จากติดทุน HES เรียนภาษาจีนระยะสั้น จุดแพสชันสู่การสมัครทุน TaiwanICDF เรียนต่อโทสายธุรกิจที่ NCCU

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกวันนี้ “ไต้หวัน” ก็ยังคงเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักเรียนต่างชาติ บางคนอาจมาเที่ยวแล้วติดใจเรื่องอากาศ ความสะอาด สถานที่ท่องเที่ยว บางคนตั้งใจจะมาเรียนเพื่อซึมซับ 2 ภาษาที่ทรงอิทธิพลของโลก ซึ่งข้อดีคือไต้หวันมีทุนที่ต่างชาติสมัครได้หลากหลายมาก เช่น ทุน HES เรียนภาษา, ทุน MOE ระดับ ป.ตรี/โท/เอก, ทุน TaiwanICDF ป.โท/เอก รวมถึงทุนตรงจากมหาวิทยาลัย ฯลฯ นอกจากนี้คือไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานภาษาจีนมาก่อน ก็สามารถเลือกเรียนหลักสูตรอินเตอร์ได้ค่ะ!

และวันนี้เราก็มีอีกรีวิวจาก “พี่เบญ – เบญจพร พัดเจริญรุ่งเรือง” รุ่นพี่ศิษย์เก่าคณะบัญชีจุฬาฯ ที่ทำงานสักพัก แล้วตัดสินใจสมัคทุน HES ไปเรียนภาษา 3 เดือนที่ไต้หวัน จุดแพสชันสู่การสมัครทุน TaiwanICDF ปี 2020 ไปเรียนต่อ ป.โท IMBA ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ 國立政治大學  National Chengchi University (NCCU) ในเมือง Taipei City ของไต้หวัน

ในนี้จะรีวิวแบบกระชับๆ ให้เห็นภาพ หากใครอยากปรึกษา “พี่เบญ” แบบ 1:1 เตรียมมางานแฟร์เรียนต่อนอก Dek-D รอบเมษายน 2024 นี้กัน! เช็กตารางรุ่นพี่และกิจกรรมทั้งหดที่นี่ https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

國立政治大學 National Chengchi University (NCCU)
國立政治大學 National Chengchi University (NCCU)

จากทุนเรียนภาษาระยะสั้น
จุดแพสชันสู่การสมัครทุน ป.โท

สวัสดีค่า ชื่อพี่เบญนะคะ เรียนจบ ป.ตรีคณะบัญชีจุฬาฯ หลังจบทำงานสายการเงิน (Finance) ที่บริษัทหลักทรัพย์และกองทุนรวม เป็นงานที่ตรงสายค่ะ แต่ทำไปปีนึงอยากลองเปลี่ยนแนว เลยย้ายไปสายการตลาด (Marketing) เจอจุดเปลี่ยนเพราะได้ติดต่องานกับคนจีนที่เป็นผู้พัฒนาสินค้า ทำให้มานั่งคิดว่าถ้าเรียนภาษาจีนไว้คงดีแน่ๆ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของโลก 

ตอนนั้นเริ่มจากหาทุนก่อน จนมาเจอกับ Huayu Enrichment Scholarship (HES) ทุนเรียนภาษาจีนระยะสั้นในไต้หวัน ไปแบบสมองโล่งงง ไม่มีพื้นฐานมาก่อน เริ่มต้นที่ภาษาจีนตัวเต็มเลยค่ะ! ผ่านไป 3 เดือน ภาษาพัฒนามากเพราะอยู่สภาพแวดล้อมที่ได้ใช้ภาษาตลอด แล้วยังประทับใจไต้หวันหลายอย่างโดยเฉพาะอากาศและความสะอาดของบ้านเมือง ตอนที่ทำงาน Marketing แล้วอยากเปลี่ยนสาย ก็เลยนั่งหาข้อมูลว่าที่ไหน MBA อยู่อันดับสูงๆ บ้าง

จากนั้นก็มาเจอทุนเต็มจำนวนที่น่าสนใจมากๆ คือ TaiwanICDF ของกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund; ICDF) ครอบคลุมค่าเล่าเรียน, เบี้ยเลี้ยงรายเดือน, และอื่นๆ (กำหนดการทุนปี 2024 ปิดรับสมัครไปเมื่อ 15 มี.ค. 2024 ที่ผ่านมาค่ะ)

ข้อมูลทุน TaiwanICDF ปี 2024 (ปิดรับแล้ว)

แชร์โพรไฟล์ช่วงสมัครทุน

  • GPA ป.ตรี ประมาณ 3.76 เกียรตินิยมอันดับ 2
  • ประสบการณ์ทำงาน 2 ปีกว่า (เป็นขั้นต่ำที่หลักสูตรกำหนด)
  • คะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ TOEIC 915

แนะนำให้เตรียมเอกสารให้เร็วที่สุด ส่วนตัวใช้เวลาโฟกัสกับ Statement of Purpose (SoP) ไปแล้วประมาณ 80% ของพลังทั้งหมดตอนนั้นค่ะ 5555 ทุน TaiwanICDF เขาจะให้เราเขียนกระชับมากก ≈300 words ต้องเลือกหยิบเรื่องเด่นๆ มาพรีเซนต์ ดูว่าจุดประสงค์ของทุนคืออะไร แล้วเราจะเข้าไป contributed ได้อย่างไรบ้าง ส่วนตอนสมัครมหาวิทยาลัยเขียนไปประมาณ ≈1,500 words หลักๆ คือทำไมถึงเลือกสมัครมหาวิทยาลัยนี้ อยากเรียนอะไร *ศึกษาหลักสูตรที่สมัคร แล้วมาเขียนเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตของเราค่ะ

เลือกมหาวิทยาลัยไหนไว้บ้าง 

  1. National Chengchi University (NCCU)
  2. National Tsing Hua University (NTSU)
  3. National Taiwan University (NTSU) *ไม่ได้อยู่ในโครงการ ICDF

*กรณีรับทุน TaiwanICDF ผู้สมัครจะต้องเลือกสาขาและมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทุนเท่านั้น ทั้งหมดเป็นภาคอินเตอร์ สอนเป็นภาษาอังกฤษ สามารถเช็กได้จากระเบียบการของปีที่สนใจสมัครค่ะ

 

#รีวิวไต้หวัน กับการปรับตัวช่วงแรกๆ

  • ตอนไปทุน HES เรียนภาษา 3 เดือน เราก็มีปรึกษารุ่นพี่ที่เคยเรียน + ไปมหาวิทยาลัยดูบรรยาากาศ สภาพแวดล้อม การเดินทาง สุดท้ายติดทั้ง 3 ที่ แต่เลือก NCCU เพราะได้ทุน ICDF และอยู่ใกล้ไทเป มีข้อดีทั้งเรื่องเดินทางสะดวก เที่ยวง่าย อยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวฮิต เช่น กระเช้าเหมาคง (Maokong Gondola), สวนสัตว์ไทเป (Taipei Zoo) *ส่วนใหญ่นักเรียนจะมีสวัสดิการส่วนลดค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวในไต้หวันด้วยค่ะ
     
  • เรื่องยากของเราคือเรียนภาคค่ำ (ประมาณ 18:00-22:00) ปกติจะชินกับการตื่นเช้า แต่เราต้องบริหารเวลาใหม่ ตื่นมาใช้ชีวิตก่อนแล้วค่อยไปเรียน บางคนก็จะมาเรียนหลังเลิกงานค่ะ
     
  • อากาศมีช่วงที่แดดออก ท้องฟ้าสีสวยเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ NCCU อยู่ในเขตป่า ทำให้อากาศค่อนข้างชื้นและฝนตกบ่อย หลายคนจะเจอปัญหาหนังสือหรือเสื้อผ้าขึ้นรา ถ้ามาที่นี่ควรหาเครื่องดูดความชื้นมาใช้ แต่ก็มีช่วงที่แดดออก ท้องฟ้าสีสวยเหมือนกันค่า
     
  • อาหารไต้หวันจะค่อนข้างเฉยๆ (แล้วแต่คน) เรามีซื้อของมาทำอาหารเองด้วยเพราะคิดถึงอาหารไทยเชื้อสายจีน
     
  • พอเป็นนักเรียนจะมีบังคับทำประกันสุขภาพของไต้หวัน ซึ่งระบบการรักษาดีมากก หาหมอได้เกือบทุกโรงพยาบาล ค่ารักษาค่อนข้างถูกเพราะมีประกัน แต่ถ้าใครไม่ค่อยได้ภาษาจีน อาจต้องเน้นโรงพยาบาลอินเตอร์ มีโอกาสที่หมอกับเจ้าหน้าที่จะพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่า
     
  • ประทับใจสุดคือระบบคมนาคมของไต้หวันค่ะ ไม่ต้องมีรถส่วนตัวก็เดินทางทั่วถึงหลายที่ ค่าโดยสารถูก อย่างตอนนั้นเรานั่ง MRT นั่งจากต้นสายไปถึงปลายทาง 50 NTD (ค่าเงินพอๆ กัน 1 NTD = 1.13 บาท) ป้ายรถ Bus ก็มีบอกว่าอีกกี่นาทีถึง เราวางแผนชีวิตได้มากกว่า

สาขา International MBA เรียนอะไรบ้าง

IMBA คือ ป.โทบริหารธุรกิจที่เปิดสอนภาคอินเตอร์ คลาสนึง 30-50 คน ในคลาสจะเป็นคนไต้หวัน 50% นอกนั้นเป็นนักเรียนอินเตอร์หลายๆ ชาติ แต่การเรียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก 

ปีแรกจะได้เจอวิชาบังคับทั้งหมด เช่น บัญชี (Accounting), การตลาด (Marketing), การเงิน (Finance) ฯลฯ ช่วงนี้เรียนเลกเชอร์ พอเทอมหลังๆ จะต้องเลือก Concentrations ว่าเน้นด้านไหน และต้องลงวิชาในกลุ่มนั้นๆ ขั้นต่ำ 9 หน่วยกิต ช่วงนี้จะเน้นอภิปราย (Discussion) หรืออาจให้แบ่งฝ่ายโต้วาทีกัน (Debate) โดยมีตารางมาให้ว่าวีคนี้เรียนเคสไหน เราต้องไปเตรียมอ่านแล้วมาคุยกันในคลาส

แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship), การเงิน​ (Finance), การตลาด (Marketing) และการจัดการในภูมิภาคเอเชีย (Management in Asia)  *เราเลือกกลุ่มหลังค่ะ สำหรับลิสต์วิชาที่เป็นหน่วยกิตของกลุ่มนี้คือ

  • Chinese Business in Global Perspective
  • Confucianism and Leadership
  • Co-opetition: A Game Theoretic Approach to Business Practices
  • Cross Culture Business Negotiation
  • International Business Management
  • Small and Medium-sized Enterprises
  • Strategic Leadership
  • Strategic Talent Management
Curriculum Guide

จากประสบการณ์ส่วนตัว Professor แทบทุกวิชาจะเป็นสายเฮฮา หรืออย่างอาจารย์ชาวไต้หวันบางคนก็จบมาจากต่างประเทศ ทำให้มีแนวคิดทันสมัย เปิดกว้างมาก และเข้าใจชาวต่างชาติค่ะ 

แนะนำว่าถ้ามีวินัยจะไม่เหนื่อยมาก

 ตารางเรียนวีคนึงไม่ได้บีบอัดเกินไป ปริมาณเยอะแบบพอดีๆ บางวิชาอาจจะมีคะแนนการมีส่วนร่วมสัก 10% ส่งงานตรงเวลาอีก 30% ที่เหลือ 60% มาจากการสอบ ส่วนใหญ่วิชาเน้นทฤษฎีอย่างบัญชีหรือไฟแนนซ์ก็จะประมาณนี้ แต่ถ้าเป็นวิชาเฉพาะทาง เช่น ในกลุ่มของ Management in Asia จะเน้นส่งงานมากกว่า  (ส่่วนตัวชอบแบบนี้มากกว่าจำไปสอบ)

สำหรับ IMBA เป็นคณะดังของ NCCU อยู่แล้ว และจากที่เรียนมารูัสึกเด่นด้าน Finance มาก ใครจบสายอื่นมาแล้วอยากลองศึกษาด้านนี้เพิ่ม เราว่าที่นี่ค่อนข้างตอบโจทย์เลย

จังหวะไหนช่วยเพิ่มโอกาสทำงานหลังเรียนจบได้?

หลักสูตรนี้ไม่ได้บังคับฝึกงาน แต่ถ้าใครอยากรู้ว่าการทำงานที่ไต้หวันเป็นยังไงบ้าง หรืออยากได้คอนเน็กชันกับประสบการณ์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสหลังจบ สามารถลองหาและสมัครฝึกงานได้ค่ะ อย่างตอนนั้นเราก็มีโอกาสไปฝึกในบริษัทด้าน E-Commerce ที่เขาจะขยายฐานมาประเทศไทย และต้องการคนที่เป็นตัวกลางพอดี

นอกจากนี้คือ NCCU จะมีจัด Job Fair แต่บางที่จะมีความเป็น Taiwanese-based (ประมาณว่าพิจารณาเลือกคนไต้หวันก่อนเป็น priority) หรือถ้าเขาต้องการหาคนที่เป็น Native Speaker ในประเทศที่จะเข้าไปทำการตลาด อาจต้องสื่อสารจีนกลางได้ประมาณนึงค่ะ

ข้อดีของการเรียน MBA

  • คอนเน็กชันหลากหลาย เพื่อนมาจากหลายแวดวงการทำงาน เช่น อสังหาริมทรัพย์, พัฒนาซอฟต์แวร์, ไอที, กฎหมาย ฯลฯ แล้วยังหลากหลายในมิติของประเทศด้วย ได้รู้อินไซต์ของประเทศนั้นๆ // ถึงตอนเรียนจบแล้วเราต่างแยกย้ายกลับประเทศตัวเอง แต่ก็ยังมีติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ
  • เหมาะกับคนที่อยากเปลี่ยนสายงาน เพราะ MBA จะได้เรียนพื้นฐานทุกสายที่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่อาจไม่ได้ Specific มากถึงขั้นเป็น Auditor ได้
  • เราจะได้มาเรียนรู้ว่าคนจากประเทศต่างๆ เขา take action กับเคสต่างๆ ประมาณไหน เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหน้าที่ของเราได้ เวลาดิสคัสก็จะมีช่วงที่เราได้แชร์เรื่องในประเทศตัวเองแลกเปลี่ยนกัน
เว็บหลักสูตร IMBA, NCCU

ฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังค้นหาตัวเอง

ถ้ากำลังเรียน ม.ปลาย หรือ ป.ตรีตอนนี้ยังมีเวลาอีกหลายปี ระหว่างนี้ลองค้นหาสิ่งที่ชอบและสนใจ ควบคู่กับฝึกภาษาอังกฤษ เราว่ายุคนี้มีสื่อให้พัฒนาภาษาได้เยอะมากค่ะ

สำหรับใครที่เตรียมสมัครทุน TaiwanICDF  (หรือทุนใดก็ตาม) ยิ่งเตรียมตัวเร็วยิ่งดี พยายามอ่านข้อมูลอย่างรอบคอบที่สุด เช่น ทุนต้องการอะไร เตรียมเอกสารอะไรบ้าง ฯลฯ ยิ่งการเขียน Resume, SoP ไม่ใช่ Draft เดียวจบ แต่ต้องอ่านหลายๆ รอบ ปรับแล้วปรับอีกจนกว่าจะได้เวอร์ชันที่ดีที่สุด ลองให้คนอื่นช่วยอ่าน หรือขอคำแนะนำจากเพื่อน/รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ จะได้คำแนะนำจากหลายมุมมองค่ะ

การขอทุนและสมัครเรียนคือเหนื่อยจริงแต่คุ้มค่ามาก ถ้าเกิดทำเต็มที่แล้วผลลัพธ์เป็นยังไงเราก็จะไม่เสียใจกับมัน และถึงพลาดทุนปีนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะพลาดปีหน้า ถ้าเกิดยังอยากสู้ต่ออีกก็ถือว่าได้ลองสนาม แล้วกลับมาประมวลว่าอะไรที่น่าจะทำให้เราพลาดทุนปีก่อนๆ 

. . . . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับนักเรียนทุนตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27-28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน (ICDF), ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่เบญ" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2024 สรุปไฮไลต์อีกเพียบที่ลิงก์ด้านล่างนี้ แล้วเจอกันนะคะ~

เว็บไซต​์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น