‘พี่แคสซี่’ กับสตอรี่แลกเปลี่ยน 1 ปีที่ 'LMU München' & ประสบการณ์ฝึกงานสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

Servus ชาว Dek-D ทุกคนนน~~ ใครกำลังเรียนมหาวิทยาลัยในไทย แต่อีกใจก็คิดอยากไปเปิดโลกที่ต่างประเทศสักครั้งในชีวิต ต้องบอกว่าทุกวันนี้มีทางเลือกใหม่ๆ ให้เรา add-on อยู่เสมอ เช่น บางมหาวิทยาลัยที่ไทยมีความร่วมมือด้านวิชาการกับต่างชาติ  ซึ่งเปิดโอกาสให้บินไปแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาได้

และเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราจะพาไปคุยกับ “พี่แคสซี่” รุ่นพี่คนไทยที่กำลังเรียน ป.ตรี โครงการอังกฤษ-อเมริกันศึกษา หลักสูตรนานาชาติ ของ ม.ธรรมศาสตร์ (BAS TU) ที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาอย่าง ‘Ludwig-Maximilian University of Munich’ หรือ LMU München ที่ประเทศเยอรมนี และได้ฝึกงานกับสถานทูตไทยที่กรุงเบอร์ลินอีกต่อด้วย // ประสบการณ์พาเธอไปเจอเรื่องสนุกๆ และท้าทายอะไรบ้าง ไปอ่านต่อกันเลยครับ!

 

Photo Credit: Ludwig-Maximilians-Universität München [FB]
Photo Credit: Ludwig-Maximilians-Universität München [FB]

ที่มาที่ไป ทำไมถึงเยอรมนี?

สวัสดีค่า พี่ชื่อพิชามญชุ์ รัตนเสวี (แคสซี่) อายุ 22 ปี กำลังเรียน ป.ตรี โครงการอังกฤษและอเมริกันศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ และมาแลกเปลี่ยนที่คณะ North American Studies ของ Ludwig-Maximilian University of Munich (LMU München) ช่วงนี้ตรงกับปี 3 ของมหาวิทยาลัยไทยค่ะ

มหาวิทยาลัยจะมีโครงการที่ให้เราสมัครไปแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาได้ค่ะ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมและเช็กรายชื่อสถาบันที่หน้าเฟสบุกของ Thammasat International Office) เราตัดสินใจเลือกเยอรมนีเพราะอยากหาโอกาสฝึกเพิ่มอีกภาษา และ LMU München เป็นมหาวิทยาลัยนึงที่ดังมากๆ ติดอันดับ 2 ของประเทศเยอรมนี และอันดับ 59 ของโลกจาก QS World University Rankings 2025 เรามองว่าจะช่วยเสริม Transcript กับ Resume ของเราให้โดดเด่นขึ้น มีประโยชน์กับการหางานในอนาคตค่ะ

สำหรับขั้นตอนสมัครโครงการนี้ไม่ซับซ้อน มีกำหนดเกณฑ์ไว้เบื้องต้นคือ

  1. เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ หลักสูตรปกติหรือนานาชาติก็ได้
  2. GPA ไม่ต่ำกว่า 2.7 หรือ 3.0
  3. ผลวัดระดับภาษาอังกฤษ (ขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยปลายทางที่เลือก)

อ้างอิงจากตอนเราสมัคร LMU München กำหนด GPA 2.7 ขึ้นไป และคะแนน IELTS 6 ขึ้นไปก็ยื่นได้แล้วค่ะ (อันนี้เราเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษนะ) หลังจากผ่านขั้นตอนยื่นเอกสาร เราจะได้ไปสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษกับอาจารย์ของ ม.ธรรมศาสตร์ ส่วนตัวเจอคำถามที่ไม่ยากมาก ทริกเอาตัวรอดคือให้เตรียมความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเยอรมนีไว้ เผื่อจะสามารถหยิบยกมาเล่าประกอบบางคำถามได้

เปิดประสบการณ์เรียนใหม่แบบสับ
ฉบับเด็กแลกเปลี่ยนในมหาวิทยาลัยเยอรมนี

ที่ผ่านมาเราเรียนกับครูชาวอเมริกันและชาวอังกฤษมาตลอด และมีเพื่อนร่วมคลาสก็เป็นคนไทย พอมาถึงก็เปลี่ยนบรรยากาศมาเจอเพื่อนร่วมคลาสเป็นคนเยอรมันไปประมาณ 98% เปิดอีกมุมมองว่าคนที่นี่คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นที่เรากำลังเรียนอยู่บ้างค่ะ

วิชาส่วนใหญ่ที่เราลงจะเป็นแนววัฒนธรรมศึกษา (Cultural Studies), ประวัติศาสตร์ (History) และการเมือง (Politics) ซึ่งไม่ผิดหวังเลย เราได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆ ชาวเยอรมันในคลาสเยอะมาก และเจอประสบการณ์เรียนที่ท้าทายมาก เนื้อหาทั้งยากทั้งเยอะ แล้วต้องปรับตัวกับวิธีการเรียนที่ต่างจากเดิมด้วย

การเรียนที่นี่จะมีตั้งแต่ การฟังบรรยาย (Lecture) นักเรียนเยอะมาก อาจารย์จะอธิบายเนื้อหาให้ฟังจนหมดคลาส หรือไม่ก็ให้ไปอ่าน Text แล้วเค้าจะสอนต่อจากสิ่งที่เราอ่านมา

หรือบางวิชาก็เป็นรูปแบบ สัมมนา (Seminar) คนในคลาสมีแค่ราวๆ 10-20 คน อาจารย์จะให้เราอ่าน Text แล้วมาตอบคำถามหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ในคลาส และหนึ่งในกิจกรรมที่เราชอบมากคือการทำ News of the Weeks (NTOW) ทุกคนจะต้องหาข่าวมาแชร์ในห้องเรียน ทำให้เราได้อัปเดตสถานการณ์รอบโลกพร้อมกับเก็บศัพท์ใหม่ไปด้วยค่ะ

และอีกรูปแบบที่แทบจะเป็นคลาสส่วนตัวเลยก็คือ Tutorial มีนักเรียนน้อยมากกก เราชอบที่อาจารย์จะสอนและให้คำแนะนำได้อย่างทั่วถึง ทำให้เราเข้าใจแต่ละหัวข้อได้เจาะลึกขึ้น

โดยรวมเราว่าการเรียนตอนอยู่ที่นั่นต้องพึ่งวินัยที่สูงมากๆ เพราะต้องเตรียมอ่านและทำความเข้าใจก่อนเริ่มกำหนดคลาสต่อไป + ทำการบ้านให้ครบ ไม่งั้นอาจตุ้บนะ ไม่ใช่แค่ในห้องสอบ แต่อาจเรียนไม่รู้เรื่องและสะสมทบไปเรื่อยๆ ทั้งเทอมเลยก็ได้

ประสบการณ์การฝึกงานที่ยากจะลืมลง

ในช่วงแลกเปลี่ยน 1 ปี จะมีวันหยุด 1 เทอมคั่นระหว่างเทอม เราตัดสินใจไปฝึกงานตำแหน่งกงสุลและผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน หลักๆ จะดูแลการรับคำร้องเช่น การทำพาสปอร์ตและบัตรประชาชนให้กับคนไทยในเยอรมนี และได้ทำ Research เกี่ยวกับการเมืองที่เกี่ยวข้องกับทางไทย-เยอรมนีด้วย 

เรามองว่าเป็นโอกาสดีมากที่ได้ไปเปิดโลกการทำงานจริงๆ ที่ยังคงเกี่ยวข้องกับราชการไทย แม้ตัวจะอยู่ต่างประเทศก็ตาม เพราะถ้าเราเรียนจบแล้วอยากฝึกงานหรือทำงานราชการเพื่อให้เห็นภาพว่าจะชอบสไตล์นี้หรือไม่ ก็ต้องผ่านการสอบ ก.พ. หรืออื่นๆ อีกหลายขั้นตอนเลยค่ะ 

นอกจากนี้คือเรารู้สึกโชคดีและเป็นเกียรติมากที่ตอนฝึกงานได้มีโอกาสอำนวยความสะดวกให้อาจารย์อนุชา ที่เดินทางมาเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่าน “ผ้าไหมไทย” ซึ่งเราได้รับเลือกให้ไปใส่ผ้าไหมที่ทรงคุณค่าและราคาสูง เพื่อแสดงให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาของชาวยุโรปว่าผ้าไหมไทยของเราสวยงามและมีคุณค่ามากขนาดไหน 

ไม่เคว้ง ไม่เซ็ง มีอะไรให้ทำเพียบ!

อยู่ปีเดียวได้เพื่อนใหม่เยอะมากกกก แบบ ก.ไก่ล้านตัว ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนต่างชาติที่มาแลกเปลี่ยนเหมือนกัน ทั้งจากเกาหลี จีน ญี่ปุ่น อิตาลี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ฮังการี อังกฤษ เลบานอน ยูเครน มองโกเลีย ไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน หรือแม้แต่ปาเลสไตน์ และเพื่อนคนไทยด้วยกันเอง (ทุกคน Nice มากค่ะ)

มิวนิกเป็นเหมือนศูนย์กลางในการเดินทาง ทำให้การเดินทางสะดวกมาก (บางครั้งรถไฟกับรถบัสก็อาจจะดีเลย์บ้างจนน่าหงุดหงิด แต่พอเราถึงที่หมายปุ๊บ ความรู้สึกไม่ดีจะถูกหักลบและจางหายไป 5555) เดินทางค่อนข้างสะดวก (รถไฟ รถบัส บางทีจะมีดีเลย์บ้างจนน่าหงุดหงิด) 

เราได้ไปเที่ยวหลายที่มากๆ ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น เพราะการอยู่ที่เยอรมนีทำให้เราไปต่อได้อีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรีย ฮังการี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือแถบ Scandinavia  อย่างสวีเดนและเดนมาร์ก หรือ Tropical Countries เช่นกรีซและโมนาโก ส่วนกิจกรรมก็มีให้ทำเยอะมากกก โดยเฉพาะงานเบียร์ที่จัดเรื่อยๆ ทั้ง Oktoberfest, Frühlingfest และที่เด่นอีกเหมือนกันคือการแข่งฟุตบอลค่ะ

 

เปิดใจให้กว้าง ใช้ชีวิตให้จอย

เราไปอยู่ประเทศเยอรมนีตอนใต้ที่คนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษกัน ทำให้ต้องฝึกภาษาเยอรมันเยอะขึ้น แต่ฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ตึงเครียด อารมณ์คนที่นี่จะค่อนข้างปรับไปตามสภาพอากาศและเทศกาล เราสังเกตว่าพวกเขาจะอารมณ์ดีอย่างเห็นได้ชัดช่วงหน้าร้อน (Summer) และตอนมีแข่งฟุตบอล

คนเยอรมันมีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูงมาก เราสามารถเจอได้ทั้งคนที่หน้าตาสไตล์ยุโรป ตะวันออกกลาง หรืออาจเดาไม่ถูกว่ามาจากที่ไหน ถ้าเป็นโซนเอเชียก็จะมีคนอินเดียและจีนเยอะค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน เรามีโอกาสเจอทั้งคนในแบบที่เราชอบหรือไม่ชอบ, เป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร, ปิดใจหรือเปิดใจรับคนเอเชียอย่างเต็มอก คิดเสมอว่าเค้าจะอาจไม่ได้เข้าใจที่ประเทศไทยเป็นหรือมี และการมาจากประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ได้เท่ากับว่าต้องมองโลกอย่างเข้าใจทะลุปรุโปร่ง เพราะแต่ละคนเกิดและโตในสังคมที่แตกต่างกัน 

"พอเรามาแลกเปลี่ยน เป้าหมายคือการมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้วัฒนธรรมที่ต่าง ก็เลยพยายามเปิดใจให้กว้างเข้าใจธรรมชาติของผู้คนให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็เลือกใส่ใจเฉพาะคนที่ดี จะได้ไม่นอยด์กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ"

ฝากทิ้งท้ายสำหรับว่าที่ทีมเยอรมัน

คนเยอรมันหน้าดุ แต่จริงใจนะ ถ้าใครสนใจมาแลกเปลี่ยน เราขอเป็นหนึ่งเสียงที่แชร์ว่าประเทศนี้ไม่ได้น่ากลัว คนเยอรมันก็ไม่ได้ดุตลอดเวลา ไม่แน่ว่าการแลกเปลี่ยนอาจพาเราไปเจอมิตรภาพที่จะติดตัวทุกคนไปตลอดชีวิตก็ได้ค่ะ~

……………

เป็นยังไงกันบ้างกับรีวิวสุดว้าวของ ‘พี่แคสซี่’ กับเรื่องราวครบรสใน 1 ปีที่ได้ทั้งความรู้และทักษะการใช้ชีวิตเยอะมากกก  สำหรับใครที่สนใจไปแลกเปลี่ยนในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็นเมืองและประเทศใดก็ตาม อย่าลืมเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางครั้งใหญ่นะครับ Bis später!~~~

เยี่ยมชมเว็บไซต์มหาวิทยาลัย
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น