#รีวิวญี่ปุ่น ส่องชีวิตเด็กคณะเกษตรฯ 'ม.คิวชู' เที่ยวฟาร์ม นอนป่า ตามหาใบไม้ เรียนสนุกแถมธรรมชาติดีเวอร์!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D วันก่อนเราไปเจอทวีตนึงของ 'พี่น้าย' เจ้าของแอคเคานต์ @naiisthaistory  ที่ได้เล่าเรื่องราวความสำเร็จครั้งใหญ่ หลังจากได้เรียนต่อ ป.ตรี ถึง ป.เอก แล้วเพิ่งเริ่มงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.ดร.) ที่ Kyushu University  มหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka / 福岡) แห่งเกาะคิวชู 

 และหลังจากติดต่อไป พี่น้ายก็ยินดีตอบรับเพื่อมาแชร์ประสบการณ์เรียนที่ญี่ปุ่นให้ฟังแบบจัดเต็ม ทำให้รู้เลยว่าคณะเกษตร (Faculty of Agriculture) ของที่นี่มีวิธีสอนที่เก๋เวอร์มาก ทั้งนอนป่า, ไปฟาร์มวัว, เก็บน้ำค้าง, นั่งชมธรรมชาติในรั้วมหา'ลัย และอีกเยอะมาก ใครสนใจคณะสายนี้หรืออยากเรียนต่อภาคอินเตอร์ที่ญี่ปุ่น ห้ามพลาดค่ะ!

  • ป.ตรี คณะ  Faculty of Agriculture ภาค Bioresource and Bioenvironmental Science, Kyushu University
  • บัณฑิตศึกษา (ป.โท-เอก) Graduate School of Bioresource Sciences, Kyushu University
  • ป.ตรี-โท เราได้ทุน Domestic MEXT (Super Global) ที่ได้ recommended จากทางมหาวิทยาลัย ส่วนป.เอก เราได้ทุน JSPS (Japan Society for the Promotion of Science ระดับ DC1) เป็นเงินรายเดือนกับค่าทำแล็บปีละ 7-8 แสนเยน เป็นเวลา 3 ปี

เริ่มจากติ่งญี่ปุ่นหนักมาก
จนอยากลองไปแลกเปลี่ยนสักครั้ง

เมื่อก่อนเรามีความฝันว่าอยากใส่ชุดนักเรียนญี่ปุ่น~ แล้วคือเราเป็นติ่ง J-POP ตั้งแต่เด็ก  ช่วงที่กำลังจะขึ้น ม.6 ก็ลองสมัครโครงการแลกเปลี่ยนดู สรุปว่าติด  แต่ความยากคือเราเลือกเมืองไม่ได้ เราได้ไปจังหวัดโออิตะ (Oita / 大分県) บนเกาะคิวชู คนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พื้นญี่ปุ่นตอนนั้นคือได้จากการติ่งกับเรียนพิเศษนิดหน่อย พอได้พวกอักษรฮิรางานะ, คาตากานะ, อ่านออกเขียนได้บ้าง แต่ไม่แน่นเพราะไม่มีโอกาสใช้ 

สรุปว่าได้ใส่ชุดนักเรียนญี่ปุ่นสมใจแล้ว 55555 อยู่ที่นู่นเราเรียนภาค Design ที่โรงเรียนเทคนิค อารมณ์อาชีวะบ้านเราที่จบไปทำงานได้เลย เวลาเรียนจริงจังมากและเป็นกึ่งปฏิบัติ มีวาดรูป ปั้นหมอ ฝึกถ่ายรูป ตัดไม้ ฝึกทำปาร์เกต์  ฯลฯ  ภาษาก็พอเดาๆ ถูไถไป ข้อดีคือไม่เคว้ง เพราะเรียนกับน้อง ม.4 ที่ทุกคนเพิ่งมาทำความรู้จักเหมือนกัน จนก่อนกลับก็พูดญี่ปุ่นได้ จากที่ไม่เคยสอบวัดระดับก็ได้   N3 แล้วพอไปแลกเปลี่ยนก็ยิ่งชอบ ติดใจอยากไปอีก เริ่มเปิดหาข้อมูลแล้วว่ามีมหาวิทยาลัยไหนที่เราพอจะไปเรียน ป.ตรี ได้บ้าง

ได้ทุนโครงการ Global 30
ของรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT)

เราไปเจอโครงการนึงชื่อ Global 30 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นสมัยนั้นอยากส่งเสริมให้ ม.รัฐของเขามีความเป็นสากลขึ้น ส่วนใหญ่คณะก็จะเป็นฝั่งวิทย์ทั้งนั้น ซึ่ง Kyushu Unviersity คือ 1 ใน ม.ที่เข้าร่วม อยู่ฟุกุโอกะ ใกล้ๆ โออิตะเหมือนกัน + สอนหลักสูตรนานาชาติ  อยากแนะนำน้องๆ ว่าถ้าใครอยากเรียนต่างประเทศ ไม่จำเป็นว่าต้องได้ภาษาของประเทศนั้นๆ เสมอไป การมีทักษะภาษาอังกฤษก็เพิิ่มโอกาสได้  ลองเช็กว่ามีหลักสูตร/มหาวิทยาลัยไหนมีภาคอินเตอร์บ้าง

ตอนนั้นเป้าหมายเรื่องคณะของเรายังไม่ชัด แค่รู้ตัวว่าชอบชีวะกับดูสารคดี แล้วที่บ้านก็อยากให้เป็นนักวิจัย เลยเลือกภาค Bioresource and Bioenvironmental Science ของคณะเกษตร (Faculty of Agriculture) เขามี require ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ + ยื่นคะแนน SAT แต่ไม่ต้องสอบ TOEIC/TOEFL + สอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นขยันสุดในชีวิตแล้วมั้ง 5555 เตรียมตัวไป 3 เดือน ส่งคะแนนแล้วผลคือติดด้วย (ได้ทุนโครงการ Global 30 ทั้งตอน ป.ตรีกับ ป.โท)

อ่านเกี่ยวกับโครงการ Global 30

รีวิวชีวิตเด็กอินเตอร์คณะเกษตร
มหา'ลัยสวย คลาสเล็ก เรียนเข้มข้น

อยากบอกว่า ม.คิวชูเพิ่งจะย้ายแคมปัสใหม่เอง แล้วเขาซื้อภูเขาทั้งลูกมาสร้างมหาวิทยาลัย พี่ย้ายมาแคมปัสใหม่ตั้งแต่ป.เอกปี 1 จนถึงตอนนี้ค่ะ สวยมากกก~ แล้วยังตั้งอยู่ในเมือง Fukuoka ที่ใหญ่สุดในภูมิภาคคิวชู เป็นสไตล์เมืองหลวงแต่ไม่หลวงจัด ไฉไล โมเดิร์น คนเยอะ ค่าครองชีพไม่สูงมาก มีทุกอย่างครบ บินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงเลย :)

Kyushu University แคมปัสใหม่สวยหนักมาก
Kyushu University แคมปัสใหม่สวยหนักมาก
Kyushu University แคมปัสใหม่สวยหนักมาก
Kyushu University แคมปัสใหม่สวยหนักมาก
Faculty of Agriculture, Kyushu University
Faculty of Agriculture, Kyushu University
ภาพจากช่องทางหลักของทางคณะฯ

เริ่มแรกเราจะได้เรียน International Course กับเพื่อนต่างชาติ ทั้งจากนอร์เวย์ อียิปต์ อเมริกา เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ ประเทศละ 1-2 คน ช่วงนี้จะยังเรียนรวมกันทุกโปรแกรมเพื่อปรับพื้นฐาน  ส่วนตอน ป.ตรีจะมีข้อดีเรื่องคนน้อย แค่คลาสละ 5 คนไปจนถึง 26 คน ทำให้เรามีส่วนร่วมในคลาสเยอะ อาจารย์จะเน้นให้พรีเซนต์ แล้วยิ่งเป็นอาจารย์ต่างชาติสอนก็จะยิ่งยืดหยุ่นด้วย ถ้าเกิดไม่เข้าใจก็ส่งอีเมลไปถามได้ตลอด หรือบางทีเลิกคลาสเสร็จพุ่งเข้าชาร์จไปถามเลยก็ได้

แต่ต้องบอกว่าข้อสอบยากมาก เราเอาหนังสือเข้าได้ก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจก็เขียนตอบไม่ได้อยู่ดี ข้อสอบจะเหมือนมี 2 ชั้นอ่ะ ให้ข้อความมาดูว่าถูก/ผิด แล้วเขียนอธิบาย ถึงผิดก็ต้องแก้ว่าทำไมถึงผิด แล้วต้องแก้เป็นอะไร (*เกรด A ตัดที่ 90 ถ้าต่ำกว่า 60 คือติดศูนย์)

ตัวอย่างตารางเรียนปี 1
ตัวอย่างตารางเรียนปี 1

เล่าตัวอย่างวิชาเรียนช่วง ป.ตรี
ชีพจรลงเท้า ขึ้นเขาลงห้วย 

เริ่มมาปีแรกจะได้เรียนวิชาพื้นฐานพร้อมเด็กวิศวะฯ มีเลข, แคลคูลัส 1/2, กลศาสตร์1, บังคับฟิสิกส์ 1 เคมี1 ชีวะ1 ตอนนั้นเราเน้นเก็บชีวะทุกตัว ส่วนเคมีเรียนถึงปี 2 รวม 5 ตัว มันจะยากตรงที่เป็นเนื้อหาระดับมหา'ลัย แต่เจอคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่เราพอรู้จักอยู่แล้ว พอขึ้นปี 2 วิชาเด็กคณะเกษตรฯ จะเป็นแนวๆ วิชาป่าไม้, สัตวศาสตร์, พืชศาสตร์, Cell Biology, Food Science, Microbiology (วิชาหลังก็จะเป็นพวกหมักดอง ทำเบียร์ต่างๆ)

แล้ววิธีสอนเค้าแปลกใหม่มาก อย่างวิชาสัตวศาสตร์ เค้าให้ไปนอนฟาร์มวัว 3 วัน 3 คืน มีให้อาหารวัวด้วย หรือวิชาประมงก็ออกไปดูเค้าเลี้ยงหอย ไปโรงงานไข่ปลา

มีลองให้อาหารน้องวัวด้วย
มีลองให้อาหารน้องวัวด้วย

ชอบสุดคือวิชานี้!
วิชาที่มีลงเรียนแค่คนเดียวในรุ่น

เป็นวิชาของชีววิทยาตัวนึง อาจารย์ที่สอนเป็นอเมริกัน (นึกภาพคุณซานตาครอสได้) ตอนนั้นเรียนถึงเรื่องนิเวศวิทยา แล้วอยู่ๆ อาจารย์บอก ‘เบื่อจังงง ออกไปดูธรรมชาติกันมั้ย?’ แล้วก็พาเดินรอบมหาวิทยาลัย ‘นี่คือราสเบอร์รี่ป่านะ กินได้’ ‘ตรงนี้ไข่กบ’ ‘ตรงนู้นมีตั๊กแตน’ ‘เนี่ย อาจารย์มีแอบเลี้ยงผึ้งไว้ตรงนี้ด้วยนะ มันจะไปผสมพันธุ์กัน แต่หน้านี้จะยังไม่ออกดอก’

แล้วมหา’ลัยก็ธรรมชาติต้นไม้ใบหญ้าเยอะอยู่แล้ว บางทีอาจารย์ก็จะสอนเรื่องห่วงโซ่อาหารโดยการเหวี่ยงแหไป 1 ตารางเมตร ให้นั่งบันทึกว่ามีสิ่งมีชีวิตกี่แบบ มีต้นไม้กี่ชนิด แค่หญ้าก็แยกเป็น 10 ชนิดแล้ว แมลงใต้ดินบนดิน นกบินผ่านแถวนี้กี่ตัว เราก็นั่งสังเกตไป 1 ชั่วโมงว่ามีอะไรเดินผ่านบ้าง พาเดินไปสอนไปเรื่อยๆ สนุก~~

วิชาที่ให้ไปนอนป่า 3 วัน 3 คืน
ปีนไปดูต้นน้ำ, เก็บเห็ด, หาใบไม้ ฯลฯ

วิชาทรัพยากรชีวภาพ (Introduction to Bioresource) ก็ได้ไปนอนป่า  3 วัน 3 คืนเหมือนกัน พอดีว่าใน ม.จะมีศูนย์วิจัยตั้งอยู่ในป่า ป่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าทึบ ต้นสนเยอะๆ อาจารย์ก็ให้เราปีนเขาไปดูต้นน้ำ 5555 จริงจังด้วยนะ เราต้องเอาแกลลอนไปวางหลายๆ จุด พอน้ำค้างหรือฝนตกก็วางทิ้งไว้แล้วมาดูว่าแต่ละแกลลอนเก็บน้ำได้เท่าไหร่ คำนวณว่าพื้นที่ป่าและสภาพอากาศแบบนี้จะมีน้ำส่งไปที่ต้นน้ำแค่ไหน แล้วต้นน้ำความยาวเท่านี้ผลิตน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประมาณนี้

แล้วอาจารย์ก็ชวนไปเก็บเห็ดดูใบไม้ต่อ "ปะ! ไปตามหากันว่าใบไม้ใบนี้มันของต้นไหน?" 55555 แล้วอากาศก็ดีมากกกอ่ะ คนนำทริปคืออาจารย์ของภาควนศาสตร์ที่เขาจะเข้าไปเก็บตัวอย่างพอดี  ตอนเช้าจะเรียนก่อน เสร็จแล้วค่อยเข้าป่า แล้วพักในกระท่อมเล็กๆ คืนสุดท้ายมีตั้งแคมป์ไฟย่างบาร์บีคิวกินกัน // รุ่นเราไม่มีใครเลือกเรียนเอกวนศาสตร์สักคน แต่เราว่ามันน่าสนุกดีเหมือนกัน

.............

พักชมภาพการเรียนมันส์ๆ
ของเด็กคณะเกษตร ม.คิวชูกันค่ะ!

ส่วนวิชานี้ให้จับกลุ่มสร้างเมืองและวิทยาการ
โดยใช้สูตรเคมีทั้งหมด

วิชา Inorganic Chemistry (เคมีอินทรีย์) ทั้งเทอมแทบไม่มีเรียนเลยนะ แต่ต้องไปทุกคาบ มีโจทย์ให้จับกลุ่มกัน 3 คน คละสายกัน เกษตร1 วิศวะเคมี1 กับวิศวะไรสักอย่างอีก1 (ลืมๆๆ) อาจารย์เป็นคนอังกฤษ บรีฟว่า ‘เนี่ย โลกจะแตกแล้ว จะสร้างโลกมาใหม่ เราเป็นนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อน มีความรู้อย่างเดียวแต่ไม่มีอะไรเลย จะสร้างเมืองและวิทยาการขึ้นมายังไง?’ ให้เราเขียนเป็นสูตรเคมีให้หมด เหมือนเราเล่นเกมสร้างเมืองแล้วต้องคราฟต์อ่ะ สมมติจะสร้างเอธานอลก็ต้องเริ่มนู่นเลย ปลูกอ้อย

อาจารย์เค้าจะให้ฝึกคิดแล้วก็ต้องการสื่อว่าในทุกสิ่งอันมันมีเคมีอยู่นะ ทุกคนเรียนเคมีมาตั้งแต่ ม.ปลาย รู้กันหมดแล้วแหละ อยากให้ลองฝึกคิดแบบนี้ดู รู้สึกแปลกใหม่ดีอ่ะ ทีมเราก็โอเค มีคนเกาหลีที่เก่งเคมีมากๆ อยู่คนนึง พอคิดอะไรขึ้นมาก็ถามไปว่า สมการนี้สร้างไงวะๆๆ 555555

ส่วนวิชาสุดหิน 2 อันดับแรกก็คือ...

สำหรับเราคือ 'Mechanics' (กลศาสตร์) เป็นตัวบังคับที่เรียนพร้อมเด็กวิศวะฯ พวกการเคลื่อนที่ มาเป็นทฤษฎี-สมการล้วนๆ เจอคณิตศาสตร์ขั้นสูงอีก ก็เลยได้ C มา กับอีกวิชาคือ ‘ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น’ ยากแบบโอ้โหวว ท่องจำยุคนั้นยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศาสนา มีเขียนรายงานกับสอบจริงจัง เด็กวิทย์ 30 คนที่นั่งเรียนด้วยกันก็จะบ่นแบบ 'ว้อททท!'

เรียนอินเตอร์
แล้วได้ภาษาญี่ปุ่นมั้ย?

ส่วนตัวคือมีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่นเยอะจากการเข้าชมรม ทำงานพิเศษ เวลาเรียนทำแล็บจะใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนตอนเข้าแล็บใช้ภาษาญี่ปุ่น 100% เลย เวลาคุยกับเพื่อนหรืออาจารย์จะใช้ภาษาญี่ปุ่น ทำให้ได้ทั้งสองภาษา

แล้วตอน ป.ตรีเค้าจะมีบังคับเรียนภาษาญี่ปุ่น 4 คาบ/สัปดาห์ ถือว่าเยอะเพราะใน 1 วัน max แค่ 5 คาบ ตั้งแต่ 8.40-18.10 น. เขาอยากให้เรียนเพราะไหนๆ มาอยู่ญี่ปุ่นทั้งที ถ้าได้ภาษาก็จะใช้ทำงานกับเอาชีวิตรอดในญี่ปุ่นได้ เขาจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มต้น / กลาง / สูง ส่วนใหญ่คนจีนกับเกาหลีเค้าจะได้ N1 แล้วไปคลาสสูงกัน (ส่วนเราอยู่ระดับกลาง) ตอนเรียนคือเก็บเกรดจริงจัง เรียนๆ เล่นๆ ไม่ได้  สอนทักษะครบทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน สอบคำศัพท์ทุกสัปดาห์ เหนื่อยตรงต้องเรียนวิทย์ไปด้วย พอขึ้นปี 3 เหลือญี่ปุ่นแค่ 2 คลาส เน้นเรียนวิชาคณะมากกว่า อาจารย์ที่สอนจบจากสาขาสอนภาษาญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

ทำวิจัยสเกลใหญ่  ยิงยาว ป.ตรี-เอก
ได้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 2 รางวัล!

พอรู้ตัวว่าจะเรียนต่อ ป.โท-เอก ก็เลือกทำวิจัยเรื่องที่ใหญ่และใช้เวลานานมาก ซึ่งก็คือการปรับปรุงพันธุ์ต้นข้าวให้ทนต่อความร้อนขึ้น เติบโตได้ดีท่ามกลางอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น โดยเราจะดูลึกไปถึง DNA และการแสดงออกของยีน  

สุดท้ายได้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น Academic Scholar Awards จากทั้งทาง Graduate School of Bioresource Sciences และจากทางมหาวิทยาลัย Kyushu University ด้วย  ถ้าเป็นรางวัลของคณะจะมีคนได้ 2-3 คนต่อปี ซึ่งคนที่ได้ที่ 1 ของคณะจะได้เป็นตัวแทนคณะขอรางวัลของมหาวิทยาลัย (ปกติจะได้คณะละ 1 คน)

เรียนสายวิทย์ที่ญี่ปุ่นเหนื่อยมากก อาจแล้วแต่แล็บแหละ ปกติช่วง ป.โทจะมี Coursework + วิจัย แต่ถ้า ป.เอกจะทำวิจัยล้วนๆ  ทำให้เราไม่สามารถหยุดพักได้ เพราะเราทำงานกับสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ใบหญ้า ต้องคอยเฝ้าสังเกตการเติบโตและความเปลี่ยนแปลงตลอด ตั้งแต่ ป.ตรีเราไปแล็บทุกวัน เค้าจะบังคับเวลา 9.30-17.30 น. แต่ปกติเรากลับ 1-2 ทุ่ม ถ้าวันไหนดึกก็อาจยาวไปถึง 3-4 ทุ่ม ขนาดเสาร์-อาทิตย์ยังต้องไป ยกเว้นป่วยหนักแบบไม่ไหวจริงๆ เรากลายเป็นคนไม่มีเวลาเที่ยวเลย

เข้าชมเว็บไซต์หลักของคณะเกษตรฯ ม.คิวชู

จบมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ ม.คิวชู

เหตุผลคือเราชอบพูด ชอบกระบวนการสอนมากกว่าจะเป็นนักวิจัยเพียวๆ ที่นั่งทำงานคนเดียว คิดว่าเจอวัยรุ่นน่าจะทำให้กระปรี้กระเปร่าด้วย อีกอย่างเรารู้สึกไม่อยากเก็บเรื่องที่ค้นพบว่ามันน่าสนใจไว้คนเดียว อยากแชร์ให้นักศึกษารู้ เลยตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่มีวิชาเป็นของตัวเอง เพราะปกติที่ญี่ปุ่นจะต้องเป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไปถึงจะสอนได้  ส่วนตำแหน่งทางวิชาการของเราตอนนี้คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant professor) ก็เลยสอนเด็กในแล็บ (เช่น วิธีสกัด RNA) 

แต่ถ้าถามถึงงานแบบตรงสายคณะนี้ ส่วนใหญ่จะไปทาง Food Company เช่น กูลิโกะ อายิโนะโมะโตะ ทำพวกส่งออกเนื้อ ฯลฯ ถ้าเป็นสายพืชก็จะทำงานเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ ออร์แกนิก ไบโอเทค ฯลฯ  จริงๆ ไปได้ทุกสายงานแหละ เพราะคนญี่ปุ่นไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องจบสายตรงถึงจะรับเข้าทำงาน เราจะไปเป็นพนักงานแบงก์หรือสายการ์ตูนก็ยังได้ เพียงแต่พอจบ ป.โทจะสโคปลงมา เพราะมีเรื่องฐานเงินเดือนขึ้นมาเกี่ยวข้อง คนจะเน้นทำงานตรงสาย แล้วยิ่ง ป.เอกก็จะเป็นวงแคบไปอีก  อาจเป็นนักวิจัยของราชการ, อาจารย์หมาิวทยาลัย, นักวิจัยบริษัทเอกชน ฯลฯ

จากที่สังเกตค่านิยมคนที่นี่จะสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการกันเยอะ เพราะเป็นภาพลักษณ์ทางบวก มั่นคง การแข่งขันสูง อย่างเช่นเกิด pandemic (โรคระบาด) เห็นชัดเลยว่างานราชการอยู่ยงคงกระพันมากกก สวัสดิการก็ดีอีก คือรอดชัวร์

ชีวิตเรียนเครียด
เรารีแลกซ์ด้วยวิธีไหน?

ด้วยความเป็นติ่งญี่ปุ่นติ่งเกาหลี ก็จะมีฝึกเต้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนแรกคิดว่าเข้าชมรมเต้นของมหาวิทยาลัยไว้ผ่อนคลาย คั่นอารมณ์จากความเครียดตอนเรียน แต่ปรากฏว่าซ้อมโหดมากกกก~ นัดซ้อมเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า พอขึ้นปี 3 เรียนยากเราก็ไม่ไหว เลิกไป จนตอนขึ้น ป.เอก เรามาอยู่จุดที่เหนื่อย เหนื่อยไรไม่รู้แหละ แล้วมีรุ่นน้องถามว่าทำไมไม่ทำสิ่งที่ชอบบ้าง เราก็นึก เออ..เราชอบเต้นหนิ แต่ไม่มีคอนเนกชัน เลยไปนั่งเสิร์ช google เจอโรงเรียนสอนเต้น K-POP อยู่แถวบ้าน 

พอเข้าไปเจอเด็ก ม.ต้น ม.ปลาย แล้วมีคลาสของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ อ่ะก็ยังดี 55555 เต้นถึงเที่ยงคืนแล้วกลับมานอนต่อ ได้รู้จักเพื่อนใหม่ นานๆ จะฟอร์มทีมกลับมาเต้น แต่ไม่ได้ลงแข่งหรือไปประกวดที่ไหน

........

Life in Japan
รีวิวความญี่ปุ่นใน 4 ข้อ

 

  • เรารู้สึกคนญี่ปุ่นนิสัยดี มีมารยาท พูดสุภาพกับคนต่างชาติ ส่วนตัวเราไม่เคยถูก bully ทั้งในสังคมมหาลัยและตอนทำงานพิเศษ
     
  • ระบบ Seniority เคร่งสุดๆ สมมติอายุเท่ากันแต่เค้าเข้ามหาลัยก่อนก็ต้องพูดสุภาพ มีหางเสียง อะไรก็ต้องให้ก่อน ให้กินก่อน ต้องเสิร์ฟน้ำให้ก่อน อาจต้องเตรียมรับมือเรื่องระบบอาวุโสนะ แต่ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก
     
  • ประกันสุขภาพดีมากกกก ทุกคนที่นี่ไม่ว่าจะคนญี่ปุ่นหรือต่างชาติก็จะได้รับส่วนลดค่ารักษาพยาบาล 70% ในกรณีที่มีทะเบียนบ้านที่นี่เป็นกิจจะลักษณะ มีใบ Resident Card แล้วไปเดินเรื่องทำประกันสุขภาพ จากนั้นเวลาไปหาหมอก็ยื่นใบ ตรวจๆ เสร็จแล้วจ่ายเงิน โชว์ปุ๊บไม่ต้องจ่ายไปก่อน
     
  • เปลี่ยนมือถือทีไม่ต้องมีเงินก้อน สมมติอยากได้ Iphone รุ่นใหม่ ถ้าทำสัญญากับบริษัทนี้จะไม่ต้องควักเงินก้อนใหญ่เพื่อซื้อทันที แต่ทยอยจ่ายรวมในค่าบริการ เช่น มือถือราคา 30,000 เราไม่ต้องเสียแล้ว ถ้า 2 ปีก็ 20,000 หาร 12 เดือน เวลาอยากได้มือถือใหม่ก็ไปเลือกเครื่องแล้วเค้าจะคำนวณให้

"จากที่อยู่ญี่ปุ่นมาเข้าปีที่ 10 ถ้าให้เทียบก่อน-หลังมาที่นี่ เรารู้สึกตัวเองซึมซับความญี่ปุ่นมาทั้งทางที่ดีและไม่ดี ทางที่ดีคือเป็นระเบียบมากขึ้น มารยาทดีขึ้น แต่ในทางกลับกันเรากลับไม่กล้าหยุดพักเท่าไหร่ค่ะ แคร์คนรอบข้างมากขึ้น ทำให้บางทีทำงานหนักเกินไป"

[ รวมลิงก์น่าสนใจ ]
 

เว็บไซต์หลัก  Faculty Agriculture, Kyushu Universityhttps://www.agr.kyushu-u.ac.jp/english/ โครงการปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ 
http://www.isc.kyushu-u.ac.jp/pdf/TH_2.pdf
 The Global 30 Project https://www.mext.go.jp/en/policy/education/highered/title02/detail02/sdetail02/1373894.htm https://schoolynk.com/media/articles/ea4cfb82-d1fc-4ece-b3aa-15779f0aabe3

[ ชวนอ่านต่อ ]
รวมบทสัมภาษณ์ประสบการณ์เรียน & ทำงานที่ญี่ปุ่น


ชีวิตยุคโควิดของเด็กทุนรัฐบาลญี่ปุ่นใน 'Fukuoka' กับประสบการณ์ไฟไหม้ห้องพัก!
https://www.dek-d.com/studyabroad/56196/ 
จากศูนย์คูณไปร้อย! ‘นัท’ นร.ทุนมงรุ่นโควิด เรียน Econ ที่ Hitotsubashi ประเทศญี่ปุ่น (ลุยงานพิเศษเพียบ)
https://www.dek-d.com/studyabroad/55739/ 
พกแพสชันไปแลกเปลี่ยนที่ 'ยามะกุจิ' เมืองชนบทในญี่ปุ่นฉบับ ‘ภาษาไม่ได้แต่ใจรัก’
https://www.dek-d.com/studyabroad/57465/ 
เปิดใจคนไทยที่ทำงาน 'ดูแลผู้สูงอายุ' ในญี่ปุ่น ทั้งเงินดี เวลาดี แต่จิตตกเพราะเพื่อนร่วมงาน!
https://www.dek-d.com/studyabroad/55857/
 เล่าชีวิตเรียนพากย์ที่ รร.สายอาชีพใน 'ญี่ปุ่น' ประเทศที่เทรนนักพากย์ให้ลุยสายบันเทิงเต็มตัว!
https://www.dek-d.com/studyabroad/56034/
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น