เจาะชีวิตเด็กทุนก.พ.ตั้งแต่ขอทุน สมัครเรียน & ลุยงานราชการในต่างแดน (UAE/คูเวต/ฟิลิปปินส์)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D วันก่อนเรามีโอกาสได้คุยกับนักเรียนทุน ก.พ.ที่ทำให้เรารู้สึกได้เปิดโลกมากกก เพราะหลังจากที่เธอได้ไปอัปสกิลภาษาและเปิดโลกครั้งใหญ่ตอนแลกเปลี่ยน 1 ปีเต็มที่ออสเตรีย เธอก็มีความฝันอยากไปเรียนต่อป.โทที่ยุโรปจริงจัง จึงตัดสินใจสมัครทุน ก.พ. ไปเรียนต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

แต่ต้องเล่าก่อนว่าเธอเป็นรุ่นแรกที่เค้าเริ่มทดลองใช้ระบบใหม่ โดยคนที่ได้ทุน ก.พ.จะต้องเข้าไปทำงานราชการในสังกัดนั้นๆ ก่อน 1 ปีเพื่อให้เห็นบริบทงาน เธอบอกเลยว่าตอนแรกทัศนคติต่องานราชการก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่พอเข้ามาแล้วกลับรู้สึกเหนือความคาดหมายทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และสโคปงาน ที่ไม่ใช่แค่ทำให้พัฒนาตัวเองเต็มๆ แต่ยังได้เป็นตัวแทนไปทำภารกิจที่ต่างประเทศ จน Mission Complete ไปหลายงานเลยค่ะ

สำหรับบทความนี้จะเล่าเรียง 4 พาร์ตใหญ่ๆ ดังนี้ 
 

  1. การขอทุน ก.พ.
  2. การสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์
  3. ประสบการณ์และมุมมองการทำงานราชการ **เล่าจากประสบการณ์ส่วนตัว
  4. รีวิวเดินทางถึงเนเธอร์แลนด์

เราได้อนุญาตนำข้อมูลและรูปภาพจาก Blog https://prangwjourney.wordpress.com  ที่เจ้าของเรื่องบันทึกไว้เพื่อมาใช้ประกอบด้วยค่ะ (อยากให้ bookmark ไว้เลย เพราะข้อมูลดีมากกกและยังมีอัปเดตเรื่อยๆ)
 

 

รู้จักกันก่อน!

“สวัสดีค่ะ เราชื่อ ‘ปราง’ เรียนจบ ป.ตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (BE Program) จาก ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ได้ทุน ก.พ. ไปเรียนต่อ ป.โท สาขา Economic of Development/ Sustainable Development หรือเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่ ISS Erasmus University Rotterdam ณ เนเธอร์แลนด์ หน่วยทุนต้นสังกัดคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ  State Audit Office of the Kingdom of Thailand (SAO)"

เราสนใจไปเรียนต่อที่ยุโรปตั้งแต่แรกเพราะเคยแลกเปลี่ยนสมัยปี 3 ตอนอยู่มหาวิทยาลัยที่เมือง Linz ประเทศออสเตรีย ตอนนั้นได้ไปเที่ยวเกิน 10 ประเทศในยุโรป แต่ก็ยังอยากไปซ้ำอีกทุกที่ ตกหลุมรักยุโรปตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ ตั้งใจว่าจะหาทางกลับมาเรียนอีกให้ได้ เลยเป็นแรงผลักดันให้สมัครทุนจนติดและได้กลับมาเรียนจริงๆ

รีวิวด่านขอทุน ก.พ.สุดเข้มข้น

ทุนก.พ. คือทุนรัฐบาลไทยของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่ให้เราไปเรียนต่างประเทศด้วยเงินจัดสรรของภาครัฐ (ซึ่งก็คือภาษีประชาชนนั่นแหละ) มีทุนตั้งแต่ระดับมัธยม ป.ตรี/โท/เอก มีให้สมัครได้ทั้งบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้รับราชการ และคนที่เป็นข้าราชอยู่แล้ว (หรือที่เรียกว่าทุนภายใน อัตราการแข่งขันข้างในจะน้อยกว่ามาก)  ส่วนเราเองได้ทุนบุคคลธรรมดาค่ะ ปกติประเภทนี้เปิดรับช่วงประมาณ ต.ค.-พ.ย.ของทุกปี ใช้เวลาตั้งแต่สมัครจนรู้ผลประมาณ 8-9 เดือน

ทุนก.พ. ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

  • ค่าใช้จ่ายเตรียมตัวก่อนเดินทาง
  • ค่าคอมพิวเตอร์
  • ค่าตั๋วเครื่องบินไป – กลับ
  • ค่าเทอม/ค่าหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน
  • ค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษา ได้แก่ ที่พัก อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

***แต่ๆๆ ทุนนี้มีเงื่อนไขคือต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานของเจ้าของทุน 2 เท่าของระยะเวลาที่เราใช้ทุนไปเรียนนะคะ เช่น ไปเรียน 2 ปีก็ต้องกลับมาใช้ทุน 4 ปี ถ้าใครไม่ชอบสไตล์งานราชการหรืออยากทำงานต่อต่างประเทศก็อาจไม่เหมาะกับทุนนี้ 

ขั้นตอนแรกสุดของการสมัครทุน คือการไปเช็กประกาศให้ละเอียด เขาจะมีกำหนดเลยว่าให้ไปเรียนสาขาไหน มีประเทศไหนบ้าง แล้วเป็นความต้องการของหน่วยงานสังกัดไหน หลังเรียนจบเราก็ต้องกลับมาทำงานให้สังกัดนั้นๆ ดังนั้นต้องศึกษาให้ดีเลยค่ะ (ที่มา: https://www.ocsc.go.th)

.......................................

ลักษณะข้อสอบทุน ก.พ. 

1. รอบข้อเขียน   มี 2 ส่วน 3 วิชา เป็นปรนัยทั้งหมด จะสมัครสาขาไหนก็ต้องสอบเหมือนกัน 

  • วิชาภาษาอังกฤษ (2 ชั่วโมง 100 ข้อ) ครอบคลุมเนื้อหา Vocabulary and Expression, Error Recognition และ Reading Comprehension
  • วิชาความสามารถทั่วไปเชิงวิชาการ (2 ชั่วโมง 100 ข้อ) 13.00 – 15.00 น. ครอบคลุมเนื้อหาคณิตศาสตร์และภาษาไทย

2. รอบสัมภาษณ์

ทุนจะคัดคนที่คะแนนผ่านเกณฑ์และคะแนนสูงสุดสาขาละ 5 คนเพื่อเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ และคัดเหลือเพียง 1 คนเท่านั้น ก่อนการสัมภาษณ์ณ์เราจะต้องเข้าทดสอบสุขภาพจิต และสอบเขียน essay เพื่อวัดระดับภาษาเบื้องต้น ก่อนด้วยค่ะ

พอถึงสัมภาษณ์แนะนำให้เตรียม Portfolio ซ้อมตอบคำถามให้ดี ตอนนั้นเราเข้าห้องสัมภาษณ์ไปพร้อมเพื่อน 4 คน มีกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย เลขาธิการก.พ. / นักจิตวิทยา / อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เราจะไปเรียน / ผู้แทนจากหน่วยราชการที่ต้องไปใช้ทุน / ผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ  โดยกรรมการจะให้เราโต้วาทีกันโดยกำหนดหัวข้อมาให้ (ตอนนั้นเราเจอเรื่องปัญหาคอร์รัปชันในไทย) สิ่งสำคัญคือต้องรักษามารยาทโดยการไม่พูดแทรกตอนคนอื่นกำลังพูด

หลังจากนั้นผู้สมัครก็แยกพบกรรมการทั้ง 5 คน แล้วเราเป็นฝ่ายโดนรุมถาม เจอทั้งเรื่องทัศนคติต่องานราชการ การใช้ชีวิตในต่างประเทศ เหตุผลที่อยากเลือกสาขานี้ รวมถึงตอบคำถามเนื้อหาในสาขาที่จะเรียนด้วย คือเข้มข้นมากกก ที่เหลือรอลุ้นประกาศผลรอบสุดท้ายที่ได้ผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว

.......................................

พาร์ตสมัครเรียนป.โท

หลังจากได้ทุนแล้ว ขั้นต่อไปคือการเตรียมตัวสมัครเรียน ป.โทค่ะ หลักๆ ทุนจะระบุมาว่าให้เรียนสาขาไหน + ชื่อวิชาต้องตรงกัน เราตั้งต้นจากที่อยากไปยุโรป แล้วนั่งเช็กโปรแกรมกับมหาวิทยาลัยดังๆ ที่เปิดสอนด้านนี้ อย่างเราเองเล็งหลายที่ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ (ไม่เคยไปเลย) มีสมัครที่อังกฤษเผื่อด้วย แต่ละแห่งต้องการเอกสารใกล้เคียงกันค่ะ

ทั้งนี้ หัวหน้าต้องการให้เราไปทำ Thesis เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ สตง.ทั่วโลกกำลังโฟกัสเรื่องนี้ โดยรัฐบาลทุกประเทศสัญญาร่วมกันว่าจะบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมายภายในปี 2030 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั่วโลก ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานทุกหน่วยงานเลย เราต้องตรวจสอบว่าจะรัฐบาลทำได้ตรงเป้าหมายมั้ย ตรวจสอบ SDG เราต้องไปเรียนเพื่อดูว่าแล้วคอนเซปต์ที่จะ apply กับ สตง.ไทยได้ จะเป็นไปในทิศทางไหน ทำยังไงได้บ้าง

เอกสารที่เตรียมมีดังนี้:

  • ผลสอบภาษาอังกฤษ IELTS overall 6.5 / TOEFL
  • Recommendation letter ประมาณ 2-3 ฉบับ
  • Motivation letter/ Statement of Purpose (SoP) เรียกว่าเป็นหัวใจของการคัดเลือก และมักจะเป็นส่วนที่มีน้ำหนักคะแนนสูงสุด
  • CV/resume การรวมประวัติและผลงานเรามาสรุป ไม่ต้องใส่ทุกอย่าง เพราะ CV ที่ดีไม่ควรเกิน 2 หน้า
  • Transcript / ใบปริญญาจบ

อ่านต่อฉบับละเอียด >>  https://prangwjourney.wordpress.com/2021/07/20/เตรยมตวสมครเรยนตอป-โท/ 

รวมๆ แล้วเราใช้เวลาเตรียมตัวไปครึ่งปีถึงหนึ่งปีได้ ยิ่งเตรียมเยอะยิ่งดี เพราะบางแห่งจะปิดรับเมื่อมีคนสมัครครบโควตาแล้ว ยิ่งมหาลัยดังๆ อาจเปิดรับเป็นรอบๆ เต็มแล้วเต็มเลย  หลังจากที่เรารวมเอกสารและส่งไปมหาลัยที่ต้องการแล้ว 

รอไปอีกประมาณ 3 เดือนก็ได้รับ offer จากทุกแห่งที่สมัครไป ตอนนั้นเราเหลือที่เลือกได้ 3 แห่งคือ ได้แก่ Lund University (สวีเดน), Glasgow University (สกอตแลนด์) และที่สุดท้ายคือ Erasmus University Rotterdam (เนเธอร์แลนด์) ตัดสินใจยากมากเพราะทุกแห่งมีชื่อเสียงในโปรแกรมที่สมัคร และเป็นประเทศที่อยากไปทั้งหมด สุดท้ายก็เคาะสาขา Economic of Development หรือเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่ ISS Erasmus University Rotterdam ณ เนเธอร์แลนด์ เพราะโครงสร้างหลักสูตรน่าสนใจ มีชื่อเสียงด้านที่เราจะเรียน และใช้เวลาเรียนแค่ 15 เดือนกำลังดี

ตัวอย่างวิชาเฉพาะที่น่าสนใจในสาขา ECD

  •  Econometric Analysis of Development Policies – การวิเคราะห์นโยบายด้านการพัฒนาเชิงปริมาณ โดยใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล
  • Evaluation of Development Policy, Programmes and Projects – เกี่ยวกับการประเมินโครงการต่างๆ โดยเฉพาะในสายการการพัฒนาที่จะต้องมีการนำเสนอโครงการให้ผู้บริจาคเงินพิจารณาก่อนอนุมัติให้ดำเนินโครงการ
  • Growth, Inequality and Poverty – ว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดทั้งความมั่งคั่ง ในขณะเดียวกันก็เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น และอาจทำให้คนที่จนอยู่แล้วจนเข้าไปอีก

อ่านต่อฉบับละเอียด >>  https://prangwjourney.wordpress.com/2021/08/09/แนะนำป-โท-development-studies/ 

ข้อมูลอ้างอิง

  • เตรียมตัวสมัครเรียนต่อป.โท อย่างไร ให้ไม่พลาดทุกขั้นตอน
    https://bit.ly/2XPy5dH
  • ประสบการณ์ขอทุน ก.พ. 
    https://bit.ly/3jkNqvn

เป็นเด็กก.พ.ระบบใหม่ (ทดลองรุ่นแรก)
ต้องทำงานราชการ 1 ปีก่อนไปเรียน

จุดประสงค์คือต้องการให้เราเห็นบริบทงาน จะได้ไม่ culture shock แล้วเราจะได้วางแผนการเรียนเพื่อให้นำความรู้กลับมาพัฒนาองค์กรได้ตรงจุดด้วย โดยที่ระหว่างเรียนจะยังได้เงินเดือนและสวัสดิการ และทางสังกัดก็จะเซฟตำแหน่งของเราให้ด้วย (สถานะของเราคือลาเรียน)

และเนื่องจากจังหวะเปิดรับสมัครของมหาลัยประกอบกับโควิด ก็ทำให้เราได้ทำงานราชการยิงยาวมา 3 ปีเต็มเลยค่ะ เราไม่ได้เป็นแผนกตรวจสอบ แต่เป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน สังกัดกลุ่มวิชาการต่างประเทศ (เรียกย่อว่า สตป.) เนื้องานคือการอยู่เบื้องหลังเพื่อพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบงบประมาณภาครัฐ (Public Audit) ซึ่ง สตง.เป็นแห่งเดียวที่มีอำนาจตรวจสอบได้ 

สารภาพว่าก่อนหน้านั้นทัศนคติต่องานราชการเราไม่ค่อยดี เข้าใจว่าต้องเนือยๆ เสมอไป เพราะเราก็สมัครทุน ก.พ.เพราะอยากไปเรียนต่างประเทศเฉยๆ แต่ปรากฏว่าพอทำงานจริงแล้วผิดคาดมากกกก ขอย้ำว่านี่คือประสบการณ์ส่วนตัวของเราเท่านั้นนะคะ เราโชคดีที่เข้ามาอยู่ในสำนัก สตป.ที่รายล้อมด้วยคนเก่งๆ หัวหน้างานเก่งและทัศนคติดี มี growth mindset เค้าคอยซัพพอร์ตเราทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียนจริงๆ

ใน 3 ปีทีผ่่านมา ได้ทำอะไรบ้าง?

เรามีโอกาสได้ทำงานทั้งนักวิจัย พิธีกร โมเดอเรเตอร์การนำเสนอ นักเขียนบทความวิชาการ (bulletin) จัดเสวนาวิชาการต่างประเทศ ทำพอดแคสต์ เผยแพร่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ นี่เป็นเพียงตัวอย่างงานหลักที่ต้องทำทุกไตรมาส 

และเนื่องจากทุกประเทศจะมี สตง.ของตัวเอง และจะมาเรียนรู้ร่วมกันเป็น Global Community ทำให้บางครั้งเราจะได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการตรวจสอบภาครัฐ (ร่วมมือจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เซ็นสัญญา MoU ถ่ายรูปแล้วจบ) มีการนำผลงานการตรวจสอบไปพรีเซนต์ที่ต่างประเทศ แล้วก็จะได้นำองค์ความรู้จากประเทศอื่นกลับมาพัฒนาด้วย บางทีหัวหน้าก็จับโยนงานมาให้เราชาเลนจ์ เราก็หาทางพัฒนาจนได้จริงๆ รู้สึกปลดล็อกมาก

และหลังเริ่มงานราชการได้ไม่นาน เราได้ไปทำภารกิจที่ต่างประเทศ 4 ครั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประเทศคูเวต 2 รอบ และฟิลิปปินส์ **คำแนะนำคือไม่ว่าจะอยู่หน่วยไหนแล้วอยากไปทำงาน ควรฝึกภาษาอังกฤษไว้เยอะๆ ให้เก่ง เพราะราชการจะมีงบทำงานกับต่างประเทศอยู่แล้ว และจะเปิดรับข้าราชการข้างในไปเป็นตัวแทนด้วย ดังนั้นต้องสปีดตัวเองให้มีคุณสมบัติพร้อมที่สุด ถ้ามีโครงการอะไรจะได้ไปสอบวัดระดับเพื่อใช้ได้ทันที ภาษาจะให้โอกาสเราได้มีส่วนร่วมในงานสำคัญๆ ได้ค่ะ

รีวิวทำงานราชการในต่างแดน
EP1 : UAE กับโครงการวิจัยนานาชาติ

หมายเหตุ: ในนี้เราจะใช้คำว่า SAI (Supreme Audit Institutions) แทน สตง. หรือ องค์กรตรวจเงินแผ่นดินของประเทศ มีหน้าที่เหมือนกันคือตรวจสอบงบประมาณภาครัฐ

 

ตอนนั้นมีเครียดเพราะเป็นงานแรก กลัวจะทำประเทศเสียชื่อมั้ย 555555 งานแรกที่ไปคือร่วมโครงการวิจัยขององค์การตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย หรือ ASOSAI (Asian Organization of Supreme Audit Institution) มีสมาชิกประเทศในเอเชียมาเข้าร่วม 12 ประเทศ และหัวหน้าโครงการครั้งนี้คือ SAE UAE การประชุมครั้งแรกเลยต้องไป UAE เพื่อแบ่งหน้าที่กัน ส่วนหัวข้อวิจัยครั้งนี้คือ “การนำ Big data เข้ามาใช้ในการตรวจสอบ SDGs" อธิบายง่ายๆ คือทั่วโลกจะมีการตรวจสอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของรัฐ (SDGs) ว่าจะบรรลุเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่

บทเรียนการไปประชุมต่างประเทศที่ดูธรรมดาๆ ครั้งนี้เปิดโลกเราแบบไม่ธรรมดาเลย เราได้เห็นความเป็นมืออาชีพจริงๆ คนที่เข้าร่วมประชุมคือข้าราชการของแต่ละประเทศที่เป็นผู้ตรวจสอบเหมือนกัน เวลาแชร์คือแชร์จริง พักก็คุยเล่นได้ แบ่งเวลาได้ดี และที่สำคัญคือเค้าไม่ตัดสินเรา ไม่โฟกัสว่าเรามาจากประเทศไหน มีเงินมั้ย สไลด์สวยรึเปล่า สำเนียงเป๊ะเวอร์มั้ย ขอแค่แต่งตัวเหมาะสมในวันพรีเซนต์ เนื้อหาน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อยอดได้แค่นั้นจบ เราว่าแก่นการทำงานจริงๆ คือการทำงานที่ไม่ต้องเสียเวลา 50% กับการนั่งทำสไลด์ จะเขียนใส่กระดาษมายังได้เลย ไม่ต้องยึดติดระเบียบแบบแผนจน mislead ประเด็นสำคัญๆ

(ซ้าย) SAI UAE in Abu Dhab / (ขวา) ภายใน SAI UAE
(ซ้าย) SAI UAE in Abu Dhab / (ขวา) ภายใน SAI UAE 

รีวิวทำงานราชการในต่างแดน
EP2 : ‘คูเวต’ มีดีกว่ารวยน้ำมัน

คราวนี้เราได้รับมอบหมายให้ไปทำภารกิจที่กรุงคูเวตซิตี้ ประเทศคูเวต (Kuwait) ได้เยือนตะวันออกกลางอีกแล้ววว คราวนี้คือการมาขอความร่วมมือทางวิชาการกับ สตง.คูเวตในประเด็นที่สนใจ แล้วจะเซ็น MoU กัน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ 2 ฝ่ายมาร่วมด้วย

หลังจากบินมาถึงสนามบินแห่งชาติคูเวต โอ้ว หน้าเกือบไหม้ มันเกือบ 45 องศาได้เพราะส่วนใหญ่คือทะเลทราย  จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่มารับไปถึง สตง.คูเวต เราประทับใจตึกเค้ามากกกค่ะ เหมือน glass house ให้แสงธรรมชาติลอดเข้ามา ทำเพดานสูงโปร่ง มีมุมพักผ่อนเก๋ๆ (คืออยากมาทำงานทุกวันอ่ะแบบนี้) ซึ่งที่นี่เลิกงานตั้งแต่บ่าย 2-3 เพราะอากาศร้อนเลยให้คนกลับบ้านไปนอน 5555 จากนั้นก็เข้าพักในโรงแรมที่เค้าจองให้อย่างหรู ครั้งนี้ สตง.คูเวตจ่ายให้เกือบหมดเลยค่ะ เพราะถือเป็นแขก VIP และเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เหมือนเป็นธรรมเนียมทางการทูตอย่างหนึ่ง

ก่อนจะถึงวันลงนาม MoU เราต้องนำเสนอเนื้อหาที่จะให้ความช่วยเหลือทางเขา แล้วทางนั้นก็จะเสนอเนื้อหาที่ช่วยเราได้เช่นกัน ซึ่งต้องทำการบ้านหนักเลย เช่น สตง.คูเวตเด่นด้านไหน ลักษณะโครงสร้างองค์กร ผู้คนและวัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อดูวิธีเข้าหาและคิดหาว่าพอจะช่วยอุดช่องว่างตรงไหนได้บ้าง เป็นการวางกลยุทธเพื่อสร้างสัมพันธ์ พอตกดึก สตง.คูเวตก็ให้เกียรติเลี้ยงอาหารเย็นแบบทางการ เราเลยได้ลองชิมอาหารแขกแบบต้นตำรับเลยค่ะ ตื่นเต้นและเกร็งมากเพราะทุกอย่างดูยิ่งใหญ่ระดับประเทศไปหมด

ทำงานร่วมกับข้าราชการ สตง.คูเวต
ทำงานร่วมกับข้าราชการ สตง.คูเวต
ทำงานร่วมกับข้าราชการ สตง.คูเวต
ทำงานร่วมกับข้าราชการ สตง.คูเวต

หลังเลิกงานเรายังได้เยี่ยมชมเมืองคูเวตด้วย ได้ไปคูเวตทาวเวอร์ที่เป็นหอคอยสูงที่สุดในเมือง นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์น้ำมันดิบ โบสถ์อิสลาม และห้าง The Avenue คือไฮไลต์มากกก ตอนแรกเราเคยคุยกับเพื่อนคูเวตนะว่าไทยมีห้างสวยเยอะ แต่พอมาเจอห้างเค้าเรานี่เงียบเลย เพราะมันอลังการงานสร้าง เหมือน glass house ที่เปิดแอร์ตลอดเวลา (ห้ามปิด เพราะอุณหภูมิข้างนอกจะร้อนจนอาจทำให้แอร์พังถ้าเปิดใหม่) คือที่นี่มีแต่ห้างร้านหรูๆ คนที่เดินก็ดูรวยทุกคน

และปิดท้ายทริปที่พีคที่สุดในชีวิต ขากลับกลับแบบ VIP อีกเช่นเคย สตง.คูเวตมาส่งที่สนามบิน เค้าบอกว่าประทับใจในการทำงานกับ สตง.ไทยครั้งนี้ และยินดีช่วยเหลือเพื่อยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบของทั้งคู่ นับว่าทั้งเหนื่อยและคุ้ม เป็นประสบการณ์ที่เราจะไม่ลืมแน่นอนค่ะ 

#สาระคูเวต ตอนนั้นเรามีโอกาสได้คุยกับท่านทูตไทยด้วยนะคะ ท่านเล่าว่าคูเวตไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แต่ประเทศนี้ดังเรื่องน้ำมันมากๆ แบบเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเลย แม้จะเคยเป็นประเทศยากจนมาก่อน แต่กลับพลิกเป็นความมั่งคั่งได้หลังขุดพบบ่อน้ำมันในประเทศตัวเอง // ข้าราชการที่นั่นเงินเดือนไม่ต่างจากที่อื่น และคนคูเวตไม่ต้องจ่ายภาษีเลยก็ยังได้ เพราะรัฐบาลมีรายได้จากการขายน้ำมันอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่คือรวยมากๆๆๆ

หอคอยคูเวต และห้าง the Avenue
หอคอยคูเวต และห้าง the Avenue
ทะเลอาหรับ
ทะเลอาหรับ

รีวิวทำงานราชการในต่างแดน
EP3 : ฟิลิปปินส์ (ประวัติศาสตร์น่าสนใจมาก)

รอบนี้เราได้เป็นตัวแทน 1 ใน 3 จากทีม สตง.ไทย เดินทางมานำเสนองานวิชาการในการประชุมนานาชาติ 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย De La Salle กลางกรุงมะนิลา ซึ่งเป็นมหาลัยดังของที่นั่นเลยค่ะ ส่วนหัวข้อครั้งนี้คือ “Why government auditor should concern SDGs: Experiences from SAI of the Kingdom of Thailand” ประมาณว่า สตง.ไทยมีบทบาทในการตรวจสอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรบ้าง งานจะแบ่งเป็น 3 วัน คิวนำเสนอของเราอยู่วันสุดท้ายเลย โดยจะมีแยกห้องนำเสนอตามธีมและเราเลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจ 

งานประชุมนานาชาติ AAPA
งานประชุมนานาชาติ AAPA
งานประชุมนานาชาติ AAPA
งานประชุมนานาชาติ AAPA

ครั้งนั้นเราประทับใจการประชุมมากกเพราะได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาป.เอกและอาจารย์มหาลัยจากภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม ฯลฯ คือเป็น Asian Empowerment มาก โดยในงานจะมี keynote speaker มาพูดประเด็นที่น่าสนใจ งานวิจัยของเค้า และแนะนำโปรแกรมเรียนต่างๆ (มีอาจารย์จากธรรมศาสตร์มาพูดด้วย) เราว่าสนุกและและเป็นการเปิดมุมมองครั้งใหญ่ 

(ในนี้เจ้าของเรื่องเล่าสิ่งที่ประทับใจและไม่ประทับใจจากที่ฟิลิปปินส์ไว้ละเอียดเลยค่ะ >> https://prangwjourney.wordpress.com/2021/08/02/ประสบการณทำงานราชการตา-3)

นำเสนองาน
นำเสนองาน
นำเสนองาน
นำเสนองาน
Fort Santiago
Fort Santiago
Fort Santiago
Fort Santiago

รีวิวทำงานราชการในต่างแดน
EP4 : คูเวตอีกครั้ง สตง.ไทยก้าวสู่ Governing Board

รอบนี้อากาศร้อนกว่าครั้งแรกที่มา อุณหภูมิประมาณเกือบ 50 องศา หน้าไหม้ของจริง!! พอเดินทางถึงสนามบินก็มีเจ้าหน้าที่จาก สตง.คูเวตมารับแล้วพาไปห้องรับรอง VIP อีกเช่นเคย  คราวนี้เป็นการเลือกตั้งคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board) ครั้งที่ 54 เพื่อเป็นคณะบริหารของ สตง.ระดับโลก โดยงานจะจัดขึ้นที่ประเทศคูเวต (เป็นเจ้าภาพ) เราเลยได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง และครั้งนี้จะมาลงนาม MoU จากที่เคยเจรจาไปครั้งก่อน

งานเลือกตั้ง Governing board ณ คูเวต
งานเลือกตั้ง Governing board ณ คูเวต
บรรยากาศลงนาม MoU กับ สตง.คูเวต
บรรยากาศลงนาม MoU กับ สตง.คูเวต

ครั้งนี้เรามาคูเวต 5 วัน และโหวตวันสุดท้ายแบบ Blind Vote ก็คือสมาชิก ASOSAI จะไม่รู้ว่าใครโหวตใครบ้าง ประเด็นคือมีสตง.ที่เข้ารับการโหวต 4 แห่งคือ สตง.ญี่ปุ่น, เกาหลี, เวียดนาม และไทย ถ้าเข้ารอบจริงจะเป็นการยกระดับสู่สากล และทำให้หลายประเทศทั่วโลกรู้จักเรามากขึ้น ท่านผู้ว่าฯ ก็บอกว่าเราต้องได้!!  ก่อนจะถึงวันโหวตเราต้องเตรียมตัวหาเสียงเราก็ต้องงัดทุกกลยุทธ์มาใช้ ต้องหาข้อมูลกันหนักหน่วงเลยว่าจะสร้างความร่วมมือกับ สตง.เหล่านั้นอย่างไร ไม่ใช่แค่พิจารณาจากด้านการตรวจสอบ แต่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

ในช่วงเวลาพักผ่อนทางทีม สตง.ไทยก็จะประชุมตลอดแบ่งงานว่าจะขอเจรจากับ สตง.ใดบ้างที่ดูมี potential ว่าจะเลือกเราภายในเวลาที่จำกัด รอบนี้ประทับใจมากที่ได้ทำงานหลากหลาย ทั้งเข้าร่วมเจรจา นำเสนอกิจกรรมต่อหน้าผู้ว่า สตง.ที่เราไปขอเสียง ซึ่งเค้าคือผู้นำสูงสุดขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินของแต่ละประเทศ มีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ทำให้เราตั้งใจซ้อมพูดจริงจังมาก

ห้องรับรอง vip ที่สนามบินคูเวต
ห้องรับรอง vip ที่สนามบินคูเวต
(ซ้าย) สตง.เนปาล / (ขวา) สตง.เกาหลี
(ซ้าย) สตง.เนปาล / (ขวา) สตง.เกาหลี
 การเจราจานอกรอบกับ สตง.ต่างๆ ก่อนถึงวันโหวตจริง

ระหว่างนั้น สตง.คูเวตก็รับรองแขกทุกคนอย่างดีบนเรือสำราญ (ที่จอดนิ่งๆ5555) พาไปเยี่ยมชมโรงหนัง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ฯลฯ แต่นี่ไม่ใช่แค่การพักผ่อน เพราะเราจะได้เห็นลักษณะนิสัยของคนชาติต่างๆ เช่น เราเดินหลงไปกับกลุ่มสตง.จีน (สงสัยหน้าคล้ายกัน) ได้เห็นว่าผู้ว่าของเค้าที่คนเรียกกันว่า ‘มาดามหู’ เค้าตั้งใจฟังไกด์มากๆ ดูพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา นอกจากนี้เรายังได้ไปเยี่ยมบ้านท่านทูตไทยประจำประเทศคูเวต แล้วเค้าให้เกียรติเลี้ยงมื้อค่ำ ทำให้ได้กินอาหารไทยในรอบหลายวันเลยค่ะ 

(จากซ้าย) เรือสำราญ / ถ่ายกับมาดามหู / ณ บ้านท่านทูตไทย
(จากซ้าย) เรือสำราญ / ถ่ายกับมาดามหู / ณ บ้านท่านทูตไทย

และแล้วก็มาถึงวันเลือกตั้ง Governing Board!

ตื่นเต้นมากกกกก ยิ่งใหญ่ยังกับนั่งประชุมใน UN มีตู้ล่ามจากหลายภาษา พอถึงตอนใกล้โหวตจริงคือเรานั่งกันแทบไม่ติดเลยค่ะ แล้วปรากฏว่าสตง.ที่เข้ารอบได้แก่ สตง.ญี่ปุ่น (ตามคาด) และ OMG!!! สตง.ไทย!!! ขนลุกเลยอะเฮ้ยยยย กล้องทุกตัวแพนมาที่ท่านผู้ว่าฯ ที่ยืนขอบคุณทุกคน เราดีใจมากกเพราะเหนื่อยสะสมมาเป็นครึ่งปี ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน TT ในที่สุดพวกเราก็พา สตง.ไทยไปยืนในเวทีโลกได้สำเร็จ 

บรรยากาศวันโหวตจริง Governing board
บรรยากาศวันโหวตจริง Governing board

นี่เลยเป็นบทเรียนว่าเราควรจะยึดเป้าหมายแล้วลงมือทำให้เต็มที่ก่อนจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ลงมือทำคงเอาชนะไม่ได้แน่นอน...

แหล่งข่าวจากกระทรวงต่างประเทศhttps://www.mfa.go.th/en/content/5d5bd29a15e39c306002a076?cate=5d5bcb4e15e39c3060006844

..............

สรุปงานราชการ
ทำให้เราเรียนรู้อะไรบ้าง?

เรารู้สึกโชคดีที่ตัวเองได้มาเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนไปเรียนต่อ ทั้งทักษะการเขียนภาษาไทย อังกฤษ การสื่อสารทางการ/ไม่ทางการ การทำวิจัย การทำงานเป็นทีม การวางแผนกลยุทธ์ การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานแบบยืดหยุ่น การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ รวมถึงฝึกความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น ระบบที่อาจจะเชื่องช้าหรืองานเอกสารกองมหึมา และติดต่อกับคนที่คิดต่างกับเราทั้งกับคนระดับเดียวกัน ต่างระดับ หรือแม้แต่ต่างชาติ ซึ่งสำคัญมากๆ ต่อการเรียนและทำงานในอนาคต

แน่นอนว่าเราต้องเจอบางมุมที่ปรี๊ดแตกว่าฉันมาทำอะไรที่นี่วะะะะะ เช่น บางปัจจัยที่ทำให้งานไปได้แบบเชื่องช้า ระบบวิธีคิดของบางคนที่ไม่ได้เอื้อให้เราทำงานได้เต็มที่ และบางคนที่ไม่แอคทีฟเท่าไหร่เพราะไม่ต้องแข่งขันกับใคร ฯลฯ เราพยายาม ignore และลงมือทำสิ่งที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นช้าๆ แน่นอนถ้าลงมือทำด้วยความหวังดีต่อองค์กร

ดังนั้นแล้วถ้าใครสนใจอยากลองสัมผัสงานราชการ เราอยากให้ตั้งต้นจากผลประโยชน์ของสังคมก่อนตัวเอง อย่าคิดแค่ว่าได้สวัสดิการดี เบิกค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่ได้ งานมั่นคง มีเวลาพักผ่อน เพราะความคิดเหล่านี้แหละจะส่งผลเสียต่อองค์กร เราควรคิดว่าจะทำอะไรตอบแทนประชาชน(ลูกค้าของเรา)ได้บ้าง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ ขอแค่คุณมีความสามารถ พัฒนาตัวเองเสมอ และมาด้วยความคิดจะทำเพื่อสังคม เราเชื่อว่าคุณจะเป็นข้าราชการที่ดีได้แน่นอน 

ตามไปอ่าน Blog บันทึกทุกพาร์ตที่นี่

..............

และสำหรับตอนนี้
ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ได้เริ่มขึ้นแล้ว!

เราบินไปเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ที่ Amsterdam ด้วยสายการบิน KLM Royal Dutch Airline ซึ่งต้องมีเอกสารประกอบการบิน ได้แก่ 

  • Health Declaration รับรองตัวเองว่าสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย โหลดมากรอกเองได้เลย
  • Quarantine Declaration รับรองตัวเองว่าจะกักตัวครบ 10 วัน/ ครบ 5 วัน โดยหากวันที่ 5 ตรวจโควิดอีกรอบแล้วผลเป็นลบก็ไม่ต้องกักต่อให้ครบ

เหตุผลที่ใบรับรองซับซ้อนขึ้น เพราะไทยถูกยกระดับโดยรัฐบาลดัชต์ จาก High มาเป็น Very high risk country นั่นเอง เราต้องเตรียมเอกสารเองหมด เซ็นสัญญาลาเรียนกับที่ทำงานให้เรียบร้อย จัดกระเป๋า และเตรียมตัวออกเดินทาง นี่คือการมาเรียนต่างประเทศโดยไม่มีเพื่อนคนไทยไปด้วยเลยค่ะ!

แสงแรกก่อนถึง Amsterdam
แสงแรกก่อนถึง Amsterdam

ตอนไปเอากุญแจหอพักห้องตัวเองจาก ISS Office ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้ซิมการ์ดกับถึง welcome set ที่ในนั้นมีของใช้จำเป็นกับขนมต่างๆ และหลังจากจัดของเสร็จนั่งพักในห้อง แล้วก็มีเจ้าหน้าที่เรียกให้ลงเอาไปถุงยังชีพเพิ่มอีก เป็นอาหารสดที่เค้าสนับสนุนให้ฟรีสำหรับนักศึกษาที่ต้องกักตัว 10 วันหลังเดินทางมาถึง นี่คือบริการทุกระดับประทับใจมากจริงๆ ค่ะ

นั่งรถเมล์จากสถานีรถไฟ Den Haag
นั่งรถเมล์จากสถานีรถไฟ Den Haag
หน้าตึก ISS ของจริง  / เอากุญแจห้องพักที่ ISS office
หน้าตึก ISS ของจริง  / เอากุญแจห้องพักที่ ISS office
ถุงยังชีพฟรีสำหรับกักตัว / welcome set / อุปกรณ์ครัวต่างๆ
ถุงยังชีพฟรีสำหรับกักตัว / welcome set / อุปกรณ์ครัวต่างๆ

ตอนนี้เราบอกกับตัวเองว่า “การผจญภัยคนเดียวกำลังจะเริ่มแล้ว เตรียมรับมือไว้ให้ดี ทำให้ดีที่สุดในแบบตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร’ เราจัดห้องจนรู้สึกรักเหมือนบ้าน จะได้อยู่อย่างอบอุ่นตลอดปีกว่าๆ เพราะที่พักคือสิ่งสำคัญสำหรับเรามากๆ”

จัดห้องเสร็จแล้ว รักเหมือนบ้าน :)
จัดห้องเสร็จแล้ว รักเหมือนบ้าน :)
อ่าน  Part  I : แลกเปลี่ยน ณ ออสเตรีย

ชวนอ่านต่อ!!

 

- อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ไม่มั่นใจภาษาอังกฤษ ทำไงดี?

- "ทำงานก่อน vs. เรียนต่อ ป.โท ทันที" แบบไหนดีกว่ากัน?

- เป็นฟรีแลนซ์ใน Fastwork ยังไงให้ได้เงินจากสิ่งที่ชอบ?

- ประสบการณ์วันก่อนบินจนถึง Day 1 ที่เนเธอร์แลนด์เป็นยังไงนะ?

- ตัดสินใจเรียนต่อจากปัจจัยอะไรบ้าง?

- และเรื่องน่าสนใจอีกเพียบที่ https://prangwjourney.wordpress.com/ 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น