'พี่มีน' รีวิว 10 ข้อแบบฉับๆ ฉบับรุ่นพี่ทุนเยอรมนี DAAD (EPOS) ในรั้ว 'TU Dresden' เจาะลึกระบบเรียนสายอาชีพสุดสตรองของเมืองเบียร์

Hallo! สวัสดีค่าชาว Dek-D ใครที่สนใจอยากสมัครเรียนต่อ "เยอรมนี" ประเทศที่มาพร้อมคาแรกเตอร์แข็งแกร่ง ดุดัน จริงจัง และอัดแน่นด้วยคุณภาพ ห้ามพลาดศีกษาข้อมูลทุน DAAD สำหรับเรียนต่อคอร์สระยะสั้น, คอร์ส ป.โท หรือ ป.เอก กลุ่มสาขาที่กำหนดนะคะ ทุนนี้แบ่งเป็นหลายกลุ่มสาขา ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลาย และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรียนต่างประเทศให้ซอฟต์ไปเยอะเลยค่ะ

ก่อนอื่นขอแนะนำย่อยๆ ว่า DAAD (อ่านว่า เด-อา-อา-เด)  มาจากคำเต็มภาษาเยอรมันว่า  Deutscher Akademischer Austausch Dienst เป็นตัวแทนสถาบันการศึกษาทั้งหมดในเยอรมนี มีศูนย์ให้ข้อมูลอยู่ตามประเทศต่างๆ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีโดยตรง หลักๆ จะให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อ ทำวิจัย จัดกิจกรรม เดินสายแนะนำในงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปจนถึงดูแลเรื่องทุน DAAD  สำหรับในประเทศไทย ก็มี ศูนย์บริการข้อมูล DAAD กรุงเทพฯ ที่ซอยเกอเธ่ สาทร 1 โดยมีพี่เจ้าหน้าที่ตัวตึงคือ "พี่มีน" และ "พี่เจ"  ที่มีข้อมูลและประสบการณ์แน่นๆ คอยให้ความช่วยเหลือ

กิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุน DAAD และการศึกษาต่อประเทศเยอรมนี
กิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุน DAAD และการศึกษาต่อประเทศเยอรมนี
จัดขึ้นที่ DAAD Information Centre Bangkok
พี่เจ (ซ้าย) และพี่มีน (ขวา)
พี่เจ (ซ้าย) และพี่มีน (ขวา)
เจ้าหน้าที่ประจำ DAAD Thailand

ไหนๆ เราก็ได้ไปร่วมกิจกรรมดีๆ ของ DAAD มาแล้ว เลยขอถือโอกาสชวน "พี่มีน" มาเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนักเรียนทุน DAAD (EPOS) โดยไปต่อ ป.โท เจาะลึกระบบการศึกษาสายอาชีพของเยอรมนีโดยเฉพาะ  และเรียนเป็นภาษาเยอรมัน 100% ด้วย จะท้าทายขนาดไหน? อยากฝากคำแนะนำอะไรถึงน้องๆ  ที่สนใจสมัครมาเรียนที่นี่ ตามมาเริ่มข้อแรกกันเลยค่า~

1.

Bitte stellen Sie sich vor.
(Please introduce yourself.)

สวัสดีค่า ชื่อ "พี่มีน อิศราภรณ์ กิตติวิศิษฎ์" นะคะ เรียนจบ ม.ปลาย สายศิลป์-ภาษาเยอรมัน และ ป.ตรี เอกภาษาเยอรมัน คณะศิลปศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หลังเรียนจบพี่เริ่มงานแรกที่มูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน ทำเกือบ 3 ปีก่อนจะไปเรียนต่อ ป.โท สายการศึกษาจาก TU Dresden ประเทศเยอรมัน ปัจจุบันนี้พี่เป็นเจ้าหน้าที่ประจำ DAAD Thailand่ ค่ะ

จริงๆ พี่มีความฝันอยากเรียนต่างประเทศตั้งแต่ ม.ปลาย ดูข้อมูลทุนไว้หลายที่ + ค้นหาตัวเองว่าอยากเรียนต่อด้านไหนถ้าเกิดไม่ใช่ภาษาเพียวๆ สิ่งที่จุดประกายให้อยากเข้าไปช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของไทยให้ดีขึ้น ก็คือช่วงเรียนพี่ได้ทำค่ายอาสา และสมัครเป็น Teacher Assistant หลังเรียนจบจาก ม.ธรรมศาสตร์ค่ะ

2.

ตัดสินใจสมัครทุน DAAD 
เรียนต่อสาขาและประเทศที่ใช่สุด

ทุน DAAD มีแบ่งแยกย่อยอีกเยอะมากตามกลุ่มสาขา แล้วแต่ละกลุ่มก็มีกำหนดโปรแกรมกับมหาวิทยาลัยมาให้เลย ดังนั้นหากมีน้องๆ เข้ามาสอบถามโดยตั้งต้นว่า "DAAD มีทุนไปเรียนอะไรบ้าง" พี่ๆ ก็จะถามกลับก่อนว่า "อยากเรียนหรือทำงานสายไหน" เพื่อให้สามารถแนะนำต่อได้ถูกกลุ่ม เพราะถึงชื่อทุนขึ้นต้นด้วย DAAD เหมือนกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกันเลย  เช่น

  • ทุน DAAD กลุ่ม Helmut-Schmidt-Programme (Master’s Scholarships for Public Policy and Good Governance – PPGG)
  • ทุน DAAD กลุ่ม Development-Related Postgraduate Course (EPOS) *พี่สมัครกลุ่มนี้
  • ทุน DAAD กลุ่ม Study Scholarships for Foreign Graduates in the Field of Arts (Architecture, Music, Visual and Performing Arts)
  • [มาใหม่!] ทุน DAAD กลุ่ม Study Scholarships for STEM Disciplines
อัปเดตทุน DAAD ที่เปิดรับสมัคร

พี่สมัครทุน DAAD กลุ่ม Development-Related Postgraduate Courses (EPOS) สนับสนุนโดย “กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา” เจาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ครอบคลุมระดับ ป.โท หรือ ป.เอก ลิสต์สาขาและมหาวิทยาลัยที่กำหนด

อ้างอิงระเบียบการทุน DAAD​ (EPOS) ปี 2025/2026
สาขา ป.โท ที่สมัครได้มีดังนี้

  • เศรษฐศาสตร์/ บริหารธุรกิจ/ เศรษฐศาสตร์การเมือง (Economics Science/ Business Administration/ Political Economics)
  • ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Development Cooperation)
  • วิศวกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและการจัดการทรัพยากร (Engineering and Related Sciences)
  • การวางผังเมือง (Regional and Urban Planning)
  • เกษตรกรรมและป่าไม้ (Agricultural and Forest Sciences)
  • วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Natural and Environmental Sciences)
  • สาธารณสุขศาสตร์ (Medicine/ Public Health)
  • สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และ นิติศาสตร์ (Social and Political Sciences, Education and Law)
  • นิเทศศาสตร์ (Media Studies)
  • หลักสูตรระดับ ป.เอก ตรวจสอบได้ที่ https://www.daad.or.th/files/2024/03/EPOS-25-26-PhD.pdf 

มูลค่าทุน DAAD (EPOS)  ครอบคลุมค่าเรียน, ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ, ค่าประกันสุขภาพ, ประกันอุบัติเหตุ ค่าประกันอื่นๆ  และมีค่าเบี้ยเลี้ยงให้รายเดือนด้วย *อ้างอิงระเบียบการทุนปี 2025/2026 ป.โท ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 934 ยูโร (ประมาณ 36,730 บาท) และ ป.เอกเดือนละ 1,300 ยูโร (ประมาณ 51,130 บาท) 

*ปกติแล้วทุกมหาวิทยาลัยที่เยอรมนี จะไม่มีนโยบายเก็บค่าเทอม (Tuition Fee) (ยกเว้นในรัฐ  Baden-Württemberg ที่มีเก็บค่าเทอมนักเรียนต่างชาติ)  แต่จะเรียกเก็บ "ค่าหน่วยกิต" หรือ "ค่าลงทะเบียน" (Semester Fee)  ซึ่งทุน DAAD จะครอบคลุมส่วนนี้ด้วยค่ะ

3.

เหตุผลที่อยากเจาะลึก ป.โท
ระบบเรียนสายอาชีพของเยอรมนี

ทุน DAAD (EPOS) ให้เลือกได้สูงสุด 3 อันดับ พี่เลือกยื่นแค่ที่เดียวคือ ป.โท Vocational Education and Personnel Capacity Building (หลักสูตรภาษาเยอรมัน) ของ Technische Universität Dresden เพราะรู้สึกว่าเป็นโปรแกรมที่ตรงความสนใจที่สุด

อ้างอิงจาก DAAD Thailand อธิบายไว้ว่า "หลักสูตร ป.โท นี้จะเป็นสหวิทยาการที่เปิดกว้างให้แก่ผู้สมัครจากหลากหลายสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ ที่จะทำให้เห็นภาพการจัดการระบบอาชีวศึกษา และทวิภาคีแบบดั้งเดิมของประเทศเยอรมนี รวมถึงเทคนิคการสอน การจัดหลักสูตร การประกันคุณภาพของการศึกษาสายอาชีพ และการบริหารและพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการศึกษา หลักสูตรนี้เหมาะอย่างยิ่งกับประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการสร้างนักการศึกษามาดูแลและจัดการระบบการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน"

ทำไม "ระบบเรียนสายอาชีพ" ของเยอรมนีถึงน่าสนใจ?

ประเทศเยอรมนีประกอบด้วย 16 รัฐ แต่ละรัฐสามารถจัดการระบบการศึกษาได้อิสระ หากจะปรับปรุงหรืออัปเดตให้ทันความต้องการของตลาดแรงงานจึงทำได้อย่างรวดเร็ว และอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ดีเทียบเท่ากันทั้งประเทศ  รวมถึงมีตำแหน่ง "Educator" (นักการศึกษา)  ที่วางแผนจัดการระบบการศึกษาโดยเฉพาะ คล้ายกับตำแหน่ง Manager ในองค์กรค่ะ

การเรียนสายวิชาชีพ (Ausbildung) เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงมากในเยอรมนี ที่นี่จะกำหนดตั้งแต่ต้นว่าถ้าอยากทำงานนี้ ต้องจบสายอาชีพไหนมาก่อน ซึ่งมีแบ่งสาขาแยกย่อยไปเยอะมาก เช่น พยาบาล/บุรุษพยาบาล, ผู้ช่วยทันตแพทย์, พนักงานโรงแรม, เสมียน, เจ้าหน้าที่ธนาคาร, ช่างกลุ่มต่างๆ, ตัดผม, ออกแบบเสื้อผ้า, กราฟิกดีไซน์, เลขานุการ, บัญชี ฯลฯ 

สำหรับสายอาชีพจะใช้เวลาเรียน 2 ปีถึง 3 ปีครึ่งขึ้นอยู่กับหลักสูตร และมักได้เข้าเรียนในโรงเรียนสายอาชีพ ควบคู่กับการเข้าฝึกงานในบริษัทที่เปิดรับสมัครตำแหน่งนั้นๆ ทำให้เด็กสายอาชีพเข้าสู่ตลาดงานได้เร็ว (บางคนทำงานตั้งแต่อายุ 16-17 ปีด้วยซ้ำ) แล้วก็เป็นข้อดีในระยะยาวอีกว่าเมื่อคนกลุ่มนี้มีรายรับ = เริ่มเสียภาษี เป็นเงินทุนให้รัฐนำไปบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น

4.

เปิดโพรไฟล์ตอนสมัครทุน DAAD (EPOS)
และแนวเขียนเรียงความสไตล์เยอรมัน

แชร์โพรไฟล์ช่วงที่สมัครทุน DAAD (EPOS)

  • วุฒิ ป.ตรี สาขาวิชาภาษาเยอรมัน ม.ธรรมศาสตร์ GPA 3.7x  กว่าๆ
  • คะแนนภาษาเยอรมันระดับ C1 (โปรแกรมกำหนดขั้นต่ำ B2)
  • มีประสบการณ์ทำงานที่มูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน เกือบ 3 ปี  *ช่วงนี้พี่ตั้งใจแล้วว่าจะสมัครทุน DAAD เลยพยายามหาโอกาสฝึกภาษาและเน้นหาประสบการณ์ทำงานด้านที่สนใจที่สุดค่ะ

Motivation Letter สไตล์เยอรมันควรเป็นแบบไหน?

จดหมายแรงจูงใจ (Motivation Letter) คือหนึ่งในเอกสารที่ต้องเขียนส่งตอนสมัครทุน DAAD จริงๆ ไม่ได้มีกำหนดรูปแบบตายตัว แต่ถ้าให้แนะนำว่าการเขียนสไตล์เยอรมันเป็นประมาณไหน พี่มีนจะแนะนำดังนี้ค่ะ

  • เขียนแบบปึ้ง! เนื้อเน้นๆ ชัดเจน ตรงไปตรงมา พยายามดึงความสนใจของกรรมการตั้งแต่ย่อหน้าแรกได้เลย ดังนั้นไม่ต้องอารัมภบทเยอะ
     
  • เขียนให้กรรมการรู้จักตัวเรานอกเหนือจากที่บอกไปแล้วใน CV อาจเริ่มจากอธิบายเลยว่าเราทำสิ่งนี้ รู้สึกนึกคิดยังไง ส่งผลให้เราอยากเรียนด้านนี้ยังไงบ้าง ฯลฯ เขียนเป็น Argument เช่น ถ้าจะสมัครหลักสูตรที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ สิ่งที่ต้องรู้คือข้อดี-ข้อเสียของทรัพยากรน้ำในประเทศไทย
     
  • ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเลือกเรา แต่เขาก็อยากรู้ด้วยว่าทำไมเราถึงเลือกที่นี่ ดังนั้นศึกษาข้อมูลมาอย่างดี เริ่มเขียนหลังจากได้สำรวจจนรู้จักตัวเองชัดเจน และรู้จักหลักสูตรที่จะสมัครแบบทะลุปรุโปร่ง  เช่น เรียนอะไรบ้าง? เราจะได้รับอะไรจากหลักสูตรนี้? จากนั้นย้อนมาที่เป้าหมายของตัวเองว่า สอดคล้องกันไหม หลักสูตรนี้จะช่วยเราพาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไรบ้าง
     
  • การเขียนเพื่อจุดประสงค์การขอทุน เรามักจะต้องคิดไกลมากกว่าประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ ต้องคำนึงไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ ภูมิภาค หรือระดับโลก เแต่การจะ Contribute ได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องดูกันที่หลักสูตร เช่น พี่มีนไปรับ Know-how เกี่ยวกับระบบสายอาชีพของเยอรมนีที่เก่งเรื่องนี้อยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือนำจุดเด่นของระบบเยอรมนีมาปรับใช้กับบริบทของไทย

ความท้าทายของพี่ตอนนั้นคือไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับสายการศึกษามาก่อน แต่มั่นใจว่าแพสชันมาเต็ม จังหวะช่วงที่ขอทุนตรงกับ Timeline การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)  พี่ก็ยกประเด็นนี้มาสนับสนุนใน Motivation Letter เพราะมองว่าระบบการศึกษาที่ดีคือรากฐานสำคัญในการผลิตและพัฒนาแรงงานที่มีศักยภาพและสอดรับกับตลาดงาน ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้

5.

ตอนเรียนเราเหมือนเป็นตัวแทนประเทศ
แชร์ข้อมูล & ขับเคลื่อนการเรียนรู้ในคลาส

มาถึงพาร์ตรีวิวการเรียน ป.โท Vocational Education and Personnel Capacity Building ที่ TU Dresden กันต่อค่ะ ด้วยความที่เป็น ป.โท เลยไม่ปูพื้นฐานเหมือน ป.ตรี แล้ว แต่จะลงลึกเฉพาะทาง แบ่งเป็นเรียน 50% และวิจัย 50%  แบ่งออกเป็น 2 ศาสตร์ใหญ่ๆ คือ

  1. Vocational Education เรียนระบบการศึกษาสายอาชีพ เช่น ประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของเยอรมนี *มีคลาสสัมมนาให้เด็กทุนแต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเราก็จะได้พรีเซนต์ระบบของเราด้วย
  2. Personnel Capacity Building การพัฒนาบุคคล แนวๆ Human Resources แต่จะมุ่งเน้นที่บุคลากรภาครัฐและด้านการศึกษา มีเรียนจิตวิทยาการศึกษาด้วย

เพื่อนๆ ในคลาสก็มีทั้งจากประเทศเวียดนาม, โคลัมเบีย, ไทย และประเทศฝั่งอัฟกานิสถาน สอนโดยอาจารย์ชาวเยอรมัน และการเรียนการสอนจะเป็นภาษาเยอรมัน 100%

การเรียนมี 3 รูปแบบ แตกต่างตามวิชา (บางวิชาอาจไม่ได้มีครบตามนี้)

  1. Lecture ฟังบรรยายในห้องใหญ่หลักร้อยคน
  2. Seminar คลาสเล็กกว่า (มีประมาณ 20-30 คน) เป็นแนวอภิปรายและทำโปรเจ็กต์ด้วยกัน
  3. Tutorial  วงย่อยที่มาคุยกันต่อมาสิ่งที่เรียนไปมีใครติดปัญหาอะไรมั้ย (บางมหาวิทยาลัยอาจไม่มีรูปแบบนี้)

โดยปกตินักศึกษาจะต้องไปอ่านมาล่วงหน้าแล้วเตรียมมาคุยกันในห้อง พี่เองก็ต้องทำการบ้านหนักเพราะต้องศึกษาค้นคว้าเรื่องที่ใหม่สำหรับเราทั้งหมด เช่น ระบบการเรียนสายอาชีพในประเทศเราเป็นยังไงบ้าง คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ Facts ข้อดีและข้อจำกัดของระบบในไทยเพื่อให้คนอื่นๆ ในคลาสเห็นภาพและเข้าใจมุมมองจากประเทศของเรา

เวลาเรียนให้นึกภาพเหมือนเราเป็นตัวแทนประเทศไทยหนึ่งเดียวในคลาส และรู้จักระบบในประเทศตัวเองเป็นอย่างดี (เป็นเหตุผลว่าทำไมใน Motivation Letter ถึงควรเล่าว่าจะสร้างประโยชน์อะไรในคลาสเรียน เพื่อนร่วมคลาสจะได้อะไรจากเรา)  แล้วระหว่างอภิปราย เราก็อาจจะเสริมความคิดเห็นในมุมมองของเรา ตามด้วยเหตุผลสนับสนุน เช่น ระบบการเรียนสายอาชีพที่เยอรมนี มีอะไรที่สอดคล้องหรือไม่เหมาะกับบริบทประเทศไทยบ้าง ถ้าเป้าหมาย ป.โท ของใครคือการวางแผนนโยบาย เราสามารถเอาผลจากการดิสคัสในโปรแกรมนี้ไปคิดต่อยอดเป็นงานวิจัยและพัฒนาได้เลยค่ะ

6.

หลายคนเคยได้ยินว่า
คนเยอรมันพูดชัดเจน ตรงไปตรงมา
เขาก็คาดว่าชาวต่างชาติจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

เวลาไปเรียนบางวิชาที่มีเพื่อนคนเยอรมันลงด้วย เราสังเกตว่าพวกเขายกมือถามกันเก่งมาก แต่พอเป็นคลาสที่มีแต่คนต่างชาติ ช่วงแรกเคยเกิดเหตุการณ์ที่อาจารย์ถามว่ามีใครมีคำถามอะไรไหม?  แล้วทั้งห้องเงียบ อาจารย์เลยถามต่อว่า "ถ้าอย่างนั้นเล่าสิ่งที่เข้าใจมาให้ฟังหน่อย"

จังหวะนี้แหละเรามองเห็นปัญหาเลยว่า "เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่เข้าใจตรงไหน" และ  "ไม่รู้ว่าตัวเองต้องสงสัยอะไรตรงไหนบ้าง"  ดังนั้นถ้าใครไม่ได้มาจากระบบการเรียนที่ฝึกให้ตั้งคำถามหรือคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)  อาจต้องปรับตัวเยอะ ตอน ป.โท พี่ก็เลยพยายามฝึกตั้งโจทย์ให้ตัวเองฝึกตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ทุกครั้งที่เรียน หรือถ้าสมมติจะตอบว่า "เราคิดเหมือนกับเพื่อนคนเมื่อกี้เลยนะ" แค่เห็นด้วย +1 แบบนี้เฉยๆ ลอยๆ ไม่ได้นะคะ ต้องสกัดออกมาให้ได้ว่าเหมือนยังไงบ้าง  นี่น่าจะเป็นเรื่องนึงที่ชาวต่างชาติต้องเตรียมรับมือ

7. 

เรียนหลักสูตรเยอรมันแบบนี้
เรื่องภาษาจะท้าทายขนาดไหน?

"ในคลาสมีเพื่อนต่างชาติทั้งเวียดนาม, โคลัมเบีย, ไทย และประเทศฝั่งอัฟกานิสถาน ไม่มีเพื่อนเยอรมันเลย แต่อาจารย์และการเรียนการสอนทั้งหมดคือเยอรมัน 100% สิ่งที่ยากสุดในชีวิตพี่คือ การทำวิทยานิพนธ์ (Thesis)"

 

จริงๆ แล้วภาษาเยอรมันมีโครงสร้างและไวยากรณ์ชัดเจน ไม่ได้พลิกแพลงเยอะ ยิ่งถ้าจำเก่งและพื้นฐานภาษาอังกฤษดีก็จะไปได้เร็ว แต่เหตุผลที่การเขียนธีสิสยากเพราะเราต้องใช้ภาษาวิชาการที่กระชับ สื่อความตรงไปตรงมา ต่างจากธรรมชาติของภาษาไทยที่ shape ให้เราคิดวกวนหรือซับซ้อนมากกว่า (มีครั้งนึงพี่ส่งโครงร่างวิจัยความยาว 5 หน้า อาจารย์อ่านจบยังไม่แน่ใจว่าเราต้องการสื่ออะไร จนเขาถามเราเลยค่ะ หลังจากนั้นก็รู้เลยว่าต้องฝึกสกัดใจความออกมา และฝึกการพูดที่ตรงมากขึ้น)

ส่วนคำศัพท์ที่ใช้ ถึงจะดีเลิศหรือเรียบง่าย สักระดับ B1-B2 ก็ไม่มีใครตัดสินเรา สิ่งสำคัญคือต้องสื่อชัดเจนตรงประเด็น และแนะนำให้ทำความรู้จักวงคำศัพท์เฉพาะของแต่ละสายอาชีพไว้ ชีวิตจะง่ายขึ้นค่ะ 555

ถ้าให้แนะนำน้องๆ เพื่อความอุ่นใจ ไม่ว่าจะมาเรียนหลักสูตรที่สอนเป็นอังกฤษหรือเยอรมัน อยากให้พอได้ภาษาเยอรมันมาสัก A1-A2 เพื่อช่วยเรื่องการปรับตัว พูดคุยถาม-ตอบกับคนในพื้นที่ได้ แต่ย้ำว่าสมัยที่พี่เจอคือหลายปีก่อน เดี๋ยวนี้เพราะคนรุ่นใหม่นิยมไปแลกเปลี่ยนหรือเรียนต่อต่างประเทศ และเยอรมันก็มีเปิดหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้นด้วย

8. 

รีวิวการใช้ชีวิตที่เยอฯ
เจอประสบการณ์ประมาณนี้!

  1. สวัสดิการนักศึกษาต่างชาติดีมาก และแทบจะได้ทุกอย่างเหมือนคนเยอรมันเลย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การใช้ Facilities ในมหาวิทยาลัย เช่น โรงอาหาร ห้องสมุด ฯลฯ
     
  2. ส่วนใหญ่คนที่ไปเรียนเยอรมนีจะหมดเงินไปเยอะกับค่าที่พัก ซึ่งข้อดีคือ Timeline การสมัครทุน DAAD ทุกโปรแกรม เราต้องสมัครล่วงหน้า 1 ปี (เช่น สมัครปี 2024  ไปเรียนปี 2025) ดังนั้นพอเรารู้ผลตอบรับเร็ว ก็จะจองหอได้เร็ว และไม่พลาด "หอใน"  ซึ่งช่วยประหยัดกว่าที่พักนอกมหาวิทยาลัยมากๆ เช่น ตอนนั้นพี่อยู่หอใน TU Dresden จ่ายเดือนละ 250 EUR รวมค่าน้ำ+ค่าไฟ และคนถือวีซ่านักศึกษาสามารถทำงาน Part-time ไว้ใช้จ่ายเพิ่มได้อีกค่ะ
     
  3. ในขณะที่คนมักจะคุ้นเคยและชอบเที่ยวเยอรมนีฝั่งตะวันตก พี่ไปเรียนมหาวิทยาลัยใน "Dresden" (เดรสเดิน) ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของฝั่งตะวันออก บรรยากาศดี ขนาดเมืองก็กำลังพอเหมาะ ไม่ใหญ่เกินไป ตัวอย่างแลนมาร์กคือ  Frauenkirche Dresden, Dresden Zwinger, Dresden Castle เป็นต้น
     
  4. พื้นฐานพี่เป็นคนขี้หนาว เรื่องใหญ่ที่ต้องปรับตัวคืออากาศค่ะ อุณหภูมิต่ำสุดที่เจอช่วงไปเรียนคือ -11 °C 
     
  5. ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ก่อน ผู้คนเยอรมันที่เจอมีความเป็นปัจเจกสูง ไม่อยากให้คาดหวังว่าเพื่อนคนเยอรมันจะเข้าหาเราก่อน หรือชวนไปปาร์ตี้ hang out กินข้าวด้วยกันทุกวันหลังเลิกเรียน

ศูนย์บริการข้อมูล DAAD ในประเทศไทย

ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 ในบริเวณของมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน เพื่อให้คำปรึกษาสำหรับนักเรียน นักศึกษา บัณฑิตและนักวิชาการ โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย เราจะพยายามตอบข้อสงสัยที่คุณมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเยอรมัน การทำวิจัยในเยอรมนีหรือโครงการความร่วมมือต่าง ๆ คุณสามารถติดต่อเราได้ในเรื่องเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนวิชาการระหว่างไทยและเยอรมนี ศูนย์บริการข้อมูลยินดีต้อนรับคุณ

เว็บไซต์ DAAD Thailand
Photo by Vasily Malygin on Unsplash
Photo by Vasily Malygin on Unsplash
Photo Credit: Goethe-Institut Thailand
Photo Credit: Goethe-Institut Thailand
พี่เจ (ซ้าย) และพี่มีน (ขวา)
เจ้าหน้าที่ประจำ DAAD Thailand
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น