16 แอปดีบอกต่อ! เรียนก็ได้ & ทำงานก็ดี (ภาษา, บันทึก, ฝึกสมาธิ, ลุยงานออนไลน์ได้ทุกที่)

           สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ นอกจากการใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตในการเรียนจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องแบกปากกาดินสอหรือหนังสือหนักๆ มาเรียนให้ปวดหลังแล้ว การโหลดแอปดีๆ ติดเครื่องไว้ยังจะช่วยให้การเรียนของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย วันนี้พี่ปุณเลยถือโอกาสรวบรวมแอปดีแอปดังมาไว้ที่นี่ ไปดูกันว่าจะมีแอปไหนที่เหมาะกับการเรียนของเราบ้าง
 


Dictionary หาศัพท์ว่องไว มั่นใจทุกการแปล!
 

Oxford Dictionary of English
 


           ประเดิมกันด้วยแอปยอดฮิตที่หลายคนน่าจะเคยใช้มาบ้างแล้ว นอกจากจะช่วยแปลศัพท์แบบอังกฤษ – อังกฤษแล้ว ยังมีตัวอย่างประโยคและการใช้ รวมไปถึงที่มาและวิธีการออกเสียงที่ถูกต้องให้ด้วย เรียกว่าแอปเดียวจบได้ครบทุกองค์ความรู้เลยค่ะ แต่เท่านั้นยังไม่พอเพราะ Oxford Dictionary ยังมีโหมด ‘Special Topics’ ที่จะรวบรวมความรู้จากทั่วทุกมุมโลกมาให้เราได้ศึกษา หัวข้อที่มีให้ ยกตัวอย่างเช่น 
 
-     ความรู้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ทั้งเมืองหลวง ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และสกุลเงิน 
-     รัฐในอเมริกา 
-     ประเทศในสหภาพยุโรปและปีที่เข้าร่วม
-     รายชื่อนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีของอังกฤษ นิวซีแลนด์ แคนาดา และอเมริกา 

           นี่ขนาดแค่ยกตัวอย่างมายังเยอะและหลากหลายขนาดนี้ ใครกำลังมองหาแอป Dictionary ที่ทั้งดีและฟรีต้องแอปนี้แล้วค่ะ
 

Dictionary.com: English Words
 

 

            Dictionary.com เป็นอีกหนึ่งแอปพจนานุกรมแบบอังกฤษ – อังกฤษที่ค่อนข้างครบครัน หลายคนอาจสงสัยว่าแปลศัพท์จากอังกฤษเป็นอังกฤษมันจะดียังไง? พี่บอกเลยว่ามันจะช่วยให้เข้าใจศัพท์ได้ถูกต้องชัดเจนมากกว่าการอ่านคำแปลภาษาไทย แล้วเวลาที่อ่านกับเห็นตัวอย่างประโยคในแอปฯ ก็เท่ากับได้ฝึกภาษาและความคุ้นเคยไปในตัวด้วยค่ะ
 
           นอกจากนี้ในแอปฯ ยังมีบทความเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษให้อ่านฟรีๆ หรือถ้าใครอยากรู้จักศัพท์เทคนิคทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์  สำนวน และคำสแลง พี่แนะนำให้ซื้อเพิ่มแบบ Premium เลยค่ะ ถูกใจคนที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำแน่นอน รับรองการจ่ายเงินครั้งนี้ไม่มีผิดหวัง!
 

Longdo Dict 
 

 

            บอกเลยว่าแอปนี้ทุกคนควรมีติดเครื่องไว้! เพราะ Longdo Dict ใช้งานง่ายและแปลได้ทั้งไทย – อังกฤษ อังกฤษ – ไทยในแอปเดียว และสำหรับใครที่ชอบหาความรู้เพิ่มเติมก็พลาดไม่ได้กับฟีเจอร์ Random Word และ Blog ที่จะขึ้นมาบนหน้าแรกเมื่อเรากดเข้าไปในแอป

  • Random Word: แอปจะสุ่มศัพท์ภาษาอังกฤษยากๆ ที่เราไม่คุ้นเคยขึ้นมาให้ เราสามารถกดเข้าไปดูความหมายและเลือกให้แอปสุ่มคำใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ เลยค่ะ
  • Blog: บล็อกจะรวบรวมประโยคสนทนาและอธิบายความรู้ภาษาอังกฤษที่คนมักเข้าใจผิด อย่างเช่น ‘Check Bill คำฮิต ใช้ผิดบ่อย’ หรือว่า ‘ภาษาอังกฤษฉันไม่ดีอย่าพูดว่า My English is no good’

           และในส่วนของคำศัพท์ นอกจากคำแปลก็ยังบอกหน้าที่คำ วิธีใช้และคำพ้องความหมายให้อีกด้วย มีแอปนี้ติดเครื่องไว้รับรองอุ่นใจชัวร์!
 


Learning English เพิ่ม เติม เสริมความรู้ภาษาอังกฤษ
 

BBC News
 

 

            แอปนี้เหมาะมากกกกสำหรับสายข่าวหรือคนที่อยากอัปเดตสถานการณ์รอบโลกตลอดเวลา เพราะนอกจากจะฟรี เราสามารถตามอ่านข่าวที่กำลังเป็นประเด็นร้อน รับชมวิดีโอและไลฟ์ที่ถูกแพร่ไปทั่วโลก และยังสามารถเลือกหัวข้อข่าวตามความสนใจเพิ่มไว้ตรง ‘My News’ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยคัดกรองข่าวใหม่ล่าสุดมารวมไว้ใน feed ของน้องๆ ใครอยากอัปสกิลภาษาจากการอ่านข่าวให้ได้ผลทันใจ พี่ก็ขอฝากแอปนี้ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจด้วยค่ะ
 

TED
        

 

            ใครที่ชอบฝึกสกิลภาษาด้านการฟังคงต้องรู้จัก TED Talks กันอยู่แล้วแน่ๆ แต่พี่เองก็เพิ่งรู้ไม่นานมานี้ว่า TED มีแอปพลิเคชันแล้ววว ดังนั้นต่อไปนี้เราก็จะได้ฟังเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจและเคล็ดลับการใช้ชีวิตดีๆ ได้ง่ายๆ เพียงแค่โหลดแอปนี้เท่านั้น

 

           ช่วงแรกๆ น้องหลายคนอาจจะยังไม่สามารถจับใจความประเด็นที่นักพูดแต่ละคนพูดไว้ได้ทั้งหมด ระหว่างนี้เราอาจจะเปิด subtitles อ่านไปด้วย เมื่อภาษาอังกฤษเราเริ่มพัฒนาเราก็สามารถฟังภาษาอังกฤษแบบสนุกๆ ได้ทุกหัวข้อที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ การแพทย์ หรือสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งหมวดที่พี่อยากจะ recommend ก็คือ ‘TED-ed Animations’ เพราะนอกจากจะได้ฟังสำเนียงภาษาอังกฤษที่เขาใช้จริง ได้ความรู้ และยังเหมือนได้ดูการ์ตูนไปด้วย น้องๆ คนไหนอยากฝึกสกิลการฟังก็อย่าลืมโหลดแอปนี้เอาไว้ใช้กันนะคะ
 

Learn English Grammar
 


            Learn English Grammar เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันฟรีที่ตอบโจทย์นักเรียน – นักศึกษาที่ต้องการฝึกแกรมมาร์มากที่สุด เพราะแอปนี้ไม่ได้อัปสกิลการฟังได้อย่างเดียวแต่ยังสอนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษและมีแบบทดสอบท้ายบทไว้คอยเช็กความเข้าใจให้ด้วย เรียนกันได้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปยันขั้นแอดวานซ์เลยค่ะ 
 
           ส่วนเรื่องความน่าเชื่อถือก็คงไม่ต้องสงสัยเพราะแอปนี้เป็นแอปที่ออกโดยสถาบันสอนภาษาชั้นนำอย่าง British Council มั่นใจได้! น้องคนไหนอยากทดสอบความรู้ด้านแกรมมาร์หาโหลดกันเอาไว้เลยยย (มีทั้ง UK และ US Editions ให้เลือกฝึกกันตามใจชอบเลยค่ะ)
 


Notes + Lectures เยอะแค่ไหนเราไม่หวั่น
 

Notes Writer
 

 

            ส่วนใหญ่แอปจดโน้ตที่มีฟีเจอร์เจ๋งๆ มักจะต้องจ่ายก่อนใช้ แต่แอปนี้มีให้ทดลองใช้ก่อนจ่ายค่ะ โดยเวอร์ชันฟรีจะสามารถสร้างสมุดโน้ตได้ประมาณ 10 งาน ส่วนใครต้องการใช้เยอะกว่านี้ก็สามารถ Upgrade to Full Version ได้ในราคา 529 บาท ดูราคาแล้วอาจจะแรงไปนิด ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจมาดูกันดีกว่าว่าแอปนี้มีลูกเล่นอะไรบ้าง

           Notes Writer สามารถสร้างเอกสารโดยการจดหรือการพิมพ์ได้เหมือนแอปทั่วไป สามารถเลือกสีปากกา พื้นหลัง ความเข้ม – จาง (Opacity) รวมไปถึงขนาดและรูปแบบปากกาที่เราตั้งค่าไว้ (แต่สีปากกาจะมีให้เลือกจำกัด ยังไม่สามารถเพิ่มสีด้วยการใส่ Code ได้) นอกเหนือจากการจดโน้ตแอปนี้ก็ยังทำได้อีกหลายอย่าง เช่น
 
-     ตั้งค่าหน้ากระดาษ (ทั้งการแสดงผลกับหน้าจอและการปรับความสว่าง)
-     ใส่สูตรคณิตศาสตร์ 
-     แทรกลิงก์เว็บไซต์ไว้ในรูปภาพหรือข้อความ
-     แทรกวันและเวลาขณะที่กำลังใช้งาน
-     อัดเสียง
 
           และอันที่ถูกใจพี่ที่สุดก็คงจะเป็นเมนู Show Grid / Hide Grid ซึ่งเมื่อเรากด Show Grid ก็จะมีเส้นตารางปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอ เขียนบนเส้นแบบนี้โน้ตของเราดูมีระเบียบสุดๆ ไปเลยค่ะ พอเราใช้เสร็จก็กด Hide Grid เอาเส้นออกไปได้ง่ายๆ สำหรับใครที่ยังลังเลบอกเลยว่าแอปนี้สามารถตั้งค่ารหัสผ่านการเข้าใช้ได้ด้วยนะ ความลงความลับอะไรล็อกไว้ได้หมด จะเสียเงินทั้งทีฟีเจอร์ต้องครบแบบนี้เลย!
 

GoodNotes 5
 

 

            ต่อกันที่แอปจดโน้ตที่ราคาเบาลงมาหน่อย แอปนี้จ่ายในราคา 249 บาทแค่ครั้งเดียว แต่อัปเวอร์ชันกันได้แบบยาวๆ ถึงไม่มีให้ใช้ฟรีแต่ใครที่ชอบเลกเชอร์ในแท็บเล็ตหรือ iPad จะต้องถูกใจเพราะ Goodnotes มีฟังก์ชันการจดโน้ตให้เลือกใช้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของปากกา ไฮไลต์ อุปกรณ์ใช้วาดรูปทรงพื้นฐาน (Shape Tool) หรือเลเซอร์พอยเตอร์ที่ไว้ใช้ตอนพรีเซนต์ แอปนี้มีให้ครบ 
 
            และหนึ่งในฟังก์ชันที่โดนใจพี่ก็คือ ‘Templates’ ที่มีให้เลือกเยอะมากกก ตั้งแต่หน้าปกยันหน้ากระดาษที่ใช้โน้ต มาทั้งแบบตารางกริด เส้นบรรทัด แพลนเนอร์ Single Column Two Column Three Column เลือกตามความชอบและความถนัดได้แบบจุใจ (พี่โหลดมาหลายปีก็ยังใช้ไม่ครบเลยค่ะ555) และถ้าพูดถึงจุดเด่นของแอปนี้ก็คงหนีไม่พ้น ‘ความสามารถในการใช้งานพร้อมกันได้ 2 หน้าจอ’ ก็คือหน้าหนึ่งเปิดหนังสือ อีกหน้าหนึ่งจดโน้ตได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้เสียเวลา ถ้ามีใครถามว่าแอปจดโน้ตในดวงใจของพี่คือแอปไหน พี่ก็ขอยกให้แอปนี้เลยค่ะ!
 


สมาธิกระเจิงเรียกกลับมาด้วยแอปช่วย focus
 

RealizD – Screen Time Tracker
 


            บางทีใจบอกไม่แต่มือมันไวกว่า! อ่านหนังสือได้ 2 – 3 หน้าก็ต้องคว้าโทรศัพท์มาเล่น ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้พี่ก็มีตัวช่วยดีๆ มาฝากนั่นก็คือแอปช่วย focus ที่มีชื่อว่า RealizD เมื่อเราจับโทรศัพท์ปุ๊บ แอปก็จะนับ Pickups ของเราปั๊บ ดังนั้นเราจะรู้เลยว่าวันๆ หนึ่งเราจับโทรศัพท์ทั้งหมดกี่ครั้ง พอจับหนึ่งครั้งเราเล่นไปกี่นาที แล้วพอครบวันแอปก็จะสรุปให้เราเห็นว่าในหนึ่งวันเราใช้เวลากับสิ่งนี้ไปมากแค่ไหน
 
           ก่อนจะมาใช้แอปนี้พี่ก็เคยคิดว่าเราคงไม่ได้ติดโทรศัพท์สักเท่าไหร่ แต่พอใช้ไปไม่กี่วันก็รู้ซึ้งเลยค่ะว่าตัวเองติดเข้าขั้นโคม่า ต้องรีบตั้งค่าลิมิตไม่ให้ตัวเองเข้าใช้เยอะเกินไปเลยค่ะ ซึ่งความเด็ดขาดของฟีเจอร์แอบนี้คือ ถ้าเราเล่นโทรศัพท์ครบตามจำนวนชั่วโมงที่ตั้งไว้ เราก็จะไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับโทรศัพท์ได้อีก! ถึงวิธีนี้จะดูโหดร้ายแต่ก็ช่วยให้เราเอาตัวเองออกจากหน้าจอได้จริงๆ นะ นอกจากนี้ฟีเจอร์ ‘Screen-Free Challenge’ ในแอปยังช่วยเก็บสถิติและวัดว่าในแต่ละวันเราจับโทรศัพท์น้อยลงแค่ไหนได้อีกด้วย
 
           ส่วนเรื่องราคาแอปนี้โหลดฟรีค่ะ แต่ถ้าใครต้องการดูประวัติการใช้แบบย้อนหลังรายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ต้องยอมจ่ายเพิ่มกันหน่อยนะคะ
 

Offscreen – Less Screen Time
 

 

            สิ่งแรกที่จะเจอตอนเปิดแอปคือนาฬิกาจับเวลาที่ปรากฏบนหน้าจอค่ะ ฟีเจอร์นี้จะบอกว่าแต่ละวันเราใช้เวลากับโทรศัพท์นี้นานเท่าไหร่ แล้วยังสามารถนับว่าในหนึ่งวันเราเดินไปกี่นาที ห่างโทรศัพท์ได้นานสุดกี่นาที เราจ้องจอติดต่อกันนานสุดกี่นาที และยังบันทึกเวลาที่เราจับโทรศัพท์ครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายของแต่ละวันไว้ให้ด้วย บอกละเอียดยิบขนาดนี้ไม่อยากเชื่อเลยว่าแอปนี้ฟรีค่ะ!! 

           แต่ถ้าใครจ่ายเพิ่มไหวเขาก็จะมีฟีเจอร์เพิ่มเติมให้ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการใช้โทรศัพท์รายเดือนในรูปแบบของปฏิทิน แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาพักผ่อน ตั้งเวลาล็อกหน้าจอ และกำหนดแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าใช้ได้หลังจากเวลาหมดลง Full Version ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายแค่ 89 บาทเท่านั้น ใครอยากหาตัวช่วยในการโฟกัสดีๆ โหลดแอปนี้ติดเครื่องไว้เลยยย
 


ชีวิตง่ายขึ้นได้เมื่อมี 6 แอปฟรีที่ Google จัดมาให้!
 

Google Tasks: Get Things Done
 


              ใครที่กำลังเผชิญปัญหางานกองเป็นภูเขา ชีวิตวุ่นวาย จัดการตัวเองไม่ได้ต้องฟังทางนี้! เพราะ Google เขามีแอปที่จะช่วยสร้างรายการสิ่งที่ต้องทำ (To Do List) มาให้ รับรองว่าคราวนี้จะกี่งาน กี่กิจกรรม ก็ทำครบไม่มีตกหล่น โดยนอกจากกำหนดรายการ เราก็ยังสามารถเพิ่มรายละเอียดของแต่ละงาน ตั้งวัน – เวลาแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนดส่ง และใส่ subtasks งานย่อยๆ ที่อยู่ในหัวข้อใหญ่เดียวกันได้ด้วย ใช้งานได้หลากหลายและโหลดฟรีขนาดนี้ ไม่มีไม่ได้แล้ววว
 

Google Drive
 

 

            และนี่ก็คือแอปจัดเก็บข้อมูลอันโด่งดังที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี Google Drive เป็นบริการจาก Google ที่เราสามารถเอาไฟล์ต่างๆ ไปฝากไว้ในพื้นที่เก็บข้อมูลระบบคลาวน์ที่มีความปลอดภัย และที่สำคัญแค่เราล็อกอินเข้า Gmail เราก็จะสามารถเปิดดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทุกที่ทุกเวลาและเปิดได้จากทุกอุปกรณ์ด้วย โดยภายใต้แอปนี้ก็จะมีอีก 3 ฟังก์ชันย่อยที่พี่เชื่อว่านักเรียน-นักศึกษาหลายคนต้องใช้งานอยู่บ่อยๆ แน่นั่นก็คือ
 
  1. Docs – รูปแบบการทำงานของ Docs ค่อนข้างคล้ายกับ Microsoft Word เราสามารถสร้าง แก้ไข เปิดอ่านเอกสาร และทำงานทุกประเภทได้อย่างง่ายดาย ตั้งแต่การแสดงหัวข้อย่อย การเปลี่ยนแปลงแบบอักษร และการเรียงลำดับตามคอลัมน์ นอกจากนี้เรายังสามารถเพิ่มตาราง รูปภาพ รวมไปถึงใส่ความคิดเห็นเพิ่มลงไปในข้อความอีกด้วย
  2. Sheets การจัดการเอกสารแบบสเปรดชีต (spreadsheet) หรือแผ่นงานที่มีลักษณะเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมที่ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการจัดเรียงข้อมูลและคำนวณ โปรแกรมสเปรดชีตที่สุดจะโด่งดังก็อย่างเช่น Microsoft Excel โดยหลักการทำงานก็ละม้ายคล้ายกันเลยค่ะ
  3. Slides – ใช้สร้างงานนำเสนอ Slides มีเค้าโครงและธีมหลากหลายให้น้องๆ ได้เลือกใช้ให้เหมาะกับงานนำเสนอของตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถ Save และ Import ออกมาในรูปแบบของ PowerPoint หรือ pdf ได้ด้วย

           และฟังก์ชันสุดฮิตที่ทำให้หลายคนหันมาใช้ Google Drive ก็คือความสามารถในการใช้งานและทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ เราสามารถแชร์เอกสารที่เราทำอยู่ให้กับเพื่อนเพื่อแก้ไขข้อมูลไปพร้อมๆ กัน ต่างคนต่างพิมพ์ไปแต่ก็เห็นว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไรอยู่ตลอด งานด่วนงานไวแอปนี้ช่วยชีวิตไว้ได้เยอะเลยค่ะ ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ไม่ต้องห่วงเลยเพราะเราสามารถเลือกและควบคุมได้ว่าจะให้หรือไม่ให้ใครเข้ามาดูหรือแก้เอกสารของเรา พออยากแชร์ให้ใครก็แค่ส่งลิงก์หรือส่งอีเมลให้ง่ายๆ เลย เรียกได้ว่าเซฟสุด!
 

           นอกจากนี้ทั้ง 3 ฟังก์ชันยังมีแอปแยกออกมา โดยใช้ชื่อว่า Google Docs: Sync, Edit, Share, Google Sheets และ Google Slides ขอย้ำว่าเราสามารถใช้แอปพลิเคชันทั้งหมดนี้ได้ฟรีเพียงแค่มี G-mail เท่านั้นค่ะ ส่วนใครที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาก็ยิ่งปัง เพราะ Google for Education เขาจะให้เราได้ใช้แอปฟรีเหล่านี้แบบ Unlimited ไปเลย!
 

PhotoScan by Google Photos
 

 

            เดี๋ยวนี้จะสแกนงานหรือเอกสารอะไรก็ง่ายดายไปหมด แค่มีโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตแล้วโหลดแอป PhotoScan by Google Photos ก็สแกนได้ไม่ต้องง้อปริ้นท์เตอร์เลยค่ะ นอกจากจะฟรีแล้วยังใช้งานง่าย เพียงแค่ถือเครื่องไว้เหนือเอกสารที่ต้องการสแกนแล้วเลื่อนให้พอดีเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย ไฟล์ที่ได้ก็จะกลายมาเป็นไฟล์ภาพก่อนค่ะ แล้วถ้าเราอยากใช้งานในรูปแบบไหนก็เอาไฟล์ไปแปลงได้เลย ใครอยากได้ตัวช่วยในการทำงานดีๆ ก็อย่าลืมโหลดแอปนี้ไว้ใช้กันนะ
 
            และทั้งหมดนี้ก็คือ 16 แอปพลิเคชันที่มีประโยชน์ทั้งกับการศึกษาและการทำงาน โดยแอปส่วนใหญ่เขาก็จะมีเวอร์ชันทดลองให้เราได้ใช้ก่อน แล้วถ้าถูกใจแอปไหนจริงๆ ค่อยอัปเกรดหรือซื้อแบบ Full Version มาใช้ ใครอยากจะเพิ่มทักษะหรือศักยภาพด้านไหนก็ตามไปโหลดแอปเหล่านี้ติดเครื่องไว้ได้เลยนะคะ^^
 
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น