‘พี่ริว’ รีวิวสมรภูมิ ป.ตรี สุดเดือดที่ ‘NUS Computing’ (#1 สิงคโปร์) รวมหัวกะทิและวิชาสุดท้าทายพร้อมให้บวก!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึง "สิงคโปร์" ประเทศที่พัฒนาเร็วมากจนปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการเงินและเทคโนโลยีระดับภูมิภาค อีกทั้งบนชาร์ตของ QS World University Rankings 2025 ชื่อของ National University of Singapore (NUS) ก็ยังก้าวไปอยู่แนวหน้า #8 ของโลก และ Computer Science อันดับ 6 ของโลกจากการจัดอันดับปี 2024 ทำให้ประเทศนี้เป็นอีกจุดหมายการเรียนต่อที่หัวกะทิจากทั่วโลกจับตามอง และแข่งขันอย่างหนักเพื่อก้าวสู่สนามการแข่งขันที่เดือดตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงตลาดงานสายต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงินและเทคโนโลยี

และวันก่อนนี้เรามีโอกาสได้ชวน “พี่ริว-ริวจิ-กันต์ จิตต์ภักดี” (Kan Jitpakdi) รุ่นพี่ทุนรัฐบาลสิงคโปร์ ดีกรี ป.ตรี สาขา  Computer Science and Statistics (Double Major with Specialisation in AI and Database systems) จากรั้ว NUS และอดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยในสิงคโปร์ (ATSIS)  มานั่งจิบชาที่ออฟฟิศ Dek-D แชร์ประสบการณ์จี๊ดๆ แบบจอยๆ ตั้งแต่เรื่องทุนเรียนต่อและการสมัครเรียน, โอกาสด้านอาชีพที่น่าสนใจ (โดยเฉพาะสำหรับตัวตึงวิชาคณิตศาสตร์), ที่มาที่ไปของชื่อปริญญาสุดยูนีค, วิธีบริหารจัดการเวลาท่ามกลางการแข่งขันในสังคมสิงคโปร์ // พร้อมแล้วตามมาเริ่มพาร์ตแรกกันเลยค่ะ!

1

ก่อนมาเรียนที่ NUS
เคยเป็นเด็กจุฬาฯ มาก่อน

สวัสดีครับ ชื่อ "พี่ริว-กันต์ จิตต์ภักดี” นะครับ เรียนจบโรงเรียนนานาชาติวารีเชียงใหม่ (Varee Chiang Mai International School) เข้าเรียนจุฬาฯ  2 เทอมก่อนย้ายมาเรียนที่ NUS สิงคโปร์ ตอนนี้จบ ป.ตรี แล้ว และอยู่ในช่วงทำงานใช้ทุนที่ Start-up สัญชาติสิงคโปร์แห่งหนึ่งในไทยครับ 

ผมจบมัธยมหลักสูตร A-Level ของ Cambridge International AS and A Level และยื่นเข้ามหาวิทยาลัยด้วยเกรด A* 4 วิชาคือฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิต แต่เคสผมน่าจะต่างกับคนอื่นๆ เพราะเข้าเรียนจุฬาฯ ก่อน 2 เทอมก่อนจะย้ายไปเริ่มใหม่ที่ NUS และได้ทุนรัฐบาลสิงคโปร์ประเภท The Tuition Grant ครอบคลุมค่าเรียน 50% 

วิธีสมัครคือติ๊กขอทุนบนใบสมัครเข้าเรียน NUS ได้เลย (ถ้าติดเข้ามหา'ลัย มีโอกาสได้ทุนนี้สูง) เงื่อนไขคือหลังจบต้องทำงานอย่างน้อย 3 ปีในบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ซึ่งอาจเป็นสำนักงานที่ตั้งอยู่ประเทศอื่นๆ ได้ครับ

อัปเดตข้อมูลทุนที่นี่

2

ปรับตัวครั้งใหญ่จาก Chiang Mai 
สู่ Hyper Competitive Society

สังคมสิงคโปร์แข่งขันหนักมาก มาตรฐานโคตรสูง  ผมเคยอยู่กลุ่มเด็กเรียนตอน ม.ปลายก็จริง แต่ยังพอจะเห็นความหลากหลายของเพื่อนๆ ที่อาจไปทางเรียนบ้าง กิจกรรมบ้าง แต่พอมา NUS  ทุกคนตื่นตัวกับการเรียนและขยันเหมือนเป็น DNA ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

จริงๆ เด็กสิงคโปร์เดี๋ยวนี้เริ่มเรียน Coding กันตั้งแต่อนุบาลด้วยซ้ำ ตลาดงานก็เบนไปทาง Digital Economy บางคนสอบผ่าน CFA (Chartered Financial Analyst) ครบ 3 ใบตั้งแต่ ป.ตรีปี 1  หรือดูได้จากความโหดของวิชาที่ลง ปกติ NUS  จะแนะนำให้เรียนเทอมละ 20 หน่วยกิต  (MCs) ผมมีเทอมที่ลงมากสุดคือ 28 MCs และจบออกมาด้วย 184 MCs (โดยปกตินั้นการจบการศึกษาจะต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบ 160 MCs) แค่นั้นก็รู้สึกหนักแล้ว  แต่ผมเห็นเพื่อนบางคนจัดไป 36 MCs ในหนึ่งเทอม  เพราะเขาทำได้หมดมาตั้งแต่แรก!! และอาจด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เรียนเป็นทางผ่านไปเรียนขั้นสูงในอนาคต หรือบางคนมีโพรไฟล์แข่งโอลิมปิกวิชาการ ก็สามารถยื่น waive ได้บางวิชา 

และยังมีเรื่อง Internship เด็กที่นี่ฝึกงานกันตั้งแต่ก่อนขึ้น ป.ตรี (ฝืกเพื่อเอาไปยื่น ม.ท็อปๆ ของประเทศ)  ซึ่งที่ฝึกงานก็จะมีตั้งแต่องค์กรใหญ่อย่าง Temasek (กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์), Google, Meta, TikTok หรือบริษัท Tech. อื่นๆ ที่มีเยอะมากในประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมาตรฐานถูกดันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เด็กโพรไฟล์ธรรมดาต้องมาแข่งกับคนที่เคยฝึกงานบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ 

ถ้าให้แนะนำน้องๆ ที่อยู่ ม.ปลาย แล้วอยากเรียนต่อสิงคโปร์ ต้องรักษาเกรด ถ้ามีประสบการณ์เคยแข่งหรือทำ Project ระดับชาติและนานาชาติจะช่วยได้มาก และสิ่งสำคัญคือแพสชันที่จะพาเราไปถึงเป้าหมาย ให้มอง NUS เป็นเหมือนทางที่เพิ่มโอกาสให้เราไปถึงจุดนั้นอีกที

3

ที่มาที่ไปของปริญญาสุดยูนีค
เหมือนตักไอศกรีมบุฟเฟ่ต์

เล่าภาพรวมก่อนว่าที่ NUS สอนลึกและไปเร็วมาก อย่างเนื้อหาแคลคูลัส 1-2-3 ที่มหาวิทยาลัยทั่วไปใช้เวลาสอนประมาณ 8 เดือน แต่ที่นี่สอนจบในเวลา 3  เดือน (1 เทอม) เท่านั้นครับ อันนี้ก็คือแง่ความเข้มข้น แล้วที่เจ๋งอีกคือ Computer Science (CS) สามารถจับไปผสมได้กับอีกหลายศาสตร์ ประกอบร่างแฟรงเกนสไตน์ตัวใหม่ขึ้นมา

สำหรับปริญญาตรี BComp(CS) ของ NUS มีหลายแบบ เช่น

  • BComp(CS) คือเรียนขั้นต่ำ 160 หน่วยกิต (MCs) เป็นวิชาเอก 120 MCs + วิชาเลือก 40 MCs สายเพียวเหมือนวานิลลาเคี่ยวๆ 
     
  • ถ้าอยากเพิ่มสีสันก็โรยด้วย Topping เรียนวิชาโท (Minors) เพิ่ม 20 หน่วยกิตเป็น Minor Programmes จบด้วยชื่อปริญญา Computer Science with a Minor in  ______ เช่น Entrepreneurship, Interactive Media, Management, Mathematics, Statistics
     
  • ทางเลือกต่อมาคือเรียนเพิ่มอีกอย่างน้อย 40 หน่วยกิต เพื่อเทกเป็น Double Major Programmes (DMP) มีแบบ With Honours (160 MCs) และ Without Honours (120 MCs) เหมือนเป็นไอศกรีมสองรส โรยด้วยทอปปิงต่างๆ ได้ ถ้าชอบความหลากหลายก็เป็นทางเลือกที่ดี เช่น ผมเลือกดับเบิลเมเจอร์วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และสถิติ (Statistics) ต้องลงเรียนวิชาเอกกลุ่มสถิติเพิ่มอีกอย่างน้อย 40 MCs
     
  • Double Degree Programmes (DDP) หลักสูตรปริญญาตรีควบ ใช้เวลาเรียน 5 ปีครับ เช่น Bachelor of Computer Science & Bachelor of Social Science in Economics เป็นเหมือนเป็นไอศกรีมสองโคน บางคนเทพจัดๆ  ก็เป็นไอศกรีมสองคนโรยทองคำเปลว (เช่น คนๆ นั้นอาจได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองของรุ่น)
     
  • Concurrent Degree Programmes (CDP) ป.ตรี ควบ ป.โท
     
  • Concurrent / Joint Degree Programmes กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

นอกจากนี้เราต้องเลือก CS Focus Areas จากใน 10 กลุ่มต่อไปนี้ (ต้องลงวิชา Primaries ในกลุ่มนั้นๆ อย่างน้อย 3 วิชา)

  1. Algorithms & Theory
  2. *Artificial Intelligence
  3. Computer Graphics and Games
  4. Computer Security
  5. *Database Systems
  6. Multimedia Information Retrieval
  7. Networking and Distributed Systems
  8. Parallel Computing
  9. Programming Languages
  10. Software Engineering

อย่างเช่นผมเลือกเน้น 2 กลุ่มใน CS Focus Areas คือ Artificial Intelligence (ลงอย่างน้อย 3 วิชา) และ Database Systems  (ลงอย่างน้อย 3 วิชา) 

และอีกความสนุกคือเราสามารถข้ามไปลงวิชาเลือก (Electives) ของทุกคณะได้ตามความสนใจเลย เช่น ผมข้ามไปแตะทั้งสายบัญชี (Accounting), การเงิน (Finance), และอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate)  เลยครับ สนุกมาก! เดี๋ยวจะมารีวิวคร่าวๆ ในพาร์ตต่อไป

4

เล่าตัวอย่างวิชาเรียน
พร้อมชี้เป้าตัวเจ๋งและมีประโยชน์ที่น่าลง!


**เช็กวิชาเรียนทั้งหมดได้ทาง NUSMODS https://nusmods.com  ใช้คำค้นหาวิชาที่สนใจ ในนั้นจะมีคำอธิบายว่าเรียนประมาณไหน ต้องลงเรียนอะไรมาก่อนถึงจะลงตัวนี้ได้ ต้องวางแผนแบบละเอียด และแนะนำว่าให้ลองเช็กประวัติผู้สอนประกอบ เพราะบางเปเปอร์สามารถชี้วัดความเก๋าของอาจารย์ได้

ปล. เว็บ NUSMODS สร้างโดยศิษย์เก่า NUS ท่านหนึ่งที่หันมาทำโพรเจ็กต์ให้รุ่นน้องๆ ได้ใช้งานอีกทีครับ 
 

ตัวอย่าง 3 วิชาที่ผมลงเรียน

  1. RE4807 Real Estate Risk Analysis and Management วิชาที่ประยุกต์การเงินกับอสังหาริมทรัพย์ เรียนครอบคลุมแนวคิด หลักการ ทฤษฎี เทคนิค และแนวทางปฏิบัติในการวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ซึ่งจะรวมไปถึงเรื่องการประเมินมูลค่าของ Options (สัญญาสิทธิล่วงหน้า) ด้วย Option Pricing Theory ซึ่งทำให้เรามอง "ที่ดิน" เปลี่ยนไป  เช่น จากเดิมอาจจะซื้อที่ดินก็เหมือนซื้อทรัพย์สินทั่วไปหรือซื้อหุ้นตัวนึงได้ แต่ที่จริงแล้วเราสามารถมองต่อไปอีกว่า ถ้าวันนึงที่ดินตรงนี้ถูกนำมาสร้างตึก โรงงาน หรือโกดังสินค้าใดๆที่ทำให้เกิด Cash Flow แล้วเราทำการ Discount Cash Flow ในอนาคตเพื่อมาหามูลค่าของทรัพย์สินนั้นๆ ในแต่ละช่วงเวลา ก่อนที่สุดท้ายจะมาคิดมูลค่าของการถือสิทธิ์เพื่อครอบครองทรัพย์สินนั้นอีกทีในปัจจุบัน
     
  2. CS4246/CS546 AI planning and decision making เรียนการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือว่า AI วิชานี้ผมว่าง่าย เราได้เรียนว่า AI ระดับพื้นผิว (ในระดับอุตสาหกรรม) ทำงานยังไงบ้าง คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับการวางแผน การตัดสินใจกับความไม่แน่นอน และ game theory ต่างๆ
     
  3. ST4245 วิชา Statistical Methods for Finance   การใช้ความรู้สถิติมาใช้กับการ บริหาร Portfolio และการทำกำไรให้เกิดโอกาสเสี่ยงกับผลตอบแทนที่ได้นั้นคุ้มค่าที่สุด
Tips: วิชาของ NUS ที่ลงท้ายด้วย x หมายความว่าเด็กทุกคณะลงได้ (แต่เนื้อหาที่เรียนไม่ใช่ระดับ General และมีโอกาสเจอเพื่อนร่วมคลาสที่เทพด้านนั้นๆ มาเรียนด้วยก็ได้)  อย่างไรก็ตาม 2 วิชาที่ผมว่ามีประโยชน์มากไม่ว่าน้องๆ จะเรียนคณะไหน และแนะนำให้ลงคือ ACC1701x วิชา Accounting for Decision Makers และ FIN2704x วิชา Finance  เพราะสุดท้าย 2 วิชานี้จะสามารถไปประยุกต์และเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารการเงินและการลงทุนได้ ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่มหาลัยทั่วไปที่จะเปิดโอกาสให้เด็กคณะไหนมาเรียนเกี่ยวกับการบัญชีและการเงินได้

แล้วใน NUS ก็จะมีด้อมย่อย CS3233

ในวิชา “CS3233 - Competitive Programming” นักเรียนในคลาสต้องแข่งกันแก้โจทย์ Challenging* Computational Problems แล้ว Rank ออกมาว่าใครเขียนโค้ดแก้ได้ไวสุดและโค้ดรันได้เร็วสุด โดย Programming ความยากระดับโอลิมปิกคอมพ์ฯ ดังนั้นพวกที่ลงวิชานี้ก็มักจะเป็นเด็กโอลิมปิกที่ฝึกทำโจทย์มาแล้วเป็นหมื่นๆ ข้อจนคุ้นเคยกับแพตเทิร์น แล้วมาดวลกันอีกที ซึ่งตัวท็อปของวิชานี้ก็จะมีโอกาสถูกเฟิร์มไอทีชั้นนำของประเทศดึงตัวไปทำงานหรือแบงค์ชั้นนำระดับโลกชวนไปทานข้าวในโรงแรม 5 ดาวอีกที

ดูคำอธิบายรายวิชา CS3233 ได้ทาง https://www.comp.nus.edu.sg/~stevenha/cs3233.html   และ https://nusmods.com/courses/CS3233/competitive-programming 

สืบเนื่องจากที่ผมเล่าเรื่องวิชา CS3233 ถ้าใครชอบการแข่งขันเขียนโค้ดมากๆ ลองดูเรื่องเรียนต่อต่างประเทศ เพราะเมืองนอกจะมีงานรองรับพวกเก่งคณิตศาสตร์เยอะ และได้ค่าตอบแทนสูง หนึ่งในนั้นคืองานสาย Quant (มาจากคำว่า Quantitative ซึ่งหมายถึงการใช้ Mathematics, Statistics, และ Programming ในการวิเคราะห์ Financial Market, ความเสี่ยงและโอกาสในตลาดต่างๆ) สายเนิร์ดคณิตน่าจะชอบเพราะมีโจทย์มาให้ทำ เงินดี ไม่ต้องคุยดีลกับคนหรือว่าฝ่าย Operations เหมือนในบริษัททั่วไปเลย กรณีฝึกงานอาจจะมีรายได้ตก 400k บาทไทยต่อเดือน (หรือมากกว่า) ส่วนใหญ่จะบูมในโซนฮ่องกงหรือนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาครับ

ดูวิชาเรียนทั้งหมดได้ใน NUSMOD

5

อยากให้ชีวิตมหา'ลัยเป็นแบบไหน?
เลือกออกแบบได้ตามใจคุณนะ

1. Co-Curricular Activity (CCA)

ที่สิงคโปร์ จะมีกิจกรรมในและนอกมหาลัยที่นักเรียนและนักศึกษาเรียกว่า Co-Curricular Activity  หรือ CCA มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าเราอยากออกแบบหน้าตาชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นแบบไหน เช่น ยิงธนู ปีนเขา สังคมนักลงทุน ชมรมการเงิน การลงทุน, Break Dancing, Stock Pitch Competition, Case Competition ฯลฯ

จากประสบการณ์ส่วนตัวคือ ตอนเรียนผมทำงานเป็นประธานสมาคมนักเรียนไทยในสิงคโปร์ ATSIS หรือ Association of Thai Student in Singapore ไปด้วย ตารางเรียนกับงานก็เลยค่อนข้างแน่น เคยไปลง CCA ยิงธนูเหมือนกันนน แล้วก็พบว่า /โอ้จะตุยละไม่ไหว/ แบ่งเวลาไปยิงธนูไม่ได้จริงๆ ใครไหวไปก่อนเลย ก่อนที่หลังจากนั้นมาร้องคอรัสอีกที ซึ่งก็อยากจะบอกน้องๆอีกทีว่าชีวิตมหาลัยนั้นมันสามารถออกแบบได้ ขึ้นอยู่กับการจัดการเวลาของเราเองอีกที

2. ฝึกงาน & ทำงาน

เด็ก NUS เขาไปฝึกงานกันตามบริษัทไอทีระดับโลกที่อยู่โซน Silicon Valley สหรัฐอเมริกา บริษัท Start-up ในต่างประเทศ บางคนเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วย (วีซ่านักเรียนทำงานได้ 16 ชม./สัปดาห์)

ตลอดการเรียน ป.ตรี 4 ปี นักเรียนบางคนฝึกงาน Full-time ไปทั้งหมด 8 ที่ ฝึกทุกปิดเทอมตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4  แนะนำเลยว่าถ้าใครจะหางานต่อ​ **โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้ทุน** แนะนำให้ฝึกตั้งแต่ปีแรกเพื่อไม่ให้เสียเปรียบแง่ประสบการณ์ทำงานครับ และนอกจากนี้ยังมีงานตำแหน่งในมหา'ลัยอย่าง ผู้ช่วยวิจัย (Research Assistant), ผู้ช่วยสอน (Teaching Assistant) 

ต้องบอกเลยว่า อะไรที่ไม่เคยเห็น ผมก็ได้มาเห็นที่นี่ เช่น คนที่เรียน ป.ตรี แต่เป็น TA ในวิชาของ ป.โท, น้องปี 1 เป็น TA ในวิชาของปี 4 หรือ อาจเจอเพื่อนตัวเองที่เรียนมาด้วยกัน แต่กลายมาเป็น TA ของอีกวิชาที่เราลงก็ได้

6

ประเทศที่มีกฎเกณฑ์ 
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ชีวิตชีวา

  1. สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและการเงินของเอเชีย มักเป็นจุดหมายที่คนมานัดคุยธุรกิจกัน
     
  2. ทุกอย่างเร็วและการแข่งขันสูงมาก จนย้อนนึกถึงเลยว่าทำไมชีวิตตอนอยู่เชียงใหม่ช่างมีความสุข 5555 แต่ถ้าให้ย้อนเวลากลับไป ผมก็ไม่เลือกอะไรที่แตกต่างจากนี้  เรียนเต็มที่จนไม่รู้สึกเสียดายอะไรเลยครับ
     
  3. ผมประทับใจสิงคโปร์เรื่องความปลอดภัย ความสะอาด และความเป็นระเบียบ สิงคโปร์เป็นสังคมที่ "Follow the Rule" ทุกอย่างมีกรอบและกฎเกณฑ์ ทุกอย่างวัดผลได้ มี KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) แม้แต่ผลงานศิลปะก็เช่นกันที่ออกมาจากประเทศนี้ ผมก็พอดูออกว่ามีกรอบอะไรครอบอยู่ เช่น ศิลปะแบบต่างๆ ต้องมีเงื่อนไข 1, 2, 3, 4 ครบทุกข้อเป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ถึงสิงคโปร์จะมีกรอบ แต่กรอบก็พอใหญ่อยู่บ้างนะมันเลยพอมีลูกเล่น มีความว้าว มีบางอย่างที่คาดเดาไม่ได้ (Unpredictable) เป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้ได้เรียนรู้ รู้จักตัวเอง และเจอประสบการณ์ใหม่ๆ  สำหรับประเทศนี้ ความพยายามจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ต้องการครับ
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น