Hello, MIT! รีวิวชีวิตเด็กทุนคิงของ ‘พี่อรรถ’ ดีกรี ป.ตรี-โท วิศวะคอมพ์ฯ ม.อันดับ 1 ของโลก

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึง MIT หรือ “Massachusetts Institute of Technology” ชื่อนี้ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 บนชาร์ต QS World University Rankings มาต่อเนื่องเกิน 10 ปีแล้ว หลายคนคงอยากเห็นภาพว่าการเรียนจะเข้มข้นและมีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนขนาดไหน วันก่อนเราได้รับเกียรติจาก “พี่อรรถ – จรัสพงศ์ โชติกวณิชย์” รุ่นพี่ทุนคิงและศิษย์เก่าคณะ “Electrical Engineering & Computer Science” ของ MIT มาแชร์ให้ฟังแบบเห็นภาพมากๆ ค่ะ

ในบทสัมภาษณ์นี้เราจะ recap ประสบการณ์แบบเนื้อๆ ตั้งแต่ “การสมัครทุนคิง” ที่ช่วยสานฝันคนอยากเรียนต่อ Top Universities ทั่วโลก, การเรียนและการบ้านสุดหินแต่ละชิ้นในคลาส, โอกาสและความพร้อมของมหาวิทยาลัยและสหรัฐอเมริกา, เส้นทางสู่ ป.โท MIT และ UCLA และอัปเดตชีวิตปัจจุบันกับบทบาท CTO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท T2P Co.,Ltd ที่ให้บริการโซลูชันด้านการเงิน เจ้าของแอปพลิเคชัน Smart e-Wallet ชื่อ “DeepPocket” 

Note: แอปฯ​ ที่พัฒนาโดย 2 ศิษย์เก่า MIT คณะวิศวะและบริหารธุรกิจพัฒนาไปไกลมากๆ  น้องๆ และผู้ปกครองของทีมต่อนอกตามไปดาวน์โหลดแรงบันดาลใจและแอปฯ น่าใช้พร้อมๆ กันเลยค่ะ!

Photo: Emily Dahl
Photo: Emily Dahl

ส่องโพล 10 อันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก ประจำปี 2024 จาก QS World University Rankings  >> https://www.dek-d.com/studyabroad/62660

<p> My first paragraph. </p>

สวัสดีครับ ชื่อ “พี่อรรถ” จบมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ทุนคิงเมื่อปี 1993 (King's Scholarship) ไปเรียน High School ก่อนสมัครเข้า ป.ตรี Electrical Engineering & Computer Science ที่ MIT ครับ หลังจบออกมาก็ใช้ทุนตามระยะเวลาเรียน แล้วไปต่อ ป.โท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ MIT กับบริหารธุรกิจที่ UCLA (University of California, Los Angeles) ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง CTO ที่บริษัท T2P Co., Ltd.

จุดเริ่มต้นการไปเรียนที่อเมริกาของผม ต้องขอเล่าย้อนไปตอน ม.5  อาจารย์เคยเชิญศิษย์เก่าเตรียมฯ ที่ได้ทุนมาเล่าประสบการณ์ให้รุ่นน้องฟังที่โรงเรียนครับ ด้วยความที่การเรียนต่อ Top U. โดยเฉพาะของอเมริกามีค่าใช้จ่ายสูงหลักล้าน และทางบ้านไม่ได้มีซัปพอร์ตมากมายขนาดนั้น เลยจุดประกายให้อยากขอทุนบ้าง ซึ่งถ้าเป็นทุนรัฐบาลจะมีหลายประเภท แต่ทุนคิงน่าสนใจตรงที่ให้เราใช้ทุนด้วยระยะเวลา (หลังจบต้องกลับมาทำงานที่ไทย 5 ปี) และเลือกเรียนที่ไหนก็ได้ทั่วโลก

ตอนนั้นผมชอบฟิสิกส์กับเลข + เคยเข้าค่ายโอลิมปิกคอมพ์ แล้วมาเจอข้อมูลว่า MIT คือสุดยอดของสายวิศวะ ก็ตั้งโกลไว้อันดับแรก และดูตัวเลือกอื่นๆ ไว้ด้วยครับ

สมัครทุนคิง > ปรับพื้นฐานแบบเข้มข้น

ทุนคิงสมัครได้ตอน ม.6 ครับ มีให้เลือกสมัครของสายวิทย์, สายศิลป์-คำนวณ, ศิลป์-ภาษา เราต้องเลือกจากคณะที่ตั้งใจจะไปเรียนตอน ป.ตรี เช่น ผมสนใจวิศวะคอมพ์ ก็ต้องสมัครทุนคิงของสายวิทย์ ข้อสอบแต่ละสายก็จะไม่เหมือนกัน แต่เนื้อหาจะไม่เกินระดับ ม.ปลาย

เล่าลำดับ process คร่าวๆ คือส่งใบสมัคร สอบข้อเขียน และคัดเหลือ 5 คนสอบสัมภาษณ์ พอผลไฟนอลออกแล้วจะได้เลือกประเทศ ซึ่งรุ่นผมทุนคิงสายวิทย์ 5 คนเลือกไปอเมริกาทั้งหมด 

พอไปถึงอเมริกายังไม่เริ่มเรียน ป.ตรีนะครับ สำนักงานที่ดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยในแต่ละประเทศ จะส่งเด็กทุนรัฐบาลไทยสังกัดต่างๆ เช่น  ทุนโอลิมปิก ทุนกระทรวงวิทย์ ทุนแบงก์ชาติ ทุนเล่าเรียนหลวง ฯลฯ รวมทั้งหมด 22 คน ไปเริ่มต้นที่ Orientation Program ก่อน 3 เดือน (Apr-Jun) ผมได้ไป Wyoming Seminary College Preparatory School ที่รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania)  // ก่อนหน้าผม 2-3 รุ่นจะยังไม่มีช่วง Orientation ทางทุนสังเกตว่าถ้าเด็กไทยมาเริ่มที่ High School ของอเมริกาโดยไม่ได้ปรับตัวมาก่อนจะค่อนข้างลำบาก

พอจบจากช่วง Orientation นักเรียนทุนทั้งหมดจะกระจายไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่อเมริกา ซึ่งผมได้ไปที่ Andover High School (Massachusetts) ช่วงนี้ทั้งปรับพื้นฐาน เรียนรู้วัฒนธรรมอเมริกัน และเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปด้วย

สรุปความท้าทายช่วงปรับตัว
 

  • ภาษาอังกฤษยังไม่แข็ง สื่อสารได้งูๆ ปลาๆ และไม่ค่อยกล้าสื่อสาร (ปัญหาใหญ่ของเด็กไทย แต่อาจยกเว้นคนเรียนภาคอินเตอร์) แล้วมาเจอของจริงออกเสียงเพี้ยนหน่อยความหมายเปลี่ยน เวลาคุยกันเรางง ฝรั่งก็งง เช่น คำว่า “film” เราก็ออกเสียงว่า ฟิมๆๆๆ มาตลอด แต่จริงๆ เราต้องใส่อินเนอร์และออกเสียง l ควบกับ m ออกมาเป็น ฟิลลล์ม เขาถึงจะเข้าใจว่าคือคำนี้นะ ใช้เวลาปรับตัวเกือบปีถึงจะคุยรู้เรื่อง ระหว่างนั้นจะมีเพื่อนๆ ช่วยแนะนำการออกเสียงที่ถูกให้ด้วยครับ
     
  • วิธีเรียน  จากเคยเรียนที่ไทยวันละ 6 ชั่วโมง ทำการบ้านวันเดียวเสร็จ แต่พอมาเรียนที่ Andover การบ้านมีทุกวิชา คิดหลายชั้น ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ แล้วอย่างวิชาประวัติศาสตร์  เราจะไม่ได้ใช้เวลาในคลาสเพื่ออ่านและท่องจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อาจารย์จะให้ Syllabus ไปอ่านมาล่วงหน้า เช่น บท 1-3 แล้วค่อยมา discuss ในห้องครับ

    คิดดูว่าจากที่เราอยู่ไทย บทนึงอ่านเป็นเดือน มาที่นี่อ่านเป็นร้อยหน้าใน 1 วัน ศัพท์บางคำก็ไม่รู้จัก ต้องเปิด Dict อ่านไปจนถึงตีหนึ่งตีสอง ซึ่งถ้าอ่านแบบนี้ช้าครับ ง่วงนอนอีก ถึงเวลาเรียนในคลาสก็พูดไม่ทัน วิธีปรับตัวของผมคือ เราไม่จำเป็นต้องอ่านหมด 100% หาใจความใหญ่ๆ ของแต่ละย่อหน้าคร่าวๆ จาก Introduction -> Conclusion ถ้าบทไหนตัวอย่างเยอะไม่ต้องจำหมด 

คั่นด้วยพาร์ตสมัครมหาวิทยาลัย (ติด 7 ที่!!)

Timeline เด็กอเมริกันจะเริ่มสมัครมหาวิทยาลัยตอนปีสุดท้าย​ (Grade 12) สักช่วง Sep-Dec เลทสุดไม่ควรเกิน Jan ผมมีเวลาทำใบสมัครแค่ 2-3 เดือน แต่ข้อดีคือช่วง Orientation เขาจัดทีมช่วยเราเตรียมเรื่องการสมัคร ไม่งั้นผมว่าโอกาสติดมหาลัยดีๆ มีน้อยมาก 

(แชร์โพรไฟล์ที่ยื่นสมัคร)

  • GPA ม.ปลายที่ไทย 3.98
  • เกรดตอน Andover ได้ A ทุกวิชา
  • คะแนน SAT มีเลข วิทย์ กับภาษาอังกฤษ *ถ้าจะเข้า Top University ระดับโลก เลขกับวิทย์ถ้าไม่เต็มก็ต้อง 99 percentile ส่วนภาษาอังกฤษเค้าจะเข้าใจว่าเป็นต่างชาติ เลยไปดูที่ TOEFL หรือ TOEIC ประกอบกัน
  • ยื่นคะแนน TOEFL (จำไม่ได้ แต่เกือบเต็ม)

ส่วนใหญ่ผมเอาเวลาไปลงกับการเตรียมสอบ SAT กับ TOEFL มากกว่า ส่วนเรียงความที่ต้องยื่นใช้เวลาเขียนจริงๆ 1 สัปดาห์ แต่ก่อนหน้านั้นก็ร่างไว้นาน เพราะประสบการณ์ชีวิตยังไม่เยอะ ผมในวัย 17 นึกไม่ออกครับว่าจะหยิบอะไรมาเล่า 

แต่อยากแนะนำแบบนี้ครับ เรียงความที่ดี = สามารถสะท้อนตัวตนและชีวิต ให้คนอ่านเห็นภาพว่าเราเป็นคนแบบไหน ในที่สุดผมก็เลือกเล่ามุมที่ตัวเองอยากจะเปลี่ยนจากการใช้ชีวิตสภาพแวดล้อมไทยๆ ไปต่างประเทศ อะไรที่ผลักดันให้เราอยากเปลี่ยนตัวเอง 

ถ้าน้องๆ กำลังเรียน ม.ปลาย ผมเลยเชียร์ให้หาโอกาสทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนใจควบคู่กับการเรียนไปด้วย เช่น เล่นกีฬา ทำงานพิเศษ เข้าชมรม ทำจิตอาสา ฯลฯ ประสบการณ์จะทำให้เรามีวัตถุดิบมาเขียน เรื่องราวในชีวิตเราจะดูน่าสนใจและพิเศษขึ้นกว่าเดิม ถ้าย้อนเวลาได้ ผมคงแบ่งเวลาจากเรียนพิเศษไป intern หรือทำงานด้วย

Hello, MIT!
<p>This is a <strong>Strong</strong> Chapter.</p>

ภาพรวมสิ่งที่เจอใน 4 ปี

ตอนเรียน MIT ผมไม่เจอบรรยากาศแข่งกันเรียน เพราะทุกคนต้องจับมือกัน(ถึงจะ)รอด ถ้าให้เทียบชีวิตช่วงนั้นก็คงเหมือนกับเรียน รด. เข้มข้น เหนื่อย เผชิญความท้าทายไปพร้อมกับเพื่อนๆ ย้อนไปนึกก็รู้สึกสนุกนะ แต่ถ้าให้กลับไปซ้ำอีกรอบไหม? ไม่เอาแล้ว 5555
 

จริงๆ ช่วงไฮสคูลที่ Andover ก็ทำให้เราสตรองระดับนึงแล้ว จะหวั่นกว่าก็ตรงที่ ป.ตรี จะมีให้เราวางแผนลงวิชาเรียนเองด้วย  ซึ่งแต่ละเทอมเรียนทั้งหมด 4 วิชา โครงสร้างประมาณนี้ครับ

  • วิชาบังคับของมหาวิทยาลัย เช่น คณิต ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ
  • วิชาเอกของ Computer Science ตอนนั้นของผมมีวิชา Structures, Electronics, Communications และ Computation
  • วิชาบังคับเลือก (Elective) เช่น Probability, Statistics, Discrete Applied Mathematics ฯลฯ

ช่วงปี 1-2 เรียนพวกชีวะ ฟิสิกส์ แต่เบสิกระดับออกแบบโมเลกุล ก่อนจะยกระดับความยากขึ้นตอนปี 3-4 เนื้อหาลงลึกด้าน Computer Science มากขึ้น การบ้านมีทุกคาบ บางข้อใช้เวลาทำไป 3 วันครับ

ข้อดีคือพอเพื่อนในคลาสลำบากด้วยกันมา ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังลงเรือลำเดียวกัน หันไปทางไหนก็เจอเพื่อนปวดหัว struggle เหมือนกันหมด เลยไม่เจอบรรยากาศของการแข่งขัน มีแต่การจับมือกันให้รอด โดยเฉพาะปีท้ายๆ จะยิ่งรู้สึกเลยว่าเรียนคนเดียวไม่ไหวจริงๆ ผมชวนเพื่อนที่ลงเรียนวิชาเดียวกันจับกลุ่มสร้าง Study Group ช่วยกันทำการบ้าน แชร์วิธีคิดแต่ละแบบ แบ่งกันอ่านๆ สรุปแล้วมาแชร์กัน

อัปเดตหลักสูตรปัจจุบัน (ปี 2022)

การสอนสไตล์ MIT เป็นแบบไหน?

MIT สอนให้เข้าใจหลักการและคิดต่อยอด สมมติในวิชาประวัติศาสตร์ เราอาจเคยเรียนว่าปีนี้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น? ทำไมพระเจ้าตากถึงทุบหม้อข้าว?  ฯลฯ แต่มาที่อเมริกาจะเจอการสอนที่ต่างจากนั้น เช่น ตอนคนยุโรปอพยพเข้ามา เขาจะให้เราวิเคราะห์ว่าทำไมเรื่องมาถึงจุดนี้? มี movement อะไรเกิดขึ้น? เพราะอะไร? แล้วเป็นแบบอื่นได้มั้ย? ถ้าแบบอื่นแล้วผลลัพธ​์จะเป็นยังไง? ฯลฯ เราจะได้วิเคราะห์แบบเข้มข้น แล้วเขียนเปเปอร์ตอนจบ ซึ่งเวลาเขียนเปเปอร์เราไม่สามารถหยิบข้อมูลจากหลายแหล่งมาตัดแปะแล้วส่งได้ แต่เราจะต้องไปอ่านหลายที่จนเข้าใจแบบทะลุ ดึง facts ออกมา คิดต่อหลายชั้นมากๆ

ตอนเด็กผมไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ แต่พอโตมาเจอวิธีสอนที่ทำให้คิดแบบนี้ ก็เลยเปลี่ยนเป็นความรู้สึก appreciate ตัวเองขึ้นมาว่า เอ้อ เราก็มีความคิดเป็นของตัวเองนะ พอไปอ่านข่าวหรือหนังสือ เราก็จะวิเคราะห์ไปเองโดยอัตโนมัติ คิดอะไรลึกซึ้งขึ้น แล้วยังมีผลกับกระบวนการทำวิจัยด้วย ถ้าเทียบกับการคิดค้นยาต้าน HIV หรือ COVID-19 ก็คือเราจะไม่ได้เริ่มจากการดูจากโครงสร้างว่าสารเคมีนี้มีผลต่ออะไรรึเปล่า ไม่มา random ลองผิดลองถูกว่าแบบไหนเวิร์กไม่เวิร์ก แต่ MIT สอนให้เราวิเคราะห์ว่าทำไมตัวนี้ถึง active ส่วนประกอบคืออะไร ดู pathway การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย  ทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผลมากๆ 

ผมคิดว่าการบ้านที่คิดวิเคราะห์คงเป็นแค่กับวิชาแนวสังคมมั้ง จนกระทั่งมาเจอวิชาชีวะของ MIT ชื่อว่า “Human Genome Project” เขาให้เราออกแบบโปรตีน กำหนดแบคทีเรียมาตัวนึง โครงสร้างแบบนี้นะ มีคาร์บอน ไฮเดรเจน ออกซิเจนตรงนี้ ฯลฯ มีให้โปรตีน 4 ตัว ดูว่าตัวไหนจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ดีที่สุด ตัวไหนจับพันธะแบบนี้ได้ หลังจากดีไซน์เสร็จเขาก็ให้เราทำ Protein Sequencing ต่อด้วย

สรุปคือไม่ว่าจะวิชาไหนของ MIT ก็เน้นสอนให้เข้าใจหลักการ

ถ้าเป็นวิชาเฉพาะฝั่ง Computer Science ผมได้เรียนภาษา “Scheme” ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่คนใช้น้อยมากกก แทบไม่เจอในวงการอุตสาหกรรมไหนเลย แต่วิชานี้จะทำให้เราเข้าใจแก่นของภาษาคอมพ์ ส่วนพวกภาษาอื่นๆ เราจะต้องมานั่งอ่านเอง ข้อดีคือทำให้เรามีความคิดยืดหยุ่นและไม่ยึดติด  ไม่กลัวเวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลก ถึงจะมีภาษาใหม่ขึ้นมาก็แทบไม่ต้องเรียน  เพราะคอนเซ็ปต์ไม่ต่างกัน

วิชาที่ผ่านมาได้คือรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นซูเปอร์แมนก็คือ  "Digital Lab" ยากตรงที่ต้องสร้างคอมพิวเตอร์ เริ่มตั้งแต่วางชิป (Chip)  ตัดสายไฟจิ้มๆ มาเสียบต่อกัน สร้างโปรแกรม เขียนระบบปฏิบัติการ (Operating System)  สอนการออกแบบ สอนแนวคิด ทำให้รู้ที่มาที่ไปและการทำงานของชิปแต่ละตัว พอย้อนคิดไปก็เหมือนเรียนเป็นช่างไฟไปอีกแบบ แต่จะไม่ใช่ช่างทั่วไปที่สอนตามเครื่องมือ สมมติเจอวงจรประหลาดซับซ้อน เราก็สามารถทำได้เพราะเข้าใจหลักการแล้ว

หรืออย่างวิชา Algorithm ตอนปี 3 อาจารย์ให้กระดาษมาแผ่นนึง มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสกับผืนผ้ารูปทรงต่างๆ อยู่บนกระดาษ เราต้องเอาไปให้คอมพ์อ่าน แล้วเขียนโปรแกรมที่สามารถนับได้ว่ามีสี่เหลี่ยมในนี้กี่ภาพ โปรแกรมนี้ต้อง run ให้ผ่านในระยะเวลาที่กำหนด พิสูจน์ออกมาเป็น Formula เช่น ถ้ามีสี่เหลี่ยม x รูป เวลาประมวลของเราจะไม่เกิน 2x (การบ้านข้อนี้ผมใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง)

วิชา Analog ตอนปี 3 เหมือนกัน วิชานี้เราต้องออกแบบตัวขยายสัญญาณ (Amplifier) สมมติมีสัญญาณ แล้วต้องขยายจาก 1 ไป 5 เราจะออกแบบวงจรยังไง S/N Ratio ไม่เกินเท่าไหร่ ต้องใช้พื้นที่ชิปเท่าไหร่ ซิลิกอนไม่เกินเท่าไหร่ ฯลฯ ทุกวิชาสอนให้คิดแบบหลายชั้นหมดเลยครับ

เรียนกับเจ้าของทฤษฎีตัวจริง!

 ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ แล็บ และวิธีคิดที่ MIT ทุกอย่างล้ำไปหมด ได้เรียนกับ Professor ที่เก่งและมีชื่อเสียง บางคนเป็นถึงระดับเจ้าของทฤษฎี แนวคิด หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เราใช้กันในปัจจุบัน อย่างเช่นอาจารย์ที่เป็นผู้คิดค้นการเข้ารหัสแบบ RSA Algorithm คนแรกของโลก กับคนที่ก่อตั้ง *Human Genome Project 

*ถ้าถามว่าเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อโลกขนาดไหน ยุคก่อนคนเราจะยังไม่รู้ว่า Gene กับ DNA ทำหน้าที่อะไร แต่โปรเจ็กต์นี้ทำให้รู้ว่ายีนตัวไหนสร้างโปรตีนอะไร กระทบร่างกายยังไงบ้าง ฯลฯ เอามาประยุกต์กับการรักษาโควิด-19 เลยก็ยังได้ครับ Sequences Map และความเข้าใจเซลส์เยอะขึ้นมากจากสมัยนั้น

เครื่องมือพร้อมยิ่งกว่าพร้อม

นอกจากเงินทุนเยอะ สมมติมีเครื่องมือแพงๆ ที่ปกติต้องแชร์กันใช้ 4 คนต่อ 1 เครื่อง ถ้าเป็นที่ MIT มีให้ใช้เลยคนเดียวเลย 4 เครื่อง บริษัทที่ทำเครื่องมือมักจะบริจาคให้มหา'ลัยอย่าง MIT เป็นกุศโลบายอย่างนึงเพื่อให้นักศึกษาคุ้นชินกับเครื่องมือและเลือกใช้เครื่องมือของบริษัทนี้ต่อหลังเรียนจบ

"EECS Is where the future is invented."

สมมติวันนี้ผมเดินเข้าไปที่แล็บของ MIT เพื่อดูว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีอะไรน่าสนใจ  Professor กับนักศึกษากลุ่มนี้กำลังทำเรื่องอะไรอยู่ เป็นไปได้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริงใน 10  ปีข้างหน้า!
 

MIT จะมีหลักๆ จะมี MIT Media Lab กับ Laboratory for Computer Science (LCS) ตอนเรียนก็ได้เข้าทั้ง 2 แล็บขึ้นอยู่กับว่าทำโปรเจ็กต์ไหน 

  • ย้อนไปสมัยผมอยู่ปี 2 ตอนนั้นประมาณปี 1997 ผมทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับแผนที่ในรถ หรือ Car Navigation สิบปีต่อมามี GPS Navigation ใช้กันแบบแพร่หลาย และมีคอนเซ็ปต์หลายอย่างที่คิดต่อยอดมาจากของ Nissan
  • Boston Dynamics' robot dog ที่เป็นหุ่นยนต์สุนัข ก็มาจากการแล็บของ MIT ผมเห็นกรุ๊ปวิจัยที่ทำเรื่องนี้สมัยผมเรียนปี 3-4
  • เพื่อนร่วมบางคนจบไปเป็นอาจารย์สอนในมหาลัยดังๆ บางคนเป็นเจ้าของกิจการ อย่างบริษัท T2P ก็เป็นรุ่นพี่ของผมเอง

โอกาสในรั้ว MIT และอเมริกา

สำหรับคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจ ข้อดีของอเมริกาคือตลาดใหญ่ แหล่งเงินทุนดี (Venture Capital Fund) เป็นประเทศที่ส่งเสริมให้คนคิด กฎหมายเอื้อกับการทำ Startup นอกจากนี้ยังดีในแง่ความทันสมัยของเทคโนโลยี และเปิดกว้างสำหรับชาวต่างชาติด้วย ถ้าสังเกตจะเห็นว่านักวิจัยในอเมริกาที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก

ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยที่ผมเรียน มีเตรียมตัวช่วยซัปพอร์ตเรื่องการทำงานหลังจบไว้เยอะมาก ทั้งคู่มี Career Center ศูนย์ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีจัด Career Day วันที่มหาลัยเชิญบริษัทมาออกบูธ นักศึกษาสามารถพิมพ์ Resume ไปยื่นให้บริษัทพิจารณาได้เลย หรือถ้าใครอยากทำ Startup เขาจะมีจัดงานให้ Pitching แข่งกันว่าใครไอเดียดี มีรางวัลให้เป็นเงินลงทุน 3-4 ล้าน หรือถ้าเจ๋งจัดๆ MIT อาจจะจดทะเบียนบริษัทให้เลยก็ได้

แล้ววัฒนธรรมตะวันตกก็จะโดดเด่นเรื่องการเน้นกรุยทาง เช่น ครู-ลูกศิษย์ ถ้าในอนาคตลูกศิษย์สามารถคิดอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าครูได้ ครูจะภูมิใจมาก หรือลูกกับพ่อแม่ ถ้าเกิดวันนึงลูกมาบอกว่า “อยากเลี้ยงลูกให้เหมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา” โอ้โห พ่อแม่ฟังแล้วน้ำตาไหลอ่ะ รู้สึกดีมากกว่าการที่ลูกโตแล้วกลับมาเลี้ยงตัวเองอีก!

ย้ายจาก East Coast สู่ West Coast
เรียนต่อบริหารธุรกิจที่ UCLA ใบที่สอง

ผมสนใจด้านบริหารธุรกิจ และตัดสินใจมาเรียน MBA ที่ UCLA ครับ ด้วยความที่อเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่ ตอนเรียน MIT ผมอยู่ East Coast หนาวๆ มาหลายปี แล้วอยากได้คอนเน็กชันหลากหลายขึ้น ก็เลยมองหาที่เรียนใน West Coast ซึ่ง UCLA คือหนึ่งในสถาบันดังทั้งด้านการแพทย์และฝั่ง MBA อยู่อันดับต้นๆ ของอเมริกา

ถึงจะข้ามสายจาก Computer Science มาเป็น MBA แต่ผมไม่รู้สึกเลยว่าต้องปรับตัวเยอะ ทั้งคู่เน้นฝึก Critical Thnking ภายใต้แนวคิดและความเป็นเหตุเป็นผล อ่าน Case Studies และทำการบ้านเยอะ วางรากฐานให้เราแบบแน่นมาทั้งคู่ ต่างกันแค่ว่า MBA คือเรียนรู้เรื่องการบริหารธุรกิจ สายบริหารจะมีความ Subjective (=นามธรรม) โครงสร้างยืดหยุ่น คำตอบปลายเปิด ไม่มีผิดไม่มีถูก ในขณะที่ฝั่งวิทย์หรือวิศวะจะออกไปทาง Objective (=รูปธรรม) ดูจับต้องได้ เช่น วงจรแบบนี้ดีที่สุด ประสิทธิภาพที่สุด  ประมาณนี้ครับ

เมื่อโลกสองใบมา < link > กันที่ T2P
#ชี้เป้าแอปดี ที่อยากให้ทีมต่อนอกรู้จัก

หลังจบผมจัดตั้งบริษัทร่วมกับ "พี่บู้-ทวีชัย ภูรีทิพย์" รุ่นพี่คณะบริหารธุรกิจที่ MIT ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ทีทูพี จำกัด ขึ้นมาครับ ตำแหน่งของผมตอนนี้คือ CTO (Chief Technology Officer) ประยุกต์ทั้งความรู้ด้าน Computer Science จาก MIT และการบริหารธุรกิจที่เรียนจาก UCLA  

จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัปฟินเทค T2P

เราเริ่มจากการเป็น Payment Gateway ก่อนครับ อย่างสมัยก่อนเวลาจะเติมเงินในเกม ก็จะมาเป็นการ์ดให้ขูดๆ จนเห็นตัวเลข เอาก็เอาตัวเลขนั้นไปใส่ในเกมอีกที ผมว่ามันดูต้นทุนสูง ไหนจะต้องผ่านตัวแทนจำหน่าย ต้องขับรถไปอีก ค่าพิมพ์กระดาษก็แพง และยังมีช่องโหว่ให้โกงได้ ผมกับรุ่นพี่เลยคิดอยากลองเปลี่ยนให้มาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัดเงินในบัญชีผ่านแอปธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น

แล้วก็ออกมาเป็นบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ชื่อว่า ‘DeepPocket’  และตอนนี้เราก็มีเพิ่มเซอร์วิสโอนเงินไปต่างประเทศได้ด้วย จุดแข็งของเราคือโอนได้หลากหลายรูปแบบ เรทเงินดี โอนไว หลากหลายสกุลเงิน ใช้ง่าย สามารถเลือกโอนได้ทั้งเข้าบัตรเดบิต VISA หรือเข้าบัญชีธนาคารผ่าน Wise ที่เราได้พาร์ตเนอร์ระดับโลกมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการโอนเงินจาก [ไทย] ไปยัง [ต่างประเทศ] ซึ่งครอบคลุมมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เหมาะมากโดยเฉพาะสำหรับนักเรียน หรือผู้ปกครองที่ต้องการดูแลและบริหารการใช้เงินของบุตรหลาน เช่น กำหนดวงเงิน โอนเงิน ตรวจสอบการใช้เงิน ฯลฯ 

 ใครสนใจลองดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ https://bit.ly/3VczyWQ และดาวน์โหลดที่  https://deeppocket.onelink.me/xjvp/ok9mkd0o ได้นะครับ

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น