พอใกล้ขึ้นม.ปลาย ทุกๆ คนจะต้องเลือกแผนการเรียน ไม่ว่าจะเป็น สายวิทย์-คณิต ศิลป์-คำนวณ ศิลป์-ภาษา หรือจะเรียนต่อในสายอาชีพ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่น้องๆ จะต้องตัดสินใจ และแน่นอนว่ามันจะส่งผลในระยะยาว ทั้งเรื่องการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย การทำงาน และการใช้ชีวิตในอนาคต
 

 
     หลังจากที่เลือกแผนการเรียนกันไปแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัย เลือกคณะ เลือกสาขาวิชากันต่อ ซึ่งน้องๆ บางคนก็ค้นหาตัวเองเจอ รู้ตัวว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอาชีพอะไร บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือไม่แน่ใจว่าจะเรียนสาขาไหนดี แต่ก็ยังมีบางคน เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อเข้าไปเรียนในสาขานั้นสาขานี้ แล้วจบไปจะทำอะไร หรืออยากทำงานแบบนี้ จะต้องเรียนสาขาไหน วันนี้พี่แนนนี่ก็รวบรวมสายงาน หรือสายอาชีพที่รองรับเมื่อจบในคณะ ในสาขาวิชานั้นๆ มาฝากน้องๆ กันค่ะ
 
คณะวิทยาศาสตร์
- สาขาวิชาคณิตศาสตร์; ครู อาจารย์ นักวิจัย โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาระบบงาน กรมอุตุนิยมวิทยา บริษัทประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
- สาขาวิชาสถิติ; นักสถิติ เจ้าหน้าที่นโยบายและแผน นักวิจัย นักวิเคราะห์ โปรแกรมเมอร์และฝ่ายควบคุมคุณภาพและกระบวนการการผลิต ในธนาคาร บริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
- สาขาวิชาเคมี; โรงงานผลิตอาหาร โรงงานผลิตผงซักฟอก ปูนซีเมนต์ กระดาษ สี บริษัทน้ำมัน บริษัทผลิตเคมีภัณฑ์ โรงงานผลิตพลาสติก ฯลฯ ในส่วนราชการได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาที่ดิน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพบก เรือ อากาศ และกองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- สาขาวิชาชีววิทยา; สามารถทำงานโดยใช้ความรู้ทั้งแนวตรงและแนวประยุกต์ นักวิจัยในสถาบันการวิจัย ในสาขาวิชาการต่างๆ ในด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เช่น สถาบันวิจัยทางชีววิทยาโดยตรง การวิจัยในพื้นที่อนุรักษ์ วิทยาศาสตร์การเกษตร และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น ทางการแพทย์ เภสัชกรรมฯ หรือในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมด้านอาหาร ยา กระดาษ เป็นต้น หรือเป็นผู้สอนในสถาบันการศึกษา
- สาขาวิชาจุลชีวิทยา; ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแยก คัดเลือก และเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ เพื่อประโยชน์ในการผลิตเซลล์หรือสารที่เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การควบคุมการแพร่กระจายของจุลินทรีย์ในทางการแพทย์ และสิ่งแวดล้อม การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลผลิตทางด้านจุลินทรีย์ของ อุตสาหกรรมอาหาร ยา และเกษตรกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ยา บริษัทและธุรกิจส่วนตัว
- สาขาวิชาฟิสิกส์; สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมสรรพาวุธทหารบก กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานทางการศึกษา หน่วยงานทางการวิจัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์ทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- สาขาวิชาธรณีวิทยา; นักธรณีวิทยาในบริษัทสำรวจปิโตรเลียม ในบริษัทสำรวจแหล่งแร่ ในหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและพัฒนาทรัพยากรธรณี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
 
คณะทันตแพทยศาสตร์
     ทันตแพทย์ในหน่วยงานของราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น หรือปฏิบัติงานโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน หรือเป็นอาจารย์ในคณะทันตแพทยศาสตร์
 
คณะเทคนิคการแพทย์
     นักเทคนิคการแพทย์ หรือ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ทำงานในบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ จำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ หรือบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เช่น ผู้ประเมินความเสี่ยงในบริษัทประกันชีวิต
 
คณะกายภาพบำบัด
     นักวิชาการ นักวิจัย ผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์และเครื่องมือด้านสุขภาพ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับกีฬา เช่น ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (exercise/sport therapist) อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสปา เช่น ผู้จัดการสปา (spa manager) ผู้ให้บริการสปา (spa therapist) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวอนามัย (occupational health specialist) หรือ การยศาสตร์ (ergonomist)
 
คณะรังสีเทคนิค
     นักรังสีการแพทย์ นักฟิสิกส์รังสี หรือ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ทำงานในบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ บริษัทจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์
 
คณะพยาบาลศาสตร์
     พยาบาลผดุงครรภ์วิชาชีพ ปฏิบัติงานในสถานบริการด้านสุขภาพทั้งของรัฐและเอกชน หน่วยงานด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพ เช่น โรงงาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นต้น เป็นนักวิจัยปฏิบัติงานในสถาบันวิจัย หรือเป็นนักวิจัยอิสระ ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
 
คณะเภสัชศาสตร์
     เภสัชกรการอุตสาหกรรม (ยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา และฝ่ายขึ้นทะเบียน เภสัชกรโรงพยาบาล (เภสัชกรผู้รับผิดชอบในการจ่ายยา, เภสัชกรผู้ให้คำปรึกษาด้านยา, เภสัชกรผู้เตรียมและผลิตยาในโรงพยาบาล, เภสัชกรผู้รับผิดชอบงานจัดหายา คลังยา และเวชภัณฑ์, เภสัชกรผู้รับผิดชอบงานข้อมูลยา) เภสัชกรชุมชน (เภสัชกรร้านยา, เภสัชกรประจำสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ) เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข เภสัชกรการศึกษา เภสัชกรในฐานะผู้ประสานงานวิจัยทางคลินิก เภสัชกรการตลาด
 
คณะสัตวแพทยศาสตร์
     เปิดคลินิกหรือโรงพยาบาล เพื่อให้บริการรักษาและดูแลสุขภาพสัตว์ได้ หรือทำธุรกิจด้านอื่นๆ ที่ใช้ความสามารถด้านการสัตวแพทย์ เช่น ธุรกิจยาสัตว์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการรักษาสัตว์ จัดตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่วนตัว หรือ สัตวแพทย์เฉพาะทางสัตว์ชนิดต่างๆ หรือ ทำงานในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ต้องการสัตวแพทย์ เช่น กรมปศุสัตว์ (ทำงานด้านการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ ดูแล ควบคุมกำกับการใช้สารต่างๆ ในอาหารสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเนื้อสัตว์) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองกำกับการตำรวจม้า (เพื่อดูแลรักษาสุขภาพสัตว์) สำนักงานทหารพัฒนาการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กรมการสัตว์ทหารบก ศูนย์การสุนัขทหาร กองพันสัตว์ต่าง (เพื่อวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการจัดหาเวชกรรมป้องกัน รักษาพยาบาลและผลิตสัตว์) กรมควบคุมโรคติดต่อกรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจยาสัตว์และวัคซีน ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อและนม ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์
 
คณะวิศวกรรมศาสตร์
- สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา; วิศวกรออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างต่างๆ เช่น อาคารสูง โรงงาน ท่าอากาศยาน ถนน สะพาน อุโมงค์ใต้ดิน เขื่อน ฝายกั้นน้ำ วิศวกรด้านการบริหารและการควบคุมการก่อสร้าง วิศวกรด้านสำรวจ การรังวัดและการจัดทำผังเมือง วิศวกรออกแบบและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียประจำโรงงานและอาคารต่างๆ วิศวกรสำรวจและบริหารงานด้านแหล่งน้ำและอุทกวิทยา วิศวกรออกแบบและดูแลระบบไฮเวย์
- สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล; วิศวกรดูแลระบบในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซและผลิตปิโตรเลียม โรงงานผลิตเหล็กเส้น โรงงานสิ่งทอ วิศวกรการออกแบบ ติดตั้งและดูแลงานระบบปรับอากาศ และงานระบบท่อในโรงงานและอาคารต่างๆ วิศวกรตรวจวัดในอุตสาหกรรมการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนวางแผน ออกแบบและติดตั้งการเดินท่อส่งก๊าซและน้ำมัน วิศวกรสำหรับโรงงานผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์
- สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ; ฝ่ายการผลิต ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายวางแผนการผลิต และฝ่ายจัดซื้อ งานในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพานิชย์, การนิคมอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หรือในมหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า; วิศวกรดูแลระบบการผลิต ส่งจ่ายไฟฟ้า วิศวกรดูแลระบบโทรคมนาคม สื่อสารในองค์กรต่างๆ วิศวกรควบคุมระบบไฟฟ้าและติดตั้ง บำรุงรักษาในโรงงานอุตสาหกรรม วิศวกรทดสอบและวิจัยผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า วิศวกรที่ปรึกษา วางแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ วิศวกรควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรม ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจอาจารย์ในสถาบันการศึกษา หรือกิจการส่วนตัว เช่น ผู้รับเหมานักออกแบบ เป็นต้น
 
คณะแพทยศาสตร์
-สาขาแพทยศาสตร์; แพทย์ นักวิจัย นักวิชาการ ทั้งในระบบราชการ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันการแพทย์ต่างๆ หรือในโรงพยาบาล-คลินิกเอกชน สถานประกอบการส่วนตัว
- สาขากายอุปกรณ์ศาสตร์; นักกายอุปกรณ์ ตรวจประเมิน วินิจฉัย ออกแบบ ประดิษฐ์ คิดค้น และรักษาผู้ป่วย ด้วยการใช้กายอุปกรณ์เทียม (แขนเทียม ขาเทียม อุปกรณ์ประคองหรือดามหลัง อุปกรณ์ดามมือ ดามขา)
- สาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์; บุคลากรทางการแพทย์ (ไม่ใช่แพทย์) มีความรู้ความสามารถด้านการปฏิบัติการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล จุดเกิดเหตุ/อุบัติเหตุ หรือรถกู้ชีพ ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือดูแลผู้บาดเจ็บฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพ มีทักษะในการทำหัตถการทางการแพทย์ การติดต่อประสานงานและทำงานร่วมกับบุคลากรหน่วยงานอื่นๆ
- สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์; แพทย์แผนไทย คือตรวจวินิจฉัย บำบัด รักษา ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยเภสัชกรรมแผนไทย ปรุงยาและผลิตยาจากสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค หัตถเวชกรรมแผนไทย หรือบำบัดรักษาด้วยการนวดไทยแบบราชสำนัก การดูแลครรภ์ โดยครอบคลุมทั้งการป้องกัน การบำบัดรักษาโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการสร้างเสริมสุขภาพ
 
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
     สถาปนิก นักบริหารงานโครงการและก่อสร้าง ที่ปรึกษาและผู้ศึกษาความเป็นไปได้ นักออกแบบ นักออกแบบตกแต่งภายใน นักออกแบบโฆษณาและสื่อสิ่งพิมพ์ นักออกแบบและอนุรักษ์ภูมิสถาปัตยกรรม นักออกแบบการใช้สอยของเมืองและที่อยู่อาศัย หรือรับราชการ ตามกระทรวง หรือหน่วยงานเอกชน และอาจารย์
 
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
     ผู้ฝึกสอนกีฬา นักกีฬา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา (ดูแลนักกีฬาในทีม ด้านโภชนาการ เทคนิคกีฬา จิตวิทยาและสุขภาพร่างกายตามขั้นตอน นักเวชศาสตร์การกีฬา (ป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายให้นักกีฬา หรือเสริมสมรรถภาพทางร่างกายของนักกีฬา) นักโภชนาการกีฬา (ให้ความรู้ จัดการเรื่องโภชนาการ อาหารของนักกีฬา) นักจิตวิทยาการกีฬา (ฟื้นฟู เยียวยา ปลุกใจนักกีฬา) นักข่าวสายกีฬา เทรนเนอร์ฟิตเนส อาจารย์มหาวิทยาลัย
 
     จริงๆ แล้ว เมื่อน้องเรียนจบจากคณะใดคณะหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานที่สาขาที่เราจบ 100% เสมอไปนะคะ เราอาจจะนำความรู้ความสามารถของเราไปประยุกต์ใช้กับสาขาอื่นๆ แต่ก็ยกเว้น จำพวกวิชาชีพจ๋าๆ อย่างเช่น จบแพทย์ จะไปเป็นสัตวแพทย์ ก็ไม่ได้นะคะ
     ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อมูลด้านบนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของคณะที่เปิดสอนอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เท่านั้น และสัปดาห์หน้าพี่แนนนี่จะมีอาชีพของคณะไหนมาฝากเพิ่มเติมอีกบ้าง ต้องรอติดตามกันนะคะ

ทดสอบ Icon ทดสอบ Icon ทดสอบ Icon  อ่านตอนที่ 2 (คลิก)
 
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Beam Chaiyasin 18 เม.ย. 63 16:00 น. 8

วิศวกรรมศาสตร์+วิทยาศาสตร์

ดูแล้วมีท่าจะรุ่งกว่าหลายๆคณะ

ถ้าไปถึงจริงๆแต่งานเหนื่อยมากๆ

ชนิดก้มเลียพื้นเลย555ซึ่งผมรู้สึก

ชอบ2คณะนี้นะและอีกคณะหนึ่ง

ที่ชอบก็นิเทศนะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด