'นิกกี้' เด็กทุนคิงยุคโควิด & รีวิวหลักสูตร ป.ตรีสุดเจ๋งของ ม.ดังใน Ivy League! (วิทย์คอมพ์+ธุรกิจ)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League ของอเมริกา นอกจากเรื่องคุณภาพการศึกษา ทรัพยากรการศึกษาที่เพียบพร้อม อาจารย์ระดับท็อปในวงการ ก็ยังมีเรื่องสังคมที่เค้าตั้งใจคัดคนที่หลากหลายและโพรไฟล์ไม่ธรรมดามาเรียนด้วยกัน และแน่นอน มาพร้อมค่าเทอมและการสอบคัดเลือกที่ไม่ธรรมดาด้วย

ดังนั้นเลยมีนักเรียนไทยที่ฮึดเพื่อขอทุนไปเรียนต่อมหา'ลัยเหล่านี้ เดี๋ยวเราจะพาไปรีวิวชีวิตหนึ่งในเด็กทุนเล่าเรียนหลวง ‘นิกกี้’ กันตภณ วงศ์แจ่มเจริญ ที่ปัจจุบันกำลังเรียนปริญญาตรีโปรแกรม Jerome Fisher Program in Management & Technology at  University of Pennsylvania  (UPenn) พูดง่ายๆ คือเรียนมิกซ์ระหว่างสาขาวิทยาการคอมพ์ + ฝั่งธุรกิจ ของ Wharton School นั่นเอง ถ้าใครชอบทั้ง 2 ทางแต่เลือกไม่ถูก ที่นี่คือลงตัวและตอบโจทย์การทำงานยุคนี้มากๆ ค่ะ

*Wharton School คือคณะด้านธุรกิจของ University of Pennsylvania  สอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี  
 

Note: Ivy League เป็นชื่อเรียกลีกการแข่งกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา ได้แก่ Brown University, Columbia University, Cornell University, Dartmouth College, Harvard University, the University of Pennsylvania, Princeton University, และ Yale University ซึ่งบังเอิญว่าทุกที่ล้วนเป็น ม.เก่าแก่ โด่งดังเรื่องการศึกษา สอบเข้ายาก และสังคมที่ค่อนข้างเป็นผู้ดี ทำให้ Ivy League สื่อถึงความเป็น ม.ขั้นเทพชั้นนำของอเมริกาไปโดยปริยาย

รีวิวช่วงขอทุน
ข้อสอบพาร์ตไหนหินสุด?

ข้อดี / ข้อจำกัด / มูลค่าทุน

“ตอน ม.6 ผมไปสมัครสอบทุนเล่าเรียนหลวง (ทุนคิง) ซึ่งเป็น 1 ในประเภทของทุนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้อดีคือให้อิสระในการเลือกสาขาระดับ ป.ตรี ครอบคลุมค่าเรียน, ค่าใช้จ่ายรายเดือน, ค่าหนังสืออุปกรณ์ ฯลฯ แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องออกเองครับ เช่น ตั๋วไป-กลับเค้าให้มาแค่รอบเดียว ถ้าอยากกลับบ้านอีกระหว่างนั้นก็จ่ายเอง หรือช่วงโควิด-19 ที่ต้องให้นักเรียนกลับประเทศ ก็ต้องออกเองเหมือนกัน เงินรายเดือนก็คำนวณให้เป๊ะ อาจต้องประหยัดค่าเที่ยวบ้าง ค่าครองชีพที่นี่ก็แพงด้วย”

"เงื่อนไขการใช้ทุนคือทำงานในไทย = ระยะเวลาที่ขอทุน (ปกติคือเรียนรวม 5 ปี  แบ่งเป็น Prep School 1 ปี และ ป.ตรีอีก 4 ปี) บางคนอาจมองเป็นข้อจำกัดว่าเราจะได้แค่ ป.ตรีนะครับ แต่จริงๆ ถ้าจะต่อ ป.โท-เอก ก็จะมีโอกาสให้ชิงทุนมหาวิทยาลัยได้ หรืออาจขอทุน ก.พ.เพิ่ม เพียงแต่ต้องทบเวลาใช้ทุนไปอีก"

คุณสมบัติผู้สมัคร

  • เป็นผู้กำลังศึกษาอยู่ชั้นม.6 ประจำปีการศึกษา 2563
  • มีคะแนนเฉลี่ยสะสมทุกภาคการศึกษาเท่าที่ผ่านมา ในระดับชั้นม.ปลาย ไม่ต่ำกว่า 3.50
  • มีอายุไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร
  • คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบ

รีวิวการสอบ

“ปกติทุนนี้จะมีแยก 3 สาย คือสายวิทย์ / สายศิลป์ / สายศิลป์คำนวณ เลือกได้อิสระว่าอยากสอบสายไหน โดยจะแบ่งเป็นรอบข้อเขียน + รอบสัมภาษณ์"

"ตอนนั้นผมเลือกสอบของสายวิทย์ ได้เจอวิชาคณิต, ฟิสิกส์, เคมี, ชีวะ, อังกฤษ, ไทย และสังคม ข้อดีคือผมสามารถเตรียมตัวไปพร้อมกับการสอบเข้าหมอได้เพราะเป็นเนื้อหาวิชาเดียวกัน แต่ความต่างคือข้อสอบทุนคิงเขียนแทบจะล้วนๆ เลขแสดงวิธีทำ 2-3 ชั่วโมง เค้าให้สมุดมาเป็นเล่มเลย จะมีแบบตัวเลือกก็แค่วิชาภาษาอังกฤษ แต่ถ้าใครเลือกสอบศิลป์-คำนวณก็จะมีวิชาการเขียนเพิ่มขึ้นมา ส่วนศิลป์-ภาษามีวิชาการแปล”

  • เลขกับวิทย์ เป็นหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้วครับ อ่าน ม.ปลายก็ครอบคลุม แต่ต้องแม่นเพื่อเอามาประยุกต์ต่อ (ส่วนตัวคิดว่าเลขยากกว่า 9 วิชาสามัญ)
  • ภาษาอังกฤษ เทียบเท่า TU-GET เน้นแกรมมาร์
  • ไทย ตอบเป็นเรียงความ ทดสอบหลักภาษาและการสรุปความ
  • สังคม วิชานี้ตอบเป็นเรียงความเหมือนกัน มีคำถาม 5 ข้อครอบคลุม 5 กลุ่มสาระวิชา (ศาสนา การเมือง กฎหมาย ท่องเที่ยว ภูมิศาสตร์) มันทั้งกว้างมากกกและต้องเขียนเยอะมาก ต้องเรียบเรียงให้ดีในเวลาจำกัดด้วย แปลว่าเราต้องแม่นเนื้อหาจริงๆ ครับเพราะต้องมาวิเคราะห์ต่อด้วย อย่างเช่นปีผมมีข้อนึงให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ *คำแนะนำคือควรติดตามข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบันมาด้วยครับ

"วิธีส่วนตัวของผมเอง ไม่ได้จำเนื้อหาทั้งหมดหรอก เพราะมันเยอะมากแล้วเริ่มเตรียมตัวช้าด้วย อาศัยแค่ฝึกทำข้อสอบเยอะๆ พอทำแล้วไปติดปัญหาตรงๆไหนก็กลับไปอ่าน มันทำให้แม่นกว่าการอ่านไปเรื่อยๆ"

ศึกษารายละเอียดทุนรอบที่ผ่านมารวมข้อสอบเก่าทุนคิง

เมื่อเด็กนักเรียนไทย
ไปเจอระบบเรียนที่อเมริกาครั้งแรก

“ช่วง 3 เดือนแรก เด็กทุนทุกคนจะได้ไปเรียน Summer Program ที่ Brewster Academy ก่อนครับ วิชาที่เรียนมีทั้ง Reading, Writing, English Literature, American Culture, Education System กฎคือต้องพูดภาษาอังกฤษล้วนๆ ห้ามพูดไทย เหมือนได้ฝึกการใช้ชีวิตที่นั่นจริงๆ"

“ผมเรียนหลักสูตรไทยมาตลอด พอมาเจอการเรียนของที่นี่ก็ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกันนะ เพราะที่อเมริกาจะเน้นคิดวิเคราะห์ มีจำคอนเซปต์บ้างแต่ไม่มาก อย่างเช่นเลขกับฟิสิกส์แทบไม่ต้องจำสูตรเลยครับ เวลาสอบก็มี Formula Sheet มาให้ หรือคาบชีวะก็มีชาร์ตข้อมูลมาให้เหมือนกัน ตอนสอบก็เน้นประยุกต์ ผมว่ามันดีเพราะสมมติเราทำงานจริงก็สามารถแวบไปดูสูตรได้เหมือนกัน สำคัญที่ว่าเราต้องเข้าใจจริงๆ //ส่วนการบ้านก็เยอะมากทั้งรายงานและเรียงความเลยครับ 5555"

"สิ่งที่ผมสังเกตได้คือเด็กอเมริกาดูมีความคิดเป็นของตัวเอง แสดงความคิดเห็นได้เป็นธรรมชาติ เค้าคิดตลอดเวลาจริงๆ ครับ เวลายิงคำถามใส่อาจารย์แต่ละที่นี่ โห...คิดได้ไงอ่ะ เพราะอะไรเค้าถึงฉุกคิดถึงจุดนี้ขึ้นมา ผมคิดว่าระบบการศึกษาคือตัวหล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนี้”

ชีวิตเด็ก รร.ประจำ
สปีดตัวเองก่อนเข้ามหา'ลัย

โรงเรียนหรูมาก ค่าเทอมจริงเหยียบล้าน

“กลุ่มเด็กทุนอเมริกาที่เรียน Summer Camp ด้วยกันตอนแรกจะต้องกระจายตัวกันไปตาม Prep School ซึ่งก็คือโรงเรียนเอกชนที่เตรียมความพร้อมให้นักเรียนเพื่อสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในอเมริกาครับ  ผมได้ไปอยู่ที่ Loomis Chaffee School ที่เมืองวินด์เซอร์ (Windsor) รัฐ Connecticut โรงเรียนสวยหรูมากก ทรัพยากรพร้อม ห้องแล็บจัดเต็ม (มีวิชานึงผมทำเรื่องสเตมเซลล์ ก็มีตู้ให้เลี้ยงด้วย ตู้นั้นแพงพอสมควร) ค่าเทอมจริงๆ ตก 60,000 เหรียญต่อปี หรือราวๆ 1.8 ล้านบาท แต่ใช่ว่าเพื่อนทุกคนจะฐานะทางการเงินดีมากๆ ทั้งหมด เพราะบางคนอาจได้รับเงินสนับสนุนจากโรงเรียน (Financial Aid) เช่น ได้โควตาเด็กเรียนดีหรือนักกีฬา"

Loomis Chaffee School
Loomis Chaffee School
Loomis Chaffee School
Loomis Chaffee School
Loomis Chaffee School
Loomis Chaffee School

“เพื่อนในโรงเรียนมีมาจากประเทศทั่วมุมโลกเลย ถ้าในเอเชียก็มีทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ แล้วยังมี background ที่หลากหลาย เพียงแค่การคุยกับเค้าเราก็ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดแล้ว นี่คือข้อดีหลักๆ ของการเรียนที่อเมริกาเลยครับ คนส่วนใหญ่ก็เฟรนด์ลี่และไม่ต้องกลัวถูกเหยียด เพราะเป็นหนึ่งในข้อห้ามของโรงเรียน แล้วที่นี่ยังเป็นสังคมของคนหัวก้าวหน้าด้วย"

เพื่อนที่ Prep School
เพื่อนที่ Prep School

A Day in life

“ชีวิตในโรงเรียนประจำคือคือตื่น, เรียน, เลิกเรียนสัก 14.00 น. จากนั้นเป็นช่วงกิจกรรมตามความสนใจ ส่วนผมก็ไปเล่นเทนนิส กินข้าวเย็นเสร็จมี 2 ชั่วโมงให้เด็กอยู่เงียบๆ ในหอหรือห้องสมุดเพื่อทำการบ้าน ความประทับใจอย่างนึงคือครูใจดี มี Office Hour นอกคาบที่เปิดห้องพักครูให้เราเข้าไปถามการบ้านหรือเรื่องที่สงสัยได้ จะนัดนอกเวลาหรือติดต่อทางอีเมลเค้าก็ยินดีกันทุกคนครับ"

เพื่อนที่ Prep School
เพื่อนที่ Prep School

ปรับตัวหนักเรื่องภาษา

"คนอเมริกันเองก็ชอบพูดในลำคอด้วย~ แรกๆ ผมฟังไม่ทันแล้วยังไม่ชินกับวิธีเรียนที่ต้องแสดงความคิดเห็น  ก็เลยพูดน้อยจนครูต้องเรียกให้ตอบเลยครับ  พอผ่านไปสักระยะก็เริ่มปรับตัวได้ อาศัยขยันเข้าสู้ ใช้เวลาอ่านนานกว่าคนอื่น โน้ตความคิดตัวเองไว้ ถ้ามีพอยต์นี้ในมือก็ต้องรีบหาโอกาสพูดอย่างน้อยคลาสละ 1-2 ครั้ง แล้วส่ง essay ให้ตรงเวลาด้วย ถ้ามีอะไรสงสัยก็ถาม ตอนไปหาอาจารย์ก็เปิดการ์ดก่อนว่าเราอาจไม่เก่งน้าา อยากให้ช่วยรีวิว essay ว่าดีรึยังครับ เราต้องแอคทีฟมากๆ เพื่อพัฒนาตัวเองให้เรียนทันเพื่อน" 

"อีกเหตุผลคือเราต้องแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและพยายามเข้าหาอาจารย์เยอะๆ เพราะเราต้องขอ Recommendation Letter จากอาจารย์เพื่อยื่นสมัครมหาวิทยาลัยหลังจากนี้ด้วยครับ"

ยากสุดต้องยกให้วิชานี้

“ยังคงเป็นภาษาอังกฤษนั่นแหละครับ TT ผมเจอวิชา English 4 ที่ต้องนั่งอ่านนิยายทั้งเล่มแล้วเขียนเปเปอร์วิเคราะห์ เทอมแรกเป็น Literature and the sea ได้อ่าน Life of Pi ส่วนอีกเทอมเป็น Literature and the Environment ต้องกลับไปดูหนังในธีมสิ่งแวดล้อม แล้วเตรียมตัวมา discuss กับเพื่อนในคลาส"

ถึง suffer กับอังกฤษในตอนแรก
ถึง suffer กับอังกฤษในตอนแรก
สุดท้าย Article ที่เขียนก็ได้ลงหนังสือพิมพ์โรงเรียนด้วย

และวิชานี้ทำให้เจอสิ่งที่อยากเรียน!

"วิชา Economics สนุกมากครับ เป็นวิชาเกี่ยวกับการใช้ Demand & Supply มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ผมได้เรียนกับอาจารย์ที่เคยทำงานที่ Wall Street มาก่อน ได้ความรู้เยอะมากจนดึงให้ผมสนใจด้านนี้ขึ้นมา วิธีสอนในคลาสจะมีโจทย์ให้ถก มีกิจกรรมให้ทำ ขนาดการบ้านที่ทำเปเปอร์ยังสนุก เช่น ให้วิเคราะห์ US Economy เกี่ยวกับ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ), Comsumer (ผู้บริโภค), Economic Indicator (ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ) ฯลฯ คาดการณ์ว่าปีหน้าจะเป็นยังไงบ้าง”

“แล้วพีคคือมีให้เขียนถึงประธานของธนาคารกลางแห่งอเมริกาว่าเราจะมีข้อเสนอเกี่ยวกับการออกนโยบายทางการเงินยังไงบ้าง เช่น ควรลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพราะอะไร? จากนั้นอาจารย์จะส่งไปยังแบงก์ชาติ แล้วแบงก์ชาติก็จะยืนยันกลับมาว่าได้รับแล้วนะ”

“แล้วยังมีกิจกรรมในคลาสเป็น Stock Competition จำลองการเทรดหุ้นเป็นเวลา 1 เดือนจบปุ๊บเขียนเปเปอร์สรุปสถิติตอนเทรดว่าเป็นยังไงบ้าง ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น ถือว่าได้ประยุกต์สิ่งที่เรียนเต็มๆ แล้วยังมีให้เราวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก เทียบระหว่างไทยกับอเมริกา เรียนเรื่องสกุลเงิน (Currency) ช่วงนั้นโควิดเพิ่งระบาดใหม่ๆ ไทยโดนหนักแต่อเมริกายังชิลล์ๆ เราต้องนั่งวิเคราะห์ว่าเงินบาทไทยจะเป็นยังไงต่อไป แล้วหาเหตุผลมาสนับสนุน”

มีทางลัดข้ามวิชา Intro. ตอน ป.ตรีได้

“ช่วงท้ายปีใน Prep School จะมีสอบ AP (Advanced Placement) ความพิเศษคือถ้าสอบผ่านจะได้หน่วยกิตของคอร์ส intro. วิชานั้นๆ ทันทีครับ อย่างผมก็เลือกสอบ AP  Computer Science, Physics, Calculus, Economics เท่ากับเราได้ประหยัดเวลาตรงนี้ช่วงมหาวิทยาลัย แล้วไปลงวิชาอื่นเพิ่มแทนได้”

การสอบเข้ามหา'ลัยในอเมริกา
ไม่ได้ดูที่คะแนนอย่างเดียว!

  • เกรด GPA ดูว่าเราเรียนในห้องยังไง ดีลกับการเรียนในคลาสได้ดีแค่ไหน
     
  • คะแนนสอบ ACT หรือ SAT  (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ผลสอบนี้เค้าเคลมเลยว่ายิ่งสูงยิ่งมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการเรียนมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ว่าถ้าน้อยแล้วจะไม่มีที่ไหนรับเข้าเรียนเลย และถ้าสูงก็ใช่ว่าจะรับชัวร์ 100%

ACT (American College Testing) ข้อสอบที่ใช้วัดระดับการใช้เหตุผลและการสื่อสารที่ใช้เพื่อการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ใกล้เคียงกับ SAT Reasoning Test ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ผลสอบตัวใดยื่นเพื่อสมัครเรียน 
 

SAT ข้อสอบวัดทักษะด้าน Verbal และ Mathematical Reasoning ของนักเรียน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะวัดทักษะการอ่าน

"ผมเลือกสอบเป็น SAT ครับ น่าจะเป็นอะไรที่โหดสุดในการสมัครมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะไม่ได้เรียนอินเตอร์มาก่อนเลยไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้น มันไม่ใช่แค่แปลได้ก็ตอบได้เลย แต่ต้องคิดวิเคราะห์อีกสเตป เค้าวัด Critical Thinking และ Logic เช่น Passage เกี่ยวกับสุนทรพจน์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ บทความที่เขียนโดยคนสมัยโบราณ ฯลฯ แล้วให้เรามาวิเคราะห์ เราต้องเน้นทำข้อสอบเก่าเยอะๆ ฝึกทำแบบจับเวลาหลายรอบครับ มีช่วงที่ท้อๆ บ้าง สุดท้ายสอบได้ 1530 จากคะแนนเต็ม 1600”

  • Activities & Honour กิจกรรมและรางวัลที่เคยได้รับ 
     
  • Recommendation Letter แสดงให้เห็นพฤติกรรมในคลาสเรียน
     
  • Essay ส่วนนี้นักเรียนจะใช้เวลานานมากกกเพราะต้องเขียนเจาะจงถึงมหาวิทยาลัยแต่ละที่ที่สมัคร วัดว่า DNA ของเรากับมหาวิทยาลัยเข้ากันมั้ย บางคนเก่งแต่อาจไม่มีลักษณะที่มหา’ลัยมองหา
  1. Personal Statement เป็น Essay ที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นใครและทำไมเราถึงเหมาะสมที่จะติดมหาวิทยาลัยนั้นๆ
  2. Essay เฉพาะสำหรับยื่นสาขาและมหาวิทยาลัยนั้น เล่าว่าทำไมอยากเข้า ทำไมอยากเรียนที่นี่ ดังนั้นต้องศึกษาให้ดีเลยว่าที่นี่อยากได้เด็กแบบไหน เหมาะกับเรามั้ย เราต้องใส่ความเป็นตัวเองลงไป โชว์จุดเด่นที่ unique และแสดงให้เห็นว่าเราจะเติมเต็มบรรยากาศการเรียนในคลาสได้ยังไงบ้าง (ไม่ใช่ว่าเราอยากได้อะไรจากมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่เราจะให้อะไรกับมหาวิทยาลัยบ้าง) เช่น เราเป็นคนไทย เป็น International Student ช่วยเพิ่มความหลากหลายได้ ความท้าทายคือเราต้องแข่งกับคนไทยด้วยกันเองครับ 55555

*ข้อดีของ Prep School คือจะมีคนให้คำปรึกษาเรื่องการสมัคร, Essay และช่วยวิเคราะห์คะแนนว่าจะควรสมัครที่ไหนด้วยครับ

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะมี 2 รอบ

  • รอบ Regular
  • รอบ Early ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบอีกก็คือ
    • Early Action ติดก็ติด แต่จะเลือกไม่เรียนที่นี่ก็ได้
    • Early Decision ถ้าติดแล้วต้องเลือก *ผมสมัครรอบนี้ ทีเดียวจบครับ จริงๆ ข้อเสียของรอบนี้คือเราจะพลาดโอกาสสมัครที่อื่น ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าเราจะไม่เสียใจภายหลัง (พอเรียนถึงตอนนี้ ผมมั่นใจว่าคิดไม่ผิดนะ โชคดีมากที่สอบติดที่นี่”

................

THE JEROME FISHER M&T ADVANTAGE 
Solving big problems, two degrees at a time.

“ผมว่าจุดเด่นของ University of Pennsylvania  หรือ UPenn คือเน้นประยุกต์หลายศาสตร์มารวมกัน อย่างผมเลือกเรียน Jerome Fisher Program in Management & Technology at University of Pennsylvania โปรแกรมที่เรียน 2 ฝั่งควบคู่กัน 

ถ้าจบมาจะได้ปริญญา 2 ใบจาก 2 คณะ:
 

  1. Wharton School of the  University of Pennsylvania (Business School)
  2. School of Engineering and Applied Science.

"โปรแกรมนี้คือความลงตัวมากๆ เลยนะ เพราะช่วง ม.ปลายผมเรียนอยู่ห้องกิฟต์เลข รร.เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งจะมีวิชาที่เน้นไปทางวิทย์-คอมพ์ฯ ด้วย เลยมีโอกาสเรียนวิชา Programming แล้วชอบจริงจังขึ้นมาครับ"

"อีกอย่างคือในปัจจุบันนี้แวดวงธุรกิจเริ่มให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากขึ้น แทบทุกที่ใช้ Big Data มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการขาย กลุ่มลูกค้า และอื่นๆ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของบริษัท ทางไฟแนนซ์ก็นำเรื่อง Algorithm มาใช้ สมมติเมื่อก่อนใช้คนดูหุ้นละ 1-2 ตัว แต่ถ้าใช้เครื่องมือช่วย จะสามารถประมวลผลข้อมูลมหาศาลต่อวันได้”

ดูหลักสูตร Multiple Degrees อื่นๆ
UPenn
UPenn

ได้เรียนอะไรบ้าง?

ตอนนี้ผมเพิ่งเรียนไป 1 เทอมเองครับ เจอไปแล้ว 5-6 ตัว เล่าภาพรวมคือเราจะได้เรียน 2 ฝั่งควบคู่กันเลยครับ ครึ่งนึงวิชาฝั่ง Compter Science และอีกครึ่งเป็น Business ของ Wharton (จะมีเปิดเป็น Undergrad) เรียนเทอมละ 5-6 ตัว นอกนั้นก็จะมีวิชาทั่วไป เช่น Writing  ได้ฝึกดิสคัสและเขียนเชิงวิชาการ, Resume, Cover Letter หรือการเขียนที่ปรับใช้ได้ในชีวิตการทำงานจริงๆ"

ฝั่ง Business

“ปีแรกๆ เรียนพื้นฐานทุกด้านทั้ง Finance, Marketing, Accounting, Statistics เพื่อให้รู้ว่าตอนปี 2 จะเลือกเจาะ Concentration ด้านไหน ซึ่งต้องเลือกเน้นทางใดทางหนึ่งนะครับ ส่วนผมเองก็สนใจไฟแนนซ์ซึ่งเป็นด้านที่ UPenn โดดเด่นด้วย"

"แล้วก็จะมีวิชา  Wharton 101 ที่ช่วยให้รู้จักแต่ละฟิลด์ของ Business มากขึ้น วิชานี้จะได้ทำโปรเจกต์กลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ เช่น ทำ Market Research เพื่อให้คำปรึกษาโปรเจกต์ให้ American Cancer Society ทำยังไงถึงดึงดูดผู้หญิงมาเป็น Brand Ambassador เพื่อดึงดูดคนมาบริจาคมากขึ้น"

Huntsman Hall ตึกเรียนหลักของ Wharton
Huntsman Hall ตึกเรียนหลักของ Wharton

ฝั่ง Computer Science

“ตัวอย่างวิชาที่ได้เรียนคือ Linear Algebra & Differential Equation, Computer Programming ซึ่งถ้าปีหลังๆ จะเจอคอร์สวิชาเลือกที่เป็นขั้นสูงหน่อย เช่น AI, Data Science, Machine Learning"

“แล้วจะมีคอร์สพิเศษของโปรแกรมนี้ เช่น เทอมนี้เรียน M&T Freshmen Seminar คลาสเล็กๆ ที่ทุกคนในโปรแกรมต้องมาเรียนด้วยกัน แต่ละสัปดาห์จะมีศาสตราจารย์ของแต่ละภาควิชาทั้งฝั่ง Wharton และ Engineering มาพูดสิ่งที่เค้ากำลังศึกษา แล้วมีศิษย์เก่า (Alumni) มาแชร์ข้อคิดและเล่าถึงงานที่ทำ มีทั้งคนที่เป็น Vice-president บริษัททางด้าน Investment Banking, CEO บริษัท Start-up, Data Scientist ของ Facebook ฯลฯ แต่ละคนคือว้าวมากๆ” 

Prof.Peter Fader
Prof.Peter Fader
อาจารย์ Applied Marketing ที่ Nike มาซื้อบริษัท!!
UPenn
UPenn
เว็บไซต์ Jerome Fisher Program

และการเรียนใน UPenn ที่เล่ามา
คือการเรียนออนไลน์ทั้งหมด!

"เพราะผมมาขึ้นมหาวิทยาลัยตอนเจอสถานการณ์โควิดพอดีครับ TT แต่ทางมหาวิทยาลัยเค้าพร้อมมากนะ อาจารย์ก็พยายามปรับตัวเข้ากับแอปพลิเคชัน Zoom (แต่ก็สู้เรียนต่อหน้าไม่ได้อยู่ดี) หลายคลาสมี Pre-recording Lecture อัด VDO ให้ดูก่อน แล้วในคลาสทำแบบฝึกหัดให้เด็กถามแล้ว อาจารย์จะอธิบายเพิ่มเติมให้"

เล่าถึงข้อดีก่อน

  • อาจารย์จะไม่ต้องเสียเวลาอธิบายเนื้อหาในคลาส (เพราะเราต้องไปอ่านเอง) ดังนั้นเราจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการ discuss โดยมีโจทย์ให้คิดและทำกิจกรรมร่วมกัน
  • ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเดินเปลี่ยนคาบ ตัวยังอยู่หน้าจอเหมือนเดิม แค่กดออกไปเข้าอีกคลาสแทน

ข้อเสีย

  • เรื่อง timezone ครับ... ผมได้เจอคลาสที่ตรงกับเวลาตี 1-2 ของไทย จริงๆ เราจะไม่เข้าก็ได้เพราะเค้ามีอัดเทปให้ดูย้อนหลัง แต่พอเอาเข้าจริงในคลาสจะมีโปรเจกต์หรือ discussion ที่เราต้องเข้าเพื่อเก็บคะแนน  เวลานัดทำงานก็ลำบากมากเพราะว่างไม่ค่อยตรงกัน ทำให้ผมต้องตื่นเวลาแปลกๆ เรียนที่บ้านก็จริงแต่แทบไม่เจอหน้าคนที่บ้านเลย สลับเวลาตื่นเวลานอนกับเค้าตลอด
     
  • Zoom Fatigue = อาการเหนื่อยล้าตาแห้งจากการ VDO Call ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น เสียสุขภาพ ไม่ว่าจะเวลาเรียนหรือทำการบ้านอยู่หน้าคอมพ์หมด
     
  • ถึงจะไม่ใช่การเรียนแบบนั่งเผชิญหน้ากันก็จริง แต่พอเป็นออนไลน์ เวลาคนนึงพูดขึ้นมามันจะดูเด่นกว่าโลกความจริงอีกครับ 55555 คนก็เลยกล้าพูดน้อยลง

ขนาดเรียนออนไลน์
กิจกรรมชมรมก็แน่น

  • Investment Club ช่วงนี้ทำ Stock Pitch ว่าทำไมเราถึงควรลงทุนหุ้นนี้ ทำ Research Company
  • Consulting Club ให้คำปรึกษากับบริษัทภายนอก เช่น มีคลับนึงทำโปรเจกต์กับบริษัท AI ทำเป็นกล้องที่ detect ป้องกันการกราดยิง เวลามีคนยิงปุ๊บเครื่องจะแจ้งเตือนทันทีเพื่อให้บุคลากรและครูรับรู้และรับมือทัน หรืออีกคลับคือให้คำปรึกษา Investment Banking Company (วาณิชธนกิจ)

คุยเรื่องเรียนแล้ว
ขอชวนรีวิวอเมริกาบ้าง

"ผมว่าเค้าเฟรนด์ลี่และมีมายด์เซ็ตเปิดกว้างมากครับ สมมติเป็นคนไทยเดินผ่านกันจะไม่กล้าทัก ขนาดรู้จักบางทียังไม่ทักด้วยซ้ำ แต่ถ้าในอเมริกา ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็จะมีคนแปลกหน้าเข้ามาทักทาย Hi, how are you doing? เป็นปกติเลย ครูอาจารย์คือเอาใจใส่ใจและให้เกียรติ เคารพสิทธิคนอื่นมากๆ ไม่มีล้อเลียนรูปร่างหน้าตาเลยครับ" 

"ช่วงปรับพื้นฐานกับ Prep School ก่อนจะเจอช่วงโควิด ผมก็ไปมาหลายที่เหมือนกัน ได้เห็นว่าบรรยากาศของแต่ละเมืองจะมีความ unique ทั้งเรื่องภูมิอากาศ ภูมิประเทศ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เจอ vibe ที่ต่างกัน อย่างเช่นนิวยอร์กอาจจะเต็มไปด้วยแสงสี บอสตันจะคลาสสิกหน่อยๆ ครับ"

เที่ยว NewYork กับเพื่อนนักเรียนทุน
เที่ยว NewYork กับเพื่อนนักเรียนทุน

"ส่วนเรื่องอากาศแถวๆ เมือง Windsor รัฐ Connecticut ที่ผมอยู่คือดีมากๆ ถ้าช่วงฤดูใบไม้ร่วงจะเย็นสบาย~~ ถ้าหน้าหนาวเคยเจอมากสุด -20 องศา (ถ้าผ่านช่วงหน้าหนาวไปได้ครั้งนึงร่างกายจะทนขึ้น) ถึงจะมีบ้างที่หดหู่เพราะท้องฟ้ามืดเร็วเป็นพิเศษ แต่ผมก็แฮปปี้อยู่ดีเพราะผมชอบหิมะมากกก //ยกเว้นกับพายุหิมะนะครับ 555  เพราะข้างนอกทั้งลื่นทั้งมองไม่เห็นทาง ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในหอ"

แล้วมีมั้ย...อะไรที่ไม่ปลื้ม?

“ผมรู้สึกว่าอเมริกาไม่ได้ปลอดภัยเหมือนประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปครับ บางเมืองจะอันตราย อาจมี crime rate ที่สูง อย่างเช่นพวกกราดยิงตาม รร.ที่เราเคยเห็นในข่าว ผมเองไม่เคยเจอจังๆ กับตัวหรอก แต่เคยเจอเหตุการณ์นึง...ระทึกมาก มันมีคนที่ทะเลาะกันที่ถนนหน้าตึกนึงในเขตโรงเรียน แล้วเค้ามีปืนในมือด้วย ตอนนั้นถึงกับจะมีแผน lockdown ไม่ให้ทุกคนออกไปไหน โชคดีที่สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ไทยหรืออเมริกาก็ต้องระวังตัวเหมือนกันครับ”

“แล้วที่อเมริกาถ้าไม่มีรถยนต์ส่วนตัวจะค่อนข้างลำบาก เดินทางสะดวกแค่เฉพาะกับเมืองที่มีรถไฟฟ้าพาดผ่าน อย่างเช่นเวลาผมจะออกไปสถานีรถไฟ ก็ต้องนั่งบัส ถ้าจะเรียก Uber เข้าเมืองแค่ 15 นาที เสียไปแล้ว 35 เหรียญ //นอกนั้นก็เป็นเรื่องความสะอาด อย่างสถานีรถไฟฟ้าที่นิวยอร์ก ผมว่าค่อนข้างสกปรกเลยแหละ"

New York City
New York City
Photo by Wes Hicks on Unsplash
New York City
New York City
Photo by Martin David on Unsplash
Philadelphia, PA, USA
Philadelphia, PA, USA
Photo by Noah Cote on Unsplash

Before & After
อเมริกาเปลี่ยนเรายังไงบ้าง?

"ผมรู้สึกตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าเผชิญความเสี่ยง ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ไปเป็น Co-president จัด Organize ไปให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีกับผู้ที่อาศัยในศูนย์พักคนชรา และเป็น Student Leader ของ Financial Literacy Seminar ที่ช่วยจัด Guest Speaker มาให้ความรู้เรื่องการจัดการการเงิน รวมถึง lead acitivities ให้เป็นไปอย่างราบรื่นด้วย"

“และที่นี่ยังทำให้ผมเปิดมุมมองใหม่เยอะมาก เห็นโลกกว้างขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น แล้วที่เจ๋งคือคนที่นี่เค้าข้ามสเตปเรื่องเชื้อชาติไปแล้ว แต่มองทุกคนเป็น "ประชากรโลก"  แล้วหาวิธีเข้าไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ หรือความไม่เท่าเทียม หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น จริงๆ ประเทศไทยเองก็ตระหนักและรณรงค์เรื่องนี้กันมากขึ้น ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องทรงผม เสื้อผ้าต่างๆ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากครับ"

Philadelphia City Hall, Philadelphia, United States
Philadelphia City Hall, Philadelphia, United States
Photo by Leo SERRAT on Unsplash

อย่าเพิ่งคิดว่าจะสอบติดหรือไม่ติด

“ผมว่าการเตรียมสอบทุน ถึงเราจะได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่มีค่ามากคือความรู้และทักษะที่เราพัฒนาจากการเตรียมตัว เราได้ฝึกเขียน ฝึกวิเคราะห์ อ่านข่าวรอบโลก เห็นปัญหาที่เกิดทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น เราได้อ่านมุมมองความคิดเห็นของนักคิดรอบโลก ซึ่งถ้าตอนนั้นผมไม่คิดสอบทุน สิ่งเหล่านี้จะขาดไปหมดเลย น่าเสียดายมาก ผมถึงบอกว่ามันคุ้มค่า และยังเป็นการเตรียมสอบมหาวิทยาลัยไปในตัวด้วย”

ถ่ายรูปกับพี่ขวัญ รุ่นพี่นักเรียนทุนคิงเหมือนกัน
ถ่ายรูปกับพี่ขวัญ รุ่นพี่นักเรียนทุนคิงเหมือนกัน
ตอนนี้กำลังเรียนที่ Princeton University
ข้อมูลเพิ่มเติม & สมัครเรียน

CONTACT 

The Jerome Fisher Program in Management & Technology
The Larry Robbins House
3537 Locust Walk
Philadelphia, PA 19104
 

215-898-4145
E-mail: mgtech@seas.upenn.edu 

ขอบคุณรูปภาพจากน้องนิกกี้ และ Unsplash.comhttps://unsplash.com/photos/ZB5Xgw_MLa0https://unsplash.com/photos/vClkunKSKkwhttps://unsplash.com/photos/h43nNjuz_Ahttps://unsplash.com/photos/aJwW3KpuSLU 

ชวนอ่านต่อ: รีวิวเด็กทุนรัฐบาลไทย

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น