ฮัลโหลๆ สวัสดีชาว Dek-D ที่น่ารักทุกคนนะคะ พี่เมก้าขอเดาว่าช่วงนี้น้องๆ หลายโรงเรียนคงกำลังเข้าสู่ฤดูการสอบปลายภาคแล้ว โดยเฉพาะกับน้องๆ ม.6 ว่าที่เฟรชชี่ทุกคน เมื่อสอบปลายภาคเสร็จก็คงต้องลงสนาม GAT PAT สู้ชีวิตกันต่อไป!


 
          นาทีนี้หากน้องๆ กำลังโอดครวญกับการสอบฉบับเด็กมัธยมฯ ว่ายากแสนยาก วันนี้พี่เมก้าจะพาไปดู 8 รูปแบบการสอบฉบับเด็กมหา'ลัย ว่ากันว่ายากจนถึงขนาดที่เริ่มสอบทีไรเหมือนนำร่างตัวเองขึ้นเครื่องประหารหัวหมูทุกที โหดจนต้องร้องขอชีวิตเลยจ้า 

1. ข้อสอบเขียน

          ประเดิมรูปแบบแรกด้วย ข้อสอบเขียนสุดโหด ที่รุ่นพี่ถึงกับตัดพ้อว่าไม่เจอกับตัวคงไม่มีวันรู้! ไม่ว่าน้องๆ จะเรียนอยู่คณะสายวิทย์หรือศิลป์ เชื่อเถอะว่าอย่างน้อยทุกคนก็น่าจะผ่านการสอบข้อเขียนอันหนักหนาสาหัสมาเหมือนกัน จากประสบการณ์ใกล้ตัวม๊ากมากที่พี่เมก้าเจอมา ข้อสอบเขียนจะเป็นข้อสอบที่วัดความรู้และความรับผิดชอบของผู้เรียนมากๆ เลยค่ะ ใครอ่านมาแบบแน่นๆ ใครแถจนสีข้างถลอก ใครเทแบบไม่มีความรู้อะไรติดตัวมาเลย คะแนนสอบก็จะเป็นไปตามนั้น  


 
         สอบข้อเขียนอาจมีคำถามสั้นๆ มาสัก 2-3 บรรทัด แต่!!! กระดาษคำตอบว่างๆ จัดเต็มเป็นหลายหน้า A4 เรียกได้ว่ามาเป็นปึกๆ บางคณะมาเป็นเล่ม ไม่ได้เตรียมไว้ให้วาดรูปนะคะ ให้เราขนความรู้ทั้งหมดที่เรียนและซุ่มอ่านมาเขียนลงไปให้หมดค่ะ บางคนเขียนไวมากปั่นยิกๆๆเหมือนเครื่องปั่นน้ำผลไม้เลยจ้า 2 ชั่วโมง เล่นเขียนไป 12 หน้า A4 พี่เมก้านี่อยากมีสิบมือแบบทศกัณฑ์เลยจะได้ช่วยๆ กันเขียน นึกสภาพตอนออกจากห้องสอบนะคะ มือเละ หัวฟู ปวดแขน และจน! (เสียเงินกับค่าปากกาไปเท่าไหร่แล้ว)
 

2. ข้อสอบหลายช้อยส์

         มาถึงข้อสอบช้อยส์ที่น้องๆ คุ้นชิน น้องๆ อาจจะคิดว่าเราเป็นเทพของการทำข้อสอบช้อยส์ มั่วถูกตลอด! แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัยบอกเลยว่ามั่วยาก เพราะข้อสอบหลายช้อยส์นี้ชุดคำถามหนึ่งอาจไม่ได้มีแค่ 4-5 ตัวเลือก เค้ามีวิวัฒนาการไปไกลถึง 20 ตัวเลือกเลยล่ะค่ะ หรือบางทีถ้าเป็นข้อสอบจับคู่ แนวๆ วิชาภาษาอังกฤษ งานนี้อาจจะมีโจทย์ 20 ข้อ แต่มีหลายตัวเลือกตามมาเป็นพรวน รุ่นพี่ยังถึงกับยกนิ้วให้เรื่องความโหดเลยล่ะค่ะ

         เพราะอะไรรู้มั้ยคะ? ไม่เพียงแต่ข้อสอบในคำถามหนึ่งจะมีหลายช้อยส์หลายคำตอบ บางวิชายังสอบหา Survivor หรือผู้รู้จริงอีกด้วย ป๊าด! ถ้าน้องๆ ตอบผิดอาจมีคะแนนติดลบ ตอบไม่ครบก็อาจคะแนนหาย ส่วนตอบเกินคือชีวิตพลาดแล้วค่ะ รับประกันตรงนี้ว่าข้อสอบหลายช้อยส์คือข้อสอบปราบเซียน วัดว่าความรู้น้องๆ แน่นเพียงพอรึเปล่า สามารถนำไปใช้กับการเรียนในปีต่อไปหรือการทำงานในอนาคตได้มั้ย ใครหวังจะไปแถเหมือนข้อสอบเขียน บอกเลยว่ายาก!

3. Open Book

          เห็นชื่อ Open Book น้องๆ หลายคนคงจะยิ้ม ลูบคางเบาๆ หวานหมูซะแล้วเรา ใครคิดแบบนั้น คุณคิดผิดแล้ว! เตรียมใจไว้เลยว่า หากอาจารย์อนุญาตให้นำหนังสือหรือชีทเรียนต่างๆเข้าห้องสอบไปเมื่อไหร่ ถึงน้องๆ จะใส่ลังแบกเข้าไปวางเป็นตั้งๆ เชื่อพี่เมก้าเถอะว่าแทบจะไม่ได้ใช้ มันไม่มีประโยชน์เลย เพราะข้อสอบยากชนิดที่ว่าเกิดมาไม่เคยพานพบมาก่อน มีทั้งวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ทฤษฎีซ้ำซ้อน ผลสุดท้ายคือเราต้องประมวลความรู้ออกมาใช้เอง ไม่มีทางที่คำตอบจะตรงตามหนังสือเป๊ะๆ หรอกค่ะ


 
          ข้อสอบนี้ รุ่นพี่ยืนยันแล้วว่าเสียเวลาชีวิตมาก ถ้าเป็นไปได้น้องๆ ควรสรุปความรู้มาให้พร้อมตั้งแต่ตอนอยู่ที่บ้านนะคะ วันสอบน้องๆ อาจจะหอบหนังสือเข้าไปสัก 2-3 เล่มให้พออุ่นใจ ถ้าโชคดีเค้าอาจจะช่วยชีวิตเราให้เปิดไปเจอสิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าโชคร้ายคือมัวแต่งมเปิดหาคำตอบในหนังสือ ผ่านไปอีกที 1 ชั่วโมงแล้ว หาก็หาไม่เจอ แถมยังลนกลัวทำข้อสอบไม่ทันอีก สุดท้ายทุกคนเลยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสือนี่ยังจำเป็นอยู่มั้ย? ไม่ต้อง Open Book คะแนนดีกว่าอีกมั้ง

4. สอบปากเปล่า

         สอบปากเปล่า (Oral Exam หรือ Oral Test) เป็นการสอบที่ค่อนข้างกดดันเหมือนนั่งอยู่ในห้องเย็น เฮือก! ลักษณะก็จะเป็นการถาม-ตอบ คล้ายสอบสัมภาษณ์ธรรมดานี่แหละค่ะ แต่มันไม่ธรรมดาตรงที่เราต้องนำความรู้ที่เตรียมมาโต้ตอบกับอาจารย์ผู้มีจิตวิทยาสูงส่ง ฮ่าๆ น้องๆลองนึกภาพตามนะคะ เรานั่งตัวลีบเล็กอยู่ในห้องสอบกับอาจารย์ 1 ท่าน อาจารย์จ้องหน้าเรา ยิงคำถามใส่เรา พอเราตอบแบบไม่มั่นใจ ยิ่งกดดันด้วยคำพูดกลับมาว่า 'ใช่เหรอ แน่เหรอ ทำไมล่ะ' โอ้โห เหงื่อโง่ยิ่งไหลเลยค่ะ

          วิธีรับมือกับการสอบนี้ น้องๆ ต้องเตรียมตัวมาให้พร้อม ลองซ้อมกับเพื่อนๆ ก่อนก็ได้ว่าอาจารย์จะสอบคำถามแบบไหน หรือถ้าเป็นการสอบแบบยกตัวอย่างเคสขึ้นมาให้เราลองซักประวัติคนไข้แบบที่นักศึกษาแพทย์เจอกันเนี่ย จะรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นยังไง ลองซ้อมดูก่อนจะได้ไม่ประหม่ามากนัก พอถึงวันสอบจริงน้องๆ ก็แค่ตั้งสติ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ มั่นใจในสิ่งที่อ่านมาแล้วเรียบเรียงความคิดและคำพูดให้ดีก่อนตอบคำถามหรือ แสดงความคิดเห็นทุกครั้ง รับรองว่าผ่านไปแบบสบายๆ ชิวๆ ค่ะ


5. สอบปฏิบัติ

          เอาล่ะค่ะน้องๆ ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงอีกหนึ่งด่านสอบวัดใจของเด็กมหา'ลัยแล้วนะคะ การสอบปฏิบัติ นั่นเอง จากชื่อของรูปแบบการสอบนี้ น้องๆ คงพอเดาได้ว่ามาจากรายวิชาภาคปฏิบัติ คือเน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริง ได้พิสูจน์ความรู้และความสามารถที่มีต่อรายวิชานั้นจริงๆ อาจารย์ก็จะทดสอบเราค่ะว่าหลังจากเรียนจบแล้ว เด็กๆ สามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้มั้ย ยังมีข้อบกพร่องตรงไหนที่สามารถนำไปปรับแก้ไขได้อีก


 
          อย่างที่บอกว่าการสอบปฏิบัติขึ้นอยู่กับรายวิชา ถ้าน้องๆ เรียนครูก็อาจจะมีการสอบสอน จำลองห้องเรียนจริงขึ้นมา เรียกเพื่อนๆ มาสวมบทบาทสมมติเป็นนักเรียน แล้วมีอาจารย์คอยประเมินการสอนอีกที เรียนวิทย์คอมก็อาจต้องเขียนโปรแกรมต่อหน้าอาจารย์สดๆ ร้อนๆ ตรงนั้นเลย คิดโค้ดไม่ออก ปากสั่น มือสั่น ก็ต้องสู้เอาตัวรอดกันไป แต่บอกไว้เลยว่าการสอบปฏิบัตินี้มีข้อดีคือทำให้เรารู้จักดึงศักยภาพตัวเองออกมาและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

6. ข้อสอบจำกัดด้วยเวลา

          ข้อสอบจำกัดด้วยเวลาต้องบอกว่า เวลาระยะสั้นไม่เกิน 1 นาทีด้วย! ข้อสอบชนิดนี้เรียกชื่ออย่างเป็นทางการได้ว่า สอบปฏิบัติการจับเวลา ชื่อแบบเป็นกันเองคือแล็บกริ๊งหรือแล็บกรี๊ดในตำนานจอมกระชากสติและวิญญาณของเรานั่นเอง นี่เป็นการสอบที่ตื่นเต้นและลุ้นระทึกมากกับการตระเวนสอบไปตามโต๊ะสถานีต่างๆเพื่อตอบคำถามแต่ละข้อพอเวลาสอบในข้อนั้นหมดลง อาจารย์ก็จะกดกริ่งเสียงบาดหูเพื่อให้เราได้ไปต่อในสถานีถัดไป

          ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้น้องๆ ตื่นเต้นเป็นพิเศษเพราะบางทีแค่ถอนหายใจแว้บเดียวยังนึกคำตอบไม่ออก เวลาก็หมดต้องไปเริ่มคำถามใหม่แล้ว บางคนบอกว่าสอบเสร็จแล้วโล่งเลย กระดาษโล่งงง =__= ฮ่าๆ พี่เมก้าว่าถ้าน้องๆอ่านหนังสือมาเต็มที่ ฝึกฝนทำแล็บจนชำนาญ และตั้งสติกับบริหารเวลาที่มีอยู่ให้ดี น่าจะผ่านไปได้แบบง่ายๆค่ะ

          อ้อ ยังมีการสอบแบบจำกัดเวลาอีกแบบด้วยนะ เค้าเรียกกันว่า OSCE เป็นแล็บกริ๊งในโหมดที่ยากขึ้นไปอีกระดับหนึ่งค่ะ เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี หึหึ


7. TAKE HOME

          ข้อสอบ Take Home ชื่อน่ารักมั้ยคะ พกพาข้อสอบกลับไปทำที่บ้านแบบง่ายๆ สะดวกสบายอิ่มท้องกันเลยทีเดียว ไม่ใช่แล้ว แหะๆ น้องๆ อาจจะสงสัยว่ามีข้อสอบแบบนี้ด้วยเหรอ มีค่ะ ลักษณะก็จะคล้ายกับการบ้านของน้องๆ นั่นแหละ แต่ระดับความยากนี่แอดวานซ์กว่ากันเยอะ เคยเห็นมั้ยคะ? โจทย์ 3 ข้อ 50 คะแนน! ให้เวลาทำประมาณ 1 อาทิตย์ น้องๆ อาจจะคิดว่า โอ๊ย! สบาย ไม่ต้องเร่งรีบก็ได้ยังไงก็ทำทัน พี่เมก้าขอยืนยันตรงนี้ 'ชีวิตจริงไม่เหมือนละคร' ดราม่าและกดดันหนักมากค่ะ


 
          ใครเจอมากับตัวก็คงจะรู้ว่าข้อสอบ Take Home ของบางวิชา มักมาพร้อมกับช่วงที่เรากำลังสอบปลายภาค ไหนจะแบ่งเวลามาอ่านสอบวิชาอื่นๆ ไหนจะต้องเตรียมหาข้อมูลมาทำข้อสอบ Take Home ด้วยทฤษฎีและความรู้ที่ร่ำเรียนมา งานนี้มีเครียดข้ามวันข้ามคืน แทบไม่ได้หลับได้นอนเลยล่ะค่ะน้องๆ ใครบอกว่ารักข้อสอบ Take Home เพราะทำให้มีเวลาหายใจ ไม่ต้องเอาจริงเอาจังเหมือนนั่งสอบในตารางนะ เตือนไว้ก่อน! ระวังคะแนนปลายภาคหดหายหมดนะคะ มรสุมชีวิตเลย TT__TT 

8. สอบโปรเจคจบ

          ข้อสอบไหนๆ ที่ว่าโหดมาเจอสอบโปรเจคจบนี้ยังต้องยอมสยบเลยค่ะ โหดมากกก (ก.ไก่ล้านตัว) เพราะนี่ถือเป็นการสอบครั้งสุดท้ายของชีวิตนักศึกษา จบปีนี้หรือจบปีหน้าอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม ฮึกๆ เรื่องมันเศร้ามาก พี่เมก้าจะค่อยๆ อธิบายนะคะ ตอนน้องๆ อยู่ชั้นปี 4 จะต้องมีการสร้างผลงานทางวิชาการเป็นของตัวเอง ที่เรียกกันว่ารูปเล่มรายงานวิจัย ปริญญานิพนธ์ สารนิพนธ์ ฯลฯ แล้วแต่มหา'ลัยจะใช้ค่ะ เมื่อผ่านการค้นคว้าจัดการกับตัวเล่มวิจัยเสร็จเรียบร้อยก็จะเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายคือสอบโปรเจคจบ

          น้องๆ จะต้องพรีเซนต์ผลงานตัวเองที่ผ่านมาว่าทำอะไรไปบ้าง มีกระบวนการยังไง ผลเป็นยังไง (ภายในเวลาประมาณ 15 นาที) เมื่อพรีเซนต์จบอาจารย์จะให้เพื่อนในห้องซักถามข้อสงสัยที่มีในงาน ซึ่งแน่นอนว่านอกจากรูปเล่มและการพรีเซนต์แล้ว การตอบคำถามก็เป็นคะแนนสำคัญ พี่เมก้าบอกเลยว่าต่อให้เพื่อนแย่งกันยกมือถามเรากี่สิบคน ก็ไม่น่ากลัวเท่าอาจารย์โยนคำถามมาตูมเดียวว่า 'ทำไปทำไม' เจ็บปวดมากค่ะ หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของบุญกรรมที่ทำมาเนอะ ถ้าอาจารย์ไม่เรียกไปแก้เล่มก็รอดูเกรดงามๆ ได้เลย

          การสอบต่างๆ แม้จะสูบพลังชีวิตเราไปเยอะ แต่ก็ให้ประสบการณ์ที่มีค่ากับชีวิตเรามากมายเลยนะคะ อย่างน้อยถ้าน้องๆ มีความตั้งใจและทุ่มเทกับการสอบความมุ่งมั่นพยายามนั้นย่อมผลักดันเราไปสู่ความสำเร็จอยู่แล้วค่ะ


 
          รูปแบบการสอบที่พี่เมก้ายกมานี้ รวบรวมเฉพาะภาพการสอบในรั้วมหาวิทยาลัยแบบมุมกว้าง ไม่ได้เจาะจงลงไปที่คณะใดคณะหนึ่ง หากรุ่นพี่ใจดีคนไหนแวะเข้ามาอ่านแล้วเจอการสอบที่คณะแบบหฤหรรษ์มากกว่านี้ แวะมาแบ่งปันประสบการณ์ บอกเล่าวิธีรับมือให้น้องๆ เฟรชชี่ได้นะคะ
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ฅนจรp Member 25 ก.พ. 59 09:40 น. 2

กรรมการสอบโปรเจคจบ มีอาจายร์ ที่ปรึกษา 1 ท่าน อาจายร์ในสาขา 1 ท่าน ในคณะ 1 ท่าน หากทำเอง คิดเองคุยกับอาจายร์ที่ปรึกษา​บ่อยๆ ยังแทบตาย นื่ ป.ตรีนะ

0
กำลังโหลด
ELLITA SWAN Member 14 มี.ค. 59 16:55 น. 3

ข้อเขียนถ้าเป็นคณะสายวิทย์จะเจอกับวิชาคำนวณ แต่ถ้าเป็นสายศิลป์น่าจะเป็นพวกวิชาพารากราฟไรงี้

สอบปฏิบัติไม่ค่อยยากค่ะถ้าเทียบกับอันอื่น เพราะอาจารย์จะบรีฟก่อน แล้วดูที่เปเปอร์เอา (ส่วนมากเป็นวิชาแลป ส่งสรุปผลการทดลองไม่ก็ควิซเบาๆ 5 ข้อ)

สอบ Oral ยากค่ะ... ยากมาก555555 Open book ก็ยากเพราะยังไงก็ F...

ส่วนแบบจำกัดเวลาน่าจะแบบแลปกริ๊ง (1 นาที) คืออาจจะมีโจทย์กระดาษธรรมดาๆ วางอยู่ หรืออาจจะมีการทดลองวางอยู่แล้วให้เราตอบ พอออดดังก็ต้องเปลี่ยนไปข้อถัดไปค่ะ

สรุปคือ อ่านหนังสือเถอะค่ะถ้าไม่อยากเสียค่าเรียนซัมเมอร์55555555

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด