'พี่นิคกี้' รีวิวสวีเดน & เส้นทางสมัครทุน UIS ไปเรียนฟรีสาขา Robotics ใน KTH อันดับ 1 ของประเทศ

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ตอนนี้อยู่ในช่วงเปิดรับสมัคร "ทุนรัฐบาลไทยเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง สำหรับ ป.ตรี ชั้นปีสุดท้าย ประจำปี 2567" หรือที่รู้จักกันในชื่อทุน UIS (Undergraduate Intelligence Scholarship Program) แม้การได้ทุนนี้ต้องผ่านการคัดเลือกหลายด่าน การแข่งขันสูง และมีข้อผูกพันหลังเรียนจบ แต่ด้วยค่าเรียนและค่าใช้จ่ายตลอดการเรียนเมืองนอกที่มักจะสูงหลักหลายล้าน ทุน UIS จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจที่ช่วยสานฝันการเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกได้ค่ะ

ทีนี้ ช่วงปลายเดือน ต.ค. 66 ที่ผ่านมา Dek-D มีโอกาสไปร่วมงานของสถานทูตสวีเดน และได้รู้จักกับ “พี่นิคกี้-เจษฎา บ่อทรัพย์” ที่คว้าทุน UiS ไปเรียนต่อ สาขา MSc Systems, Control and Robotics ที่ KTH Royal Institute of Technology ซึ่งเป็น ม.อันดับ 1 และขึ้นชื่อด้านวิศวกรรมศาสตร์มากๆ ของประเทศสวีเดน และในแถบสแกนดิเนเวีย รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม @nextstationsweden ที่แชร์ข้อมูลสำหรับคนที่อยากเรียนต่อประเทศนี้ด้วยค่ะ 

รีวิวนี้จะแชร์แบบเข้มข้นทั้งมุมการขอทุน การเรียน การใช้ชีวิตที่สวีเดน ไปจนถึงโอกาสเติบโตในสายงานราชการ (อยากบอกอะไรกับผู้ที่กำลังจะเดินเส้นทางนี้?) พร้อมแล้วมาเริ่มกันเลย!

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 หรือขอคำแนะนำเรื่อง SoP ข่าวดีคือ "พี่นิคกี้" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair ทั้ง 27 และ 28 เมษายน 2024 เลยค่ะ  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

. . . . . . .

Hej! 
ชวนทักทายผู้อ่านกันก่อนค่ะ~

สวัสดีครับบบ พี่ชื่อ “นิคกี้-เจษฎา บ่อทรัพย์” จบโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ฯ มจพ. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) เจอเนื้อหาที่ลึกและเข้มข้นมากๆ และทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบเรื่องการควบคุมและการเขียนโปรแกรมครับ จากนั้นผมเรียนต่อ ป.ตรี แขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้าของ มจพ และจบออกมาด้วยเกรดเฉลี่ยรวม 3.2

ย้อนไปอีกนิดนึง ช่วง ป.ตรี ปี 3 พี่สมัครทุนรัฐบาลไทย (UiS) เรียน ป.ตรี ฟรีปีสุดท้าย พอใช้ทุนระยะแรกครบ 2 ปี ก็ยื่นไปเรียนต่อ ป.โท หลักสูตร MSc Systems, Control and Robotics ที่ KTH Royal Institute of Technology ที่กรุงสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน ปัจจุบันกำลังงานสังกัดกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ดูเกี่ยวกับยานยนต์อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle; CAV) อย่างตอนนี้ก็กำลังทำโปรเจ็กต์สนามทดสอบรถ CAV ส่วนตัวคิดว่าค่อนข้างตรงสายที่จบมาเลยครับ

Photo by Linus Mimietz on Unsplash
Photo by Linus Mimietz on Unsplash

. . . . . . .

Q&A การสมัครทุนรัฐบาล UiS
ผ่านกี่ด่าน? เตรียมตัวยังไง? คุ้มแค่ไหน?

Q: ทำไมพี่นิคกี้ถึงเลือก KTH ที่ประเทศสวีเดน?

สวีเดนเป็นประเทศในแถบยุโรปเหนือครับ บรรยากาศเงียบสงบ ธรรมชาติดี และเหมาะสำหรับคนที่สนใจด้าน Robotics เนื่องจากประเทศเขาพยายามทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนได้ด้วยระบบอัตโนมัติ อย่างระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ที่นั่นก้าวหน้ามากๆ เนื่องจากเป็นประเทศเขตหนาว หนาวไปแล้ว 8 เดือนจากทั้งหมด 12 เดือน พอมีข้อจำกัดที่ทำให้เพาะปลูกตลอดทั้งปีไม่ได้ ก็ต้องพึ่งการนำเข้าจากประเทศอื่นในยุโรป ซึ่งความรู้เรื่อง Robotics สามารถเข้ามาซัปพอร์ตตรงนี้ได้

Q: เล่ากระบวนการคัดเลือก

ทุน UiS คือทุน ก.พ. ของรัฐบาลไทย สมัครได้ตอนเรียนปริญญาตรีปี 3 พอเราส่งเอกสารแล้วคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ จะมีสิทธิ์เข้าสอบรอบข้อเขียน คัดเลือกเหลือผู้เข้ารอบสัมภาษณ์ (แบ่งเป็นเขียน Essay -> Discuss กลุ่ม -> Discuss เดี่ยว) สุดท้ายจะได้นักเรียนทุนตามโควตาที่สังกัดนั้นๆ เปิดรับ 

**การรับทุนจะแบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 ทุนสนับสนุนค่าเรียน ป.ตรี ปีสุดท้าย

  • เราจะได้เรียน ป.ตรี ปีสุดท้ายฟรี 100% พอจบจะต้องบรรจุเข้าทำงานในส่วนราชการที่ ก.พ. กำหนดเป็นระยะเวลา 2 เท่า (เรียน 1 ปี = ระยะเวลาใช้ทุน 2 ปี) ระหว่างนี้นักเรียนทุนต้องทำข้อเสนอการปรับปรุงและพัฒนางานส่งให้สังกัด
  • ช่วงนี้คือโอกาสดีที่จะได้ลองว่าเราชอบและปรับตัวเข้ากับงานราชการได้มั้ย ได้ชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อจำกัด ถ้าเกิดเรารู้สึกโอเค เห็นโอกาสที่จะได้ทำบางอย่าง รู้ว่าจะเรียนต่อ ป.โ​ท สาขาไหน เพื่อผลักดันนโยบายด้านไหนในหน่วยงานราชการ เราก็สามารถขอรับทุนต่อได้ครับ (ต้องลิสต์สาขาและมหาวิทยาลัยให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติ) หรือถ้ารู้สึกไม่คลิก ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ไปต่อ พอใช้ทุนระยะแรกหมดเราสามารถลาออก และขอไม่รับทุนระยะที่ 2 ได้ครับ

ระยะที่ 2 ทุนสนับสนุนช่วงเรียน ป.โท ในไทยหรือต่างประเทศ 

  • เราจะมีสิทธิ์ขอทุนระยะที่ 2 ต่อเนื่อง หลังจากทำงานชดใช้ทุนระยะที่ 1 แล้วได้ผลประเมิน “ดีมาก” ขึ้นไป
  • ข้อผูกพันหลังเรียนจบ ป.โท คือต้องเข้าทำงานในส่วนราชการที่ ก.พ. กำหนด 2 เท่าจากที่รับทุนเช่นกัน เช่น พี่ไปเรียนที่ KTH 3 ปีด้วยทุน UiS = ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนที่ไทย 6 ปี

(ถามจากประสบการณ์ส่วนตัว สำหรับพี่นิคกี้คุ้มมั้ย?)

 ถ้าวัดจากมูลค่า โปรแกรมนี้ค่าเรียนประมาณ 1 ล้านบาท ค่ากินอยู่ที่สวีเดนเดือนละประมาณ 30,000-40,000 บาท แล้วยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะ พวกอุปกรณ์การศึกษา ฯลฯ รวมๆ แล้วกรณีพี่คือได้ทุนรวมกัน 3 ล้านกว่าบาท ใช้เวลาคืนทุน 2 เท่า (เรียน 3 ปี ทำงานใช้ทุน 6 ปี) พอจบมาได้ทำงานค่อนข้างตรงสายด้วย เลยรู้สึกเป็นการตัดสินใจที่คุ้มสำหรับพี่ครับ

 

Q: เตรียมตัวก่อนลงสนามสอบทุนรัฐบาลยังไงบ้าง?

เริ่มจากดูก่อนว่า ภาค ก สอบหัวข้อไหนบ้าง อัปเดตข้อมูลล่าสุดจะมี 1. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์คณิตศาสตร์ 2. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ภาษาไทย  3. ภาษาอังกฤษ (แนะนำว่าควรมีประมาณ IELTS 5 – 5.5 ขึ้นไป ถึงจะสู้กับข้อสอบทุนได้) และสุดท้ายคือ 4. ความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี

ข้อสอบระดับทั่วไป ไม่ได้ลงลึกเฉพาะทาง แต่จะยากเรื่องการบริหารเวลามากกว่า เช่น พี่มองว่าตรรกศาสตร์ต้องใช้เวลาทำ ก็ข้ามไปทำพาร์ตอื่นก่อนครับ

Q: แชร์มุมมองในฐานะข้าราชการ และนักเรียนทุน

เรื่อง Mindset สำคัญมาก “ข้าราชการ” คือกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ถ้าจัดสรรนโยบายได้ดี ผลักดันเศรษฐกิจได้ ผลลัพธ์ที่สะท้อนออกมาคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ถึงเวลานั้นเราก็จะมีความสุข เพราะเราคือประชาชนคนนึงเหมือนกัน 

บางคนอาจเจอช่วงที่นอยด์ ตั้งคำถามกับตัวเองตอนเห็นเพื่อนทำงานเอกชนเงินเดือนสูงๆ ซึ่งต่างกับเงินเดือนเริ่มต้นของงานราชการ แต่ถ้าถามว่าข้อดี (จากประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัว) พี่ว่าเป็นเรื่องสวัสดิการดี ชีวิตมั่นคง 

หลายคนอาจมองว่าถ้าเข้าไปในระบบงานราชการแล้ว จะอยู่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามก็ได้ ถูกขับออกยาก ซึ่งก็หมือนย่ำอยู่ที่เดิม แต่ถ้าตื่นตัวกับการสร้างผลงานใหม่ๆ อิมแพคจะสูง และทำให้เราไต่ระดับขึ้นสูงๆ ได้ และซึ่งถ้าถึงเวลานั้น ความมั่นคงจะสูงมากตามไปด้วย อีกทั้งการเป็นนักเรียนทุนจะยิ่งได้รับการผลักดัน เหมือนได้ลงไปแข่งแสดงศักยภาพกับคนอื่นๆ ที่ดีกรีไม่ธรรมดา (อย่างสังกัดพี่มีดอกเตอร์เยอะมากกก) แล้วค้นพบว่าไม่ได้มีทางเลือกเดียว ไม่จำเป็นต้องเติบโตในสายผู้บริหาร แต่ยังมีสายวิชาการ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ดูแลงานวิจัยและภารกิจอื่นๆ ในเชิงวิชาการได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นในเมื่อเราได้เป็นนักเรียนทุน หน้าที่คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เรียนแล้วกลับมาสร้างกลไกขับเคลื่อนอะไรบางอย่างได้ สร้างอิมแพคให้กับสังคม ให้เหมาะกับการเป็นผู้ถูกเลือก 

(Note: หลังจากติดทุนก็จะกิจกรรมให้เรามาพบปะแลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็นเครือข่ายนักเรียนทุน ข้อดีคือพอแยกย้ายกันไปทำงานตามสังกัด จะประสานงานกันข้ามกระทรวงได้ง่ายขึ้น)
 

ประกาศรับสมัครทุน UiS ปี 2567

. . . . . . .

นี่แหละชีวิตเด็ก ป.โท
ในรั้วมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของสวีเดน!

KTH Royal Institute of Technology เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ พ่วงด้วยอันดับวิศวะที่สูงสุดในประเทศแถบแกนดิเนเวีย (ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวีเดน) โดยสาขา Systems, Control, Robotics คือ 1 ใน 3 สาขาที่การแข่งขันสูงที่สุดของ KTH อัตราการรับนักเรียนไม่ถึง 10% ถือว่าท้าทายมากๆ ทั้งตอนสมัครและตอนเรียนเลยครับ // ปีแรกได้ F 5 ตัวครับ แปะไว้เดี๋ยวมาเล่าต่อ TT

ความรวยและคอนเน็กชันดีของ KTH ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งมากจากทั่วยุโรป อุปกรณ์เครื่องมือพร้อม มีทุนสนับสนุนวิจัยเยอะมากจากบริษัทใหญ่ๆ ที่มาร่วมโปรเจ็กต์กัน (เช่น ABB, Saab Automobile เป็นต้น) เราจะมีโอกาสได้คอนเน็กชันระหว่างเรียนหรือทำธีสิสจบด้วยครับ

สกิลภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่พอ

การเรียน Robotics จะต้องประยุกต์ความรู้ 4 กลุ่มหลักคือ ฟิสิกส์, วิศวะเครื่องกล, วิศวะไฟฟ้า และวิศวะคอมพิวเตอร์ ซึ่งตัวจี๊ดที่ยากมากคือคณิตกับฟิสิกส์สำหรับทำระบบอัตโนมัติครับ อย่างตอนนั้น พี่ต้องรื้อฟื้นคณิตไปปีนึงถึงจะ “อ๋อออ” ตอนย้อนมาดูเลกเชอร์ใหม่อีกที คราวนี้จะฝังหัวแล้ว เพราะ ป.โท โฟกัสแค่บางกลุ่ม และเน้นประยุกต์ใช้ ต่างกับ ป.ตรี ที่เรียนหลักการเน้นให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด 

การเรียนจะมีทั้งรูปแบบ Lecture, Assignment, Lab/Mini Project (โปรเจ็กต์มีทุก 2 สัปดาห์) อาจารย์จะสนับสนุนให้มีการถาม-ตอบเป็น Two-way communication  เราสามารถส่งอีเมลขอเข้าพบอาจารย์ หรือ Teaching Assistant (TA) เพื่อถามเรื่องเนื้อหาได้เลย เขายินดีช่วยมากๆ แต่เราควรเตรียมตัวอย่างดี ไม่เข้าห้องไปคุยแบบ blank ครับ

ประสบการณ์ช็อกกับเกรดปีแรก!

ป.ตรี เคยได้แต่เกรด A, B+, B หนักสุดก็ C วิชาเดียว แต่พอมาที่นี่ปีแรกเจอ F ทั้งหมด 5 ตัว 

พี่เจอการตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ครับ สอบ 5 ข้อในภายในเวลา 5 ชั่วโมง ซึ่งชะตากรรมเกรดจะขึ้นอยู่กับ 5 ชั่วโมงนั้น ใครที่หวังจะ One Night Miracle อ่านวันเดียวไปสอบ สำหรับคณะวิศวะ KTH ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะต้องเกิดจากการสะสมมาเรื่อยๆ จากสัปดาห์แรก ต้องตื่นตัวกับการเรียนตลอด ถ้าเข้าใจเนื้อหาวีคนี้ไม่เคลียร์ วีคต่อไปจะลำบากแล้ว

แต่ข้อดีคือที่สวีเดนจะให้โอกาสเรา re-exam สอบแก้ตัวได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เช่น ใน 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 Periods (เทอมละ 2  Periods) สมมติเราเรียนวิชานั้นไปตอน Period แรก แต่เกรดไม่ดีหรือสภาพจิตใจไม่พร้อมสอบ ถ้าวิชานั้นเปิดอีกใน Period 2 เราสามารถสอบแก้ตัวได้โดยไม่ต้องนั่งเรียนใหม่ และมีโอกาสได้ตั้งแต่ A ถึง F เหมือนเดิม

วิชาเรียน & แล็บก็จะประมาณนี้

ป.โท พี่เรียนไป 13 วิชา หนึ่งในตัวโหดคือ “Advance Control Theory” เรียนการควบคุมแบบขั้นสูง มองหลายมิติขึ้น เช่น ความเสถียร ความมั่นคงของระบบ ฯลฯ ต้องประยุกต์ Math ที่ยากมากกกก พี่ใช้เวลาทำความเข้าใจไปพักใหญ่ๆ แต่แล็บวิชานี้สนุกครับ อย่างเช่นโจทย์คือเราต้องสร้างระบบควบคุมถังน้ำ 2 ถังให้ได้ระดับ หรือไม่ก็ควบคุมสิ่งอื่นๆ เป็นวัตถุที่เราจับต้องได้

อย่างที่บอก แล็บที่ KTH เยอะและล้ำมากตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อนที่พี่เรียน หนึ่งในแล็บที่ชอบมากคือ “Robotic in Practice” เราได้ประยุกต์ใช้ทุกองค์ความรู้ที่ต้องใช้เพื่อสร้างหุ่นยนต์ 1 ตัวขึ้นมา เช่น โจทย์คือให้เราทำหุ่นยนต์ 2 ล้อ ที่สามารถประคองตัวเองและเคลื่อนไปทิศหน้าทิศหลังเองได้ 

นอกจากนี้ยังมี slots ให้เราลงวิชาเลือก พี่เลยไปลงเกี่ยวกับการพูดอย่างมีศิลปะ (วาทศิลป์) ได้โต้วาทีกับเพื่อนในคลาสเยอะมากก สนุกกับการได้เถียง 5555 เหมือนได้ผ่อนคลายจากวิชาเครียดๆ แล้วฝึกมาใช้กับการเสนองานในคณะ

ส่วนช่วงหลังๆ พี่จะเบนไปทาง Network Control System เรียนความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เลือกทำวิทยานิพนธ์ ป.โท หัวข้อ "Hardened Registration Process for Participatory Sensing" เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง และได้ตีพิมพ์โปสเตอร์ของ Association for Computing Machinery (ACM) 

คลิกเพื่อเข้าชม Link วิทยานิพนธ์บน ACM
คลิกเพื่อเข้าชม Link วิทยานิพนธ์บน ACM

โอกาสหางานต่อในสวีเดน

กรณีพี่เป็นนักเรียนทุน ต้องกลับไปทำงาน 2 เท่า ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องนี้  แต่ขอแชร์เผื่อมีน้องๆ มาเรียนด้วยวิธีอื่นครับ 

สำหรับผู้ที่ถือ “วีซ่านักเรียน” จะมีสิทธิ์พำนักในสวีเดนต่ออีก 12 เดือนเพื่อหางาน และงานวิศวะฯ ส่วนมากจะจ้างพนักงานต่างชาติเยอะ เลยเป็นวัฒนธรรมที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้มีโอกาสหางานต่อได้ หนึ่งในวิธีที่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสคือตอนทำธีสิส ป.โท ปกติมี 2 ทางเลือก

  1. เลือกทำ Master Thesis กับหัวข้อของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย และเป็นโอกาสการก้าวสู่ปริญญาเอก
  2. เลือกทำกับบริษัท โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็น Co-Advisor เป็นโอกาสพิสูจน์ตัวเอง ถ้าเข้าตาบริษัทก็อาจชวนเราไปร่วมงานด้วย

**ตอนพี่เรียนไม่มีฝึกงาน (Internship) แต่จะมี งาน Job Fair ที่ชื่อ Armada (https://armada.nu) ที่ offer งานช่วงฤดูร้อน ใครสนใจลองคลิกดูรายละเอียดได้ครับ ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นวันที่ 21‑22 พฤศจิกายน 2023

เว็บ ป.โท Systems, Control and Robotics 
สวีเดน
สวีเดน
ย่าน Old town ของสวีเดน
ย่าน Old town ของสวีเดน

. . . . . . .

รีวิวแบบแรนดอม 5 ข้อ  
บอกต่อชีวิตนักเรียนในสวีเดน

1. ชาวต่างชาติมาเรียน 2 ปีขึ้นไป ทำเรื่องขอ “Personnummer” ได้

นักเรียนต่างชาติที่ลงคอร์สเรียนอย่างน้อย 2 ปี สามารถทำเรื่องขอมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ที่สวีเดนได้ -> จากนั้นเราจะได้ Personnummer หรือ “หมายเลขบัตรประชาชน” ที่ช่วยให้ชีวิตในสวีเดนง่ายขึ้น  ใช้ยืนยันตัวตน และปลดล็อกสวัสดิการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการเข้าถึงบริการด้านสาธาณสุขครับ ในปีนึงจ่ายสูงสุดไม่เกิน 2,000 Swedish Krona (ประมาณ 6,500 บาท) เกินจากนี้ฟรีหมด ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

แต่ต้องบอกว่าเรื่องสุขภาพกายที่สวีเดน ขั้นตอนจะเยอะหน่อยครับ สมมติป่วยขึ้นมาให้โทรไปสายด่วน 1117 พยาบาลจะประเมินอาการเบื้องต้นว่าต้องพบแพทย์มั้ย หรือไปคลินิกใกล้บ้าน ถ้าไม่หนักจะได้คำแนะนำให้พักผ่อนที่บ้านครับ แต่ถ้าอาการหนักจริงๆ เขาจะส่งเราไปที่โรงพยาบาลและนัดแพทย์ให้ **ถ้ามีโรคประจำตัว มียาที่ทานประจำ ควรเตรียมจากไทยไปด้วย

ใครสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Personnummer ได้ที่ https://www.facebook.com/SwedishEducationandCareerDays/posts/2991315567810875/ หรือ https://studyinsweden.se/moving-to-sweden/permits-visas/  ได้เลยนะคะ เว็บน่ารักและสรุปเข้าใจง่ายมาก~

2. ความมืดน่ากลัวกว่าความหนาว

สวีเดนเป็นประเทศที่สงบ อากาศบริสุทธิ์ ระบบสาธารณูปโภคดีมาก แต่สิ่งที่คนไทยต้องเตรียมรับมือคือความมืด เพราะฤดูหนาวที่สวีเดนทั้งมืดนาน มืดไว บ่าย 2-3 ก็มืดแล้ว แทบไม่มีโอกาสเจอแสงแดด สิ่งที่ตามมาคือร่างกายได้รับวิตามิน D ไม่เพียงพอ และเกิดสภาวะซึมเศร้าได้ง่าย

แต่ทั้งนี้ สวีเดนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากครับ ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่ในมหาวิทยาลัย KTH เองก็มีหน่วยสนับสนุนนักศึกษา ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ สามารถเข้าไปปรึกษาและนัดพบจิตแพทย์ได้เลย 

3. คนสวีเดนเย็นชาและเข้าถึงยากจริงไหม?

จริงๆ แล้วคนสวีเดนเป็นมิตรและพร้อมช่วยเหลือมากนะครับ ถ้าเกิดไปเรียนแล้วมีโอกาส join ปาร์ตี้บ้านนู้นบ้านนี้ เขาจะสนิทใจกับเรามากขึ้น พูดง่ายๆ คือชาวต่างชาติอาจต้องเป็นฝ่ายเข้าหา ซึ่งหนึ่งในทริคที่ช่วยได้มากคือ ฝึกสกิลทำอาหารไทยไปเลย เพราะเขาชอบอาหารไทย ญี่ปุ่น อินเดียครับ (พี่ได้เพื่อนเยอะมากจากตรงนี้แหละ)

4. ตำรวจที่สวีเดน Nice โคตรๆ

มีครั้งนึงพี่เมา เดินออกมานั่งมึนๆ กับเพื่อนที่ป้ายรถเมล์ครับ ปรากฏว่ามีรถตำรวจ U-Turn จากฝั่งตรงข้ามมาหยุดที่ป้าย เปิดประตูถามว่าคุณไหวใช่มั้ย? โอเครึเปล่า? ถ้าไม่ไหวเขาสามารถไปส่งที่บ้านได้นะ ตอนนั้นพี่ยังพอมีสติและอธิบายถูกว่ากลับไหว แล้วมีเพื่อนอยู่ด้วยครับ เขาก็เลยขอถ่ายรูปบัตรประชาชนไว้เผื่อเกิดเรื่อง

หรือบนสถานีรถไฟใต้ดินช่วงกลางคืนก็มีตำรวจเดินตรวจอยู่เหมือนกัน ถ้าเจอใครไม่ไหวเขาจะคอยดูแล ยื่นน้ำขวดใหญ่ให้ดื่มจนหมดขวดก่อนกลับบ้าน

5. อานุภาพของวีซ่าเชงเก้น

นักเรียนต่างชาติที่สวีเดน สามารถขอ “วีซ่าเชงเก้น” (Schengen Visa) หรือ Visa Type C ได้ครับ เป็นวีซ่าระยะสั้น ที่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในกลุ่มเชงเก้น (Schengen Area) ซึ่งก็คือใน EU และบางประเทศนอก EU ที่มีข้อตกลงร่วมกัน และสามารถพำนักในประเทศนั้นๆ ได้นานติดต่อกัน 90 วัน (แต่ไม่เกิน 90 วัน) ด้วยครับ

ข้อดีคือการเดินทางในยุโรปสะดวกมากๆ เพราะใช้ระบบรางเป็นหลัก ถึงไม่มีรถส่วนตัวก็เที่ยวข้ามประเทศได้ด้วยเครื่องบินหรือรถไฟฟ้าระหว่างเมือง

อ้างอิงข้อมูลประเทศกลุ่มเชงเก้น (อัปเดต พ.ย. 66)
อ้างอิงข้อมูลประเทศกลุ่มเชงเก้น (อัปเดต พ.ย. 66)
Cr. https://www.schengenvisainfo.com/schengen-visa-countries-list/ 
ระเบียบการขอวีซ่าเชงเก้นเว็บไซต์วีซ่าเชงเก้น

สรุปคือตอนเรียนสวีเดน พี่เที่ยวประเทศในกลุ่มเชงเก้นไป 10 กว่าประเทศ เจอวัฒนธรรมมาแบบหลากหลายตั้งแต่เหนือจรดใต้ คนยุโรปจะไม่ค่อยสนุกกับการเดินห้าง แต่ชอบเที่ยวแนวธรรมชาติกับพิพิธภัณฑ์มากกว่า // ส่วนตัวไปแล้วชอบสุดคือ “ออสเตรีย” คล้ายสวิตเซอร์แลนด์แต่ประหยัดกว่า ธรรมชาติดี ภูเขาสวยมาก~ // อย่างไรก็ตาม ถ้ามาแถบสแกนดิเนเวีย ไม่อยากให้พลาดหาจุดชมแสงเหนือสักครั้งในชีวิต อย่างพี่ก็ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เห็นตั้งแต่หลังหอเลยครับ

Tips: ถ้าจะเที่ยวเมืองหรือประเทศไหน ลองค้นคำว่า “Free Walking Tour” เขาจะมีไกด์ทัวร์นัดตามจุดต่างๆ พาเดินชมเมือง อธิบายประวัติศาสตร์ให้ฟัง ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับเรา เขาจะใช้เงินนี้ครองชีพของเขา

สวีเดน
สวีเดน
มาสวีเดนทั้งที ต้องเช็กอินแสงเหนือ
มาสวีเดนทั้งที ต้องเช็กอินแสงเหนือ

พักไปชมวิวประเทศอื่นในยุโรปกันค่ะ~~~
ขอบคุณภาพสวยๆ จากพี่นิคกี้นะคะ

นอร์เวย์
นอร์เวย์
เยอรมัน
เยอรมัน
เส้นทางสู่นอร์เวย์
เส้นทางสู่นอร์เวย์
อิตาลี
อิตาลี
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส

. . . . . . .

สถานีต่อไปของใครคือ “สวีเดน”
ห้ามตกขบวนไลน์กลุ่มนี้!

พี่กับคนไทยที่เป็นศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัยของสวีเดน ร่วมกันสร้างกลุ่ม @nextstationsweden ขึ้นมาเพื่อแชร์ข้อมูลข่าวสารให้คนที่สนใจไปเรียนต่อ เรามีข้อมูลที่แน่นและเจาะลึกมากจากประสบการณ์ตรงของทีมงาน ถ้าพบปัญหาแอดไลน์มาคุยกับเราได้เลยครับ สาขาไหนก็ได้ ถามเรื่องการสอบเข้า ค่ากินอยู่ จิปาถะต่างๆ ได้หมด และจะมีจัดกิจกรรม Online และ On-site อยู่เป็นระยะ เน้นช่วยแนะแนวคนที่จะไปเรียนต่อ และมีเชิญรุ่นพี่ศิษย์เก่ามาพบปะพูดคุยกันด้วย

นอกจากศิษย์เก่าด้วยกัน เบื้องหลังของกลุ่ม @nextstationsweden จะมีเอเจนซีคอยช่วยดูแลเรื่องการเรียนต่อ ติดตามเอกสารให้เราได้ บริการฟรี เพราะมหาวิทยาลัยเป็นผู้สนับสนุนด้วยครับ ^ ^

คลิกเพื่อแอดไลน์

. . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่นิคกี้ตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27-28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่นิคกี้" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 27-28 เมษายน 2024 ห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น