รีวิวพิชิตสองทุนรวด! ‘จิมมี่’ เด็กทุน POSCO 2021 เรียนฟรีที่เกาหลีและค่าใช้จ่ายส่วนตัว (ติด ม.SKY) + ทุนอังกฤษ U.of East Anglia

สวัสดีค่าชาว Dek-D ใครเคยมีโอกาสใหญ่เข้ามาทักทายในเวลาไล่เลี่ยกันมั้ยคะ? ไม่แน่ว่าจังหวะชีวิตบางคนอาจจะเป๊ะจนเอาอยู่ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องปล่อยโอกาสไหนหลุดมือไปเลยก็ได้ เหมือนกับประสบการณ์ตรงของ “พี่จิมมี่-กษิดิ์เดช สมบูรณ์กิตติชัย” ที่เริ่มเรียน ป.ตรีสายรัฐศาสตร์แบบงงๆ แต่อาจารย์ก็มาจุดแพสชันจนหลงรักสายนี้จริงๆ ทำให้เริ่มลุยเก็บพอร์ตเพื่อทำตามความฝันที่อยากเป็นนักการทูต พร้อมกับปักหมุดว่าจะไปเรียนต่อ​ ณ แดนผู้ดีและแดนโสม

แต่เขาก็คือหนึ่งในคนที่เกิดข้อผิดพลาดทางเทคนิคจนพลาดทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ (GKS) แล้วรวบรวมกำลังใจและความตั้งใจใหม่อีกครั้ง จนมาได้ทุน「 POSCO Asia Fellowship 」ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และได้รับการตอบรับเข้าเรียนจาก ม.ชั้นนำกลุ่ม SKY ครบทั้ง 3 ที่ แล้วช่วงเวลาก่อนเดินทาง ก็แวะไปขอทุนเต็มจำนวนจนเรียนจบ ป.โท ที่ University of East Anglia ประเทศอังกฤษอีกใบ! ในนี้พี่เขาจะมารีวิวแต่ละพาร์ตให้ฟังค่ะ~

Part I : แลกเปลี่ยนที่ Science Po

. . . . .  .
เลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์แบบงงๆ
แต่เจอจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่!

“สวัสดีครับ ชื่อ ‘จิมมี่-กษิดิ์เดช สมบูรณ์กิตติชัย’ เรียนจบคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations: IR) จุฬาฯ ตอนนั้นเลือกคณะด้วยความคิดแบบเด็ก ม.6 ที่ยังหาตัวเองไม่เจอ รู้แต่ IR ดูเท่ดูเจ๋งดี คะแนนสอบเข้าสูง // ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเลือกแค่เพราะเท่นะครับ เราควรรีบหาตัวเองให้เจอเร็วๆ ไม่งั้นอาจเสียเวลากับทางที่ไม่ชอบ"

"แต่ผมโชคดีตรงที่เข้ามาแล้วเจอสภาพแวดล้อมเป็นแรงผลักดันให้สนใจด้าน IR ขึ้นมาจริงๆ เรื่องอาจารย์สำคัญมาก เค้าเคยเป็นนักการทูตมาก่อน มาสอนพร้อมกับแทรกประสบการณ์ทำงานให้คิดตามตลอดจนผมมีแพสชันอยากเป็นนักการทูต "

"ทีนี้ผมเป็นคนติดซีรีส์เกาหลีมากๆ เลยได้ลองไปเรียนภาษาเกาหลี และอยากลองใช้ชีวิตและเห็นวัฒนธรรมจริงๆ จึงมีความฝันอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เกาหลีครับ จนกระทั่งไปสมัครทุน GKS แล้วไม่ติด เฟลนิดนึงแต่ก็ยังไม่ล้มเลิก จนมาติดทุน POSCO Asia Fellowship”

. . . . . . .

รีวิวขอทุน POSCO Asia Fellowship 
(สมัครทุนกับสมัครเรียนแยกกัน)

“ผมได้ทุน POSCO เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 แล้วเริ่มเรียนกันยายน 2565 มีเวลาว่างเหลือปีนึง ฟีลทำงานยังไม่มา เลยไปสมัครเรียน University of East Anglia (UEA) แล้วได้เป็นทุนเต็มจำนวนครับ สรุปคือตอนนี้เรียนจบ ป.โท UEA แล้ว อยู่ระหว่างรอเดินทางไปเรียนต่อ ป.โทอีกใบที่เกาหลี // เดี๋ยวผมจะแชร์การขอทุน POSCO ต่อด้วยทุนและการเรียนที่ UEA นะครับ”

ทำไมทุน POSCO ถึงปัง?

POSCO (Pohang Iron and Steel Company) เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เช่น รถยนต์ เรือ สะพาน ฯลฯ ซึ่งองค์กรนี้จะมีทุน “POSCO Asia Fellowship” สำหรับคนเอเชียโดยเฉพาะ เป้าหมายคือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เติบโตเป็นผู้นำระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ดังนั้นเค้าจะเน้นผู้สมัครที่มีสกิล Leadership เพื่อมา lead ไปกับ POSCO (แต่เป็นทุนให้เปล่านะครับ ไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าต้องทำงานในบริษัทของเค้าหลังเรียนจบ) 

นอกจากสมัครทุนแล้ว เราจะต้องสมัครสาขาและมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง (แต่ละปีกำหนด List of Department ไม่เหมือนกัน) เลือกได้ 3 อันดับ ถ้าติดมหาลัยขึ้นมาบอกเลยว่า POSCO คอนเนกชันดีมากก เค้าจะมีกลุ่ม KakaoTalk ของ POSCO ไว้พาไปร่วมงาน เจอนักวิจัย อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีต่างๆ เหมือนกับพาเราออกงานสังคมเลย”

ตัวอย่างช่องที่ต้องกรอกใบสมัคร
ตัวอย่างช่องที่ต้องกรอกใบสมัคร
(ปีที่ผมสมัครมี IR แต่ปีล่าสุดเป็นแนววิทย์และวิศวะฯ ทั้งหมด)

ที่สำคัญคือทุนนี้ให้เงินสนับสนุนเยอะมาก!

  • ถ้าเรียนหลักสูตร ป.โท (Master) จะสนับสนุนค่าเล่าเรียน + ค่าครองชีพสำหรับ 4 เทอม หรือถ้า ป.เอก (Doctoral & Integrated Ph.D) จะสนับสนุนค่าเล่าเรียน 6 เทอม + ค่าครองชีพ 4 เทอม
  • ค่าครองชีพเดือนละ 1 ล้านวอน (ประมาณ 27,000 บาทไทย)
  • ค่าตั้งรกราก 1 ล้านวอน
  • ค่าประกันสุขภาพ
  • คอร์สภาษาเกาหลีออนไลน์ เรียนผ่าน Zoom
  • เงินรางวัลสนับสนุนอื่นๆ, โอกาสฝึกงานในเกาหลี ฯลฯ

เตรียมตัวตอนไหน?

ผมคิดเรื่องเรียนต่อตั้งแต่ ป.ตรี ช่วงปี 3 เทอม 2 และเตรียมสอบ IELTS ตอนปี 4 เทอม 1 (บางคนอาจใช้คะแนน TOPIK ก็ได้) และสมัครทุน POSCO ช่วงปี 4 เทอม 2 เพราะกระบวนการคัดเลือกจะเริ่มช่วงมีนาคม-เมษายน (มีสัมภาษณ์เหมือนทุนรัฐบาลเกาหลี)

*เกรดเฉลี่ย ป.ตรี (GPA) ที่ผมยื่นสมัครทุน POSCO = 3.86 ครับ

คำแนะนำเกี่ยวกับ SoP
(เรียงความแนะนำตัว)

“SoP หรือ Statement of Purpose จะเป็นพาร์ตนึงในใบสมัคร เขียนภาษาอังกฤษหรือเกาหลีก็ได้ครับ

  • Self-Introduction แนะนำตัว อาจจะเพิ่มเติมว่า ทำอะไรมาบ้าง เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ทำมา และสิ่งเหล่านั้นทำให้เราเป็น ideal candidate ยังไง
  • Goal of Study ศึกษาข้อมูลองค์กรและจุดประสงค์ของทุนให้ดี แล้วเขียนให้สัมพันธ์กับตอน Self-Introduction ว่าเราจะทำอะไรบ้างตอนเรียน เช่น เรียนภาษาเกาหลี ลงวิชาไหนบ้าง เพื่อจะเป็น leader ในการตีความของน้องๆ
  • Research Topic and Detailed Research Plan สำหรับสมัคร ป.โท และเอก ต้องส่งหัวข้อวิจัยและแผนวิจัยที่สนใจจะทำตอนมาเรียนที่เกาหลีด้วย
  • Future Plan after study in Korea ควรเริ่มว่า น้องจะทำอะไรในระยะสั้น กลาง และยาว (ซึ่งควรเป็นอาชีพ เพราะจับต้องได้มากที่สุด) และแพลนเหล่านี้สัมพันธ์กับอนาคตน้องยังไงครับ"

คำแนะนำ

“ฝากถึงน้องๆ ที่อยากขอทุนไปเรียนต่อสายภาษา/สังคม ควรหาโอกาสเข้าร่วม Debate, Seminar หรือ Conference ให้มากที่สุดเพื่อนำมาใช้ประกอบการสมัครทุน ซึ่งผมพยายามเก็บพอร์ตมาตั้งแต่ปี 1 เช่น

**ควรเล่าว่าแต่ละกิจกรรมช่วยเสริมหรือแสดงถึงภาวะผู้นำของเรายังไงบ้าง”

Cr. lifeforstock on Freepik.com
Cr. lifeforstock on Freepik.com

ผ่านรอบเอกสาร สู่รอบสัมภาษณ์

“ตอนนั้นผมแนะนำเป็นภาษาเกาหลี และสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษยิงยาว หลักๆ จะวัดเรื่องทัศนคติและสถานการณ์บ้านเมือง **ย้ำอีกครั้ง! อย่าลืมศึกษาข้อมูลองค์กรผู้ให้ทุนอย่างละเอียดนะครับ

สมัครสาขา/มหาลัยไหนบ้าง?

“อย่างที่เล่าว่าขั้นตอนสมัครทุนกับสมัครเรียนจะแยกกัน ผมสมัครคณะ IR ที่ SKY ล้วน ได้รับการตอบรับทั้ง 3 ที่แล้ว

  1. ม.แห่งชาติโซล* (Seoul National University)
  2. ม.โคเรีย (Korea University)
  3. ม.ยอนเซ (Yonsei University)

ตอนนี้ผมตัดสินใจแล้วว่าจะเรียนต่อ ม.เเห่งชาติโซล แต่ก็มีแอบเสียดาย ม.ยอนเซ นิดนึง เพราะ ม.ยอนเซ ให้ทุนเพิ่มเป็น Outstanding International Student Scholarship และทุนเรียนดีด้วย”

Seoul National University Library
Seoul National University Library
Cr. https://en.snu.ac.kr/ 

ใครวางแผนขอทุน POSCO ห้ามพลาด!

“สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนในการเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษหรือเกาหลี หรือประเทศอื่นๆ ผมมีรับให้คำปรึกษา, วิธีเขียน SOP, เทคนิคสมัครทุน สำหรับทุกองค์กรและมหาลัยทั่วไปด้วย เพื่อนๆน้องๆที่สนใจจะเรียนเป็นการส่วนตัวหรือรวมกลุ่มกันมาเรียนได้เลยนะครับ (FB: Kasidech Somboonkittichai)

“แล้วล่าสุดผมกับเพื่อนๆ ที่ติดทุน POSCO รุ่นเดียวกัน (ป.โท 4 คน และ ป.เอก 1 คน) มีเปิดช่อง YouTube “เกาเหลาที่เกาหลี” เพื่อคำแนะนำการสมัครทุน การเรียนในมหาวิทยาลัย เรียนต่างมหาลัยกัน) รอติดตามคลิปใหม่กันนะครับ ^^”

 

ข้อมูลทุน POSCO ปี 2022 (ปิดแล้ว)เว็บไซต์ทุน POSCO

___________________

มาลุยกันต่อกับพาร์ตขอทุน UEA
เรียน ป.โทรอที่ ม.ดังประเทศอังกฤษ!

https://results2021.ref.ac.uk/
https://results2021.ref.ac.uk/ 

**อันดับแรกคือต้องสมัครคณะและมหาวิทยาลัย UEA ให้ติดก่อน (เขียน SoP และ Study Plan) จากนั้นถึงจะสมัครทุนได้ครับ 

I. สมัครเรียน

“ผมสมัคร ป.โท สาขา Conflict Governance and International Development ของ UEA ครับ เป็นหลักสูตร 1 ปี ตอนแรกเข้าใจว่าใกล้เคียง IR แต่จริงๆ ต่างมากกก แต่ก็ตอบโจทย์กับเป้าหมายที่อยากเป็นนักการทูตเหมือนกัน”

“แนะนำว่าปัจจัยที่ควรใช้พิจารณาเลือกที่เรียนคือ Ranking อันดับมหาลัยในสาขาที่เราอยากเรียน อาจแลกกับค่าเทอมแพงนะครับ **แนะนำว่าต้องปรึกษาและถามความพร้อมของครอบครัวด้วย อย่างเช่น ถ้าผมไม่ได้ทุนเต็มจำนวน ผมก็คงไปเรียนต่อไม่ไหว เนื่องด้วยจากเศรษฐกิจช่วงโควิด // ค่าเรียนที่นี่ตก 17,600 ปอนด์ (ประมาณ 767,502 บาทตลอดหลักสูตร)”

ดังนั้นผมเลยดูทุนเป็นอันดับแรก ซึ่ง UEA คือ ม.ไม่กี่แห่งในในอังกฤษที่ให้ทุนเต็มจำนวน ใครสนใจลองดูข้อมูลทุนประเภทอื่นๆ ได้ที่นี่นะครับ แล้วถ้าจะสู้หาทุนค่าเรียนมาสมทบอีก ลองหาข้อมูลว่าเมืองที่ไปเรียนมีงาน Part-time ให้ทำเยอะมั้ย ที่ไหนบ้าง (วีซ่านักเรียนประเภท Tier 4 ทำงาน part-time ได้ 20 ชั่วโมง/สัปดาห์) ซึ่งผมเองในช่วงเวลาหนึ่งได้ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟด้วยครับ”

ศึกษาไกด์ไลน์สมัครเรียน

II. สมัครทุน

“ผมสมัครทุนเต็มจำนวน International Development : Full Fees Scholarship แบ่งเงื่อนไขผู้สมัครเป็น UK กับ non-UK ถ้าเป็นต่างชาติอย่างเราก็จะเข้าเงื่อนไข non-UK (แข่งกับคนทั่วโลก) อ้างอิงข้อมูลล่าสุด ทุนนี้จะครอบคลุม Faculty of Social Sciences และ International Development”

“ทุนจะกำหนดให้เราเขียนเรียงความยาวไม่เกิน 250 คำ อธิบายว่าหลักสูตรที่สมัครจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในอาชีพยังไงบ้าง และประสบการณ์กับความสนใจของเราจะช่วย contribute คลาสยังไงครับ เพราะการเรียน ป.โท คนในคลาสจากสิ่งที่แต่ละคนมาแชร์ด้วย ถ้าใครนึกภาพไม่ออก เดี๋ยวผมจะมารีวิวการเรียนในฟังต่อนะครับ”

ศึกษาข้อมูลการสมัครทุนนี้
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

. . . . . . .

สรุปชีวิตและการเรียนที่ UEA
เลิศทั้งบรรยากาศ หลักสูตร และสังคม

แคมปัสใหญ่ในเมือง Norwich

University of East Anglia อยู่ในเมืองนอริช (Norwich) เป็นอีกเมืองที่ปลอดภัยอันดับต้นๆ ของอังกฤษและเหมาะกับการมาเรียนมาก ส่วนใหญ่คนในเมืองจะเป็นนักเรียนกับคนรวยที่เกษียณแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน Norwich อาจไม่ตอบโจทย์คนที่อยากเจอสีสันแบบเมือง ทุกอย่างปิดเร็วมากกตั้งแต่ 6 โมงเย็น เราเลยได้โฟกัสตัวเองเต็มที่ อยู่กับธรรมชาติ แล้วก็อยู่กับหอเป็นส่วนใหญ่ครับ”

Cr. University of East Anglia (UEA)
Cr. University of East Anglia (UEA) 

“ข้อดีของ UEA คือแคมปัสใหญ่และบรรยากาศดี มีทั้งพื้นที่สีเขียว ทะเลสาบ และบาร์ แล้วทั้งในและนอกเมืองจะมี park เยอะ ใครอยากไปทะเลก็เดินทางจากเมืองไปทะเลได้ภายใน 30 นาที และของจะราคาถูกกว่าลอนดอนพอสมควร เดือนนึงอาจใช้สัก £200 ต่อเดือนก็อยู่ได้ (ประมาณ 8,700 บาทไทย, อ้างอิงเรต 1 ปอนด์ = 43.61 บาท)”

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

ได้เรียนประมาณไหน?
(ยกตัวอย่างวิชา)

ป.โท Conflict Governance and International Development ของ University of East Anglia เป็นหลักสูตร 1 ปีนะครับ ยกตัวอย่างวิชาแบบกว้างๆ  คือ

  • วิชา Governance, Democracy and Development ผมได้เปิดโลกว่าประชาธิปไตย (Democracy) มีอะไรมากกว่าที่เราเห็น ศึกษา สาเหตุ เป้าหมาย ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
  • วิชา Development Perspective จะมาแนวการเมืองการปกครอง ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ผมเรียนมา เริ่มจากทฤษฎีความทันสมัย (Modernization Theory) การพัฒนาระหว่างประเทศควรเป็นไปในทิศทางไหน วิชานี้ค่อนข้างยากและเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์/ตัวเลขเยอะ
  • วิชา Conflict, Civil Wars and Peace ได้เรียนว่าความมั่นคงระหว่างประเทศคืออะไร ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ความปลอดภัย การก่อการร้าย การทำสงคราม การสร้างสันติภาพ เทคโนโลยีการทำอาวุธ ฯลฯ ซึ่งผมว่า UK เป็นประเทศที่มีกรณีศึกษาเยอะมากครับ

*สามารถลงวิชาคณะอื่นได้ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาต้องอนุมัติ

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

เพื่อนร่วมคลาสต่างวัฒนธรรม
อาจารย์ดีกรีไม่ธรรมดา!

ผมไม่คิดเลยว่าจะได้เจอเพื่อนร่วมคลาสจากอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน แอฟริกา ไนจีเรีย ฯลฯ  และเหมือนจะมีผมคนเดียวที่ไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน เพื่อนทุกคนล้วนแต่เคยผ่านงาน UN หรือ NGO มาแล้ว เช่น บางคนเคยไปลง conflict zone ที่ซีเรีย ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย บางคนทำธุรกิจ หรืองานสาย Social Entrepreneurship ส่วนอาจารย์ก็ดีกรีโหดๆ ทั้งนั้น เค้าจะมาแชร์ประสบการณ์ทำงาน UN, NGO หรืองานวิจัยที่ทำ “

“ดังนั้นเวลาเรียนก็จะบันเทิงเลย อารมณ์เหมือนได้เสพข่าววงใน มีทั้งส่วน Lecture สลับโยนคำถาม + Seminar ที่เปิดกว้างให้คนมาแชร์ความคิดเห็น ทุกคนจะได้ฟังกรณีศึกษาของเพื่อนจากประเทศนั้นจริงๆ”

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

เรียนแบบ Academic Debate 

“การเรียนทุกเรื่องใน ป.โท จะเป็น Academic Debate แต่ละคาบจะมีไกด์หัวข้อมาให้คุยกัน เช่น อะไรคือสาเหตุของประชาธิปไตย, คิดว่าตอนนี้ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะวิกฤตรึเปล่า ฯลฯ เราก็ต้องเลือกฝั่งและหาเหตุผลมาสนับสนุน แสดงความชอบธรรมให้กับทุกอย่างที่ยกมา เช่น ระบุว่าข้อจำกัดคืออะไร โฟกัสเรื่องนี้เพราะอะไร เอาสถิติมาจากไหน ฯลฯ”

“ความแตกต่างนะครับ ผมคิดว่า ป.ตรี เค้าอาจสนใจว่าคำตอบจะสร้างสรรค์และเชื่อมโยงได้มากขนาดไหน แต่ ป.โท จะใช้สกิลการเขียน essay และ research ค้นหาข้อมูลแบบลงลึกกว่ามาก วิเคราะห์ถึงหลักฐานชั้นต้น ศึกษาบริบทเพื่อเอามา debate ในคลาส เช่น กรณีศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก โดยอาจารย์คาดหวังว่าเราจะต้องอ่าน 5 Articles/วิชา และ 15 Articles/สัปดาห์”

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

การบ้านไม่เยอะแต่โหด

“Final Paper 1 ตัว 100% ทุกวิชา ไม่มีคะแนนช่วยอื่นๆ เลย (ข้อดีคือไม่ต้องทำงานเยอะ แต่ข้อเสียคือทำให้รู้ตัวช้า) บางวิชากำหนด 3,000-5,000 คำ เน้นมากๆ ว่าห้ามเขียนเกิน 10 % เค้าจะกำหนดคำถามเป็นรายสัปดาห์ เช่น ถ้ามีเรียน 12 สัปดาห์ ก็จะมี 12 คำถามให้เลือกว่าเราจะทำ Final Paper หัวข้อไหน

แนะนำให้เข้าไปดู Google Scholar พิมพ์ keyword ที่สนใจแล้วนั่งค้นคว้าข้อมูลได้เลย จะมีปุ่มให้ดูว่า Article ไหนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นมาก ทักษะสำคัญที่ต้องใช้คือการอ่านสแกนเร็วๆ ว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจมั้ย 

ส่วนเงื่อนไขการจบ มหาลัยให้เลือกระหว่าง Dissertation (ทำวิทยานิพนธ์) หรือ Intern (ฝึกงาน) แต่หัวข้อผมคือ Conflict Governance ที่เกี่ยวกับการใช้หลักธรรมาธิบาลมาจัดการความขัดแย้ง ดังนั้นจะหา Work placements ยากมาก มหาลัยคงไม่อนุมัติแน่ๆ

ช่วงที่พีคสุดในชีวิต ป.โทคือก่อนสอบ มี 2 เดือนที่ต้องตื่นมาก็ต้องนั่งหน้าคอม อ่านหนังสือ ทำเปเปอร์ ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลยครับ วิธีผ่อนคลายคือเปลี่ยนที่อ่านหนังสือ ซึ่งห้องสมุดของ UEA ดีมากๆ มี 6-7 ชั้น แบ่งเป็นหลายโซน (โซนที่คุยได้ คุยได้นิดหน่อย โซนเงียบ ฯลฯ) และเปิด 24 ชั่วโมง ห้องคอมก็เยอะมากๆ หรืออ่านร้านกาแฟก็ได้”

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

ถึงจะอ่านหนัก วิจัยลงลึก 
แต่มีตัวช่วยหลายทาง

  • วิชาที่สอน Research Proposal เทคนิคการวิเคราะห์และทำวิจัย เช่น ถ้าจะทำวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ต้องทำ survey และวิเคราะห์ยังไงบ้าง และจะมีเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การสัมภาษณ์เชิงลึก 
     
  • มีคอร์สภาษาให้ฟรี เช่น Academic Writing, Reading Comprehension, Academic Writing, Speaking ส่วนการทำวิทยานิพนธ์ก็จะมีคอร์สให้ลงฟรีอีก เช่น สอนทำระเบียบวิธีวิจัย (Methodology)
     
  • UEA จะมี Housekeeping sessions ที่ให้คำปรึกษาเรื่องการเรียน การเขียนเรียงความ หรือการทำวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาจะลงมาถามเองนักเรียนว่าการเรียนติดตรงไหนมั้ย
     
  • UEA มีสัมมนาบ่อยมากทุกสัปดาห์ ให้นักเรียนปริญญาเอกมานำเสนอให้ฟังว่าทำวิทยานิพนธ์หัวข้ออะไร  ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และทำให้เราเห็นโครงสร้างการเขียนวิทยานิพนธ์ บางทีก็มีอาจารย์ภาค IR มาโต้วาทีว่าประเทศอังกฤษน่าจะมีปฏิกิริยายังไงต่อประเด็นปัญหายูเครนบ้าง **อันนี้คือจะมีประชาสัมพันธ์ตลอดนะครับ ถ้าสนใจหัวข้อไหนเข้าไปฟังได้เลย
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

บทสรุปภาพรวมชีวิต ป.โท

“การเรียน UEA เป็นประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ที่เข้มข้นและคุ้มค่ามาก ทำให้เราสนใจสายงานพัฒนาการของประเทศ อยากไปทำงาน NGO ใน conflict zone แล้วยังผลักดันให้อยากเรียน ป.เอกต่อด้วยครับ”

“ในขณะเดียวกัน เราต้องปรับตัวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รับมือกับความเหงา และรับผิดชอบตัวเองสูงยิ่งกว่าตอน ป.ตรี หลายเท่า เพราะเพื่อน ป.โท จะมีความ individual เพราะค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน เลิกเรียนแล้วแยกย้ายกลับบ้าน ไม่มีการมาจับกลุ่มติว กลุ่มไลน์ หรือชีทสรุปจากรุ่นพี่แบบนั้นแล้ว”

Cr.  Kasidesh Somboonkittichai
Cr.  Kasidesh Somboonkittichai

เพจหลักมหาวิทยาลัย

https://www.facebook.com/ueaofficial 

 เว็บไซต์คณะ

https://www.uea.ac.uk/course/postgraduate/ma-conflict-governance-and-international-development 

ช่องทางหลัก UEA

https://linktr.ee/uniofeastanglia 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น