จาก LAฬ ลัดฟ้าสู่ Université de Toulouse ไปให้สุดกับ ป.โท-เอก ด้านกฎหมาย 3 ใบที่ฝรั่งเศส

Bonjour! ใครเป็นทีมฝรั่งเศสบ้างคะ~ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ไปเดินเก็บข้อมูลในงานเรียนต่อฝรั่งเศส “Study, Work, Network : France Alumni Day in Thailand” ที่จัดขึ้น ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ วันนั้นมีโอกาสได้ฟังสตอรี่จากรุ่นพี่ทุนเต็มจำนวน Franco-Thai ที่เรียนต่อสาขาต่างๆ เช่น ภาษาศาสตร์, แฟชั่นดีไซน์, กฎหมาย, วิทย์สุขภาพ, รัฐศาสตร์ ฯลฯ เรียกว่าดักทุกทาง อยากเรียนต่อด้านไหนก็ใจเต้นกับดินแดนน้ำหอมแห่งนี้ได้หมด

และหนึ่งในรุ่นพี่ที่เรามีโอกาสได้รู้จักจากงานนี้คือ “พี่ป๋อมแป๋ม – นัดดา หิญชีระนันทน์” ดีกรีรุ่นพี่คณะนิติศาสตร์จุฬาฯ และนักเรียนทุนรัฐบาล ‘Franco-Thai’  จบป.โท (2 ใบ) และ ป.เอก (1 ใบ) จาก Université de Toulouse ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละใบเกิดเรื่องน่าสนใจและมีรสชาติความท้าทายต่างกันมาก!

  • ป.โท ด้านกฎหมายมหาชน (Public Law)
  • ป.โท ด้านกฎหมายสื่อ (Media & Communication Law) *ไปด้วยทุนส่วนตัว
  • ป.เอก ด้านกฎหมายมหาชน ศึกษาคดีปกครองด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์
บรรยากาศเมืองตูลูส
บรรยากาศเมืองตูลูส
บรรยากาศเมืองตูลูส
บรรยากาศเมืองตูลูส

. . . . . . . . . . . .

เพราะระบบกฎหมายหลายประเทศทั่วโลก (รวมถึงของไทย)
ได้อิทธิพลจากระบบกฎหมายของ “ฝรั่งเศส”

สวัสดีค่า พี่ป๋อมแป๋มนะคะ ได้ทุน Franco-Thai ปี 2011 ไปเรียน ป.โทใบแรก (กฎหมายมหาชน) พอเรียนจบแล้ว ค้นพบว่าตัวเองยังสนใจเรียนต่อด้านกฎหมายสื่ออีกมากๆ เลยตัดสินใจสมัครทุนของสถานทูตฝรั่งเศสไปเรียน ป.เอกด้านนี้ พร้อมกับใช้ทุนส่วนตัวเรียน ป.โท ด้านกฎหมายสื่ออีกใบ เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้จะเพียงพอในการทำธีสิสค่ะ 

ที่มาที่ไป ทำไมถึงฝรั่งเศส?

ตอน ม.ปลาย พี่จบสายศิลป์-คำนวณ แต่ชอบไปทำกิจกรรมกับชมรมฝรั่งเศส แล้วก็คุ้นเคยกับภาษาเพราะพ่อแม่จบจากฝรั่งเศสเหมือนกัน แล้ววันนึง เราอยากต่อยอดให้เป็นความเชี่ยวชาญอีกภาษานึงไปเลย เพื่อขยายโอกาสการทำงานให้กว้างขึ้น

พอจบสายศิลป์-คำนวณ ทางเลือกเรียนต่อค่อนข้างเยอะ พี่สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1) โครงสร้างหลักสูตรจะให้เราเลือกเจาะลึกสาขากฎหมายเฉพาะทาง 4 สายคือ

  • สาขากฎหมายธุรกิจและภาษีอากร
  • สาขาวิชากฎหมายแพ่งพาณิชย์และอาญา
  • สาขาวิชากฎหมายมหาชน *ด้านที่พี่สนใจเป็นพิเศษ
  • สาขาวิชากฎหมายระหว่างประเทศ

พี่เลือกไปเน้น “กฎหมายมหาชน” (Public Law) เพราะสนใจเรื่องระหว่างประเทศ อำนาจการปกครอง ความสัมพันธ์ของรัฐ ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของภาครัฐ ที่สำคัญคือพี่ชอบประวัติศาสตร์ด้วย เสน่ห์อย่างนึงของเอกนี้คือเราจะได้เรียนแง่วิวัฒนาการของกฎหมาย ที่มาที่ไป และเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสซะเยอะ ด้วยความที่นักคิดนักวิชาการหลายคน เช่น Voltaire (วอลแตร์), มงเตสกิเยอ (Montesquieu) ฯลฯ เป็นชาวฝรั่งเศส ทฤษฎีและผลงานของเขามีอิทธิพลต่อโลกมาถึงปัจจุบันค่ะ

อธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า กฎหมายมหาชน จะเกี่ยวกับกฎหมายการปกครอง รัฐธรรมนูญ การคลังและเศรษฐกิจ​ ฯลฯ เรื่องนี้ไม่ไกลตัว เพราะตราบใดที่เป็นพลเมืองของรัฐนึง ย่อมต้องมีเรื่องอำนาจรัฐมาเกี่ยวข้องเสมอ ชัดเจนสุดคือตอนไปติดต่อราชการ เราจะเข้าใจขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ระบบกฎหมายในหลายประเทศรวมถึงของไทย ได้อิทธิพลจากระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) ที่ฝรั่งเศสใช้เหมือนกัน (*บางประเทศได้อิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษ) ช่วง ป.ตรีที่ไทยพี่เลยได้เรียนพื้นฐานกฎหมายของฝรั่งเศส และด้วยความที่มีศาลปกครองเหมือนกัน บางครั้งเราอาจได้ศึกษาแนวทางการตีความจากศาลปกครองฝรั่งเศสด้วยนะคะ ดังนั้นตอนที่ไปเรียนโท ถ้าไม่ติดเรื่องภาษาก็สามารถเข้าใจคอนเซ็ปต์และคิดตามได้ไม่ยาก 

. . . . . . . . . . . .

รีวิวสมัครทุนและมหาวิทยาลัย

ข้อดีของทุน Franco-Thai

มาเริ่มที่มูลค่าทุนก่อน อ้างอิงจากระเบียบการทุนรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศส “Franco-Thai 2024” เรียนต่อ ป.โท หรือ ป.เอก ที่ประเทศฝรั่งเศส ประจำปี 2024 ปิดรับสมัครไปเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2024 ทุนจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อไปนี้ค่ะ

มูลค่าทุน

  • ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
  • ค่าครองชีพรายเดือน กรณีศึกษาต่อ ป.โท: สูงสุด 860 ยูโร/เดือน (~ 32,935 บาท) และ ระดับ ป.เอก: สูงสุด 1,500 ยูโร/เดือน (~ 57,446 บาท)
  • ประกันสุขภาพ
  • สวัสดิการนักเรียนทุน
  • หน่วยงานดูแลนักเรียนทุน
  • ช่วยเหลือด้านการจองที่พัก
  • ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (ประมาณ 80 ยูโรหรือ 2,964 บาท)

อ้างอิงค่าเงินเดือน มิ.ย. 2024 €1 = 39.77 บาท 

รีวิวเพิ่มเติมจากพี่ป๋อมแป๋ม

  • ทุนให้ค่าเครื่องตั๋วเครื่องบินไป-กลับ
  • ประกันสุขภาพ ฝรั่งเศสจะมี (1) ประกันพื้นฐาน กับ (2) ประกันเสริม จะต้องจ่ายแพงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับประกันเสริมนี่แหละ แต่ทุนรัฐบาลจะครอบคลุมด้วย
  • หอพักที่ฝรั่งเศสราคาสูงมาก ทางรัฐบาลฝรั่งเศสช่วยบางส่วน แต่ความพิเศษคือเราจะเป็นกลุ่ม Priority ที่สิทธิ์จองหอมหาวิทยาลัยที่เลิศสุดๆ ที่ตูลูส หรือถ้าใครไปแคมปัสที่ปารีส เขาก็มีจัดสรรหอเอกชนให้ เราจะได้จ่ายในราคาถูกลง

ในฐานะนักเรียนทุน พี่รู้สึกอุ่นใจมากๆ เพราะตอนอยู่ไทยสถานทูตฯ ก็ดูแลดี พอไปฝรั่งเศสก็มีหน่วยงาน Campus France ประจำแต่ละเมือง อย่างของ Toulouse ที่พี่ไปอยู่ เราติดต่อได้ตลอด เขาตอบเร็วและชัดเจนมากค่ะ

บรรยากาศเมืองตูลูส
บรรยากาศเมืองตูลูส

ขั้นตอนการสมัคร เริ่มจากไหนดี?

  1. เราจะต้องเริ่มจาก “ขอทุน” เพราะสมัครได้ช่วงปลายปีถึงกุมภาพันธ์ ส่วนการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย พี่ขอแนะนำเป็นไกด์ไลน์ เผื่อจะช่วยน้องๆ วางแผนได้ค่ะ
  2. สำรวจตัวเองว่าอยากเรียนสาขาไหน มหาวิทยาลัยอะไร อยากอยู่เมืองไหน
  3. เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว เราก็จะสามารถดูได้ว่ามีทุนไหนครอบคลุมโปรแกรมที่เราสนใจบ้าง
  4. ส่งเอกสาร เช่น Cover Letter, Transcript, Recommendation Letter, Motivation Letter ใบสมัครเรียน* ถ้าเขาสนใจก็จะนัดหมายสัมภาษณ์

Note:

  • หลายมหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครช่วงต้นปี ไปจนถึง Mar-Apr หรือบางที่จะเปิดรับสมัครช้า แต่ทุนให้ส่ง “ใบสมัครของมหาวิทยาลัย” เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญ แล้วสมมติยังไม่ถึงช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิด เราจะทำยังไงดี?
     
  • พี่ใช้วิธีส่งอีเมลไปหาคณะและมหาวิทยาลัยที่สนใจ แล้วแนบอีเมลโต้ตอบ เพราะวัตถุประสงค์ของทุน Franco-Thai คือต้องการมั่นใจว่าเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากเรียนที่ไหน
     
  • ปัจจุบันดีมาก มหาวิทยาลัยมีจัดตั้งหน่วยงานที่ตอบอีเมลโดยเฉพาะ และออกหนังสือรับรองว่าได้รับการติดต่อจากนักศึกษาคนนี้จริง
     
  • สำหรับ Motivation Letter พี่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส เน้นกระชับไม่ยืดเยื้อ แสดงเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทำไมเราถึงควรได้รับเลือก เช่น เล่าความสามารถ พื้นฐานและประสบการณ์ที่มี การวางแผนนำไปใช้หลังเรียนจบ เป็นต้น
     
  • ข้อดีของทุน Franco-Thai คือถ้าเกิดเค้ารู้เป้าหมายของเรา แล้วตรงกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยไหน request มา เขาก็จะถามว่าเราสนใจรับทุนแบบ Coordination หรือไม่

. . . . . . . . . . . 

ไปให้สุดที่ตูลูส ฝรั่งเศส
Université Toulouse Capitole

ข้อควรรู้ 1 University of Toulouse จะมี 3 แคมปัส เปิดสอนคณะต่างกัน

  • Université Toulouse 1 Capitole *คณะกฎหมายอยู่แคมปัสนี้
  • University of Toulouse-Jean Jaurès
  • Université Paul Sabatier Toulouse III

ข้อควรรู้ 2 ระบบที่ฝรั่งเศส เรียน ป.ตรี 3 ปี และ ป.โท 2 ปี ปีแรกเรียก Master 1 (M1) และ Master 2 (M2) สิ่งที่สำคัญมากกสำหรับเด็กต่างชาติคือฝรั่งเศสนับเป็นจำนวนปีค่ะ สมมตินาย A เรียน ป.ตรี 4 ปีจบ เขาจะได้เริ่มที่ M2 เรียนอีกแค่ปีเดียวก็จบแล้ว (ข้อดีคือประหยัดเวลา แต่ต้องสปีดตัวเองหนักมาก) หรือกรณีนาย B เรียนจบ ป.ตรี ไวกว่าเพื่อนๆ เช่น อาจจะ 3 ปี แบบนี้ถ้าไม่ได้แจ้งเหตุผล อาจต้องไปเริ่มที่ M1

*เด็กต่างชาติที่จบ ป.ตรี 4 ปี ตอนสมัครเรียนต้องหาคำว่า Master 2 นะคะ 

รูปขวา = เป็นรูปปั้นอาจารย์ Maurice Hauriou ปรมาจารย์กฎหมายของ Toulouse ค่ะ
รูปขวา = เป็นรูปปั้นอาจารย์ Maurice Hauriou ปรมาจารย์กฎหมายของ Toulouse ค่ะ

รีวิวป.โท ใบแรก Public Law
กฎหมายมหาชน พุ่งชนไปเลยสิคะ!

หนักเพราะเรื่องการปรับตัว

พี่เริ่มไปพร้อมกับภาษาฝรั่งเศสระดับ B2 = ใช้ในชีวิตประจำวันได้ปกติ เรียนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสล้วน ถึงจะพอมีพื้นฐานก็ต้องขยันและมีวินัยมาก เพราะมีศัพท์เฉพาะเยอะ แล้วสมัยพี่คือมีอาจารย์ที่สอนแบบคลาสสิก ยืนบรรยายโดยไม่มีสื่อประกอบ เราต้องพยายามจับประเด็นให้ได้

ช่วงแรกๆ ที่ไ่ปเรียน ฟังออกหมดเลยแต่จดไม่ทัน! แล้วเราเจอกับสังคมฝรั่งเศสที่มีแนวคิด “ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง” สิ่งนี้รวมถึงการเรียนด้วย สมมติเราเดินไปขอเลกเชอร์ตั้งแต่คาบแรกอาจจะยังไม่ได้ทันที แต่จะให้หลังจากเห็นว่าเด็กต่างชาติคนนี้เขาดูพยายามมากแล้วจริงๆ

https://www.ut-capitole.fr/
https://www.ut-capitole.fr/ 

เรียนอะไรบ้าง?

เจอวิชาที่นักศึกษาไทยเองก็คุ้นเคย เช่น กฎหมายปกครอง กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการคลัง ฯลฯ แต่เราจะได้เรียนในบริบทประเทศฝรั่งเศส และมีกฎหมายอื่นๆ เพิ่มเข้ามา เช่น กฎหมาย EU กฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ เราอาจเคยเรียนมาบ้าง แต่ ป.โท จะเป็นเชิงลึกขึ้น

เจอโครงสร้างการเขียนตอบแบบ “Plan”

การเขียนตอบงาน ข้อสอบ สื่อนำเสนอ วิทยานิพนธ์ ทุกสิ่งอย่าง จะใช้รูปแบบที่เรียกว่า “Plan” (ออกเสียง plɑ̃) ถ้าลองไปเปิดธีสิสกฎหมายทุกที่ในฝรั่งเศส เราจะเจอการเขียนแบบนี้แหละ มีแยกเขียน 2 พาร์ต แล้วแบ่งย่อยอีก 2 พาร์ต (เช่น ข้อแรกหลักการ แล้วแยกย่อยเป็นข้อปฏิบัติ) ตอนหลังอาจแตกย่อยมากกว่า 2 ข้อก็ได้ // คนที่ฝรั่งเศสชินกับโครงสร้างการเขียนแบบนี้ แต่ชาวต่างชาติต้องปรับตัวเยอะ

 

ใครเตรียมไปเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส ดูข้อมูลเตรียมตัวไว้~

การสอบปากเปล่า “Gran Oral”

พี่ต้องใส่สูททางการ เข้าห้องไปหยิบกระดาษบนโต๊ะ จับว่าได้หัวข้อไหน แล้วเขาจะมีเวลาให้เตรียมคำตอบค่ะ (ต้องยึดรูปแบบ Plan ด้วยนะ) พอถึงเวลาก็จะได้มาอ่านหน้ากรรมการ หลังพูดจบเขาอาจคอมเมนต์สิ่งที่เราเขียน หรือถามเพิ่มเพื่อทดสอบว่าเรารู้จริงไหม

ควรมีประสบการณ์มาก่อนไหม? 

ถ้าทำงานมาก่อน ก็จะรู้ชัดว่าอยากทำงานอะไร เรียนสายไหนเพื่อให้ได้ไปถึงจุดนั้น เวลาดิสคัสกับเพื่อนๆ จะนึกภาพตามได้มากกว่า แต่ถ้าจะเรียนต่อทันที ข้อดีคือเรื่องประหยัดเวลา

www.ut-capitole.fr/
www.ut-capitole.fr/ 
www.ut-capitole.fr
www.ut-capitole.fr
หลักสูตร ป.โท General Public Law

. . . . . . . . . . . 

ป.โท ใบที่สอง Media & Comm. Law
เรียนด้านที่ชอบเพื่อซัปพอร์ตธีสิส ป.เอก

รีแคปใหม่คือปี 2011 พี่สมัครทุนรัฐบาลฯ Franco-Thai ไปเรียน ป.โท ใบแรกด้านกฎหมายมหาชน เคยฝึกงาน Law firm และทำงาน SMEs อยู่ช่วงนึง จากนั้นก็วางแผนสมัครเรียนต่อ ป.เอกค่ะ แต่จะสายไหนดี? พี่ก็คิดตั้งต้นจากที่ชอบดูละครกับวิทยุ อยากเรียนต่อด้านที่เกี่ยวกับมหาชนและสื่อ แต่กังวลว่าความรู้จะสำหรับทำธีสิสมั้ย พี่เลยขอเรียน ป.โท อีกใบด้านกฎหมายวิทยุและโทรทัศน์ สรุปคือตอนนั้นเรียนคู่กันทั้ง ป.โท (ทุนส่วนตัว) และ ป.เอก (ทุนสถานทูตฯ) เรียนรวมกัน 4 ปี

ป.โทใบที่ 2 สนุกตอนที่เขาให้เราไปเข้าห้องพิจารณาคดีของศาลฝรั่งเศส อย่างน้อย 1 คดี แล้วมาพรีเซนต์ แล้วจะมีช่วงที่เขาให้เราเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงด้วย ตอนนั้นพี่ก็ไปองค์กรคล้ายๆ สำนักงาน กสทช. ของไทย แต่เป็นของฝรั่งเศส  นอกจากนี้คือเราได้รับมอบหมายให้เปิดฟังคลื่นวิทยุนึง 1 วันเต็มๆ สังเกตว่าเขาโฆษณาเกินจากที่กฎหมายกำหนดมั้ย สมมติพบว่าเกินจากนั้นจริงเราแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาครัฐได้ เพราะเราทำงานกับเขาจริงๆ ค่ะ

พอทุนหมดก็กลับไทยมาทำงานที่บริษัทเอกชน แล้วที่คิดว่า amazing มากกกคือหลังจากนั้น ปี 2016 กฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลของยุโรปมีกฎระเบียบมากขึ้น ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในปี 2018 พี่ได้เปรียบเพราะเรียนกฎหมายที่แตะเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมาตั้งแต่ใบที่ 2 เช่น กฎหมายอินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ได้ทำงานเกี่ยวกับ PDPA และปัจจุบันเป็นนักกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล

หลักสูตร ป.โท Media & Comm. Law 

. . . . . . . . . . . 

ทำธีสิส ป.เอก ท่ามกลางมรสุม
จุดที่ท้อจนเกือบล้มเลิกกลางคัน

ช่วง ป.เอก พี่ตกผลึกกับตัวเองหลายอย่าง
รู้ว่าในวันที่ล้ม เราลุกขึ้นมาด้วยวิธีไหน 
เข้าใจว่าถ้าปล่อยวางเป็น แต่ยังพยายามไปถึงเป้าหมาย ความฝันก็เป็นจริงได้ 
และอย่าประเมินความสามารถตัวเองต่ำเกินจริง
 

ต้องบอกก่อนว่าการเรียนของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ช่วงปี 1-2 แรกพี่ใช้เวลารีเสิร์ชข้อมูลทั้งหมดเพื่อวางแผนจัดโครงสร้างเนื้อหาในธีสิส แล้วในขณะเดียวกัน พี่ต้องเก็บชั่วโมงสัมมนาและอบรมให้ครบ เพราะเขาต้องการให้นักศึกษากฎหมายได้เรียนรู้ข้อมูลในมิติอื่นๆ ควบคู่กับการทำธีสิสด้วย

สัมมนาที่ว่านี้ เราสามารถไปตามที่มหา’ลัยจัด หน่วยงานภายนอกจัด หรืออาจยื่นชั่วโมงฝึกงานด้วยก็ได้ หนึ่งในหัวข้อที่พี่เข้าคือ “หลักสูตรอบรมกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคล” หลังจบได้รับใบ Certificate // ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราได้ใช้ความรู้จากคลาสนี้เต็มๆ กับงานปัจจุบัน

ส่วนหัวข้อธีสิสที่พี่ทำ คือศึกษาเปรียบเทียบคดีปกครองด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในกฎหมายประเทศไทยกับฝรั่งเศส นั่นแปลว่าเราต้องเชี่ยวชาญกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ และศึกษาคดีศาลปกครองและค้นคว้าคำพิพากษาอีกเยอะมาก ความยากก็เรื่องนึง แต่ประเด็นคือพี่เรียน ป.เอก แบบสบายใจไปได้ประมาณ 3-4 ปี ก็เกิดสถานการณ์ทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเป็นฉบับใหม่ พอเขียนสักพักเจอสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 อีกค่ะ 

พอเจอเหตุให้ปรับแก้บ่อย เรารู้สึกเหนื่อยกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พี่เกือบยอมแพ้เแล้ว ความคิดตอนนั้นคือ “ถ้าเกิด worst case ไม่จบขึ้นมา สิ่งที่แย่สุดคืออะไร?” แล้วพี่ก็เปลี่ยนมาถามตัวเองว่า “แล้วตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง?”

  • พี่ขับรถได้นะ ทำงานเป็นไรเดอร์ส่งของได้
  • พี่ได้ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ งานใช้ภาษารองรับมีเยอะมาก
  • พี่มีตั๋วทนาย ไปเป็นทนายได้

แล้วเรื่องที่พี่ทำได้อีกมากมายมัน pop-up ขึ้นมาเรื่อยๆ เปลี่ยนจากโฟกัสสิ่งที่ยังทำไม่ถึง แล้วลองดูใหม่ว่าเราเดินมาไกลขนาดไหน เขียนงานไปเยอะแยะ ได้ทำงานที่รัก สมัครเรียนตามแพสชันที่แรงทะลุปรอท ช่วงหลังกำลังใจของพี่เริ่มกลับมา และลงมือทำจนถึงเป้าหมายสำเร็จ

\

เว็บไซต์ ป.เอกนิติศาสตร์ & รัฐศาสตร์Université Toulouse Capitole

. . . . . . . . . . . 

ชีวิตการทำงานหลังจบ

สิ่งที่ต้องมี หลักๆ คือความรู้เฉพาะทางด้านกฎหมาย แต่จะไปสายไหนต่อ ขั้นตอนก็จะต่างกัน

  • ถ้าทำงานเอกชนที่ฝรั่งเศส ยากตรงที่เราต้องพิสูจน์ตัวเองให้บริษัทรู้สึกว่าต้องจ้างเรา ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ
  • ถ้าทำงานที่ไทย สมมติจบนิติศาสตร์ -> เชี่ยวชาญสาขาเฉพาะทาง ก็จะต้องสอบตั๋วทนาย บัตรอนุญาตว่าความ แต่ถ้าทำงานเอกชนอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้
  • ถ้าอยากเป็นผู้พิพากษา อัยการ ก็ต้องสอบเนติบัณฑิต

สำหรับพี่คือเมื่อก่อนพี่ทำงานด้านกฎหมายสื่อ ดูเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล แต่ปัจจุบันคืองานรักษาข้อมูล รู้สึกเปลี่ยนมิติไปเลยค่ะ

. . . . . . . . . . . 

ปิดท้ายด้วยช่วงชวนคุยแบบแรนดอม
ภาษา สังคม วัฒนธรรมฝรั่งเศส

  • ประเทศสวย อาหารอร่อย ใช้ชีวิตประจำวันได้แบบ enjoy สุดๆ มีสวนเยอะให้เราเปลี่ยนบรรยากาศนั่งอ่านหนังสือได้ และทุกเมืองในฝรั่งเศสจะมี “Office of Tourism” คล้ายๆ สำนักงานการท่องเที่ยว  เราจะได้เห็นการนำเสนอเอกลักษณ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละที่

 

  • อย่าคาดหวังว่า “คนฝรั่งเศส” จะตอบกลับเราเป็นภาษาอังกฤษ (แม้จะฟังออกก็ตาม) เขาจะชอบพูดภาษาของประเทศเขามากกว่า มองอีกมุมว่านั่นคือข้อดีค่ะ สภาพแวดล้อมจะทำให้เราพยายามมากขึ้น เป็นเหตุผลที่คนไปเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ก็ได้ภาษาฝรั่งเศสติดตัวกลับมาเหมือนกัน
     
  • ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออก บางคนอาจรู้สึกว่าทำไมคนเขาช่างวิจารณ์จัง บางคนเจอคอมเมนต์แล้วใจบางเพราะตรงไปตรงมาเกิ๊น แต่มาที่นี่ต้องปรับใหม่ว่า ในสังคมฝรั่งเศส เขาไม่ได้คอมเมนต์เพราะไม่ชอบ (แม้แต่จิตรกรเอกระดับโลกอย่าง Pablo Picasso ก็ยังถูกคอมเมนต์) เราสามารถหยิบมาพัฒนางานตัวเองให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับแวดวงศิลปะของฝรั่งเศสที่เฟื่องฟูขึ้นมาได้เพราะคำวิจารณ์
     
  • ภาษาฝรั่งเศสสวยงามมาก สมมติอ่าน Text ต้องมีน้ำเสียงขึ้นลงถึงจะฟังดูนุ่มนวล การออกเสียงก็ยากและเป็นเอกลักษณ์ เช่น ‘R’ ออกเสียง èr หรือ “แอร์” แบบกระดกเสียง R เล็กน้อย (สามารถดูวิดีโอสอนออกเสียงข้างล้างได้ค่า)

เมื่อนานมาแล้วพี่มีทำรายการสอนภาษาฝรั่งเศส Natda En France ร่วมกับทางสถานทูตฯ ด้วยค่ะ ตอนนี้ยังมีอยู่ใน YouTube คลิกเข้าชมที่ Playlists นี้ได้เลยค่า https://www.youtube.com/playlist?list=PLdYResX7rnT9SZSP_zN5NkPnOQfGmu7tI 

 

เว็บไซต์ทางการ Université Toulouse Capitole

https://www.ut-capitole.fr/ 

ช่องทางติดตามข่าวสารจาก Campus France Thailand

https://www.thailande.campusfrance.org/th 

https://www.facebook.com/CampusFranceThailand

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น