ม.รังสิต สู่การเป็นมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมงแห่งแรกของไทย

ม.รังสิต เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง เรียนรู้ได้ตามต้องการ พร้อมดูแลความปลอดภัยนักศึกษาด้วยตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรก

มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้สู่การเป็นมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง พร้อมปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย และครอบคลุมตามความต้องการของนักศึกษาและตลาดแรงงาน  เน้นการลงมือปฏิบัติมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนอีกต่อไป พร้อมการรักษาความปลอดภัยจากตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทย โดยแนวทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา และสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพในอีก 5 ปีข้างหน้าของมหาวิทยาลัยรังสิตจะเป็นอย่างไร คอลัมน์ Next Ed : การศึกษาเพื่อโลกยุคหน้า นำข้อมูลมาฝากทุกคนกันในบทความนี้ค่ะ

ม.รังสิต เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง เรียนรู้ได้ตามต้องการ พร้อมความปลอดภัยจากตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรก
ม.รังสิต เปิดพื้นที่มหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง เรียนรู้ได้ตามต้องการ พร้อมความปลอดภัยจากตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรก

ทิศทางการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต 2570

แนวทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยรังสิต สู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ใน 5 ปีข้างหน้า ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นถึงประเด็นสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่ง คือ เรื่องนวัตกรรม ทางมหาวิทยาลัยรังสิตมองว่า นวัตกรรม เป็นธงหลักในการพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะความรู้ ความสามารถ ที่ครอบคลุมถึงมิติต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องใหม่ขององค์กร เพราะนอกจากงานวิจัยแล้ว มหาวิทยาลัยต้องการสร้างนวัตกรรมที่องค์กรและสังคมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกด้วย

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญก็คือ การดูแลนักศึกษาทุกคนให้ดีที่สุด พัฒนาให้เก่งรอบด้าน มีความรู้และทักษะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคม โดยการมอบทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิตที่หลากหลายให้แก่ผู้เรียน และให้ความสำคัญกับความต้องการการเรียนรู้ของนักศึกษาในทุกๆ ด้านกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต

ทางมหาวิทยาลัยรังสิตวางทิศทางและการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย 5 ปีหลังจากนี้ หรือภายในปี พ.ศ. 2570 ให้มีความพร้อมในทุกด้าน ได้แก่  

  1. สร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิต
  2. สร้างความเป็นเลิศทางวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
  3. สร้างความเป็นเลิศด้านการบริการวิชาการและการฝึกอบรม
  4. ชี้นําการรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
  5. บริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศและองค์กรแห่งความสุข

โดยได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกหน่วยงานภายในองค์กรช่วยกันขับเคลื่อน ทั้งคุณภาพการศึกษา และความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ที่หนึ่งใจนักศึกษา ตามแนวทางที่วางไว้คือ “ดีมาก-หลากหลาย-24 ชั่วโมง”  

มหาวิทยาลัยรังสิต คือ บ้านและความหวังของอนาคต

เนื่องจากยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การทำงานและทักษะอาชีพในแขนงต่างๆ เองก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังนั้น มหาวิทยาลัยรังสิตจึงปรับเปลี่ยนและจัดเตรียมกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทที่จะเกิดขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต  

สำหรับปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา เผยว่า มีทั้งหมด 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่  

  1. Professional Needs : ความคาดหวังสมรรถนะใหม่ในด้านทักษะอาชีพ
  2. Process Disruption : กระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation ที่ครอบคลุมทุกหลักสูตร
  3. Student Expectations : หลักสูตรและการเรียนรู้ที่เพิ่มความหลากหลายในวิชาชีพ

ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตเองได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ Digital Transformation และตรงตามความต้องการของนักศึกษาทุกคน ที่สำคัญนักศึกษาไม่ได้เรียนเพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น แต่ทุกคนต้องลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงานได้อย่างมืออาชีพ ตามแบบฉบับ Practical University  

ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

สำหรับการบริหารจัดการองค์กรเป็นรูปแบบ Smart Organization คือ การให้ความสำคัญกับนักศึกษา โดยทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้สึกว่า ที่นี่คือบ้าน (Home) และความหวังของอนาคตเขา(Hope) ที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่เขาต้องการ โดยมหาวิทยาลัยรังสิตเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ‘DREAM SPACE’ ให้นักศึกษามาใช้ประโยชน์กันได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น ติวหนังสือ ทำรายงาน ประชุม ก็สามารถมาใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนที่จะขยายไปสู่ทุกๆ จุดในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยน Internationalization หรือความเป็นนานาชาติให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยรังสิตมีกลุ่มนักศึกษาต่างประเทศเข้ามาศึกษาต่อเพิ่มมากขึ้นในทุกปี และสิ่งที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยรังสิตมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในความเป็นนานาชาติคือ การให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เช่น นักศึกษาต่างชาติอาจจะได้เรียนรู้ภาษาไทย ในขณะที่นักศึกษาไทยเองก็จะได้เรียนรู้ภาษาต่างชาติไปด้วย นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลาง หรือ Hub ใหม่ของการศึกษาในอนาคตได้

นวัตกรรมแห่งความเป็นเลิศ เกิดจากหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลาย

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยรังสิต มีสาขาวิชาและคณะมากที่สุดในประเทศไทย แต่ละหลักสูตรที่เปิดสอนล้วนเป็นหลักสูตรที่ประเทศและตลาดแรงงานมีความต้องการทั้งสิ้น ซึ่งผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า จากความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่หลากหลายกว่า 130 หลักสูตร ทำให้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตเป็น ‘มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม’ ซึ่งแต่ละหลักสูตรที่เปิดสอนมีผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมากมาย เช่น การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์ของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์, เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่ต้องเจาะเลือดชนิดพกพา,  ผิวหนังเทียมที่ทำจากเจลาตินด้วยเทคนิคการพิมพ์ชีวภาพสามมิติสำหรับการรักษาแผล ซึ่งนวัตกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอยู่ภายใต้คำแนะนำของคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ ร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก  

ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ   มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ   มหาวิทยาลัยรังสิต

นวัตกรรมแห่งความเป็นเลิศทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ได้มีแค่นวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมอีกด้วย ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 นวัตกรรม ดังนี้

  1. Technology Innovation นวัตกรรมทางเทคโนโลยี เป็นการจัดการทรัพยากร เวลา และค่าใช้จ่าย
  2. Social Innovation นวัตกรรมทางสังคม กระบวนการพัฒนามนุษย์และสังคมอย่างเป็นระบบ
  3. Internationalization : Ability to be involved with international cultures ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยรังสิต
  4. Creative Innovation ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้มองโลกอนาคตและสร้างแนวคิดใหม่
  5. Business Innovation สร้างกระบวนการ เพื่ออยู่เหนือกาลเวลา เพื่อค้นหาธุรกิจใหม่
  6. Health Science Innovation การประยุกต์ใช้วิธีการใหม่และตอบสนองความต้องการ

สำหรับลักษณะการเรียนการสอนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Flexibility and Dynamic) โดยผู้เรียนสามารถปรับได้ตามความต้องการ อีกทั้งยังสามารถออกแบบและกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ตามต้องการและความสนใจของตัวเองได้ (Personalized learning) และเน้นเรื่องของการลงมือปฏิบัติ เพื่อเพิ่มทักษะ สมรรถนะ และความเชี่ยวชาญ (Emphasis on practice) ให้กับนักศึกษา ในส่วนของการลงภาคปฏิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตมีการร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ไม่ใช่การเรียนในห้องเรียนอีกต่อไป

มหาวิทยาลัยรังสิตมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเทรนด์การศึกษาในปัจจุบันมากขึ้น  หรือแม้แต่การเรียนที่ตอบโจทย์อนาคต เช่น การเรียนสถาปัตย์ ที่สามารถออกแบบบ้านได้เลยตั้งแต่ ปี 1 ไม่จำเป็นต้องรอเรียนไปตามหลักสูตรเดิมอีกต่อไป ทางมหาวิทยาลัยรังสิตให้สิทธิ์ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ เรียนหมอแต่อยากเรียนดนตรีควบคู่ไปด้วยก็ได้ เรียนวิศวะแต่อยากทำสื่อเป็นก็สามารถเลือกเรียนนิเทศศาสตร์เป็นวิชาโทได้ เรียกว่า เป็นการผสมผสานหลายวิชาแบบองค์รวม (Interdisciplinary) โดยก้าวข้ามข้อจำกัดทางการศึกษา เป็นการเติมเต็มการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ (Personal Expectation) และสามารถนำความรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เพราะที่นี่อนาคตออกแบบได้  

ตำรวจมหาวิทยาลัยแห่งแรก มอบความอุ่นใจในรั้วมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง

ไม่เพียงแค่ด้านทักษะวิชาการและวิชาชีพที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตให้ความสำคัญเท่านั้น แต่ความปลอดภัยของนักศึกษา บุคลากร รวมถึงบุคคลที่เข้ามาเยือนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเช่นกัน  

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย กล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่การเรียนรู้เป็นมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง เรื่องของความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเพื่อให้นักศึกษา บุคลากร รวมทั้งผู้ปกครองรู้สึกอุ่นใจถึงความปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดตั้งสำนักงานตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต (ตร.ม.) ขึ้น ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อดูแลป้องกันการก่อเหตุอาชญากรรมในพื้นที่โดยรอบสถานศึกษา เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กองบัญชาการตำรวจภูธร และมหาวิทยาลัยรังสิต  

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย   มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย   มหาวิทยาลัยรังสิต

การทำงานของตำรวจมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้หลักการ 2S คือ Security and Service ความปลอดภัยและการให้บริการ มีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ได้แก่ ตำรวจมหาวิทยาลัยประจำสายตรวจ, ตำรวจมหาวิทยาลัยประจำศูนย์ CCTV, ตำรวจมหาวิทยาลัยประจำอาคาร และตำรวจมหาวิทยาลัยประจำด่านและจราจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมหาวิทยาลัยทุกคนจะได้รับการฝึกอบรม และฝึกฝนมาโดยเฉพาะ เพื่อปฏิบัติงานด้านการดูแลความปลอดภัย อีกทั้งยังมีเรื่องของระบบการเฝ้าระวัง ระบบการตรวจตราความเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบตลอด 24 ชั่วโมง  

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการช่วยกำกับดูแลและเฝ้าระวังอีกด้วย เช่น ตำรวจสายตรวจจะมีกล้องประจำตัว เวลาเข้าไปเผชิญเหตุกล้องจะต้องถูกกดบันทึกทุกกรณี มีศูนย์ CCTV  มอนิเตอร์สถานการณ์ตลอดเวลา และเช็กพิกัดของสายตรวจแต่ละนายโดยใช้แอปพลิเคชัน Life 360 ตลอดจนใช้ระบบ AI ตรวจจับภาพใบหน้าของบุคคลที่เข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งหากเกิดเหตุด่วนนักศึกษาสามารถแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่า นักศึกษา บุคลากร หรือผู้ปกครอง ที่เข้ามาต้องรู้สึกถึงความอุ่นใจ และปลอดภัยเมื่ออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

ศูนย์พัฒนาหลักหก สร้างเศรษฐกิจเกื้อกูล สังคมเกื้อกูล

นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับนักศึกษา มุ่งถึงความปลอดภัยของชีวิตความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัย และการเน้นความเข้มแข็งทางด้านวิชาการแล้ว อีกด้านที่สำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยต้องเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม  

ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เผยว่า มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) จัดตั้งศูนย์พัฒนาหลักหก (LakHok Development Center: LHDC) ขึ้น เพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมทุนที่ยั่งยืน และเกิดเป็นแหล่งทุนระยะยาว สำหรับการดำเนินงาน สร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนจังหวัดปทุมธานี  

ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้นำงานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งนักศึกษา คณาจารย์ ลงพื้นที่นำความรู้ที่มีอยู่ไปสอน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ รายได้ สิ่งแวดล้อม และสังคมของจังหวัดปทุมธานีสู่พื้นที่สุขภาวะที่ดีและยั่งยืน ซึ่งนับว่าเป็นการร่วมสร้างสังคมแห่งการให้ และการแบ่งปัน

ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยรังสิต

ตัวอย่างผลงานที่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้การช่วยเหลือสังคม และพลิกโฉมตำบลหลักหก ได้แก่ การนำผักตบชวาขึ้นจากคลองชุมชนเมืองเอก เพื่อลดปัญหาน้ำเสีย และฟื้นฟูอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยการนำเอาผักตบชวามาแปลงเป็นดอกไม้จันทน์ และพวงหรีด ต่อมาคือ การพัฒนาที่ดินรกร้างสู่การสร้างอาชีพและรายได้รูปแบบใหม่ ซึ่งนอกจากชุมชนจะมีรายได้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยเองก็ยังได้ห้องปฏิบัติการนอกสถานที่ เพื่อให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งเรียกว่า Community Engagement Education การศึกษาที่มีส่วนร่วมของชุมชน  

นอกจากนี้ สสส. ยังได้มุ่งเน้นสรรหาและจัดสรรงบประมาณ เพื่อการสร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างสุขภาวะให้กับนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ และวางเป้าหมายเพื่อติดอาวุธให้นักศึกษาสามารถหารายได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบการสมัครงานอีกด้วย  

 

จากการให้ความสำคัญกับความต้องการและความสนใจของนักศึกษา อีกทั้งเปิดพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้เป็นมหาวิทยาลัย 24 ชั่วโมง และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation ที่ครอบคลุมทุกหลักสูตร เพื่อเพิ่มความหลากหลายในวิชาชีพ และเห็นถึงความสำคัญของการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิตสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของประเทศ ส่งผลให้พวกเขาเป็นพลเมืองโลกที่ตื่นตัว เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้ในอนาคต

 

 

 

พี่แป้ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น