ชีวิตเรามีโอกาสเจอคนรุนแรงก้าวร้าวเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เจอแล้วจะทำยังไงดีล่ะ?
ข่าวสะเทือนขวัญช่วงนี้ที่พี่หมอแมวน้ำฟังแล้วหลอนกังวลมาก คือ เหตุการณ์ความรุนแรงในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่ามีคนร้ายบุกเข้าไปในโรงพยาบาล หลังจากนั้นใช้น้ำมันเบนซินบรรจุถุงพลาสติกปาใส่เตียงคนไข้ ก่อนจุดไฟเผาสถานที่ ทำให้แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ ต้องอพยพผู้ป่วยอย่างเร่งรีบแทบจะหนีไม่ทัน มีเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เสียหายนับสิบล้านบาท หลังก่อเหตุคนร้ายขับรถเร็วเฉี่ยวชนรถหลายคัน จนมีคนบาดเจ็บ 3 ราย ตำรวจสามารถตามจับตัวได้ คนร้ายให้เหตุผลที่มาของพฤติกรรมก้าวร้าวครั้งนี้ว่าต้องการระบายความเครียด และประชดสังคม หลังถูกโกงเงินค่าขายที่ดินแม้จะมีสาเหตุกล่าวอ้าง แต่สิ่งที่ทำลงไปทำให้เกิดความเสียหายทั้งกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยทุกคนและญาติผู้ป่วย ไม่ใช่แค่จะทำให้คนอื่นบาดเจ็บทางกาย แต่อาจทำให้เกิดบาดแผลทางใจด้วย
ในชีวิตประจำวันเรามีโอกาสเจอกับคนที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่อื่นๆ ทั้งที่โดนกับตัวเองโดยตรง หรือเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ ไม่ว่าใครที่ต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ต้องรู้สึกไม่ดีแน่ๆ หากเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าถูกคุกคามต่อความปลอดภัยและชีวิตมากเท่าไร จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การปรับตัวผิดปกติหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง (PTSD-Posttraumatic stress disorder)
หากเราเข้าใจว่าเรื่องใดนับเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนใจ (Trauma) เรื่องนั้นส่งผลต่อจิตใจและร่างกายได้ในรูปแบบไหน ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว วิธีสังเกตความผิดปกติ และการแก้ไข ขอความช่วยเหลือ จะเป็นการช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยที่ตามมา
เหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ (Trauma)
หมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผู้ที่ต้องเจอกับเรื่องเลวร้ายนี้ตีความว่าสิ่งที่เกิดเป็นอันตราย (Danger) มีความกลัวกังวลอย่างมาก ไม่สามารถควบคุมเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ช่วยเหลือตัวเองก็ไม่ได้
ผลที่ตามมาจากการที่ต้องประสบกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน
- ทางกาย (Physical) เช่น กระสับกระส่าย ตื่นตัว เหงื่อออก ใจสั่น ปวดหัว ปวดท้อง หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ
- ทางอารมณ์ (Emotion) เช่น วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย เศร้า ท้อแท้ สับสน หมดหวัง
- ทางการเรียน/การทำงาน (Academic/Work) เช่น ไม่มีสมาธิ การเรียนรู้แย่ ผลการเรียนลดลง ทำงานได้ไม่ดี
- ทางความสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship) เช่น ทะเลาะกับคนในครอบครัว มีปัญหากับเพื่อน
เวลาที่ต้องเจอกับเรื่องรุนแรงร่างกายจะมีระบบเตือนภัย (Alarm System) คือ เมื่อสมองประเมินผลว่ากำลังจะเกิดอันตราย ร่างกายจะแสดงปฏิกิริยาออกมาได้ 3 รูปแบบ
- ต่อสู้เผชิญกับอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น (Fight)
- จัดการกับปัญหาด้วยการหนี (Flight)
- แน่นิ่งไปไม่มีการตอบสนอง (Freeze)
การที่เราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองแบบใดขึ้นอยู่กับการประมวลผลของสมองว่าใช้วิธีไหนจะมีโอกาสจัดการกับอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด
เช่น
- เมื่อเราถูกแมลงตัวเล็กไต่ที่แขนสมองของเราประเมินแล้วว่าเราสามารถตบแมลงให้มันตายได้ (Fight) เพราะเราตัวใหญ่กว่า
- ถ้าเรากำลังจะถูกรถชน สมองจะประมวลผลให้เราต้องหนี (Flight) เนื่องจากรถใหญ่กว่าและมีกำลังปะทะที่รุนแรงกว่า
- แต่ถ้าเรากำลังจะโดนสุนัขตัวใหญ่ไล่กัด บางทีเราอาจจะแน่นิ่ง (Freeze) เนื่องจากสมองประมวลผลว่าเราไม่มีกำลังมากพอที่จะต่อสู้ได้และไม่มีกำลังขามากพอที่จะวิ่งหนีได้
การทำงานของสมองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- สมองส่วนที่ทำหน้าที่คิดวางแผน ประเมินว่าสิ่งใดเป็นอันตรายหรือไม่เป็น (thinking brain)
- สมองส่วนที่ทำหน้าที่รับคำสั่งจากสมองส่วนที่คิด เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเพื่อรับมือกับอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น (doing brain) เช่น มีปฏิกิริยาเมตาบอลิซึมของร่างกายที่เพิ่มขึ้น มีการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มมากกว่าภาวะปกติ
ในคนปกติทั่วไปเมื่อต้องเผชิญกับภยันตราย สมองทั้งสองส่วนจะต้องทำงานอย่างหนัก และเมื่ออันตรายนั้นหมดไปร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่บางคนที่ร่างกายยังมีการทำงานเสมือนหนึ่งว่ามีภยันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคการปรับตัวผิดปกติหลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่า PTSD - Posttraumatic stress disorder ได้
ความรุนแรงก้าวร้าวคืออะไร
เป็นพฤติกรรมที่ทำไปเพื่อให้อีกฝ่ายต้องรู้สึกเจ็บปวดหรือสูญเสียอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่มักทำเพราะความโกรธ ต้องการล้างแค้นเอาคืน
เมื่อทำไปแล้วจะทำให้ผลลัพธ์ของสถานการณ์นั้นเป็นแบบแพ้-ชนะ(Win - Lose Situation) จงใจทำเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการและเอาเปรียบอีกฝ่าย
คนที่แสดงความรุนแรงก้าวร้าวมักจะไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น (Lack of Empathy) ไม่รับฟัง มีอคติ ลึกๆ อาจจะรู้สึกตัวเองไม่ดีพอ (Inadequacy) เหมือนเม่นที่พองขนเพื่อป้องกันตัวเอง เชื่อว่าวิธีการที่ตัวเองใช้เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ
ตัวอย่างพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว
- ทางกาย (physical) เช่น ขว้างปาข้าวของ ทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย ชี้หน้าด่า
- ทางคำพูด (verbal) เช่น พูดด่าหยาบคาย ใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกต่ำต้อยไร้ค่า
เวลาที่เรามีอารมณ์และความคิดที่เป็นลบเช่น โกรธเพื่อนเพราะคิดว่าถูกเอาไปนินทา แต่ละคนจะมีความสามารถในการคุมความรุนแรงก้าวร้าวได้ไม่เท่ากัน บางคนที่วุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำอาจร้องด่าตะโกนทันทีหรือเข้าไปใช้กำลังกับอีกฝ่าย โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมา แต่บางคนจัดการกับความโกรธได้ดี แม้จะแค้นแต่ต้องไปสืบหาข้อเท็จจริงก่อนและค่อยหาวิธีเอาคืนทีหลัง
เราสามารถโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิดอีกฝ่ายได้ ซึ่งแต่ละคนมีวิธีจัดการอารมณ์ต่างกัน เช่น ไปออกกำลังกาย วาดรูป ทุบหมอน สิ่งหนึ่งที่เป็นกฎเหล็กห้ามทำเพราะทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน คือ ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น และทำลายข้าวของ หากเราคุมตัวเองไม่ได้ ทำผิดกฎ 3 ข้อนี้ แนะนำให้พบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อหาสาเหตุและฝึกการควบคุมอารมณ์พฤติกรรม
วิธีการจัดการเมื่อเจอกับคนที่รุนแรงก้าวร้าว
แต่ละคนที่เจอกับแต่ละสถานการณ์เหมาะกับวิธีที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องลองผิดลองถูก เลือกวิธีให้เหมาะกับตัวเอง
ไปหลบในที่ที่ปลอดภัย (Keep Safe)
สิ่งสำคัญที่สุดเวลาที่ต้องเจอกับคนที่รุนแรงก้าวร้าว คือ เราต้องปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยก่อน ถ้าหลบหลีกออกมาจากตรงนั้นได้ ให้รีบทำก่อนอีกฝ่ายจะมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นรีบขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
รักษาระยะห่างและมีทางหนีทีไล่ (Keep Your Distance and Keep Your Options Open)
การที่เราหลบเลี่ยงกับคนที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวไม่ได้หมายถึงว่าเราเป็นคนขี้ขลาด เพราะการที่เราจะเอาตัวเองไปเกลือกกลั้วกับคนแบบนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ เสียเวลาในชีวิต ไม่จำเป็นว่าเราต้องไปตอบโต้เอาคืน ปรึกษาวิธีแก้ปัญหากับคนที่เราไว้ใจ ก่อนที่จะไปเผชิญหน้ากันจริง เช่นต้องเจอกันตอนประชุม ให้เตรียมแผนไว้หลายแผนสำหรับการรับมือ
สงบสติอย่าไปอารมณ์ขึ้นตาม (Keep Your Cool and Avoid Escalation)
คนที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวมักจะยั่วยุให้อีกฝ่ายเสียศูนย์ และเล่นงานจุดอ่อนของอีกฝ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ดังนั้นเราต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่าไปขึ้นตาม เพราะถ้าเราของขึ้นสมองส่วนที่ใช้เหตุผลจะทำงานได้ไม่ดี ทำให้เราตกหลุมพรางอีกฝ่ายได้
ก่อนจะพูดหรือทำอะไรที่ตัวเราต้องมาเสียใจทีหลัง ให้หายใจเข้าออกลึกๆ นับ 1-10 หรือขอเวลานอกออกไปจากสถานการณ์ตรงนั้นเพื่อสงบตัวเองก่อน
เอาตัวเองถอยห่างอย่ามองเป็นเรื่องส่วนตัวและมองในแง่มุมอื่น (Depersonalize and Shift from Reactive to Proactive
ถ้าเราเอาพฤติกรรมไม่ดีที่เขาทำมาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น “เพราะฉันเป็นคนไม่ดี เค้าเลยทำแบบนี้...” จะทำให้อารมณ์เรายิ่งแย่
ให้พยายามคิดลองมองในมุมของเค้าดูว่าเพราะอะไรทำให้เค้ามีพฤติกรรมแย่ๆ แบบนั้น เช่น “การที่หัวหน้ามาด่าเราแบบนี้ เป็นเพราะเค้ามีเรื่องเครียดหลายอย่าง” ที่ให้คิดในแง่มุมนี้ไม่ได้ต้องการจะให้เป็นคนคิดบวกโลกสวย แต่สิ่งที่เราคิดจะทำให้เรามีสติมากขึ้น เป็นผลดีต่อใจเรามากกว่า
รู้ว่าสิทธิของเราคืออะไร (Know Your Fundamental Human Rights)
เราต้องรู้ขอบเขตสิทธิของเรา ซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิที่จะมาละเมิด ตราบใดสิ่งที่เราทำไม่ได้ทำอันตรายกับคนอื่น เรามีสิทธิที่จะยืนหยัดปกป้องสิทธิของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น
- เรามีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีจากคนอื่น
- เรามีสิทธิที่จะแสดงความรู้สึกและความเห็นของเรา
- เรามีสิทธิที่จะคิดเห็นต่างได้
หากได้ลองทำวิธีต่างๆ ในการรับมือกับคนที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวแล้วไม่ได้ผล ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกก่อกวนชีวิตจนสภาพจิตใจเราเริ่มพัง เช่น เครียด เศร้า โทษตัวเอง รู้สึกหมดหวัง กินไม่ได้นอนไม่หลับ สมาธิความจำแย่ แนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อให้การประเมินและคำแนะนำช่วยเหลือ
ข้อมูลจากhttps://peoplesafe.co.uk/blogs/how-to-diffuse-aggression-conflict-resolution-tips/https://medium.com/@hilaryharrell9433/the-best-way-to-respond-to-aggressive-peoplehttps://www.healthline.com/health/aggressive-behaviorจากประสบการณ์การรักษาคนไข้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวของพี่หมอแมวน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เจอได้บ่อย หากตัวคนไข้ คนรอบข้างร่วมมือกันปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้น คนไข้คุมตัวเองได้ คนรอบตัวก็ไม่ต้องอยู่แบบผวาหลอนว่าจะต้องเจอกับความรุนแรงอีกเมื่อไร หากใครมีประสบการณ์ ข้อสงสัย คอมเมนต์กันมาได้เลยค่าา
หมอแมวน้ำเล่าเรื่อง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น”
0 ความคิดเห็น