4 เรื่องต้องระวัง ก่อนลงสนามสอบ TOEFL!!

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com มีหลายคนถาม พี่พิซซ่า ว่าจะสอบ TOEFL  เมื่อไหร่ดี ซึ่งคำตอบที่พี่ใช้เสมอคือ "เมื่อน้องพร้อม" ซึ่งน้องๆ ก็มักจะอยากจับพี่โยนไปไกลๆ เพราะน้องไม่รู้ว่าเมื่อไหร่คือพร้อม ฉะนั้นวันนี้เรามาดูกันค่ะว่าเมื่อไหร่คือพร้อม


     หลายคนที่เคยสอบ TOEFL มาแล้วมักจะพูดคล้ายๆ กันว่ามันยากมาก, ถามอะไรก็ไม่รู้, เรื่องที่ให้อ่านก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ที่มีแต่ศัพท์เฉพาะทาง, และ เสียเงินไปตั้งเยอะแต่ทำไมสอบได้คะแนนต่ำแค่นี้เนี่ย ใช่ค่ะ การสอบ TOEFL มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ (แต่ก็ถูกกว่า IELTS นิดนึง) แถมกว่าจะสมัครได้แต่ละทีก็ยุ่งยาก มีตั้งหลายขั้นตอน หาวันสอบ หาสนามสอบก็ยาก ไม่ได้มีที่เฉพาะแบบ TOEIC หรือ IELTS ที่สอบได้เรื่อยๆ หลายคนก็พยายามฝึกฝนตัวเองทุกวิถีทางเพื่อที่ว่าเสียเงินเสียเวลาไปสอบแค่ครั้งเดียวแต่ขอให้คะแนนดีเลิศสุดๆ ไปเลยละกัน 

     แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสอบให้ได้คะแนนงามๆ หรือสูงพอสำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่หมายตาเอาไว้อยู่ บางคนอาจจะกลัวไปหลายเดือนเลย เพราะรับไม่ได้กับคะแนนตัวเอง และไม่กล้าไปสอบอีกครั้งจนกว่าจะมั่นใจแน่นอนว่ารอบสองจะต้องคะแนนพุ่งปรี๊ด ส่วนบางคนที่ทุนทรัพย์มากพอ ก็จะเสี่ยงสอบไปเรื่อยๆ จะได้ชินหรือไม่ก็อาจจะโชคดีเจอข้อสอบที่เข้าทางถนัดพอดี ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะสอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจแบบนี้ได้

     โดยปกตินิยมสอบ TOEFL กันแค่ 2-3 ครั้งค่ะ ส่วนมากก็ 2 ครั้งนั่นแหละ โดยครั้งแรกจะสอบก็ต่อเมื่อมั่นใจ 70% แล้วแหละว่าทำได้แน่ ส่วนอีก 30% ก็คืออยากลองสอบของจริงเพื่อดูบรรยากาศ หรืออาจมีข้อบังคับในเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจำเป็นต้องส่งผลคะแนนในเร็วๆ นี้แล้ว และถ้าเตรียมตัวฝึกฝนมาอย่างดีจริงๆ แล้วล่ะก็ ส่วนมากก็จะทำได้แบบไม่มีปัญหาค่ะ แต่ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ จนคะแนนไม่เป็นอย่างที่หวังล่ะก็ ก่อนจะรีบร้อนสมัครสอบรอบ 2 ต่อเลยทันที ก็อยากให้ลองพิจารณาดีๆ ว่า "เพราะอะไรกันนะคะแนนของเราถึงออกมาแค่นั้น" 


     ซึ่งวิธีการพิจารณานั้นมีง่ายๆ อยู่แค่ 4 ข้อ ดังนี้ค่ะ





1. หาพาร์ทที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของเราให้เจอ

     เนื่องจาก TOEFL จะวัดทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แม้จะเตรียมตัวดีมากแค่ไหน น้อยคนนักที่จะสามารถทำคะแนนได้ดีเหมือนกันทั้ง 4 ทักษะ ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ตัวเองไม่ได้ว่าอ่อนจุดไหน ต่อให้เสียเงินสอบอีกกี่ทีก็จะได้คะแนนเท่าเดิมอยู่เรื่อยๆ พาร์ทที่ถนัดก็ได้คะแนนสูงลิ่วเสมอ แต่พาร์ทที่ทำไม่ได้ก็ยังได้น้อยเช่นเคย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเงินค่าสอบและเสียเวลาไปสอบอีกโดยใช่เหตุ ก็ต้องหาจุดอ่อนให้เจอ และพยายามพัฒนาเรื่องนั้นมากเป็นพิเศษ

     บางคนอาจจะบอกว่า "ถ้า 3 ทักษะที่เหลือได้คะแนนเกือบเต็ม มีแค่พาร์ทเดียวที่ตก ฉะนั้นก็ทิ้งทักษะนั้นไปซะ แล้วหาทางทำให้อีก 3 พาร์ทได้เต็มไม่ดีกว่าหรอ" ถ้าเป็นการสอบในโรงเรียนที่นำคะแนนรวมทั้งเทอมมาคิดเกรดก็ใช่ค่ะ แต่มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพทั้งหลายจะพิจารณาจากทุกพาร์ทของใบคะแนนเลยค่ะ ไม่ว่าเขาจะเขียนไว้ในระเบียบการรับสมัครหรือไม่ก็ตาม สมมติว่าในระเบียบการเขียนไว้แค่ว่าต้องได้คะแนน TOEFL 90 คะแนนขึ้นไป แต่ตอนพิจารณาจริงๆ คณะกรรมการก็ดูอยู่ดีว่าแต่ละพาร์ทเราทำคะแนนได้เท่าไหร่ เพราะเขาก็ไม่อยากได้นักศึกษาที่เขียนงานหรือรายงานหน้าชั้นไม่ได้เลยแน่ๆ ฉะนั้นอย่าทิ้งทักษะที่อ่อนที่สุดไปนะคะ

     แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมเรื่องของ 3 ทักษะถนัดของเราด้วย ไม่ใช่ได้หลังแล้วลืมหน้านะคะ ถ้าเราได้คะแนนพาร์ทฟังต่ำสุดๆ แต่อีก 3 พาร์ทได้คะแนนดีพอๆ กัน ก่อนจะไปสอบรอบ 2 ก็ควรฝึกฝนเพิ่มทั้ง 4 พาร์ท แต่แบ่งเป็นพาร์ทที่ถนัดอยู่แล้วอันละ 20% แล้วไปทุ่มให้พาร์ทการฟัง 40% แทนค่ะ





2. ปัจจัยภายนอกในวันนั้นมีอะไรบ้าง

     นี่ไม่ใช่การสอนว่า "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง" นะคะ แต่สภาพแวดล้อมก็ทำให้ใครหลายคนที่น่าจะได้คะแนนสวยเลิศได้คะแนนต่ำกว่าที่คิดมาหลายคนแล้วนะคะ เพราะโชคร้ายได้นั่งข้างคนที่ทำเสียงจิ๊จ๊ะทุกๆ 10 วินาที หรือคนที่เขย่าขาตลอดเวลา หรือมีคนไอเรื้อรังอยู่ข้างหู เสียงแป้นพิมพ์เสียงคลิกที่ดังสนั่น หรือได้สนามสอบติดถนนใหญ่ ตลาด หรือเขตก่อสร้าง หลายๆ อย่างพวกนี้ก็ทำให้เราเสียสมาธิได้เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ และในเมื่อเราไม่รู้ว่าตอนสอบรอบสองจะต้องเจอกับอะไรบ้าง อย่างน้อยก็ต้องทำตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมแบบที่เราเจอมาในการสอบครั้งแรก

     ดังนั้น เลิกซ้อมสอบในห้องเงียบกริบที่บ้านโดยเด็ดขาดค่ะ เพราะตอนไปสอบรอบ 2 ยังไงๆ สนามสอบมันก็ต้องมีอะไรที่บ้านเราไม่มีแน่ๆ เราต้องฝึกตัวเองประหนึ่งจอมยุทธ์ที่พร้อมรับมือกับทุกสิ่งอย่างค่ะ ลองเปลี่ยนมาทำข้อสอบเก่าๆ ในห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว หรือทำตอนที่มีน้องนั่งเล่นแต่งตัวตุ๊กตาอยู่ข้างๆ หรือจะเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำแบบฝึกหัดในห้างสรรพสินค้าก็ได้ค่ะ ถ้าเราชินกับสิ่งที่จะทำให้เราวอกแวกได้แล้ว ตอนไปสอบรอบที่ 2 ก็จะไม่มีอะไรรบกวนสมาธิเราได้ นอกซะจากว่าจะมีผู้เข้าสอบคนอื่นที่เครียดจัดแล้วลุกขึ้นกรี๊ดวิ่งรอบห้อง แบบนั้นก็ยากที่จะไม่สนใจได้





3. บริหารเวลาได้ดีหรือไม่

     หลายคนบ่นเรื่องเวลาในการสอบแต่ละส่วนของ TOEFL เพราะต่างก็อยากเอาเวลาที่เหลือในพาร์ทที่ตัวเองถนัดไปเพิ่มให้พาร์ทที่อ่อนที่สุดมากกว่านี้ บางคนก็ทำไม่ทันเลยซักพาร์ท บางคนอาจจะไม่ทันพาร์ทแรกแล้วก็กระวนกระวายจนทำพาร์ทต่อๆ ไปไม่ทันตามไปด้วย แต่ถ้าจะบอกให้ "ทำไม่ได้ก็ข้ามเลย" น้องๆ ก็คงเถียงว่า "ก็ทำไม่ได้ซักกะข้อเลยนี่นา จะข้ามยังไง" จริงค่ะ บางข้อมันก็ดูน่าลุ้นมากกว่าน่าข้ามใช่มั้ยล่ะ

     ฉะนั้นเวลาฝึกทำข้อสอบเก่า อย่าลืมจับเวลาด้วย ฝึกท่ามกลางเสียงดังๆ นั่นแหละค่ะ แต่อย่าลืมจับเวลาไปด้วย ถ้าหานาฬิกาเข็มที่เดินดังติ๊กๆ ได้ด้วยก็น่าจะช่วยเพิ่มความกดดันให้อีก จะรู้สึกว่ามันกำลังเคาท์ดาวน์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งช่วงแรกอาจจะประสาทเสียนิดๆ แต่ซักพักก็จะบริหารเวลาได้ดียิ่งขึ้นค่ะ ทำไปเรื่อยๆ จนหาจังหวะของตัวเองให้เจอ 

     นอกจากนี้ควรแบ่งเวลาในแต่ละพาร์ทให้แยกย่อยลงไปอีก ไม่ได้หมายความว่าให้หารเฉลี่ยเวลาของพาร์ทนั้นกับจำนวนข้อในพาร์ทนะคะ เพราะเราไม่จำเป็นต้องแบ่งเวลาให้แต่ละข้อเท่ากันเป๊ะๆ แบบนั้นจะยิ่งเป็นการบริหารเวลาที่ไม่ดีค่ะ ซึ่งเวลาในแต่ละข้อหรือแต่ละส่วนของเรานั้นให้พิจารณาเองว่า พาร์ทนั้นมีรูปแบบโจทย์อย่างไรบ้าง ช่วงไหนเราโอเคก็ให้เวลามันน้อยๆ ถ้าช่วงไหนที่ซับซ้อนเป็นพิเศษก็ให้เวลามากหน่อย นี่แหละค่ะที่เรียกว่า "จังหวะเวลา" ของเราเอง





4. เราเครียดหรือตื่นเต้นเกินเหตุไปมั้ย

     หลายคนฝึกซ้อมมาดีทุกอย่าง จะเสียงทุบตึกหรือแอร์หนาวๆ ก็ไม่มีผลกระทบกับสมาธิของตัวเอง แต่ดันตกม้าตายเพราะความตื่นสนามสอบของตัวเองนี่แหละค่ะ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมากเลย T___T

     ความตื่นเต้นหรือความเครียดนิดๆ แบบพอที่จะทำให้เราเกิดไฟในการต่อสู้ถือเป็นเรื่องดีนะคะ แต่ถ้ามันทำให้เราวิตกกังวล กระวนกระวาย น้ำตาตกใน หรืออยากทุบจอคอมพิวเตอร์ให้แตกล่ะก็ ไม่ดีมากๆ เลยค่ะ ถ้าเป็นข้อสอบพาร์ทอ่าน มันจะทำให้น้องอ่านบรรทัดเดิมซ้ำๆ อยู่ 20 ครั้งโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบรรทัดนั้นเขียนว่าอะไร หรือถ้าเป็นข้อสอบพาร์ทฟัง เสียงในข้อสอบก็จะกลายเป็นเสียงทุบตึกไปซะเฉยๆ ฉะนั้นอย่าไปเครียดกับมันจนส่งผลเสียให้ตัวเองนะคะ

     ก่อนก้าวขาเข้าห้องสอบก็หายใจลึกๆ ทำใจสบายๆ ทานข้าวเช้าที่เหมาะกับเรา (ไม่ทำให้เราหนักท้องจนเผลอหลับหรือต้องปวดห้องน้ำตลอดเวลา) คุยกับเพื่อนๆ แบบสบายๆ หรืออาจจะรวมพลังใจให้กันและกัน ทำท่าสู้ๆ เป็นหมู่คณะ และมองว่ามันก็เป็นแค่ข้อสอบค่ะ ไม่ใช่มังกรสม็อก ไม่ใช่ลอร์ดโวลเดอมอร์ ไม่ใช่ผู้คุมวิญญาณ และไม่ใช่ตัวร้ายในละครหลังข่าวค่ะ TOEFL ถูกสร้างมาเพื่อวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษของเรา ซึ่งถ้าเราเตรียมตัวมาพร้อม และทำตาม 3 ข้อข้างต้นได้แล้วด้วย ก็เหมือนเราใส่ชุดเกราะเต็มยศ และมีดาบกับไม้กายสิทธิ์พร้อมสรรพ ฉะนั้นชุดข้อสอบในคอมพิวเตอร์จะมาสู้อะไรเราได้ 55555 (อย่าหัวเราะมีเสียงนะ เกรงใจผู้เข้าสอบคนอื่นด้วย)





     ถ้าเมื่อไหร่น้องๆ แก้ปัญหาตาม 4 ข้อนี้ได้ นั่นก็แปลว่าน้องพร้อมที่จะสอบรอบ 2 และทำคะแนนให้เลิศเลอยิ่งกว่ารอบแรกแล้วค่ะ ฉะนั้นสู้ๆ นะคะ เพี้ยง

 
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Chanyanuch Member 27 ม.ค. 57 15:29 น. 1

อยากลองสอบบ้างจังเลย

แต่คำศัพท์บางคำเกิดมาไม่เคยเรียน  ไม่เคยเห็น  เราตกม้าตายตรงนี้ตลอด

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

Chanyanuch Member 27 ม.ค. 57 15:29 น. 1

อยากลองสอบบ้างจังเลย

แต่คำศัพท์บางคำเกิดมาไม่เคยเรียน  ไม่เคยเห็น  เราตกม้าตายตรงนี้ตลอด

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
แงTOT 28 ม.ค. 57 22:47 น. 3
ข้อ2นี่ใช่เลย เรายิ่งแพ้อากาศหนาวอยู่ด้วย พอคันแล้วผื่นก็ขึ้นจนแสบไปทั้งตัว...แทบร้องไห้ค่ะตอนคะแนนออกTT_TT
0
กำลังโหลด
Napa 29 ม.ค. 57 11:24 น. 4
ของเราลองซื้อข้อสอบ TOEFL Practice Online มาลองทำ ก่อนเพื่อหาจุดอ่อนของเรา จากนั้นก็เน้นที่จุดอ่อน เข้าไป อุอจุดอ่อนเยอะเยอะ จากนั้นก็ทลอง TOEFL Practice Online อีกที ก็เรียบร้อยดี กว่าไปลองในห้องสอบ แพงเกินค่าสอบ เอาที่เียวผ่านเลยดีกว่า
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด