ชีวิตเด็กโทควบเอกสุดท้าทายที่ U. of Virginia ในสหรัฐฯ กับบทบาทผู้ช่วยสอน/ผู้ช่วยวิจัย/อาจารย์พิเศษ!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D สำหรับใครที่มีแพสชันอยากทำวิจัยในประเทศที่มีทรัพยากรสนับสนุนเต็มที่ วันนี้เรามีรีวิวน่าสนใจจาก ‘อ.หลิน — ผศ.ดร.สลิลพร กิตติวัฒนากูล’ ซึ่งเป็นผู้สอนฟิสิกส์แห่ง Dek-D School ที่ได้ทุนโอลิมปิกไปเรียนต่อ ป.ตรีเอกฟิสิกส์ที่ Cornell University หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำกลุ่ม Ivy League ของอเมริกา

// ในพาร์ตนี้เราจะพาไปเปิดรีวิวการเรียน ป.โทควบเอก Physics ที่ University of Virginia, USA (UVa) เล่าครบทั้งชีวิตนักศึกษา ผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant), ผู้ช่วยวิจัย (Research Assistant), ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ Start Up รวมถึงบทบาทอาจารย์พิเศษ (Visiting Assistant Professor) ว่าเรียนและทำงานแบบเข้มข้นขนาดไหน? เจอความท้าทายอะไรบ้าง? ใครอยากเป็นสายวิจัยห้ามพลาดค่ะ!

เลือกที่เรียนจากปัจจัยอะไรบ้าง?

  • วิจัย เลือกอาจารย์ที่สนใจ และหาสำรองเผื่อกลุ่มวิจัยเต็มหรืออาจารย์ไม่มีเงินทุนจ้างเรา
  • ที่ตั้ง อาจดูว่าชอบเมืองและสภาพอากาศที่นั่นมั้ย อย่างเช่น UVa มีฤดูหนาวแค่ 2 เดือน มีจังหวะที่ถนนลื่นหรือต้องลุยหิมะบ้าง เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับหิมะ เวลาหิมะตกหนักหน่อยหรือพายุหิมะเข้าจะถึงขั้นปิดมหาวิทยาลัยเลยค่ะ (ที่อเมริกาเราสามารถติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและมีการแจ้งเตือนจากมือถือ)

เหตุผลหลักที่พี่เลือกเรียนโทควบเอกที่ UVa คือเรื่องการทำวิจัย เราค้นพบว่าที่นั่นมีอาจารย์ที่ดังมากในด้านที่เราอยากทำวิจัย และเลือกสำรองไว้ (ติดมหาวิทยาลัย 5 จาก 10 แห่งที่สมัครไป) นอกจากนี้เรามองว่าชีวิตป.โทและเอกต้องยิงยาว 5-6 ปีเป็นอย่างต่ำ เลยอยากหาเมืองเล็กที่ไม่หนาวมาก และไม่ห่างจากเมืองใหญ่ ซึ่ง Charlottesville ตอบโจทย์มาก ใกล้เมืองใหญ่อย่าง Richmond และ Washington D.C.  เดินทางแค่ชั่วโมงนิดๆ ก็ถึงแล้ว และยังติดอันดับเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของอเมริกา ภาพรวมอากาศทั้งปีคือดีเลย มีฤดูหนาวแค่ 2 เดือน นอกนั้นสบายๆ คนวิ่งออกกำลังกายกันทั้งเมือง

นอกจากธรรมชาติจะร่มรื่น มีป่าและภูเขาเยอะ (ไม่ได้สูงชัน แถวมหา’ลัยจะเป็นเนินเขานิดหน่อย) ยังมีร้านอาหารไทยเยอะและราคาไม่แรงเกินไป เดินทางก็สะดวก มีรถบัสของเมืองและมหาวิทยาลัย นักศึกษาขึ้นฟรีด้วยค่ะ

University of Virginia, Charlottesville, United States
University of Virginia, Charlottesville, United States
Photo by Ryan Ledbetter on Unsplash

การสมัครเรียน 

พี่เรียนหลักสูตร ป.โทควบเอก (PhD Program) ที่ UVa ใครจบ ป.ตรีที่ไทยก็สามารถสมัครโปรแกรมนี้ได้  โดยเฉพาะคนที่จบจากสายวิทย์หรือวิศวะฯ มหาวิทยาลัยจะพิจารณาเรียงความและ Recommendation Letter จากอาจารย์ที่ปรึกษา (ส่วนเรื่องทุน ส่วนใหญ่ในใบสมัครเรียนส่วนใหญ่จะมีช่องให้ติ๊กว่าประสงค์รับทุนของมหาวิทยาลัยค่ะ)

บางแห่งอาจจะ offer ตั๋วเครื่องบินให้เราไป visit tour กึ่งๆ แนะนำมหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเป็นโอกาสให้เราถามรุ่นพี่มหาลัยนั้นได้ด้วย

The Rotunda สัญลักษณ์ UVa เวลารับปริญญาก็เดินกันลงมาจากตรงนี้ 
The Rotunda สัญลักษณ์ UVa เวลารับปริญญาก็เดินกันลงมาจากตรงนี้ 
เรียกว่า Walk the Lawn

*ตอนนั้นพี่รับทุน พสวท. ตลอดตั้งแต่ ป.ตรี-เอก ได้เรียน Prep School 1 ปี + ป.ตรี 4 ปี ครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับเที่ยวเดียว และมีค่าอยู่ค่ากินให้เรตขึ้นอยู่กับรัฐ เงื่อนไขคือตอน ป.ตรี ต้องรักษาเกรดให้ได้ 3.0 

 

ส่วน ป.โทและเอกต้อง 3.5 พอขึ้น ป.โทควบเอก จะมีรับทุน TA&RA จากมหาวิทยาลัยร่วมด้วย มีงบส่วนค่าเทอม ค่าประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายรายเดือน เงื่อนไขคือต้องเป็นผู้ช่วยสอน (TA) และผู้ช่วยวิจัย (RA) ในระยะเวลาที่กำหนด

คำแนะนำ

ถ้าเกิดใครวางแผนว่าจะเรียนต่อ ป.โทและเอก ควรเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่ ป.ตรีเลยว่ามีอาจารย์คนไหนเชี่ยวชาญและกำลังทำวิจัยด้านเดียวกับที่เราสนใจบ้าง และศึกษาข้อมูลของมหาวิทยาลัยเยอะๆ อาจจะลองอีเมลไปแนะนำตัวและพูดคุยส่วนตัวกับอาจารย์โดยตรง หรือถ้ารู้สึกยังไม่กล้าส่งอีเมล อย่างน้อยควรกล่าวถึงในเรียงความสมัครเรียนว่าเรามีแพสชันด้านนั้นจริงๆ

บทบาทเด็ก PhD ที่ UVa
เรียนโทควบเอกสาขาฟิสิกส์

ภาพรวมการเรียน

ป.เอกมี 11 คน ต้องเรียน Coursework ทุกอย่างจบภายใน 2 ปีโดยไม่มี Discussion Session กับ TA เลย (พูดง่ายๆ ว่าไม่มี TA แล้ว) มีแต่เลกเชอร์กับอาจารย์แล้วแยกย้ายไปทำวิจัย ในปีแรกเป็นวิชาบังคับทั้งหมด ส่วนปี 2 เป็นวิชาเลือกขั้นสูง ซึ่งเราสามารถเลือกนอกภาคได้ อาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยแนะนำว่าวิชาไหนจำเป็นต้องใช้ในงานวิจัยสายเราบ้าง 

ทั้งนี้ สาขาที่เราเรียนจะมีความร่วมมือข้ามศาสตร์ระหว่างเด็กภาคฟิสิกส์และวิศวะฯ ด้วย เพราะปกติเราสามารถนำฟิสิกส์ไปประยุกต์ได้กับอีกหลายสาย เช่น เราทำวิจัยเกี่ยวกับ Materials Physics เป็นศาสตร์ที่ใช้ฟิสิกส์เพื่ออธิบายคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุ นำไปประยุกต์กับการตรวจจับความร้อนหรือควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้ เป็นต้น

รีวิวอาจารย์ที่ปรึกษา

อย่างน้อยต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน หรือมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้องาน อย่างพี่ก็มีที่ปรึกษา 2 คน คนนึงเป็นอาจารย์ฝรั่งชื่อ Stuart Wolf เชี่ยวชาญฟิสิกส์และ Material Science and Engineering กับอีกท่านนึงเป็นอาจารย์ชาวจีนชื่อ Jiwei Lu ที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่งทั้งคู่ใจดีและเข้าหาง่าย เราสามารถนัดหมายเพื่ออัปเดตงานได้ตลอด (เราส่งงานถี่ เค้าก็ใจดีตรวจให้บ่อยมากๆ อย่างตอนเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ บทนึงเคยแก้ไปถึง 7 เวอร์ชันเลยค่ะ) บางครั้งเค้าก็จะเดินลงมาตรวจงานเราในแล็บ หรือมีนัดแฮงก์เอาต์กันบ้างตามเทศกาล

รูปกับอาจารย์เพื่อนๆ น้องๆ ในกลุ่มวิจัย
รูปกับอาจารย์เพื่อนๆ น้องๆ ในกลุ่มวิจัย

การสอบวัดคุณสมบัติ

หลังจบป.โท-เอก ปีแรก จะมีการสอบวัดคุณสมบัติ หรือที่เรียกว่า “Qualifying Examination” รูปแบบการสอบจะต่างกันในแต่ละที่ สำหรับ UVa จะให้สอบข้อเขียน 2 วัน วันละ 3 วิชา ถ้าทำคะแนนวิชาย่อยผ่านเกณฑ์ 50% จะได้อยู่ ป.โทควบเอกต่อ แต่ถ้าไม่ผ่านจะได้แค่วุฒิ ป.โท ถ้าสอบไม่ผ่านมีโอกาสซ่อม 1 ครั้ง 

ข้อสอบ Qualifying Exam ของที่ UVa จะมี 6 วิชาดังนี้
 

  • Classical Mechanics
  • Thermodynamics & Statistical Mechanics
  • Electricity & Magnetism 1 และ 2
  • Quantum Mechanics 1 และ 2

ข้อสอบจะมีโจทย์สั้นๆ แต่เข้มข้น แสดงวิธีทำล้วนๆ เราต้องเขียนตอบครึ่งหน้าจนถึงหลายหน้า เนื้อหาจะไม่ได้ฉีกจากที่เรียนมาในคลาส แต่ต้องแม่นมากจริงๆ เราเตรียมสอบโดยการนั่งทำข้อสอบเก่าย้อนหลังหลายปี เค้าจะมีมาให้เป็นปึกๆ แต่ไม่มีเฉลยให้ เราต้องรู้เองว่าถูกหรือผิด สิ่งที่เจอตอนสอบจะอยู่ในข้อสอบเก่าไปครึ่งนึง นอกนั้นออกใหม่หรืออาจอ้างอิงจากการสอนของอาจารย์ก็ได้ค่ะ

อ่านต่อ: Qualifying Exam ของ UVa
โหมดทำแล็บและเขียนวิทยานิพนธ์
โหมดทำแล็บและเขียนวิทยานิพนธ์
ทำแล็บหน้าหนาวก็จะประมาณนี้
ทำแล็บหน้าหนาวก็จะประมาณนี้
ห้องสมุด U. of Virginia (สวยมากกก)
ห้องสมุด U. of Virginia (สวยมากกก)

บทบาท Teaching Assistant
จับงานสอนครั้งแรกในชีวิต

ทุนมหาวิทยาลัย PhD จะกำหนดว่า 2 ปีแรกเราต้องเป็น “ผู้ช่วยสอน” (Teaching Assistant) และ 2 ปีหลังเป็น “ผู้ช่วยวิจัย” (Research Assistant) ตอนแรกเราได้ offer ให้ข้ามไปเป็นผู้ช่วยวิจัยได้เลย แต่พี่มองว่าการเป็น TA คือโอกาสที่ดี ทั้งได้เงินและประสบการณ์ // ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ!

พอได้ลองสอนครั้งแรกถึงรู้ว่าตัวเองก็สอนเด็กรู้เรื่อง แล้วยังสนุกด้วย แต่ละ 1 สัปดาห์จะได้สอนทั้ง Lab และ Discussion ค่ะ หน้าที่ของพี่มีดังนี้

  • Lab เราก็จะบรีฟนักศึกษาก่อน ใช้วิธีสรุปและให้เด็กฝึกทำแต่ละขั้นตอน จากนั้นจะตรวจให้คะแนนแล็บว่าสิ่งที่สอนไปเด็กทำถูกมั้ย
     
  • Discussion อาจารย์จะสอนเลกเชอร์สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง ส่วนเราสอนดิสคัสชันสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เหมือนเป็นคนเสริม ทั้งสรุปเนื้อหาพร้อมตัวอย่างโจทย์ และสอนให้เด็กฝึกทำโจทย์ โดยอาจมี quiz ระหว่างสัปดาห์ด้วย
     
  • มหาวิทยาลัยจะมี Office Hour ที่เด็กทุกกลุ่มเรียน (section) สามารถเข้ามาปรึกษาหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการบ้านได้ บางครั้งมากัน 4-5 คน นั่งตอบคำถาม 1-2 ชั่วโมง เพราะพวกเค้าอยากทำคะแนนให้ดีที่สุด

สรุปว่าช่วงชีวิต ป.โทควบเอก พี่ได้เป็นผู้ช่วยสอนตอนปี 1-2 และผู้ช่วยวิจัยตอนปี 3-6 ได้รับเงินเดือนจากภาควิชาและอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มวิจัย

ระหว่าง ป.เอก อาจารย์ได้เป็น Finalist for Presidential Research Competition University of Virginia 2014 และตอนกลับไทยหลัง จบ ป.เอก ยังส่งวิทยานิพนธ์เข้าประกวดในปี 2562 แล้วได้รางวัลวิทยานิพนธ์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2562 (2018) อีกด้วยค่ะ

รับปริญญา
รับปริญญา
รับปริญญา
รับปริญญา
รับปริญญา
รับปริญญา
บายเนียร์
บายเนียร์

บทบาทผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Startup

ระหว่างเรียน ป.เอก ได้ทำเอกสารร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน กับนักวิจัยของศูนย์ที่ดูแลอีก 1 ท่าน เพื่อร่วมก่อตั้งบริษัท Startup ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวิจัยเทคนิคการปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์แบบ high TCR (Temperature Coefficient of Resistance) ด้วย Reactive Bias Target Ion Beam Deposition (RBTIBD) ค่ะ 

เล่าก่อนว่าปกติฟิล์มจะมีหลายอย่างมาก อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีคอมพิวเตอร์ชิป บอร์ดต่างๆ อุปกรณ์เซนเซอร์ ฯลฯ ซึ่งมักจะถูกประกอบขึ้นจากฟิล์มบางระดับนาโนเมตรหลายชั้นเลย โดยกระบวนการจัดเริ่มจากการปลูกฟิล์มให้ได้คุณภาพ แล้วไปดีไซน์เป็นรูปร่างหน้าตาที่ต้องการ และสามารถควบคุมวงจร เช่น เมื่อไหร่ต้องเตือนหรือไม่เตือน รังสีอินฟราเรดจะตรวจจับความร้อนตอนไหน เมื่อไหร่จะเป็นสีเหลืองหรือแดง 

เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราปรุงอาหาร แล้วมีฟิล์มบางเหล่านี้คือวัตถุดิบที่ดี ซึ่งปกติแล้วเครื่องปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์แบบ high TCR โดยเทคนิค RBTIBD จะมีราคาสูงมากกหลายสิบล้าน เหมาะกับการทำวิจัยและอุตสาหกรรม และมีเพียง 5 เครื่องในโลก ซึ่งการปลูกฟิล์มบางวาเนเดียมไดออกไซด์ได้มีผู้ริเริ่มไว้ก่อนหน้านี้ แล้วเรามาพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ 

บทบาทนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Postdoc) 

หลินได้เป็น Postdoc ที่ Materials Science and Engineering, UVa เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยทั่วไป “นักวิจัยหลัง ป.เอก” จะทำวิจัยภายใต้โครงการที่ตกลงกับทางมหาวิทยาลัย ความรับผิดชอบต้องสูงขึ้นเพราะพลิกบทบาทเหมือนเป็นอาจารย์ ทั้งดูแลแล็บและสอนเด็กในแล็บด้วย คิดค้นอะไรเองได้เลยโดยไม่ต้องรอปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา (ส่วนตอน ป.เอกคือต้องคิดเองโดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ)

บทบาทอดีตอาจารย์พิเศษที่ UVa

ตอนสมัครเป็น "อาจารย์พิเศษ" (Visiting Assistant Professor) ทางด้านวิจัยที่ควบระหว่างภาควิชาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์วัสดุ (Materials Science and Engineering) University of Virginia เราได้สัมภาษณ์กับทางภาคและคณะ จากนั้นเค้าจะแจ้งขอบข่ายและออกหนังสือรับรองให้ เราจะได้สิทธิ์ในการเข้าถึง resources ของ UVA เสมือนเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย เช่น มีบัญชีที่เราสามารถเข้าสู่ระบบไปไปดาวน์โหลดเปเปอร์มาอ่านได้ ซึ่งเป็นการเข้าถึงฐานข้อมูลที่ใหญ่ว่าที่ไทยมากค่ะ

หน้าที่หลักของอาจารย์พิเศษ คือเป็นทั้งที่ปรึกษาโปรเจกต์ที่นักศึกษา ป.โทและเอกกำลังทำ มีการติดตั้งอุปกรณ์ ดูแลศูนย์ควบคุม ซ่อม สอนวิธีใช้และหลักการทำงาน เวลาเด็กมีปัญหาเรื่องเครื่องมือก็มาปรึกษาเราได้อีกเหมือนกัน 

หลังจากทำ Postdoc ได้ 3 ปีก็ได้กลับไทยมาเป็นอาจารย์พิเศษพร้อมกับเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ ควบสองตำแหน่งประมาณ 2-3 ปี

(ซ้าย: ทางเดินไปร้านอาหาร
(ซ้าย: ทางเดินไปร้านอาหาร
ขวา: ระเบียงบ้าน Thomas Jefferson อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ก่อตั้ง UVa)

Relax & Recharge

ช่วงที่หนักที่สุดในการเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ คือการไม่ได้นอนติดต่อกัน 3 คืน ตอนนั้นสมองล้าไม่ไหวแล้ว ถ้าฝืนทำต่อทุกอย่างจะช้าลง หรือตอนที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลแล็บจนโฟกัสได้ไม่เต็มที่ ยังไงก็ต้องดีลกับตัวเอง เลยนั่งเขียนตารางเช้ายันเย็นไว้รายชั่วโมงเลย ต้องได้หัวข้อไหนบ้าง เขียนเสร็จกี่หน้า

ดังนั้นจึงอยากฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเรียน หากกำลังเครียดกับงานวิจัยหรือการสอบ Qualifying ให้ลองออกจากภาวะการอยู่คนเดียว ไปชาร์จแบตข้างนอก แฮงก์เอาต์กับเพื่อนบ้าง แล้วค่อยกลับมาใหม่ จะพูดคุยเพื่อระบายหรือหาจิตแพทย์ก็ได้ค่ะ เพราะถ้าเราดาวน์แล้วจมกับมัน ก็จะมีแต่ความกังวล สุดท้ายแล้วงานก็ไม่เดินอยู่ดี

ชวนกันไปดูกีฬา
ชวนกันไปดูกีฬา
Hiking กันที่ Humpback Rock ใกล้ๆ เมืองเราค่ะ (ขับรถไปประมาณครึ่งชั่วโมง)
Hiking กันที่ Humpback Rock ใกล้ๆ เมืองเราค่ะ (ขับรถไปประมาณครึ่งชั่วโมง)
เที่ยวไร่องุ่น
เที่ยวไร่องุ่น
ล่องแก่ง
ล่องแก่ง

ศึกษาหลักสูตรเพิ่มเติม 
Department of Physics

 

Website: http://www.phys.virginia.edu/ 

Facebook: @UVaPhysicsDept 

Twitter: @UVaPhysicsDept 

YouTube: UVa Physics
 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ชลธรรม 23 มี.ค. 66 00:22 น. 1

สวัสดีครับตอนนี้ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ มหาวิทยาลัยสารคามครับ แม่ผมลาออกแล้วครับ พ่อผมเสียครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด