กว่าจะเป็นแพทย์ในอเมริกา! คุยกับ ‘หมอกวาง’ เรียนเฉพาะทาง Neurosurgery ที่ Yale & คว้าทุน Harvard

สวัสดีค่ะชาว Dek-D อย่างที่ทราบกันดีว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ย่อมมาคู่กับการบริการด้านสุขภาพและสาธารณะสุขที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเบื้องหลังสำคัญก็คือระบบที่พร้อมสนับสนุนบุคลากรทุกฝ่าย และให้ความสำคัญด้านวิจัยอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน 

และวันนี้เราก็มีบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก ‘คุณหมอกวาง — นันทิยา ศุจิจันทรรัตน์’ คนไทยที่ไปเรียนต่อแพทย์ที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่ของหมอกวางสามารถเอาชนะโรคได้สำเร็จ หลังจากได้อาวุธสำคัญคือยาที่ทำวิจัยจากอเมริกานั่นเองค่ะ หลังเรียนจบแพทย์ก็ได้ทำงานแผนกศัลยแพทย์ประสาท พร้อมกับศึกษาเฉพาะทางด้านการผ่าตัดสมองและระบบประสาท (Neurosurgery) ที่ Yale New Haven Hospital ไปด้วย และข่าวดีคือหมอกวางเพิ่งได้รับทุน Fellowship ไปเรียนต่อ Harvard อีก 1 ปี ซึ่งก็คือไปเรียนหลังจบจาก Yale ในปี 2024

ใครกำลังศึกษาเส้นทางการเป็นแพทย์ในอเมริกาห้ามพลาดนะคะ นอกจากเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ แล้ว ยังมีคำแนะนำมาฝากสำหรับน้องๆ ว่าที่หมอที่สนใจเรียนเฉพาะทางด้านนี้ที่อเมริกาด้วยค่ะ

Note: หลักสูตรการแพทย์ของ Yale และ Harvard ครองอันดับต้นๆ ของโลก โดย Yale อยู่อันดับ 8 และ Harvard ขึ้นแท่นอันดับ 1 อ้างอิงจาก QS World University Rankings by Subject 2021: Medicine

ก่อนเป็นนักเรียนแพทย์ในระบบอเมริกา

“ย้อนไปสมัย ม.5 หมอมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา แล้วได้โฮสต์ที่เมืองทัลซา (Tulsa) ซึ่งเป็นเมืองของรัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) ค่ะ พอขึ้น ม.6 ก็สอบเอนทรานซ์ติด Nano-Engineering ที่จุฬาฯ แต่ค้นพบว่าตัวเองอยากหาโอกาสทำวิจัยด้านการแพทย์มากกว่า เพราะทั้งคุณพ่อคุณแม่ของหมอเค้าเคยป่วยแล้วหายมาได้เพราะยาที่ทำวิจัยจากอเมริกา เลยคิดว่าชีวิตนี้ถ้าจะเรียนแพทย์ ก็อยากไปเรียนประเทศที่มีทรัพยากรพร้อมจะทำวิจัยเกี่ยวกับยาได้ด้วย เพื่อจะได้มาช่วยผู้ป่วยที่เจอสถานการณ์เดียวกับคุณพ่อคุณแม่หมอในตอนนั้น”

“ถ้าเกิดเป็นระบบที่ไทยและอังกฤษจะต้องสอบตรงจาก ม.ปลายเลย ต่างจากระบบของอเมริกาที่ต้องจบ ป.ตรีสาขาทั่วไปก่อนถึงจะสอบเข้าแพทย์ได้ ตอนนั้นเลยเลือกเรียน ป.ตรี สาขาชีวเคมี (Biochemistry) เพราะตรงความสนใจด้านวิจัยยาของหมอเอง”

“แล้วด้วยความที่หมอเป็นลูกสาวคนเดียว ทางบ้านเลยจะห่วงมากถ้าเกิดเราไปอยู่เมืองที่ไม่มีคนรู้จักเลย หมอก็เลยช่วยให้อุ่นใจขึ้นโดยการเลือกเรียนที่ University of Tulsa // กลับไปเมือง Tulsa ที่เคยแลกเปลี่ยน เพราะอย่างน้อยมีครอบครัวโฮสต์อยู่ที่นั่นค่ะ” 

. . . . .  . . . 

สอบเรียนต่อแพทย์หลังจบ ป.ตรี
(Medical School Admission Test)

"MCAT หรือ Medical School Admission Test เป็นการสอบเพื่อเรียนต่อแพทย์ที่อเมริกา กับบางประเทศอย่างออสเตรเลียและแคนาดา ตอนนั้นหมออ่านหนังสือเตรียมสอบ MCAT ของ Kaplan และ AAMC อ่านแบบหนักๆ แล้วทำข้อสอบ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2-3 เดือนค่ะ"

สมัยหมอสอบ MCAT จะแบ่งเป็น 3 หัวข้อ 

  • ด้านชีววิทยาและชีวเคมี (Chemical and Physical Foundations of Biological Systems)
  • ด้านเคมีและฟิสิกส์ (Biological and Biochemical Foundations of Living Systems)
  • ด้านวิจารญาณและการให้เหตุผล (Critical Analysis and Reasoning Skills) ส่วนตัวหมอคิดว่ายากสุดสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกิด เพราะเป็นหัวข้อที่เราท่องจำไปสอบไม่ได้ แล้วต้องอ่านภาษาอังกฤษเร็วมากถึงจะตอบทัน

*แต่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 เป็นต้นมา เค้าจะมีเพิ่มหัวข้อ Psychological, Social, and Biological Foundations of Behavior เข้ามาด้วย 

แนะนำลิงก์ศึกษา MCAT เพิ่มเติม

. . . . .  . . . 

สรุปชีวิตนักศึกษาแพทย์
Saint Louis University School of Medicine 

“หมอเลือกเรียนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาเพราะอยากวิจัยด้านตับ ซึ่ง Saint Louis University School of Medicine มีนักวิจัยด้านไวรัสตับ แล้วยังมีหมอที่มีดังด้านตับทำงานอยู่ด้วย ซึ่งเค้าทำวิจัยมาหลากหลายมาก เราเลยอยากมีโอกาสรู้จักและทำวิจัยร่วมกับเค้า แต่ตอนหลังพอได้ฝึกงานกับคนไข้จริง ก็ดันตกหลุมรักด้านศัลยกรรม เลยย้ายไปโฟกัสด้านนั้นแทนค่ะ”

Photo Credit: @SLUSOM
Photo Credit: @SLUSOM 

ภาพรวมเนื้อหาใน 4 ปี

แต่ละที่จะต่างกันค่ะ ถ้าเป็น Saint Louis University ที่หมอเรียนจบมา สองปีแรกจะเป็นช่วง Preclinical เรียนด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป พวกชีววิทยา เวชศาสตร์ จุลชีววิทยา ฯลฯ ส่วนปีสองจะเน้นด้านอวัยวะ คือประสาทวิทยา หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร

รีวิว: ช่วง Clinical มีวิชาที่หมอสนใจมากคือ Anatomy จำได้เลยว่าวิชานี้แหละทำให้รู้ว่าหมอรักด้านศัลยกรรมมากกก ถึงจะต้องยืน 6-7 ชม.กับอาจารย์ใหญ่ ก็ไม่รู้สึกเหนื่อยเลยเพราะเป็นสิ่งที่ชอบมากจริงๆ แต่ถ้าวิชาที่ยากและท่องจำโหด จะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป และด้าน Pharmacology เพราะเน้นจำเยอะมากค่ะ

ส่วนสองปีหลังเป็น Clinical จะได้ศึกษากับคนไข้จริงบนวอร์ดแล้ว ช่วงปี 3 จะได้เข้า Rotation ซึ่งก็คือขึ้นคลินิก เข้าห้องผ่าตัด พอปี 4 จะเป็น Electives เลือกวิชาที่สนใจเอง 

ช่วงปลายปี 3 ขึ้นปี 4 จะเป็นช่วงที่นักศึกษาต้องเริ่มตัดสินใจแล้วว่าอยากเข้าเฉพาะทางด้านไหน ก็เลือก rotate สิ่งที่ตรงกับความสนใจของตัวเอง เป็นช่วงที่เรียกว่า Sub-internship เหมือนกับให้เราได้ไปพิสูจน์ตัวเองในโรงพยาบาลที่อยากเข้าทำงาน  อย่างเช่นช่วงนั้นหมอตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนศัลยกรรมประสาท ก็เลยเข้า rotate ด้านนี้ 4 โรงพยาบาล แห่งละ 1 เดือน หมอไปที่ Saint Louis University, Washington University in St. Louis, Vanderbilt University, และ Yale สุดท้ายตกหลุมรักที่ Yale ก็เลยมาเข้าเฉพาะทางที่นี่ค่ะ

รีวิว: จำได้เลยว่า rotation แรกของหมอที่ได้ทำงานกับคนไข้จริง เป็น rotation สูติศาสตร์ ครั้งแรกที่หมอได้ทำคลอด เป็นอารมณ์ที่บอกไม่ถูกเลย ทารกแรกเกิดนี่ ลื่นมาก หมอกลัวมากว่า จะทำเด็กทารกตกพื้น 555 กอดแน่นสุดๆ!

ถ้าพูดถึงบรรยากาศการเรียนและสอบของนักเรียนแพทย์คือเข้มข้นค่ะ เพื่อนหลายคนก็เครียดมากด้วย แต่ส่วนตัวหมอไม่เครียดเรื่องสอบมาก คิดได้แค่ว่าเราอ่านหนังสือและทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว (อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด) แต่ถ้าถามว่าสำหรับหมอช่วงไหนเครียดสุด ก็คือช่วง Clinical เพราะ rotation ศัลยกรรมบางที่เวลาเข้าห้องผ่าตัดเข้านานมาก 8-15 ชม. จนเป็นปกติ ซึ่งพอเป็นสิ่งที่ชอบหมอก็ไม่เหนื่อย เพียงแต่ที่ยากช่วงแรกๆ คือบางทีไม่มีเวลากินข้าว ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ แต่นานไปเรื่อยๆ ก็ปรับตัวไป ก็ไม่มีปัญหาค่ะ

เข้าชมเว็บไซต์ รร.แพทย์ Saint Louis

. . . . .  . . . 

การสอบใบประกอบวิชาชีพฯ USMLE
The United States Medical Licensing Examination

เนื้อหาส่วนใหญ่ในข้อสอบ USMLE คือสิ่งที่เรียนมาในหลักสูตรแพทย์ แบ่งออกเป็น 3 ขั้น

Cr. https://www.usmle-courses.eu
Cr. https://www.usmle-courses.eu

USMLE Step 1 หมอสอบตอนเรียนแพทย์ปี 3 ซึ่งปกติเราไม่ใช่คนที่เครียดเรื่องสอบเลย แต่อันนี้คือเครียดสุดในชีวิตเลยค่ะ เพราะเป็นข้อสอบที่ยากที่สุด แล้วถ้าเกิดทำคะแนนได้ไม่ดีจะไม่สามารถเรียนเฉพาะทางด้านศัลยกรรมสมองได้ (เฉพาะทางด้านนี้ที่อเมริกาแข่งขันสูงมาก บางโรงพยาบาลคือถ้าคะแนนไม่ได้ระดับ top 10-15% ของประเทศ เค้าอาจจะไม่ดูใบสมัครเราเลย) ***ข้อสอบตัวนี้ หลังจากปีนี้จะไม่มีเป็นคะแนนแล้วค่ะ เป็นระบบผ่านไม่ผ่านอย่างเดียว

USMLE Step 2 จะมี 2 ส่วน มีส่วนทักษะทางการแพทย์ และ ความรู้ทางการแพทย์ หมอสอบตอนเรียนแพทย์ปี 4 อันนี้ไม่ยากมาก เกณฑ์คือต้องผ่านก่อนจบแพทย์ ให้คะแนนพอโอเคก็ได้

USMLE Step 3 เป็นขั้นสุดท้ายหลังเข้าเฉพาะทางไปแล้ว แค่ผ่านก็พอค่ะ

แนะนำลิงก์ศึกษาการสอบ USMLE เพิ่มเติม

. . . . .  . . . 

ชีวิตแพทย์เฉพาะทาง 
Neuro ICU กับ Neurosurgery

ปีแรกหลังเรียนจบ หมอไม่ได้เริ่มจากทำงานเป็นแพทย์ทั่วไป แต่เข้าแผนกเฉพาะทาง  Neuro ICU กับ Neurosurgery อย่างเดียวเลย เพราะที่ Yale เค้าไม่ได้บังคับให้เข้าแผนกอื่นก่อนค่ะ

เวลาทำงาน

เวลาทำงานจะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล แต่ที่หมอทำงานอยู่ ปีแรกต้องเข้าโรงพยาบาล 12 วัน หยุด 2 วัน เข้าโรงพยาบาลตี 4 ครึ่ง และงานเลิกตอนทำเสร็จค่ะ ก็ประมาณ 1-4 ทุ่ม แล้วแต่ว่าคนไข้เยอะขนาดไหน

แต่พอปีที่ 2 ขึ้นไปก็เข้าห้องผ่าตัดเยอะหน่อย มีทั้งเคสด่วนและเคสที่นัดผ่าตัดล่วงหน้า เคสด่วนเยอะเหมือนกัน เข้าทำงานประมาณตี  5 เคสเสร็จเมื่อไหร่ก็กลับ เสาร์อาทิตย์บางทีก็ต้องอยู่เวร ระบบน่าจะคล้ายไทยค่ะ

จำนวนผู้ป่วยรายวัน

แผนกศัลยกรรมสมอง ผู้ป่วยที่เราต้องดูแลใน 1 วันจะประมาณ 30-50 คน ส่วนใหญ่จะมีทั้งผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ และมีอาการเลือดคั่งในสมอง เส้นเลือดสมองแตก เส้นเลือดสมองอุดตัน มะเร็งสมองและไขสันหลัง หลังหัก คอหัก ประมาณนี้ค่ะ

เคสที่พบบ่อย (*คำแนะนำจากคุณหมอถึงผู้อ่าน)

  • หมอบอกเลยว่าคนที่เกิดอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์แล้วเลือดคั่งในสมอง ส่วนใหญ่มักจะไม่ใส่หมวกกันน็อก อยากให้ผู้ขับขี่ทุกคนให้ความสำคัญนะคะ
     
  • คนไข้ที่อายุน้อยแล้วเข้ามาเพราะเส้นเลือดอุดตัน บางครั้งเกิดจากการนวดกระดูกที่คอหนักเกินไป กรณีนี้หมอเป็นห่วงเพราะเข้าใจว่าคนไทยมักจะชอบนวดคอเพราะปวดเมื่อยจากการทำงาน แต่ต้องระวังหน่อยนะคะ ถ้านวดหลังยังโอเค แต่เรื่องคอต้องเว้นเลย เส้นเลือดอะไรแถวนี้เยอะ
     
  • ส่วนมะเร็งสมอง บางอย่างก็ไม่มีวิธีระวัง แต่บางอย่างคือมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น คนที่สูบบุหรี่มานานจนมะเร็งลงปอดหรืออวัยวะอื่นๆ ก่อนจะกระจายไปขึ้นสมอง เคสประมาณนี้ก็เยอะ **ถ้าใครยังสูบบุหรี่อยู่ หมอแนะนำให้หยุดเลยนะคะ

ความท้าทายของแผนกเฉพาะทาง
การผ่าตัดสมองและระบบประสาท

1. เคสด่วนเยอะมาก

บางครั้งต้องฝึกคิดเร็วและตัดสินใจเร็ว เพราะเคสด่วนเยอะมากค่ะ คนไข้หมอส่วนใหญ่ตอนถึงโรงพยาบาลก็คือป่วยมากหรือใกล้เสียชีวิตแล้ว ถ้าเราตัดสินใจผิดก็จะไม่มีเวลาย้อนกลับไปได้ 

2. มีสิ่งที่ต้องจำเยอะ 

และทุกส่วนที่ผ่าตัดก็ทั้งเล็กและละเอียดอ่อน ถ้ามือเราพลาดไปนิดเดียว คนไข้เราอาจจะเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้

3. การสื่อสารให้ชัดเจนคือเรื่องสำคัญ

บางทีคุยกับครอบครัวคนไข้ด้านศัลยกรรมประสาท ก็จะมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนขึ้นไปอีก เพราะการเจ็บป่วยด้านประสาทคือเรื่องที่ตัดสินใจยากลำบากมาก อย่างเช่น คนไข้บางคนบอกว่า “ถึงฉันจะพูดไม่ได้ตลอดไป ฉันก็ยังอยากมีชีวิตอยู่” ในขณะที่บางคนเค้าอาจจะบอกว่า “ถ้าฉันพูดไม่ได้ หรือแขนฉันใช้ไม่ได้ ฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกทำไม” 

เพราะฉะนั้นเวลาคุยกับครอบครัวก่อนเข้าห้องผ่าตัด เราจะต้องถามและต้องช่วยครอบครัวตัดสินใจว่า ชีวิตแบบไหนจะเป็นชีวิตที่คนไข้ต้องการ เพราะหลายอาการที่เรารักษา ถึงจะผ่าตัดสำเร็จ อาการคนไข้ก็อาจยังไม่พ้นวิกฤต เป็นสิ่งที่ครอบครัวจะทำความเข้าใจได้ลำบากค่ะ 

"ถึงจะต้องเสียสละเวลาตัวเองเยอะมาก แต่หมอรักอาชีพนี้มากนะคะ เพราะเวลาที่เราได้ช่วยชีวิตคน หรือได้ทำให้ชีวิตเค้าดีขึ้น มันก็เป็นสิ่งที่ปลื้มใจและภูมิใจมากจริงๆ"

. . . . .  . . . 

เรียนต่อเฉพาะทาง Neurosurgery
@ Yale New Haven Hospital

“ตอนนี้หมอกำลังทำงานในห้องผ่าตัด พร้อมกับเรียนต่อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดสมองและระบบประสาท (Neurosurgery) ที่ Yale New Haven Hospital ของ Yale University ทั้งหมดจะใช้เวลาเรียน 7 ปีค่ะ”

เห็นว่าคุณหมอกวางเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลเดนนิส สเปนเซอร์ด้วย อยากให้เล่าที่มาที่ไปให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ “ปกติแล้วที่ Yale จะมีบังคับว่าก่อนถึงปี 6 ต้องสอบผ่าน ABNS Neurosurgery Written Board Exam แต่หมอไม่อยากรอถึงปี 6 ก็เลยไปสอบตั้งแต่ปี 3 แล้วอาจารย์บอกว่าเราผ่านด้วยคะแนนสูงสุดในคณะ ก็เลยได้รางวัลนี้มาค่ะ ^^”

Photo Credit: https://yaledailynews.com/ 
Photo Credit: https://yaledailynews.com/  
เข้าชมเว็บไซต์  YNHH (Yale)

. . . . .  . . . 

ล่าสุดเพิ่งได้ทุน Fellowship ที่ Harvard
เรียนต่อ “เฉพาะทางของเฉพาะทาง”

"Fellowship ที่ว่านี้คือการเรียนต่อ เฉพาะทางของเฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาท ซึ่งก็จะมีด้าน Vascular (เส้นเลือดสมอง), Tumor (มะเร็งสมอง), Spine (ศัลยกรรมไขสันหลัง), Epilepsy and Functional (ศัลกรรมด้านลมชัก), Parkinson’s Disease, etc.), Pediatric (ศัลยกรรมสมองและไขสันหลังของเด็ก)” 

“ปัจจุบันหมอกำลังเรียนเฉพาะทาง Neurosurgery ที่ Yale และจะจบในปี 2024 แล้วจะไปต่อด้านเส้นเลือดสมองที่ Massachusetts General Hospital (MGH) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของ Harvard เป็นเวลา 1 ปีค่ะ ซึ่งด้านนี้จะเป็นการผ่าตัดโรคเส้นเสือดอุดตันในสมอง (Ischemic Stroke) โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เส้นเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) เส้นเลือดแดง-ดำเชื่อมต่อผิดปกติ (Arteriovenous Malformation, Dural Arteriovenous Fistula, etc.) แนวๆ นี้ค่ะ”

เข้าชมเว็บไซต์  MGH (Harvard)

จากรุ่นพี่ถึงน้องๆ ว่าที่คุณหมอ
ที่อยากเรียนเฉพาะทางด้านนี้ที่อเมริกา

ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจเรียนเฉพาะทางแพทย์ด้านศัลยกรรมประสาทที่อเมริกา แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรเรียนแพทย์ที่อเมริกาค่ะ หรือถ้าน้องๆ จบแพทย์ที่ไทยมาแล้ว ถ้าสนใจอยากเรียนเฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาทที่อเมริกามากๆ แนะนำว่าควรใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีมาทำวิจัยที่อเมริกาก่อนสมัครเข้าเรียนเฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาท เนื่องจากว่าด้านเฉพาะทางนี้การแข่งขันในประเทศสูงมาก นักเรียนแพทย์อเมริกันบางคนถึงคะแนนสูงมากก็ยังเข้าไม่ได้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็เลยจะไม่ค่อยดูใบสมัครนักศึกษาแพทย์ต่างชาติเลย นอกจากจะมีการทำงานด้านวิจัยที่อเมริกามาเยอะจริงๆ”

“จากประสบการณ์ส่วนตัวของหมอเอง ตอนปริญญาตรีจบ Summa Cum Laude (เกรดเฉลี่ย 4.00) เป็น Top 10 Senior นอกจากนี้คือแม้ว่าการเรียนแพทย์ไม่มีเกรดเฉลี่ย (เพราะที่ Saint Louis University ปี 4 เค้าคิดแค่ผ่านไม่ผ่าน) แต่หมอจบด้วย Alpha Omega Alpha คือรางวัลสูงสุดสำหรับนักศึกษาแพทย์ที่ Top 16% ของคลาส และจบแบบได้รางวัลด้านการวิจัยด้วย ถึงขนาดนี้แล้ว ตอนสมัครเข้าแพทย์ศัลยกรรมประสาทก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี” 

"ถ้าจะเข้าด้านนี้คะแนนสูงอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีงานวิจัยและงานอาสาสมัครประกอบด้วย สิ่งที่ช่วยได้มากเลยก็คือการที่หมอไปทำ Sub-internship ที่ Yale เค้าเลยรู้ว่าหมอสามารถทำงานได้ เหมือนพิสูจน์ตัวเอง ทำให้เค้ายอมรับ เพราะที่ Yale รับด้านเฉพาะทางด้านนี้ปีละ 2 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่วนใหญ่ทั่วอเมริกา ก็จะรับด้านเฉพาะทางศัลยกรรมประสาทประมาณ 1-2 คน ยิ่งถ้าโรงพยาบาลใหญ่ๆ เลย (มีไม่กี่แห่งในประเทศ) ก็จะรับแค่ 3-4 คนต่อปีเท่านั้น เพราะปีนึงนักศึกษาแพทย์จะมีใบสมัครเข้าด้านเฉพาะทางด้านศัลยกรรมประสาทหลายร้อยคน แต่โรงพยาบาลทั่วประเทศมีที่รองรับไม่พอ"

“แต่ถ้าอยากเรียนและทำงานด้านนี้จริงๆ ก็คือ อย่าท้อ ถ้าเกิดทำวิจัยมาเยอะจริงๆ และคะแนน สอบสูง หมอก็เห็นนักศึกษาแพทย์ต่างชาติบางคนมีโอกาสเข้าได้เหมือนกัน”

เรียนเยอะ ทำงานหนัก ก็ต้องดูแลตัวเอง
(แชร์วิธี relax ฉบับคุณหมอ)

“ทำงานเยอะ ก็เลยมีเวลานอนน้อยลง แล้วกินมากขึ้น เพราะเครียด ก็ต้องเตือนตัวเองว่าต้องตัดเวลา social media ลง เตือนตัวเองให้พักผ่อนมากขึ้น ก่อนนอนหมอก็สวดมนต์ ตื่นเช้าก็ออกกำลังกาย ถ้ามีเวลาเยอะหน่อยหมอก็จะนั่งสมาธิซัก 10 นาทีก่อนไปทำงาน”

“ถ้าเกิดย้อนไปช่วงก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ นอกจากเล่นกีตาร์ผ่อนคลายแล้ว หมอก็มีรับน้องหมาจรจัดมาเลี้ยง ชื่อ Wally เค้าโดนทิ้งใน Shelter (บ้านพักพิง) ทีนี้พอเวลาหมอเครียดมากๆ แล้วอยาก relax ก็จะพา Wally ไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ ช่วยได้เยอะเลยค่ะ”

“ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องน้องแล้ว อยากฝาก Shelter หน่อยได้มั้ยคะ คุณหมอและครอบครัวมีสร้าง ‘บ้านพักพิงศุจิจันทรรัตน์’ เพื่อกาญจนบุรีสี่ขา เพื่อช่วยสัตว์ที่เจ็บป่วยและสัตว์ที่โดนทิ้ง รวมถึงสุนัขและแมวจรจัดในเมืองไทยด้วย (ตั้งแต่ปี 2552 เพจกาญจนบุรีสี่ขาได้ช่วยสุนัขและแมวมาเป็นจำนวนมากกว่า 500 ตัว) หมอส่งเงินไปช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟที่บ้านพักพิงทุกเดือน แต่แอดมินจะต้องหาค่าอาหารของน้องหมา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างเช่นค่ารักษา ค่าทำหมัน ค่าฉีดวัคซีน และอื่นๆ เองทั้งหมด"

ตอนนี้ “บ้านพักพิงศุจิจันทรรัตน์เพื่อกาญจนบุรีสี่ขา” กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านเหล่านี้

  • ผู้ดูแลโซเชียลมีเดีย โพสท์ลงเฟซบุคและอินสตาแกรม
  • อาสาสมัครเล่นกับหมาแมว
  • สัตวแพทย์
  • ผู้สนใจร่วมสมทบทุนบริจาค*

ช่องทางติดต่อเพื่อช่วยเหลือ

ทางคุณหมอขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้นะคะ :)

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด