ได้ทุนเต็มจำนวน APS ไปบุกถิ่น ‘Costa Rica’ เรียน ป.โทสาย Sustainability พ่วงตำแหน่งประธานนักเรียน!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ตอนนี้ทั่วโลกกำลังพยายามผลักดันประเด็น “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถ้าใครอยากเจาะลึกและตั้งเป้าจะเรียนต่อต่างประเทศอยู่แล้ว วันนี้เราจะพาไปรู้จักทุนเต็มจำนวนชื่อ The Asian Peacebuilders Scholarship (APS) และอ่านรีวิวมันส์ๆ ของ “พี่กรุ๋งกริ๋ง” (เจ้าของเพจ @krungkringtales) รุ่นพี่ที่ได้ทุน APS ไปเรียนฟรี ป.โท สาขา Responsible Management & Sustainable Economic Development (RMSED) และ Social Development หลังเรียนจบจะได้ 2 ปริญญาจากมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์และคอสตาริกา 

บอกเลยว่าเป็นการเรียนในและนอกห้องเรียนที่ครบรส ท่ามกลางบรรยากาศที่หลากหลายทั้งแง่เชื้อชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์ทำงาน แถมยังได้เที่ยวแบบคุ้มๆ ด้วย~ ตามมาขยายกันเลยค่ะ!

แนะนำตัว

สวัสดีค่า ชื่อพี่กรุ๋งกริ๋งนะคะ เรียนจบ ม.ปลาย จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ป.ตรีจุฬาฯ เคยไปทำงาน Walt Disney World ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 3 ครั้ง และได้ทุนเต็มจำนวน APS ไปเรียนต่อ ป.โท Ateneo de Manila University ประเทศฟิลิปปินส์ และ University for Peace ประเทศคอสตาริกาค่ะ 

. . . . . . . 

รีวิวสมัครทุน APS

าพรวมของวิธีสมัครทุนนี้คือส่งเอกสาร (คุณสมบัติต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด) ถ้าผ่านก็จะเข้ารอบสัมภาษณ์ โดยมีกรรมการจากฟิลิปปินส์ คอสตาริกา และโครงการนิปปอน พิจารณาร่วมกัน

  • ในการสมัครเราต้องเขียน essay ว่าทำไมสนใจโปรแกรมนี้ หลังเรียนจบจะนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาสังคมยังไงบ้าง
  • ทุนกำหนดเกณฑ์คะแนนภาษาอังกฤษ IELTS ขั้นต่ำที่ 6
  • ตอนแรกพี่สอบได้ IELTS 8.0 แต่อยากทำคะแนน Writing ให้ดีขึ้นเพราะได้ 6.5 จึงตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7.0 แล้วฝึกฝนอย่างจริงจัง โดยการไปดูเรียงความที่ได้สัก 7.5-8 พยายามวิเคราะห์แพตเทิร์นของเค้า แล้วมาปรับใช้กับการเขียนของเรา

ส่วนตัวแนะนำหนังสือ THE OFFICIAL CAMBRIDGE GUIDE TO IELTS เพราะค่อนข้างตรงกับข้อสอบจริง อธิบายเข้าใจง่าย และมีตัวอย่างการเขียนตอบ พร้อมมีประเมินให้ด้วยว่าถ้าเราตอบประมาณนี้ จะได้ IELTS ประมาณไหน 

ผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ทำงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี 

ทุนนี้ไม่ได้พิจารณาแค่ด้านวิชาการ แต่จะดูองค์รวมๆ ว่าเราเคยทำกิจกรรมกับประสบการณ์อะไรมาบ้าง ตอนนั้นพี่ยกตัวอย่างว่า

  • งานแรกหลังของพี่หลังเรียนจบคือครูสอนพัฒนาการทักษะของเด็กอนุบาล
  • สมัครไปโครงการ Cultural Representative Program ที่ Walt Disney World ในอเมริกา 1 ปี
  • กลับมาทำงานในโรงเรียนกับรับงานล่ามสายวิทย์ แปลคู่มือทางจิตวิทยา ผู้ช่วยวิจัย รับสอนภาษาสเปน-ไทย-ภาษาอังกฤษ
  • เคยทำงานอาสา เช่น ออกแบบการสอนน้องๆ ม.ต้น​ และเข้าร่วม UNICEF Volunteer Leader ฯลฯ

ในการสมัครทุน โดยเฉพาะทุนเต็มจำนวนและทุนที่ไม่ผูกมัด การแข่งขันสูงแน่นอน พี่อยากให้ชัดเจนกับเป้าหมายตัวเองและไม่ถอดใจ อย่างพี่เองสู้มานานและถูกปฏิเสธมาเยอะ ปีแรกหลุดหมด ปีต่อมาก็ติดอยู่รอบสุดท้าย หรือได้เป็นทุนบางส่วน 25% หรือ 50% แต่พี่ก็ขีดเส้นให้เวลาตัวเอง 2 ปี ทำให้เต็มที่และไม่ตอบรับทุนที่ไม่ให้เต็มจำนวน ถ้าถึงเวลานั้นยังไม่ได้ก็จะไม่ผิดหวังกับตัวเอง และไม่คาใจว่าที่ผ่านมาเราพยายามที่สุดแล้วหรือยัง

. . . . . . . 

Part I
เรียนหลักสูตรออนไลน์
มหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์

ตอนนั้นพี่ได้เรียนออนไลน์ เพราะเจอช่วงโควิดพอดี (ยังไมได้ไปฟิลิปปินส์) ในคลาสก็จะเป็นเพื่อนที่ได้ทุน APS ด้วยกัน มีทั้งคนญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ไทย และศรีลังกา เนื้อหาถือว่าหนักเป็นพิเศษ มี 3 วิชาคือ Research, Key Concept และ Social Development Theories เจองานเดี่ยวงานกลุ่มเหมือนๆ กันหมด เรียนจบทีละวิชา วิชาละ 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่อง หมายความว่างานกลุ่มจะมีเวลาให้ทำแบบกระชั้นมากๆ และต้องทำได้ 93+ ขึ้นไปถึงจะได้ A

**ด้วยความที่พี่เรียนในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดหนักและได้เรียนออนไลน์  ทุกอย่างจะยากขึ้นไปอีกตรงที่ต้องทำรายงาน การบ้าน และเรียนผ่าน Zoom Meeting ทั้งหมด เวลาเรียนปกติคือ 9:00 am – 4:00 pm ของประเทศฟิลิปปินส์ แต่บางคนอาจต้องสละบางช่วงของวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงเย็นๆ ดึกๆ มาเรียนและทำงานกลุ่ม เพราะ timezone แต่ละประเทศต่างกัน

รีวิวเนื้อหาคร่าวๆ ตอนฟิลิปปินส์ จะเป็นแนวปูพื้นฐานภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ เช่น การอ้างอิง (citation), APA Style, Paraphrase, การทำสื่อและนำเสนอผลงาน มีทั้งงานกลุ่มและเดี่ยวให้เราได้ลองนำเสนอหน้าชั้น

และมีวิชา Social Development Theories ยากมากกกสำหรับพี่ ซึ่งทำให้ยิ่งประทับใจอาจารย์มากขึ้นไปอีก เพราะเค้าพยายามใช้วิธีและทำสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย (ลดตัวหนังสือแล้วใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นหลัก) อาจารย์จะไม่ได้เล่าแค่ว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ถึงคิดแบบนี้ แต่จะย้อนไปยุคที่เค้าเกิดและโตมาเพื่อดูบริบทว่าเกิดอะไรขึ้น 

หรือบางคาบให้นักเรียนดู 3 คลิป เป็นเหตุการณ์ใน 3 ประเทศ ให้เราลองวิเคราะห์, หาวิธีแก้ไข ฯลฯ และในทุกหัวข้อที่เรียน อาจารย์จะมีตั้งคำถามใน Discussion Board ประมาณว่า เราคิดว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่? คิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้? เราจะได้แชร์และอ่านความเห็นของเพื่อนๆ ในคลาสค่ะ น่าสนใจมากๆ 

. . . . . . . 

Part II
เรียนแบบลุยๆ ที่คอสตาริกา

รีวิวบรรยากาศและวิชาเรียน

ช่วงนี้เพื่อนๆ ส่วนใหญ่มาเรียนที่คลาสจริง (ยกเว้นบางคนอาจเรียนออนไลน์เพราะติดปัญหาวีซ่า)  ในคลาสมีนักเรียนหลายเชื้อชาติ รวม 157 คนจาก 43 ประเทศทั่วโลก เช่น รัสเซีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เปรู อินเดีย เนปาล เบลเยียม นอร์เวย์ สวีเดน ไทย เวเนซุเอลา แคเมอรูน ฯลฯ แล้วที่สุดยอดมากๆ คือมีเพื่อร่วมคลาสที่เคยทำงานในสถานทูต, สหประชาชาติ (United Nations : UN) หรือองค์กรที่ช่วยเหลือผู้คน อย่างคนญี่ปุ่นหลายคนก็เคยทำโครงการ JICA (Japan International Cooperation Agency) มาก่อน

หลังจากมาคอสตาริกาแล้ว พี่ได้เรียนคอร์สพื้นฐาน (Foundation Course) เกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้งและวิชาพื้นฐาน ป.โท อื่นๆ อย่าง International Law, Gender, Sustainable Development, Environment และ Peace Education ฯลฯ มีอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ ผลัดกันมาสอนที่ UPEACE เลยค่ะ

วิชาส่วนใหญ่จะเรียนแบบเลกเชอร์ผสมกับการสัมมนาหรือการดูงาน เรียนครึ่งวันเช้าหรือครึ่งวันบ่าย อย่างเช่นอันนี้เป็นตัวอย่างตารางเวลาการเรียนวิชาสันติภาพและความขัดแย้ง

  • 8:45 – 10:00 AM เรียนเลกเชอร์ในห้องเรียนรวม
  • 10:15 – 11.45 AM สัมมนา แบ่งกลุ่มย่อยเพื่ออภิปรายหัวข้อที่เรียน
ห้องเรียนที่คอสตาริกา
ห้องเรียนที่คอสตาริกา
เพื่อนร่วมคลาสตอนเรียนที่คอสตาริกา
เพื่อนร่วมคลาสตอนเรียนที่คอสตาริกา

ที่นี่จะมีแพลตฟอร์ม eLearning ที่ชื่อ “Moodle” ลงข้อมูลคอร์สไว้ว่าแต่ละวันเราจะได้เรียนอะไรบ้าง และ **ต้องอ่าน** เปเปอร์ความยาว 70-200 หน้าต่อวัน เพื่อเตรียมมาคุยในคาบสัมมนา แน่นอนว่าจะได้เจอศัพท์เฉพาะทางเยอะมาก แถมเป็นด้านที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ต้องพยายามจับใจความให้ได้ว่าเค้ากำลังพูดเรื่องอะไร แล้วผลลัพธ์เป็นแบบไหน

ในคาบสัมมนาจะไม่ได้แค่นั่งคุย แต่มีกิจกรรมอื่นด้วย เช่นวิชา UPEACE Foundation Course ที่เรียนเกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้ง (Dr. Amr Abdalla ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและความขัดแย้งเป็นผู้สอนหลัก และจะมีอาจารย์รวมถึงผู้เชี่ยวชาญรับเชิญท่านอื่นๆ) 

คลาสนี้จะให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ กำหนดโจทย์ แล้วสมมติให้นักเรียนทะเลาะกัน ดูว่าตัวแปรอะไรที่ทำให้การทะเลาะรุนแรงขึ้น *การเรียนที่นี่จะให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ เช่น เราจะนำเสนองานกลุ่มโดยการเขียนกระดาน แสดง role play หรือ PowerPoint ก็ได้ บางคนก็เลือกหัวข้อวิเคราะห์เป็นเรื่องความขัดแย้งในหนัง Harry Potter 

อีกวิชาที่ชอบมากคือ Review of Economic Theories and Concepts เรียนทฤษฎีและแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ต้องอ่านเปเปอร์วันละ 60-200 หน้า และมีงานกลุ่มให้วิเคราะห์ อย่างเช่น เพราะอะไร iPhone ที่ผลิตในอเมริกาถึงแพงกว่าที่จีนหลายเท่า? หรือทำไมบางบริษัทอื่นๆ ถึงย้ายฐานผลิตจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศ? ฯลฯ

วิชานี้ยังมีอะไรน่าสนุกอีกเยอะเลย เช่น งานเดี่ยวที่ให้ทำ TedTalk ของตัวเอง หรือให้โจทย์เราวิเคราะห์ประวัติครอบครัวของตัวเองโดยอ้างอิงแง่มุมทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ฯลฯ 

เป็น session อบรมเพิ่มเติมของ UPEACE เสียเงินเอง ลงเรียนได้ตามความสมัครใจ
เป็น session อบรมเพิ่มเติมของ UPEACE เสียเงินเอง ลงเรียนได้ตามความสมัครใจ

พอจบคอร์สพื้นฐาน เราจะแยกย้ายกันไปเรียนวิชาเอกของตัวเอง อย่างพี่ก็ไปเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อม มีออกฟิลด์ทริป ดูฟาร์ม ป่า  บริษัทแปรรูปพลาสติกใช้แล้ว ฯลฯ // ด้านล่างนี้คือรูปตอนเรียนวิชาเอกตัวแรกแล้วได้ไปขุดดิน ฝังวัสดุต่างๆ ลงในนั้น แล้วกลับมาดูการเปลี่ยนแปลงหลังผ่านไปสักระยะ 

วิชาเอก
 

  • Environment, Conflicts and Sustainability
  • Review of Economic Theories and Concepts
  • Development Studies and International Cooperation
  • Research Methods
  • Circular Economy, a Regenerative System
  • Leading in Times of Change: Innovating from the Inside Out
  • Introduction to Responsible Management
  • Social Responsibility
  • Transition to a Low Carbon Economy
  • Social Entrepreneurship
  • Thesis / Capstone / Internship
     

อ้างอิงข้อมูลจาก โบรชัวร์ของโปรแกรม M.A. in Responsible Management and Sustainable Economic Development: Programme - Specific Course
 

ความต่างของนักเรียนที่ได้ทุน APS คือ จากปกติที่จะฝึกงาน ทำวิจัยหรือโปรเจ็กต์ช่วงเดือนมิ.ย. – ส.ค. ของปีต่อมา ก็เปลี่ยนมาเป็นเรียนต่อและทำโปรเจกต์ที่ฟิลิปปินส์เดือน มิ.ย. – ธ.ค.ปีต่อมาแทนค่ะ

และความท้าทายที่เจอระหว่างเรียนคือพี่ได้รับคะแนนโหวตให้เป็น Co-president ร่วมกับเพื่อนฟินแลนด์กับกัวเตมาลา ทำงานเป็นประธานนักเรียนของของทั้งมหาวิทยาลัย UPEACE (ในนี้จะต้องมีคนพูดสเปนได้ เพราะที่คอสตาริกาคนพูดสเปนกันเป็นภาษาถิ่น ครั้งนี้นอกจากพี่ที่พูดสเปนแล้วก็มีคนกัวเตมาลาที่พูดภาษาสเปนเป็นภาษาแม่) หลังจากรับตำแหน่งนี้แล้ว พี่ก็ต้องบริหารเวลาเรียนควบคู่กับทำงานให้ได้ พอเปิดเทอมมาก็คือประชุมและทำงานสภานักเรียนเกือบทุกวันเลยค่ะ 555

ตัวอย่างงานที่ทำ

  • วางโครงสร้างสภานักเรียน
  • ประสานงานกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย
  • ประสานงานกับองค์การ มหาวิทยาลัย และบริษัทภายนอกต่างๆ รวมถึงองค์การสหประชาชาติในคอสตาริกา
  • ช่วยเหลือเรื่องการจัดกิจกรรม เช่น งานฮัลโลวีน, Cultural Night, วันรับปริญญา, กีฬา, ทริปการเรียนรู้, ฝึกงาน, เครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า ฯลฯ
  • รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ และอัปเดตข่าวเรื่องความปลอดภัย
  • คอยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ทำกิจกรรมรณรงค์ ฯลฯ
เข้าชมเว็บไซต์หลักสูตร

. . . . . . . 

ความพีคครั้งหนึ่งในชีวิต
ได้เจอประสบการณ์แบบนี้!

ตื่นเต้นมากกก ไม่คิดว่าในชีวิตจะได้มีโอกาสทำอะไรแบบนี้! มีวันนึงในเดือนตุลาคมพี่ได้ข้อความจาก inbox เพจ krungkringtales ว่าเอกอัครราชทูตไทยประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก (Santiago) ประเทศชิลี จะเดินทางมาที่ประเทศคอสตาริกาและเชิญชวนไปรับประทานอาหารค่ำ พี่ตอบรับคำเชิญและทำหน้าที่ช่วยประสานงาน ชวนเพื่อนนักเรียนและเจ้าของร้านอาหารไทยมาร่วมงานเลี้ยงต้อนรับท่านทูตฯ  ซึ่งครั้งนั้นท่านทูตพาเราไปเลี้ยงอาหารค่ำที่ร้านอาหารเปรู

ต่อมาในเดือนธันวาคมพี่ไปเที่ยวอเมริกาใต้รวมถึงชิลีและ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพักของท่านทูตฯ ที่ชิลี ในโอกาสที่เอกอัครราชทูตไทยประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโกกงสุลที่ชิลีมาเยือนคอสตาริกา

และยังมีอีกเหตุการณ์คือพี่ได้ไปดู FIFA World Cup รอบชิงชนะเลิศที่ San José เมืองหลวงของคอสตาริกา และได้เจอกับท่านทูตญี่ปุ่นประจำประเทศคอสตาริกาที่นี่ด้วยค่ะ)

. . . . . . . 

รีวิวคอสตาริกาใน 10 ข้อ
(*อ้างอิงประสบการณ์ส่วนตัว)

1. คอสตาริกาเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ภูมิประเทศเค้าจะต่างจากประเทศไทยมากกก ถนนและทางเดินที่นี่ไม่เป็นทางตรงๆ เรียบๆ เหมือนที่ไทย ลักษณะขึ้นๆลงๆและมีภูเขาอยู่ประปราย คนที่ฐานะดีหลายคนมีบ้านอยู่บนภูเขา

2. ภูมิประเทศคอสตาริกาคือขนาบด้วยทะเล 2 ข้าง อุณหภูมิ 17-25 องศาตลอดปี และมีแค่ “ฤดูฝน” กับ “ฤดูแห้ง” (dry) โดยอากาศก็จะขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น พี่อยู่ตอนกลางของประเทศ ฝนจะตกหนักช่วงกันยายนถึงตุลาคม (ดูข้อมูลอากาศในประเทศคอสตาริกา) แต่ถ้าอยู่แถบแคริบเบียน (Caribean) ติดทะเล อากาศจะตรงข้ามกัน

3. สายเที่ยวธรรมชาติแบบลุยๆ ชอบประเทศนี้แน่นอน พี่ไม่เคยปีนเขามาก่อน แต่ชอบอะไรลุยๆ อยู่แล้ว พอมาเจออากาศบริสุทธิ์ก็ปีนไหว ไปๆ มาๆ ติดใจเลยค่ะ~

4. เราสามารถเจอสัตว์หายากได้แม้แต่ในมหาวิทยาลัยและชุมชน เช่น นกทูแคน (Toucans) กับผีเสื้อนกฮูก (Owl Butterfly) ฯลฯ อารมณ์แบบทำงานกลุ่มอยู่ดีๆ ก็มีผีเสื้อมาเกาะหลัง แล้วพี่ยังเคยไปดู Whales & dolphins watching trip มีปลาวาฬกับโลมาโชว์ตัวกันเยอะมากก ><

5. คอสตาริกาเป็นหนึ่งใน Dog-Friendly Countries คนที่นี่นิยมอุปการะสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะหมาหรือแมว และเราสามารถพาสุนัขเข้าที่สาธารณะได้หลายที่มากรวมถึงห้างและร้านอาหาร แต่เจ้าของต้องมีสายจูง // พี่สังเกตว่าในมหาวิทยาลัยมีน้องหมาเยอะมากกก เจ้าของคือชาวบ้านแถบนั้น ตอนกลางวันคนก็จะนิยมให้อาหารน้องๆ ค่ะ ><

6. คอสตาริกาเป็นประเทศที่จริงจังกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ออกแบบบ้านโดยเน้นให้สว่างเพื่อประหยัดพลังงาน อย่างเช่นบ้านพักของพี่จะมีฝ้าตรงกลาง แล้วมีแสงอาทิตย์ส่องลงกลางบ้าน ทำให้ตอนกลางวันไม่ต้องเปิดไฟ 

7. อยากให้เตรียมรับมือกับโหมดสู้ชีวิต เช่น ถ้าฝนตกพายุเข้าน้ำไฟจะใช้ไม่ได้ ของหลายอย่างราคาแพง (แนะนำให้ทำอาหารกินเอง) แล้วอย่าลืมเตรียมพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างสายชาร์จ แบตเตอรี่ มือถือ ฯลฯ (อย่างเช่น สายชาร์จคอมพ์ ราคาตก 2,000 บาทไทย)

8. ประเทศนี้พระอาทิตย์ขึ้นตี 5:30AM และตก 5:30PM เร็วกว่าที่ไทย ซึ่งคนก็จะตื่นกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 ด้วยนะคะ ถ้าจะเดินทางต้องวางแผนให้ดี ถ้าจะไปโรงพยาบาลก็ต้องไปถึงก่อน 6 โมงเช้า อีกอย่างคือระวังอ่านข้อมูลในเน็ตแล้วเข้าใจผิด เช่น ถ้าจะไปเที่ยวภูเขาไฟ Volcano Irazu เค้าเขียนว่ารถรอบแรกเริ่ม 8:00AM แต่จริงๆ คือมีเที่ยวนั้นเที่ยวเดียวเลย

9. ส่วนใหญ่นักเรียนจะมาพักอาศัยที่เมือง Ciudad Colón บรรยากาศคล้ายต่างจังหวัดของไทย มีจุดศูนย์รวมคือที่ Mercado Viejo (San Cristóbal de las Casas) 

10. ถ้าพูดภาษาสเปนได้ชีวิตจะง่ายขึ้นมาก เพราะคนพูดสเปนกันเป็นภาษาถิ่น พนักงานหลายคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

. . . . . . . 

**Bonus Mode**
มาทั้งทีเที่ยวให้คุ้ม

พี่ตั้งใจว่าไหนๆ ก็มาถึงคอสตาริกา ก็ถือโอกาสเที่ยวประเทศแถบนี้ให้เยอะที่สุด (ทวีปอเมริกากลาง & อเมริกาใต้) เพราะตั๋วแพงและเดินทางมายากด้วย จุดหมายแรกที่ได้ไปคือ “เม็กซิโก” (Mexico) และเป็นการลุยเดี่ยว 5 วันรวด และค้นพบว่าพี่รักหลงรักที่นี่มากกก ค่าครองชีพ ราคาของใกล้เคียงไทย ศิลปะดีและหลากหลาย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง Mexico City มีพิพิธภัณฑ์เยอะจนเข้าไม่หมดเลยค่ะ เรามี Google Map แล้วตามไปร้านที่คนท้องถิ่นชอบไปกัน เลยได้เจอร้านที่ทั้งอร่อยทั้งราคาดี!

พี่ยังได้ไปเจอพิรามิดของจริงครั้งแรก ได้เดินทางไปเมืองเล็กๆ หนึ่งในมรดกโลกของ UNESCO ชื่อ San Miguel de Allende เหมาะกับการไปฮันนีมูนมากๆ อ่ะ ที่นี่ทั้งสวย คนใจดี อาหารอร่อย 

บรรยากาศที่เม็กซิโก

 

และในเดือนธันวาคมพี่ปิดเทอมยาวๆ เลยไปเที่ยวอเมริกาใต้ ทั้งชิลี อาร์เจนตินา บราซิล และโคลอมเบีย เป็นทริปที่อากาศหลากหลายตั้งแต่ 3 ถึง 33 องศา พักที่ Airbnb เพื่อทำความรู้จักกับคนท้องถิ่น

ชิลี

  • ได้ไปอุทยานแห่งชาติ Torres Del Paine ชมปาตาโกเนียที่มีทั้งภูเขาหิมะ ธารน้ำแข็ง และทะเลสาบ

อาร์เจนตินา

  • เยี่ยมเยียนแชมป์บอลโลกช่วงคริสต์มาส
  • ชมร้านหนังสือที่สวยที่สุดในโลกชื่อ ที่อาร์เจนตินา (โดย National Geographic ปี 2019)
  • ชมโชว์แทงโก้พร้อมอาหารค่ำในคืนวันคริสต์มาส
  • ชม 1 ในสุสานที่สวยที่สุดในโลกที่ Recoleta Cemetery อาร์เจนตินา

บราซิล

  • Christ the Redeemer ที่บราซิลซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
  • ชายหาด Ipanema สถานที่จริงของเพลงที่ถูกอัดเสียงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก The Girl from Ipanema

โคลอมเบีย

  • Bogota เมืองหลวงของโคลอมเบียเที่ยวพิพิธภัณฑ์สนุกมากๆทั้งหลากหลายและสวยงาม วันเดียวพี่เข้า 6-7 แห่ง

. . . . . . . 

ชวนอ่านต่อ

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น