10 เดือนสุดพีค! ไปแลกเปลี่ยนที่เบลเยียม เจอหมดทั้งฝรั่งเหยียด, โฮสต์น้องอิจฉา, กฎรร.สุดเคร่ง ฯลฯ

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครอยากหาที่ฝึกภาษาฝรั่งเศส นอกจากประเทศเจ้าของภาษาแล้ว ดินแดน 'เบลเยียม' ที่ขึ้นชื่อเรื่องช็อกโกแลตกับวาฟเฟิลก็น่าสนใจไม่น้อยเลยนะคะ (นั่งเขียนบทความอยู่ดีๆ ก็หิวขึ้นมา T__T) วันนี้เรามีเรื่องเล่าจาก 'แคนดี้' คนไทยที่ตอน ม.4 ได้ไปแลกเปลี่ยน 10 เดือนที่เมืองเล็กๆ เงียบสงบในเบลเยียมมาฝาก เล่ากันแบบชิลล์ๆ ว่าเจอแบบครบรสจริงๆ ทั้งโฮสต์แม่ที่เทคแคร์ขั้นสุด  สไตล์การเรียนและกฎที่คล้ายไทยหลายมุม ประสบการณ์โดนเหยียดบนรถเมล์ รวมถึงเรื่องเล่าจากเพื่อนๆ ของเธอที่อยู่ต่างเมือง แม้จะไม่ได้เจอมุมที่ดีงามแบบ 100% แต่เธอบอกว่ามันคุ้มมาก คิดไม่ผิดที่เลือกมาแลกเปลี่ยนที่นี่

*ขอบคุณภาพสวยๆ จากน้องแคนดี้นะคะ

Bienvenue en Belgique!

“ตอน ม.ปลายเราเลือกเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส ตั้งใจฝึกภาษานี้มากๆ เลยหาโอกาสไปแลกเปลี่ยนในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (แต่โครงการมายกเลิกฝรั่งเศสตอนปีเราพอดี TT)  สรุปได้ไปที่เบลเยียม 10 เดือน อยู่ในเมือง Liège เมืองเล็กๆ แถบนอกเมือง แต่เงียบสงบและเหมาะกับคนอยากหลีกหนีความวุ่นวาย ธรรมชาติก็ดี ต้นไม้เยอะ หน้าหนาวหนาวจัด (ถึงขั้น -4) และหน้าร้อนก็ร้อนจัดเหมือนกันค่ะ"

"พอโฮสต์รู้ว่าเราเรียนภาษามาเท่านั้นแหละะะ ซัดภาษารัวใส่เลยค่ะ! อึ้ง ฟังไม่รู้เรื่อง 55555 แต่โฮสต์คือหนึ่งเรื่องที่ประทับใจเลยนะ เราเจอโฮสต์แฟมที่ใจดีมากโดยเฉพาะโฮสต์แม่  ถ้าไม่เข้าใจเค้าก็พูดทวนๆ ซ้ำๆ แบบไม่รำคาญเราเลย แล้วยังมีโฮสต์พ่อ โฮสต์พี่สาวที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน โฮสต์น้องชายที่อายุห่างกัน 1 ปี ชวนเราเล่นเกมด้วย" 

“แล้วเวลาบ้านเค้ามีทริปใหญ่หรือไปเล่นสกีด้วยกันงี้ เราก็จะได้เกาะติดไปด้วยค่ะ ยิ่งช่วงคริสต์มาสต์ยิ่งอบอุ่นมาก นั่งแต่งต้นคริสต์มาสกันล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ถึงเวลาครอบครัวใหญ่ของโฮสต์มานั่งพร้อมหน้าพร้อมตากัน แลกของขวัญ ฯลฯ มีหิมะตกด้วย เป็นบรรยากาศที่ไม่เจอที่ไทยแน่ๆ"

แต่...

"เรามารู้ว่าน้องชายเราอิจฉาที่เรา(เหมือน)มาแย่งความรักจากแม่เค้า เพราะตอนอยู่ที่นู่นเราชอบเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ปีนเขา ว่ายน้ำ ไปไหนมาไหนกับโฮสต์แม่บ่อยๆ เค้าดูแลเราดีมากๆ พอรู้ความจริงก็วางตัวยากนิดนึง ระวังไม่ให้กระทบกระทั่งกัน"

สไตล์เรียนคล้ายไทย
แถมกฎเคร่งเวอร์

“โรงเรียนที่เราไปแลกเปลี่ยนชื่อ Saint Hadelin เขต visé ใน liège province เป็นโรงเรียนขนาดกลางๆ มีตั้งแต่อนุบาล - ม.6 ช่วงแรกๆ ที่เปิดเทอมมาเรื่องปรับตัวนี่ยากสุด ต้องเมกเฟรนด์ใหม่หมดเลย แล้วภาษาเราก็ไม่แข็งอีก เค้าจะใช้ศัพท์วัยรุ่น ตัดคำ ลดคำ ฯลฯ ตามไม่ทันเลย เวลาเรียนก็เรียนเหมือนเพื่อนทุกอย่าง”

"แล้วด้วยความที่เป็นโรงเรียนศาสนา เค้าจะมีโบสถ์ในโรงเรียนด้วยนะคะ พอถึงวันสำคัญทางศาสนา ทุกคนจะต้องเข้าไปทำพิธี ส่วนคนที่เป็นคริสเตียนจะได้กินขนมปังกับไวน์ มีคอรัสร้องเพลง มีโน้ตกับเนื้อเพลงให้ร้องตาม หนูก็นั่งฟังเฉยๆ เข้าไปดูบรรยากาศ เหมือนกับเด็กหลายๆ คนที่ไม่ได้นับถือคริสต์เหมือนกัน”

“แต่การเรียนที่เจอคือไม่ค่อยต่างจากไทยเลยค่ะ ห้องเรียนเค้าจะแบ่งเป็นสายวิทย์-สังคม, คณิต-สังคม, คณิตดัตช์ (เราอยู่ห้องนี้) เข้าเรียน 8 โมงเช้า เลิก 4 โมงเย็น ห้ามใช้โทรศัพท์ เข้าห้องน้ำระหว่างเรียนไม่ได้ จะมีแค่พักแค่ 10 นาทีช่วงเช้ากับพักเที่ยง จากนั้นก็รอเลิกเรียนเลยค่ะ  เรียนแบบเลกเชอร์เหมือนกัน แต่ต่างตรงเวลาอาจารย์ถาม เด็กจะยกมือแย่งกันตอบ ซึ่งแน่นอนว่าเราฟังไม่ทันค่ะ จะไหวแค่คณิต 5555”

“สังคมในโรงเรียนก็ไม่เน้นรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่เป็นแบบตัวใครตัวมันมากกว่า ถ้าอยู่คนละรุ่นก็แทบไม่สนใจกันเลย อาจารย์ก็เคร่ง หมดคาบเลิกแล้วเปลี่ยนครู ไม่มีไปแฮงก์เอาต์กับเด็กอย่างที่เราเคยเห็นแบบพวกฝรั่ง แต่อาจารย์เค้าสอนดีมากๆ เลยนะ แถมตื่นเต้นกับเด็กแลกเปลี่ยนด้วย คอยถามตลอดว่าเราโอเคมั้ย ถ้าไม่เข้าใจก็ถามได้”

“วิชาที่ยากสุดสำหรับเราคือ 'ประวัติศาสตร์' เนื้อหาจะแนวๆ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปะโกธิค ศิลปะโรมัน โบสถ์ ฯลฯ เราถึงกับขอเลกเชอร์ไปนั่งลอกเลย แล้วลายมือเพื่อนนี่อ่านยากมากเพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษตัวเขียนกัน มีหมดทุกเวอร์ชันทั้งตัวกลมตัวเบียด แต่พออ่านบ่อยๆ ก็ชิน (ส่วนเพื่อนก็ตื่นเต้นมากที่เราเขียนตัวพิมพ์ 5555) พอไปๆ มาๆ จากที่เราเขียนตัวพิมพ์ ก็ซึมซับจนใช้ตัวเขียนไปกับเค้าด้วย”

“ส่วนวิชาที่ดูทุลักทุเลสุดแต่สนุกมากคือ 'วิชาพละ' ได้เล่นกีฬาหลายอย่าง เค้าจะเน้นให้วิ่ง 5 กิโลเมตร ขึ้นลงสะพาน แล้วอ้อมกลับมาโรงเรียน ต่อให้ฝนตกก็ต้องวิ่ง ยกเว้นว่าฝนตกแบบถนนลื่น วันไหนมีคลาสต้องเตรียมเสื้อมาเปลี่ยนเอง"

แถวๆ โรงเรียน
แถวๆ โรงเรียน

เมกเฟรนด์กับคนเบลเยียม
ไม่ง่ายสำหรับเรา

"เค้าดูเฟรนด์ลี่ คุยได้แหละแต่สนิทยากมากยกเว้นจะมีความสนใจเหมือนกัน (ตอนเข้าเรียนต้องพยายามเข้าหาเพื่อนหน่อย) เราโชคดีตรงเจอคนที่ชอบ K-POP กับมังงะเหมือนกัน สนิทกันไวมากกแล้วเค้าดูตื่นเต้นกับเราเป็นพิเศษด้วยนะคะ คอยช่วยเหลือตลอด ส่วนใหญ่นัดเจอกันที่บ้านเพื่อน อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นบอร์ดเกมด้วยกัน" 

"แต่ถ้าเรื่องเที่ยวส่วนใหญ่ นอกจากโฮสต์ ส่วนใหญ่คือเพื่อนคนไทยนี่แหละค่ะ นัดกันเที่ยวหรือไปนั่งเล่นที่บ้านกันบ่อยๆ 55555"

ฝรั่งเศส VS เบลเยียม
สำเนียงภาษาฝรั่งเศสต่างกันมั้ย?

"ถ้าเรื่องสำเนียงต่างแค่นิดหน่อยค่ะ ส่วนตัวเราแยกไม่ออกเพราะฟังแล้วรู้เรื่องเหมือนกันหมด แต่จะมีพวกศัพท์บางคำ (น้อยมาก) ที่ใช้ไม่เหมือนกันค่ะ ตัวอย่างเช่น"

ความหมายฝรั่งเศส Ver.ฝรั่งเศสฝรั่งเศส Ver.เบลเยียม
มื้ออาหารPetit-déjeuner - Déjeuner - DînerDéjeuner - Dîner - Souper
ตัวเลข 70soixante-dixseptante
ตัวเลข 90quatre-vingt-dixnonante

เล่าประสบการณ์สุดพีค
& Culture Shock

เรื่องเล่าบนรถเมล์

“ตอนอยู่เบลเยียมเราเคยเจอ racism แค่ครั้งเดียว ตอนนั้นไปเที่ยวกับเพื่อนคนไทยอีกคนค่ะ ขากลับกำลังนั่งรถบัส ใกล้ๆ จะถึงบ้านแล้ว แต่มีแก๊งเด็กผู้ชายขึ้นรถมา ล้อเลียนโทนเสียงเวลาเรากับเพื่อนคุยกัน

แล้วอยู่ดีๆ ก็มีพี่ผู้หญิงคนนึงนั่งถอนหายใจดังๆ ออกมา พอถึงป้ายแล้วคนนั้นจะลงรถ พี่เค้าก็หันมาถามเด็กพวกนั้นว่าอายุเท่าไหร่? เธอเป็นใคร? ทำไมต้องล้อเลียนเค้าอะ? เค้าก็ด่าให้แทนเราเลยค่ะ สุดท้ายเค้าหันมาคุยกับเราว่าอย่าไปยอม อย่าไปกลัว พอเราขอบคุณเสร็จแล้วเค้าก็ย้ำอีกว่า 'จำไว้เลย วันหลังอย่าไปยอมนะ' //แต่หนูรู้สึกตัวเองเป็นคนไม่สู้ TT ถ้าเกิดเจอเรื่องแบบนี้กับตัวอีก ก็รู้สึกว่ายังไม่กล้าสวนกลับเหมือนเดิม”

"แต่นอกนั้นเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องคนเลยนะ เรารู้สึกว่าคนที่นั่นไม่ค่อยรู้จักประเทศไทยกันนะ ชอบถามว่าไทยอยู่ตรงไหน? เราก็ต้อง mention ถึงประเทศอื่น เช่น อ๋อ ก็อยู่แถวๆ ญี่ปุ่น เขาถึงจะอ๋อออ ตรงนี้นี่เอง”

วิธีทักทาย

“ถ้าใครจะไปเบลเยียม แนะนำให้ศึกษาวัฒนธรรมไว้  อย่างเช่นวิธีทักทายของเขาจะเหมือนกับชาวฝรั่งเศส ก็คือการเอาแก้มชนแก้ม มีทำเสียงจุ๊บด้วย ซึ่งการถึงเนื้อถึงตัวแบบนี้ถือเป็น Culture Shock สำหรับเราเลยค่ะ แต่โฮสต์บอกว่าถ้าไม่สะดวกใจก็บอกตรงๆ ได้ เค้าจะไม่ทำให้เราอึดอัด"

มารยาทบนโต๊ะอาหาร

"อย่างแรกคือเค้าจะซีเรียสเรื่องการกินอาหารให้หมด อย่าเหลือทิ้ง กับอีกเรื่องที่ต่างคือปกติบ้านเราสอนว่าไม่ควรพูดตอนกินข้าว แต่ที่นู่นเวลากินควรพูด ไม่งั้นเค้าจะคิดว่าโกรธหรือไม่พอใจอะไรรึเปล่า ตอนเราเงียบเพราะตามไม่ทัน เค้าก็ถามเราใหญ่เลย”

เที่ยวรัวๆ  ทั้งในและนอกประเทศ

“การเดินทางที่เบลเยียมสะดวกมากๆ ค่ะ เค้าจะมีแอปฯ บอกจุดและเวลาขึ้นรถ อัปเดตว่ารถจะมากี่โมง ซึ่งค่อนข้างตรงเวลาด้วย บวกลบไม่มาก ชอบสุดก็รถไฟเพราะมันแป๊บเดียวถึง มีตั๋วเหมาจ่าย เดินทางได้ 10 รอบด้วย แถมข้อดีคือจะเดินทางไปนอกประเทศก็ง่ายอีก ตอนนั้นเราไปเที่ยวทั้งเนเธอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, เยอรมนี, ฝรั่งเศสเลยค่ะ" 

"เราอยู่เมืองเล็กๆ โซนนอกเมือง เลยเป็นตึกเก่าๆ หน่อย แต่ถ้าไปแถวๆ ‘บรัสเซลส์’ (Brussels) ก็จะอีกอารมณ์นึงค่ะ เมืองที่เราชอบไปคือ ‘แอนต์เวิร์ป’ (Antwerp) อยู่ฝั่งฟลานเดอส์ (Vlaanderen) เกือบจะถึงเนเธอร์แลนด์ ที่นี่เป็นแหล่งที่มีศูนย์การค้า จะคึกคักหน่อยๆ" 

"ขอบอกว่าท้องฟ้าที่เบลเยียมสวยมากเลยนะ เราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว พอมาที่นี่เหมือนสวรรค์เลยค่ะ จะคว้ากล้องตรงไหนก็ได้รูปสวย ทุกอย่างตื่นตาตื่นใจไปหมดเลยค่ะ ><" 

แต่...

"เบลเยียมจะมีปัญหาเดียวกับฝรั่งเศส นั่นคือการประท้วง เขาจะชอบประท้วงหยุดงานกัน แล้วรถไฟก็จะหยุด คนไปทำงานไม่ได้ มีบ่อยมากแล้วชอบปิดเส้นสำคัญๆ ด้วย มีครั้งนึงเราวางแผนไปดูบอลโลกก็ดันเจอประท้วงพอดีอีก"

ลักเซมเบิร์ก
ลักเซมเบิร์ก
ลักเซมเบิร์ก
ลักเซมเบิร์ก

เรื่องเล่าจากฝั่งฟลานเดอร์

“ขอออกตัวก่อนว่านี่คือประสบการณ์ที่เพื่อนเราเจอมากับตัว ไม่ใช่ทุกคน ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านด้วยนะคะ ว่ากันว่าคนฝั่งฟลานเดอร์ (Flanders) ดูนิสัยแปลกและค่อนข้างขี้เหนียว เรามีเพื่อนที่ไปแลกเปลี่ยนที่เบลเยียม 6 คน เปลี่ยนโฮสต์เพราะเรื่องนี้ไปแล้ว 4 คน ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติเพื่อนจะพกขนมปังทาแยมหรือใส่ใส้อะไรไปทานเป็นมื้อเที่ยง แต่ถึงขั้นต้องทาแยมแค่ครึ่งแผ่นแล้วพับเอา //โฮสต์แม่ก็เล่าว่าคนฝั่งนั้นขี้เหนียวจริงๆ แต่คนเบลเยียมฝั่งบนกับล่างจะไม่ค่อยถูกกันนะคะ”

เรื่องเล่าจากฝั่งบรัสเซลส์

“เรากับเพื่อนไปแลกเปลี่ยนช่วงที่เกิดระเบิดครั้งใหญ่ที่บรัสเซลส์ด้วยค่ะ มีเพื่อน 2 คนไปอยู่เมืองนั้น เค้าบอกนั่งๆ เรียนอยู่มีเสียงตู้มมมมม! ใกล้มาก (เค้าปลอดภัยดี)" 

"แต่ถ้าใครจะไปบรัสเซลส์เตือนว่าจะเป็นโซนที่คนไร้บ้าน (homeless) เยอะ ชอบขอเงินขออาหาร เราต้องระวังเพราะจะถึงเนื้อถึงตัวมาก เราก็เจอมาเหมือนกัน เดินกับเพื่อนอยู่ดีๆ เค้าเดินมาแบบเอานิ้วจิ้มที่อาหารเลย (แต่ถ้าโซนรอบนอกจะเซฟกว่า)”

ถ้าย้อนเวลาได้...

“เรามั่นใจว่าเราคิดถูกที่มาแลกเปลี่ยนที่นี่ แต่ที่เสียดายมาตลอดคือตอนนั้นเราขี้อายมากถึงมากที่สุด  พอเจอวัฒนธรรมบ้านเค้าเลยทำให้เก็บตัว เกร็ง ไม่ค่อยพูด ทำให้พลาดโอกาสลองทำอะไรใหม่ๆ ไปเยอะมาก ก็เลยอยากฝากน้องๆ ที่จะไปแลกเปลี่ยนว่ามีโอกาสแล้วให้กล้าเข้าไว้ อย่ากลัวเลย พยายามทำความรู้จักกับเพื่อนเยอะๆ แล้วจะรู้ว่าโลกของเรากว้างกว่าที่คิด

“ส่วนพัฒนาการเรื่องภาษาที่ได้ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนก็ตอนเตรียมสอบภาษาระดับต่อไปค่ะ เราฟังแล้วเคลียร์ เข้าใจได้เร็วกว่าเมื่อก่อน เข้าห้องสอบระดับ A2 ฟังออกหมดเลย พาร์ตพูดก็พูดออกมาได้อัตโนมัติแบบไม่ต้องคิด เป็นอะไรที่ปลดล็อกเรามากจริงๆ ค่ะ"

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น