แนะนำ 3 สถาบัน(อเมริกา) เรียนต่อดาราศาสตร์ ดีและดังระดับโลก!

        สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ... ประเด็นเด่นในช่วงวันสองวันนี้คงไม่พ้นเรื่องยานนิวฮอไรซอนส์ของ NASA  ได้เดินทางเข้าใกล้ดาวพลูโตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นครั้งแรกที่มนุษยชาติได้ยลโฉมดาวพลูโตอย่างชัดๆ^^ มีน้องๆ ถามมาว่า ถ้าสนใจอยากเรียนดาราศาสตร์ ควรไปเรียนที่ไหนดี? วันนี้ พี่เป้ มีคำตอบมาฝากแล้ว

      
         หากดูการจัดอันดับโลก ประเทศที่มีการศึกษาในด้านดาราศาสตร์ที่เด่นที่สุดต้องยกให้อเมริกาเลยค่ะ ก็แหม NASA ก็อยู่นั่นนี่เนาะ ดังนั้นสถาบันต่างๆ ในอเมริกาก็มาคว้า TOP20 ด้านดาราศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลกกันไปเลยค่ะ วันนี้เลยนำ 3 แห่งที่น่าสนใจมาฝากกัน

Department of Astronomy, Harvard University


        หลายคนคงคุ้นชื่อฮาร์วาร์ดเป็นอย่างดี เพราะแทบทุกสาขาการเรียนที่นี่ก็ติดอันดับโลกทั้งนั้น สำหรับคนที่จะเข้าเรียนปริญญาโทด้านดาราศาสตร์ หลักสูตรของที่ฮาร์วาร์ดจะเน้นการเรียนรู้และการทำงานเพื่อปูพื้นฐานก่อนต่อไปยังปริญญาเอก คือบังคับเลยว่าต้องเป็นปริญญาโทและเอก ไม่รับคนที่จะเรียนแค่ปริญญาโทเท่านั้น โดยมีสถาบันอื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เช่น หอสังเกตการณ์ฮาร์วาร์ด , ศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิทโซเนียน  สำหรับคนที่จะเข้าเรียนระดับปริญญาโท ต้องมีพื้นฐานด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในระดับที่ดีมาก รวมถึงในหลักสูตรปริญญาตรีที่เรียนจบมา ควรต้องมีวิชาพวกนี้รวมอยู่ด้วย
- กลศาสตร์
- ทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
- ฟิสิกส์เชิงสถิติ
- กลศาสตร์ ควอนตัม
- คณิตศาสตร์ทั่วไป


        อย่างไรก็ตาม หากใครไม่มีพื้นฐานในด้านดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยก็ยินดีรับสมัคร แต่จะมีการประเมินความรู้เบื้องต้นโดยเป็นความรู้จากหนังสือสองเล่มนี้ The Physical Universe, by F. H. Shu และ An Introduction to Astrophysics by B. W. Carroll & D. A. Ostlie ก็ต้องไปอ่านเจาะลึกเพื่อเตรียมตัวกันก่อนค่ะ
       
       ไม่ใช่แค่ปริญญาโท แต่มีวิชาที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีด้วย เช่น  ดาวเคราะห์นอกระบบ ดาราศาสตร์ดาวฤกษ์  การวิเคราะห์เสียงและข้อมูลทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์  วิธีการทางการสังเกตทางดาราศาสตร์  และที่สำคัญ ถึงแม้จะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี แต่นักศึกษาของฮาร์วาร์ดก็มีโอกาสเข้าไปฝึกงานหรือร่วมวิจัยกับสำนักงานใหญ่ๆ เช่น  NASA(นาซ่า) NSF Research(มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ)

ข้อมูลเพิ่มเติม http://astronomy.fas.harvard.edu/


Astronomy Department, University of California, Berkeley


        เรียกสั้นๆ ว่า UC Berkeley เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่ดังระดับโลก ที่นี่มีหอสังเกตการณ์ให้นักศึกษาใช้หลายแห่ง รวมถึงมีห้องแล็บทดลองทางดาราศาสตร์ที่ว่ากันว่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอยู่ด้วย

        ในระดับปริญญาตรี วิชาบังคับที่ต้องเรียน เช่น ดาราศาสตร์ทั่วไปเบื้องต้น ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เบื้องต้น การศึกษาจักรวาลวิทยาในสมัยใหม่ ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นแสงสว่าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิชาเลือกที่น่าสนใจให้เลือกเรียนมากมาย เช่น ธรณีพลศาสตร์ ประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น แนวคิกทางสถิติ ทฤษฎีความน่าจะเป็น เป็นต้น สำหรับเกรดเฉลียหรือ GPA ตอนจบมัธยมปลายของคนที่เข้าเรียนที่นี่ได้ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.9!! ส่วนคะแนน SAT ควรได้มากกว่า 2,000 คะแนน (เต็ม 2,400 คะแนน) เรียกว่าคัดหัวกะทิเน้นๆ เลยทีเดียว


        สำหรับระดับปริญญาโท ที่นี่ก็เช่นเดียวกับฮาร์วาร์ดคือ จะรับเฉพาะคนที่เรียนปริญญาโทและต่อไปยังปริญญาเอกเท่านั้น วิชาที่ต้องเรียน เช่น เทคนิคทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ กระบวนการการแผ่รังสีทางดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงคอมพิวเตอร์ มวลสารระหว่างดวงดาว เป็นต้น

         การสอบเข้าเรียนปริญญาโท จะมีการสอบปากเปล่าโดยคณาจารย์ 3 ท่าน โดยผู้เข้าสอบจะต้องสามารถพูดคุยในประเด็นทางดาราศาสตร์ได้อย่างคล่องแคล่ว มีความรู้ และถูกต้อง สำหรับคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL(iBT)ที่ต้องยื่นในการสมัครเข้าปริญญาโท ทางคณะกำหนดไว้ที่ 68 คะแนนเท่านั้น ถือว่าระดับกลางๆ ไม่สูงเท่าไรค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม http://astro.berkeley.edu/


Department of Astronomy, Columbia University

       
       ในระดับปริญญาตรี มีสองสาขาวิชาเอกให้เลือก คือ ดาราศาสตร์ และ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ แต่โดยรวมแล้วจะได้เรียนวิชาหลักที่คล้ายกันมาก เช่น โลก ดวงจันทร์ และอวกาศ, ดวงจันทร์ ทางช้างเผือก และจักรวาลวิทยา, ทฤษฎีจักรวาล, สิ่งมีชีวิตในจักรวาล, การทดลองทางดาราศาสตร์, ฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง

         ส่วนในระดับปริญญาโทนั้น ใช้เวลาศึกษา 3 ปี วิชาหลักที่ต้องเรียนมี 5 วิชา เช่น กระบวนการการแผ่รังสี จักรวาลวิทยาทางฟิสิกส์ วิวัฒนาการและโครงสร้างของดาว นอกนั้นก็มีให้เลือกว่าจะวิจัยไปทางด้านดาราศาสตร์หรือฟิสิกส์ดาราศาสตร์ 


         สำหรับการรับเข้าเรียน ได้กำหนดคะแนน TOEFL(iBT)ไว้สูงทีเดียว คืออยู่ที่ 100 คะแนนทั้งระดับปริญญาตรีและโท
       
        หอสังเกตการณ์หลักของที่นี่คือ Columbia Astrophysics Laboratory (CAL) นอกจากนั้นยังเป็นพันธมิตรร่วมกับสถาบันดังๆ อีกมากมาย เช่น สถาบันการศึกษาอวกาศก็อดดาร์ดของนาซ่า ห้องปฏิบัติการแห่งชาติบรูคฮาเวน

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.astro.columbia.edu/

     
         เส้นทางที่ดูน่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับน้องๆ ที่อยากไปต่อปริญญาโทและเอกด้านดาราศาสตร์ที่ต่างประเทศ ควรจบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์หรือธรณีวิทยาและลงเรียนวิชาทางดาราศาสตร์เยอะๆ (ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีวิชาเอกด้านดาราศาสตร์โดยตรง) และอย่าลืมหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางดาราศาสตร์อย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ
พี่เป้
พี่เป้ - Columnist มนุษย์บ้างานและบ้านวด ผู้ตกหลุมรักปลาแซลมอน การนอน และและออฟฟิศ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

มัณทนา[กำลังตามหาดอพเพลแกงเกอร์] Member 15 ก.ค. 58 17:57 น. 1

แง้ ไม่ได้ลงเรียนวิชาดาราศาสตร์

ไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านดาราศาสตร์ไม่ได้เศร้าจัง

แต่ได้ลงเรียนและสอบผ่านวิชาธรณีวิทยาเบื้องต้นเป็นวิชาพื้นฐานของปี 1

0
กำลังโหลด
gumonteb Member 15 ก.ค. 58 19:49 น. 2

หวาาไม่ใช่ว่าทางอเมริกันเขาแบนไทยแล้วไม่ใช่เหรอเพราะกลัวทำงานเขาเสียหาย หลังจากการเกรียนดาวพลูโตครั้งนั้น-_-

3
กำลังโหลด
เงาะ 17 ก.ค. 58 23:00 น. 3
ตายละ ..อุตส่าห์หนีควอนตัมไม่ลงตัวสอง แหมงงงง! ขึ้นชื่อว่ามหาวิทยาลัยระดับโลกก็ต้องมีความรู้ค่อนข้างเชี่ยวชาญน๊อะ แต่วิชาฟิสิกส์นี่ก็ยากละ เจอฟิสิกส์ดาราศาสตร์ไป โอ้โฮ ใช้ทุกอย่างที่เป็นฟิสิกส์ มีทุกเรื่อง = = ภาษาอังกฤษก็ง่อย ตาย ๆๆๆๆ
0
กำลังโหลด
Aoii Member 25 ก.ค. 58 02:08 น. 4

เรียนวิศวะเครื่องกล แต่ชอบดาราศาสตร์อยากไปต่อโทที่นั่น ถ้าจบวิศวะเขาจะรับมั้ยนะหรือรับเฉพาะจบพวกคณะวิทยาศาสตร์

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด