Ready Set Go! เล่าเส้นทาง ป.โท สู่การโกอินเตอร์เป็น 'นักออกแบบฉาก' ในอเมริกา

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครใฝ่ฝันอยากโกอินเตอร์ในเส้นทางสาย Art วันนี้เราจะพาไปรู้จัก "พี่แพรรี่-ธัญพิชชา ไตรวุฒิ"  (Prairie Tanpitcha Trivuth) ศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์จุฬาฯ ที่ไปเรียนต่อ ป.โท และทำงานเป็น "นักออกแบบฉาก" มีประสบการณ์มาแล้วทั้งงานที่เป็นละครเวที (การแสดงสด) หนังสั้น ซีรีส์และภาพยนตร์ระดับ Hollywood

แม้ว่าเส้นทางชีวิตในทุก Stage ตั้งแต่การค้นหาตัวเอง การเรียน และการทำงาน ไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรงและสมหวังไปทั้งหมด แถมการสร้างหนังก็ใช้เทคนิคและเทคโนโลยีแตกต่างกับงานสถาปัตยกรรมที่เธอคุ้นเคยด้วย แต่บอกเลยค่ะว่าเส้นทางที่เธอเลือกนั้น ทั้งสนุกครบรส น่าค้นหา และตื่นตาตื่นใจมากโดยเฉพาะเมื่อฉากหลังคือ "ลอสแอนเจลิส" (Los Angeles) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา

มาเริ่มทำความรู้จัก
และเจาะลึกการทำงานอาชีพนี้กันเลยย!

พี่แพรรี่-ธัญพิชชา ไตรวุฒิ
พี่แพรรี่-ธัญพิชชา ไตรวุฒิ
Prairie Tanpitcha Trivuth

Q: ที่มาที่ไปก่อนตัดสินใจเรียนต่อ ป.โท?

"เราชอบศิลปะและการออกแบบ ชอบดูหนัง ชอบสังเกตการออกแบบฉากในเรื่องมาตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ ช่วงที่จบมัธยมก็ตัดสินใจเลือกเรียนต่อคณะสถาปัตย์จุฬาฯ แบบยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ พอมาเรียนจริงถึงรู้ว่าเราแฮปปี้กับสายนี้มากกก แล้วยังสนุกกับวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ทฤษฎี แนวคิดการออกแบบ ฯลฯ ได้ทำกิจกรรมกับโปรเจ็กต์หลากหลาย ทำให้จับแนวตัวเองได้ว่าน่าจะถนัดและเหมาะกับงานอะไร ยังมีอะไรที่ทำได้อีกบ้าง และเราเป็นสไตล์ไหนเวลาทำงานกับทีม"

"กว่าจะรู้ว่ามีเส้นทางไหนที่พาเราไปเป็นนักสร้างฉากหนังได้จริงๆ ก็คือหลังเรียนจบแล้วทำงานเป็นสถาปนิกไปอีก 2 ปีค่ะ เราใช้เวลานานมากเพื่อเฝ้ามองตัวเองเติบโต ค่อยๆ ปะติดปะต่อประสบการณ์จนเห็นภาพใหญ่ในชีวิตชัดขึ้น ตั้งคำถามว่าในอนาคตอยากมีชีวิตและหน้าที่การงานแบบไหน แล้วให้ ป.โท เป็นสะพานสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น พร้อมกับเตรียมใจด้วยว่าอาชีพศิลปินไม่ได้มีแบบแผนแน่นอนตายตัว และต้องใส่พลังเยอะเพื่อจะให้ตัวเองยืนได้ในแวดวงนี้" 

Set Design
Set Design
Prairie Tanpitcha Trivuth

Q: ทำไมถึงลงตัวที่ Scenic & Production Design ที่ UCLA ?

"เราเลือกเรียนโปรแกรม Master of Fine Arts in Scenic and Production Design ที่ University of California Los Angeles (UCLA) เพราะเปิดข้อมูลแล้วพบว่านักเรียนจะได้ลองทำงานหลายประเภททั้ง Theater และ Film สอนโดยอาจารย์ที่เป็นมืออาชีพในวงการ"

"และถ้าพูดทำเลที่ตั้ง เราว่าเหมาะกับการมาเรียนด้านนี้มากๆ เพราะ UCLA มีแคมปัสที่เมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (California)  ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอเมริกา จริงๆ ในโซนนี้ก็ยังมีสถาบันอื่นที่เด่นสาขา Film เช่น AFI, USC, Chapman ฯลฯ แต่ UCLA เป็น ม.รัฐ ที่ค่าเทอมถูกกว่าเป็นเท่าตัว"

รีวิวสั้นๆ เกี่ยวกับ Los Angeles 

"ค่าครองชีพสูง ออกแนวทุนนิยม และเดินทางยากถ้าไม่มีรถส่วนตัว แต่ถ้าใครอยากมาเรียนหรือทำงาน  ที่นี่มีครบทั้งโอกาส พื้นที่ และสังคมที่ให้ความสำคัญกับศิลปะและภาพยนตร์  ที่สำคัญคืออากาศดีค่ะ แสงแดดอบอุ่นสบายๆ ไม่ชวนให้รู้สึกเศร้าหมอง"

 

Q: ส่วนที่คิดว่าสำคัญสุดตอนสมัครเรียน?

"หลักๆ คือ Portfolio  แต่เรารู้สึกว่าเค้าไม่ได้มองหาตัวตึง คนเทพๆ ที่เป็นมือโปรด้านนี้ไปแล้ว เค้าต้องการหาคนที่มีศักยภาพพัฒนาได้ และสามารถส่งเสริมคนรอบตัวให้พัฒนาไปด้วยกัน ดังนั้นไม่อยากให้กังวลว่าตัวเองจะหมดสิทธิ์เพราะไม่เก่งหรือจบไม่ตรงสาย // ตอนนั้นเรามีแค่พอร์ตสถาปัตย์ฯ และมีละครเวทีสถาปัตย์แค่เรื่องเดียว เลยนั่งคิดโจทย์และออกแบบโปรเจ็กต์ละครเวทีสมมติของตัวเองขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นความสนใจและแนวทางการทำงานของเรา"

"ปรากฏว่าปีแรกที่สมัครยังไม่ติด กว่าจะติดคือครั้งที่ 2 ทั้งที่ผลงานไม่ได้ต่างจากตอนยื่นครั้งแรกเพราะยังทำงานที่เดิม ส่วนนึงคิดว่าอาจารย์น่าจะจำได้และดีใจว่าเราไม่ยอมแพ้ด้วย และหลังจากที่เข้ามาก็รู้เลยว่าการแข่งขันสูงขนาดไหน เพราะทั้งรุ่นมี 3 คน มีเราเป็นนักเรียนต่างชาติ และอีก 2 คนเป็นอเมริกัน"

Q: ได้เรียนอะไรบ้าง?

"โปรแกรม Scenic & Production Design เป็นหลักสูตร 3 ปี และในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 3 เทอม  วิชาหลักคือ Production Design (ออกแบบการสร้าง) และ Scenic Design (ออกแบบเวที) อาจารย์จะกำหนดโจทย์หรือให้เราไปเลือกเรื่องมา จากนั้นก็ตีความเป็นแบบฉบับตัวเอง  เช่น เรื่อง Romeo and Juliet ทุกคนก็จะเซ็ตฉากกับยุคสมัยที่ตัวเองคิด วางรากฐาน World Building และ Concept ให้หนักแน่น เพื่อให้ไปออกแบบส่วนอื่นต่อได้ ทำให้ผลงานของแต่ละคนในคลาสไม่ซ้ำกันเลย"

"เรายังได้เรียนวิชาทฤษฎีที่เป็นตัวช่วยเรื่องการออกแบบ เช่น เทคนิคการสร้าง ประวัติศาสตร์การละคร หรืองานฝ่ายอื่นๆ อย่าง Costume Design, Lighting Design, Cinematography และทักษะต่างๆ เช่น Illustration, โปรแกรม 3D, การวางโครงร่างแบบก่อสร้าง ฯลฯ"

"และอีกส่วนสำคัญที่ได้ทำคือ Production เพื่อนร่วมชั้นเรามีอีก 2 คน พอรวมกับปีอื่นก็จะมีดีไซเนอร์ประมาณ 10 คน แวะเวียนไปทำงานร่วมกับนักเรียนเอกกำกับการแสดง ปีนึงก็จะได้ทำหนังสั้นประมาณ 1-2 เรื่อง ยิ่งชั้นปีสูงจะได้งบและเวทีใหญ่ขึ้น (มีประมาณ 3-4 โรงละคร) สุดท้ายแล้วงานใน 3 ปีจะกลายเป็นพอร์ตที่เราใช้หางานได้ และยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น คอนเน็กชันอาจารย์และ Public Showcase ที่เราไปออกบูธด้วย"

Sketch
Sketch
https://www.prairiett.com/ 

Q: ช่วงที่คิดว่ายากสุดตอนเรียน และทักษะที่ขาดไม่ได้?

"หลายคนอาจกังวลเรื่องภาษา แต่เราว่าภาษาอังกฤษที่ใช้ตอนพรีเซนต์ไม่ได้ยาก และทุกคนในคลาสพยายามเข้าใจเรา แต่ทักษะที่ขาดไม่ได้คือความเป็นผู้นำ (Leadership) โดยเฉพาะตอนทำงานกลุ่ม"

"และช่วงที่ยากสุดๆ เท่าที่จำได้คือตอนเป็น ผู้ช่วยสอนในคลาส (Teaching Assistant) เราต้องทำหลายอย่างพร้อมกันตั้งแต่ดูแลคลาส สอนน้อง ป.ตรี หาวิธีสร้างบรรยากาศที่เสริมแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันเราต้องจัดการงานเบื้องหลัง  กว่าจะลงตัวก็ทุลักทุเลไปประมาณ 2 เทอมเลย"

สำหรับนักเรียน ป.โท การสมัครทำงานให้มหาวิทยาลัย โดยการเป็น TA (Teacher Assistant)  จะช่วยลดค่าเทอมได้เยอะมาก และค่าจ้างก็พอที่จะจ่ายค่าที่พักค่าอาหารได้เลย นอกจากนี้ยังมีทุนที่ได้ตามความสามารถ หรือมี Financial Aid ที่ขอได้ทุกปี

Scenic Design
Scenic Design

Q: ทำยังไงถึงได้เป็น Set Designer ที่อเมริกา?

"นักออกแบบหรือ Designer จัดเป็นงานอิสระ (Freelance) และถ้าเป็นงานโพรดักต์ชันใหญ่ๆ ในแวดวงโทรทัศน์/ภาพยนตร์ของอเมริกา จะได้รับการคุ้มครองโดยสหภาพ (Union) กล่าวคือเค้าจะไม่สามารถจ้างใครมาทำก็ได้ อย่างสมมติถ้าเราอยากทำงานออกแบบฉาก ก็ต้องพยายามเข้าไปใน  Art Directors Guild (ADG) ให้ได้ก่อนค่ะ สำหรับวิธีเข้าร่วม สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บ https://adg.org/join/"

"เราใช้เวลา 1 ปีหลังเรียนจบ แต่ก่อนหน้านั้นเราก็มีทำงานเป็นเด็กในกอง ผู้ช่วยในออฟฟิศ งานเสริมต่างๆ  ฯลฯ ส่วนตัวคิดว่าการแข่งขันสูงไม่แพ้กันเลย แต่เป็นโอกาสดีที่จะได้สังเกตและเรียนรู้งานจากคนตำแหน่งอื่นๆ ให้มากที่สุด เพราะเราจะยังไม่มีสิทธิ์ได้ทำจนกว่าจะเข้าไปในสหภาพ)

"หลังจากได้เข้าไปในสหภาพ ก็มีโอกาสทำงาน Design เต็มตัว และยังคงต้องพัฒนาตัวเองเสมอ เพราะวงการละครโทรทัศน์/ภาพยนตร์ มี Pace การทำงานที่ไปเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ (เช่น มีเวลาออกแบบ 1 สัปดาห์ก็ต้องสร้างแล้ว) เราต้องพยายามทำให้เร็วและออกมามีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะทำได้”

Set Design
Set Design
Scenic Design
Scenic Design

Q: ยกตัวอย่างเบื้องหลังงานเจ๋งๆ ทั้งตอนเรียนและตอนทำงาน

"ตั้งแต่มาเรียนและทำงานที่อเมริกา เรารับงานออกแบบโปรดักชันให้โปรเจ็กต์อิสระต่างๆ เยอะมากเพื่อเก็บประสบการณ์และสร้างพอร์ตฯ โดยหน้าที่ของ Production Designer คือการออกแบบและดูแลการสร้างฉาก พร็อปส์ การตกแต่ง และอื่นๆ ต้องหาลู่ทางให้วิสัยทัศน์ของเราและผู้กำกับเป็นจริงขึ้นมาได้ 

"ส่วนมากงานหนังสั้นแบบนี้มักจะเป็นธีสิสของเพื่อนนักเรียนเอกภาพยนตร์ (Film) อาจได้ค่าตอบแทนไม่มาก แต่ก็ทำให้ออกมาดีที่สุด และภาวนาให้ได้ไปฉายในเทศกาลต่างๆ เพราะจะเป็นผลดีต่อพอร์ตของเรามากกก และข้อดีของการเป็น Production Designer ให้กับโปรเจ็กต์สเกลนี้ ก็คือเราสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ ได้ดูแลภาพรวมทุกอย่าง และยังได้รู้จักสมาชิกทีมที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงจากหลากหลาย background รวมตัวกันถ่ายทอดเรื่องราวที่มีความหมายด้วยกันค่ะ"

1. โอเปรา "The Romance  of the Rose"

"ตอนเรียนที่ UCLA เราเคยเรียนวิชา Scenography กับ Scenic Design ที่สอนโดยผู้กำกับ James Darrah ซึ่งงานเราอาจจะตรงกับสไตล์ที่เค้ามองหาพอดี หลังเรียนจบอาจารย์ก็ติดต่อมาให้ออกแบบฉาก World Premiere ของโอเปราที่ชื่อ The Romance of the Rose  ประพันธ์โดย Kate Soper (ผู้เข้าชิงรางวัล The Pulitzer Prizes) พล็อตคือตัวเอกตกหลุมรักดอกกุหลาบในสวนวิเศษ และมีตัวละครที่อุปมาเป็นความรู้สึกต่างๆ มาสนทนาเรื่อง 'ปรัชญาความรัก' ในต่างมุมมอง  และผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทพปกรณัมกรีก (Greek Mythology)"

"เรื่องนี้อ้างอิงมาจากบทกลอนของฝรั่งเศสยุคกลางที่ชื่อ The Romance of the Rose ดังนั้นต้องหาข้อมูลเยอะมากเพื่อทำความเข้าใจและตีความให้เข้ากับยุคปัจจุบัน แถมยังเป็นโอเปราใหม่ที่ไม่มีเวอร์ชันอื่นให้ดึงรีเสิร์ชออกมาได้เลย ดังนั้นเรา (ดีไซเนอร์) กับผู้กำกับจึงเริ่มจากการโยนไอเดียใส่กันเยอะๆ เขาจะชอบงานที่มีการเคลื่อนไหว (Movement & Action) และมีปฏิสัมพันธ์กับฉาก (Setting) รวมแล้วใช้เวลาไปพักใหญ่กว่าจะได้ภาษาการออกแบบที่สอดคล้องกัน สุดท้ายแล้วก็ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม Palms Spring เป็นแบบมินิมัลและโหวงเหวงเหมือนความฝันที่ไร้ขอบเขต"

"ถึงตอนนี้เราทำหนังอยู่ แต่ยังคงชอบบรรยากาศการทำงานละครเวที เพราะเป็นทีมเล็กๆ ที่ร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา (ผลงาน The Romance of the Rose นี้ได้ลงนิตยสาร NY Times's Critic's Pick และ LA Times ด้วยค่ะ)"

ชมผลงาน The Romance of Rose

2. หนังสั้น "Daisy is Gone" 
– เขียนและกำกับโดย Zi Yao Liu

"เราเคยร่วมกองออกแบบโปรดักชันหนังสั้นชื่อ Daisy is Gone เล่าถึงโลกอนาคตที่การโคลนนิงสัตว์เป็นเรื่องปกติ ชายหนุ่มคนหนึ่งเอาปลาทองมาโคลน แต่พบว่ามันไม่เหมือนตัวเดิม จึงกลับมาคลินิกและพยายามหาทางแก้ไข แต่สุดท้ายกลับเจอภาวะสติแตก (Mental Breakdown) ที่คลินิกแทน"

ชมผลงาน Daisy is Gone

3. หนังสั้น "Don’t Be Long" 
– เขียนและกำกับโดย Reem Jubran 

"เรื่องราวของเด็กหญิงชาวปาเลสไตน์-อเมริกัน ที่เดินทางข้ามภพไปยังจุดเริ่มต้นของสงครามและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เรื่องนี้เราได้ร่วมออกแบบเฉพาะฉากที่ถ่ายใน California โดยจะเป็นเส้นเรื่องที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกคู่หนึ่งค่ะ"

ชมผลงาน Don't Be Long

4. เรื่องสั้น Bloom
– เขียนและกำกับโดย Shelby Virginia

"พล็อตจะว่าด้วยศิลปินหญิงที่กลับบ้านไปเยี่ยมคุณยายที่ป่วยเป็นมะเร็ง (และต้องเผชิญกับแม่ที่ผิดใจกันเพราะเส้นทางอาชีพที่เธอเลือกเดินด้วย) ท้ายที่สุดคู่ยายหลานก็ได้เล่นบทบาทสมมติเป็นอัศวินด้วยกันครั้งสุดท้าย โดยมีฉากหลังคือป่าวิเศษในเทพนิยาย"

ชมผลงาน Bloom

5. ซีรีส์แนวสืบสวนเรื่อง The Residence   
– สร้างโดย Paul William Davies

"ล่าสุดเรามีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นหนึ่งใน Set Designer ซีรีส์ของ  Shondaland/Netflix เรื่อง The Residence เนื้อหาแนวสืบสวน Murder Mystery ไขปมคดีฆาตกรรมปริศนาในทำเนียบขาว ตอนนี้สร้างฉากกันอยู่ที่ Los Angeles สร้างฉากทำเนียบขาวในโรงถ่ายขนาดเกือบเสมือนจริง คาดว่าจะมีผลงานออกมาให้ชมกันในปี 2024"

Coming Soon!

Q: เล่าตัวอย่างการทำงานจริง กับผลงานล่าสุดที่กำลังทำ

"ตำแหน่งใน Art Department ของ Hollywood จะเริ่มจาก Production Designer เป็นหัวหน้าที่กำหนดว่า 'ต้องทำอะไร' ส่วน Art Director จะกำหนดว่า 'ต้องทำยังไงบ้าง' ถึงจะให้ภาพที่วางแผนไว้เกิดขึ้นจริง Set Designer คือหนึ่งในสมาชิกของฝ่าย Art หน้าที่คือวาดแบบที่จะถูกนำไปสร้างเป็นฉาก (นับเป็นงานอดิเรกที่แอบคล้ายงานประจำ หน้าที่คือขึ้นโมเดล เขียนแบบ ทำงานในออฟฟิศวันละ 12 ชั่วโมง)"

"งานจะเริ่มจาก Art Director ให้โจทย์เรามา เช่น กำหนดพื้นที่ห้อง ตำแหน่งประตู หน้าต่าง และให้เราไปออกแบบรายละเอียดทุกอย่างมา จากนั้นเราต้องไปรีเสิร์ชลุค สี วัสดุ ดีเทลล์ และอ้างอิงจากบทด้วยว่า Action ที่จะเกิดในฉากนี้ต้องการอะไรบ้าง หรือมีมุมไหนให้เราได้เล่นสนุกกับการออกแบบหรือใส่ไอเดียเข้าไป เลยเป็นงานที่ประยุกต์ใช้ทั้งความรู้เชิงสถาปัตยกรรม การค้นคว้าข้อมูล ไหวพริบและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและแก้ปัญหา"

"ยกตัวอย่างจากโปรเจ็กต์งาน The Residence เป็นฉากในทำเนียบขาว  ความท้าทายนึงที่เจอคือเราต้องค้นคว้าดีเทลล์การก่อสร้างแบบละเอียดและเจาะลึกมาก เพื่อที่จะทำออกมาให้สมจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้"

. . . . . . . .

"ตอนนี้เราผ่านจุดเริ่มต้น และเข้ามาสู่เส้นทางที่เลือกแล้ว
แต่ข้างหน้ามีความท้าทายรอเราอยู่อีกเยอะ 
ขอแค่ยังรู้สึกสงสัยและตื่นเต้นว่าอนาคตเราจะเป็นยังไงต่อ
ก็มากเพียงพอที่จะให้เราอยากใช้ชีวิตทุกวันให้เต็มที่แล้วค่ะ"

. . . . . . . .

พอร์ตปังแค่ไหน ตามมาดูกันเลย!

______________

Photo Credit

  • Jackie Fang
  • Raquel Hagman
  • J. J. Geiger
  • Gionatan Tecle
  • Jessica Brooks
  • Roy Fotis Bourgazas
  • Rye Mandel
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น