตื่นเช้าไปเรียนคาบแรก ออกจากหอตอน 7:30 ฟ้ายังมืด พอเลิกเรียน 14:30 พระอาทิตย์ตกแล้วค่ะ สภาพอากาศแบบนี้ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจากสภาพอากาศได้ง่าย หรือที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) พอไม่มีแสงแดดแล้วร่างกายก็ล้าไปหมด เป็นช่วงที่เครียดจนกินเยอะ กินไม่เป็นเวลา + กลับถึงบ้านปุ๊บนอนเลย ตื่นอีกที 3 ทุ่มและทำข้าวเย็นกินตอน 4 ทุ่ม แต่พอเริ่มเข้าช่วงอากาศอุ่นลง เขาก็จะมีกิจกรรมจอยๆ นอกบ้านเหมือนกัน เช่น เจาะน้ำแข็งตกปลาในทะเลสาบ, ไปอบไอน้ำ/ซาวน่า (Sauna) (แถมเกร็ดเล็กๆ ว่าประเทศฟินแลนด์เป็นต้นกำเนิดของซาวน่าด้วยนะคะ)

เรื่องสวัสดิการนักศึกษาที่ฟินแลนด์ ถือว่าสมเหตุสมผลมากๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลฟรี บริการทันตแพทย์ก็ฟรีโดยไม่ต้องสำรองจ่าย, โรงอาหารเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ให้ตัก แถมราคาย่อมเยา, ค่าหอนักศึกษา 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว อยู่กัน 2 คน ตกคนละ 290-320 EUR ห้องไม่แคบ รวมเฟอร์นิเจอร์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าซักผ้าและอบผ้าฟรี, ใช้บัตรนักศึกษาได้ส่วนลดค่ารถบัส 50% และ 30%-50% สำหรับค่าตั๋วรถไฟ  ตอนนั้นเรื่องที่พักไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราเลย ด้วยความที่ประชากรในฟินแลนด์ไม่หนาแน่น หอก็เลยพอกับจำนวนนักเรียน จองไว้ถึงเวลาก็ย้ายของเข้า แล้วเรื่องนึงที่ไม่น่าเชื่อ ก็คือกี้ได้ดูแสงเหนือจากห้องครัวของตัวเองค่ะ! 5555 โม้ได้ทุกครั้งที่คนถามว่าไปอยู่นั่นเคยเห็นแสงเหนือไหม

เหตุการณ์สุดระทึก แต่ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นไปอีก

เมือง Lappeenranta อยู่ห่างรัสเซียแค่ 30 กิโลเมตร ตอนที่กี้กำลังเรียนก็เป็นช่วงเดียวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังดุเดือด ในกลางดึกคืนที่มีประกาศร้ายแรงชัดเจนจากทั้ง 2 ฝั่ง มหาวิทยาลัยส่งอีเมลถึงทุกคนทันที โดยมีใจความว่า “LUT เป็นมหาวิทยาลัยที่อุดมด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม โปรดพึงระลึกไว้ว่า ที่นี่คือเขตปลอดภัย ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์คิดว่าตนนั้นเหนือกว่าใคร หน้าที่ของพวกเราคือการตั้งใจและร่วมมือกันทำงานเพื่อค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ อย่างที่ปฏิบัติมาโดยตลอด … Keep calm and science on” 

ถ้อยคำในแถลงการณ์ที่ถูกเรียบเรียงมาอย่างดี พร้อมการแนบช่องทางติดต่อฝ่ายกิจการนักศึกษา ทำให้เราและเพื่อนรู้สึกอุ่นใจได้ว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่ปลอดภัยจริง ๆ อีกอย่าง เราคิดว่ามันดีมากเลยที่เขาพยายามป้องกันเหตุการณ์แบ่งแยกทางเชื้อชาติ  (discrimination) ที่อาจตามมาได้ในช่วงสงคราม เพราะมหา’ลัยมีทั้งเด็กรัสเซียและเด็กยูเครน

นอกจากนี้ก็เคยได้รับ sms แจ้งเรื่อยๆ ว่าจะมีการซ้อมเปิดสัญญาณฉุกเฉินในเมืองวัน-เวลาไหนบ้าง สำหรับนักศึกษาที่มีอาการเครียดจากภาวะสงครามก็สามารถนัดพบนักจิตบำบัดของ LUT ได้เลย

แสงเหนือที่ผ่านหน้าต่างห้องครัว (appreciate สุดๆ!)
แสงเหนือที่ผ่านหน้าต่างห้องครัว (appreciate สุดๆ!)
หน้ามหาวิทยาลัยมีทะเลสาบด้วยนะ หน้าหนาวก็ลงไปเดินเล่นได้
หน้ามหาวิทยาลัยมีทะเลสาบด้วยนะ หน้าหนาวก็ลงไปเดินเล่นได้

. . . . . . . 

สถานีต่อไป ประเทศเนเธอร์แลนด์
Vrije Universiteit Amsterdam
Science for sustainability

จากประเทศฟินแลนด์ที่กว้างใหญ่ คนไม่หนาแน่น เทอมนี้เราเปลี่ยนมาเจอบรรยากาศที่ต่างสุดๆ ใน "นครอัมสเตอร์ดัม" (Amsterdam) เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่สุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ บรรยากาศมีชีวิตชีวาและน่าตื่นตาตื่นใจมาก ที่เที่ยวก็เยอะโดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ (Museum) และมีสำนักงานใหญ่ของบริษัทดังหลายแห่งตั้งอยู่ในเมืองนี้ อัมสเตอร์ดัมอัดแน่นด้วยผู้อยู่อาศัย นักศึกษา คนทำงานจากต่างชาติ และนักท่องเที่ยว ถ้าเทียบอารมณ์ตอนใช้ชีวิตในเมืองก็น่าจะคล้ายๆ เดินห้างแถวสยามเย็นวันศุกร์

ตึกเรียนที่เนเธอร์แลนด์
ตึกเรียนที่เนเธอร์แลนด์

มาดูวิชาเรียนเทอมนี้กันก่อน

  • Service oriented design – 6 ECTS
  • Software sustainability-quality assessment – 6 ECTS
  • Green lab – 6 ECTS
  • Logical verification – 6 ECTS
  • History of digital cultures – 6 ECTS

เจอการเรียนที่ยากและกดดันขึ้น

ตอนเรียนที่เนเธอร์แลนด์ เขาแบ่ง period เหมือนกับฟินแลนด์เลย แต่การให้เกรดจะยากกว่า กี้ขอสรุปความแตกต่างให้พอเห็นภาพคือ

ประเทศการตัดเกรดสไตล์การสอบ
อิตาลีรวมและเฉลี่ยเป็นคะแนน 0-30 จากงาน การนำเสนอ และสอบ สูงสุดคือ 30 = Aเน้นนำเสนอ Oral Exam
ฟินแลนด์เกรด 1-5 สูงสุดคือ 5 = Excellentเน้นอภิปรายและประยุกต์
เนเธอร์แลนด์เกรด 1-10 สูงสุดคือ 10 = Outstandingเน้น Paper แนววิชาการ

ที่เนเธอร์แลนด์จะให้ผ่าน = 6 (ประมาณเกรด D) และคนส่วนมากจะได้ประมาณ 7-8 (ประมาณเกรด C-B)  ถ้าไม่เก่งแบบโดดเด่นโดนใจอาจารย์จริงๆ การจะไปถึง 9-10 คือเรื่องยากมากกก แทบไม่มีใครได้เกรดนี้เลยค่ะ 

กี้คือคนนึงที่เจอ Academic Shock ตั้งแต่เด็กเราเรียนหนักมาตลอดเพื่อให้ได้เกรดที่น่าพอใจ แล้วก็ไม่เคยผิดหวัง แต่พอมาที่นี่ เราได้ 7 ในวิชาที่ทุ่มสุดตัว  แม้กลุ่มนักศึกษาไทยที่รู้จักจะแชร์กันว่าฝั่ง Academic ประเทศนี้เรียนเครียดมากๆ เป็นเรื่องปกติ 

**เสริมว่าระบบการเรียนที่เนเธอร์แลนด์แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Research-oriented education - WO  น้นวิชาการแบบที่เราเรียน กำหนดเกณฑ์การให้คะแนนชัดเจน ระบุจำนวนเปเปอร์ที่ต้องเขียน  ฯลฯ เพื่อเตรียมเส้นทางไปสู่ปริญญาเอกหรือนักวิจัย ความเคร่งจะมากกว่าอีกประเภทคือ Higher professional education - HBO  เช่น เรียนสายอาชีพเฉพาะทาง หรือเรียนเชิงปฏิบัติ-ประยุกต์  จบมาพร้อมทำงานเลย

อย่างเช่นวิชา Green in IT เจาะลึกการค้นคว้าด้าน Sustainability ในเชิงวิชาการมากขึ้น เราต้องเข้าใจหลักการในระดับที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วย เช่น เราเคยต้องหา energy consumption จากการเข้าเว็บต่าง ๆ ผ่านมือถือ Android แล้วทำเหมือนเขียนเปเปอร์ ก็คือมี set flow ตั้งคำถาม -> ทบทวนวรรณกรรม -> เขียน Method > ทดลอง > พิสูจน์สมมติฐาน (Hypothesis) ดังนั้นจะไม่ใช่แค่การหาข้อมูลแล้วมาพรีเซนต์ ดิสคัสกันในคลาส วิชานี้ทำเราเหนื่อยมากๆ เพราะเลือกหัวข้อที่อยากเขียนเองไม่ได้

ปัญหาในอีกวิชานึงที่เราเจอ คือต้องทำงานกลุ่มเขียนเปเปอร์เชื่อมโยง Sustainability เข้ากับ Cryptocurrencyความยาว 60 หน้าขึ้นไป อัปเดตความคืบหน้าสัปดาห์ละครั้ง ปรากฏว่างานนั้นได้ 6 ช็อกมากก ทั้งที่เราก็เต็มที่ในส่วนของเรา  โดย TA ให้เหตุผลว่าอาจารย์ตรวจพบ Plagiarism ค่ะ ครั้งนั้นเราได้บทเรียนจากการที่มีสมาชิกกลุ่มคนนึงแอบใช้ ChatGPT เขียนงานส่วนของตัวเอง แถมเนียน copy-paste ข้อความทั้งดุ้นจาก AI 

กี้ขอฝากทุกคนว่า Plagiarism นั้นซีเรียสมากๆ ในต่างประเทศ โทษร้ายแรงถึงขั้นถูกพักการเรียน หมดสิทธิ์สอบ หรือไล่ออก แถมเพื่อนต้องเดือดร้อนไปด้วย AI มีประโยชน์ในบางเรื่องก็จริง แต่จงหลีกเลี่ยงการใช้ AI มาช่วยเขียนงานค่ะ

ช่วงก่อนทำ Thesis  ทุกอย่างก็ถาโถมเข้ามา เราซึมจนเป็น Burnout Syndrome ถึงขั้นคิดว่าจะยอมแพ้ขอคืนทุนดีไหม บรรยากาศการเรียนตอนนั้นกดดันมาก รู้สึกหลงทางและตั้งคำถามกับการตัดสินใจตัวเอง แต่สุดท้ายก็ผ่านช่วงนั้นมาได้  เพราะทางสาขาส่ง contact นักจิตบำบัดของมหาวิทยาลัยที่ฟินแลนด์ให้เราติดต่อไปได้ค่ะ หมายความว่าถึงเราจะย้ายจากฟินแลนด์เทอมก่อน แล้วมาเนเธอร์แลนด์เทอมนี้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์เข้าถึงสวัสดิการนี้ได้เหมือนเดิม 

สำหรับกี้ขอยกให้ฟินแลนด์คือเซฟโซนที่สุด เขาใส่ใจคุณภาพชีวิตและ well-being นักศึกษามาก (จริงๆ มหาวิทยาลัย VU ที่เนเธอร์แลนด์ก็มีบริการเข้าพบนักจิตบำบัดเช่นกัน แต่คิวยาวไปถึง 2 เดือน 5555 ) อีกสิ่งที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ มาได้ ก็คือบรรดาเพื่อนในยุโรป ทั้งเพื่อนคนไทยและเพื่อนต่างชาติ รู้สึก grateful มากที่มาเรียนไกลบ้าน แต่ก็ได้รู้จักคนดีๆ คอยเป็นกำลังใจให้เราด้วย

รีวิวชีวิตทั่วไปในเนเธอร์แลนด์

  • ข้อดีของเนฯ คือมีกิจกรรมนอกบ้านให้ทำเยอะ ทั้งแบบเสียเงินและไม่เสียเงิน รู้สึกวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเยอรมนีที่เคยไปแลกเปลี่ยน นั่งรถไฟไปเที่ยวต่างเมืองได้ง่ายมาก และพวกโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) พวกถนน ทางเท้า รถสาธารณะ ฯลฯ  ก็จัดการดีมากจนไม่ทำให้เรารู้สึก Toxic กับการใช้ชีวิตแต่ละวัน แล้วที่ปลื้มแบบสาแก่ใจมากก็คือบางจังหวะเจอราคาค่าตั๋วข้ามประเทศถูกๆมาก เช่น ฟินแลนด์ -> เยอรมนี กี้เคยจองได้ในราคา 400 บาท หรือเนเธอร์แลนด์ ->  โปแลนด์ในราคาไม่ถึง 900 บาทในช่วงสิ้นปี
     
  • ค่าครองชีพ เราไปเจอช่วงสงครามที่ส่งผลกระทบกับค่าครองชีพเต็มๆ เทอมนั้นเงินจากทุน (1000 EUR ต่อเทอม) เกือบไม่พอ  วัตถุดิบเช่น ไข่ไก่ น้ำมัน เนื้อสัตว์บางประเภท ขึ้นราคาอย่างเห็นได้ชัด ค่าไฟ ค่าแก๊สแพงเป็นสามเท่าเมื่อเทียบกับตอนอยู่อิตาลี เราจึงต้องหาวิธีรัดเข็มขัดให้มากที่สุด จากที่เคยไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาบ่อยๆ ตอนอยู่อิตาลีหรือฟินแลนด์ ก็ไม่ค่อยได้ไปไหนแล้ว เน้นใช้บัตรรถไฟที่มีอยู่นั่งฟรีตาม subscription ไปเมืองใกล้ๆ แทน ค่ะ
     
  • หอพัก ชีวิตจะเหมือนคนละม้วนกับฟินแลนด์หน่อย เพราะเป็นประเทศที่พื้นที่น้อย คนอาศัยแทบจะไม่พอจนต้องแย่งชิงกัน อย่าง VU มีหอในที่ 14 คนอยู่ชั้นเดียวกัน ใช้ส่วนกลางร่วมกัน แต่มีห้องนอนเล็กๆ คนละห้อง ราคาตกประมาณ 450 ยูโร/เดือน (ประมาณ 17,000 บาท) ซึ่งถือว่า "ราคาถูก" แล้วในกรุงอัมสเตอร์ดัม หอนึงมีประมาณ 20 ชั้น แออัดมาก ถ้าอยากอยู่กับคนน้อย เช่นแชร์ 3-4 คน ก็ยิ่งแพงไปถึง 600 ยูโร/เดือน

    ก่อนไปเนเธอร์แลนด์ เราตัดสินใจขอแชร์อพาร์ทเม้นท์กับพี่ผู้หญิงคนไทยที่ทำงานที่นั่น เพราะไม่อยากแชร์ส่วนกลางกับคนนับสิบ (ที่อาจจัดปาร์ตี้กันทุกอาทิตย์) และค่าเช่าก็ถูกกว่าหอในมาก แม้ต้องแลกกับการที่ใช้เวลาเดินทางนานขึ้น 1 ชั่วโมง เพราะอพาร์ทเมนท์ไม่ได้อยู่ในอัมสเตอร์ดัม แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเราไม่ต้องยืนกับเบียดใครอยู่แล้ว ได้ใช้โต๊ะบนรถไฟทำการบ้าน นั่งอ่านเปเปอร์ หรือดูวิวสวยๆ ระหว่างเดินทางไปในตัวก็ยังได้ค่ะ

    พอย้อนไปคิด กี้รู้สึกว่าผ่านมาได้ก็เก่งแล้วแหละ 5555 เรื่องแย่ๆ ไม่ได้ทำร้ายเราจนถึงทุกวันนี้ เจอเรื่องดีมาเยอะกว่าไม่ดีอีก แค่ได้บทเรียนเพิ่ม ได้เจอความท้าทายจากคนแต่ละประเภทว่าจะทำงานร่วมกับเขาได้ยังไงบ้าง
เที่ยวอัสเตอร์ดัม
เที่ยวอัสเตอร์ดัม
ไปสัมนาที่บริษัท booking.com
ไปสัมนาที่บริษัท booking.com

. . . . . . . 

ปิดท้ายด้วย "สวีเดน" ประเทศในฝัน
Chalmers University of Technology

เทอมสุดท้ายแห่งการทำ Thesis

เทอมสุดท้ายเป็นเทอมบังคับทำ Thesis ซึ่งไม่ได้แสดงบทหน้าเว็บหลักสูตร SE4GD ค่ะ  มหา’ลัยจะรวมหลักสูตรในความร่วมมือมาให้เราเลือก แล้ว Supervisor (*ขอเรียกย่อว่า ซุป) ก็จะมีโควตาว่ารับเด็กกี่คน อาจมีการแย่งชิงบ้างถ้าหัวข้อนั้นน่าสนใจแต่รับ 2 คนไรงี้ หนึ่งในปัจจัยที่พิจารณาคือ “เกรด” และดูความเข้ากันได้ ต้องเขียน Proposal ให้ซุปอ่านว่าเราจะทำแนวไหน คาดหวังอะไร ผลลัพธ์ ฯลฯ ถ้าซุปโอเคก็เตรียมย้ายไปประเทศสุดท้ายของโปรแกรม Erasmus+ ตามแผนของเราแล้วค่ะ! 

ตอนนั้นมีซุปจากเนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก สเปน  และมีทางเลือกอื่นคือทำวิจัยกับบริษัทต่างๆ ที่มี Connection กับอาจารย์ด้วย เราตัดสินใจเลือก Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน (มหา'ลัยนี้ดี มีทุนให้เด็กไทยเยอะด้วย ใครสนใจไปเรียนต่อ แนะนำเลยค่า) เพราะหัวข้อวิจัยน่าสนใจ ซุปใจดี และไลฟ์สไตล์เราน่าจะเหมาะกับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย

รีวิวชีวิตช่วงทำ Thesis

ซุปกำหนดแค่วันประชุมเพื่ออัปเดตงาน วันที่เหลืออิสระ จัดการเวลาเองเลยแต่ต้องรายงานความคืบหน้าเสมอ จะทำออนไลน์หรือเข้ามาทำงานในมหา’ลัยก็ได้ (ชั้นที่เราไปทำงานมีห้องพักอาจารย์และ ห้องแล็บเด็กป.เอกหรือนักวิจัย) ซึ่งถ้าเรามีบัตรเข้าแล็บ ก็สามารถเข้าถึง Facilities ต่างๆ เช่น กดกาแฟหรือโกโก้ฟรีจากเครื่องทำกาแฟ สามารถชงชาต่างๆ ที่มีให้เลือกกว่า 10 ชนิด มีนมโอ๊ตเตรียมให้ทุกวัน บางวันก็มีตะกร้าขนมปังและผลไม้ให้หยิบฟรี แต่ข้อเสียเดียวคือไม่มีโรงอาหารนักศึกษาเหมือนที่ฟินแลนด์ แล้วร้านอาหารรอบ Chalmers ราคาค่อนข้างแพง กี้เลยเน้นทำอาหารกินเอง แล้วก็นั่งร่วมวงกับนักศึกษา ป.เอก อาจารย์และเหล่านักวิจัยด้วย

กี้ทำธีสิสเรื่อง The relationship between human values, job satisfaction, and well-being among IT employees : an exploratory study  หลักๆ คือสำรวจความยั่งยืนในเชิง Social และ Individual Aspect ของคนในสายงาน IT วิจัยนี้ทำให้เรารับรู้ถึงความน่าสนใจที่ว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น ๆ ยึด value อะไรเป็น 3 อันดับแรกและสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตอย่างไร อีกข้อสรุปคือ ต่อให้ทำงาน IT เหมือนกัน แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องยึดถือคุณค่าในสิ่งเดียวกันเสมอไป และนั่นทำให้เรามีวิธีการจัดการและเพิ่ม “จุดยั่งยืน” ของชีวิตส่วนตัวและทำงานต่างกัน 

ระหว่างทำธีสิสก็เจอเรื่องน่าปวดหัวบ้างตามแบบฉบับนักเรียน ป.โท แต่ซุปใจดีมาก ๆ ซัปพอร์ตทุกอย่าง และให้กำลังใจเก่งด้วย สุดท้าย Thesis ของกี้ประสบความสำเร็จปิดท้ายอย่างสวยงาม~

Chalmers University of Technology
Chalmers University of Technology
พรีเซนต์ธีสิส
พรีเซนต์ธีสิส

แค่ออกจากบ้านก็เท่ากับการพักผ่อน

เมืองที่กี้ไปอยู่คือ "โกเธนเบิร์ก" (Gothenburg) หรือ Göteborg ในภาษาสวีดิชค่ะ ที่นี่เป็นเมืองท่าขนาดกลาง คนเยอะ แต่ไม่วุ่นวาย เป็นบรรยากาศที่ผสมระหว่าง Lively + Cozy การเดินทางสะดวก มีพื้นที่สาธารณะเยอะ สวนน่านั่ง ถ้าอินกับธรรมชาติจะรู้สึกใกล้ชิดสุดๆ แค่ออกจากบ้านก็เท่ากับการพักผ่อนแล้วค่ะ  โดยรวมชีวิตตอนอยู่สวีเดน ไม่ค่อยต่างจากตอนอยู่ฟินแลนด์ ได้หอพักที่ layout คล้ายฟินแลนด์เลย จึงไม่ต้องปรับตัวมากนัก ถ้าทำ Thesis เครียดๆ ก็เข้าป่าได้ค่ะ ธรรมชาติดีงามมากกก บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีดิช เช่น Volvo และ Ericsson ก็อยู่ที่เมืองนี้

ไปสวนสนุกประจำเมือง
ไปสวนสนุกประจำเมือง
[ซ้าย] ป้ายรอรถ [ขวา] วิวหลังบ้าน
[ซ้าย] ป้ายรอรถ [ขวา] วิวหลังบ้าน
บ้านเมืองน่ารักๆ แถวหอ
บ้านเมืองน่ารักๆ แถวหอ
วิวจากห้อง common ของแล็บ
วิวจากห้อง common ของแล็บ
เที่ยวสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน
เที่ยวสตอกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน
นั่งเรือไปเที่ยวเกาะกับรูมเมท
นั่งเรือไปเที่ยวเกาะกับรูมเมท
ไปร่วมขบวน Pride month ด้วย (สวีเดนเป็นประเทศที่ส่งเสริมความเท่าเทียมมากๆ)
ไปร่วมขบวน Pride month ด้วย (สวีเดนเป็นประเทศที่ส่งเสริมความเท่าเทียมมากๆ)

. . . . . . . 

จุดหมายก็สำคัญ
ระหว่างทางก็สวยงาม

ทุน Erasmus+ บังคับย้ายประเทศแทบทุกเทอม บางคนอาจมองว่าการย้ายประเทศบ่อยเป็นเรื่องแย่  ขณะที่เรามองว่าเป็นข้อดีที่ไม่ใช่แค่ให้ไปเรียน แต่ต้องการให้เราไปเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายในทุกประเทศที่ไป อย่างกี้ก็เหมือนไปทดลองใช้ชีวิตมา 4 ประเทศ (และเที่ยวอีกเยอะมาก) ไปสัมผัสเสน่ห์ ความเหมือน-ต่าง ความน่าสนใจของแต่ละที่ด้วยตัวเอง แล้วเห็นได้ชัดว่าเรายังได้มิตรภาพในต่างแดนที่เป็น Lifelong Friendships ถ้าจะไปประเทศไหนก็อุ่นใจเลยว่ามีเพื่อนพาเที่ยวแน่นอน

สรุปคือเรียน 4 เทอม ไปมารวมๆ  55 เมือง 15 ประเทศ ยกเว้นแถบยุโรปตะวันออกที่ไม่ค่อยได้ไปเท่าไหร่) ไปเที่ยวมาแต่ละที่ชอบต่างกันนะคะ ถ้าเป็นหมวดธรรมชาติกี้ชอบกรีซเพราะทะเลสวย นอร์เวย์ โครเอเชียก็ดี ถ้าเชิงประวัติศาสตร์ชอบโปแลนด์และเยอรมนี

**กี้โชคดีที่ได้รู้จักพี่นักศึกษาและเพื่อนคนไทยที่ทำงานในยุโรปหลายคน ดังนั้นก่อนไปแต่ละเมือง แต่ละประเทศ จึงทักไปขอคำแนะนำเรื่องการเตรียมตัวได้ค่ะ ทุกคนยินดีช่วยเหลือ ถ้าไปเดี่ยวแบบไม่รู้จักใครเลยอาจลำบากโดยเฉพาะตอนย้ายเข้า-ออกหอ แต่เราเชื่อว่าถ้ามาถึงระดับนี้แล้ว ไม่ยากถึงขั้นที่ไปอยู่เองไม่ได้แน่นอน (หลักสูตรนี้สามารถมาแบบ self-funding ได้นะ)

เที่ยวเดนมาร์ก
เที่ยวเดนมาร์ก
เที่ยวนอร์เวย์
เที่ยวนอร์เวย์
เที่ยวปารีส
เที่ยวปารีส
เที่ยวเบลเยียมเทศกาลคริสต์มาส
เที่ยวเบลเยียมเทศกาลคริสต์มาส
เที่ยวสเปน
เที่ยวสเปน
เที่ยวปราก
เที่ยวปราก
เที่ยวกรีซ
เที่ยวกรีซ
[ซ้าย] ไปทัศนศึกษาที่รัฐสภาแห่งเยอรมนี [ขวา] ไปคอนเสิร์ตที่เบอร์ลิน
[ซ้าย] ไปทัศนศึกษาที่รัฐสภาแห่งเยอรมนี [ขวา] ไปคอนเสิร์ตที่เบอร์ลิน

. . . . . . . 

หาแรงบันดาลใจตัวเองให้เจอ
ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน

ในบทความพาร์ตแรกกี้เล่าว่า สกิลภาษา แรงบันดาลใจ และความพยายามพาเรามาถึงยุโรป ตอนกลับจากแลกเปลี่ยนที่เยอรมนีก็ถามตัวเองว่าจะทำยังไงให้ได้กลับมาสภาพแวดล้อมแบบนี้อีก โชคดีที่ได้แรงซัปพอร์ตจากที่บ้าน ได้เจอครูที่ดี แล้วยังมีเรื่องจังหวะเวลา เพราะตอนนั้นคู่แข่งคือใครบ้างก็ไม่รู้

พอทำเต็มที่จนได้มาสัมผัสกับชีวิตที่อยากมีมาตั้งนาน ได้เปิดโลกเรื่องวิชาการและวัฒนธรรม ได้เห็นสถานที่ที่เรารู้จักผ่านสื่อตอนเด็กๆ ก็รู้สึกภูมิใจมากกับตัวเอง แล้วคนรอบตัวก็ภูมิใจไปกับเราด้วย  ผลลัพธ์มันเกินคำว่าคุ้มไปไกลเลยค่ะ แม้ว่าระหว่างทางอาจมีทุกข์บ้าง แต่ขอบคุณตัวเองเสมอที่พยายามอย่างหนัก จนตัดสินใจสมัครและรับทุนนี้มา

กี้อยากฝากถึงน้องๆ หลักการเหมือนเรียนภาษาเลย นั่นก็คือ "หาแรงบันดาลใจตัวเองให้เจอ” ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม หาให้เจอแล้วยึดมันไปเป็นแรงจูงใจให้ตัวเองสู้ ลงมือทำ ฝึกฝนสม่ำเสมอเพื่อให้เป้าหมายนั้นสำเร็จ อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าทำได้ ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ปล่อยให้หน้าที่การตัดสินเป็นของกรรมการ ส่วนเราทำให้ดีที่สุด อย่าเพิ่งตัดสินใจไปว่าจะไม่ได้ ไม่ผ่าน 

ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากความมุ่งมั่นของน้องๆ เอง กี้ก็อยากเห็นเด็กไทยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน (ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือภาครัฐ) และได้รับโอกาสอันดีแบบนี้กันเยอะๆ ค่ะ

SE4GD Learning Frameworkย้อนอ่าน Part I รีวิวสมัครทุน Eramus+

 . . . . . . . 

​​You’re Invited!
เสาร์ 27 - อาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024
งานเรียนต่อนอก Dek-D ครั้งที่ 3

รอบนี้พิเศษสุดๆ เพราะ Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรามากถึง 23 คน เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครอง  Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลีย

สำหรับใครที่อยากพูดคุยกับ “พี่กี้” สามารถ Walk-in มาปรึกษา 1:1 ได้ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024 นะคะ แล้วเจอกันนน!

เช็กไฮไลต์งานแฟร์ที่นี่
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น