คุยกับนักเรียนทุนป.เอกที่เกาหลี (POSCO, Woojung, KF) แชร์ทริคเขียนเรียงความ & เรื่องวัฒนธรรมที่ต้องปรับตัว!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ต้องบอกว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับวิจัยมากก และหลายมหาวิทยาลัยก็มีทุนสนับสนุนนักเรียนต่างชาติให้เข้าไปเรียนรู้และ explore ความรู้ในแวดวงต่างๆ เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เรียนและประเทศเกาหลีเลยค่ะ วันนี้เราเลยมีบทสัมภาษณ์กระชับฉบับนักศึกษาปริญญาของมหาวิทยาลัยหญิงล้วนที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเกาหลีอย่าง ม.สตรีอีฮวา (Ewha Womans University) ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาเกาหลีที่ มศว  ด้วย

ในนี้จะมีเล่าตั้งแต่การขอทุน ชีวิตนักศึกษาป.เอก รวมถึงวัฒนธรรมเกาหลีที่ต้องเรียนรู้และปรับตัว ตามมาอ่านกันเลยค่ะ :)

รู้จักกันก่อน

สวัสดีค่ะ ชื่อ ‘พี่นก — กนกกร ตัลยารักษ์’ เรียนจบ ป.ตรี วิชาเอกภาษาเกาหลี ได้ทุน Korean Foundation (KF) เรียนต่อ ป.โท สาขาการสอนภาษาเกาหลีในฐานะภาษาต่างประเทศ 

ส่วนปัจจุบันนี้เป็น นักเรียนทุน POSCO Asia Fellowship, ทุน Woojung และทุน KF (ทุนสนับสนุนการทำวิจัย) เรียน ป.เอก สาขาเดียวกันที่ ม.สตรีอีฮวา The Graduate School of International Studies ของ Ewha Womans University (Ewha GSIS) และเป็นอาจารย์สอนภาษาเกาหลีอยู่ที่ มศว ด้วยค่ะ

แชร์จุดเด่นของ Ewha GSIS
หลากหลาย & ทุนเพียบ!

เล่าก่อนว่าที่ ม.อีฮวาจะมีสภาพแวดล้อมที่เน้นทั้งเรียนและกิจกรรมครบ และมีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า 70 ประเทศมาเรียนที่นี่ มีโอกาสให้เราไปฝึกงานในและต่างประเทศ เช่น พี่เรียนเอกการสอนภาษาเกาหลีในฐานะภาษาต่างประเทศ เค้าก็จะมีวิชาที่ให้เราฝึกสอนทั้งในและต่างประเทศเหมือนกัน 

แล้วถ้าใครอยากเรียนต่อที่นี่ ข้อดีคือเป็นอีกมหาวิทยาลัยที่มีทุนเยอะมากกก ทั้งจาก Ewha GSIS เองที่อาจให้เป็นทุนหรือให้ทำงานเป็นผู้ช่วยสอนหรือวิจัย นอกจากนี้ยังมีทุนจากองค์กรต่างๆ นอกมหาวิทยาลัยด้วย 

ตรวจสอบข้อมูลทุน Ewha GSIS

ตัวอย่างทุนที่พี่ได้ เช่น POSCO Asia Fellowship จาก POSCO Asia TJ Park Foundation ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนธุรกิจใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัย Ewha GSIS ที่มีนโยบายส่งเสริมนักศึกษาเอเชียสู่สากลให้เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับในเกาหลีใต้ ครอบคลุมค่าเรียน ป.โท หรือ ป.เอกจำนวน 4 ภาคเรียน (ระยะเวลา 24 เดือน) + สนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนตัวประมาณ 1 ล้านวอนต่อเดือน

หรืออย่างทุนมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรม Woojung ที่สนับสนุนเป็นเงินก้อนให้เทอมละ 1 ครั้งมาบริหารเอง เท่ากับให้ทุกๆ 4 เดือน ครั้งละ 4,000,000 วอน (~113,000 บาท, อ้างอิงเรตเงินเมื่อ ต.ค.64) เงื่อนไขการรับทุนและโควตาในแต่ละปีจะต่างกัน ถ้าเป็นปีพี่จะมี โควตา 4 ทุน จากประสบการณ์คือทางสถานทูตจะคัดเลือกก่อนเบื้องต้น จากนั้นจะส่งรายชื่อให้องค์กรที่สนับสนุนทุนนี้ค่ะ

สำหรับทุน Woojung สามารถติดตามข่าวการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล  ช่วงเปิดรับและส่งเอกสารจะอยู่ช่วง 15-30 วัน ราวๆ เดือนมกราคมและกรกฎาคมของทุกปี 

ข้อมูลในระเบียบการรับสมัครทุน Woojung  รอบล่าสุดที่หมดเขตเมื่อ 28 กรกฎาคม 2564 

(อ้างอิง: https://bit.ly/3kmnEar)

 คุณสมบัติผู้สมัครขอรับทุนของประเทศไทย 

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างน้อย 1 เทอม และจะศึกษาในสถาบันการศึกษาในสาธารณรัฐเกาหลีครบ 4 ปี
  • ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 หรือเกรด B ขึ้นไป หรือประสบปัญหาด้านการเงิน
  • มีความประพฤติเรียบร้อย
  • ไม่อยู่ระหว่างรับทุนการศึกษาของรัฐบาล หรือทุนการศึกษาอื่น ๆ

ใบสมัครและเอกสารประกอบที่ต้องยื่น

  • ใบสมัคร
  • หนังสือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรือคณบดี (ภาษาอังกฤษ หรือเกาหลี)
  • Certificate of Admission. (ตามตัวอย่าง)
  • Certificate of Enrollment (ต้นฉบับ)
  • ระเบียนแสดงผลการศึกษา (Transcript) (ต้นฉบับ - โปรดอ่านรายละเอียดตามแบบฟอร์ม)
  • เอกสารแนะนำตัว (Self-Introduction – ภาษาอังกฤษและเกาหลี ไม่เกิน 1 หน้า)
  • แผนการเรียนสำหรับภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2021 (Study Plan - ภาษาอังกฤษและเกาหลี ไม่เกิน 1 หน้า)
  • สำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก

แชร์วิธีเขียน Study Plan 
สมัครทุน/สมัครเรียน

เรียงความเป็นเรื่องที่ทุกคนมักกังวลว่าจะเขียนยังไงให้น่าสนใจดี พี่เลยลองมาแชร์วิธีที่เคยใช้ตอนขอทุนเรียนต่อเกาหลีหลายๆ ทุน เผื่อเป็นตัวเลือกหรือแนวทางให้น้องๆ ที่กำลังจะเขียนเรียงความนะคะ 

#1 คนอ่านไม่รู้จักเรา เขียนให้เค้ารู้จักเรามากที่สุด

  • เช่น เพิ่มความน่าสนใจให้ประวัติของเราโดยการนำเสนอความสนใจหรือความสามารถพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากด้านวิชาการ และควรยกเหตุผลประกอบว่าทำไมสนใจ และสิ่งนั้นเหมาะกับเราอย่างไรบ้าง
  • หากเล่าประสบการณ์ ควรอธิบายเพิ่มว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากช่วงเวลานั้น
  • หากเราอยากพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของตัวเอง ก็ควรใส่วิธีแก้หรือวิธีจัดการกับปัญหาส่วนนั้นๆ ด้วย

#2 เขียนให้กระชับแต่ได้ใจความ 

  • อาจใช้การร่างกำหนดหัวข้อคร่าวๆ ในแต่ละย่อหน้าว่าจะเขียนเนื้อหาอะไรลงไปบ้าง  แล้วเชื่อมประโยคให้ความต่อเนื่อง ความยาวโดยรวมในการเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง คิดว่าน่าจะมีความยาวที่ 1 หน้ากระดาษ A4
  • หากทุนมีกำหนดแบบฟอร์มมาให้อยู่แล้ว ต้องเขียนตอบตามแบบฟอร์มนั้นให้ครบประเด็น

#3 ตรวจทานคำผิด ย่อหน้า และการเว้นวรรคตอน

ลองอ่านทบทวนก่อนส่งเอกสารจนกว่าจะมั่นใจว่าเราเขียนชัดเจนและได้ใจความ ไม่เผลอใช้คำคลุมเครือหรือเนื้อหาซ้ำซ้อนกัน เพราะจะบ่งบอกถึงความใส่ใจของผู้เขียน

ว่าด้วยการเรียน การทำวิจัย
และ “ระบบอาวุโส” ในสังคมเกาหลี

เล่าภาพรวมการเรียนป.เอก

พี่เลือกเรียนด้านการสอนภาษาเกาหลีในฐานะภาษาต่างประเทศเพราะต้องการนำมาปรับใช้กับงานสอนในปัจจุบัน ถึงเอกนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ The Graduate School of International Studies แต่จะมีทั้งรายวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และวิชาคณะส่วนใหญ่ใช้ภาษาเกาหลีเป็นหลัก รวมถึงการวิจัยที่ต้องทำเป็นภาษาเกาหลีด้วยค่ะ

หลักๆ การเรียนในระดับป.เอก จะเน้นวิจัยเป็นหลัก ดังนั้นอาจารย์แต่ละรายวิชาจะเน้นให้ทำวิจัยส่งแทนการสอบปลายภาค ซึ่งการทำวิจัยจะแบ่งเป็นเดี่ยวและกลุ่ม ให้เราเลือกหัวข้อและรูปแบบได้ตามตวามสนใจเลยค่ะ ส่วนอาจารย์ผู้สอนจะคอยให้คำแนะนำและเติมองค์ความรู้ของนักศึกษาให้ครอบคลุมหัวข้อวิจัยนั้นๆ ถ้าวิชาไหนมีทั้งนักศึกษาป.โทและเอกเรียนด้วยกัน อาจารย์จะให้จับกลุ่มให้คละเพื่อช่วยกันแนะแนววิธีทำวิจัย, การค้นหาข้อมูล รวมถึงการอ่านเอกสารอ้างอิงต่างๆ

พี่คิดว่าเกาหลีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยมาก เพราะเค้ามองว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของทุกส่วนในประเทศ อย่างสถาบันการเงินก็จะมีนโยบายการลงทุน-เงินออมต่างๆ หรือบริษัทใหญ่ต่างมีสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ หรืออย่างสถาบันการศึกษาเราจะเห็นได้จากการทำวิจัยแต่ละศาสตร์ รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิบัตรที่ได้จากการค้นคว้า

**แนะนำว่าถ้าใครอยากค้นคว้างานวิจัย สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย และ www.riss.co.kr ซึ่งเป็นเว็บยอดฮิตที่เขาใช้ค้นคว้างานวิจัยต่างๆ เช่น วิทยานิพนธ์ บทความ รายชื่อหนังสือ ฯลฯ

สิ่งที่ต้องระวัง: คนเกาหลีให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสมาก

จากที่สังเกตตอนเรียนและทำงานพาร์ตไทม์ที่เกาหลี เราจะเห็นว่าคนเกาหลีจะไม่ค่อยใช้สรรพนามเรียกบุคคลที่ไม่สนิทหรือไม่รู้จักกันด้วย “คำเรียกญาติ” เช่น น้อง, พี่, ลุง, ป้า ฯลฯ หรืออย่างตอนทำงาน ถึงมีคนอายุน้อยกว่าที่เข้ามาทำงานก่อนเรา เราก็ต้องให้เกียรติและเคารพเสมือนเป็นรุ่นพี่ 

คำเรียกขานหรือสรรพนามในที่ทำงานก็มักจะเรียกชื่อตำแหน่งไปเลย เช่น 원장님 (วอน-จัง-นิม) แปลว่า ท่านผู้อำนวยการ, 사장님 (ซา-จัง-นิม) แปลว่า คุณผู้จัดการ, 기사님 (คี-ซา-นิม) แปลว่า คุณคนขับรถ ฯลฯ ช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ชิน แต่สักพักจะซึมซับเพราะทุกคนเรียกแบบนี้กันหมด

แต่ถ้าเป็นตอนเรียน เราจะเรียกเพื่อนที่เพิ่งรู้จักหรือยังไม่สนิทด้วยคำว่า  선생님 (ซอน-แซง-นิม) ซึ่งแปลว่า คุณครู เพราะปกติคนเกาหลีจะไม่ได้ใช้คำนี้เรียกแค่ครูที่สอนหนังสือเท่านั้น แต่เรียกบุคคลที่เคารพด้วย ส่วนรุ่นพี่เราจะใช้คำว่า 선배(님) (ซอน-แบ-(นิม) แปลว่า รุ่นพี่ และถ้าสนิทกันมากขึ้นก็สามารถใช้คำว่า 언니 (ออน-นี) แปลว่า พี่สาว (ผู้หญิงเรียก) หรือ 오빠 (โอ-ปา) แปลว่า พี่ชาย (ผู้หญิงเรียก) ได้ค่ะ

แชร์เรื่อง Culture Shock
ถึงเจอแบบนี้บ่อยก็ไม่ชิน

ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงตอนนี้ พี่ก็ยังไม่ชินกับการเคาะประตูห้องน้ำ เช่น ถ้าเข้าห้องน้ำอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็จะมีคุณป้า (อาจุมม่า) มาเคาะประตู ปัง ปัง ปัง! แต่ไม่ได้พูดหรือตะโกนอะไรเลย เราก็ตกใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นมั้ย ต้องทำอะไรบ้าง เราควรทำอะไร จนตัดสินใจเปิดประตูห้องน้ำมาดู ก็กลายเป็นเจอคุณป้ายืนบ่นน่าประตูห้องน้ำว่า “มีคนนี่นา” (เราก็สงสัยว่าประตูล็อกอยู่ แสดงว่าต้องมีคนอยู่ในห้องน้ำสิ)  

แต่พอเข้าห้องน้ำข้างนอกสักพักก็รู้วิธีแล้วค่ะว่าถ้ามีคนเคาะมาแบบนี้ คือการถามว่ามีคนอยู่ในนั้นมั้ย ถ้ามีคนด้านในให้เคาะตอบ ปัง ปัง ปัง! เคาะมาเคาะกลับไม่โกง 5555  แต่ถึงจะรู้จักวัฒนธรรมนี้แล้วว่าคนเกาหลีทำเป็นปกติ พี่ก็ยังตกใจทุกครั้งเลยค่ะ

อย่างไรก็ตาม พี่ประทับใจเรื่องการใช้ชีวิตผ่านบัตร เราสามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจ่ายเงินใช้บริการได้ทุกอย่าง เช่น รถเมล์ รถไฟใต้ดิน รถแท็กซี่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ฯลฯ โดยไม่มีกำหนดขั้นต่ำ เกาหลีเป็น Cashless Society ไม่ต้องพกเงินสดก็ใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากๆ ค่ะ :)

...................

ทิ้งท้าย! แนะนำหลักสูตร
สำหรับ #ทีมเอกเกาหลี

ไหนๆ ก็ได้พูดคุยกับอาจารย์เอกภาษาเกาหลีที่ มศว เราเลยถือโอกาสนี้ชวนพี่นกเล่าเกี่ยวกับหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาภาษาตะวันออก เอกวิชาภาษาเกาหลี สังกัดคณะมนุษยศาสตร์   กันสักนิด

  1. มศว เริ่มเปิดภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นปีแรก (ตอนนี้เข้าปีที่ 16 แล้วค่ะ) ที่สาขาจะมีอาจารย์ประจำเป็นชาวไทย 4 คน (ลาศึกษาต่อ 1 คน) + อาจารย์เกาหลี 1 คน + อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ 1 คน
     
  2. ตอนนี้สาขาภาษาเกาหลีจะคัดเลือกนิสิตโดยคัดเลือก TCAS รอบ Admission โดยใช้คะแนน GAT/PAT ด้วยค่ะ (อ่านต่อ: https://www.dek-d.com/tcas/58197/)
     
  3. สาขาภาษาเกาหลีที่ มศว ประกอบไปด้วยรายวิชาที่เกี่ยวกับหมวดวิชาศึกษาทั่วไปซึ่งเป็นรายวิชาของมหาวิทยาลัย กับหมวดวิชาเฉพาะของหลักสูตรรวมถึงวิชาเกี่ยวกับเกาหลี (วิชาพื้นฐาน วิชาเฉพาะสาขา และวิชาสร้างเสริมประสบการณ์) และหมวดวิชาเลือกเสรี

3.1 รายวิชาพื้นฐาน (วิชาอารยธรรมและภูมิปัญญาตะวันออก วิชาวัฒนธรรมสมัยนิยมในตะวันออก วิชาภาษาและการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และวิชาสถานการณ์ปัจจุบันในเอเชียตะวันออก-วิชาเหล่านี้เรียนรวมกันทั้งหมด 3 วิชาเอกค่ะ) 

3.2 วิชาภาษาอังกฤษ 

3.3 รายวิชาเฉพาะสาขา (รายวิชาที่เกี่ยวกับเกาหลีและภาษาเกาหลี รวม 30 รายวิชา) วิชาเอกหลัก ๆ คือ ภาษาเพื่อการสื่อสาร ไวยากรณ์ ด้านวรรณกรรม ด้านวิชาชีพ (ธุรกิจ ท่องเที่ยว การล่าม การแปล สื่อโสตทัศน์ การสอน ฯลฯ)

3.4 รายวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ (ส่งเสริมให้นิสิตได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม สังคม ฯลฯ รวมถึงส่งเสริมให้นิสิตมีประสบการณ์ในเกาหลีใต้ โดยมีความร่วมมือด้านวิชาการเกาหลี ม.ดังที่เกาหลี ดังนี้ 
 

  • Busan University of Foreign Studies เป็นโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยพูซาน ภาษาและกิจการต่างประเทศ โครงการนี้สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 3 (ให้นิสิตลงทะเบียนเรียนที่ มศว แต่ไปเรียนที่พูซาน ทั้งหมด 2 ภาคการศึกษา) และกลับมาเรียนชั้นปีที่ 4 ที่ มศว
  • Chungbuk National University เป็นโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงบุก (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของมหาวิทยาลัยทำข้อตกลงกันในแต่ละปี มีทั้งแบบ 1-2 ภาคการศึกษา)
  • Hankuk University of Foreign Studies เป็นโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยฮันกุก ภาษาและกิจการต่างประเทศ โครงการนี้สำหรับนิสิตชั้นปีที่ 4 นิสิตไปเรียนที่ ม.ฮันกุกเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา

4. ติดตามข่าวสารหลักสูตรได้ที่เว็บไซต์คณะ https://swucjk.wixsite.com/swucjk และ https://www.facebook.com/swu.cjk  ทางคณะฯ ยังมีโครงการอบรมภาษาตะวันออก (ภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น) สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไปด้วยนะคะ 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด