รีวิว 17 ข้อจากรุ่นพี่ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่เตรียมขอทุน ปรับภาษา(ปี0) จนจบวิศวะที่ Osaka University!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครกำลังเริ่มเตรียมตัวหรือตามหารีวิวเรียลๆ จากรุ่นพี่นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (ทุนมง, Monbukagakusho ; MEXT) ไว้เติมแพสชัน วันนี้เราจะพาไปคุยกับ “พี่ตั้ม–ปิยะพงษ์ ศิริสุทธานันท์” ที่จะมาแชร์เรื่องราวตั้งแต่ก้าวแรกที่เตรียมตัวขอทุนแต่ละด่าน ปรับภาษา 1 ปี จนก้าวสู่การเรียนปี 1-4 ภาควิชาวิศวะฯไฟฟ้าใน Osaka University บอกเลยค่ะว่าเข้มข้นและสู้ชีวิตทุกสเต็ป รวมถึงมี #รีวิวญี่ปุ่น แง่มุมที่น่าสนใจอีกด้วย

ที่สำคัญ!! ห้ามพลาดงานแฟร์ Dek-D’s Study Abroad Fair ครั้งแรกของพวกเราในวันที่ 7-8 ตุลาคม 2566 ที่ไบเทคบางนา (ฮอลล์ EH98) ซึ่งมีหนึ่งในไฮไลต์คือบูธปรึกษา 16 รุ่นพี่ทุนยอดฮิต (รวมถึงพี่ตั้ม นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น) อ่านจบสงสัยอะไรจดไว้ แล้วมาปรึกษาในงานนี้ได้เลย!

**บทสัมภาษณ์นี้อิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของเจ้าของเรื่อง กระบวนการรับสมัครและการเรียนการสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากนี้

. . . . . . . . .

1. จบสายวิทย์-คณิต ไปพร้อมพื้นภาษาญี่ปุ่นเป็นศูนย์

แนะนำตัวก่อนนะครับ ผมเรียนจบม.ปลาย สายวิทย์-คณิตที่ รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ แล้วได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อปี 2012 ไปเรียนต่อ ป.ตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ของ Osaka University ครับ รวมระยะเวลาอยู่ญี่ปุ่นคือ 5 ปี (ปรับพื้นฐาน 1 ปี และเรียน ป.ตรี 4 ปีนะครับ) 

ตอนขอทุนก็คือไม่มีพื้นภาษาญี่ปุ่นเลย ผมเจอทุนจากข่าวประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน แล้วรู้สึกว่าข้อเสนอทุนน่าสนใจมาก เป็นทุนให้เปล่า เรียนฟรี 5 ปี ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ตอนสมัครจะมี 3 รอบคือ 1) รอบเอกสาร 2) รอบข้อเขียน 3) รอบสัมภาษณ์ 

Osaka castle and cherry blossoms in spring. 
Osaka castle and cherry blossoms in spring. 
Photo by tawaichai07 on Freepik

2. ด่านแรกคือรอบเอกสาร ตอบคำถามและตรวจแกรมมาร์ให้ดี

ในใบสมัครมีคำถามทั่วไปให้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ทำไมสนใจทุนนี้ ทำไมอยากเรียนวิศวะ ฯลฯ ตอนนั้นผมเองก็หลาย draft มากกก เขียนๆ ลบๆ มีให้อาจารย์ช่วยตรวจแกรมมาร์ด้วย (น้องๆ อาจรบกวนให้ครูภาษาอังกฤษช่วยเช็กให้)

ส่วนเรื่องกิจกรรมนะครับ ข้อดีคือ รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ เค้าจะมีกำหนดชั่วโมงบังคับให้ทำกิจกรรมภายในช่วง 3 ปี เช่น เข้าค่าย, สร้างห้องสมุดที่ต่างจังหวัด ฯลฯ ทำให้เรามีประสบการณ์ในพอร์ตอยู่แล้ว นอกนั้นที่ใส่ไปก็มีเตะบอล, กิจกรรมสายวิชาการ เช่น สอบโอลิมปิกวิชาการฟิสิกส์ แล้วได้เข้ารอบลึกๆ

3. ด่านต่อมาคือรอบข้อเขียน ความยากประมาณที่เด็กญี่ปุ่นใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย

หลังจากส่งเอกสารแล้ว ก็รอประกาศรายชื่อคนผ่านเข้ารอบไปสอบข้อเขียนต่อ ทุนนี้จะสอบก่อนทุนอื่นนานมากๆ สักช่วง ม.6 เทอม 1 

อ้างอิงจากที่ผมเจอคือความยากและเนื้อหา เทียบได้กับข้อสอบที่เด็กญี่ปุ่นใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่นั่นเลย มีทั้งที่ตรงหรือไม่เคยเจอในหลักสูตรไทย ไม่ก็เป็นเนื้อหาที่บางโรงเรียนสอนตอน ม.6 เทอม 2 (แต่ทุนนี้สอบตอน ม.6 เทอม 1 แปลว่าเราต้องไปอ่านเพิ่ม) ตอนนั้นผมเรียนจบ ม.ปลายจากมหิดลวิทย์ฯ หลักสูตรจะค่อนข้างเกิน ม.ปลายไปแล้ว แต่น้องๆ สามารถหาอ่านเองเพิ่มได้ครับ

ที่คิดว่ายากคือเคมีอินทรีย์, คณิตมีแคลคูลัสที่ดูเกินมาหน่อยๆ นอกนั้นจะมีศัพท์เฉพาะที่ใช้พิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ สำหรับฟิสิกส์ผมว่าครอบคลุม ม.6 แต่ต้องอ่านให้ทัน เช่น ฟิสิกส์อะตอม, ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ฯลฯ 

ข้อสอบจะแบ่งเป็นวิทย์กับศิลป์

  • วิทย์ มีสอบวิชาคณิต, เคมี, อังกฤษ, ฟิสิกส์/ชีวะ (ขึ้นอยู่กับสาขาที่จะเข้าเรียน อย่างผมคือวิศวะฯ ได้สอบฟิสิกส์ แต่ถ้าใครตั้งใจไปเข้าแพทย์ก็จะได้สอบชีวะ
  • ศิลป์ มีสอบวิชาคณิต กับภาษาอังกฤษ

ตอนนั้นผมเน้นดูข้อสอบเก่าว่าแนวไหน คำที่ใช้เสิร์ชจะประมาณว่า “ข้อสอบ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น” หรือ “japan university admission exam” หรือ “EJU” ดูทั้งข้อสอบเก่าและข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับชาวต่างชาติ (เป็นภาษาอังกฤษหมด) สรุปคืออ่านให้เคลียร์ + ดูศัพท์เฉพาะ บางคนเก่งวิชานั้นมากๆ แต่ไม่ได้เตรียมศัพท์เฉพาะภาษาอังกฤษมา เลยแปลโจทย์ในห้องสอบไม่ได้ คะแนนก็หายอย่างน่าเสียดายเลยครับ

4. ติดตามสถานการณ์ก่อนไปสอบสัมภาษณ์ 

พอผ่านข้อเขียนก็เตรียมสัมภาษณ์ต่อ มีทั้งคำถามพื้นฐาน เช่น ชอบอะไรที่ญี่ปุ่น ทำไมต้องประเทศนี้ ทำไมเลือกวิศวะ ฯลฯ ตอนนั้นผมไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตและเตรียม Portfolio ไปด้วยครับ (แต่หลังจากมีโควิดอาจมีการเปลี่ยนแปลง) นอกจากนี้คำถามอาจขึ้นอยู่กับว่า ณ ปีนั้นมีเหตุการณ์พิเศษอะไรเกิดขึ้น

5. ผ่านสัมภาษณ์แล้วก็ยังชิลไม่ได้

*เค้าจะประกาศผลรอบสัมภาษณ์เร็วมาก ม.6 เทอม 1 แต่ไม่ใช่สบายตัว ปล่อยจอย 100% ได้ขนาดนั้น เพราะยังมีรอบสุดท้ายที่รู้ผลสักเดือนมกราคม ทางทุนจะเอาคะแนนเรา + บทสัมภาษณ์ไปเทียบกับนักเรียนต่างชาติทั้งหมดที่สมัครทุนนี้ (และถ้าอิงจากรุ่นผม คนไทยส่วนมากประมาณ 80-90% ผ่านรอบนี้นะครับ)

Photo Credit: Osaka University
Photo Credit: Osaka University

6. ต้องรู้ก่อนว่าจะเลือกเรียนอะไร แล้วตัดสินใจเลือกสาขาเฉพาะตอนไปญี่ปุ่น (แล้วแต่มหาลัย)

ตอนสมัครทุน เค้าจะให้ระบุเบื้องต้นก่อนว่าจะเลือกเรียนอะไร เช่น ผมเขียนไปว่าวิศวะฯ ไฟฟ้า แล้วจะได้เลือกอีกทีตอนไปญี่ปุ่น แต่เค้าไม่ได้ fix ว่าห้ามเปลี่ยนภาคนะครับ ส่วนมหาวิทยาลัยจะได้เลือกตอนหลังปรับภาษาเหมือนกัน เดี๋ยวจะเล่าต่อในพาร์ตหลังจากนี้

แต่ต้องบอกว่าระบบแต่ละมหาลัยจะต่างกัน เช่น มหาลัย A อาจให้เลือกแค่คณะนักศึกษาคณะวิศวะฯ จะเรียนเหมือนกันหมด แล้วค่อยเลือกภาคที่เราจะเรียนในปีต่อไปครับ กรณีผมคือ ม.โอซาก้า เริ่มมาถึงต้องเลือกภาคก่อนแต่ยังไม่ไฟนอล ตอนนั้นเค้าจะมี 2 ภาคย่อยคือไฟฟ้ากับสื่อสารที่เรียนปีแรกด้วยกัน พอปี 2 ก็ค่อยตัดสินใจเลือกภาค

แทรกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับ “ชื่อมหาวิทยาลัย” มากๆ เลยนะครับ มีคนที่ซุ่มฝึกกวดวิชาหลายปีเพื่อให้ได้เข้ามหาลัยดีๆ พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ก็ถือว่าโล่งไปเปราะใหญ่ สามารถ relax ขึ้น แบ่งเวลาไปทำกิจกรรม เข้าชมรม หาคอนเนกชันได้แล้ว ส่วนกรณีเราได้ทุน ก็จะมีกำหนดว่าเกรดห้ามต่ำกว่าเท่าไหร่ถึงจะไม่หลุดทุน

7. ช่วงปีศูนย์ เหมือนเค้าจะปั้นเราเป็นซูเปอร์แมน 

มาถึงเราจะต้องสอบวัดระดับเพื่อจัดห้องให้ได้เรียนรวมกับคนที่มีพื้นฐานเหมือนกัน เช่น ห้อง 1-3 เป็นระดับแอดวานซ์ ได้เรียนหลักสูตรนึง ห้อง 4 อาจเก่งรองลงมาหน่อย ห้อง 5-8 สำหรับคนที่ยังไม่มีพื้นฐาน

ผมขอเรียกปีปรับภาษาว่าปี 0 นะครับ ผมว่าปีนี้สนุกมากเพราะทุกคนเป็นต่างชาติที่ใหม่และรู้ภาษาญี่ปุ่นพอๆ กัน ช่วงเช้าได้เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก และช่วงบ่ายเจอวิชาฟิสิกส์ เคมี คณิต​ ความรู้ญี่ปุ่นทั่วไป เนื้อหาวิชาเฉพาะจะอยู่ช่วง ม.ปลายและมีบางบทดึงจากมหาลัยปีหนึ่งมาด้วย เราจะคุ้นเคยกับคำศัพท์เฉพาะของวิชานั้นๆ มากขึ้น

ช่วงปีนี้เค้าเหมือนอยากปั้นเราให้เป็น superman เพราะพอขึ้นมหาวิทยาลัยแล้วเราจะได้เรียนกับเพื่อนญี่ปุ่นทั้งคลาส และสิ่งที่กระตุ้นให้ตั้งใจเรียนภาษาสุดๆ คือการสอบ 3 วันครั้ง เป็นแบบนี้ไป 9 เดือนต่อเนื่อง  ผมได้ว่าได้ผลดีเลย ถ้าไม่ท่องจะลืมง่ายมาก แล้ววันต่อมาก็จะ โหมาอีกละ ของใหม่!! 

แต่ถามว่าคะแนนการสอบ 3 วันครั้งนั้นมีผลกับมหาวิทยาลัยที่เค้าจะจัดให้มั้ย คือแบบนี้ครับ ตอนปี 0 เค้าเอาคะแนนแค่ตอนสอบกลางภาคกับปลายภาคมาเทียบกับชาวต่างชาติที่ได้ทุนนี้เหมือนกันเท่านั้น (ไม่ได้เอาคะแนนสอบทุก 3 วันครั้งอันนั้นมาคิด) แล้วนำมาจัดเกรดว่าคะแนนเราอยู่ระดับไหนเทียบกับเพื่อน เพื่อจัดมหาวิทยาลัยให้นักเรียนตาม rank // หมายความว่าถ้าคะแนนดีจะเข้ามหาวิทยาลัย rank สูงๆ ได้

8. ตอนขึ้นปี 1 นี่แหละของจริง!

ถ้าให้เปรียบเทียบคือตอนปี 0 ที่อยู่ในโรงเรียนสอนภาษาคือช่วงที่เราถูกประคบประหงมอย่างดี สื่อสารกันช้าๆ ชัดๆ ศัพท์ง่ายๆ คนที่คุยบ่อยสุดแต่ละวันคือเพื่อนที่เรียนศัพท์ระดับเดียวกัน รองลงมาคืออาจารย์ที่เค้าเลือกมาแล้วว่าควรใช้ศัพท์ไหนในการสื่อสาร

ส่วนของจริงคือตอนปี 1 เค้าจะถือว่าเราเป็นคนญี่ปุ่นคนนึงเลย ช่วงนั้นก็  เฮ้ยยย ทำไมฟังไม่รู้เรื่อง เหมือนไปฟัง rap ผสมภาษาถิ่นอีก เจอหลายคำที่ไม่คุ้น แรกๆ เลยต้องเปิดหนังสืออ่านอย่างเดียวเพราะยังพออ่านญี่ปุ่นได้อยู่ 

แต่ข้อดีคือด้วยความที่เรียนสายวิทย์มาเลยทำให้พอจับประเด็นได้ ปี 1 มีหลายวิชาที่เราปูพื้นฐานมาก่อนแล้วตั้งแต่ตอนเรียนมหิดล และการเรียนวิศวะฯ จะสื่อสารกันด้วยสมการ (ผมคิดเอาว่าน่าจะไม่ซีเรียสเท่าสาขาสายศิลป์ที่ต้องฟังบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นตลอด) ช่วงปี 2-3 ผมใช้เปิดเทียบกับเนื้อหาหลักสูตรอเมริกามาเทียบมาฟังช่วยเสริม ตอนนั้นยังมีคอร์สฟรีครับแต่ไม่เยอะ

9. ถึงเป็นเด็กทุนก็รู้สึกสู้ชีวิตเหมือนกัน

ปีแรกในสัปดาห์นึงจะเรียน 15 วิชา ปีหลังๆ คาบน้อยลง ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นนักเรียนทุนจะได้เปรียบตรงที่เรียนได้ทุกอย่างโดยไม่เสียเงิน 

แต่!! มีวิชานึงที่ลังเลว่าจะลงดีมั้ยนะ สุดท้ายก็ลง พอไปๆ มาๆ ก็ลังเลอีกว่า เอ๊ะ จะถอนดีมั้ย จำได้ว่าเป็นวิชาเกี่ยวกับสัญญาณไฟฟ้า ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เนื้อหาเยอะมากแต่ฝืนมาจนตอนสอบ สมมติเนื้อหามี 100% เราอาจรู้แค่ครึ่ง แต่ต้องเข้าใจอีก 50% ให้ได้ภายในสัปดาห์สุดท้าย จุดนั้นจะทิ้งก็เสียดาย รู้เรื่องประมาณนึงแค่ไม่สุด อยู่ในความก้ำกึ่ง ไหนๆ ก็เลยเอาวะะะ ถึงกับต้องเอาข้อสอบเก่ามาดูแล้วใช้วิธีท่องจำ

ปกติก็จะมีวิชาที่ให้ไปอ่านเพิ่ม ทำให้เรา keep up ในห้องเรียนได้ (ขึ้นอยู่กับวิชา) แล้วจะมีวิชาที่เรียนจบสั่งการบ้าน ทำให้ได้ทบทวนเนื้อหา กับบางวิชาที่สอนเรื่อยๆๆๆๆ เราก็ ทิ้งๆๆๆๆ 5555 สุดท้ายก็มาสะสมตอนใกล้สอบ

Osaka, Japan 
Osaka, Japan 
Photo by D Konishi on Unsplash

6. ถ้าให้เรียงลำดับความเหนื่อย ก็จะประมาณนี้

  • ยากสุดคือปี 0 (เรียนภาษา)  และปี 4 (ทำวิจัย/ธีสิสจบ)
  • รองลงมาคือปี 1 ปรับตัวเยอะยิ่งกว่าปี 0 แต่ไม่ได้เหนื่อยกับวิชาการครับ

พอขึ้นปี 2 เป็นต้นไปจะเจอเนื้อหาใหม่หมดเลย ปีที่ใช้ความพยายามเยอะมากคือช่วงปี 2 เทอม 2 วิชามีความเฉพาะทางมากขึ้น แถมต้องเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่น + ทำแล็บ บางคนไม่มีปัญหากับการเขียนรายงาน แต่ผมที่ภาษาญี่ปุ่นยังไม่แน่นก็ลำบากพอสมควร แต่ถ้าหนักสุดคือปี 4 ถึงไม่มีสอบ แต่ต้องทำวิจัย/ธีสิสจบ

7.อยาก expert ด้านไหน ปี 4 ให้เลือกทำธีสิสด้านนั้น

ปกติจะมีแล็บทั่วไปที่ต้องทำประกอบวิชาเรียน (ปี 1-3) และทำวิจัย/ธีสิสจบ (ปี 4)

แล็บญี่ปุ่นค่อนข้างจริงจังครับ ก่อนจะเข้าปี 4 ต้องเลือกว่าสนใจเข้าแล็บไหน หรือพูดง่ายๆ ว่าเราอยากเป็น expert ด้านไหน (เช่น ควอนตัม, คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า, ไฟฟ้ากำลัง, อิเล็กทรอนิกส์​ ฯลฯ) พอเลือกเสร็จ สิ่งที่เราเลือกจะไปโยงกับแล็บของอาจารย์ดังๆ ระดับศาสตราจารย์

มหาลัยจะมีแล็บของตัวเอง และบางแล็บ co กับเอกชนด้วย เช่น ร่วมมือกับบริษัท A บริษัทก็จะกำหนดหัวข้อมาว่าอยากให้ทำวิจัยหัวข้อนี้ และทุ่มงบสำหรับทำวิจัยมาให้ อาจารย์แล็บก็จะจัดการต่อว่า โอเค เราได้ทุนวิจัยมานะ จะต้องทำเรื่องนี้ // แล็บนี้จะมีความเข้มข้นครับ เค้าจะกำหนดธีมให้ทำวิจัย แต่บางแล็บแค่ทำวิจัยออกมาแต่ไม่ได้เป็น partner กับบริษัทเอกชน

8. เรียนหนักก็ต้องแบ่งเวลาให้กิจกรรมด้วย

ผมคิดว่าระบบกิจกรรมที่ญี่ปุ่นดีมากเพราะทำให้นักเรียนนักศึกษาเลือกเส้นทางของตัวเองได้ แล้วนอกจากชื่อมหาลัย คนญี่ปุ่นยังโฟกัสกิจกรรมด้วยนะครับ สมมติเรียนจบแล้วไปสัมภาษณ์ที่นึง เค้าอาจถามเลยว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย คุณอยู่ชมรมไหนมาก่อน เป็นเหตุผลที่เด็กญี่ปุ่นตั้งใจเข้าชมรมไปหาเพื่อน รุ่นพี่ สร้างคอนเน็กชันกัน

หลักๆ กิจกรรมที่ผมทำก็เตะบอลแหละ 5555 ที่เจอมาจะมีทั้งชมรมเล่นๆ แบบเตะบอล หรือชมรมจริงจังที่มีแมวมองมาคว้าตัวคนเก่งๆ ไปเข้าสโมสรเป็นนักเตะมืออาชีพ หรือชมรมร้องเพลง สมมติเดือนนี้ต้องไปร้องที่หอประชุม ก็จะวางแผนซ้อมกันจริงจัง ทำให้คนในชมรมสนิทกันมากขึ้นครับ

ผมว่าถ้าใครชอบกีฬาจะแฮปปี้มากเลยนะ ที่นี่มีแข่งกีฬาคันไซ (Kansai) ที่เด็กต่างชาติของ ม.โอซาก้า จะมาแข่งกีฬากัน เช่น ฟุตบอล เทนนิส บาสฯ หรือบางทีต่างชาติก็ชวนคนญี่ปุ่นมาร่วมทีมด้วย แล้วก็จะมีเทศกาลกีฬาของคนไทยที่จัดในโอซาก้าหรือโตเกียวด้วย

และอีกประสบการณ์ที่ดีมากเหมือนกันคือตอนปี 4 ผมได้เป็นประธานเมืองโอซาก้า หน้าที่คือจัดรับน้องให้กลุ่มเด็กไทยที่มาแลกเปลี่ยนปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้รุ่นพี่รุ่นน้องได้รู้จักกัน และประสานงานกับสมาคมนักเรียนไทยในญี่ปุ่นจัดกิจกรรมต่างๆ ครับ

ทัวร์บรรยากาศ Osaka University ได้ในคลิปนี้

ช่องทางหลักของมหาวิทยาลัย

10. มาญี่ปุ่นจะได้เจอความใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่บนท้องถนน รถสาธารณะ หรือแม้กระทั่งค่าไฟ

  • บ้านเมืองสะอาด เป็นระเบียบ และการจัดผังเมืองดีมาก ญี่ปุ่นจะเน้นให้มหาลัยอยู่ชานเมือง ส่วนที่ทำงานอยู่ในเมือง ซึ่งต่างจังหวัดของญี่ปุ่นก็ยังเจริญนะครับ ผมเคยไปต่างจังหวัด คนส่วนใหญ่จะนั่งรถไฟฟ้ากับรถบัสเป็นหลัก (แท็กซี่แพงมาก ประมาณคูณห้าคูณหกจากไทย)
     
  • ถนนมีเลนจักรยาน ผมอยู่หอใกล้ๆ ก็สามารถปั่นจักรยานไปมหาลัยทุกวันได้ 
     
  • รถบัสยังค่อนข้างมีมาตรฐาน จำได้เลยว่าเค้าใส่ใจประชาชนจริงๆ อย่างเช่น รถบัสจะระบบไฮดรอลิกปรับให้ตัวรถเอียงซ้ายลงมาเพื่อให้คนขึ้นง่ายๆ หรือถ้ามีผู้พิการนั่งเข็นมา คนขับก็จะนำแผ่นลาดเอียงมาวางเพื่อเข็นรถเข็นขึ้นไปได้ 
     
  • รถไฟเค้ามาตรงเวลา แปลว่าถ้าใครมีนัดประชุมแล้วมาสาย มีเหตุผลเดียวเลยก็คือตื่นสาย อ้างรถดีเลย์ไม่ได้ 555 (แต่รถไฟของญี่ปุ่นซับซ้อนจริงงงง ผมไปสถานีพวกนี้ทีกลับเจอคนญี่ปุ่นมาถามทางด้วยซ้ำ)
     
  • เราสามารถ plan ค่าไฟที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของตัวเองได้ เช่น ถ้าอยู่บ้านตลอด เลือกแผน A ดีกว่า แต่ถ้าอยู่แค่ช่วงเช้ากับเย็น เลือกแผน B จะช่วยประหยัดมากกว่า
Photo by Ling Tang on Unsplash
Photo by Ling Tang on Unsplash 

11. อย่าแปลกใจถ้าคนญี่ปุ่นจะชอบนัดเวลาแปลกๆ

อย่างเช่น “เจอกันตอน 8.26 นะ!”

เค้าไม่สนใจการปัดเศษให้เป็นตัวเลขกลมๆ เลยครับ น่าจะติดมาจากตารางเดินรถบัสรถไฟ เพราะเป็นประมาณนี้หมด ตอนแรกก็งงๆ แต่พอเจอบ่อยเข้าก็จะไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลก

12. ถ้าย้อนเวลาได้ จะบอกตัวเองให้เที่ยวเยอะๆ

จริงๆ ก็เที่ยวเยอะแล้ว แต่ยังมีอีกหลายที่ที่อยากไป แต่ผลัดมาเรื่อยๆ เพราะคิดว่าเดี๋ยวกลับไทยแล้วบินมาอีกก็ได้ // ไม่ได้คิดเลยว่าจะมีโควิด จนตอนเนี้ยก็ยังต้องรอยาวๆ เลยครับ

13. เดินเข้าร้านอาหารสุ่มๆ ยังเจอร้านเด็ด มาพร้อมสูตรลับเฉพาะ

ผมเคยไปสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่นสถานีนึง แล้วคือหิวมากกกก เลยเข้าแบบแรนดอมๆ เหมือนจะไปแรนดอมเจอร้านดัง พอกินแล้ว เฮ้ยยย ร้านแกงกะหรี่ในญี่ปุ่นแต่ละร้านคือมีสูตรลับเฉพาะของตัวเอง หรือจะเป็นเมนูอุด้ง ราเมน ชื่อเดียวกันก็ไม่เบื่อ หรืออย่างราเมนบางร้านยังมีเมนูเฉพาะหน้าร้อนด้วยนะครับ

14. จบแล้วกลับมาเปิดสำนักพิมพ์ที่ไทย ใช้ความรู้เต็มๆ

ตอนนั้นผมคิดว่าจะกลับไทยอยู่แล้ว เลยไม่ได้หางานที่ญี่ปุ่นครับ (แต่ตอนนี้เปิดสำนักพิมพ์บิงโก เน้นทำหนังสือแปลภาษาญี่ปุ่นหรือหนังสือจากอเมริกา) เพียงแต่ตอนทำธีสิสปี 4 ก็เหมือนได้ฟีลทำงานที่นั่นจริงๆ เค้าจะกำหนดหัวข้อ อาจมีเรื่องกำหนดเวลาและค่าตอบแทนมาให้ โดยเฉพาะคนที่ได้ไปทำแล็บที่เป็น partner กับบริษัทเอกชนก็จะยิ่งเจอบรรยากาศการทำงานแบบจริงจังอย่างที่เล่าไปในข้อ 7. ครับ

15. เห็นภาพวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นได้จากซีรีส์เรื่องนี้!

“Hanzawa Naoki” (2013) ชื่อญี่ปุ่นคือ 半沢直樹 ส่วนชื่อไทยคือเฉือนคมนายธนาคาร เก่าหน่อยนะครับแต่ดังและเรตติ้งแรงมากกก เพราะนำเสนอความจริงที่หลายคนไม่กล้าพูดออกมา

Cr. https://asianwiki.com/
Cr. https://asianwiki.com/

16. ได้เปิดรับและซึมซับทัศนคติ

การไปเป็นนักเรียนทุนทำให้ผมได้เปิดโลก นอกจากเทคโนโลยีที่สุดยอดของที่นั่น ยังได้ไปซึมซับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และทัศนคติของเค้า เพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนตั้งใจและมีระเบียบวินัยมากๆ ซึ่งผมว่าช่วง ป.ตรีเป็นช่วงสำคัญของชีวิตเลย ถ้าเกิดเราไปซึมซับทัศนคติเหล่านี้มา สิ่งเหล่านั้นจะติดตัวไปทั้งชีวิต แล้วชีวิตทั้งชีวิตของเราก็จะดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง 

17. You’re Invited! เจอพี่ตั้มได้ในงาน Dek-D’s Study Abroad Fair

ขอเชิญทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งในงาน Dek-D’s Study Abroad Fair ของ Dek-D ในวันเสาร์ที่ 7 และอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม 2566 นี้กันค่ะ เข้าร่วมฟรี!

  • พบกับเอเจนซีชั้นนำมากมาย จากหลากประเทศ หลายสาขาวิชา พร้อมช่วยเหลือเรื่องเรียนต่อตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น ทั้งเรื่องเอกสาร สมัครเรียนให้ จัดแจงวีซ่า จองที่พัก และความพร้อมด้านต่างๆ ให้บินไปเรียนแบบ Perfect Planning!
  • โปรแกรมบริการ และฐานกิจกรรมมากมาย เพื่อช่วยวางแผนการสมัครเรียนต่อต่างประเทศ
  • โต๊ะปรึกษา 1:1 กับรุ่นพี่นักเรียนไทยที่ได้ทุนสุดฮิต 16 คน ทั้งทุนรัฐบาลเกาหลี, ทุน EGPP (ม.สตรีอีฮวา), ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น, ทุนรัฐบาลไต้หวัน, ทุนรัฐบาลอินเดีย, ทุนรัฐบาลไทย, ทุน Chevening, ทุน DAAD, ทุน ERASMUS, ทุน Franco-Thai ฯลฯ เล็งทุนไหนไว้ หรืออยากค้นหาประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ห้ามพลาด!

งานจะจัดขึ้นที่ไบเทคบางนา ฮอลล์ EH98 (BTS บางนา ทางออกประตู 1) มี skywalk เชื่อมไปไบเทคบางนาชั้น 2 โดยจัดพร้อมกับ Dek-D’s TCAS Fair ด้วย! เท่ากับว่ามาครั้งเดียวจะได้ค้นหาตัวเองและหลักสูตรที่ตอบโจทย์ ซึ่งอาจจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศก็ได้  ว่าแล้วก็สะกิดชวนเพื่อนหรือผู้ปกครองด่วนๆ เลยค่าา :D

สุดท้ายจริงๆ แล้ว
ทำไมพี่ตั้มถึงตอบรับคำเชิญมาเป็นรุ่นพี่ประจำบูธ? 

“ย้อนไปช่วงขอทุน ผมได้คำแนะนำเยอะมาก พอตัวเองผ่านจุดนั้นมาแล้ว เราก็อยากอยู่ในบทบาทที่แชร์ประสบการณ์กับคำแนะนำออกไป เพราะเราเข้าใจเด็กที่อยากชิงทุนไปต่างประเทศ เราเคยอยู่จุดนั้น เคยกระวนกระวาย เพื่อเดินตามเส้นทางที่อยากทำ ถ้าขาดข้อมูลไปจะน่าเสียดายมาก พอมีงานนี้ขึ้นมาผมไม่อยากปฏิเสธเลยครับ ผมรู้ว่าคำแนะนำจากรุ่นพี่จะมีประโยชน์มากจริงๆ”

 

เข้าสู่เว็บไซต์หลักงานแฟร์ต่อนอก!
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น