เจาะลึกขอทุนยันเรียนจบ ฉบับ 'มิ้นท์-พรปรียา' เด็กป.โทสาขาอาชญาวิทยาแห่ง 'Cambridge' #ทีมอังกฤษ

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึง ม.เคมบริดจ์ เราเชื่อว่า #ทีมอังกฤษ หรือสาวกแฮร์รี่พอตเตอร์น่าจะต้องอยากเรียนต่อหรือไปสัมผัสสถาปัตยกรรมที่สวยโดดเด่นของที่นี่แน่นอน ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘มิ้นท์’ พรปรียา จำนงบุตร บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จุฬาฯ เกี่ยวกับชีวิตแลกเปลี่ยนที่อเมริกาจนเจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ และเปิดโลกกว้างไปอีกเมื่อได้เข้ามาทำงานเป็นแอร์โฮสเตสสายการบิน Emirates  หลังจากนั้นเธอก็ลงชิงมง #MissUniverseThailand2020 และเบนเข็มมาขอทุนเรียนต่อป.โทสาขาอาชญาวิทยาที่เคมบริดจ์ (Institute of Criminology, University of Cambridge)

และล่าสุดเราขอถือโอกาสนี้ Congratulations กับความสำเร็จอีกก้าวใหญ่ในชีวิต เพราะเธอสำเร็จการศึกษาจาก ม.เคมบริดจ์มาเมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ!! เธอยินดีแชร์ให้เราฟังละเอียดยิบตั้งแต่ด่านขอทุน, คลาสเรียน, กิมมิกเก๋ๆ ของมหาลัย กับมาตรการรับมือกับช่วงโรคระบาดของประเทศที่ "ตรวจโควิดได้ฟรี ทั่วถึง เป็นระบบแบบสุดๆ" ตามไปเก็บข้อมูลและแรงบันดาลใจดีๆ กันเลยค่า :)

ผ่านกี่ด่านกว่าจะคว้าทุนรัฐบาลไทย?
(*เรียน 9 เดือนใช้ทุนคูณสอง)

หลังเรียนจบเราทำงานเป็นแอร์โฮสเตสที่ Emirates เป็นสาย International Airline ที่ทำให้เจอคนหลากหลายและค้นพบว่าตัวเองอยากไปเรียนอังกฤษ เลยตัดสินใจขอสอบทุน ก.พ. ประเภทบุคคลทั่วไป (ลองอ่านเกี่ยวกับทุนรัฐบาลไทยปีก่อนๆ ไว้เตรียมตัวได้นะคะ) ก่อนสอบต้องเลือกสาขาให้สอดคล้องกับวุฒิที่เรามี + เลือกสังกัดที่จะทำงาน ซึ่งพี่จบจากคณะรัฐศาสตร์ และเลือกเรียนต่อป.โทสาขาอาชญาวิทยา หลังเรียนจบต้องกลับมาทำงานใช้ทุนในสังกัดกรมราชทัณฑ์

 ‘มิ้นท์’ พรปรียา จำนงค์บุตร
 ‘มิ้นท์’ พรปรียา จำนงค์บุตร 

I. ข้อเขียน

ผู้สมัครทุนทุกคนต้องสอบภาษาอังกฤษ (เราทำ TOEIC กับ IELTS มาเยอะเลยไม่มีปัญหา) ภาษาไทย (ใช้เซ้นส์) และคณิตศาสตร์ ส่วนตัวคิดว่าคณิตเป็นความรู้ม.ต้น-ม.ปลายสำหรับสายศิลป์ แต่พี่ทำได้ไม่ดีถ้าเทียบกับสองวิชาแรก **ทั้งหมดเหมือนข้อสอบ ก.พ.ภาค 1 เป็นเนื้อหา ม.ปลาย แนะนำให้ฝึกทำข้อสอบเก่าได้เลย ใน YouTube มีสอนฟรี

II. เรียงความ

  • ภาษาอังกฤษ พี่เจอประเด็นปัญหามลพิษ PM2.5 จะเป็นการให้นั่งทำในห้องสอบ
  • ภาษาไทย พี่เขียนทัศนคติหลังจากไปดูงานกับต้นสังกัด ตอนนั้นพี่ไปดูงานที่เรือนจำ ขามีระบบรักษาความปลอดภัย ผู้ต้องขังกับผู้คุมอยู่กันเหมือนพี่น้อง เวลาทำผิดก็มีวิธีลงโทษที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่การเฆี่ยนตี แล้วยังมีให้เรียนให้มีวิชาชีพติดตัวไปสอบใบประกอบอาชีพหลังพ้นโทษด้วย แต่อย่างไรก็ตามเรือนจำยังเจอปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาในเรื่องของความแออัดที่ควรได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด
  • คำถามด้านจิตวิทยา

III. สัมภาษณ์

มีทั้งเดี่ยวและกลุ่ม แล้วจะคัดจาก 5 คนเหลือแค่  1 คน ซึ่งไม่ใช่พี่ เพราะพี่ติดสำรอง แต่พอดีคนที่ได้เค้าสละสิทธิ์ค่ะ

A) สัมภาษณ์กลุ่ม ได้หัวข้อปัญหามลพิษ PM2.5 เราคิดยังไงกับสิ่งนี้? พี่ก็เล่าว่าควรเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน ในเมื่อประเทศเราไม่ได้ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการจัดการกับ PM2.5 มากนัก เราก็ควรนำความรู้ประเทศอื่นมาปรับใช้ เช่น รถขนส่งพนักงานที่มีส่วนช่วยลดมลพิษ
 

B) สัมภาษณ์เดี่ยว ยากเหมือนกัน คำถามจะเจาะความเป็นตัวเรามากขึ้นว่าพร้อมไปเรียนมั้ย เช่น อยากไปเรียนอะไร? จะนำมาพัฒนาได้มั้ย? ความรู้ที่เราเรียนมาก่อนหน้านี้จะต่อยอดเข้ากับสิ่งที่เรากำลังจะไปเรียนได้มั้ย, ความคิดเห็นต่อระบบราชการไทย ฯลฯ

เส้นทางสู่ ม.เคมบริดจ์
(เลือกมหาวิทยาลัยหลังได้ทุน)

พอได้ทุนแล้วขั้นต่อไปคือสมัครเข้ามหาลัยให้ได้ ตอนนั้นยากตรงต้องแบ่งเวลา เพราะต้องเตรียมตัวพร้อมทำงานแอร์ฯ เลยต้องหาเวลาอ่านหนังสือกับฟัง podcast นอกเวลางาน แม้แต่ความรู้เรื่องอาชญาวิทยาที่อยากเรียนเราก็หาฟังได้จากพอดแคสต์เหมือนกัน 

ม.เคมบริดจ์กำหนดอะไรบ้าง? 

  • ตอน ป.ตรีต้องได้เกียรตินิยมอันดับ 1
  • Statement of Purpose เรียงความนำเสนอตัวเองว่าทำไมถึงอยากเรียนที่นี่ และทำไมถึงสมควรได้รับเลือกให้เรียนที่นี่
  • IELTS กำหนดให้ทุกพาร์ตต้องได้ 7 ขึ้นไป และในรอบเดียวกันต้องได้ Overall ไม่ต่ำกว่า 7.5  พี่สอบไป 3 ครั้ง ตอนแรกก็แอบท้อใจเหมือนกันนะเพราะเรียนภาคไทยมาตลอด กลัวว่าพอติดแค่เรื่องภาษาแล้วมันจะเศร้าอ่ะ
  • Essay ของคณะอาชญาวิทยาจะกำหนดให้ส่ง essay 1 งานที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียน ซึ่งจะค่อนข้าง specific รวมถึงต้องผ่านการตรวจจากอาจารย์มาก่อน และเป็น grade ที่ดีมีศักยภาพในการวิจัย เพราะม.ต้องการผลิตนักวิจัยที่ผลิตงานใหม่ๆ ให้วงการการศึกษา เหมือนกับเค้าให้เรียนวิเคราะห์ ไม่ใช่เรียนเพื่อจำแล้วเอาไปสอบ
  • Recommendation Letter จดหมายรับรองจากผู้ที่รู้จักเรามากที่สุด และน่าเชื่อถือ รวม 2 คน 2 ฉบับ พอดีเราลาออกจากแอร์มาฝึกงานกรมราชทัณฑ์ ก็เลยให้หัวหน้าที่ทำงานในกระทรวงยุติธรรมช่วยเขียนให้ กับอาจารย์อีกท่านค่ะ
  • หากเรามีเค้าโครงการวิจัย (Research Proposal) อยู่แล้ว เราสามารถส่งเค้าโครงการวิจัย ให้เขาพิจารณาร่วมด้วยได้

*ค่าสมัคร £70 (ประมาณ 2,700 บาท) ตามกำหนดของมหาวิทยาลัย ส่วนค่าเรียนตลอดหลักสูตร  9 ปกติจะอยู่ที่ £37,000 กว่า (ประมาณ 1,700,000 บาท เป็นหลักสูตร 9 เดือน) 

 

อิงเรตค่าเงิน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง = 46.39 บาทไทย)

________

เข้าสู่พาร์ตชีวิต ป.โท
บรรยากาศและคุณภาพระดับโลก!

University of Cambridge ก่อตั้งเมื่อปี 1209 เก่าแก่อันดับ 2 ในสหราชอาณาจักรรองจาก Oxford  ตึกก็เลยจะเป็นแบบปราสาท สวยคลาสสิกมากกกกจนเป็นที่ถ่ายทำหนังดังหลายเรื่อง (แนะนำให้ลองไปดูบรรยากาศจากเรื่อง The Theory of Everything ได้เลยค่ะ) 

Photo by Malgorzata Bujalska on Unsplash
Photo by Malgorzata Bujalska on Unsplash

พอมหาลัยตอบรับเข้าเรียน เราก็จะได้การตอบรับเข้าบ้านด้วย ถ้าใครเคยดู Harry Potter จะประมาณนั้นเลยค่ะ เพราะที่เคมบริดจ์จะดูแลนักศึกษาภายใต้ระบบชื่อ  ‘Collegiate System' แบ่งเป็น 31 บ้าน มีการตั้งกฎกติกามารยาทที่เข้มงวดแตกต่างกัน งบจัดกิจกรรมกับบำรุงบ้านส่วนหนึ่งมาจากศิษย์เก่าของแต่ละบ้านที่จบออกไป 

(อันนี้ตัวอย่างบ้าน สวยมาก!)

Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com
Cr.  www.applytocambridge.com

บ้านมีไว้ทำอะไร? (ตัวอย่างฟังก์ชัน)

  • เป็นที่พัก ซึ่งดีมากกกก บางคนได้แชร์บ้านกัน บางคนอยู่ในปราสาท แล้วแต่ละบ้านจะมีสาธารณูปโภคกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างกัน
  • เป็นพื้นที่ให้นักศึกษามาทำความรู้จักและกินข้าวด้วยกัน มี Formal Dinner ทุกสัปดาห์โดยที่เราสามารถชวนแขกมาได้ คอร์สดินเนอร์ของเขาก็ดีและถูก มีไวน์ให้ราคาพิเศษไม่เกิน 1,000 บาท
  • กิจกรรมเยอะมาก ขนาดช่วงโควิดยังมีโยคะออนไลน์หรือทำสมาธิ (Mindfulness)
  • มีสอดแทรกวิถีวัฒนธรรมชาวอังกฤษในหลายๆกิจกรรมด้วยนะ
  • ทุกบ้านจะมี Tutor  ดูแลนักศึกษาเหมือนเป็นผู้ปกครองเลย
Formal Dinner
Formal Dinner
Formal Dinner
Formal Dinner

เกณฑ์คัดเลือกเข้าบ้านคืออะไร?

 เราสามารถสมัครเลือกเข้าบ้านที่ต้องการเองได้ แต่ถ้าไม่ได้รับเลือกเค้าก็จะสุ่มให้อยู่ดี โดยจะมีเกณฑ์หลักๆ ของทางบ้านในการคัดเลือก คือ 1) อายุที่เหมาะสมต่อบ้านนั้นๆ เช่น บางบ้านจะรับแต่เด็กอายุ 21 ปีขึ้น 2) เพศ เช่น บางบ้านจะรับแต่เพศหญิง 3) จำนวนคนที่บ้านสามารถรับเป็นสมาชิกบ้านได้  ส่วนพี่ถูกจัดไปอยู่บ้านหญิงล้วนชื่อ  Lucy Cavendish College 

ถึงจะแยกเป็นบ้านๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราไม่รู้จักคนที่อยู่บ้านอื่น ส่วนใหญ่เพื่อนคนไทยที่อยู่บ้านอื่นหรือเพื่อนฝรั่งที่เราเรียนหรือทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยด้วยเค้าก็จะมาชวนไปเม้าท์มอยหรือกินข้าวที่บ้านที่เค้าสังกัดกันค่ะ

Lucy Cavendish College
Lucy Cavendish College
Cr.  www.applytocambridge.com/

นอกจากสังคมคณะกับที่บ้านแล้ว กลุ่มคนไทยด้วยกันยังมี Cambridge University Thai Society (CUTS) จัดกิจกรรมระหว่างปีตลอดด ถึงจะเรียนจบก็ยังมีเป็นสังคม Alumni อีก ส่วนตัวเมืองเคมบริดจ์เองก็เล็กและส่วนมากเป็นนักเรียน คนจะค่อนข้างช่วยเหลือกัน // ช่วงนี้ก็อาจจะต้องใส่ mask ยิ้ม say hi~ ให้กันทางตาแทน 55555 

ส่องข้อมูล 31 บ้านใน ม.เคมบริดจ์

เรียนออนไลน์เกิน 50%
ได้ชดเชยเป็นคลาส Oxford

พอมีโควิดเข้ามาทางทุนเลยต้องตัด part การอนุญาตให้เรียน pre-college ที่เตรียมภาษาออกไป ตรงนี้จะอาจเป็นปัญหาสำหรับคนที่เก่งแต่ไม่ถนัดภาษา เพราะไม่มีเงื่อนไขอื่นนอกจากต้องสอบผ่านเกณฑ์ภาษาของที่มหาวิทยาลัยกำหนดจึงจะเอาทุนเรียนในปีนี้ได้ ส่วนตัวพี่โชคดีทาง Cambridge ไม่มีให้เรียนภาษา ต้องผ่านเกณฑ์เท่านั้นถึงจะเรียนได้ พี่จึงไม่ต้องเลื่อนทุนไปปีหน้า  แต่ทั้งนี้ การที่นักเรียนทุนต้องเรียนออนไลน์เกิน 50% เค้าก็มีมาตรการเยียวยาให้เลือก 3 ช้อยส์ คือฝึกงาน, ทำวิจัย หรือเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตร

พี่เลยเลือกคอร์สประกาศนียบัตร Executive Education Certificate at Saïd Business School, University of Oxford ถึงจะเป็นออนไลน์แต่ก็เต็มที่กันทั้งเพื่อนทั้งผู้สอนเลยค่ะสิ่งที่จะเรียนจะเป็นความรู้ระดับผู้บริหาร เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่องค์กรทำจะส่งผลกระทบต่อใคร วัดผลยังไง แล้วจะลดผลกระทบได้ด้วยวิธีไหน จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี/ไม่ดียังไงบ้าง ฯลฯ ความรู้เหล่านี้เชื่อมโยงถึงการทำงานของเรือนจำได้ด้วยค่ะ

เจาะชีวิตเด็ก Criminology ที่เคมบริดจ์
กฎหมาย + จิตวิทยา + สังคมศาสตร์

เทอมแรกคณะพี่มีคนที่เรียนออนไลน์กับในคลาสอย่างละครึ่งๆ เค้าให้เลือกได้ตามที่สะดวก แต่สำหรับพี่ทางทุนรัฐบาลไทยอยากให้เด็กเลี่ยงเดินทางไว้ก่อน กว่าจะอนุญาตก็เทอม 3 ที่สถานการณ์โอเคขึ้น  ทำให้ในสองเทอมแรกเป็นการเรียน online ผ่าน zoom เข้าห้องสมุดแบบออนไลน์ แต่เทอมสุดท้ายก็ได้มาทำวิทยานิพนธ์และใช้บริการห้องสมุดจริง 

ข้อเสียคือในการเรียนเทอมแรกจะเป็นการเรียนออนไลน์กับในคลาสอย่างละครึ่งๆ คือบางทีจะไม่ได้ยินคนในคลาสคุยกัน สนิทกับเพื่อนยากขึ้น แต่พี่รู้สึก ม.เคมบริดจ์เตรียมการสำหรับคนเรียนออนไลน์ไว้ดีในระดับหนึ่งเลยค่ะ เช่น การอัด lecture ไว้ให้ดู และถ้าใครมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ก็ทำเรื่องขอทุนเบิกได้

หลักสูตรสาขา Institute of Criminology จะอยู่ภายใต้คณะกฎหมาย (Faculty of Law) แต่เป็นการเรียนกฎหมายที่ผสมผสานกับจิตวิทยา + สังคมศาสตร์ เพื่อศึกษาว่าทำไมคนถึงก่ออาชญากรรม แล้วจะมีแนวทางป้องกันได้ยังไงบ้าง  

ในระยะเวลาเรียนทั้งหมด 9 เดือน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 เทอม ประกอบด้วยวิชาบังคับ 2 วิชา + บังคับเลือก 3 วิชา + และวิชาเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ (Dissertation) 1 วิชา ตอนเรียนจะมีทฤษฎีบ้าง แต่ส่วนมาก discuss เพื่อไปทำวิจัยต่อ (ที่นี่เป็นม.เน้นวิจัย) ความท้าทายคือเพื่อนในคลาสส่วนใหญ่จบจาก Sociology กับ Criminology มาโดยตรง แต่พี่เคยเรียนรัฐศาสตร์สำหรับนักการทูต ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับคนที่ก่ออาชญากรรมมาก่อนโดยตรงค่อนข้างน้อยก็เลยต้องทำการบ้านค้นคว้าข้อมูลหนักเลยค่ะ

วิชาบังคับ 

1. Criminological Theories 

2. Criminological Research Method 

วิชาบังคับเลือก 

1. Sociology of Imprisonment 

2. Socio-cultural Perspective on Criminal Justice: Minority Matters

3. Programme Evaluation and Crime Prevention 

 

ในระยะเวลา 9 เดือน
ต้องโฟกัสอะไรอีกบ้าง?

จะมีทั้งวิทยานิพนธ์ (Dissertation) ความยาว 15,000-18,000 คำ กับ essay 5 วิชา โดยแต่ละวิชา ความยาวไม่เกิน 3,000 คำ ในขณะเดียวกันต้องพบ Supervisor ทุก 2 สัปดาห์เพื่อรายงานความคืบหน้าของการเรียนแต่ละวิชาและ วิทยานิพนธ์ (Dissertation) ว่าทำงานถึงไหนแล้ว เพื่อเช็กความรับผิดชอบว่าเราทำงานจริงๆ

ส่วนของวิทยานิพนธ์พี่ทำในหัวข้อเรื่อง The Lived Experiences Incarcerated Pregnant Women and Mothers of Babies In Prison Mother and Baby Units (MBUs) in England and Wales and Thailand เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรกับเด็กติดแม่ในเรือนจำ  ดูว่าประสบการณ์ดังกล่าวเกิดจากกฎหรือนโยบายในเรือนจำของที่ประเทศไทยและอังกฤษกับเวลส์ตั้งขึ้นมา ว่าส่งผลยังไงต่อประสบการณ์เหล่านี้

พอเจอช่วงโควิดเข้าไปเลยมีข้อจำกัดอีก เพราะพี่เข้าไปในเรือนจำทั้งที่อังกฤษกับเวลส์และไทยไม่ได้เลย  เลยอาศัยข้อมูลจากวิจัยที่คนอื่นทำไว้มาต่อยอดในวิจัยของเรา จากนั้นต้องทำโปสเตอร์วิจัยและฝึกสกิลการนำเสนอ ส่วนตอนเรียนพี่จะเลือกลงวิชาด้านนี้เพื่อให้มีข้อมูลสนับสนุน  ในคลาสจะมีต่ำสุด 10 คน วิชาแคบแต่กว้าง  หมายถึงเนื้อหาจะสโคปลงมา แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายแบบ

การแข่งขันสูง 
พีคสุดคือช่วงสอบ

สำหรับการเรียนปริญญาโทที่ Cambridge เกณฑ์สอบผ่านคือคะแนน 60% ขึ้นไป และถ้าอยากได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ต้องได้คะแนน 75% ขึ้นไป  แต่ละปีมีคนได้ A แค่ 1-2 คนเอง และคะแนน essay ที่ระบุว่าเต็ม 100 เรายังไม่เคยเห็นใครได้เต็มมาก่อน (*ที่นี่จะไม่เปิดเผย เราจะไม่รู้เกรดเพื่อนเลย)

ทั้งนี้ทั้งนั้นช่วงใกล้สอบจะอ่านกันโหดแบบโหดมาก พี่ไม่ได้ออกจากห้องเป็นเดือน 55555 รู้สึกเลยว่าเป็นการเรียนที่กดดัน เพราะเรียนหนักในช่วงเวลาที่กระชับ และการแข่งขันสูง ต้องสืบค้นข้อมูลเยอะ กังวลว่าจะทำคะแนนได้ไม่ดีหรือทำงานไม่ทัน ช่วงไหนเครียดๆ ต้องหาวิธีบรรเทาอาการ Mental breakdown โดยการ...สั่งส้มตำปูปลาร้ามากินไรงี้ 5555

(อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตอนเรียนพวกเราจะจริงจังสุดๆ แต่ปาร์ตี้เราก็ไปสุดมากกค่ะ)

ช่องทางหลักของคณะ

 

Website: https://www.crim.cam.ac.uk
Facebook:  @CamCriminology 
Twitter:  @CamCriminology 

Youtube: Cambridge University: Crimonology

 

รีวิวช่วงโควิด: ตรวจฟรีและทั่วถึง

ก่อนจะบินต้องทำ Covid Test จากไทย แล้วซื้อที่ตรวจมาใช้ระหว่างการกักตัวด้วย (ทุนรัฐบาลช่วยซัพพอร์ต) สรุปคือตรวจที่ไทย 1 รอบ และตรวจที่อังกฤษอีก 1 รอบ พี่เดินทางไปถึงเดือนมีนาคม ช่วงนั้น lockdown แล้วต่อมาก็ค่อยๆ ทยอยลดระดับ ซึ่งคนที่มาจากไทยจะต้องกักตัว 10 วัน ระหว่างนั้นคือวันที่ 2 และ 8 ต้องตรวจโควิดแล้วส่งให้ทางศูนย์ตรวจนำไปตรวจอีกค่ะ

พอพ้นช่วงกักตัวคือเราแทบจะใช้ชีวิตได้ปกติเลย เพียงแต่ตอนอยู่ในตึกหรือสถานที่ปิดต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยคนที่นี่สามารถเข้ารับการตรวจโควิดฟรีได้ตลอด จะเดินไปร้านขายยาหรือตามจุดที่ให้บริการเพื่อรับชุดตรวจโควิดหรือว่าจะสั่งชุดตรวจโควิดฟรีเดลิเวอรี่ถึงบ้านก็ได้ เราคิดว่า "การตรวจโควิดฟรีเป็นเรื่องสำคัญมาก” เพราะจะได้ทราบว่าเรามีเชื้อหรือไม่ และจะได้รักษาตามอาการทันที

จัดสรรวัคซีนเหมาะกับช่วงอายุ
กระจายจุดให้เข้าถึงได้ "ทุกคน"

นอกจากตรวจโควิดฟรี คนก็ไม่ได้เข้าถึงวัคซีนยาก เพราะเค้าจะทยอยฉีดวัคซีนไล่ตามช่วงอายุจากมากไปน้อย คนอายุเยอะได้ฉีด AstraZeneca ส่วนคนอายุน้อยได้ Pfizer กับ Moderna  ช่องทางเข้ารับการฉีดวัคซีนมีดังนี้:

  1. ลงทะเบียนกับเว็บ ซึ่งจะมีเว็บส่วนกลางแค่เว็บเดียวเท่านั้น เราสามารถอัปเดตข้อมูล ลงทะเบียน เช็กว่าจะได้ฉีดวันไหน ฯลฯ ทำทั้งหมดได้ในช่องทางเดียว
  2. สามารถ walk-in ได้ในที่ที่จัดสรรไว้ให้ทั่วประเทศ โดยจะมีประกาศจากรัฐบาลให้ทราบว่าที่ไหนเรา walk-in เข้าไปได้บ้าง พี่ว่ามันดีมากกกเพราะไม่ต้องมางงๆ หรือกระจุกตัวกันที่เดียว ไม่งั้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อให้มากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ช่วงที่ปิดโควิดยังมีให้เงินเยียวยากับธุรกิจ และแม้แต่พลเมืองต่างชาติก็ยังได้รับวัคซีน อย่างเช่นพี่เป็นนักศึกษา เขาก็ให้วัคซีนไฟเซอร์ด้วย (ตอนนี้พี่ฉีดไปเรียบร้อย) อีกทั้งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จะสนับสนุนให้เด็กตรวจโควิด แม้พี่มาเรียนในประเทศที่ผู้ติดเชื้อเยอะก็จริง แต่เนื่องจากได้ตรวจโควิดฟรีทุกสัปดาห์ทำให้เรารู้ว่าติดเชื้อรึยัง และเราจะผิดรับชอบต่อสังคมยังไงบ้างหากติดเชื้อ 

Cr. International Committee of the Red Cross
Cr. International Committee of the Red Cross 

ศึกษาเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาหางาน/ทำงานได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ (*ข้อจำกัดคือบางงานจะรับแค่สัญชาติอังกฤษนะคะ)

 https://www.internationalstudents.cam.ac.uk/graduate-immigration-route 

 

เป้าหมายต่อไปคือการใช้ทุน จะเอาประสบการณ์ที่เรียนมาทำงานกับรัฐบาล แต่แน่นอนว่ายังจะทำงานด้านเรือนจำที่มีแพสชันมาตลอด เราอาจไม่ได้ลงไปชิงมง MUT แล้ว แต่ถ้ามีใครประกวดแล้วสนใจอยากทำความรู้จักงานด้านเรือนจำ สามารถติดต่อมาทาง Facebook @@mintppreeya หรือ IG @mintppreeya ได้เลยค่ะ

ชวนอ่านต่อ

‘มิ้นท์-พรปรียา’ เส้นทางของนางฟ้าเอมิเรตส์ สู่เวที #MUT2020 และว่าที่นักเรียนทุนป.โทที่ Cambridge!

https://www.dek-d.com/activity/56095 

 

‘มิ้นท์ #MUT2020’ กับชีวิตแลกเปลี่ยนใน USA: บทเรียนเล่มใหญ่ที่สอนทั้งภาษาและการมองโลก! 

https://www.dek-d.com/studyabroad/56094/ 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น